Monday, July 20, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”




วันนี้เราจะมาคุยกันในภาคเศรษฐกิจจริงกันเพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากที่คุยกันแต่เรื่องตลาดทุนอยู่เป็นประจำ ที่จริงแล้วภาคเศรษฐกิจจริงเชื่อมโยงกับตลาดทุนอย่างแยกกันไม่ออก การพิจารณาภาคเศรษฐกิจจริงย่อมช่วยเสริมมุมมองในการวิเคราะห์ตลาดหุ้นได้


เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลก


เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกในระดับที่สูง โดยมีสัดส่วน 77% ของจีดีพีทีเดียว นี่หมายความรวมถึงการส่งออกสินค้าและบริการ หากคิดเฉพาะการส่งออกสินค้าก็ประมาณ 60% ของจีดีพี ดังนั้นพูดง่ายๆก็คือเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ลูกค้าของเรา (คือประเทศคู่ค้าต่างๆ) กระเป๋าแฟบ ไทยก็พลอยแห้งเหี่ยวไปด้วย

เรามาดูการนำเข้าและส่งออกในงวด 5 เดือน (มกราคม ถึง พฤษภาคม) ของปี 2013, 2014 และ 2015 เปรียบเทียบกัน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังกราฟต่อไปนี้


การนำเข้าส่งออกของไทยงวด 5 เดือน (ม.ค. ถึง พ.ค.) เทียบกันระหว่างปี 2013, 2014, 2015 จะเห็นว่าทั้งการนำเข้าละการส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

มาดูด้านการนำเข้าก่อน จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานี้การนำเข้าของไทยลดลงตลอด โดยเฉพาะปี 2015 นี้การนำเข้าของไทยลดลง -9.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุที่ลดลงมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้เราประหยัดการนำเข้าไปได้ แต่เมื่อจำแนกกลุ่มสินค้านำเข้าให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่าเรานำเข้าสินค้าทุน (หมายถึงสินค้าที่นำมาใช้ในการผลิต เช่น เครื่องจักร ฯลฯ) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ทีนี้มาดูด้านการส่งออก จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานั้นยอดส่งออกสินค้าของไทยก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะงวดห้าเดือนปี 2015 นั้นลดลงจากปี 2014ถึง -4.2% หรือหากคิดเป็นจำนวนเงินก็คือรายได้ห้าเดือนลดลงกว่า 130,000 ล้านบาท

การส่งออกที่หดตัวนี่แหละที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการส่งออกสินค้าคือเส้นเลือดใหญ่ เพราะเป็นสัดส่วนราว 60% ของจีดีพีไทย ส่วนการลงทุนภาครัฐในแต่ละปีนั้นเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจีดีพี การที่เราพยามเร่งการลงทุนภาครัฐก็เหมือนพยายามทะลวงเส้นเลือดเล็กโล่ง แต่ในขณะที่เส้นเลือดใหญ่ตีบตันอยู่ ก็ย่อมมีส่วนช่วยได้ไม่มากนัก ดังนั้นการแก้ที่ตรงจุดคือการทะลวงเส้นเลือดใหญ่ให้โล่งหรือการเพิ่มยอดส่งออกสินค้านั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พูดง่ายแต่ทำยากมาก

ทีนี้เรามาสืบดูต่อไปว่ายอดส่งออกนั้นหายไปไหน เราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าคู่ค้ารายใหญ่ของไทยเป็นใครบ้าง ตอนนี้คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยคือจีน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป คิดอย่างง่ายๆเพื่อให้เห็นภาพก็คือ รายได้ของไทย 100 บาทมาจากการส่งออกสินค้า 60 บาท และยอดส่งออกนี้คู่ค้าหลักสี่รายที่ว่าก็ซื้อไปเกือบๆ 30 บาทแล้ว โดยเป็นรายได้จากจีน 8.5 บาท ส่วนรายได้จากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ประมาณรายละ 6.5 บาท ที่เหลือเป็นป็นรายได้จากคู่ค้ารายย่อยอื่นๆ


