Thursday, November 7, 2013

07/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 4 ยุคเผด็จการทหารและระบบทุนนิยมพรรคพวก


ในยุคที่กระแสทุนนิยมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา ประมาณปี พ.ศ. 2507 ที่ดินย่านราชประสงค์ได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์การค้าราชประสงค์ เป็นแหล่งแฟชั่นและบันเทิงของคนหนุ่มสาวที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ห้างสรรพสินค้าต่างชาติแห่งแรกก็ตั้งอยู่ที่นี่ คือห้างไดมารู ซึ่งเป็นห้างของญี่ปุ่น


ห้างไดมารูของญี่ปุ่น เข้ามาในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2507 ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าราชประสงค์ตรงตำแหน่งที่เป็นห้างเซ็นทรัลเวิล์ดในปัจจุบัน เป็นห้างที่ทันสมัยที่สุด เป็นห้างสรรพสินค้าแรกที่ติดตั้งบันไดเลื่อน ซึ่งหรูมาก ใครๆก็อยากมาลองใช้บันไดเลื่อนของที่นี่ สินค้าในห้างส่วนใหญ่เป็นสินค้าญี่ปุ่น นอกจากนี้ภายในบริเวณศูนย์การค้าราชประสงค์ยังมีร้านค้าที่เป็นสไตล์ตะวันตกมากมายหลายร้าน ร้านฟาสต์ฟูดแห่งแรกของไทยก็เกิดขึ้นที่นี่ นั่นคือ ร้านแฮมเบอร์เกอร์ชื่อ วิมปี้ (Wimpy) ตั้งอยู่ใกล้ๆไดมารูนั่นเอง



“แหม ลุง โลกสวยไปหน่อยมั้ง หนุ่มสาวปัญญาชนจะมีอุดมการณ์รับใช้ประชาชนไปเสียทุกคนเลยหรือ” ลิงจ๋อพูด “ไม่น่าเป็นไปได้”

“นายจ๋อต้องเข้าใจก่อนว่าลุงพูดในภาพรวม” ลุงแมวน้ำพูด “บรรยากาศภายในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคนั้นเป็นบรรยากาศของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และการค้นหาความหมายของชีวิต แต่แน่นอน ไม่ใช่ว่านิสิตนักศึกษาทุกคนจะมีความคิดแบบนั้น บางคนที่เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีเพราะคิดว่าเรียนจบแล้วจะมีงานดี เงินเดือนดี แบบนี้ก็มี คนเราย่อมมีหลากหลาย จะคิดเหมือนกันหมดได้อย่างไร ฟังลุงเล่าต่อไปอีกนิด ลุงกำลังจะเล่าถึงอีกด้านหนึ่งของสังคมในยุคนั้นอยู่พอดี”

“อ้อ ยังงั้นลุงเล่าต่อเลย กำลังอยากรู้” ลิงจ๋อพูด

ลุงแมวน้ำจึงเล่าต่อไปว่า

“ที่จริงยุคนั้นสามารถเทียบเคียงกับยุคนี้ได้เลยเชียว คือเป็นยุคที่เศรษฐกิจพัฒนาแบบก้าวกระโดด มีการเติบโตของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น ระดับความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น ถือได้ว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์เช่นกัน”

“มันเกิดจากอะไรฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“หลังจากสิ้นสงครามโลก บ้านเมืองเริ่มสงบสุข เศรษฐกิจของประเทศต่างๆก็ค่อยๆฟื้นตัว แม้แต่เยอรมนีและญี่ปุ่นที่เสียหายอย่างหนักอีกทั้งเป็นประเทศที่แพ้สงครามก็ค่อยๆฟื้นตัว” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ “ประกอบกับในยุคของจอมพลสฤษดิ์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มพัฒนาตนเอง จากเดิมเป็นประเทศเกษตรกรรม ก็เริ่มพัฒนามาสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม กระแสทุนและเทคโนโลยีหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากที่มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 กระแสทุนและเทคโนโลยียิ่งหลั่งไหลเข้ามา การเกษตรแบบเชิงเดี่ยวเริ่มเฟื่องฟู อุตสาหกรรมการผลิตก็เช่นกัน มีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทย เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือที่เรียกว่า FDI (foreign direct investment) หลั่งไหลเข้ามามากมาย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น สินค้าดีๆ แปลกๆ ใหม่ๆมีวางจำหน่ายมากขึ้น เมื่อชุมชนแบบเมืองเติบโต ในกรุงเทพฯมีรถยนต์มากขึ้น การจราจรเริ่มติดขัด ทำให้มีการตัดถนนมากขึ้น ราคาที่ดินก็เริ่มสูงขึ้น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มเฟื่อง โดยตอนแรกเป็นยุคที่ดินจัดสรรก่อน และอีกหลายปีต่อมาก็ตามมาด้วยยุคหมู่บ้านจัดสรร

“เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเร็ว อุตสาหกรรมเริ่มเฟื่องฟู คนหนุ่มสาวที่อยากยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ต่างก็เข้ามาแสวงโชคในเมืองเพื่อเรียนหนังสือ และเมื่อจบออกไปก็เข้าทำงานในบริษัท ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่รับราชการ งานที่ดีและเงินเดือนที่ดีเป็นช่องทางที่จะยกระดับชีวิต ดังนั้นคนเจนบี หรือหนุ่มสาวในยุคนั้น จึงนิยมทำงานเป็นลูกจ้าง ทั้งลูกจ้างเอกชน และการทำงานราชการ 

“ด้วยค่านิยมในยุคนั้นที่นิยมการเป็นลูกจ้าง จึงเพาะบ่มเป็นความขยันขันแข็งและความภักดีต่อองค์กรของคนเจนบี ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงานนั่นเอง”

“อือม์ บริบทของสังคมในยุคนั้นก็มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างกับยุคนี้นะ” ลิงจ๋อพูดด้วยท่าทีครุ่นคิด

“ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น บริบทที่สำคัญในสังคมยุคนั้นอีกประการก็คือเผด็จการทหารครองเมือง” ลุงแมวน้ำพูด “เนื่องจากจากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครอง แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญ มีนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ แต่เราไม่มีสภาผู้แทนและไม่มีการเลือกตั้งอีกเลย”

“เอ๊ะ ยังไง” ม้าลายสงสัยบ้าง

“ก็คือรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นฉบับที่ทหารร่าง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกิดจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร กฎหมายต่างๆก็ออกด้วยอาศัยอำนาจของคณะรัฐประหารมารองรับ และกฎหมายที่ออกโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งและทำหน้าที่นิติบัญญัติไปด้วย ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร แม้เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญญกรรมในปี พ.ศ. 2506 นายกรัฐมนตรีคนต่อมาซึ่งก็คือจอมพลถนอม ที่เป็นคนสนิท ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เผด็จการทหารครองเมือง โดยเฉพาะในยุคที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2502-2506 นั้นรัฐบาลมั่นคงมากเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ ไว้คนเดียว นั่นคือ ควบคุมคณะรัฐบาล กำลังทหาร และกำลังตำรวจ เอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

“เมื่อทหารมีอำนาจครองเมือง การลงทุนและการทำธุรกิจต่างๆ หากจะให้ราบรื่นและประสบความสำเร็จ จะทำแบบดุ่ยๆไม่ได้ ใครเข้าถึงอำนาจ คนนั้นก็ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ดังนั้นธุรกิจ การค้า การลงทุนต่างๆ จึงต้องวิ่งเข้ามาซบกลุ่มทหาร ต้องมีทหารยศสูงๆเข้ามามีส่วนร่วมด้วย การทำงานจึงจะสะดวก แม้แต่การเปิดภัตตาคารร้านอาหารก็ยังวิ่งเต้นเข้าหานายทหารเลย ต้องมีรูปทหารใหญ่ๆแขวนอยู่ในร้านเหมือนกับติดยันต์ ยังไงยังงั้น ให้คนอื่นๆรู้ว่าฉันก็มีพวกเป็นทหารนะ”

