Monday, November 11, 2013

11/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 5 ระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์ ประเทศไทย ประเทศ (ของ) ใคร

ย้อนบรรยากาศอดีต บ้านเมืองในยุค 14 ตุลา 2516 นี่คือสี่แยกปทุมวัน ถ่ายในปี 2513 (1970) ตอนนั้นยังไม่เป็นสี่แยก แต่เป็นวงเวียนขนาดใหญ่ เรียกว่าวงเวียนปทุมวัน ยังไม่มีสยามเซ็นเตอร์ ยังไม่มีสยามดิส ส่วนสยามสแควร์มีโรงหนังสามโรง ที่เห็นเป็นแนวต้นไม้สีเขียวๆในภาพคือสยามเซ็นเตอร์แปละสยามดิสคัฟเวอรีในเวลาต่อมา


สี่แยกศาลาแดงในยุค 2513 (1970) ภาพนี้ถ่ายจากชั้นบนของโรงแรมดุสิตธานี ตรงป้ายโฆษณาหัวเทียนแชมเปี้ยนคือโรบินสันสีลมในวลาต่อมา 



“หูย เยอะจัง น่าจะแบ่งมาทางนี้บ้าง” ลิงจ๋อพูด “12 ล้านบาทในยุคนั้น ถ้าเป็นค่าเงินตอนนี้จะมีมูลค่าสักเท่าไรน้อ”

“ยัง เรื่องยังไม่จบเท่านั้น ฟังลุงเล่าต่อไปก่อน” ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง จากนั้นจึงเล่าต่อว่า “จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมหรือว่าเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2506 จากนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมาในปลายปีเดียวกันนั้นเอง โดยจอมพลถนอมควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีกลาโหมไว้ด้วย”

“คนเดียวนั่งสามเก้าอี้เลย” ลิงจ๋ออุทานอีก “ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นตำแหน่งของข้าราชการประจำ ทำไมมีตำแหน่งทางการเมืองแล้วยังเป็น ผบ. สูงสุดได้ล่ะลุง”

“สมัยนี้ไม่ได้ แต่ว่าสมัยก่อนได้ ยุคสมัยต่างกัน กฎระเบียบก็ต่างกัน ก็อย่าลืมว่าสมัยนั้นเป็นยุคเผด็จการทหารไง ทำไมจะทำไม่ได้” ลุงแมวน้ำตอบ “เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ในยุคนั้นก็นิยมควบตำแหน่งกันแบบนี้แหละ โดยเฉพาะนายกฯต้องควบตำแหน่งที่คุมกำลังเอาไว้ เพื่อความมั่นคงของคณะรัฐบาลทหาร”

“ถ้ายังงั้นทำไมไม่ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก น่าจะดีกว่าเป็น ผบ.สูงสุดนะลุง” ลิงจ๋อเสริม

“นายจ๋อติดตามการเมืองเยอะเลยนะ” ลุงแมวน้ำชม “มันก็ถูกอย่างที่นายจ๋อว่า แต่กรณีรัฐบาลจอมพลถนอมนี้ยังมีมือขวาของจอมพลถนอมอีกคนหนึ่ง คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยควบกับตำแหน่ง ผบ.ทบ. สองคนนี้เป็นดองกันด้วย เพราะว่าลูกชายของจอมพลถนอม คือพันเอกณรงค์ กิตติขจร ไปแต่งกับลูกสาวของจอมพลประภาส”

“เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน วงศาคณาญาติปกครองประเทศ” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง”

“เอ๊ะ รูปการณ์แบบนี้คุ้นๆนะลุง” ลิงจ๋อพูดอีก “เหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน”

“เอ้า ฟังลุงเล่าต่อก่อน” ลุงแมวน้ำเล่าเรืองต่อ “ยังเหลือตำแหน่งคุมกำลังสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่ง นั่นก็คือ กำลังตำรวจ ตอนนั้นโครงสร้างของตำรวจเป็นระดับกรม คือกรมตำรวจ ผู้บัคงคัญบัญชาสูงสุดก็คือตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งในตอนนั้นคือพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็เป็นผู้ที่จอมพลถนอมไว้วางใจเช่นกัน รวมความแล้วโครงสร้างของคณะรัฐบาลมั่นคงสถาพรเพราะว่าคุมกองกำลังเอาไว้เบ็ดเสร็จ

