Sunday, March 15, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ สมดุลธรรมชาติ (2)



สมดุลแบบพลวัตร ปรากฏการณ์เกิดป่า


ลุงแมวน้ำหยิบภาพอีกใบหนึ่งออกมากางให้ดู เห็นเป็นภาพต้นไม้มากหมายหลายแบบ




“เรามาเริ่มต้นกันตรงที่ว่าเมื่อพื้นดินหลังจากที่ถูกไฟป่าเผาผลาญหรืออาจถูกมนุษย์รุกรานตัดทำลายไปจนหมด จนอยู่ในสภาพที่เหี้ยนเตียน มีแต่ดินและทราย อีกทั้งยังแห้งแล้ง รักษาความชื้นไว้ไม่ได้ ไม่มีพืชใดเลย หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามาดูตามภาพกันเลย

“แรกที่สุดเลย เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆที่ปลิวมาจากที่อื่นและมาตกในพื้นที่นี้ แต่พืชที่จะขึ้นได้เป็นพวกวัชพืช เพราะวัชพืชเป็นพืชที่มีลักษณะงอกง่าย อดทนต่อสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายได้ดี ส่วนเมล็ดพืชอื่นๆแม้จะตกลงมาเช่นกันแต่จะงอกและขึ้นไม่ได้เพราะสภาพพื้นดินไม่อำนวย เรื่องนี้ก็ตรงกับเรื่องกฎการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ (Law of Natural Selection) ยังจำได้ไหม ดังนั้น ในปีแรก พืชที่ธรรมชาติคัดเลือกให้เจริญในพื้นที่ได้ก็คือพวกวัชพืชคลุมดิน

“เมื่อมีวัชพืชคลุมดินแล้ว ดินก็เริ่มรักษาความชื้นเอาไว้ได้บ้าง พวกไม้ล้มลุกอายุสั้นหรือที่เรียกว่าพืชฤดูเดียวที่งอกง่ายจะเจริญขึ้นตามมา ดังนั้นในปีที่ 2 เราจึงเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเติบโตอยู่ในพื้นที่

“แม้ว่าไม้ล้มลุกงอกง่าย แต่วงจรชีวิตก็สั้น เพียงปีเดียวก็ตาย และเมื่อตายซากก็ทับถมอยู่บนผิวดินนั่นเอง ทำให้ดินอุดมขึ้นและเก็บความชื้นได้ดียิ่งขึ้น พอปีที่ 3 เราก็จะเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเพิ่มมากขึ้น มีไม้พุ่มตามมา และผ่านไปอีกหลายปี เมื่อดินสะสมความอุดมมากขึ้นอีก พวกไม้ยืนต้นที่เป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น สน ยูคาลิปตัส ก็จะขึ้นได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 3-25 เราจะค่อยๆเห็นไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน งอกตามมาเป็นลำดับ

“หลังจากปีที่ 25 ไม้เนื้ออ่อนจะเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นเผ่าพันธุ์เด่นในพื้นที่นั้น พวกไม้ล้มลุกและไม้พุ่มจะลดน้อยลง เนื่องจากไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนมีลักษณะยืนต้นและทรงใหญ่ บดบังแสงแดดไม่ให้ส่องลงพื้นดิน ไม้เล็กจึงอยู่ไม่ได้และล้มตายลง

“เมื่อไม้เล็กล้มตายลงทับถมบนดิน ดินก็ยิ่งอุดม ดังนั้น หลังจากที่มีไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนแล้ว ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งก็จะเริ่มงอกและเจริญเติบโตได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 25-100 เราก็จะเห็นไม้ยืนต้นพวกไม้เนื้ออ่อนเป็นพืชเด่น และมีไม้เนื้อแข็งขึ้นแซม เช่น ต้นต้นโอ๊คอันเป็นไม้เนื้อแข็งในเขตอบอุ่น หรือไม้เนื้อแข็งแบบป่าเมืองร้อนก็เช่น มะฮอกกานี เต็ง ตะเคียน ฯลฯ

ช่วงปีที่ 100-200 ไป ไม้เนื้อแข็งก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ป่าจะเริ่มทึบมากขึ้น จนไม้เนื้อแข็งกลายเป็นพืชเด่น และหลังจากนั้น คือปีที่ 200 เป็นต้นไป พื้นที่นี้ก็จะมีลักษณะป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์มาก

“โอ้โฮ จากพื้นดินโล่งและแล้ง กว่าจะกลายเป็นป่าได้ก็ตั้งสองร้อยปีขึ้นไปเชียว” ฮิปโปอุทาน