ส่องคู่ค้าหลักของไทย จีนซื้อน้อยลง


ยอดส่งออกของไทย (งวด 5 เดือนแรกของปี) ไปยังคู่ค้าหลัก 4 ราย จีน ยุโรป ญี่ปุ่น นำเข้าลดลงมาก มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าเพิ่มขึ้น

จากกราฟ ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ซื้อสินค้าจากไทยน้อยลงมาก มีเพียงอเมริกาเท่านั้นที่ซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้ช่วยกู้สถานการณ์เพราะยอดขายที่หายไปเยอะกว่าที่เพิ่มขึ้น

เอาละ ทีนี้เราจะลองไปเจาะรายละเอียดของลูกค้าบางรายเพื่อดูว่าทำไมความต้องการซื้อสินค้าจากเราเปลี่ยนแปลงไป เราลองมาดูที่ลูกค้าประเทศจีนกันก่อน ลองดูกราฟต่อไปนี้กัน


การนำเข้าส่งออกงวดห้าเดือนแรกของจีน จะเห็นว่าสามปีที่ผ่านมาจีนส่งออกทรงตัวแต่นำเข้าลดลงมาก ซึ่งกระทบต่อไทยไม่น้อย

กราฟนี้เป็นสรุปการนำเข้าและส่งออกของจีนในงวดห้าเดือน คือมกราคมถึงพฤษภาคม 3 ปีเปรียบเทียบกัน ประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตสินค้าของโลก มีการผลิตและส่งออกสินค้ามากมาย เมื่อเราพิจารณายอดส่งออกงวดห้าเดือนของจีนเปรียบเทียบกัน 3 ปีจะเห็นว่ายอดส่งออกของจีนทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ภาพนี้ทำให้เราเห็นภาพเศรษฐกิจโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ช้า กำลังซื้อจึงแค่ทรงตัว

ทีนี้มาดูด้านการนำเข้าของจีน จะเห็นว่าปีนี้จีนนำเข้าลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงทำให้จีนประหยัดการนำเข้าพลังงาน แต่ทางด้านยอดนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆก็ลดลงด้วยเช่นกัน และยอดส่งออกจากไทยไปจีนที่หดตัวลงก็สอดคล้องกับภาพนี้ นั่นคือ เป็นเพราะว่าจีนนำเข้าน้อยลงนั่นเอง


มองสหรัฐอเมริกา ซื้อจากเวียดนามมากกว่าไทย


จากนั้นเราจะไปดูที่สหรัฐอเมริกากัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแห่งการบริโภค ประชากรราวสามร้อยล้านคนแต่กินเยอะใช้เยอะจริงๆ จีนกับอเมริกาสัมพันธ์กันในเชิงการค้าสูงมาก เพราะจีนเป็นซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา และขณะเดียวกันอเมริกาก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของจีน เรามาดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาในงวดห้าเดือนแรกเปรียบเทียบกัน 3 ปี


โครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาจากประเทศคู้ค้าหลักบางราย จะเห็นว่าแม้นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่กลับนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียมากกว่า

ซับพลายเออร์หรือผู้ที่ขายสินค้าให้สหรัฐอเมริกา หากจะนับซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา 15 รายแรกก็จะเป็นจีน ยุโรป แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ

ในงวดห้าเดือนของปี 2015 นี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากเอเชียเพิ่มขึ้นมาก และลดการนำเข้าจากยุโรป เม็กซิโก แคนาดาลง โดยนำเข้าจากจีน +6% ส่วนสินค้าจากญี่ปุ่นนั้นนำเข้าเพิ่มไม่มากนัก และที่น่าสังเกตคือยอดนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย เพิ่มขึ้นเด่นมาก สหรัฐนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่คิดแล้วยังน้อยกว่าสามชาติเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย และหากจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาถือว่าเวียดนาม มาเลเซีย เป็นคู่ค้ารายใหญ่กว่าไทยเสียอีก ดูจากยอดการนำเข้าที่สูงกว่าการนำเข้าจากไทย

ประมวลจากข้อมูลต่างๆที่ลุงแมวน้ำเล่ามา ก็คงปะติดปะต่อให้เห็นเป็นภาพว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางอยู่ การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวได้ดีหน่อย แต่โดยรวมแล้วการค้าโลกกระเตื้องอย่างเชื่องช้า