“แต่แม้ว่าจอมพลถนอมจะมีทั้งอำนาจและกำลังอย่างเบ็ดเสร็จ แต่กระแสประชาชนที่คลางแคลงใจต่อที่มาของทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ในตอนนั้นแรงเอาการ จนถึงกับทำให้รัฐบาลกังวลอยู่เหมือนกัน เนื่องจากประชาชนริ่มสงสัยในความโปร่งใสของรัฐบาลทหาร ท้ายที่สุด จอมพลถนอมจึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 17 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ จากนั้นดำเนินการสอบสวนจำนวนและที่มาของทรัพย์สินเหล่านั้น”

“ดาบนั้นคืนสนองเลยนะฮะ ต้นตำรับมาตรา 17 ในที่สุดก็โดนม. 17 ของตนเอง” กระต่ายน้อยพูดขึ้นบ้าง “เล่าต่อเร็วๆเลยฮะลุง”

“ผลจากการตรวจสอบทรัพย์สินหลังยึดทรัพย์ ทำให้พบว่าจอมพลสฤษดิ์มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เฉพาะเงินสดก็ประมาณ 410 ล้านบาท ที่ดินกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และยังมีที่ดินในเขตพระนครอีกไม่รู้ว่าเท่าไร นอกจากนี้ยังมีหุ้นอยู่ในบริษัทต่างๆอีกเป็นจำนวนมากถึงประมาณ 45 บริษัท เฉพาะเงินสด 410 ล้านบาท ในตอนนั้น หากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันก็ประมาณ 4,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว หากนำมูลค่าสินทรัพย์อื่นๆมาตีราคาในปัจจุบันคงมากกว่านี้อีกโข”

“โอ้โฮ” กระต่ายน้อยทำตาโต

“แต่ต่อมาก็มีการคืนทรัพย์สินให้แก่ทายาทหลังจากที่มีการตรวจสอบแล้ว หากส่วนใดได้มาโดยชอบก็คืนให้ไป” ลุงแมวน้ำพูดต่อ “และจากจุดนั้นเองที่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน เริ่มสนใจและจับตามองพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล

“เอาละ ที่นี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญดังที่ลุงแมวน้ำเล่ามาแล้ว สภาร่างฯนี้ตั้งมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ ร่างอยู่เกือบสิบปีจึงจะสำเร็จ เมื่อประกาศใช้ในปี 2511 ต้นปี 2512 ก็มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้น นับเป็นครั้งแรกหลังจาก พ.ศ. 2500 ที่มีการเลือกตั้ง และคนหนุ่มสาวในยุคนั้นเพิ่งจะได้สัมผัสกับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในชีวิตก็ครั้งนี้แหละ สำหรับปัญญาชนคนหนุ่มสาวที่สนใจประชาธิปไตยแล้ว เรื่องนี้เป็นเรืองที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะจอมพลถนอมเองก็ต้องตั้งพรรคการเมืองและกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ตามกติกาประชาธิไตย ตอนนั้นพรรคการเมืองใหญ่มีเพียงสองพรรค คือพรรคสหประชาไทของจอมพลถนอม และพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

“ในปี พ.ศ. 2512 จอมพลถนอมสามารถนำพรรคสหประชาไทเข้าสู่สภา และตนเองก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก โดยตัวละครสำคัญอื่นยังคงเดิม ได้แก่ จอมพลประภาส และพลตำรวจเอกประเสริฐก็ยังนั่งเก้าอี้เดิม แต่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ราบรื่นเช่นเดิม เพราะตอนนี้มีสภาผู้แทนแล้ว

“ในตอนนั้นจอมพลถนอมถูกอภิปรายในสภาอย่างหนัก ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านน่ะ ก็ตรวจสอบรัฐบาลไป และนอกจากนั้น ว่ากันว่า ในพรรคสหประชาไทหรือพรรครัฐบาลเอง สส ในพรรคก็ตีรวนเอากับหัวหน้าพรรคหรือจอมพลถนอม เพื่อเรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่างๆ ทำให้การบริหารประเทศไม่ราบรื่นเหมือนสมัยเผด็จการทหาร

