การปฏิรูปเศรษฐกิจและการปราบปรามคอร์รัปชัน
หลังจากที่สีจิ้นผิงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุด โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในปลายปี 2012 (2555) และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในตอนต้นปี 2013 (2556) เท่ากับกุมอำนาจด้านการปกครอง การทหาร และการเมือง เป็นการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยผู้นำมีอำนาจสิทธิ์ขาดมาก สามารถควบคุม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพ ของประชาชน ถือเป็นโมเดลการปกครองที่สวนกระแสโลกประชาธิปไตยแบบทุนนิยมการตลาดนำในปัจจุบัน
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็ดำเนินการปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับการปราปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง
สำหรับการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจนั้นเครอบคลุมแทบจะทุกด้าน เป็นการปรับปรุงและแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจเดิมที่เน้นการลงทุนและการส่งออกอย่างมากจนทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ มาเป็นเศรษฐกิจที่ลดความร้อนแรงลงแต่ทำให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
ทางด้านการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันนั้น มีการกวาดล้างผู้ทุจริตระดับหัวขบวนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่ง เกษียณอายุไปแล้ว หรือแม้แต่เกษียณและไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ก็ยังตามไปเช็คบิล เฉพาะในปี 2014 มีการดำเนินคดีไปแล้วหลายหมื่นคดี และเป็นรายใหญ่ระดับกรมหรือระดับมณฑลหลายสิบราย กรณีที่โด่งดังมากคือกรณีโจวหย่งคัง ซึ่งเป็นอดีตกรรมการประจำกรมการเมืองและเลขาธิการสำนักการเมืองและกฎหมายกลาง ซึ่งมีอิทธิพลมากระดับใหญ่คับพรรคคอมมิวนิสต์และและมีอิทธิพลคับประเทศเลยทีเดียว แต่สีจิ้นผิงก็สั่งให้ดำเนินคดีพร้อมญาติและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด นอกจากนี้ก็ยังมีคดีดังระดับผู้นำอีกหลายคดี
ผลจากการปรามปราบคอร์รัปชันทำให้มีกฎเหล็กออกมาบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นายทหาร และบริษัทเอกชน มากมาย เช่น การห้ามจัดการต้อนรับ ห้ามปูพรมแดงต้อนรับเจ้าหน้าที่รัฐและนายทหารระดับสูง ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้จ่ายเงินหลวงอย่างฟุ่มเฟือย เช่น ห้ามพักในโรงแรมระดับหรู ห้ามจัดเลี้ยงเจ้าหน้าที่รัฐด้วยอาหารราคาแพงและห้ามเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน รวมทั้งคนในครอบครัวก็ห้ามรับสินบนด้วย ห้ามเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต บัญชีเงินฝากในต่างประเทศให้ย้ายกลับมาฝากในประเทศ รวมทั้งบุตรหลานที่เรียนอยู่ในต่างประเทศก็ให้ย้ายกลับมาเรียนในประเทศ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงขนาดว่ารถหรู นาฬิกาแพงๆ ข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงต่างๆให้พิสูจน์มาว่าเอาเงินจากที่ไหนมาซื้อ เข้มงวดกันขนาดนั้นเลย
ผลจากกฎเหล็กต่างๆทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง ธุรกิจสินค้าหรู ธุรกิจห้องอาหาร โรงแรม การจัดเลี้ยง ของฝาก เหล้าราคาแพง ฯลฯ ซบเซาลงอย่างมาก นอกจากนี้ ผลกระทบสำคัญที่ยังไม่มีใครประเมินมูลค่าได้ถูกแต่คาดว่าเป็นมูลค่ามหาศาล นั่นก็คือ ธุรกิจสีเทาต่างๆที่เชื่อมโยงกับการกินสินบาทคาดสินบน หายวับไป ประกอบกับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างมั่นคงโดยไม่ร้อนแรง หลายๆเรื่องรวมกันทำให้เศรษฐกิจจีนซบเซาลงไปมาก