“โห ขนาดนั้นเลย” ลิงจ๋ออ้าปากหวอ

“ดังนั้น ลุงจึงอยากสรุปว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นแบ่งออกได้เป็นสามพวก คือ กลุ่มแรก พวกปัญญาชนที่แสวงหาความหมายของชีวิตและมีจิตวิญญาณรับใช้สังคม กับกลุ่มที่สอง ปัญญาชนที่ต้องการทำงานดีๆและยกระดับความเป็นอยู่ของตนเอง

“กับพวกที่สาม คือพวกที่มีหัวในการทำการค้า พวกนี้ก็จะมุ่งทำธุรกิจ ส่วนใหญ่ก็เป็นการสืบต่อธุรกิจของครอบครัวนั่นเอง หนุ่มสาวในกลุ่มที่สามนี้อาจเรียนปรัญญาตรีหรือไม่ก็ได้ พวกนี้จะเรียนรู้ถึงวิธีที่เข้าถึงขั้วอำนาจและระบบทุนนิยมพรรคพวก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียนรู้มาจากรุ่นพ่อแม่ที่ทำธุรกิจ แต่ก็มีบางส่วนที่เรียนรู้ด้วยตนเองก็มี หนุ่มสาวหลายต่อหลายคนที่เดิมยากจน เมื่อต้องการหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำก็เลือกวิธีการทำธุรกิจโดยการแอบอิงกับขั้วอำนาจ

“ดังนั้นลุงจึงไม่ได้หมายความว่าหนุ่มสาวในยุคนั้น หรือก็คือคนเจนบี มีแต่พวกแสวงหาความหมายและรับใช้ในสังคม แต่ลุงอยากบอกว่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัยยุคนั้นเอื้อไปทางนั้นมากทีเดียว ส่วนใครจะเลือกเส้นทางอย่างไรก็แล้วแต่บุคคลไป ที่ทำมาหากินสุจริตก็มี ที่คดโกงทุจริตก็มีเช่นกัน

“ทีนี้จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยก็อยู่ในยุคของจอมพลถนอม หลังจากยุคของจอมพลสฤษดิ์นั่นเอง โดยหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตไม่นานก็มีเรื่องฟ้องร้องคดีมรดกกันในหมู่ทายาทของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเป็นคดีความ เรื่องก็เลยแดงออกมาว่าจอมพลสฤษดิ์นั้นมีทรัพย์สินมากมาย ทั้งเงินสด ที่ดิน และหุ้นในบริษัทห้างร้านต่างๆ ตัวเลขแน่นอนประมาณไม่ถูก แต่ตอนที่สืบพยานก็มีการอ้างกันว่าจอมพลสฤษดิ์มีเงินสด 12 ล้านบาท ยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นๆ บ้างก็อ้างว่ามีทรัพย์สินนับพันล้านบาท

“อย่าว่าแต่เงินพันล้านบาทเลย แม้เงินสด 12 ล้านบาทก็ถือว่ามากมายในสมัยนั้น เพราะว่าก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ ทองก็บาทละประมาณ 300 บาท สังคมก็ได้รับรู้กันในตอนนั้นว่าจอมพลสฤษดิ์มีทรัพย์สินเยอะมาก และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมรวมทั้งคนหนุ่มสาวปัญญาชนในยุคนั้นหันมาเอาใจใส่และขุดคุ้ยปัญหาทุจริตคิดมิชอบของเผด็จการทหาร”

Tuesday, November 5, 2013

05/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 3 ระบอบถนอม-ประพาส-ณรงค์ กับฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง

ย่านวังบูรพาหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2489 วังบูรพาในยุคนั้นยังเป็นวังเจ้าจริงๆ ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นย่านบันเทิงของหนุ่มสาว