“จอมพลถนอมก็คงโดนแรงเสียดทานเยอะนั่นแหละ ในที่สุด ก็เลยทำรัฐประหารตนเองอีกรอบหนึ่งในปี พ.ศ. 2514 สภาผู้แทนอะไรก็ไม่เอาแล้ว กลับไปเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเดิม และยิ่งไปกว่านั้น จอมพลถนอมยังต่ออายุราชการของตนเองในตำแหน่งผบ. สูงสุด ต่อไปอีก ถึงเวลาเกษียณแล้วก็ไม่ยอมเกษียณ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมากมาย โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวที่ได้ลิ้มรสการเลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่ง พอมาเปลี่ยนกลับไปเป็นอย่างเก่า เหล่าคนหนุ่มสาวก็ยอมรับไม่ได้

“นอกจากนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐประหารในตอนนั้นก็คือ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม หลังจากที่ทำการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พันเอกณรงค์ก็ยังมีบทบาทในการบริหารงานของรัฐบาลอีก ดังนั้นประชาชนก็มองกันว่าพันเอกณรงค์นี้คงเป็นทายาทที่จอมพลถนอมวางตัวเอาไว้สืบทอดอำนาจเผด็จการทหารต่อไป

“เหตุการณ์ที่สำคัญสองเรื่องในปี 2514 นั่นคือ การก่อตั้งและเปิดรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด และอีกเรื่องก็คือสหรัฐอเมริกาลอยตัวเงินดอลลาร์ สรอ โดยไม่อิงกับมาตรฐานทองคำ”

“สำคัญยังไงฮะลุงแมวน้ำ” กระต่ายน้อยถาม

“ลุงกำลังจะเล่าต่อไปนี่ไง” ลุงแมวน้ำตอบ “หลังจากที่จอมพลถนอมทำการรัฐประหารตัวเอง และกลับไปบริหารแบบเผด็จการทหารเช่นเดิม ทำให้คนหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนไม่พอใจ และไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง เพราะการที่อเมริกายกเลิกมาตรฐานทองคำกับเงินดอลลาร์ สรอ ทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างหนักทั่วโลก ข้าวของขึ้นราคาไปหมด ประชาชนก็เดือดร้อน กระทบถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

ในยุคเผด็จการทหารครองเมือง มีการใช้อภิสิทธิ์และระบบพรรคพวกอย่างหนัก จนนิสิตนักศึกษาเริ่มมีปฏิกิริยา


“รัฐบาลเองก็ทำการปิดหูปิดตาประชาชนเพื่อรักษาสถานภาพของตนเอง มีการใช้อภิสิทธิ์อุปถัมภ์พรรคพวกตนเองมากมาย ในขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่พอใจรัฐบาลและมีการติดตามการทำงานและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอย่างเข้มข้นขึ้น วลีที่ใช้เรียกรัฐบาลในยุคนั้นจนติดปากกันก็คือ ‘รัฐบาลเผด็จการถนอม ประภาส ณรงค์’

“ก็ดังที่ลุงได้เล่าแล้วว่านิสิตนักศึกษาในยุคนั้นมีบทบาทสูง ในความเห็นของลุงถือว่าเป็นเสาหลักของประชาธิไตยต้นหนึ่งได้ทีเดียว ในยุคที่แม้แต่สื่อมวลชนก็ถูกปิดปาก มีเพียงนักหนังสือพิมพ์ใจกล้าบางคน และเหล่านิสิตนักศึกษานี่แหละที่กล้าเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน โดยสถานการณ์ได้เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2515 ที่นิสิตนักศึกษามีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ทั้งเรื่องการบริหาร และเรื่องข้าวยากหมากแพง



นิสิตนักศึกษาถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของสังคมในยุคนั้น เพราะกล้าแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร รวมทั้งยังประท้วงและเรียกร้องแทนประชาชนทั้งปวง


“จนในปี พ.ศ. 2516 ราวเดือนเมษายน มีเฮลิคอปเตอร์ตกลำหนึ่งที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม และพบว่าภายในเครื่องมีซากสัตว์ป่าจำนวนมาก รวมทั้งซากกระทิงอันเป็นสัตว์ป่าสงวน คาดว่าล่ามาจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีก็ออกมาแถลงว่า ฮ. ที่ตกนั้นเป็น ฮ. ที่ปฏิบัติราชการลับเกี่ยวกับความมั่นคง แต่สื่อมวลชนและนิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับชมรมอนุรักษ์ทราบดีว่าความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เพราะซากสัตว์ป่าสงวนเป็นหลักฐานอยู่

