Friday, October 3, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (2)





ลุงแมวน้ำบรรยายต่อไป

“เอาละ ทีนี้จินตนาการต่อไปอีกหน่อย ต่อไปนี้จะมีการคำนวณนิดหน่อยละนะ แต่ก็จำเป็น ลุงจะพยายามทำให้ง่ายที่สุด

“สมมติว่าลุงแมวน้ำเพิ่งตั้งโรงงานใหม่ ในปีแรกเพิ่งเริ่มทำการตลาด ลูกค้าเพิ่งจะรู้จักสินค้า ในปีแรกมียอดขายเพียง 35 ชิ้น สมมติว่าขายได้เท่าไรก็คือผลิตในจำนวนเท่านั้น มันก็ไม่สมเหตุผลหรอก แต่เพื่อไม่ต้องคำนวณเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ

“ในปีแรกผลิตและขายหมอนข้างลุงแมวน้ำได้ 35 ชิ้น คิดเป็นยอดขาย 3500 บาท หักต้นทุนการผลิตและต้นทุนบริหารแล้วมีผลประกอบการในปีแรกขาดทุน 675 บาท”


“เนี่ยนะ หมอนข้างยอดนิยม ปีแรกก็ขาดทุนย่อยยับ” ลิงหัวเราะ

“นี่แหละนายจ๋อ โลกธุรกิจที่แท้จริง ในโลกของการทำธุรกิจนั้นส่วนใหญ่ต้องลงทุนไปก่อน มีผลขาดทุนสักช่วงหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการ กิจการบางชนิดต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากก่อนที่จะมียอดขาย พวกนี้เรียกว่า capital intensive industry ยกตัวอย่างเช่น โรงกลั่น โรงงานปิโตรเคมี ผู้ให้บริการโทรคมนาคม โรงถลุงเหล็ก พวกนี้ต้องลงทุนมหาศาล ทำเล็กๆไม่ได้

“โรงงานผลิตสินค้าโดยทั่วไปก็เป็น capital intensive เพราะต้องสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร แต่ระดับความเข้มข้นว่าต้องลงทุนมากมายขนาดไหนก็แล้วแต่อุตสาหกรรมไป ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงพวกนี้สองสามปีแรกมักมีผลประกอบการขาดทุน คือคืนทุนไม่เร็วนักนั่นเอง ผู้ที่ลงทุนต้องทำใจเอาไว้เลยว่าหวังผลระยะยาว ดังนั้นที่นายจ๋อซื้อหุ้นแล้วราคาร่วงลงไปหน่อยก็มาบ่นว่าติดดอยนั้น ผู้ที่เป็นเถ้าแก่จะคิดแบบนั้นไม่ได้ บางทีเราก็ต้องเอาแนวคิดแบบเถ้าแก่ลงทุนทำธุรกิจมาใช้กับการลงทุนในหุ้นบ้าง เพราะว่าก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำธุรกิจ” ลุงแมวน้ำพูด

“ฮิฮิ น้าจ๋อโดนสวนกลับเลย” กระต่ายน้อยหัวเราะชอบใจ

ลุงแมวน้ำหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง แล้วพูดว่า


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 1 ขาดทุน 675 บาท พีอีเป็น n/a


“เอาละ ลุงสรุปบัญชีของปีแรกมาให้ดูกันแบบสั้นๆ ลองดูนี่ ยอดขาย 35 ชิ้น ได้เงินมา 3500 บาท แต่ว่าต้นทุนทั้งหมด 4175 บาท ดังนั้นขาดทุน -675 บาท อัตราการเติบโตของยอดขาย กับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ ยังคำนวณไม่ได้ เพราะว่าเป็นปีแรก ดังนั้นจึงใส่ว่า n/a เอาไว้ หมายความว่า not available คือช่องนั้นไม่มีข้อมูล

“เอ๊ะ แล้วช่องที่เป็นค่า P/E ล่ะลุง ทำไมเป็น n/a ด้วย” ยีราฟถามบ้าง “ค่านี้มาจากราคาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้นใช่ไหม ฉันว่าคำนวณได้นะ คือ P เป็น 100 บาทต่อหุ้น ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นก็คือ eps ที่ลุงให้มาในตาราง -0.68 ดังนั้น P/E ก็คือ 100/-0.68 ก็คำนวณได้นี่จ๊ะลุง ฉันกดเครื่องคิดเลขได้ผลลัพธ์ -147 เท่า”

“แม่ยีราฟถามได้ดีมาก” ลุงแมวน้ำชม และอธิบาย“ในทางคณิตศาสตร์ ค่า P/E เป็นค่าลบนั้นเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ในเชิงการตีความ ค่า P/E เป็นลบตีความไม่ถูก เพราะเราอยากรู้ว่าราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิ หากค่านี้เป็นลบก็จินตนาการไม่ถูกว่ามันกี่เท่ากันแน่ ดังนั้นในทางปฏิบัติ ปีใดที่ผลประกอบการขาดทุน ปีนั้นถือว่าไม่มีค่าพีอี และเราจะเขียนว่า n/a แทน เราจะคำนวณเฉพาะปีที่มีกำไรเท่านั้น ค่าที่ได้จะได้ตีความได้อย่างมีความหมาย”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง แล้วจึงบรรยายต่อ พร้อมกับหยิบตารางให้ดูอีกตารางหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 2 เริ่มมีกำไร ค่าพีอีสูงลิ่ว



“เราจินตนาการกันต่อไปอีก สมมติว่าปีที่สองมียอดขาย 45 ชิ้น  ขายดีขึ้นมาหน่อย ผลประกอบการปีที่สองนี้ได้กำไรมาอย่างเฉียดฉิว คือมีกำไรเพียงนิดเดียว 275 บาท”

“โรงงานของลุงนี่น่าสงสารจังเลยฮะ ทำมาสองปีเพิ่งได้กำไรสองร้อยกว่าบาท” กระต่ายน้อยพูด

“ถูกใจมาก ขอตีมือหน่อย” ลิงหัวเราะถูกใจพร้อมกับยกมือขวาขึ้น ส่วนกระต่ายน้อยก็ยกเท้าหน้าขึ้นตีกับมือของลิงจ๋อ

ลุงแมวน้ำอธิบายตารางต่อไป

“ลองมาดูตารางในคอลัมน์ของปีที่สองกัน จะเห็นว่าปีนี้มีกำไร แม้จะนิดเดียวแต่ก็ทำให้ค่า eps หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share) เป็นบวก ดังนั้นจึงคำนวณค่า P/E ได้ พร้อมกันนั้นก็ยังคำนวณค่าอัตราการเติบโตของยอดขายได้ด้วย”

“โอ้โฮ ลุงแมวน้ำ ค่าพีอีตั้ง 363.64 เท่า ทำไมสูงมากขนาดนั้น” ยีราฟอุทาน

“ก็เพราะว่าผลกำไรนิดเดียวไง ค่าพีอีจึงสูง แม่ยีราฟพอเห็นภาพหรือยังว่าหุ้นที่ค่าพีอีสูงมีความหมายว่าอย่างไร” ลุงแมวน้ำตอบ

“ฉันพอเห็นภาพแล้วจ้ะลุง ที่ลุงบอกว่าค่าพีอียิ่งสูงก็คือความคุ้มค่ายิ่งน้อย” ยีราฟตอบ “หุ้นนี้ไม่ค่อยน่าซื้อเลย พีอีสูงลิ่ว”

“แต่แม่ยีราฟดูในตารางให้ดีๆ เห็นบรรทัดที่บอกว่าอัตราการเติบโตของยอดขายไหม” ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูในตาราง

“จ้ะ เห็น” ยีราฟพูด “ปีที่แล้วคำนวณไม่ได้ แต่ปีนี้คำนวณได้ ยอดขายของปีนี้โตขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”

“แล้วแม่ยีราฟไม่สนใจบ้างหรือไง ยอดขายโต 29% เชียวนะ ถือว่าการเติบโตสูงทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด

“เอ้อ...” ยีราฟอึกอัก ชักลังเล “ตกลงว่าหุ้นโรงงานหมอนข้างนี่มันน่าซื้อหรือไม่น่าซื้อกันแน่ ฉันงงแล้วนะ”

“ก็นี่แหละ ลูกเต๋ายังมีตั้ง 6 ด้าน โลกนี้ก็ยิ่งมีมากมายหลายมุมมอง หากมองจากค่าพีอี หุ้นนี้ก็ไม่น่าซื้อ หากมองจากอัตราการเติบโต หุ้นนี้ก็น่าซื้อมาก” ลุงแมวน้ำพูด

“มิน่าล่ะลุง ยังงี้นี่เอง” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเองเบาๆ “ผมเข้าใจแล้วล่ะ”

“นายจ๋อเข้าใจว่ายังไง” ยีราฟถาม

“ก็ตอนก่อนที่ฉันจะซื้อหุ้น ก็มักมีคนมาแนะนำยังงั้นยังงี้ พอฉันเห็นว่ามันน่าจะดีก็ซื้อไป แล้วก็ติดดอย” ลิงพูด “ลุงแมวน้ำกำลังจะบอกว่าใครที่อยากเชียร์หุ้นก็มักเอาข้อมูลด้านดีๆมาบอกแก่นักลงทุน ส่วนตัวเลขที่ไม่ค่อยสวยก็เก็บเอาไว้ไม่บอก ใช่ไหมลุง”

“ที่นายจ๋อพูดก็มีส่วนถูก ลุงกำลังจะบอกว่าข้อมูลของหุ้นมีหลายแง่หลายมุม บางค่าดูดี บางค่าดูไม่ดี แต่สุดท้ายหุ้นตัวนี้มันน่าลงทุนไหมล่ะ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่พวกเรานักลงทุนต้องรู้จักใช้ข้อมูลและนำมาตัดสินใจให้เหมาะสม ลองมาดูผลงานปีที่สามกันต่อดีกว่า” ลุงแมวน้ำพูด พลางหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 3 เกำไรเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตกลับลดลง



“สมมติว่าปีที่สามยอดขายดีขึ้นกว่าเดิมอีก ปีนี้ขายได้ 55 ชิ้น ปีนี้ได้กำไร 1225 บาท ลุงมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ

“ข้อแรก ปีที่สามนี้กำไรดีกว่าปีที่สอง แต่สังเกตไหมว่าอัตราการเติบโตของยอดขายลดลง เหลือเพียง 22% 

“ข้อสอง ปีที่สามนี้เนื่องจากกำไรสุทธิโตขึ้น ดังนั้นค่าพีอีจึงลดลงเหลือ 81.63 เท่า

“ข้อสาม ปีที่สามนี้มีค่าที่คำนวณได้เพิ่มมาอีกหนึ่งค่า นั่นคือ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เดิมทีคำนวณไม่ได้เพราะค่าติดลบ ปีนี้ไม่ติดลบแล้ว กำไรสุทธิของปีที่สามนี้โตเป็น 345% เมื่อเทียบกับปีที่สอง 

“โห อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิดีเว่อเลย” ลิงอุทาน “ถ้าใครมาบอกผมว่าหุ้นนี้เติบโต 345% ผมคงต้องรีบซื้อแน่”

“ใจเย็นๆ นายจ๋ออย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ คราวนี้ลุงให้พวกเราทุกคนดูผลประกอบการไปจนถึงปีที่ 7 เลย ลองดูตามนี้” ลุงแมวน้ำพูดจบก็หยิบตารางมาให้ดูอีก


ผลประกอบการ 7 ปี ของโรงงานของแมวน้ำ



“สมมติว่าปีที่สี่ ปีที่ห้า และปีที่หก มียอดขาย 65 ชิ้น 75 ชิ้น และ 85 ชิ้นตามลำดับ ปีที่เจ็ดก็ขายได้ 85 ชิ้น บัญชีของกิจการก็จะเขียนสั้นๆได้ดังที่เห็นนี้

“แต่ขอให้สังเกตว่าตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี กำไรเพิ่มมากขึ้นทุกปี อัตราการเติบโตกลับลดลง ทั้งอัตราการเติบโตของยอดขาย และของกำไรสุทธิ ต่างก็ลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆที่ปีหลังๆกำไรยิ่งมาก”

“จริงด้วยลุง แล้วมันเพราะอะไรล่ะ กำไรดีขึ้นแต่อัตราเติบโตลดลง” ลิงสงสัย

“นี่คือการเล่นกับตัวเลขในรูปแบบหนึ่ง ปีหลังอัตราลดลงเพราะว่าการคำนวณนั้นใช้ฐานจากปีก่อนหน้า หากฐานสูง ผลคำนวณที่เป็นร้อยละจะค่อยๆลดลง ดังนั้น การอ่านและทำความเข้าใจกับตัวเลขร้อยละเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก ตัวเลขเปอร์เซ็นต์นี้มักสร้างความสับสนแก่นักลงทุน ทำให้นักลงทุนเกิดภาพที่ดูดีเกินจริงก็ได้ เหมือนอย่างในปีต้นๆที่อัตราการเติบโตเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งๆที่กำไรนิดเดียว นั่นคือดูดีเกินจริง และก็ให้ภาพที่ดูแย่กว่าความเป็นจริงก็ได้ ดังเช่นอัตราเติบโตในปีหลังๆ แม้แต่ลุงแมวน้ำเอง หากอ่านข้อมูลที่รายงานเป็นร้อยละเยอะๆ ลุงก็มึน คิดไม่ออกเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันนี้การรายงานข้อมูลเป็นร้อยละ ในข่าวต่างๆมีเยอะมาก บางเรื่องอ่านแล้วแยะแยะไม่ถูกหรอก อย่างเช่นการเติบโตของจีดีพี หรือยอดการส่งออก นี่พูดเป็นร้อยละกันหมดตลอดทั้งชิ้นข่าว สรุปแล้วคือลุงงง” ลุงแมวน้ำพูด

“แล้วทำยังไงจึงจะมองภาพตามที่มันเป็นจริงได้ละจ๊ะลุง” ฮิปโปถามบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาให้ดูกัน


กราฟแสดงยอดขาย (revenue) และกำไรสุทธิ (netprofit, net income) ของโรงงานลุงแมวน้ำ



ข้อมูลเชิงร้อยละทำให้เกิดภาพลวงตา อาจกลายเป็นกับดักนักลงทุนได้ ทางที่ดี เราไม่ต้องไปดูข้อมูลร้อยละ ดูข้อมูลยอดขาย กำไรสุทธิ ในรูปกราฟดีกว่า ลองดูในภาพนี้สิ ภาพนี้กราฟเส้นสีฟ้าคือยอดขาย ส่วนกราฟแท่งสีเหลืองคือกำไรสุทธิ หากดูในรูปกราฟจะเห็นได้ชัดเลย ไม่หลอกความรู้สึก จะเห็นว่ายอดขายและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีแรกขาดทุนเพียงปีเดียว

“ส่วนค่าพีอีนั้น สมมติว่าราคาหุ้นคงที่ไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย ค่าพีอีก็จะลดลงเรื่อยๆ ดังที่เห็น ลุงขอถามแม่ฮิปโป แม่ฮิปโปเห็นกราฟรูปนี้แล้วรู้สึกคุ้นๆไหม”

“ไม่เลยลุง” ฮิปโปปฏิเสธ “ฉันเพิ่งศึกษา ยังไม่ค่อยเข้าใจนักหรอก นายจ๋อเห็นอะไรคุ้นๆบ้างไหม ช่วยตอบหน่อยสิ”

“ผมก็ว่าคุ้นๆนะลุง มันจะเกี่ยวกับวัฏจักรไหม” ลิงถาม

“ถูกต้องนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำตอบ “เก่ง”

จากนั้นลุงแมวน้ำก็หยิบกราฟออกมาอีกหนึ่งแผ่น


ยอดขายและกำไรสุทธิสะท้อนให้เห็นวัฏจักรของกิจการ



“ลองดูนี่สิ ลุงเอาภาพวัฏจักรของกิจการมาซ้อนให้ดู คราวนี้พอนึกออกหรือยัง” ลุงแมวน้ำถาม

“ว้าว โรงงานของลุงแมวน้ำปีที่ 7 ยอดขายไม่โตเลย แสดงว่าใกล้จะเจ๊งแล้วสิฮะ” กระต่ายน้อยหัวเราะร่าพลางแทะแครอตอย่างเพลิดเพลิน

“ดูเจ้านี่สิลุง แสบดีไหม” ลิงอดหัวเราะไม่ได้ ทุกตัวต่างก็ขำในความซ่าของกระต่ายน้อย

“ลุงขออธิบายกราฟนี้ให้พวกเราฟัง อยากให้พยายามทำความเข้าใจให้ดี เพราะสำคัญมาก



พีอี (P/E ratio) สูงก็ลงทุนได้หากเป็นหุ้นตั้งไข่หรือหุ้นฟื้นไข้ (หุ้นเทิร์นอะราวด์)



“โรงงานของลุงเป็นไปตามวัฏจักรธุรกิจทั่วไป คือปีหรือสองปีแรกก็ขาดทุน จากนั้นจึงเริ่มมีกำไรนิดหน่อย ช่วงนี้คือช่วงที่ธุรกิจอยู่ในขั้นตั้งไข่ หลังจากนั้นธุรกิจก็จะมั่นคงและเริ่มเติบโตได้ดี เรียกว่าเข้าระยะเติบโต ในช่วงรอยต่อของระยะตั้งไข่กับระยะเติบโตนี้เอง ที่เราจะเห็นอัตราการเติบโตของยอดขายหรือของกำไรโตแบบเว่อๆ เพราะมาจากฐานที่ต่ำมาก รวมทั้งค่าพีอีก็จะสูงลิ่ว

“ต่อมาเมื่ออยู่ในระยะเติบโต อัตราการเติบโตทั้งของยอดขายและกำไรจะค่อยๆลดลงเพราะฐานการคำนวณที่ค่อยๆสูงขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปกติ ส่วนค่าพีอีก็มักจะค่อยๆลดลง แต่พีอีขึ้นกับราคาหุ้นด้วย ดังนั้นหากราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงนักเราจึงจะเห็นค่าพีอีค่อยๆลดลง ถ้าราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงมาก ค่าพีอีก็เปลี่ยนแปลงมากด้วย นั่นก็ไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

“ทีนี้มาดูที่ปีที่ 7 ยอดขายปีที่ 6 กับ 7 เท่ากัน ไม่โตเลย นั่นคือเข้าสู่ระยะอิ่ม หรืออิ่มตัวนั่นเอง การเข้าสู่ระยะอิ่มมีสองสาเหตุ นั่นคือ ยอดขายอิ่มตัว หรือกำลังการผลิตอิ่มตัว สำหรับกรณีของลุงนี้ยอดขายไม่โตไม่ใช่เพราะว่าตลาดอิ่มตัว แต่เป็นเพราะโรงงานของลุงผลิตได้เต็มที่ 85 ชิ้นต่อปีไงล่ะ เต็มที่ก็ได้เท่านี้ หากมีความต้องการมากกว่านี้ลุงก็สนองไม่ได้ ดังนั้นกำไรจึงเต็มที่เท่านี้”

“ผมยังสงสัย แล้วภาพนี้มีระยะ อืด ไหม” ลิงถาม

“ระยะอืดที่จริงลุงเพิ่มขึ้นมา ปกติมันแฝงอยู่ในระยะเติบโต คือเมื่อเติบโตไปนานเข้าก็จะเริ่มอืดอาด ระยะอืดคือปลายของระยะเติบโตนั่นเอง สำหรับโรงงานที่ลุงสมมตินี้ดูจากกราฟจะเห็นว่าไม่มีระยะอืด คือโตแล้วเข้าอิ่มไปเลย แต่นี่คือเรื่องสมมติใน ในธุรกิจจริงมักมีระยะอืดเกิดขึ้น คือเริ่มอืดอาด จากนั้นก็เข้าสู่ระยะอิ่ม คืออิ่มตัว” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ชักจะงง” ลิงเกาหัว

ลุงแมวน้ำหยิบภาพออกมาให้ดูอีก


การยืดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ออกไปโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาจเสื่อมความนิยมจากคู่แข่ง หรือจากความล้าสมัยของตัวผลิตภัณฑ์เอง การปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาจช่วยเพิ่มยอดขายได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ต้องเดินไปสู่จุดจบ



“อย่าเพิ่งงง ลองดูภาพนี้อีก ภาพนี้เราเคยดูกันมาแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด

“ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการต่อยอดวัฏจักร” ลิงทบทวนความจำ

“ใช่แล้ว ที่ลุงเคยบอกไงว่าเมื่อกิจการเข้าระยะเสื่อมถอย ทางแก้ก็คือต้องต่อยอดกิจการ หากการต่อยอดทำได้ดี ยอดขายที่ตกต่ำก็จะกลับฟื้นขึ้นมา เสมือนคนฟื้นไข้นั่นเอง หรือที่เราเรียกกันว่า หุ้นเทิร์นอราวด์ (turnaround stock) นั่นเอง และที่ลุงจะบอกก็คือ ระยะตั้งไข่กับระยะฟื้นไข้นั้น มีอาการเดียวกัน นั่นคือ ยอดขายตก ขาดทุน แล้วกลับมาฟื้นมีกำไร”


ตั้งไข่ ฟื้นไข้ คลื่นยอดปรารถนา



ลุงแมวน้ำยังไม่หยุดอธิบาย หยิบภาพออกมาอีกภาพหนึ่ง


คลื่นอีเลียตเปรียบเทียบกับวัฏจักรของกิจการ



“นี่ก็เป็นภาพที่เราเคยดูกันมาแล้ว จำได้ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“จำได้ฮะลุง ภาพคลื่นอีเลียตกับวัฏจักรของกิจการ” กระต่ายน้อยรีบตอบบ้าง

“ใช่แล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ทีนี้ก็มาถึงขั้นบูรณาการ เอาความรู้ที่เราคุยกันในวันนี้มาปะติดปะต่อให้เป็นความู้ในการลงทุน”

“ยังไงกันลุง” ลิงสงสัย

“ลองฟังลุงนะ” ลุงแมวน้ำพูด “จากทุกอย่างที่เราคุยกัน นำมาบูรณาการ ก็ได้ความว่า กิจการในระยะตั้งไข่ กับระยะฟื้นไข้นั้น มีลักษณะที่น่าสังเกตคือมีค่าพีอีสูงมาก รวมทั้งอัตราการเติบโตก็สูงมากด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเทียบกับคลื่นอีเลียตก็คือช่วงรอยต่อระหว่างคลื่น 2 กับคลื่น 3 นั่นเอง และเมื่อเข้าคลื่น 3 แล้วอัตราการเติบโตจะค่อยๆลดลง รวมทั้งค่าพีอีก็มักลดลงด้วย ซึ่งจังหวะที่กิจการเข้าสู่ระยะเติบโตหรือต้นคลื่นสามนี้แหละเป็นจังหวะการลงทุนที่เป็นยอดปรารถนาของทั้งสายวีไอปัจจัยพื้นฐานและสายเทคนิค ดังนั้นแม้กิจการจะมีค่าพีอีสูง หรือมีอัตราการเติบโตที่ลดลง แต่เราต้องพิจารณาว่ากิจการอยู่ในขั้นอะไร หากเป็นขั้นเติบโตหรือคลื่น 3 ละก็สามารถลงทุนได้ ดังนั้นลุงตอบคำถามแม่ยีราฟแล้วนะ ว่าพีอีสูงลงทุนได้หรือไม่”

“แล้วมันลงทุนได้หรือไม่จ๊ะลุง” ยีราฟถามอีก

“โอย จะบ้าตาย” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเอง

Wednesday, October 1, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (1)






ช่วงนี้ที่คณะละครสัตว์แอบเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนน่าตกใจ นั่นคือ สมาชิกหลายตัว เช่น ยีราฟ สิงโต ม้าลาย ฮิปโป และแม้กระทั่งกระต่ายน้อย ต่างก็พร้อมใจกันซื้อโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนมาใช้พร้อมๆกัน

สาเหตุที่ลุงแมวน้ำรู้ก็เพราะว่าช่วงนี้บรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์ต่างก็ชอบมานั่งคุยกันในสวนในช่วงที่ว่างเว้นจากการแสดง และลุงก็สังเกตเห็นว่าแต่ละตัวมีโทรศัพท์ใหม่เอี่ยมอ่อง ต่างหัดใช้กันเป็นการใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน แสดงว่าซื้อมาพร้อมๆกันและซื้อตามกัน โอ ลุงแมวน้ำช่างสังเกตแบบนี้เป็นนักสืบได้เลย ^_^

“นี่เกิดอะไรกันขึ้นเนี่ย ทำไมเกิดมีสมาร์ทโฟนพร้อมๆกัน” ลุงแมวน้ำถามอย่างแปลกใจขณะเดินเข้าไปในศาลาชมสวนที่สมาชิกกำลังชุมนุมกันอยู่

“เราซื้อสมาร์ทโฟนมาเพื่อเทรดหุ้นออนไลน์จ้ะ” ฮิปโปตอบ

“หา” ลุงแมวน้ำอุทาน “เอายังงั้นเลยเรอะ”

“ใช่แล้วลุง เราต้องใจจะลงทุนกันอย่างจริงจัง ซื้อโทรศัพท์แบบนี้มาจะได้ติดตามราคาหุ้นได้” สิงโตตอบ “ติดตามราคาได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ขณะแสดงอยู่”

“นี่เป็นความคิดนายจ๋อใช่ไหม” ลุงแมวน้ำถาม “แล้วดูราคาหุ้นตอนแสดงเดี๋ยวก็ได้แสดงผิดคิว เผลอๆได้ตกงานกันยกแก๊งรวมทั้งลุงด้วย”

“นี่ไม่ใช่ความคิดของผมนะลุง พวกนี้เห็นผมมีก็เลยอยากได้บ้าง ก็เท่านั้นเอง ผมไม่ได้ยุยงอะไรเลย” ลิงจ๋อรีบแก้ตัว

“อ้อ นายก็มีด้วย” ลุงแมวน้ำหันมาถามนายจ๋อ

“ซื้อก่อนหน้าพวกนี้วันเดียวเองครับลุง พอผมเอามาอวดก็เลยอยากได้กันบ้าง” ลิงพูด

“สมาร์ทโฟนนี่สะดวกมากเลย ฉันไม่ต้องลำบากโทรศัพท์ที่ตู้สาธารณะอีก” ยีราฟพูดบ้าง

“มาร์เก็ตติ้งชวนพวกเราเข้ากลุ่มไลน์ด้วย มีหุ้นเด็ดบอกทุกวันเลย” ม้าลายพูดบ้าง

“กลุ่มไลน์หุ้นนี่มันดีจริงๆเลยฮะลุง อีกไม่นานเราจะรวยกันแล้ว เย้...” กระต่ายน้อยครึกครื้นบ้าง

“ลุงไม่อยากเชื่อเลย” ลุงแมวน้ำอุทาน แล้วพูดต่อ “ลุงว่าชีวิตมันคงไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก นี่ดัชนีใกล้ 1600 แล้ว นายจ๋อยังบ่นอยู่เลยว่าติดดอยอยู่หลายตัว”

“นั่นมันตัวเก่าๆน่ะลุง เดี๋ยวนี้ผมเปลี่ยนแนวแล้ว หุ้นที่ซื้อในช่วงหลังไม่ใช่หุ้นเน่า ไม่ได้ติดดอย” ลิงพูด “แต่ที่ลุงพูดมาก็ถูก กำไรไม่ใช่ได้มาง่ายๆ มีเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่หมกยอดดอยเกิดขึ้นแทบทุกวัน”

“ลุงแมวน้ำจ๊ะ ไหนๆลุงมาแล้วก็นั่งคุยกันก่อน ฉันมีเรื่องอยากจะถาม” ยีราฟพูด

“มียีราฟจะถามอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด “แต่พูดก็พูดเถอะ ลุงห่วงแม่ฮิปโปจัง”

“ลุงห่วงแม่ฮิปโปทำไม” ลิงจ๋อถาม

“กลัวแม่ฮิปโปกลืนโทรศัพท์ลงท้องไปน่ะสิ สมาร์ทโฟนเครื่องนิดเดียว หล่นเข้าท้องแม่ฮิปโปได้สบายๆเลย” ลุงแมวน้ำแสดงความเป็นห่วง

“น่นสิลุง ฉันก็ห่วงตัวเองเหมือนกัน วันก่อนก็เพิ่งกลืนลูกกอล์ฟลงท้องไป” ฮิปโปบ่น

“แม่ยีราฟจะถามอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำวกกลับมาที่ยีราฟคอยาว

“หุ้นไร่ถั่วฝักยาวที่ฉันอยากซื้อแต่นายจ๋อห้ามไว้เพราะค่าพีอีสูงร้อยกว่าเท่านั่นน่ะ ลุงมีความเห็นว่ายังไง พีอีร้อยกว่าเท่านี่แพงจริงไหม” ยีราฟถาม “ฉันขอถามสั้นๆแค่นี้แหละ”

“แม่ยีราฟถามประโยคเดียวว่าพีอีร้อยกว่าเท่าแพงไหม คำถามสั้นๆแต่ลุงต้องตอบหลายวันเลยเชียวเพราะต้องอธิบายกันยาว” ลุงแมวน้ำพูด “คำถามของแม่ยีราฟน่าสนใจ ถ้าอย่างนั้นใครที่สนใจก็มาคุยกันหลังเลิกงานก็แล้วกัน”

“ดีเลยฮะ คุยกันเยอะๆสนุกดี” กระต่ายน้อยพูดอย่างร่าเริง “บอกหุ้นเด็ดด้วยนะครับลุง”

“ที่จริงลุงอยากคุยเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนเสียก่อน เพราะทัศนคติในการลงทุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทัศนคติเปรียบเสมือนส่วนฐานราก ฐานรากดีสิ่งปลูกสร้างก็มั่นคง ฐานรากแย่สิ่งปลูกสร้างก็อาจพังได้” ลุงแมวน้ำพูด “แต่ในเมื่อแม่ยีราฟมีคำถามเรื่องค่าพีอี เรามาคุยเรื่องค่าพีอีก่อนก็แล้วกัน จากนั้นวันหลังค่อยมาอื่นเรื่องอื่นๆ ลุงขอเวลาเตรียมข้อมูลก่อน ใครสนใจวันพรุ่งนี้แวะมาคุยกัน”


อัตราส่วนพีอี (P/E ratio) เครื่องมือประเมินหุ้นอย่างคร่าวๆ


วันรุ่งขึ้น ลุงแมวน้ำแวะไปที่ศาลาในสวนอีกครั้งหนึ่ง เห็นบรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์กำลังคุยเฮฮาเรื่องหุ้นกันอยู่

“ลุงแมวน้ำมาแล้วคร้าบ” ลุงแมวน้ำทักทาย “วันนี้เรามาคุยเรื่องหุ้นกับค่าพีอีกัน”

บรรดาสมาชิกเริ่มล้อมวงเข้ามา กระต่ายน้อยกระโดดแผลวมานั่งอยู่แถวหน้าเพราะตัวเล็กกว่าเพื่อน นั่งเหยียดแข้งเหยียดขาสบายใจ เท้าหน้าข้างหนึ่งถือแครอต อีกข้างหนึ่งถือสมาร์ทโฟน ใบหูยาวกระดิกไปมาอย่างอารมณ์ดี

“เริ่มได้เลยฮะลุงแมวน้ำ ผมเตรียมของว่างไว้รอฟังลุงแล้ว” กระต่ายน้อยพูด

“แครอตนี่เตรียมไว้ให้ลุงเหรอ ขอบใจกระต่ายน้อยมาก” ลุงแมวน้ำปลื้ม

“เปล่าฮะ ผมเตรียมของว่างไว้กินเองระหว่างที่ฟังลุงคุย” กระต่ายน้อยตอบ “ลุงก็รู้นี่ฮะว่าผมหิวบ่อยๆ”

“ฮิฮิ ลุงแมวน้ำเห็นความแสบของกระต่ายน้อยหรือยัง” ลิงหัวเราะ “เอากาวมาซ่อมหน้าหน่อยไหมลุง”

“อะแฮ่ม” ลุงแมวน้ำกระแอมแก้เขิน “เรามาเริ่มคุยกันดีกว่า ก่อนอื่น ลุงขอตอบคำถามของแม่ยีราฟก่อนเรื่องค่าพีอีสูงร้อยกว่าเท่าแล้วยังลงทุนได้ไหม ในความเห็นของลุงก็คือ บางครั้งหุ้นที่มีค่าพีอีสูงก็ยังน่าลงทุน ในขณะที่บางครั้งหุ้นที่ค่าพีอีต่ำก็ไม่น่าลงทุน”

“อ้าว ไหงยังงั้นล่ะลุง” ลิงทักท้วง “ก็ลุงเคยบอกว่าให้เลือกหุ้นที่ค่าพีอีต่ำเอาไว้ก่อน”

“ลุงถึงได้บอกไงว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่มีอะไรตายตัวหรอก” ลุงแมวน้ำพูด “ที่ลุงบอกว่าให้เลือกหุ้นพีอีต่ำเอาไว้ก่อนนั่นก็ใช่ เพราะโดยทั่วไปก็ต้องถือหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำมีแต้มต่อที่ดีกว่าหุ้นที่ค่าพีอีสูง แต่หากเราเข้าใจที่มาที่ไปของค่าพีอีและเข้าใจในหุ้นที่เราลงทุน เราก็จะรู้ว่ามันก็มีข้อยกเว้นได้ เราถึงได้มาคุยกันในวันนี้ไงล่ะ”

“อ้อ ยังงั้นคุยต่อเลยลุง อย่าชักช้า ลุงเป็นลุงแมวน้ำนะ ไม่ใช่ลุงเต่า” ลิงหัวเราะ “ช้าไม่ทันใจวัยรุ่นเลย”

เสียงคุยค่อยๆเงียบลง ลุงแมวน้ำเห็นว่าทุกคนพร้อมฟังกันแล้วจึงเริ่มการบรรยาย

“อันที่จริงแล้วค่าพีอีนั้นเป็นข้อมูลเชิงปัจจัยพื้นฐาน นักลงทุนในสายปัจจัยทางเทคนิคก็ไม่ได้ใช้กันหรอก แต่ว่า ดังที่ลุงเคยคุยให้ฟังว่าหากนำปัจจัยพื้นฐานมาประกอบปัจจัยทางเทคนิค จะยิ่งช่วยในการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องค่าพีอี ที่มาที่ไปของค่าพีอีและการนำไปใช้ในการคัดเลือกหุ้น ทำไมหุ้นพีอีต่ำบางครั้งก็ไม่น่าลงทุน ทำไมหุ้นพีอีสูงก็ยังลงทุนได้ รวมทั้งหุ้นที่ไม่มีค่าพีอี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เนื่องจากเรื่องมันยาว ดังนั้นเราจึงต้องค่อยๆคุยและทำความเข้าใจกันทีละประเด็น อย่าใจร้อนกัน เพราะว่าหากเข้าใจไม่ถูกต้องและนำไปใช้ไม่เหมาะ การลงทุนก็เสียหายได้

“เรามาทบทวนกันก่อนว่าค่าพีอีนั้นคืออะไร ค่าพีอีนั้นอาจเรียกและเขียนได้หลายอย่าง เช่น พีอีเรโชหรือสัดส่วนพีอี (P/E ratio) บางทีก็เรียกว่าพีอีเฉยๆ รวมทั้งค่าพีอีนี้บางทีก็เขียนย่อเป็น PER ดังนั้นบางทีจึงเรียกว่าค่าพีอีอาร์ แต่ขอให้เข้าใจว่าชื่อที่พูดมาทั้งหมดนี้คือเรื่องเดียวกันทั้งหมด

“ค่าพีอีนี้ชื่อเต็มก็คือ price to earning ratio หมายถึงราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ เป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่ใช้ในการประเมินราคาหุ้นว่าถูกหรือแพง แต่เป็นการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น คือดูคร่าวๆนั่นเอง”


สัดส่วนพีอี (P/E ratio) บางทีก็เรียกว่าพีอีเฉยๆ รวมทั้งค่าพีอีนี้บางทีก็เขียนย่อเป็น PER ดังนั้นบางทีจึงเรียกว่าค่าพีอีอาร์ P คือ price แปลว่าราคา ส่วน E คือ earning per share หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น


“เหรอจ๊ะลุง แล้วที่ว่าหุ้นถูกหรือว่าหุ้นแพงนั้นดูยังไง เท่าไรจึงถูก เท่าไรจึงแพง” ยีราฟสงสัย

“มันไม่มีคำตอบตายตัวหรอกแม่ยีราฟ” ลุงแมวน้ำตอบ “ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของค่าพีอีก่อน ค่าพีอีนี้อธิบายเป็นภาษาง่ายๆก็คือตอนนี้ราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธินั่นเอง เนื่องจาก P คือ price แปลว่าราคา ส่วน E คือ earning per share หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น

“สมมติว่าหุ้นไร่ถั่วฝักยาวตอนนี้ราคา 10 บาท และผลประกอบการไร่ถั่วมีกำไรสุทธิ 1 บาทต่อหุ้น ดังนั้นค่าพีอีคำนวณด้วยการนำ P มาหารด้วย E ก็คือ 10/1 ดังนั้นค่า P/E ratio ของหุ้นไร่ถั่วฝักยาวตอนนี้คือ 10 เท่า คือราคาเป็น 10 เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น

“ทีนี้เอาใหม่ สมมติว่าเดือนหน้า ราคาหุ้นกลายเป็น 12 บาท ณ เวลานั้น ค่าพีอีก็เปลี่ยนไป คือกลายเป็น 12/1 นั่นคือ 12 เท่านั่นเอง

“ดังนั้นค่าพีอีเป็นการประเมินความคุ้มค่าโดยเอาราคาหุ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น เปรียบเทียบได้กับว่ามีต้นทุเรียนพันธุ์ดี ออกลูกปีละ 1 ผล ถามว่าถ้าขายราคาต้นละ 10 บาท 20 บาท 50 บาท ราคาไหนน่าซื้อกว่ากัน

“ราคาต้นละ 10 บาทสิฮะ เพราะว่าคุ้มค่ากว่า ออกลูกปีละผลจะซื้อแพงไปทำไม” กระต่ายน้อยตอบ “แต่ว่าทุเรียนที่ไหนของลุงฮะ ออกลูกปีละผล”

“นี่ลุงสมมติให้ตัวเลขเข้าใจง่ายๆเท่านั้น” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “การตีความค่าพีอีโดยทั่วไปก็เหมือนเราซื้อต้นทุเรียนในตัวอย่างของลุงนั่นแหละ ยิ่งซื้อราคาสูงเท่าไรความคุ้มค่ายิ่งน้อยลง


ค่าพีอีสองแบบ มองไปข้างหลัง กับมองไปข้างหน้า


“นอกจากนี้ก็ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก นั่นคือ ค่าพีอีมีทั้งพีอีในอดีต และพีอีในอนาคต ค่าพีอีในอดีตเรียกว่า trailing P/E ratio เป็นการคำนวณจากผลประกอบการย้อนหลังไป 4 ไตรมาสหรือหนึ่งปีนั่นเอง คิดง่ายๆก็คือปีที่แล้วทุเรียนออกลูกมากี่ผล ให้เอาค่านั้นมาคำนวณ

“กับ พีอีในอนาคต หรือ forward P/E ratio คือค่าพีอีที่คำนวณจากผลประกอบการคาดหมายล่วงหน้าสี่ไตรมาส คิดง่ายๆก็คือเราคาดหมายว่าปีหน้าทุเรียนจะออกลูกกี่ผล ก็เอาค่านั้นมาคำนวณ


ค่าพีอีย้อนหลัง หรือ trailing PER มองผลประกอบการย้อนหลังไปสี่ไตรมาสหรือหนึ่งปี


ค่าพีอีล่วงหน้า หรือ forward PER มองผลประกอบการล่วงหน้าไปสี่ไตรมาสหรือหนึ่งปี



“ชักเริ่มงง” ยีราฟทำหัวโคลงเคลง “แล้วพีอีอดีตกับพีอีอนาคต ค่าไหนใช้ดีกว่ากันล่ะลุง”

“โดยปกติหากไม่บอกอะไรเป็นพิเศษ ค่าพีอีที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไปมักเป็นพีอีในอดีต เพราะผลกำไรในอดีตนั้นเป็นข้อมูลที่หาง่าย ส่วนพีอีในอนาคตนั้นต้องอาศัยความรู้และข้อมูลในการประเมินผลกำไรในอนาคตซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ค่าพีอีในอนาคตย่อมมีประโยชน์กว่า เพราะว่าการซื้อหุ้นคือการซื้ออนาคต ดังนั้นหากมีข้อมูลในอนาคตย่อมมีประโยชน์กว่า แต่ก็อีกนั่นแหละ อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ดังนั้นการประเมิน forward P/E ratio นั้น ก็ต้องทำใจว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูง

“ใช้ค่าพีอีแบบไหนดี โดยทั่วไปมีอะไรก็ใช้อันนั้นนั่นแหละ หมายความว่า หากได้ค่าพีอีมา ถ้าไม่ได้บอกอะไรพิเศษก็ถือว่าใช้กำไรสุทธิในอดีตมาคำนวณ คือถือว่าเป็น trailing P/E ratio เอาไว้ก่อน หากมีระบุว่าเป็น forward P/E ratio การใช้ค่าพีอีล่วงหน้าก็ยิ่งดี

“แล้วอะไรคือถูก อะไรคือแพงล่ะลุง ยังไม่ตอบฉันสักที” ยีราฟทวงอีก

“แม่ยีราฟอย่าเพิ่งใจร้อนสิ การลงทุนไม่ควรใจร้อน ไม่อย่างนั้นจะพลาดได้ง่าย คำตอบที่ว่าอะไรถูกอะไรแพงโดยดูจากค่าพีอีนั้น ลุงต้องอธิบายอีกหลายวันทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ “แต่ว่าลุงไม่ได้มุ่งตอบแต่เฉพาะคำถามของแม่ยีราฟหรอกนะ เรื่องที่ลุงเล่าก็จะเป็นความรู้ในการลงทุนอื่นๆประกอบไป พวกเราจะได้รู้เกี่ยวกับหุ้นหลายๆแบบด้วย เช่น หุ้นตั้งไข่ หุ้นฟื้นไข้ ฯลฯ ดังนั้นค่อยๆคุยกันไป


โรงงานของลุงแมวน้ำ


“เอาล่ะ เรารู้ที่มาของการคำนวณค่าพีอีแล้ว คราวนี้เรามาเข้าเรื่องการลงทุนของเรากัน เราจะใช้ค่าพีอีช่วยในการลงทุนได้อย่างไร พูดง่ายๆก็คือจะใช้ค่าพีอีช่วยในการคัดเลือกหุ้นได้อย่างไรนั่นเอง แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราต้องสมมติตัวเองว่าเป็นเถ้าแก่เจ้าของกิจการเสียก่อน

“คราวนี้หลับตา และจินตนาการว่าเราเป็นเจ้าของกิจการโรงงานแห่งหนึ่ง เป็นโรงงานที่ผลิตหมอนข้างรูปลุงแมวน้ำ”

“สมมติเป็นร้านอาหารได้ไหม ฉันอยากทำร้านอาหาร” ฮิปโปถาม “จะซื้อหุ้นทำไมต้องไปสมมติว่าเป็นเถ้าแก่ด้วยล่ะ”

“ร้านอาหารไม่ได้ จินตนาการว่าเป็นโรงงานผลิตหมอนข้าง” ลุงแมวน้ำตอบ “การซื้อหุ้นเป็นการลงทุน เรามีส่วนเป็นเจ้าของกิจการส่วนหนึ่ง นั่นคือ เราเป็นเถ้าแก่อยู่ครึ่งตัว ดังนั้นสมมติว่าเป็นเจ้าของกิจการน่ะถูกแล้ว”

“โอม จงหลับ จงหลับ จงหลับ” ลิงจ๋อร่ายคาถาพึมพำ “คร่อก ฟี้”

“อ้าว อย่าเพิ่งหลับ ฟังลุงก่อน” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำกับท่าทางของลิงจ๋อ แล้วพูดต่อไป

“ขอให้เราสวมบทบาทของเถ้าแก่โรงงานผลิตหมอนข้างก่อน เราเห็นว่าหมอนข้างลุงแมวน้ำต้องขายดีแน่ๆเพราะว่าลุงแมวน้ำน่ารักฝุดๆ” พูดถึงตอนนี้ได้ยินเสียงแหวะเบาๆ แต่ลุงแมวน้ำก็ยังพูดต่อไป

“การทำโรงงงานผลิตสินค้าต้องมีอะไรบ้างล่ะ ต้องมีสถานที่ ต้องมีเครื่องจักร ต้องมีส่วนการผลิตคือวัตถุดิบและพนักงานผลิต ต้องมีส่วนงานออฟฟิสคือพนักงานบัญชี พนักงานขาย พนักงานการเงิน พวกนี้ต้องลงทุนไปก่อนทั้งนั้น กำไรยังไม่ทันเห็นแต่ว่าเงินลงทุนต้องจ่ายไปก่อนแล้ว นี่คือการทำธุรกิจ



ข้อมูลโดยสรุปของโรงงานลุงแมวน้ำ


“เอาละ ทีนี้จินตนาการต่อไป โรงงานผลิตนี้มีเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสินค้าได้ 85 ชิ้นต่อปี ราคาขายชิ้นละ 100 บาท มีต้นทุนเป็นสองส่วนหลัก คือ

“ต้นทุนการผลิตหมอนข้างชิ้นละ 5 บาท เรียกว่าเป็นต้นทุนการผลิต ประกอบด้วยค่าวัตถุดิบกับค่าแรงของพนักงานผลิต เฉลี่ยแล้วเป็นต้นทุนชิ้นละ 5 บาท ผลิตน้อยก็จ่ายน้อย ผลิตมากก็จ่ายมาก ขึ้นกับจำนวนที่ผลิต

“นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนงานออฟฟิสอีก ซึ่งงานออฟฟิสนี้จ้างพนักงานเป็นรายเดือน ไม่ว่าจะผลิตน้อยหรือมากก็ต้องจ่ายคงที่ สมมติว่าค่าใช้จ่ายส่วนงานออฟฟิสนี้จ่ายเดือนละ 4000 บาทต่อเดือน เรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร

“แล้วก็สมมติต่ออีกนิดหนึ่ง นั่นคือ ธุรกิจของลุงแมวน้ำนี้มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 1000 หุ้น ราคาตลาดหุ้นละ 100 บาท”

“นี่เราไม่ใช่นักลงทุนสายเทคนิค และไม่ใช่สายปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า นักลงทุนสายจิน” ลิงพูดเบาๆทั้งที่ยังหลับตา

“สายจินคืออะไรฮะน้าจ๋อ” กระต่ายน้อยถาม

“สายจินตนาการไง” ลิงตอบ “ลุงแกมีแต่โขดหิน โรงงานอะไรที่ไหน มโนล้วนๆเลย ขืนหลับตาจิตนาการต่อไปคงได้หลับกันจริงๆ ชักง่วงแล้ว”