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก รายได้หลักมาจากการส่งออกสินค้า ดังนั้นเศรษฐกิจโลกจึงมีผลกระทบต่อไทยมาก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่

จีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อการค้าโลกไม่ค่อยดีก็พยายามปรับตัวเองให้พึ่งพาการส่งออกน้อยลง และหันไปพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกนั้นจีนก็มีการปรับโครงสร้าง โดยเน้นสินค้าที่เพิ่มมูลค่า คือหมายถึงการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าที่ขายได้ราคาแพง ดังนั้น ตอนนี้จีนจึงอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใน รวมทั้งปรับโครงสร้างการนำเข้าส่งออกด้วย สินค้าของไทยคงตรงกับความต้องการของจีนน้อยลง ยอดขายของไทยไปจีนจึงตกไป และนอกจากนี้ ยอดขายของไทยที่ส่งไปยังคู่ค้าหลักอื่นๆก็ลดลง ทำให้น่าคิดว่าสาเหตุที่ยอดขายลดลงส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้าเสียแล้วก็เป็นได้

และเมื่อเราไปดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียเพิ่มขึ้น แล้วมาดูข้อเท็จจริงที่ว่าตอนนี้โรงงานผลิตสินค้าสำคัญของไทยปิดตัวไปหลายบริษัท เช่น รถยนต์รุ่นใหม่ๆก็มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่วนโรงงานจอแอลซีดี โรงงานมอตอร์ฮาร์ดดิสก์ ก็ปิดตัวไปเพราะสินค้าเหล่านี้หมดสมัย ก็ดูเหมือนจะช่วยตอกย้ำว่าสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้านัก หรือหมายความว่าเราเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกไปนั่นเอง

และหากเรานำข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) มาพิจารณาประกอบ ค่านี้เป็นการมองว่าหากมีเครื่องจักรผลิตสินค้าอยู่ 100 เครื่อง ตอนนี้เราใช้กำลังการผลิตอยู่กี่เครื่อง ก็ปรากฏว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของเราลดลงโดยตลอด ยกตัวอย่างจากภาพ ในตอนต้นปี 2013 เครื่องจักร 100 เครื่องเราใช้อยู่ 66 เครื่อง ที่เหลืออีก 44 เครื่องปล่อยว่างไว้ไม่ได้ใช้งาน มาในปัจจุบัน ตอนนี้ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง แปลว่ากำลังซื้อหายไป จึงจำต้องลดการผลิตลง ภาพนี้ก็มีส่วนบอกเราว่าเราอาจผลิตสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ (รวมทั้งอาจบอกว่าลูกค้ากระเป๋าแฟบจึงลดการซื้อลงก็ได้ด้วย ต้องดูตัวชี้วัดอื่นประกอบด้วย)


อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้เราดูกันเฉพาะภาพการนำเข้าส่งออก วันต่อไปเราจะมาดูตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆภายในประเทศกันคร้าบ

Tuesday, July 14, 2015

เมื่อหุ้นจีนซิ่งสาย 8 ถึงเวลาฟองสบู่แตกหรือยัง (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”



ทิศทางของเศรษฐกิจจริงและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเติบโตสูงมาตลอดแต่ตลาดหุ้นไม่ร้อนแรง คลื่น 1 ใหญ่และ 2 ใหญ่ กินเวลานาน ต่อมาปี 2006 ตลาดหุ้นร้อนแรงมาก ตลาดขึ้นแบบม้วนเดียว คลื่นใหญ่ 3-4-5 รวมเป็นลูกเดียวกัน และตอนขาลงก็เร็วมากเช่นกัน คลื่นขาลง A-B-C รวมเป็นลูกเดียวแยกไม่ออก จนในปี 2014 หลังจากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นจีนก็กลับมาร้อนแรงมากอีก

วิเคราะห์ตลาดหุ้นจีน เศรษฐกิจซึมเซาแต่ตลาดหุ้นร้อนแรง


เศรษฐกิจจีนร้อนแรงมานับยี่สิบปีแต่ตลาดหุ้นจีนเพิ่งร้อนแรงใน ช่วงปี 2006-2007 เป็นเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่งตลาดหุ้นจีนก็พุ่งถึง +450% 

ในทางตรงกันข้าม จากปี 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนค่อยๆชะลอตัว แต่ตลาดหุ้นจีนตอบสนองอย่างรุนแรง เพียงหนึ่งปีตลาดหุ้นร่วงไป -73% หลังจากนั้นก็หมดความร้อนแรงไปเป็นเวลาหลายปี

จนในราวปลายปี เดือนตุลาคม 2014 จีนเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยและลดสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR, reserved requirement ratio) หลายครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบเศรษฐกิจ

มาตรการเหล่านี้ยังเห็นผลต่อระบบเศรษฐกิจไม่ชัด แต่ว่ากลับเกิดผลต่อตลาดหุ้นจีนอย่างรุนแรง ในปี 2014-2015 ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวิ่งจาก 2300 จุดไป 5160 จุดหรือ +125% ในเวลาครึ่งปีเท่านั้น และถ้าหากมองดัชนีเซินเจินคอมโพสิตก็ยิ่งร้อนแรงกว่า คือ +140%

หากเราจะเปรียบเทียบความร้อนแรงของตลาดหุ้นจีนในยุคก่อนโอลิมปิกฤดูร้อน หรือปี 2007 กับตอนนี้ มีทั้งความเหมือนและความต่าง ลองมาดูกัน


ตลาดหุ้นจีนหลังจากร่วงแรงในปี 2007 ก็เกิดเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงใหญ่ อธิบายได้ว่าตลาดหุ้นจีนต้องใช้เวลานานในการปรับตัวให้เข้าส่ดุลยภาพ โดยสอดคล้องไปกับปัจจัยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจด้วย


ในช่วงก่อนโอลิมปิก ตลาดขาขึ้นในรอบนั้นอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาหลายปีแต่ตลาดหุ้นยังไม่ร้อนแรง พอมาปี 2006 ถึงบทจะร้อนแรงก็ร้อนแรงอย่างรวดเร็วและตลาดก็วายในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน หากพิจารณาในเชิงเทคนิค จากกราฟในยุโอลิมปิกจะเห็นว่าคลื่น 3-4-5 นั้นแยกไม่ออก ขึ้นม้วนเดียวก็จบคลื่น 5 ไปเลย และหลังจากนั้นตอนขาลงก็ลงเร็วมาก คลื่น A-B-C รวมเป็นคลื่นเดียวกัน รวมแล้วคลื่น 3-4-5-A-B-C กินเวลาประมาณสองปีครึ่งเท่านั้น

หลังจากจบรอบนั้น อัตราการเติบโตของจีนลดลงเรื่อยมา จากจีดีพีที่โตปีละ 14% ก็เหลือ 12%, 10%, 9%, 8% ฯลฯ ส่วนตลาดหุ้นจีนหลังจากการร่วงแรงในปี 2008 จากนั้นก็มีการเด้งขึ้นลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ และมาสลบเหมือดเอาในปี 2013 ซึ่งหากวิเคราะห์ด้วยรูปแบบทางเทคนิคจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นจีนก็ก่อรูปแบบสามเหลี่ยมชายธง (wedge) ใหญ่ อธิบายได้ว่าตลาดหุ้นจีนขึ้นแรงเกินไปและลงแรงเกินไปจนตลาดเสียดุลยภาพ เมื่อตลาดเสียดุลยภาพ ตลาดก็พยายามปรับตัวให้เข้าสู่ดุลยภาพ ดังนั้นจึงเห็นราคาเด้งขึ้นลงเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง

รูปแบบสามเหลี่ยมชายธงนี้เป็นรูปแบบในธรรมชาติ นั่นคือเป็นรูปแบบคล้ายการเคลื่อนที่ของคลื่นกลผ่านตัวกลางนั่นเอง นึกง่ายๆก็คือคลื่นในมหาสมุทร เมื่อเกิดในมหาสมุทรจะเป็นคลื่นสูงมาก แต่เมื่อเข้าใกล้ชายฝั่ง คลื่นจะค่อยๆเตี้ยลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงระลอกเล็กๆเมื่อมาถึงฝั่ง

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการโยนหินลงในน้ำ ตอนแรกน้ำจะกระเพื่อมแรง ต่อมาเมื่อระลอกเดินทางไกลออกไปก็จะเล็กลงเรื่อยและหายไปในที่สุดน้ำก็กลับมาราบเรียบดังเดิม รูปแบบสามเหลี่ยมชายธงก็เป็นแบบนี้นั่นเอง

นั่นเป็นเรื่องในอดีต ทีนี้ประเด็นก็อยู่ที่ว่าในปี 2014 ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอยู่ ตลาดหุ้นจีนขึ้นแรงได้อย่างไร

คำตอบก็คือ ครั้งก่อนตลาดหุ้นจีนร้อนเพราะเศรษฐกิจร้อน แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นจีนร้อนเพราะฤทธิ์ของยาโด๊ปการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดสัดส่วนกันสำรอง RRR ประกอบกับการให้สินเชื่อมาร์จินแก่นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นจีนที่ซบเซากลับสู่ภาวะเก็งกำไรอย่างร้อนแรง จนประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้งหนึ่ง


ตลาดหุ้นจีน 2015 ร้อนแรงกว่าเดิม อันตรายกว่าเดิม


แม้ว่าอัตราการขึ้นของตลาดหุ้นจีนในรอบนี้จะขึ้นไป +125% ซึ่งน้อยกว่าครั้งก่อน (ครั้งก่อน +450%) แต่การขึ้นรอบนี้ใช้เวลาประมาณครึ่งปีเท่านั้น อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจจริงก็ด้อยกว่าในรอบก่อน ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมองว่าครั้งนี้เก็งกำไรกันดุเดือดกว่า

งานเลี้ยงก็ต้องมีวันเลิกรา ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ตลาดวาย หลังจากที่หุ้นถูกไล่ราคาจนเกินไปปัจจัยพื้นฐานไปมาก พีอีของดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตขึ้นไปถึง 23 เท่ากว่า และพีอีของดัชนีเซินเจินคอมโพสิตขึ้นไปถึง 70 เท่า ทางการจีนก็เริ่มเป็นห่วงและควบคุมการให้เทรดด้วยมาร์จินให้เข้มงวดขึ้น ตรงนี้แหละที่เป็นการจุดชนวน พอควบคุมมาร์จินเข้าตลาดก็ร่วง

เมื่อตลาดร่วง ใครต่อใครก็ชิงกันขาย ในที่สุดตลาดหุ้นก็เกิดอาการแตกตื่นในตอนกลางเดือนมิถุนายน 2015 ที่เพิ่งผ่านมา ที่จริงก่อนหน้านั้นในราวปลายเดือนพฤษภาคม มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าอยู่บ้าง นั่นคือ หุ้นบางตัวในตลาดฮ่องกงร่วงแรงผิดปกติ ดังที่ลุงแมวน้ำเคยคุยให้ฟังไปแล้ว หลังจากนั้นตลาดหุ้นจีนก็เริ่มร่วง และตลาดหุ้นฮ่องกงก็ร่วงตาม

ถามว่าที่ตลาดหุ้นลงแรงครั้งนี้มีขบวนการทุบหุ้นหรือไม่ จะมีหรือไม่มีลุงแมวน้ำก็ไม่อาจยืนยันได้ แต่เมื่อขึ้นแรงแพงขนาดนี้ แม้ไม่มีขบวนการทุบตลาด อะไรไปสะกิดเข้าหน่อยก็ต้องร่วงลงมาเองอยู่แล้ว

ตลาดหุ้นจีนร่วงลง -34% ในเวลาประมาณครึ่งเดือน ทางการจีนพยายามอออกมาตรการหลายประการเพื่อหยุดการร่วงของหุ้น ได้แก่การห้ามซื้อขายหุ้นประมาณ 1300 หลักทรัพย์ ห้ามขายชอร์ต ห้ามรายใหญ่ขายหุ้นในเวลา 6 เดือน ห้ามกองทุนขายหุ้น ตั้งกองทุนพยุงหุ้น ผ่อนคลายเรื่องมาร์จินอีก ฯลฯ ผลจากการระงับการซื้อขายหุ้นไปเกือบครึ่งตลาดทำให้ตลาดหุ้นหยุดร่วงได้จริงๆ


วิเคราะห์เหตุการณ์ตลาดหุ้นจีน 2015 ตกแต่ไม่แตก บทเรียนราคาแพงของจีน


มาวิเคราะห์เหตุการณ์ในครั้งนี้กัน เป็นบทเรียนราคาแพงของจีนจริงๆ  จีนกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมทั้งกระตุ้นตลาดหุ้นไปด้วยเพราะหากตลาดหุ้นขึ้น ผลก็คือความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายย่อยชาวจีนซึ่งมี 90 ล้านบัญชีและส่วนใหญ่น่าจะเป็นชนชั้นกลางของจีนที่มีอยู่ประมาณ 200-300 ล้านคน เปรียบเหมือนกับจีนให้ยาโด๊ปแต่พลาดตรงที่ไม่เข้าใจผลข้างเคียงดีพอ ผลก็คือ ยานี้มีผลข้างเคียงรุนแรง ทำให้ท้องเสีย เบื่ออาหาร ผมร่วง ฯลฯ จีนเคยมีประสบการณ์กับครั้งโอลิมปิกมาแล้ว แต่ครั้งนี้ก็ยังพลาด เชื่อว่าจะทำให้ทางการจีนระมัดระวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกำกับตลาดทุนให้ดียิ่งขึ้น

ตลาดหุ้นตกครั้งนี้ยังไม่น่าถือว่าเป็นสถานการณ์ฟองสบู่แตก เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่สูง ไม่ใช่สถานการณ์ที่เอื้อต่อการเกิดฟองสบู่ ตลาดหุ้นเก็งกำไรรุนแรงไปบ้างจึงตกลงมาก เมื่อตกลงมาแล้วสถานการณ์ก็ไม่ได้ลุกลามเนื่องจากทางการจีนออกมาตรการสกัดการลุกลามอย่างรวดเร็ว ลุงแมวน้ำมองว่าเป็นเพียงการผันผวนที่รุนแรงเท่านั้น ไม่ใช่ภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้นแตก

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ลงทุนในตลาดหุ้นจีนได้หรือยัง


มาพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจกันก่อน เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวอยู่ แม้จีนจะประกาศว่าจะรักษาอัตราการเจริญ จีดีพีโตปีละ 7% ให้ได้ แต่ตอนนี้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว สัญญาณทางเศรษฐกิจหลายประการบ่งชี้ว่าอาจโตไม่ถึง 7% คือได้แค่ 6.8% เท่านั้น ดังนั้นเป้าหมายดัชนีปลายปี 2015 อาจถูกปรับลดลงไปบ้าง


ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปัจจุบันมีพีอี 20 เท่า ส่วนดัชนีเซินเจินคอมโพสิต 52.3 เท่า ดัชนีตลาดหุ้นจีนมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกหากคาดการณ์เศรษฐกิจจีน 2015 นี้โตไม่ถึง 7%


นอกจากนี้ ทางการจีนคงพยายามกำกับตลาดทุนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ประกอบกับความเสียหายของนักลงทุนรายย่อยอาจทำให้บางส่วนเข็ดขยาด หรือทุนหมด ดังนั้นรวมๆแล้วตลาดหุ้นจีนคงไม่ร้อนแรงเช่นเดิมแล้ว และน่าจะเทรดกันที่ค่าพีอีตลาดที่ต่ำลงกว่าเดิม

ในทางเทคนิค ดัชนีคงก่อตัวเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงคล้ายกับรอบก่อน แต่การเดินเข้าสู่ปลายสามเหลี่ยมชายธงน่าจะเร็วกว่าเดิม แปลความว่าตลาดคงเด้งขึ้นเด้งลงในโซนราคาแถวๆนี้ไปอีกหลายเดือน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ปลายชายธงก็ต้องดูกันอีกที หลายเศรษฐกิจดี ดัชนีคงตัดทะลุชายธงขึ้นข้างบน แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวยิ่งกว่าเดิม ดัชนีก็คงตัดทะลุลง