“ข้อเท็จจริงเรื่อง ฮ. ตกมีการสื่อสารถึงกันในหมู่นิสิตนักศึกษา จนในที่สุด นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในยุคนั้น ได้ออกหนังสือตีแผ่ข้อเท็จจริงที่ชื่อว่า ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ โดยเปิดโปงว่าแท้ที่จริงแล้ว ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2516 มีการจัดปาร์ตี้วันเกิด โดยนายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ประมาณ 60 คนเข้าป่าสงวน ล่าสัตว์ด้วยอาวุธสงคราม และจัดปาร์ตี้กันในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่ นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้อาวุธและพาหนะของหลวง คือ ฮ. สองลำ ขากลับ ฮ.ลำหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตกลงมา ความจึงได้แตก ว่าภารกิจที่แท้จริงครั้งนี้คือการทำผิดกฎหมาย เข้าป่าล่าสัตว์สงวนเพื่อหาประโยชน์สุขสำราญส่วนตน และที่สำคัญก็คือ หนึ่งในคณะที่เข้าป่าล่าสัตว์ด้วยอาวุธสงครามนี้ก็คือพันเอกณรงค์ กิตติขจร นั่นเอง”

“เอาละสิ” ลิงจ๋อพูด “เริ่มดุเดือดแล้ว”

“หนังสือเปิดโปงขายดีมาก หมดอย่างรวดเร็ว” ลุงแมวน้ำพูด “จากนั้นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ออกหนังสือตามมาบ้าง ชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ’ โดยมีเนื้อหาเสียดสีจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี”

“ช่างกล้า” แม่ยีราฟพูดขึ้นบ้าง “สงสัยจะเรียบร้อย”

“อธิการบดีในยุคนั้นสั่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหง 9 คนที่เป็นแกนนำในการออกหนังสือเล่มนั้น จนเกิดเหตุการณ์ประท้วงของนิสิตนักศึกษากกันวุ่นวายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาต่อมา อันเป็นเดือนมิถุนายน 2516 และท้ายที่สุด อธิการบดีรามคำแหงในตอนนั้นต้องคืนสภาพนึกศึกษาทั้งเก้าคน และตนเองก็ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี” ลุงแมวน้ำเล่า “และจากจุดนี้เอง ที่เหล่านิสิตนักศึกษาเริ่มเหลือทนกับการบริหารที่ไร้ฝีมือ พฤติกรรมการปิดหูปิดตาประชาชน เล่นพรรคเล่นพวก หาประโยชน์ให้แก่ตนและพวกพ้อง”



“ไม่ไหวจะเคลียร์” กระต่ายน้อยพูด

“ใช่แล้ว สมัยนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่ไหวจะเคลียร์” ลุงแมวน้ำพูด “เหล่านิสิตนักศึกษาเห็นว่าหากมีตัวแทนของประชาชนมาบริหารประเทศ ก็จะเข้าใจปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าเผด็จการทหารที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ สถานการณ์ต่างๆที่ผ่านมา ทำให้ตกผลึกเป็นความคิดในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน”

“แล้วทหารจะยอมเหรอลุง” แม่ยีราฟถาม

“ถ้ายอมก็ไม่เกิดวันมหาวิปโยค 14 ตุลา 2516 น่ะสิ” ลุงแมวน้ำตอบ “ฟังต่อนะ

“วันที่ 5 ตุลาคม 2514 ธีรยุทธ บุญมี ผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ได้เปิดการแถลงที่บริเวณสนามหลวง และเปิดเผยรายชื่อผู้ที่เข้าชื่อกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ที่จริงมีมากกว่านี้ แต่นำมาเปิดเผยเท่านี้ พันเอกณรงค์ กิตติขจร เมื่อรู้ข่าว ก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะก่อม็อบสู้ เดี๋ยวทหารก็จะออกมาเดินขบวนบ้างว่าไม่อยากไปรบ”

“ฟังคุ้นๆอีกแล้ว” ลิงจ๋อพูด


รายชื่อบางส่วนของกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญในปี 2516


พันเอกณรงค์ตอบโต้กลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ด้วยการบอกว่าจะเอาทหารมาเดินขบวนเรียกร้องบ้าง



