Thursday, March 12, 2015

กนง ลดอัตราดอกเบี้ย, การลงทุนต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน


เมื่อวาน กนง ลดอัตราดอกเบี้ยลงหนึ่งสลึง เหลือเป็น 1.75% ต่อปี นี่เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นการส่งสัญญาณนโยบายทางการเงินของ ธปท ส่วนธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยตามหรือไม่ เมื่อไร และอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร บางทีธนาคารเฉยอยู่หลายเดือนค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยตามก็เคยเกิดมาแล้ว ตลาดหุ้นก็เด้งรับข่าวทันที แม้จะยังไม่เห็นผลในเชิงเศรษฐกิจจริงแต่ว่าผลในเชิงจิตวิทยานั้นเกิดขึ้นทันที กำลังใจในตลาดหุ้นมาโดยพลัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาฯและลีสซิง ^_^

สำหรับรอบนี้ ธนาคาร SCB นำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตอบสนอง ธปท ทันทีเลย ลดแต่ด้านเงินกู้ด้วย เงินฝากยังไม่ลด ธนาคารอื่นๆน่าจะทยอยลดตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องติดตามเรื่องหนี้ครัวเรือนกันต่อไป

แวะมาพูดเรื่องการลงทุนในต่างประเทศกันบ้าง ขอโกอินเตอร์สลับฉากบ้าง ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่ายูโรอ่อน เยอรมนีได้อานิสงส์ เมื่อคืนตลาดหุ้นเยอรมนีขึ้นแรง ดัชนีแดกซ์ (DAX) ขึ้นประมาณ 300 จุด หรือ +2.7%

การลงทุนในต่างประเทศนั้นปัจจุบันไม่ง่าย เพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นบางทีไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะลงทุนกับกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย หรือไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนในต่างประเทศ ต้องพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี ต้องคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนคล่องนิดหนึ่ง ไม่อย่างนั้นขาดทุน

ลุงแมวน้ำจะยกตัวอย่างให้ดู วันนี้มีภาพ 2 ภาพ เป็นการลงทุนในตลาดเยอรมนีและตลาดญี่ปุ่น




ภาพแรก เป็นการลงทุนในดัชนีแดกซ์ของตลาดหุ้นเยอรมนี การตีความภาพนี้ให้เข้าใจง่ายก็คือ ดูเส้นสีแดงคือผลตอบแทนของดัชนีในรอบ 1 ปีที่ลงทุนเป็นเงินยูโร เป็นผลตอบแทน +27.5% ทีเดียว

แต่นั่นคือภาพลวงตา เพราะหากเรากำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุนในดัชนีแดกซ์ ผลตอบแทนในรอบ 1 ปีที่เราได้จริงคือ -3.27% คือขาดทุน เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (ดูเส้นสีเหลือง เส้น EWG)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +17.6% (ดูเส้นสีส้ม HEWG)




เอาละ ทีนี้มาดูกันอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในรอบ 1 ปี ดัชนีนิกเกอิที่ลงทุนเป็นเงินเยนปรับตัวขึ้น +26%

แต่ถ้าหากกำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุน ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 8.2% เพราะผลจากเงินเยนอ่อนค่า (ดูเส้นสีเหลือง EWJ)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +27.4% (ดูเส้นสีส้ม HEWJ) เหตุที่ผลตอบแทนมากกว่าดัชนีนิกเกอิเนื่องจากกราฟเส้นนี้อิงดัชนี MSCI Japan ไม่ได้อิงดัชนีนิกเกอิจริงๆ แต่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูเป็นเชิงเปรียบเทียบผลระหว่างการป้องกันความเสี่ยงกับไม่ป้องกันความเสี่ยงมากกว่า

สองภาพนี้ลุงแมวน้ำเปรียบเทียบผลจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในเงินสกุลที่อ่อนค่ามาก และที่เล่ามานี้เป็นด้านเงินดอลลาร์ สรอ หากเราลงทุนเป็นเงินบาท ต้องแปลงเงินบาทเป็นดอลลาร์ ต้องคิดผลจากอตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ สรอ อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นการลงทุนต้องคิดถึงอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ขา ไม่ใช่เพียงขาเดียว

สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนกับกองทุนรวมในไทย การลงทุนกับกองทุนรวมที่เป็นกองทุนรวมลงทุนต่างประเทศ (FIF) นั้น นักลงทุนควรตรวจสอบเรื่องการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้ละเอียด ว่าป้องกันความเสี่ยงกี่ขา ป้องกันมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีกองทุนจำนวนไม่น้อยที่ระบุในเอกสารว่า "ป้องกันความสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจ" ข้อความทำนองนี้ก็ไม่รู้ว่าดุลพินิจคือเท่าไรกันแน่ ดังนั้นต้องสอบถามและดูกราฟผลตอบแทนให้ละเอียด และกราฟ perfomance หรือผลตอบแทนกองทุนนั้นต้องเป็นกราฟ nav ที่เป็นเงินบาทด้วย บางทีเราดูแต่กราฟผลตอบแทนที่เป็นสกุลดอลลาร์ ก็อาจพลาดได้