แต่อย่างไรก็ตาม การปราบปรามคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาดและจริงจังนี้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นคะแนนนิยมของลุงสีจิ้นผิงจึงยังดีอยู่ ท่ามกลางคลื่นลมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รุนแรง และแม้ว่าจะมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ตาม
ซินฉางไท่ – ปกติในเวอร์ชันใหม่
เรื่องคอร์รัปชันกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากการทุจริตคิดมิชอบส่วนใหญ่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ลำพังการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนก็ทำให้เศรษฐกิจจำเป็นต้องชะลอตัวลงอยู่แล้ว ยิ่งธุรกิจสีเทาหายไปด้วยก็ยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจหนักขึ้น ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เศรษฐกิจจีนยังต้องขลุกขลักไปอีกหลายปี และที่แน่นอนก็คือเศรษฐกิจจีนจำเป็นต้องลดความร้อนแรงลง จากเดิมที่เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละประมาณ 10% อยู่เสมอ จนประชาชนจีนส่วนใหญ่ชินกับตัวเลขนี้และคิดว่าอัตราการเติบโตปีละ 10% เป็นเรื่องปกติ แต่ลุงสีจิ้นผิงบอกว่าต่อไปนี้เราต้องนิยามคำว่าปกติกันใหม่แล้ว ปกติในเวอร์ชันใหม่ (ที่ภาษาจีนเรียกว่า ซินฉางไท่ หรือ the new normal) จะพยายามให้จีดีพีเติบโตอยู่ในระดับ 7% ต่อปี
เราลองมาดูภาพต่อไปนี้กัน จะช่วยให้เราเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
ภาพฉายของขนาดเศรษฐกิจจีนในปี 2020 บนสมมติฐานของการเติบโตที่แตกต่างกัน |
ในภาพนี้ เราจะเห็นว่าจีดีพีจีนในปี 2014 มีมูลค่า 10.4 ล้านล้าน ดอลลาร์ สรอ (10.4 trillion USD) จากนั้นเราก็ฉายภาพไปในปี 2020 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
สมมติว่าจีนเติบโตที่ปีละ 10% ในปี 2020 จีนจะต้องทำจีดีพีให้ได้ถึง 18.4 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ ต่อปี
หากว่าจีนเติบโตปีละ 7% ในปี 2020 จีนจะต้องทำจีดีพีให้ได้ถึง 15.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ ต่อปี
และหากเติบโตปีละ 6% ในปี 2020 จีนจะต้องทำจีดีพีให้ได้ถึง 14.7 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ ต่อปี
ลองคิดดูว่าหากจะให้เติบโตปีละ 10% แค่อีก 5 ปีจีนคงเหนื่อยจนขาดใจเนื่องจากยิ่งนานฐานของมูลค่าเศรษฐกิจก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ เช่นเดิมมีเงิน 10 บาท ร้อยละ 10 คือ 1 บาท ปีนี้หาได้ 10 บาท ปีหน้าต้องหาให้ได้ 11 บาท แต่หากโตไปเรื่อยๆจนฐานกลายเป็น 20 บาท ปีนี้หาได้ 20 บาท ปีหน้าโตร้อยละ 10 แปลว่าต้องหาให้ได้ 22 บาท คงต้องหาเงินกันเหนื่อยจนขาดใจเป็นแน่ ดังนั้นการรักษาการเติบโตให้เท่าเดิมไปนานๆจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และนี่เองคือความจำเป็นของการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงเพราะเกินวิสัยที่จะทำได้ ปัจจุบันลุงสีจิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะรักษาอัตราการเติบโตปีละ 7% แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว อัตรา 7% ต่อปีนี้ต่อไปก็รักษาไว้ไม่ได้ ต้องลดระดับลงมาอีก เนื่องจากฐานของเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี แต่หากลดระดับลงมากเกินไป อัตราการว่างานก็จะสูง ปัญหาความไม่สงบในสังคมก็จะตามมา ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ยากมากของผู้นำจีน
ดับร้อนแรงที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์