“วันต่อมา กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยามสแควร์ ฯลฯ ซึ่งในทีสุด กลุ่มที่แจกใบปลิวนี้ถูกตำรวจสันติบาลจับกุม 11 คน และยุงถูกจับกุมในภายหลังอีก 2 คน รวมเป็น 13 คน โดยตำรวจตั้งข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งคุมขัง ห้ามเยี่ยม ห้ามประกันตัว และบุคคลทั้งสิบสามนี้ถูกเรียกว่าเป็น กบฎรัฐธรรมนูญ”

กลุ่มผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน และถูกเรียกว่าเป็นกบฎรัฐธรรมนูญ


“ฟังชื่อแล้วรุนแรงจัง” กระต่ายน้อยเสริมออกความห็น “เป็นกบฎเลยนะ”

“จุดนี้เองที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของประชาชน กลุ่มนิสิตนักศึกษา นำโดยศูนย์รวมนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรศูนย์กลางของนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น ออกแถลงการณ์ประณาม สถาบันการศึกษาต่างๆก็เรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 ผู้ต้องหานี้ นิสิตนักศึกษาและอาจารย์ พยายามเข้าเยี่ยมผู้ต้องหา แต่ก็เยี่ยมไม่ได้

“และจากบันทึกของกระทรวงมหาดไทยที่มีจอมพลประภาสเป็นรัฐมนตรีว่าการในยุคนั้น ระบุว่ามีการประชุมของกระทรวงมหาดไทยและประเมินกันว่าหากมีการปราบปรามนิสิตนักศึกษา จะมีนิสิตนักศึกษาล้มตายไปประมาณ 2% ซึ่งก็เป็นหลักพันคน ก็จำเป็นต้องยอมสูญเสีย”

“หูยยยย ขนาดนั้นเลย” กระต่ายน้อยหูตั้งชัน ท่าทางตกใจ

“เหตุการณ์ลุกลามรวดเร็วมาก วันที่ 9 ตุลาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประท้วงและงดสอบ มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลที่ลานโพธิ์ นักศึกษาแพทย์ศิริราชก็ข้ามฝั่งแม่น้ำมาสมทบด้วย ด้านนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็มีการประท้วงเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาเช่นกัน ทางด้านจอมพลถนอมก็ประกาศว่าจะใช้ ม.17 กับผู้ต้องหาทั้งสิบสามคน”

“มาตรานี้อีกแล้ว” ลิงจ๋อพูด

จอมพลถนอมบอกว่าจะใช้ ม.17 กับกลุ่มกบฎรัฐธรรมนูญ


“คืนวันที่ 9 ฝนตกหนัก แต่นักศึกษาก็ยังปักหลักประท้วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันต่อมา วันที่ 10 ตุลาคม การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆก็ส่งสาสน์แสดงความสนับสนุน พร้อมกันนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาก็เข้ามารับช่วงต่อจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อยกระดับการชุมนุม พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนเข้ามาร่วมการประท้วงด้วย

“สายธารของมหาชนหลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทาง นักศึกษาวิทยาลัยครู (คือสถาบันราชภัฎในปัจจุบัน) หลายแห่งเดินทางมารว่มด้วย จากนั้นตามมาด้วยนักศึกษาประสานมิตร นักเรียนอาชีวะและมัธยม ทั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัดก็ทยอยเดินทางมาร่วม ลานโพธิ์จึงเริ่มแน่นขนัด จนต้องย้ายไปชุมนุมในสนามฟุตบอล ประชาชนให้การสนับสนุน ให้ทั้งอาหารและค่าใช้จ่ายต่างๆในการชุมนุม นักเรียนไทยต่างประเทศก็ส่งเงินมาช่วย



ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ มหาชนหลั่งไหลเข้ามาร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



มหาชนล้นหลามจนเต็มสนามฟุตบอลจของมหาวิทยาลัย มีทั้งนิสิต นักศึกษา ประชาชน และนักเรียน ทั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัด


“ในคืนวันที่ 11 มีการตั้งกองบัญชาการปราบปรามจลาจลที่สวนรื่นฤดี โดยมีจอมพลประภาสป็นผู้บัญชาการ จนวันที่ 12 มหาชนจากทุกทิศยังหลั่งไหลเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อชุมนุมประท้วง และในตอนเที่ยงวันนั้นเอง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลให้คำตอบอันน่าพอใจภายในเวลาเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม หากยังไม่ได้รับคำตอบก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป พร้อมกันนั้น มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็มีการประท้วงด้วยเช่นกัน”