“ใช่แล้วแม่ฮิปโป” ลุงแมวน้ำตอบพร้อมกับถอนหายใจ “ป่าอันอุดมสมบูรณ์นั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ใช้เวลานับร้อยปี หรือหลายชั่วคนทีเดียว แต่การตัดไม้ทำลายป่านั้นใช้เวลาเดี๋ยวเดียว ป่าที่ถูกตัดหรือป่าที่ถูกไฟไหม้ก็ทำนองเดียวกัน คือกว่าที่จะกลับมาเป็นป่าดังเดิมต้องรออีกหลายร้อยปี”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วจึงพูดต่อ

“เรามาคุยเรื่องสมดุลแบบพลวัตรกันต่อ ตัวอย่างการเกิดป่านี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงสมดุลแบบพลวัตรได้ดียิ่งขึ้น นั่นคือ ความสมดุลบนความไม่สมดุล หมายถึงว่าสมดุลที่เกิดขึ้นคงอยู่ได้เพียงช่วงเวลาเดียว หลังจากนั้นสมดุลนั้นก็จะเสียไป และธรรมชาติก็จะค่อยๆปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่

และนอกจากนี้พรรณไม้ที่ขึ้นในแต่ละช่วงของการเกิดป่าล้วนแต่เป็นไปตามกฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทั้งสิ้น เมื่อสมดุลเดิมเสียไปและธรรมชาติปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ พืชพรรณที่เหมาะสมที่จะอยู่รอดก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้น กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทำงานร่วมกับสมดุลแบบพลวัตรเสมอ

“ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ไม้ล้มลุกคลุมดินนั่นไง ผิวดินมีแต่ไม้ล้มลุก นั่นแหละคือสมดุลของธรรมชาติ ณ ขณะนั้น แต่เมื่อไม้ล้มลุกอายุสั้นตายไป สมดุลก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง เพราะว่าดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น วันหนึ่งไม้เนื้ออ่อนก็งอกได้ สมดุลก็เปลี่ยนไปอีกนิดหนึ่ง และเมื่อไม้เนื้ออ่อนงอกได้มากขึ้น สมดุลค่อยๆเปลี่ยนทีละหน่อยไปเรื่อยๆจนในที่สุดกลายเป็นป่าไม้เนื้ออ่อน แต่ว่าป่านี้ก็ไม่ใช่จุดสมดุลที่ถาวร เพราะนานวันสมดุลก็เสียไปอีก และกลายเป็นป่าทึบ

“และป่าทึบนี้เหมือนกับจะเป็นสมดุลที่ถึงที่สุดแล้ว คือนี่แหละคงตัวแล้ว เหมือนกับต้นไม้ในขวดโหลปิดฝา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอก สมดุลแบบพลวัตรไม่มีวันสิ้นสุด มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย นั่นคือ ในที่สุดเมื่อป่าทึบมากก็สะสมซากกิ่งไม้ไว้มาก พวกนี้เป็นเชื้อเพลงอย่างดีเลย สักวันหนึ่งก็อาจเกิดไฟไหม้ป่าได้อีก แล้วทุกอย่างก็กลับไปตั้งต้นใหม่”




“สมดุลแบบพลวัตรไม่มีอะไรคงตัว และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นกฎของวัฏจักร ชิมิ ชิมิ” ลุงพูดอย่างถึงบางอ้อ

“แม่นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าวัฏจักรก็คือวงจรของสมดุลแบบพลวัตรนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “เห็นไหมว่าคุยกันไปคุยกันมา ก็วกกลับมาที่เรื่องเดิม คือวัฏจักร ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าการขี่จักรยานล้อเดียว หมาจิ้งจอกกับกระต่าย ป่าไม้ หรือแม้แต่การโคจรของดวงจันทร์ หรือระบบสุริยะ ล้วนแต่เป็นสมดุลแบบพลวัตร และก็อยู่ในกฎของวัฏจักรหรือกฎอนิจจังทั้งสิ้น”





“เดี๋ยวก่อนนะจ๊ะลุง ฉันขอขัดคอหน่อยเถอะ” ยีราฟพูดอย่างอดรนทนไม่ได้ “นี่ลุงจะคุยเรื่องธรรมะหรือคุยเรื่องหุ้นกันแน่ ฉันฟังเรื่องป่าของลุงแล้วยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับหุ้นหรือการลงทุนตรงไหนเลย ลุงพาออกป่าไปไกลเชียว”

“เออ นั่นสินะ” สมาชิกทุกตัวเห็นด้วย “ลุงแมวน้ำพาเดินออกป่าไปไกลเลย คงหลงป่าแล้วมั้ง”