กองทุนรวมที่ไม่ใช่กองทุนรวมอิงดัชนี แต่ลงทุนเป็นธีม ยกตัวอย่างเช่นกองทุนรวมเฮลท์แคร์ หรือกองทุนรวมสุขภาพที่ตอนนี้กำลังฮิต ก็ไปลงทุนต่างประเทศ ปัจจัยเรื่องค่าเงินจึงมีผลด้วย ก็ต้องระมัดระวัง

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนเอง เช่น ซื้อหุ้น อีทีเอฟ หรือซื้อฟิวเจอร์ส ออปชัน ในตลาดต่างประเทศเอง สมัยนี้ก็ไม่ง่าย ต้องคำนวณและป้องกันความเสี่ยงทั้งสองขาเอาเอง การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนรายย่อยนั้นไปทำฟอร์เวิร์ดไม่ไหวหรอก น่าจะเป็นการซื้อฟิวเจอร์สค่าเงินเข้าช่วยจะคล่องตัวกว่า อันนี้คุยให้ัฟังคร่าวๆ ยังไม่ลงรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น หากไปลงทุนในดัชนีนิกเกอิในตลาดญี่ปุ่นที่ใช้เงินเยน ก็ต้องไปซื้อฟิวเจอร์สนิกเกอิ (เยน) และซื้อฟิวเจอร์สดอลลาร์-เยน อีก แต่ฟิวเจอร์สบาท-ดอลลาร์อาจไม่ต้อง เพราะบาทดอลลาร์ตลอดปีมานี้ค่อนข้างเสถียร ไม่ต้องก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

การลงทุนในประเทศที่หาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ (คืออาจมีแต่ยุ่งยากจนใช้ไม่ได้) ต้องระมัดระวังให้มากนะคร้าบ

Wednesday, March 11, 2015

ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ราคาทองคำ และตลาดหุ้น จะไปถึงไหน






ช่วงนี้ลุงแมวน้ำเขียนบทความถี่หน่อย เพราะต้องการอัปเดตสถานการณ์แก่เพื่อนนักลงทุน แต่ละบทความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ควรอ่านบทความก่อนหน้านี้ประกอบด้วย ^_^

คำว่าจะไปถึงไหนนี้มีความหมายได้หลายอย่าง หมายถึงว่าจะขึ้นไปถึงไหน หรืออาจหมายถึงว่าจะลงไปถึงไหนก็ได้

เมื่อคืน (เวลาบ้านเรา) ตลาดหุ้นอเมริกาก็ปรับตัวลงค่อนข้างแรง ดัชนี S&P 500 ร่วง -1.7% สาเหตุก็มาจากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งนั่นเอง ที่เงินดอลลาร์แข็งก็เพราะเงินยูโรอ่อนค่าอย่างแรงเพราะโครงการคิวอีของยูโรโซนเริ่มทำงานแล้ว ตอนนี้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกแล้ว ทั้งเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งเรื่องเงินดอลลาร์แข็งค่า

ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าตลาดหุ้นอเมริกาชี้นำทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก อเมริกาจาม ตลาดอื่นก็คัดจมูกไปด้วย เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาลงค่อนข้างแรง แม้แต่ตลาดหุ้นเยอรมนีที่ได้รับผลดีจากเงินยูโรอ่อนค่าก็ไม่วายร่วงไปด้วย ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีร่วงแต่ไม่มาก แค่ -0.7%

เงินยูโรจะอ่อนไปเพียงใด เงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งไปแค่ไหน และตลาดหุ้นจะปรับตัวลงมาเพียงใด เรื่องพวกนี้ตอบยากเพราะผลกระทบซึ่งกันและกันซับซ้อน อีกทั้งเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาด้วย คือเป็นอารมณ์ตลาด โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินนั้นประเมินยากเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นสามารถถูกแทรกแซงได้ เพราะแต่ละประเทศก็ต้องบริหารจัดการค่าเงินของตนเอง ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ช่วยไม่ได้มากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ การประเมินจึงค่อนข้างยากและมีโอกาสผิดพลาดสูง และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ราคาทองคำก็ประเมินยากเช่นกันเพราะทองคำก็ถือเป็นเงินตราสกุลหนึ่งด้วย (ทองคำมีหลายสถานะ ทั้งสินค้าเก็งกำไร สกุลเงิน สินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ ฯลฯ แล้วแต่มุมมอง)

ลุงแมวน้ำก็พยายามประเมินสถานการณ์ระยะสั้นมาให้พวกเราพิจารณากัน ก็ใช้มุมมองทางเทคนิคเป็นหลักก็แล้วกัน ดังที่บอกว่าปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ประเมินยากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ ลุงจึงเลือกใช้การประเมินด้วยฟิโบนาชชีเป็นหลัก เนื่องจากฟิโบนาชชีเป็นกฎธรรมชาติ ลุงแมวน้ำคิดว่าสรรพสิ่งย่อมยากหลีกหนีกฎธรรมชาติ ดังนั้นใช้ฟิโบนาชชีนี่แหละ น่าจะเป็นเครื่อมือในการประเมินที่ดีที่สุด