ตลาดหุ้นจีนนับจากนี้ไป น่าจะก่อตัวเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงอีก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อน และคงใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อเข้าสู่ปลายชายธง 


ถามว่าถึงเวลาลงทุนได้หรือยัง โบราณว่าข่าวดีให้ขาย ข่าวร้ายให้ซื้อใช่ไหม ตอนนี้ก็ถือเป็นข่าวร้ายแล้ว แต่ลุงแมวน้ำคิดว่าควรรอดูไปก่อน เพราะตอนนี้ตลาดยังอาจลงไม่สุด ที่ตลาดหยุดลงเนื่องจากหุ้นจีนยังถูกห้ามขายอยู่พันกว่าหลักทรัพย์ หากเปิดซื้อขายได้ตามปกติก็ไม่แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อีกประการ ตลาดหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมาผันผวนรุนแรงมาก ไม่ค่อยน่าลงทุนเท่าไรนักเนื่องจากตลาดที่ผันผวนมากมักขาดเสถียรภาพ หลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนคงถูกคุมเข้ม การที่จะสร้างผลตอบแทนที่ร้อนแรงอีกคงยากแล้ว แม้ว่าเรื่องเสถียรภาพอาจจะดีขึ้นแต่ก็เป็นเสถียรภาพที่เกิดจากกฎเกณฑ์ที่แปลกประหลาดที่ตลาดเสรีอื่นๆไม่ทำกัน ก็ยังไม่รู้ว่าจะยังน่าลงทุนไหม

ดังนั้น ลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดตอนนี้ยังฝุ่นตลบ ควรรอให้สถานการณ์ฝุ่นจางลงก่อน ให้เข้าสู่ปลายชายธงและตัดทะลุปลายให้เรียบร้อยก่อนดีกว่า ถึงตอนนั้นหากยังน่าลงทุนก็ค่อยเข้าลงทุน


ผลจากตลาดหุ้นจีนกระทบเศรษฐกิจไทยหรือไม่


ลุงว่าไม่น่า แม้ว่านักลงทุนรายย่อยจีนที่เสียหายในตลาดหุ้นเหล่านี้คือกลุ่มชนชั้นกลางที่เดินทางท่องเที่ยวและเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยนี่เอง ตลาดลงราวๆ -30% ถึง -40% ทำให้ความมั่งคั่งของชนชั้นกลางลดลงไปบ้าง แต่ประเด็นคือเรื่องขวัญและกำลังใจมากกว่า ตอนนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจจีน ดังนั้นอีกไม่นานขวัญและกำลังใจของนักลงทุนจีนก็คงกลับมา ดังนั้นแม้ตลาดหุ้นลงแรงก็จริงแต่คงไม่กระทบกับภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนจนกระทบเศรษฐกิจไทย แต่ประเด็นที่น่าติดตามอยู่ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ทำให้การนำเข้าสินค้าของจีนลดลง เรื่องนี้ต่างหากที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อเศรษฐกิจไทย


ตลาดหุ้นฮ่องกง รักแล้วรอหน่อย


การลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง ยังรอได้ ไม่ต้องรีบ แม้ราคาถูกแล้วแต่ก็อาจไม่ขึ้น


แถมเรื่องตลาดหุ้นฮ่องกง ตอนนี้ตลาดหุ้นฮ่องกงถูกมาก พีอีตลาดอยู่แค่ 10.8 เท่าเอง ดูเหมือนจะน่าซื้อ แต่ลุงแมวน้ำก็คิดว่าดูไปก่อนเช่นกัน เนื่องจากตลาดหุ้นฮ่องกงอาศัยโมเมนตัมของตลาดหุ้นจีนรวมกับโมเมนตัมของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาผสมกัน หากไม่มีโมเมนตัมจากสองตลาดนี้ แม้ตลาดหุ้นฮ่องกงถูกกว่านี้ก็ไม่วิ่ง ดังนั้นก็รอได้ ใจเย็นๆคร้าบ