“ลุงไม่ได้พาหลงป่า ก็อยู่แถวๆนี้แหละ ที่ลุงเล่ามานั้นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งนั้น” ลุงแมวน้ำพูด “ใจเย็นๆ ค่อยๆฟังลุงเล่า อย่ารีบ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นแนวคิด ดังนั้นต้องฟังแล้วค่อยๆคิด ค่อยๆทำความเข้าใจ อย่าใจร้อน


สมดุลแบบพลวัตรและทฤษฎีดาว


“พวกเราที่ศึกษาทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาบ้างคงรู้จักทฤษฎีดาว (Dow Theory) กัน โดยเฉพาะข้อหนึ่งที่บอกว่า price discounts all news หรือ ราคารับรู้ข่าวสารไว้แล้วทั้งหมด แปลความหมายได้ว่าราคาหุ้นคือผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดจากข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในตลาด

“ที่ลุงยกตัวอย่างสมดุลแบบพลวัตรด้วยตัวอย่างหมาจิ้งจอกกับกระต่ายนั้น ตัวอย่างนั้นมีตัวละครเพียงสองตัว คือหมาจิ้งจอกกับกระต่าย เวลาเราทำความเข้าใจก็จะง่าย เพราะสมดุลของหมาจิ้งจอกกับกระต่ายสัมพันธ์กัน หมาจิ้งจอกมากกระต่ายก็น้อย หมาจิ้งจอกน้อยกระต่ายก็มาก แล้วก็เขียนออกมาเป็นกราฟ 2 เส้น

“แต่ในกรณีของการเกิดป่า เราจะเห็นว่ามีปัจจัยมาเกี่ยวข้องมากมาย วัชพืช ไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้ลุ้มลุกพุ่ม ไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็ง ไม้แต่ละกลุ่มก็ประกอบด้วยหลายชนิดไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ แมลง และสัตว์อื่นๆเข้ามาอาศัยในป่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีผลต่อกันและกัน ซึ่งหากเขียนวัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตในป่าเป็นรายชนิด คงได้เส้นกราฟเป็นแสนๆเส้นทีเดียว

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของป่าหรืออาจพูดว่าสนใจดูดุลยภาพแบบพลวัตรของป่าในแบบองค์รวม เราก็ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตเป็นรายชนิด เราก็ดูเพียงแต่วัฏจักรของระบบนิเวศป่าเท่านั้น ซึ่งสามารถแทนได้ด้วยกราฟเพียงเส้นเดียว เพราะดุลยภาพของป่านั้นคือดุลยภาพของทุกสรรพสิ่งและสรรพชีวิตที่อยู่ในป่ามารวมกัน

“และทฤษฎีดาวที่ว่า price discounts all news นั้นก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องดุลยภาพแบบพลวัตรแบบองค์รวมนั่นเอง โดยราคาหุ้นนั้นเป็นผลมาจากข้อมูลข่าวทุกอย่างที่นักลงทุนรับรู้ ผ่านกระบวนการด้านอารมณ์ของนักลงทุน และออกมาเป็นแรงซื้อและแรงขายที่สู้กันและเข้าสู่ดุลยภาพในที่สุด แต่ดุลยภาพนั้นไม่คงตัว เพราะข้อมูลข่าวสารเปลี่ยน อารมณ์นักลงทุนเปลี่ยน ราคาก็เปลี่ยน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของราคาจึงเป็นสมดุลแบบพลวัตร คือสมดุลได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วสมดุลนั้นก็เคลื่อนตัวไป

“และการเคลื่อนตัวของสมดุลแบบพลวัตรนั้นเองที่ทำให้เกิดแนวโน้ม (trend) นี่ก็เป็นทฤษฎีดาวอีกเช่นกัน”

“อือม์ จริงด้วย” ลิงพยักหน้าแบบเข้าใจ ส่วนยีราฟยังทำหน้างุนงง

“ลุงอยากขอเสริมในประเด็น price discounts all news ในทฤษฎีดาวอีกสักหน่อย เราต้องเข้าใจให้กระจ่างว่าราคาหุ้นไม่ใด้เป็นดุลยภาพแบบพลวัตรของข้อมูลข่าวสารทุกอย่างในโลก เป็นแต่เพียงดุลยภาพของจิตวิทยานักลงทุนที่ตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารที่ตนรับรู้เท่านั้น

“ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A มีนักลงทุนเทรดกันเพียง 3 คน การเคลื่อนไหวของราคาเป็นผลมาจากจิตวิทยาของนักลงทุนทั้งสามคนนี้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ใช่ข่าวสารของทั้งโลกที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ แต่เป็นข้อมูลข่าวสารเท่าที่ทั้งสามคนรับรู้มาเท่านั้น

“ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง หุ้น google ที่นักลงทุนเทรดกันทั่วโลก สมมติว่ามีนักลงทุนเทรดกันสักหนึ่งล้านคน ราคาของหุ้น google ก็เป็นดุลยภาพของปัจจัยทางจิตวิทยาจากข้อมูลข่าวสารที่นักลงทุนทั่วโลกหนึ่งล้านคนนั้นรับรู้มา

“ดังนั้น ประโยคที่ว่า price discounts all news นั้น หากเป็นหุ้น A  คำว่า all news ก็คงหมายถึงข่าวสารเพียงไม่กี่ชิ้น เพราะเทรดกันเพียง 3 คน คนเพียง 3 คนจะไปรับรู้ข่าวอะไรได้มากมาย แต่หากเป็นหุ้น google คำว่า all news จะหมายถึงข้อมูลข่าวสารนับล้านชิ้นจากนักลงทุนล้านคนทั่วโลก สรุปว่า all news ไม่ใช่หมายถึงข้อมูลทั้งหมดจริงๆ แต่หมายถึงข้อมูลเท่าที่นักลงทุนที่เกี่ยวข้องรับรู้เท่านั้นเอง

“สุดท้ายนี้ ลุงแมวน้ำขอสรุปว่า สมดุลแบบพลวัตรอันเป็นกฎธรรมชาตินั้นสามารถนำมาประยุกต์กับการลงทุนได้ โดยยกตัวอย่างทฤษฎีดาวมาให้ดู ว่าสมดุลแบบพลวัตรนั้นทำให้เกิดวัฏจักรราคา และทำให้เกิดแนวโน้มได้อย่างไร และด้วยการต่อยอดหลักของสมดุลแบบพลวัตรนี้ ยังทำให้เรานำไปประยุกต์กับการกำหนดจุดซื้อขายได้อีกด้วย”

“หา ใช้กำหนดจุดซื้อขายได้จริงเหรอฮะลุง ทำได้ไงเนี่ย” กระต่ายน้อยสนใจ

“ยังไม่บอก ขอลุงพักก่อนนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ขอกั๊กหน่อย”

Thursday, March 12, 2015

กนง ลดอัตราดอกเบี้ย, การลงทุนต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน


เมื่อวาน กนง ลดอัตราดอกเบี้ยลงหนึ่งสลึง เหลือเป็น 1.75% ต่อปี นี่เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นการส่งสัญญาณนโยบายทางการเงินของ ธปท ส่วนธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยตามหรือไม่ เมื่อไร และอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร บางทีธนาคารเฉยอยู่หลายเดือนค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยตามก็เคยเกิดมาแล้ว ตลาดหุ้นก็เด้งรับข่าวทันที แม้จะยังไม่เห็นผลในเชิงเศรษฐกิจจริงแต่ว่าผลในเชิงจิตวิทยานั้นเกิดขึ้นทันที กำลังใจในตลาดหุ้นมาโดยพลัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาฯและลีสซิง ^_^

สำหรับรอบนี้ ธนาคาร SCB นำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตอบสนอง ธปท ทันทีเลย ลดแต่ด้านเงินกู้ด้วย เงินฝากยังไม่ลด ธนาคารอื่นๆน่าจะทยอยลดตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องติดตามเรื่องหนี้ครัวเรือนกันต่อไป

แวะมาพูดเรื่องการลงทุนในต่างประเทศกันบ้าง ขอโกอินเตอร์สลับฉากบ้าง ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่ายูโรอ่อน เยอรมนีได้อานิสงส์ เมื่อคืนตลาดหุ้นเยอรมนีขึ้นแรง ดัชนีแดกซ์ (DAX) ขึ้นประมาณ 300 จุด หรือ +2.7%

การลงทุนในต่างประเทศนั้นปัจจุบันไม่ง่าย เพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นบางทีไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะลงทุนกับกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย หรือไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนในต่างประเทศ ต้องพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี ต้องคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนคล่องนิดหนึ่ง ไม่อย่างนั้นขาดทุน

ลุงแมวน้ำจะยกตัวอย่างให้ดู วันนี้มีภาพ 2 ภาพ เป็นการลงทุนในตลาดเยอรมนีและตลาดญี่ปุ่น




ภาพแรก เป็นการลงทุนในดัชนีแดกซ์ของตลาดหุ้นเยอรมนี การตีความภาพนี้ให้เข้าใจง่ายก็คือ ดูเส้นสีแดงคือผลตอบแทนของดัชนีในรอบ 1 ปีที่ลงทุนเป็นเงินยูโร เป็นผลตอบแทน +27.5% ทีเดียว

แต่นั่นคือภาพลวงตา เพราะหากเรากำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุนในดัชนีแดกซ์ ผลตอบแทนในรอบ 1 ปีที่เราได้จริงคือ -3.27% คือขาดทุน เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (ดูเส้นสีเหลือง เส้น EWG)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +17.6% (ดูเส้นสีส้ม HEWG)




เอาละ ทีนี้มาดูกันอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในรอบ 1 ปี ดัชนีนิกเกอิที่ลงทุนเป็นเงินเยนปรับตัวขึ้น +26%

แต่ถ้าหากกำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุน ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 8.2% เพราะผลจากเงินเยนอ่อนค่า (ดูเส้นสีเหลือง EWJ)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +27.4% (ดูเส้นสีส้ม HEWJ) เหตุที่ผลตอบแทนมากกว่าดัชนีนิกเกอิเนื่องจากกราฟเส้นนี้อิงดัชนี MSCI Japan ไม่ได้อิงดัชนีนิกเกอิจริงๆ แต่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูเป็นเชิงเปรียบเทียบผลระหว่างการป้องกันความเสี่ยงกับไม่ป้องกันความเสี่ยงมากกว่า

สองภาพนี้ลุงแมวน้ำเปรียบเทียบผลจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในเงินสกุลที่อ่อนค่ามาก และที่เล่ามานี้เป็นด้านเงินดอลลาร์ สรอ หากเราลงทุนเป็นเงินบาท ต้องแปลงเงินบาทเป็นดอลลาร์ ต้องคิดผลจากอตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ สรอ อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นการลงทุนต้องคิดถึงอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ขา ไม่ใช่เพียงขาเดียว

สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนกับกองทุนรวมในไทย การลงทุนกับกองทุนรวมที่เป็นกองทุนรวมลงทุนต่างประเทศ (FIF) นั้น นักลงทุนควรตรวจสอบเรื่องการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้ละเอียด ว่าป้องกันความเสี่ยงกี่ขา ป้องกันมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีกองทุนจำนวนไม่น้อยที่ระบุในเอกสารว่า "ป้องกันความสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจ" ข้อความทำนองนี้ก็ไม่รู้ว่าดุลพินิจคือเท่าไรกันแน่ ดังนั้นต้องสอบถามและดูกราฟผลตอบแทนให้ละเอียด และกราฟ perfomance หรือผลตอบแทนกองทุนนั้นต้องเป็นกราฟ nav ที่เป็นเงินบาทด้วย บางทีเราดูแต่กราฟผลตอบแทนที่เป็นสกุลดอลลาร์ ก็อาจพลาดได้

กองทุนรวมที่ไม่ใช่กองทุนรวมอิงดัชนี แต่ลงทุนเป็นธีม ยกตัวอย่างเช่นกองทุนรวมเฮลท์แคร์ หรือกองทุนรวมสุขภาพที่ตอนนี้กำลังฮิต ก็ไปลงทุนต่างประเทศ ปัจจัยเรื่องค่าเงินจึงมีผลด้วย ก็ต้องระมัดระวัง

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนเอง เช่น ซื้อหุ้น อีทีเอฟ หรือซื้อฟิวเจอร์ส ออปชัน ในตลาดต่างประเทศเอง สมัยนี้ก็ไม่ง่าย ต้องคำนวณและป้องกันความเสี่ยงทั้งสองขาเอาเอง การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนรายย่อยนั้นไปทำฟอร์เวิร์ดไม่ไหวหรอก น่าจะเป็นการซื้อฟิวเจอร์สค่าเงินเข้าช่วยจะคล่องตัวกว่า อันนี้คุยให้ัฟังคร่าวๆ ยังไม่ลงรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น หากไปลงทุนในดัชนีนิกเกอิในตลาดญี่ปุ่นที่ใช้เงินเยน ก็ต้องไปซื้อฟิวเจอร์สนิกเกอิ (เยน) และซื้อฟิวเจอร์สดอลลาร์-เยน อีก แต่ฟิวเจอร์สบาท-ดอลลาร์อาจไม่ต้อง เพราะบาทดอลลาร์ตลอดปีมานี้ค่อนข้างเสถียร ไม่ต้องก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

การลงทุนในประเทศที่หาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ (คืออาจมีแต่ยุ่งยากจนใช้ไม่ได้) ต้องระมัดระวังให้มากนะคร้าบ