วิเคราะห์เงินยูโร


เราจะเริ่มจากอะไรดีล่ะ ต้องคิดทีละเปลาะก่อน ปัญหาไม่ได้มาจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ แต่ต้นตอมาจากเงินยูโรกับเยน เพราะสองสกุลนี้กำลังทำคิวอีอยู่ ดังนั้นเราลองมาดูค่าเงินยูโรกัน ดังกราฟต่อไปนี้


เงินยูโรอ่อนค่าหนักเพราะมาตรการคิวอีของธนาคารกลางยุโรป แนวรับสำคัญคือ 1.12 และ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ

จะเห็นว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของยูโรคือ 1.12 กับ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ขณะนี้ยูโรอยู่ที่ 1.07 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ถือว่ายังอยู่ในแนวรับสำคัญคือ 1.12 อยู่ เพราะนี่เป็นการวัดระดับคลื่นใหญ่ ไม่ต้องเป๊ะมาก ต้องเผื่อช่วงคลาดเคลื่อนไว้พอสมควร

ดังนั้นเป็นไปได้ว่า หากมีสถานการณ์อะไรที่สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน เงินยูโรก็อาจหยุดไหลลงเพียงแค่นี้ แต่หากหยุดไม่อยู่ก็ไปพบกันที่แนวถัดไป 1.00 ยูโร

เงินเยนมีน้ำหนักต่อดอลลาร์ สรอ น้อยกว่ายูโร ดูแต่ยูโรก็ได้ ลุงแมวน้ำขอข้ามเงินเยนไปละกัน ไปดูที่ดอลลาร์ สรอ กันเลย


วิเคราะห์เงินดอลลาร์อเมริกา (ดอลลาร์ สรอ)


ดูกราฟ USD index หรือดัชนีดอลลาร์ สรอ จะเห็นว่าแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 97 จุด กับ 104 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านตามระดับฟิโบนาชชี ตอนนี้เงินดอลลาร์ก็ถือว่าอยู่ที่แนวต้าน 97 นี่แหละ อาจหยุดแค่ตรงนี้ก็ได้ หากยูโรหยุดไหล ดอลลาร์ สรอ ก็หยุดพุ่ง รวมทั้งราคาทองคำก็เช่นกัน ก็อาจหยุดร่วงแถวๆนี้


เงินดอลลาร์ สรอ ดูจากดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) มีแนวต้านที่ 97 และ 104 จุดตามลำดับ



มุมมองต่อตลาดหุ้นอเมริกาและตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น


ทีนี้ก็มาตลาดหุ้นอเมริกา ดูดัชนี S&P 500 กัน ภาพต่อไปนี้


ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 2140 จุด

ดังที่ลุงแมวน้ำคุยให้ฟังแล้วว่าหากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งจะเป็นผลเสียต่อตลาดหุ้นอเมริกา และจะลามไปตลาดหุ้นอื่นๆ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลแล้ว

ในทางเทคนิค ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านฟิโบนาชชีที่สำคัญอยู่ นั่นคือ ระดับ 1240 จุด เห็นไหมว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของตลาดหุ้น เงินดอล และยูโร สอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด 

ตลาดหุ้นอเมริกาคงป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ก่อน หากเงินดอลแข็งค่าต่อเนื่อง คราวนี้คงลงยาว เนื่องจากหากผ่านแนวต้านสำคัญไม่ได้จะปรับตัวลงลึก แต่หากเงินดอลอ่อนค่าลง นักลงทุนมีความมั่นใจ คราวนี้ก็ไปพบกันที่ 2400 จุด 



มาดูตลาดหุ้นไทยกันบ้าง ในช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกากำลับทดสอบระดับฟิโบนาชชีนี้อยู่ ตลาดหุ้นไทยคงลงไม่ลึก ไม่น่าหลุด 1450 จุด  อาจลงไม่ถึงก็ได้ แต่หากตลาดอเมริกาไหลลงลึก เอาไว้เกิดแล้วค่อยมาดูกันอีกที >.<

สำหรับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ลุงแมวน้ำไม่ค่อยกังวล สิ่งสำคัญอยู่ที่ขวัญกำลังใจหรือจิตวิทยานักลงทุนมากกว่า และตอนที่เฟดบอกว่าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมันก็นานหลายเดือนมาแล้ว ปัจจัยเรื่องคิวอียุโรปยังส่งผลไม่ชัด ค่าเงินยังไม่แข็งขนาดนี้ ตอนนี้ลุงว่าป้าเจนและเฟดคงทบทวนสถานการณ์กัน เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่เร่งตัว แต่หากเร่งตัวเมื่อไร เฟดก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย

นี่แหละคร้าบ ก็ค่อยประเมินสถานการณ์กันทีละเปลาะ แต่นี่เป็นมมุมมองสถานการณ์ระยะสั้น มองระยะยาวก็ยังคงเดิม รถไฟสาย 2000 ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง