Wednesday, March 10, 2010

09/03/2010 * โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (3)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 718.77 จุด ลดลง 1.52 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 โปรแกรมของลุงแมวน้ำวันนี้มีสัญญาณขาย QH ขณะนี้ถือหุ้นอยู่ 35 ตัว

สำหรับกลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

กลุ่มดัชนีต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ทองคำกับน้ำมันราคาบังไม่ไปไหน เดินหน้าถอยหลังอยู่แถวๆเดิม สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ตอนนี้ในภาพรวมยังเป็นสัญญาณขายอยู่ ยกเว้นยางพารากับฝ้ายที่เป็นสัญญาณซื้อ

ดัชนีหุ้นไทยไม่รู้จะไปทางไหนเหมือนกัน แต่ลุงแมวน้ำยังวางอุเบกขา ยังไม่มีสัญญาณขายก็ถือไปเรื่อยๆ


โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (3)

รูปแบบการออม

ในเมื่อเราต้องการออมเพื่อสร้างบำนาญของเราเองขึ้นมา ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูกันก่อนว่ารูปแบบการออมนั้นมีอะไรให้เลือกได้บ้าง ลุงแมวน้ำลองยกมาดูพร้อมกับข้อด้อยของแต่ละวิธีการออมในแบบคร่าวๆ
  • ใส่ตุ่มฝังดิน อาจโดนขุดสหรือปลวกกินได้ ไม่มีดอกเบี้ย
  • ฝากธนาคาร อัตราดอกเบี้ยต่ำ ยิ่งฝากเงินยิ่งหดเพราะว่าแพ้เงินเฟ้อ
  • ลงทุนในตราสารการเงินต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ดอกเบี้ยดีกว่าฝากธนาคาร แต่อาจไม่ชนะเงินเฟ้อ รวมทั้งมีความเสี่ยง
  • ลงทุนในตราสารการเงินในกลุ่มหุ้นสามัญ ฟิวเจอร์ส ออปชัน เป็นเหมือนการลงทุนทำธุรกิจ มีความเสี่ยงสูง ราคาหุ้นเป็นวัฏจักร มีขึ้นมีลง
  • ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีสภาพคล่องต่ำ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีอาจต้องเก็บนานมาก
  • ซื้อสังหาริมทรัพย์ เช่น ทองคำ เพชร ราคามีวัฏจักร มีขึ้นมีลง
  • ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ

ราคาทองคำมีขึ้นก็มีลง ไม่ได้มีแต่ขึ้นอย่างเดียว ใครที่ซื้อทองคำในปี 1979 ต้องเก็บทองเอาไว้นานเกือบ 30 ปีราคาจึงจะกลับมาอยู่ที่เดิม


หุ้นก็มีขึ้นและมีลง อย่าคิดว่าเก็บเอาไว้สักสิบปีถึงอย่างไรก็กำไรแน่ๆ จากกราฟข้างบน หากซื้อหุ้นเมื่อปี 1980 แล้วขายในปี 1990 ก็มีกำไร แต่หากซื้อในปี 1990 แล้วขายในปี 2000 ก็ยังขาดทุน แม้จะเป็นหุ้นที่มีเงินปันผลก็ยังไม่แน่ว่ามีกำไร

รูปแบบการออมคงต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพของบุคคล ผู้ที่มีรายได้เกินพอ เงินเก็บมากมาย ก็อาจเลือกวิธีการออมที่ไม่เน้นให้มีดอกผลงอกเงยก็ได้เพราะว่ามีเยอะอยู่แล้ว การออมที่ดอกผลต่ำความเสี่ยงก็มักจะต่ำด้วย เงินต้นก็ปลอดภัยดี แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่มากนัก มีกำลังการออมที่จำกัด อาจเลือกวิธีการออมที่เน้นให้ดอกผลสูงเพราะต้องการให้เงินช่วยทำงานด้วย มิฉะนั้นจะออมไม่ถึงเป้า

ต้องออมเท่าไร ขึ้นกับว่าเกษียณแล้วต้องการรายได้เท่าไร และจะอยู่ไปอีกกี่ปี

การที่จะตอบคำถามว่าต้องออมเท่าไรและเลือกวิธีการออมอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ออมต้องการสร้างบำนาญหลังเกษียณเท่าไร ดังนั้นคำตอบจึงแทบจะเป็นเรื่องครอบจักรวาลเพราะว่าต่างคนก็ต่างความคิด ต่างความต้องการ ยากที่จะเหมือนกัน ดังนั้นจึงยากที่จะมีสูตรสำเร็จสำหรับใช้กับทุกๆคนได้ แต่ละคนจึงต้องนำแนวทางที่มีอยู่แล้วไปปรับเพื่อให้เข้ากับตนเอง

แต่เพื่อให้มองเห็นภาพบ้าง หนังสือหลายๆเล่มมีสูตรสำหรับรายได้หลังเกษียณว่าควรจะประมาณ 70% ของรายได้เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ แต่ก็มองเห็นภาพได้ยากเพราะว่าแต่ละคนรายได้ไม่เท่ากัน 70% ของบางคนอาจมากมาย และของบางคนอาจมีไม่มากนักก็ได้ อีกประการ สูตรนี้มักใช้กับผู้ที่มีเงินเดือนประจำ แต่สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือรายได้ไม่แน่นอนก็ยากจะใช้ได้

ลุงแมวน้ำขอตอบคำถามข้อนี้โดยอิงจากภาระค่าใช้จ่ายน่าจะดีกว่า โดยเราลองมาประเมินกันคร่าวๆว่าผู้สูงอายุควรมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
  • ค่าเช่าบ้าน ไม่น่าจะมี ถึงวัยนี้ควรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว มิฉะนั้นคงไม่สามารถออมเงินเพื่อสร้างบำนาญได้
  • ค่าอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเดินทาง พอๆกับก่อนเกษียณ อาจน้อยกว่าก็ได้ เพราะว่าเมื่อเกษียณแล้วอาจไม่ต้องแต่งตัวมากนัก
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จำเป็นต้องมี ผู้สูงอายุควรมีประกันสุขภาพเอาไว้ แม้จะมีประกันสังคมอยู่แล้วก็ตาม
  • ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพ บางส่วนอาจต้องออกเองเนื่องจากเบิกประกันไม่ได้
  • ค่าใช้จ่ายสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ ทำบุญ ฯลฯ อันเป็นการบำรุงรักษาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
  • ค่าคนดูแล ค่าอุปกรณ์และวัสดุจำเป็นบางอย่าง กรณีที่ผู้สูงอายุสุขภาพไม่ดีจริงๆอาจต้องจ้างคนดูแลและอาจมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองเพิ่มเติมอื่นๆ
ฯลฯ

ลุงแมวน้ำคะเนเอาว่าภายในสิบปีข้างหน้าค่าครองชีพในเมืองคงสูงกว่านี้มาก ดังนั้นผู้สูงอายุที่อยู่ในสังคมเมืองหากจะมีชีวิตตามสมควรก็น่าจะมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท โดยส่วนที่คาดการณ์ได้ยากคือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั่นเอง

คำถามต่อมาก็คือ แล้วชีวิตหลังเกษียณจะอยู่ไปได้อีกสักกี่ปี จะได้คำนวณการออมถูก คำตอบก็คือไม่ทราบ เพราะว่าอายุขัยของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่จากข้อมูลทางสถิติพบว่าอายุขัยเฉลี่ยของชายไทยอยู่ที่ 68 ปี และของหญิงไทยอยู่ที่ 75 ปี การออมก็ต้องเผื่อเอาไว้บ้าง เผื่อว่าผู้ออมจะมีอายุขัยเกินค่าเฉลี่ย เงินออมจะได้ไม่หมดเสียก่อน ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดเอาง่ายๆว่าต้องเตรียมบำนาญเผื่อเอาไว้จนถึงอายุ 85 หรือเตรียมเอาไว้นาน 25 ปีหลังเกษียณก็แล้วกัน

สรุปว่าหากต้องการมีรายได้หลังเกษียณเดือนละ 25,000 บาท และอยู่ไปได้จนถึงอายุ 85 ปี จะต้องเตรียมเงินบำนาญเอาไว้ถึง 25,000 x (25 x 12) = 7,500,000 บาท (คิดแบบง่ายๆ ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อใดๆ)

เจ็ดล้านห้าแสนบาท!


Tuesday, March 9, 2010

08/03/2010 * โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (2)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 720.29 จุด ลดลง 3.67 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 โปรแกรมของลุงแมวน้ำวันนี้มีสัญญาณขาย CPF ขณะนี้ถือหุ้นอยู่ 36 ตัว

สำหรับกลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายข้าวโพด (C)

กลุ่มดัชนีต่างประเทศ วันนี้ดัชนีนิกเกอิ (NIX) ของประเทศญี่ปุ่นเกิดสัญญาณซื้อ จะเห็นว่าขณะนี้ดัชนีตลาดต่างประเทศที่อยู่ในรายงานของลุงแมวน้ำเกิดสัญญาณซื้อกันหมดแล้ว บ่งบอกให้เห็นแนวโน้มในภาพรวมได้

พอร์ตจำลองของลุงแมวน้ำขณะนี้ขาดทุนอยู่หนึ่งตัวคือฟิวเจอร์สน้ำมันดิบ (CL) ฟิวเจอร์ส์ที่ทำกำไรมากทุ่สุดในขณะนี้คือน้ำตาลทราย (SB) รองลงมาคือฟิวเจอร์สของดัชนีดอลลาร์ สรอ (DX) และฟิวเจอร์ส์ยางพารา (RSS) ตามลำดับ

วันนี้หุ้นไทยค่อนข้างแกว่ง ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวฉุดตลาดคือปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยบวกที่ช่วยดันตลาดในช่วงนี้น่าจะเป็นเงินของต่างชาติที่เข้ามาซื้อหุ้นไทย นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อราคาหุ้นในตลาดอีก ซึ่งหากจะคาดก็คงยากคาดการณ์ได้ว่าปัจจัยใดจะมีพลังขับเคลื่อนตลาดมากกว่ากัน หลายคนช้อนซื้อก็ลุ้นตลาดขึ้น หลายคนที่ชิงขายไปแล้วก็ลุ้นตลาดลง

แต่สำหรับลุงแมวน้ำและผู้ที่เทรดในระบบตามแนวโน้มคงไม่จำเป็นต้องลุ้นล่วงหน้าแต่อย่างใด เพราะเราเชื่อว่าราคาปิดเป็นคำตอบสุดท้ายที่ตอบสนองปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่างไปเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ลุงแมวน้ำเปิดสัญญาซื้อ S50 อยู่แล้ว (เปิดมาหลายวันแล้วตามสัญญาณซื้อครั้งที่ผ่านมา) หากต่อไปดัชนีร่วงจนถึงสัญญาณขายลุงแมวน้ำก็จะปิดสัญญา และหากดัชนีเดินหน้าไปต่อ ลุงแมวน้ำก็ถือเอาไว้เฉยๆปล่อยให้กำไรต่อไปและรอให้เกิดสัญญาณขายครั้งต่อไปจึงค่อยปิดสัญญา ไม่ช้อนซื้อ ไม่ชิงขาย เพราะเราไม่รู้อนาคตที่แท้จริง และเพราะว่าเราใช้ระบบเทรดตามแนวโน้ม ไม่ใช่การเทรดนำแนวโน้ม เราอาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้แต่ไม่ควรทำอะไรจนกว่าจะเกิดสัญญาณซื้อขาย


โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (2)

ปกติผู้ที่มีรายได้เกินพอจากการยังชีพหรือพูดง่ายๆว่าเหลือกินเหลือใช้นั้นการออมไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ หรือผู้ที่รายได้ไม่พอแก่การยังชีพนั้นเมื่อพูดถึงการออมดูจะเป็นเรื่องยาก หรือสำหรับบางคนอาจบอกว่าเป็นไปไม่ได้เอาเลยทีเดียว เหตุผลของการไม่ออมก็คือออมไม่ไหว แต่ละเดือนจะใช้จ่ายยังไม่พอถึงสิ้นเดือนเลย แล้วจะออมได้อย่างไร

ดังนั้นหากจะจำเป็นต้องออมแล้ว พฤติกรรมของคนไทยมักออมเพื่อเหตุเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินเป็นลำดับแรก ส่วนการออมเพื่อการเกษียณอายุนั้นเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญในลำดับรองลงมา ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากเห็นว่ายังมีเวลาอีกมากก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ในผู้ที่พอจะออมไหวก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีกว่าผู้ออมมีกำลังในการออมไม่มาก แต่ละเดือนมีเงินเก็บไม่มาก ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น
  • เงินที่ออมได้ไม่รู้ว่าจะจัดสรรปันส่วนอย่างไรจึงจะเหมาะสม
  • จะออมเพื่อการเจ็บป่วย ฉุกเฉิน ต้องเท่าไรจึงจะพอ
  • หากออมเพื่อการเจ็บป่วย ฉุกเฉินยังมีเงินออมไม่มาก แล้วจะออมเพื่อเกษียณอายุได้อย่างไร ถึงจะออมจนแก่ก็ได้เพียงแค่เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น คงไม่มีทางสร้างบำนาญหลังเกษียณได้
ฯลฯ

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุหรือบำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำนั้น ลุงแมวคิดขึ้นมาเอง ใช้เงินออมทั้งสิ้นประมาณ 192,000 บาท โดยใช้เงินออมเริ่มแรกเพื่อการลงทุน 120,000 บาท หลังจากนั้นออมอีกเดือนละ 2,000 บาทเป็นเวลา 3 ปี เมื่อออมครบจำนวนแล้วก็ปล่อยให้เงินต้นนี้ทำงานต่อไป ต่อไปเมื่อเรามีเงินออมอีกเราก็สามารถทำโครงการออมเพื่อการอื่นได้อีก เช่น การออมเพื่อเหตุเจ็บป่วย ฉุกเฉิน การออมเพื่อแต่งงาน การออมเพื่อการศึกษาบุตร ฯลฯ

หลักการของลุงแมวน้ำก็คือทำการออมเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นโครงการการลงทุน ใช้เงินต้นก้อนหนึ่ง จากนั้นปล่อยให้เงินทำงานต่อไป เราไม่ต้องเติมเงินลงไปในกองทุนนั้นอีกแล้ว และเงินออมก้อนต่อๆไปที่ออมได้ก็สามารถนำมาทำเป็นทุนในโครงการอื่นๆได้อีก

สำหรับโครงการลงทุนนี้ ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์หรือว่าต่อยอดเอาเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ลุงแมวน้ำยกโครงการลงทุนเพ่อการเกษียณอายุมาเป็นตัวแบบ แต่ผู้อ่านสามารถนำไปดัดแปลงเป็นโครงการลงทุนเพื่อเหตุเจ็บป่วย ฉุกเฉินก็ได้ เป็นต้น

เมื่ออ่านถึงตอนนี้แล้ว หากยังงงๆ ลองติดตามอ่านต่อไปในวันถัดไป จะได้รู้รายละเอียดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ลุงแมวน้ำจะเกษียณอายุอย่างสบายๆได้ด้วยเงินเพียงเกือบสองแสนบาท เรามาลองทำโครงการจริงด้วยกันและติดตามผลการลงทุนด้วยกันไปเลย