จีนปฏิรูปเศรษฐกิจในแทบจะทุกส่วน แต่ลุงแมวน้ำคงลงในรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด ก็จะขอเล่าเฉพาะบางประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเท่านั้น
ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนส่วนหนึ่ง จะเรียกว่าส่วนใหญ่ก็ได้ อยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเน้นไปที่การก่อสร้าง ได้แก่ สร้างโครงสร้างพื้นฐานคือระบบขนส่ง กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ งานเหล่านี้ก่อให้เกิดจีดีพีมากมาย
มาดูกันที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกันก่อน ปกติแล้วการลงทุนด้านนี้จะกิดผลทางเศรษฐกิจเยอะมากหากเป็นการแก้ปัญหาคอขวด ยกตัวอย่างเช่น เมืองสองเมืองกั้นด้วยแม่น้ำกว้างสายหนึ่ง สองเมืองนี้ไม่มีสะพานเชื่อมเลย การเดินทาง การค้าขาย ระหว่างสองเมืองนี้ทำได้ด้วยการนั่งเรือแจวข้ามฝั่งไปเท่านั้น แบบนี้ละก็ลำบาก ยามหน้าน้ำ กระแสน้ำเชี่ยวก็ข้ามไม่ได้ เศรษฐกิจการค้าการไปมาหาสู่ระหว่างสองเมืองลำบากมาก ปัญหาคอขวดคือแม่น้ำสายใหญ่ที่ขวางอยู่
ทีนี้สมมติว่ารัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือสร้างสะพานเชื่อมให้ คราวนี้ปัญหาคอขวดหมดไป การเดินทางถึงกันทำได้สะดวก รถก็ข้ามไปมาได้ แบบนี้เศรษฐกิจก็พัฒนา การลงทุนสร้างสะพานนี้ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย
ทีนี้สมมติใหม่ สมมติว่ารัฐบาลอยากเร่งตัวเลขจีดีพี ไม่รู้จะทำอะไรดี ก็เอาเงินมาลงทุนสร้างสะพานอีกหนึ่งสะพานห่างจากสะพานเดิม 200 เมตร จีดีพีก็โตขึ้นหรอกเพราะสะพานที่สองนี้ต้องใช้เงินสั่งวัสดุ ต้องจ้างงาน พวกนี้ก่อจีดีพีทั้งนั้น แต่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่มีแล้วเพราะสะพานแห่งที่สองอาจไม่มีใครใช้เนื่องจากเกินความจำเป็น
ที่ผ่านมาจีดีพีของจีนก็โตมาแบบนี้ คืออัดการลงทุนเข้าไปมากๆ แต่เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแค่ไหนก็ตอบได้ยาก แต่โครงการเมืองผีต่างๆก็เป็นหลักฐานหนึ่งที่ฟ้องถึงความไร้ประสิทธิภาพในการลงทุน พร้อมกับสร้างปัญหาฟองสบู่ตามมา
เมื่อรัฐบาลกลางดำเนินการลดความร้อนแรงของเครื่องยนต์เศรษฐกิจจีน เรื่องสำคัญก็คือการชะลอเครื่องยนต์ก่อสร้างพื้นฐานและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แม้จะลดจีดีพีได้แต่ผลกระทบก็ตามมามากมาย เนื่องจากการลงทุนด้านนี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก ในยุคที่การลงทุนด้านนี้ร้อนแรง รัฐก็สนับสนุนให้ลงทุนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เช่น โรงเหล็ก โรงปูน โรงแก้ว ฯลฯ เมื่อการก่อสร้างชะลอตัว อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ต้องชะลอตาม ทำไปทำมาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างก็จะเจ๊งเอา จึงต้องผลิตและเอาไปทุ่มตลาดขายนอกประเทศในราคาถูกๆเพื่อให้พอมีรายได้บ้าง และนี่เองคือสาเหตุที่สินค้าเหล็กของจีนที่ผลิตมาด้วยคุณภาพต่ำและถูกนำมาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ จนเป็นปัญหากับธุรกิจวัสดุก่อสร้างของประเทศอื่นๆ
และนอกจากนี้ การชะลอตัวของภาคก่อสร้างของจีนยังส่งผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบ คือจีนนำเข้าสินแร่ เชื้อเพลิง และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องลดลง ส่งผลต่อประเทศที่เป็นซัพพลายเออร์สินค้าเหล่านี้ให้แก่จีน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นต้น แต่สำหรับไทยนั้นหากเป็นด้านยางพาราจะไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนมากกว่า