Tuesday, July 7, 2015

มองกลุ่มธนาคาร อาจยังลงไม่สุดและจะฟื้นตัวได้ช้า


ดัชนีเซ็ตเทียบกับดัชนีกลุ่มธนาคารและพลังงาน



ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยไหลจนดัชนีเซ็ตหลุด 1500 จุดลงมาแล้ว สาเหตุมาจากสองสามกลุ่มหลัก คือธนาคาร พลังงาน แถมด้วยกลุ่มปิโตรเคมี  โดยกลุ่มธนาคารเป็นพระเอกในการฉุดดัชนี

ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานนั้นปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงหุ้นพลังงานก็ลงด้วย ส่วนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงตามสภาพเศรษฐกิจ

เป็นที่ทราบกันดีกว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์นั้นอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจ คือเป็นกระจกที่สะท้อนภาพเเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี สินเชื่อก็ขยายตัวดี หนี้เสียก็น้อย ธนาคารก็มีผลประกอบการดี

ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจไม่ดี สินเชื่อก็ปล่อยยาก หนี้เสียก็เพิ่มสูงขึ้น ผลประกอบการของธนาคารก็แย่

เรามาดูกราฟดัชนีรายเซ็กเตอร์กัน จะเห็นว่าในรอบปีที่ผ่านมา ดัชนีเซ็ตปรับตัวลงประมาณ -1.5% ดัชนีกลุ่มพลังงานปรับตัวลง -4% ส่วนดัชนีกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงถึง -27.8% โดยราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นมีแนวโน้มเป็นขาลงตั้งแต่ปีที่แล้ว คือลงมาตลอด เพิ่งมาเด้งขึ้นในช่วงต้นปีนี้เหมือนกับจะกลับทิศเป็นขาขึ้น แต่แล้วก็กลับไหลลงแรงอีก ไหลลงแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงตอนนี้ แม้แต่ต่างชาติซึ่งถือหุ้นไทยไม่มากแล้วก็ยังขายหุ้นกลุ่มธนาคารหนักในระยะที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารมีผลต่อดัชนีมากเสียด้วย ดังนั้นจึงฉุดดัชนีเซ็ตลงมา


สาเหตุกลุ่มธนาคารปรับตัวลง


สาเหตุที่หุ้นกลุ่มธนาคารลงแรงเป็นเพราะ

1. ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินต่างก็พากันปรับลดเป้าจีดีพี ปรับลดเป้าการส่งออก หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเหล่านี้้ล้วนแต่เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ในปีที่แล้วเรายังเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่มาเห็นภาพได้ชัดขึ้นในปีนี้

2. ปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เรียกว่าเอ็นพีแอล (NPL, non performing loan) นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2014 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มต่อไปในปี 2015 นี้ การที่ปริมาณเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นภาระแก่ธนาคาร เนื่องจาก หากเป็นหนี้ชำระปกติหรือขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน (ที่ขาดส่งหนึ่งถึงสามเดือนเรียกว่า SML, special mentioned loan) พวกนี้ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล จะตั้งสำรองไม่เกิน 2% ของสินเชื่อ แต่หากถูกจัดชั้นป็นเอ็นพีแอลเมื่อใด ภาระการตั้งสำรองจะกลายเป็น 100% ซึ่งจะเห็นว่าพอเป็น NPL ปุ๊บภาระการตั้งสำรองจะเพิ่มอีกมาก และนี่เองที่ไปฉุดกำไรของธนาคาร


ปริมาณ SML (หนี้ขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน), NPL (หนี้ขาดส่งเกิน 3 เดือน) เพิ่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1Q2014 และคาดว่าปี 2015 นี้ SML บางส่วนจะกลายเป็น NPL ทำให้ NPL เพิ่มอย่างต่อเนื่อง


สำหรับปี 2015 นี้ การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารน่าจะลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยภาระการตั้งสำรองเอ็นพีแอล ก็มองกันว่าผลประกอบการคงไม่น่าประทับใจ ดังนั้นจึงมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคาร บางคนไหวตัวเร็วก็ขายตั้งแต่ปีที่แล้ว บางคนเพิ่งมาคิดได้ในช่วงปีนี้ก็รีบขายกันออกมา สภาพการจึงเป็นดังที่เห็นกันอยู่

หุ้นกลุ่มธนาคารจะลงไปถึงไหน 


สำหรับธนาคารใหญ่ คือ BBL, KBANK, SCB, KTB สินเชื่อ NPL กับภาระการตั้งสำรองคงเพิ่มขึ้นต่อไปในไตรมาส 2, 3, 4 ปัจจัยฉุดยังอยู่ต่อไปอีกพักใหญ่ ยังไม่ลดง่ายๆ ดังนั้นหุ้นกลุ่มธนาคารอาจลงต่อได้อีกนิดนึง ลองมาดูกรณีศึกษา KBANK ดังในภาพกัน



ในทางเทคนิค แนวรับสำคัญตามระดับฟิโบนาชชีมีหลายระดับ คือ 170, 145 และ 120 บาท แนวรับไหนน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

สำหรับ 120 บาท ลุงแมวน้ำว่าต่ำเว่อไป เศรษฐกิจต้องเสียหายหนักราคาจึงจะลงไประดับนั้น ในทางปัจจัยพื้นฐานดูแล้วคงลงไปถึงนั่นได้ยาก

ที่ 145 บาท ราคานี้ หากพิจารณาจาก trailing P/E ratio (ค่าพีอีปัจจุบัน) ก็ราวๆ 7.4 เท่า ส่วนค่า P/BV ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี 1.3 เท่า ถือว่าต่ำแล้ว ราคานี้มองแล้วเป็นไปได้มากกว่า

ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่ากลุ่มธนาคารยังฉุดตลาดได้อีกหน่อย

ส่วนธนาคารขนาดรอง พวก TISCO, TCAP ฯลฯ ลองดูกราฟ TISCO ธนาคารขนาดรองตั้งสำรองไปมากแล้วเนื่องจากเอ็นพีแอลโผล่ก่อนธนาคารใหญ่ อะไรที่ควรตั้งก็ตั้งไปเยอะแล้ว ดังนั้นภาระการตั้งในอนาคตมีอีกไม่มาก รูปแบบของราคาจึงไม่ลงหนักเหมือนธนาคารใหญ่


ไม่ต้องรีบร้อน พวกนี้ตอนฟื้นตัวจะค่อยๆฟื้น ใจเย็นๆค่อยๆรอเก็บได้คร้าบ

Tuesday, June 30, 2015

วิกฤตหนี้กรีซใกล้เส้นตาย เศรษฐกิจไทยอาจชะลอยาว (2)


ตลาดหุ้นกรีซ ในหนึ่งปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวลงไปแล้วราว -40%


กรณีกรีซไม่ยอมรับแผนปฏิรูปของกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยกาและประกาศทำประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวกรีกเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับแผนปฏิรูปซึ่งรวมทั้งยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆหรือไม่ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในวันที่ 29 มิถุนายนผันผวน สถานการณ์ดูเลวร้ายลงเนื่องจากโอกาสที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้มีสูงขึ้น รวมทั้งกรีซมีอาจต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะตกลงกันได้ในนาทีสุดท้ายยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ยังมีโอกาสอยู่

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในวันที่ 29 อันเป็นผลทางจิตวิทยาของตลาดหุ้นต่างๆที่ตอบสนองต่อข่าวกรีซ ตลาดหุ้นยุโรป (ดัชนี EURO STOXX 50) ปรับตัวลง -4.2% ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา (ดัชนี S&P 500) ปรับลง -2% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (ดัชนีนิกเกอิ 225) -3% ตลาดหุ้นอินเดีย -0.6% ส่วนตลาดหุ้นไทย -0.45%

จะเห็นว่าตลาดหุ้นที่หวั่นไหวต่อกรณีกรีซมากที่สุดเป็นตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรป ส่วนผลทางจิตวิทยาของตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นมีค่อนข้างจำกัด สำหรับประเทศไทยเองนั้นในภาคเศรษฐกิจจริงสัมพันธ์กับกรีซเป็นมูลค่าไม่มากนัก ดังนั้นจากการประเมินในเบื้องต้น ลุงแมวน้ำคิดว่าแม้ในที่สุดกรีซผิดนัดชำระหนี้จริงๆ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอเมริกา เอเชีย และตลาดหุ้นไทย น่าจะมีไม่มากนัก ส่วนผลที่ตามมาหากกรีซเป็นชนวนให้ยูโรโซนล่มสลาย ประเด็นนั้นค่อยมาประเมินกันอีกทีเพราะยังอีกไกล


ความเสี่ยงอยู่ที่จีน


ประเด็นที่ลุงแมวน้ำเป็นห่วง และคาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป ไม่ใช่กรณีกรีซ แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆดังต่อไปนี้

1.กรณี สหรัฐอเมริกากำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด หลังจากที่กระประชุมเฟดเดือนมิถุนายนนี้ไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์ก็ยังคงอึมครึมต่อไปจนถึงการประชุมเฟดในนัดเดือนกันยายน กรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกไปต่อได้ยาก แม้แต่ตลาดหุ้นอเมริกาเองก็เช่นกัน

ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หลังจากที่หลุดปลายสามเหลี่ยมชายธงลงด้านล่างก็ก่อตัวเป็นแนวโน้มขาลง คาดกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะลงไปจนกว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


2. กรณีจีน เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีกขาละหนึ่งสลึงหรือ 0.25 % และลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ อาร์อาร์อาร์ (RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มพื้นที่ชนบท ภาคการเกษตร และธุรกิจขนาดเล็ก -0.50% ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจ

ปกติจีนมักประกาศนโยบายการเงินในช่วงวันหยุด ครั้งนี้ก็เช่นกัน พอตลาดหุ้นจีนเปิดมาในเช้าวันจันทร์ก็บวกไปประมาณ +2% จากนั้นก็แกว่งตัวขึ้นลงแรงหลายรอบตลอดวัน สุดท้าย ตลาดหุ้นจีนโดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ -3.3% ซึ่งกรณีจีนนี้ลุงแมวน้ำคิดว่าสถานการณ์เริ่มน่าเป็นห่วง เนื่องจากปีนี้ธนาคารกลางของจีนใช้มาตรการทางการเงิน ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ยและการลดสัดส่วนการกันสำรองมาหลายครั้งแล้วเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่น่าพอใจนัก เพียงครึ่งเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงไป -21% แล้ว ซึ่งถือว่าเร็วและแรง

ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลง -21% ภายในเวลาประมาณครึ่งเดือน


แต่ละครั้งที่จีนมีการผ่อนคลายทางการเงิน ตลาดหุ้นจีนตอบสนองในเชิงบวก คือตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรง แต่ครั้งนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลง อธิบายได้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยและลดสัดส่วนกันสำรองในครั้งก่อนๆ นักลงทุนมองเชิงบวกว่ามาตรการเหล่านี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างได้ผล แต่มาในครั้งนี้นักลงทุนกลับมีท่าทีเสียความเชื่อมั่น กลายเป็นมองเชิงลบว่าเศรษฐกิจคงแย่มากจึงได้กระตุ้นกันไม่หยุดหย่อน พูดง่ายๆคือตอนนี้นักลงทุนจีนมองว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างยากจะเยียวยาแล้ว

กรณีจีน ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอิงการส่งออกค่อนข้างสูง คือกว่า 70% ของจีดีพี และการส่งออกของเรานั้นพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้ยอดการนำเข้าของจีนลดลง ส่งผลให้ไทยขายสินค้าแก่จีนได้น้อยลงโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ประกอบกับไทยเสียความสามารถในการแข่งขันส่งออกไป ลุงแมวน้ำจึงเห็นว่าผลจาการชะลอของเศรษฐกิจจีนจึงกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก


เศรษฐกิจไทยชะลอกว่าที่คาด


คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะซึมลงในไตรมาส 3 

3. เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว การที่ทางการไทยปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและคาดการณ์ยอดส่งออกลงหลายครั้งเพราะยอดส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สินค้าทำเงินย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น (เช่น จอภาพ ทีวี ยานยนต์ ฯลฯ) และนอกจากยอดส่งออกแล้ว ในด้านการนำเข้าสินค้าทุนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าในภาคการผลิตได้ชะลอการผลิตและการลงทุนใหม่ๆลง ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการก็ชะลอการลงทุน โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆก็ยังติดขัด และในภาคเกษตรก็ประสบภัยแล้ง

4. ในปีนี้มีการออกหุ้นไอพีโอ ทั้งกองทุนรวมอสังหาฯ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และหุ้นกู้ ค่อนข้างมาก เหล่านี้มีส่วนดูดซับเงินออกไปจากตลาด น่าจะมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นขึ้นต่อได้ยากด้วย

ลุงแมวน้ำคาดว่าในไตรมาส 3 นี้ไทยน่าจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน ปริมาณหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น การบริโภคที่ชะลอตัว ส่งผลต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มอุปโภคบริโภค และอาจเป็นกลุ่มที่ฉุดตลาดได้

สี่กรณีข้างต้นประกอบกัน ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่าตลาดหุ้นไทยในไตรมาสสามน่าจะซึมลง แม้ว่าจะไม่มีกรณีกรีซก็น่าจะซึมลงอยู่แล้ว เดิมทีคาดว่าไตรมาสสามน่าจะเริ่มสดใสได้ แต่ตอนนี้คงต้องปรับมุมมอง ประกอบกับต้องรอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีก ส่วนไตรมาสสี่นั้นสถานการณ์น่าจะดีขึ้นบ้าง เพราะการท่องเที่ยวเข้าสู่ไฮซีซัน จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้บ้าง


กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3


จากที่เล่ามาข้างบน ลงแมวน้ำจึงปรับกลยุทธ์การลงทุน และปรับพอร์ต ตอนนี้ขายหุ้นในตลาดฮ่องกงออกไป และลดพอร์ตหุ้นไทยลง ถือเงินสดกว่า 50% ของพอร์ต และรอจังหวะเหมาะเพื่อกลับเข้าลงทุนใหม่ ลุงแมวน้ำมองภาพไว้ 2 กรณีหรือ 2 ซีนาริโอ คือ

1. หากตลาดหุ้นลงแรง หรือค่อยๆซึมลง ก็ตาม ลุงแมวน้ำรอจังหวะเข้าซื้อที่ระดับต่ำกว่า 1450 จุด เล็งกลุ่มหุ้นและตัวหุ้นเอาไว้บ้างแล้ว เลือกตัวที่อนาคตดี แต่ราคายังถูกอยู่ เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ หรือที่เรียกว่ามี margin of safty (MOS) สูงหน่อย คาดว่าจังหวะที่เข้าลงทุนน่าจะเป็นกลางหรือปลายไตรมาส 3

2. หากตลาดหุ้นไม่ลงแต่กลับไปต่อ ลุงแมวน้ำจะรอให้ผ่าน 1530 จุดและก่อแนวโน้มขาขึ้นชัดเจนก่อนค่อยเข้าลงทุน สำหรับแผน 2 นี้ลุงแมวน้ำมีโพยหุ้นอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากแผนแรก เนื่องจากสถานการณ์แตกต่างกัน

3. การลงทุนในต่างประเทศ ยังสนใจตลาดหุ้นฮ่องกงเช่นเดิม และเพิ่มตลาดหุ้นอินเดียเป็นตัวเลือกเข้าไปด้วย ตอนนี้รอก่อนเพราะตลาดเป็นขาลง รอกลางหรือปลายไตรมาสสามค่อยเข้าลงทุน

4. ไม่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ไม่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่เก็งกำไรค่าเงิน เพราะโอกาสขาดทุนสูง


อินเดียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐิจสูง ตลาดหุ้นจึงน่าสนใจ แต่ตอนนี้เงินทุนไหลออกจากอินเดียเพราะรอเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 


แนวทางของลุงแมวน้ำก็ทำนองนี้แหละ จะเห็นว่าลุงแมวน้ำไม่ได้เตรียมการรับมือกับกรณีกรีซโดยตรง รวมทั้งไม่รวมกรณีโรคเมอร์สระบาดรุนรงด้วย แต่แม้จะเกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้นมา ก็น่าจะพอรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ เนื่องจากตอนนี้ถือเงินสดไว้ในสัดส่วนสูงอยู่แล้ว