“แล้วทางรัฐบาลตอบว่าไหง” ลิงจ๋อรีบถาม “เล่าเร็วสิลุง”

“ในคืนวันที่ 12 นั้นเอง กรมประชาสัมพันธ์ออกประกาศให้พ่อแม่ผู้ปกครอง เตือนลูกหลานอย่าเข้าร่วมชุมนุม เพราะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเตรียมแฝงตัวมาทำร้ายผู้ชุมนุม แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง ก็มีการเสริมกำลังทหารและตำรวจรอบบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ลุงแมวน้ำเล่า

“โอ๊ะ คุ้นๆอีกแล้ว” ลิงจ๋ออุทาน

“จนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม ไม่มีคำตอบจากรัฐบาล และรัฐบาลก็ยังไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสิบสามคน แกนนำนิสิตนักศึกษาจึงนำมหาชนในมหาวิทยาลัยออกจากประตูมหาวิทยาลัยไปสู่ภายนอกซึ่งกองกำลังตำรวจรายล้อมอยู่ โดยกลุ่มหัวหมู่ทะลวงเป็นนักศึกษาอาชีวะ พร้อมกับอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น พริกไทย เอาไว้สู้กับสุนัขตำรวจ และหน้ากาก ผ้า กับน้ำสะอาด เอาไว้ป้องกันแก๊สน้ำตา” ลุงแมวน้ำเล่า

กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนพลออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเส้นตาย 13 ตุลาคม 2516 เวลาเที่ยงได้ผ่านพ้นไป มีการจัดกระบวนพลเพื่อรับมือกับกองกำลังตำรวจและสุนัขตำรวจที่ด้านนอก


Thursday, November 7, 2013

07/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 4 ยุคเผด็จการทหารและระบบทุนนิยมพรรคพวก


ในยุคที่กระแสทุนนิยมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา ประมาณปี พ.ศ. 2507 ที่ดินย่านราชประสงค์ได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์การค้าราชประสงค์ เป็นแหล่งแฟชั่นและบันเทิงของคนหนุ่มสาวที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ห้างสรรพสินค้าต่างชาติแห่งแรกก็ตั้งอยู่ที่นี่ คือห้างไดมารู ซึ่งเป็นห้างของญี่ปุ่น


ห้างไดมารูของญี่ปุ่น เข้ามาในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2507 ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าราชประสงค์ตรงตำแหน่งที่เป็นห้างเซ็นทรัลเวิล์ดในปัจจุบัน เป็นห้างที่ทันสมัยที่สุด เป็นห้างสรรพสินค้าแรกที่ติดตั้งบันไดเลื่อน ซึ่งหรูมาก ใครๆก็อยากมาลองใช้บันไดเลื่อนของที่นี่ สินค้าในห้างส่วนใหญ่เป็นสินค้าญี่ปุ่น นอกจากนี้ภายในบริเวณศูนย์การค้าราชประสงค์ยังมีร้านค้าที่เป็นสไตล์ตะวันตกมากมายหลายร้าน ร้านฟาสต์ฟูดแห่งแรกของไทยก็เกิดขึ้นที่นี่ นั่นคือ ร้านแฮมเบอร์เกอร์ชื่อ วิมปี้ (Wimpy) ตั้งอยู่ใกล้ๆไดมารูนั่นเอง



“แหม ลุง โลกสวยไปหน่อยมั้ง หนุ่มสาวปัญญาชนจะมีอุดมการณ์รับใช้ประชาชนไปเสียทุกคนเลยหรือ” ลิงจ๋อพูด “ไม่น่าเป็นไปได้”

“นายจ๋อต้องเข้าใจก่อนว่าลุงพูดในภาพรวม” ลุงแมวน้ำพูด “บรรยากาศภายในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคนั้นเป็นบรรยากาศของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และการค้นหาความหมายของชีวิต แต่แน่นอน ไม่ใช่ว่านิสิตนักศึกษาทุกคนจะมีความคิดแบบนั้น บางคนที่เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีเพราะคิดว่าเรียนจบแล้วจะมีงานดี เงินเดือนดี แบบนี้ก็มี คนเราย่อมมีหลากหลาย จะคิดเหมือนกันหมดได้อย่างไร ฟังลุงเล่าต่อไปอีกนิด ลุงกำลังจะเล่าถึงอีกด้านหนึ่งของสังคมในยุคนั้นอยู่พอดี”