เยาวราช ปี 2495 ในยุคนั้นเยาวราชถือเป็นแหล่งธุรกิจการค้าใจกลางเมือง มีทั้งภัตตาคาร ร้านค้า โรงหนัง โรงงิ้ว โรงน้ำชา ในภาพยังสามารถเห็นรถลาก สามล้อถีบ และแนวรถรางได้


“เดี๋ยวก่อน ลุงแมวน้ำ ฉันอยากถามหน่อย” ยีราฟแทรกขึ้นมา “ลุงก็บอกว่าช่วงนั้นบ้านเมืองสงบ อาชญากรรมก็ลดลง เพราะผู้นำเด็ดขาด การดำเนินชีวิตราบรื่น ฉันว่าถ้าเป็นแบบนั้นสภาพบ้านเมืองก็ถือว่าน่าอยู่ รัฐธรรมนูญเอามาต้มกินก็ไม่ได้ ฉันว่าเรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญไม่น่ามีแรงจูงใจพอที่จะเรียกคนนับแสนๆคนให้ออกมาได้หรอก”

“นั่นสิ ผมก็ว่ายังงั้นนะ” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง

“เสรีภาพไงล่ะ ที่ขาดหายไป เสรีภาพมีความสำคัญมากเลยนะ” ลิงจ๋อพูด น้ำเสียงเคร่งเครียดจริงจัง

“วุ้ย อยู่สบายก็พอ มีถั่วฝักยาวกิน ไม่มีใครมาทำร้ายฉัน ฉันก็พอใจแล้ว จะประท้วงอะไรกันอีก” ยีราฟสาวพูดพลางสะบัดคอยาวๆ น้ำลายยืดกระเซ็นใส่ตัวอื่นๆจนเลอะไปหมด

“ลุงว่าแม่ยีราฟพูดมีประเด็นนะ” ลุงแมวน้ำพูด “คิดกันอย่างง่ายๆ ชีวิตราบรื่นเป็นสุข แล้วจะมาไม่พอใจอะไรกันอีก แต่เอายังงี้ ขอให้ทุกคนหลับตานะ”

“ผมยังไม่ง่วงเลยฮะ” กระต่ายน้อยพูด พลางกระดิกหาง

“ลุงไม่ได้ให้เข้านอน แต่ลุงอยากให้หลับตาเพื่อใช้จินตนาการ เอาละ ลองหลับตากันหน่อย ฟังลุงพูด แล้วจินตนาการตามลุงไป ลุงจะพาหลานๆย้อนอดีตไปในยุดเมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน ถ้าหลานใช้จิตนาการตามไปด้วย ลุงคิดว่าหลานๆจะเข้าใจ” ลุงแมวน้ำพูด หยุดทิ้งระยะสักครู่ จากนั้นพูดต่อช้าๆ

“ลุงขอเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เลยนะ ในปีนั้นเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่สองมีจุดเริ่มต้นในซีกโลกฝั่งตะวันตก แต่ก็ลุกลามมายังเอเชียด้วย โดยสงครามโลกครั้งที่สองในย่านเอเชียตะวันออกนี้เราเรียกกันว่าสงครามมหาเอเชียบูรพานั่นเอง

“หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง บ้านเมืองส่วนใหญ่ ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก ล้วนแต่เสียหายจากภัยสงคราม บ้านเมืองเสียหาย ผู้คนล้มตาย ดังนั้นหลังจากสงครามโลก คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นยุคฟื้นฟูชาติของประเทศต่างๆในโลก

“โลกในตอนนั้นก็แปลกๆอยู่ เพราะว่าประเทศที่ชนะสงคราม หรือว่าเป็นฝ่ายพระเอก ที่เรียกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น กลับประกอบด้วยมหาอำนาจจากสองขั้วลัทธิ นั่นคือ สหรัฐอเมริกาซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นพี่ใหญ่ฝ่ายโลกประชาธิปไตยซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี กับรัสเซียซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของโลกฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง สองขั้วลัทธิฝ่ายพระเอกจึงแย่งชิงกันเป็นใหญ่กันเอง เพราะว่าพระเอกฝ่ายประชาธิปไตยก็กลัวถูกพระเอกฝ่ายคอมมิวนิสต์ครอบงำ รวมทั้งต้องการแพร่ขยายแนวคิดในแบบประชาธิปไตยของตนเอง ส่วนพระเอกฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็คิดทำนองนั้นเหมือนกัน และนั่นคือที่มาของยุคสงครามเย็นที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามครอบงำผู้อื่น ดังนั้นประเทศอื่นๆจึงเสมือนว่าต้องเลือกข้าง ว่าจะสนับสนุนฝ่ายใดเป็นลูกพี่

“ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ประเทศจีนเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นลิทธิคอมมิวนิสต์ โลกจึงยิ่งวุ่นวาย กลายเป็น 3 ขั้ว คือประชาธิปไตยแบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี แบบคอมมิวนิสต์รัสเซีย และคอมมิวนิสต์แบบจีน

“สำหรับประเทศไทยในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2482 เป็นต้นมาก็เริ่มต้อนรับกระแสตะวันตก ประเทศไทยเข้าสู่ยุคทันสมัยหรือ modernization และหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นก็ยิ่งเปิดรับกระแสทุนและกระแสอารยธรรม วัฒนธรรมจากโลกตะวันตกเข้ามาอย่างมากมาย เนื่องจากอเมริกาพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเอาประเทศต่างๆเป็นพวก ประเทศเล็กต้องเลือกข้าง หากไม่เป็นพวกอเมริกาก็ต้องกลายเป็นพวกคอมมิวนิสต์ไป”

“คร่อฟ ฟี้...” เสียงกระต่ายน้อยกรน

“เดี๋ยว อย่าเพิ่งหลับ บอกให้จินตนาการก่อน เอ้า หลับตาจิตนาการตามลุงต่อไป...” ลุงแมวน้ำพูด

“ลองจินตนาการดู ว่าเด็กที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือตั้งแต่ พ.ศ. 2489 เป็นต้นไป พวกนั้นจะเป็นคนอย่างไร มีลักษณะนิสัยร่วมอย่างไร เรามาดูบริบททางสังคมใยุคนั้นกัน

“เด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นแม้ไม่ได้ผ่านชีวิตที่ยากลำบากในยุคสงครามมา แต่ยุคหลังสงครามที่เพิ่งฟื้นฟูชาติก็ลำบากไม่น้อย บ้านเรือนตึกราม ทรัพย์สินเสียหาย ข้าวของเครื่องใช้ขาดแคลน ชีวิตก็ไม่สบายนัก บางคนก็สูญเสียบุคคลในครอบครัวในระหว่างสงคราม เพาะบ่มให้เด็กในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีลักษณะร่วมก็คือ มีความขยัน อดทน หนักเอาเบาสู้ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต

ถนนราชดำเนิน พ.ศ. 2499


ย่านวังบูรพา หลังจากที่วังบูรพาภิรมย์ถูกรื้อออกและพัฒนาเป็นแหล่งบันเทิงของคนหนุ่มสาวหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงไม่นาน

บรรยากาศของกรุงเทพฯในยุคปี พ.ศ. 2499 ที่ความเจริญแบบตะวันตกเริ่มไหลบ่าเข้ามา และกรุงเทพฯเริ่มทันสมัยแบบตะวันตก

“แหล่งบันเทิงในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นของผู้ใหญ่ คือ ย่านธุรกิจการค้าใจกลางเมืองก็คือย่านเยาวราช ซึ่งมีแต่โรงหนัง โรงงิ้ว ภัตตาคารร้านอาหาร ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2500 วังบูรพาถูกรื้อ คือแต่เดิมเป็นวังเจ้า จากนั้นถูกรื้อไปและพัฒนาเป็นย่านธุรกิจ ย่านวังบูรพาจึงเป็นแหล่งวัยรุ่นแห่งแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือยุคโก๋หลังวังนั่นเอง