“อ้อ ยังงั้นลุงเล่าต่อเลย กำลังอยากรู้” ลิงจ๋อพูด

ลุงแมวน้ำจึงเล่าต่อไปว่า

“ที่จริงยุคนั้นสามารถเทียบเคียงกับยุคนี้ได้เลยเชียว คือเป็นยุคที่เศรษฐกิจพัฒนาแบบก้าวกระโดด มีการเติบโตของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น ระดับความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น ถือได้ว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์เช่นกัน”

“มันเกิดจากอะไรฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“หลังจากสิ้นสงครามโลก บ้านเมืองเริ่มสงบสุข เศรษฐกิจของประเทศต่างๆก็ค่อยๆฟื้นตัว แม้แต่เยอรมนีและญี่ปุ่นที่เสียหายอย่างหนักอีกทั้งเป็นประเทศที่แพ้สงครามก็ค่อยๆฟื้นตัว” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ “ประกอบกับในยุคของจอมพลสฤษดิ์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มพัฒนาตนเอง จากเดิมเป็นประเทศเกษตรกรรม ก็เริ่มพัฒนามาสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม กระแสทุนและเทคโนโลยีหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากที่มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 กระแสทุนและเทคโนโลยียิ่งหลั่งไหลเข้ามา การเกษตรแบบเชิงเดี่ยวเริ่มเฟื่องฟู อุตสาหกรรมการผลิตก็เช่นกัน มีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทย เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือที่เรียกว่า FDI (foreign direct investment) หลั่งไหลเข้ามามากมาย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น สินค้าดีๆ แปลกๆ ใหม่ๆมีวางจำหน่ายมากขึ้น เมื่อชุมชนแบบเมืองเติบโต ในกรุงเทพฯมีรถยนต์มากขึ้น การจราจรเริ่มติดขัด ทำให้มีการตัดถนนมากขึ้น ราคาที่ดินก็เริ่มสูงขึ้น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มเฟื่อง โดยตอนแรกเป็นยุคที่ดินจัดสรรก่อน และอีกหลายปีต่อมาก็ตามมาด้วยยุคหมู่บ้านจัดสรร

“เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเร็ว อุตสาหกรรมเริ่มเฟื่องฟู คนหนุ่มสาวที่อยากยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ต่างก็เข้ามาแสวงโชคในเมืองเพื่อเรียนหนังสือ และเมื่อจบออกไปก็เข้าทำงานในบริษัท ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่รับราชการ งานที่ดีและเงินเดือนที่ดีเป็นช่องทางที่จะยกระดับชีวิต ดังนั้นคนเจนบี หรือหนุ่มสาวในยุคนั้น จึงนิยมทำงานเป็นลูกจ้าง ทั้งลูกจ้างเอกชน และการทำงานราชการ 

“ด้วยค่านิยมในยุคนั้นที่นิยมการเป็นลูกจ้าง จึงเพาะบ่มเป็นความขยันขันแข็งและความภักดีต่อองค์กรของคนเจนบี ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงานนั่นเอง”

“อือม์ บริบทของสังคมในยุคนั้นก็มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างกับยุคนี้นะ” ลิงจ๋อพูดด้วยท่าทีครุ่นคิด

“ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น บริบทที่สำคัญในสังคมยุคนั้นอีกประการก็คือเผด็จการทหารครองเมือง” ลุงแมวน้ำพูด “เนื่องจากจากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครอง แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญ มีนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ แต่เราไม่มีสภาผู้แทนและไม่มีการเลือกตั้งอีกเลย”

“เอ๊ะ ยังไง” ม้าลายสงสัยบ้าง

“ก็คือรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นฉบับที่ทหารร่าง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกิดจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร กฎหมายต่างๆก็ออกด้วยอาศัยอำนาจของคณะรัฐประหารมารองรับ และกฎหมายที่ออกโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งและทำหน้าที่นิติบัญญัติไปด้วย ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร แม้เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญญกรรมในปี พ.ศ. 2506 นายกรัฐมนตรีคนต่อมาซึ่งก็คือจอมพลถนอม ที่เป็นคนสนิท ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เผด็จการทหารครองเมือง โดยเฉพาะในยุคที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2502-2506 นั้นรัฐบาลมั่นคงมากเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ ไว้คนเดียว นั่นคือ ควบคุมคณะรัฐบาล กำลังทหาร และกำลังตำรวจ เอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

“เมื่อทหารมีอำนาจครองเมือง การลงทุนและการทำธุรกิจต่างๆ หากจะให้ราบรื่นและประสบความสำเร็จ จะทำแบบดุ่ยๆไม่ได้ ใครเข้าถึงอำนาจ คนนั้นก็ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ดังนั้นธุรกิจ การค้า การลงทุนต่างๆ จึงต้องวิ่งเข้ามาซบกลุ่มทหาร ต้องมีทหารยศสูงๆเข้ามามีส่วนร่วมด้วย การทำงานจึงจะสะดวก แม้แต่การเปิดภัตตาคารร้านอาหารก็ยังวิ่งเต้นเข้าหานายทหารเลย ต้องมีรูปทหารใหญ่ๆแขวนอยู่ในร้านเหมือนกับติดยันต์ ยังไงยังงั้น ให้คนอื่นๆรู้ว่าฉันก็มีพวกเป็นทหารนะ”

“โห ขนาดนั้นเลย” ลิงจ๋ออ้าปากหวอ

“ดังนั้น ลุงจึงอยากสรุปว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นแบ่งออกได้เป็นสามพวก คือ กลุ่มแรก พวกปัญญาชนที่แสวงหาความหมายของชีวิตและมีจิตวิญญาณรับใช้สังคม กับกลุ่มที่สอง ปัญญาชนที่ต้องการทำงานดีๆและยกระดับความเป็นอยู่ของตนเอง

“กับพวกที่สาม คือพวกที่มีหัวในการทำการค้า พวกนี้ก็จะมุ่งทำธุรกิจ ส่วนใหญ่ก็เป็นการสืบต่อธุรกิจของครอบครัวนั่นเอง หนุ่มสาวในกลุ่มที่สามนี้อาจเรียนปรัญญาตรีหรือไม่ก็ได้ พวกนี้จะเรียนรู้ถึงวิธีที่เข้าถึงขั้วอำนาจและระบบทุนนิยมพรรคพวก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียนรู้มาจากรุ่นพ่อแม่ที่ทำธุรกิจ แต่ก็มีบางส่วนที่เรียนรู้ด้วยตนเองก็มี หนุ่มสาวหลายต่อหลายคนที่เดิมยากจน เมื่อต้องการหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำก็เลือกวิธีการทำธุรกิจโดยการแอบอิงกับขั้วอำนาจ

“ดังนั้นลุงจึงไม่ได้หมายความว่าหนุ่มสาวในยุคนั้น หรือก็คือคนเจนบี มีแต่พวกแสวงหาความหมายและรับใช้ในสังคม แต่ลุงอยากบอกว่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัยยุคนั้นเอื้อไปทางนั้นมากทีเดียว ส่วนใครจะเลือกเส้นทางอย่างไรก็แล้วแต่บุคคลไป ที่ทำมาหากินสุจริตก็มี ที่คดโกงทุจริตก็มีเช่นกัน

“ทีนี้จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยก็อยู่ในยุคของจอมพลถนอม หลังจากยุคของจอมพลสฤษดิ์นั่นเอง โดยหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตไม่นานก็มีเรื่องฟ้องร้องคดีมรดกกันในหมู่ทายาทของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเป็นคดีความ เรื่องก็เลยแดงออกมาว่าจอมพลสฤษดิ์นั้นมีทรัพย์สินมากมาย ทั้งเงินสด ที่ดิน และหุ้นในบริษัทห้างร้านต่างๆ ตัวเลขแน่นอนประมาณไม่ถูก แต่ตอนที่สืบพยานก็มีการอ้างกันว่าจอมพลสฤษดิ์มีเงินสด 12 ล้านบาท ยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นๆ บ้างก็อ้างว่ามีทรัพย์สินนับพันล้านบาท

“อย่าว่าแต่เงินพันล้านบาทเลย แม้เงินสด 12 ล้านบาทก็ถือว่ามากมายในสมัยนั้น เพราะว่าก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ ทองก็บาทละประมาณ 300 บาท สังคมก็ได้รับรู้กันในตอนนั้นว่าจอมพลสฤษดิ์มีทรัพย์สินเยอะมาก และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมรวมทั้งคนหนุ่มสาวปัญญาชนในยุคนั้นหันมาเอาใจใส่และขุดคุ้ยปัญหาทุจริตคิดมิชอบของเผด็จการทหาร”