“ทีวีก็มีเพียง 2 ช่อง เป็นทีวีขาวดำ มิหนำซ้ำทีวีไม่ใช่มีกันทุกบ้าน อุปกรณ์บันเทิงหลักคือวิทยุสี่เหลี่ยมเป็นตู้เครื่องใหญ่ๆ ไม่อย่างนั้นก็อ่านหนังสือ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าชีวิตวัยรุ่นหลังสงครามโลกแม้จะเปิดรับความทันสมัย แต่ก็ยังค่อนข้างจืดชืด

“กระแสทันสมัยที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ได้มาเพียงเรื่องวัฒนธรรม แต่เรื่องการศึกษาก็ด้วย ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบการศึกษาของไทยพัฒนาไปในแนวทางตะวันตกมากขึ้น มหาวิทยาลัยเริ่มมีมากขึ้น ดังนั้นจากเดิมที่เด็กวัยรุ่นจบมัธยมหรือจบพาณิชย์ก็เพียงพอที่จะออกไปประกอบอาชีพแล้ว กลายเป็นว่าความนิยมที่เรียนถึงระดับปริญญาตรีมีมากขึ้น และในยุคของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์นี้เป็นยุคที่การศึกษาในระดับปริญญาตรีเริ่มขยายตัวออกไปสู่ภูมิภาค มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ โดยในช่วงต้นเป็นการตรากฎหมายและก่อสร้างอาคาร กว่าจะเปิดรับนักศึกษาได้จริงก็ล่วงเข้ามาในยุคของจอมพลถนอม

“หลักหมุดสำคัญของการศึกษาไทยหลักหมุดหนึ่งอยู่ที่ปี พ.ศ. 2504 หรือที่เรียกว่าปี ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม คือเป็นปีที่เริ่มใช่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 และปีนั้นเองที่มหาวิทยาลัยของรัฐริเริ่มการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วยระบบข้อสอบคัดเลือกกลาง จากที่ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยต่างคนต่างรับนักเรียนเข้ากันเอง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2505 ระบบการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยจึงเริ่มใช้เป็นปีแรก

“ในยุคนั้นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันจำนวนที่มหาวิทยาลัยรับได้ยังไม่มากนัก ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2504-2510 ถ้าลุงแมวน้ำจำไม่ผิด จำนวนรับของมหาวิทยาลัยของรัฐรวมกันรับได้ประมาณ 35,000 คนเท่านั้น ดังนั้นการเข้ามหาวิทยาลัยจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยได้ก็ถือว่าเป็น ปัญญาชน”

“ในช่วงนั้น พ.ศ. 2504-2510 ประเทศไทยพัฒนาไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 และ 2 ซึ่งตอบรับการไหลบ่าของทุนนิยมตะวันตก สังคมไทยเริ่มพัฒนาไปสู่ยุคอุตสาหกรรมการผลิต สัมคมเกษตรจากการทำเกษตรก๊อกๆแก๊กๆไปตามมีตามเกิด ก็เปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวแบบตะวันตกที่ทำรายได้มากขึ้น เกษตรกรในภาคชนบทมีทางเลือกมากขึ้น หากไม่ทำเกษตรแผนใหม่ที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ก็ไปทำงานโรงงานหรือทำงานตามห้างร้าน ไม่ว่าทางใดก็ยกระดับรายได้ขึ้นทั้งนั้น


สภาพบ้านเมืองของกรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2507 รถรางยังมีใช้อยู่


ห้างเซ็นทรัลราชประสงค์ เปิดในปี พ.ศ. 2507 ยุคนี้เป็นยุคที่แหล่งคนหนุ่มสาวย้ายมาที่ราชประสงค์ ห้างเซ็นทรัลเปิดได้ไม่กี่ปีก็ปิดไปเพราะแข่งสู้ห้างไดมารูของญี่ปุ่นไม่ได้


เยาวราช พ.ศ. 2508 ยังเป็นแหล่งค้าขายของชาวจีน แต่ศูนย์กลางความเจริญในกรุงเทพฯย้ายไปอยู่ที่ราชประสงค์แล้ว




“สิ่งที่มาพร้อมกับการพัฒนา นั่นก็คือความเหลื่อมล้ำ หลายๆคนยกระดับรายได้ขึ้นอย่างมากมาย แต่ขณะที่หลายๆคนจนลงและจนลง เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น ประกอบกับในช่วงนั้นกรุงเทพฯพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แหล่งวัยรุ่นย่านวังบูรพาเริ่มโรย ขณะเดียวกันศูนย์การค้าย่านราชประสงค์ผุดขึ้นมาแทน มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นในย่านนี้สองห้าง คือห้างเซ็นทรัล และห้างไดมารูของญี่ปุ่น ห้างไดมารูมีบันไดเลื่อนและลิฟต์ซึ่งหรูมากในยุคนั้น มีร้านอาหารแบบฝรั่ง มีบาร์แบบฝรั่ง ราชประสงค์ในยุคนั้นคือจุดที่ทันสมัยที่สุดในเมืองกรุง

“ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าลักษณะร่วมของวัยรุ่นและหนุ่มสาวในยุคนั้นคือมานะ อดทน ยิ่งเป็นผู้ที่ได้เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย ได้เรียน ได้อ่าน ได้เห็น และได้คิดกับสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ การมีแหล่งบันเทิงน้อย การได้อ่านหนังสือเยอะ ทำให้หนุ่มสาวในยุคนั้นมีลักษณะร่วมเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งก็คือ มีอุดมการณ์ และมุ่งแสวงหาความหมายของชีวิต

ความเหลื่อมล้ำที่มาพร้อมกับกระแสทุนนิยม ทำให้หนุ่มสาวปัญญาชนเริ่มตั้งคำถามกับตนเอง และพยายามแสวงหาคำตอบ

ในยุคที่คนหนุ่มสาวกำลังแสวงหา และมีสิ่งบันเทิงมายั่วยุน้อย ทำให้คนหนุ่มสาวสนใจทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมต่างๆ


“ดังนั้น ผู้ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อถึงวัยที่เข้ามหาวิทยาลัย ก็จะได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์สืบต่อมาจากรุ่นพี่ รวมทั้งกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในยุคนั้นมีการออกไปรับใช้มวลชนกันเยอะ ก็คือพวกงานค่ายอาสาพัฒนาชนบทนั่นแหละ ก็ยิ่งเพาะบ่มหนุ่มสาวเหล่านี้ให้มีอุดมการณ์เข้มข้นยิ่งขึ้น ครูโกมล คีมทอง เป็นตัวอย่าง คือจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองกรุง แต่สมัครใจไปเป็นครูในถิ่นทุรกันดาร งบทกวี ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ที่โด่งดัง ก็ถูกประพันธ์ขึ้นในยุคนี้เช่นกัน

“เอาละ ทีนี้หนุ่มสาวเหล่านี้มาเกี่ยวกับการเมืองและการเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ประเด็นก็อยู่ที่ยุคคณาธิปไตยของจอมพลสฤษดิ์ ต่อด้วยยุคถนอม-ประพาส-ณรงค์ที่ทั้งประเทศอยู่ในกำมือของบุคลคลเพียงกลุ่มเดียวนี่แหละ ที่ทำให้คนหนุ่มสาวปัญญาชนเหล่านั้นทนไม่ได้” ลุงแมวน้ำขมวดปม “และเด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ลุงบรรยายบริบทสังคมมานี้ ก็คือคนที่เรียกว่ารุ่นเจนบี (Gen B) หรือคนรุ่นเบบี้บูม (Baby Boomer) นั่นเอง”