Wednesday, March 11, 2015

ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ราคาทองคำ และตลาดหุ้น จะไปถึงไหน






ช่วงนี้ลุงแมวน้ำเขียนบทความถี่หน่อย เพราะต้องการอัปเดตสถานการณ์แก่เพื่อนนักลงทุน แต่ละบทความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ควรอ่านบทความก่อนหน้านี้ประกอบด้วย ^_^

คำว่าจะไปถึงไหนนี้มีความหมายได้หลายอย่าง หมายถึงว่าจะขึ้นไปถึงไหน หรืออาจหมายถึงว่าจะลงไปถึงไหนก็ได้

เมื่อคืน (เวลาบ้านเรา) ตลาดหุ้นอเมริกาก็ปรับตัวลงค่อนข้างแรง ดัชนี S&P 500 ร่วง -1.7% สาเหตุก็มาจากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งนั่นเอง ที่เงินดอลลาร์แข็งก็เพราะเงินยูโรอ่อนค่าอย่างแรงเพราะโครงการคิวอีของยูโรโซนเริ่มทำงานแล้ว ตอนนี้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกแล้ว ทั้งเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งเรื่องเงินดอลลาร์แข็งค่า

ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าตลาดหุ้นอเมริกาชี้นำทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก อเมริกาจาม ตลาดอื่นก็คัดจมูกไปด้วย เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาลงค่อนข้างแรง แม้แต่ตลาดหุ้นเยอรมนีที่ได้รับผลดีจากเงินยูโรอ่อนค่าก็ไม่วายร่วงไปด้วย ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีร่วงแต่ไม่มาก แค่ -0.7%

เงินยูโรจะอ่อนไปเพียงใด เงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งไปแค่ไหน และตลาดหุ้นจะปรับตัวลงมาเพียงใด เรื่องพวกนี้ตอบยากเพราะผลกระทบซึ่งกันและกันซับซ้อน อีกทั้งเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาด้วย คือเป็นอารมณ์ตลาด โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินนั้นประเมินยากเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นสามารถถูกแทรกแซงได้ เพราะแต่ละประเทศก็ต้องบริหารจัดการค่าเงินของตนเอง ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ช่วยไม่ได้มากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ การประเมินจึงค่อนข้างยากและมีโอกาสผิดพลาดสูง และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ราคาทองคำก็ประเมินยากเช่นกันเพราะทองคำก็ถือเป็นเงินตราสกุลหนึ่งด้วย (ทองคำมีหลายสถานะ ทั้งสินค้าเก็งกำไร สกุลเงิน สินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ ฯลฯ แล้วแต่มุมมอง)

ลุงแมวน้ำก็พยายามประเมินสถานการณ์ระยะสั้นมาให้พวกเราพิจารณากัน ก็ใช้มุมมองทางเทคนิคเป็นหลักก็แล้วกัน ดังที่บอกว่าปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ประเมินยากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ ลุงจึงเลือกใช้การประเมินด้วยฟิโบนาชชีเป็นหลัก เนื่องจากฟิโบนาชชีเป็นกฎธรรมชาติ ลุงแมวน้ำคิดว่าสรรพสิ่งย่อมยากหลีกหนีกฎธรรมชาติ ดังนั้นใช้ฟิโบนาชชีนี่แหละ น่าจะเป็นเครื่อมือในการประเมินที่ดีที่สุด


วิเคราะห์เงินยูโร


เราจะเริ่มจากอะไรดีล่ะ ต้องคิดทีละเปลาะก่อน ปัญหาไม่ได้มาจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ แต่ต้นตอมาจากเงินยูโรกับเยน เพราะสองสกุลนี้กำลังทำคิวอีอยู่ ดังนั้นเราลองมาดูค่าเงินยูโรกัน ดังกราฟต่อไปนี้


เงินยูโรอ่อนค่าหนักเพราะมาตรการคิวอีของธนาคารกลางยุโรป แนวรับสำคัญคือ 1.12 และ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ

จะเห็นว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของยูโรคือ 1.12 กับ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ขณะนี้ยูโรอยู่ที่ 1.07 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ถือว่ายังอยู่ในแนวรับสำคัญคือ 1.12 อยู่ เพราะนี่เป็นการวัดระดับคลื่นใหญ่ ไม่ต้องเป๊ะมาก ต้องเผื่อช่วงคลาดเคลื่อนไว้พอสมควร

ดังนั้นเป็นไปได้ว่า หากมีสถานการณ์อะไรที่สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน เงินยูโรก็อาจหยุดไหลลงเพียงแค่นี้ แต่หากหยุดไม่อยู่ก็ไปพบกันที่แนวถัดไป 1.00 ยูโร

เงินเยนมีน้ำหนักต่อดอลลาร์ สรอ น้อยกว่ายูโร ดูแต่ยูโรก็ได้ ลุงแมวน้ำขอข้ามเงินเยนไปละกัน ไปดูที่ดอลลาร์ สรอ กันเลย


วิเคราะห์เงินดอลลาร์อเมริกา (ดอลลาร์ สรอ)


ดูกราฟ USD index หรือดัชนีดอลลาร์ สรอ จะเห็นว่าแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 97 จุด กับ 104 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านตามระดับฟิโบนาชชี ตอนนี้เงินดอลลาร์ก็ถือว่าอยู่ที่แนวต้าน 97 นี่แหละ อาจหยุดแค่ตรงนี้ก็ได้ หากยูโรหยุดไหล ดอลลาร์ สรอ ก็หยุดพุ่ง รวมทั้งราคาทองคำก็เช่นกัน ก็อาจหยุดร่วงแถวๆนี้


เงินดอลลาร์ สรอ ดูจากดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) มีแนวต้านที่ 97 และ 104 จุดตามลำดับ



มุมมองต่อตลาดหุ้นอเมริกาและตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น


ทีนี้ก็มาตลาดหุ้นอเมริกา ดูดัชนี S&P 500 กัน ภาพต่อไปนี้


ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 2140 จุด

ดังที่ลุงแมวน้ำคุยให้ฟังแล้วว่าหากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งจะเป็นผลเสียต่อตลาดหุ้นอเมริกา และจะลามไปตลาดหุ้นอื่นๆ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลแล้ว

ในทางเทคนิค ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านฟิโบนาชชีที่สำคัญอยู่ นั่นคือ ระดับ 1240 จุด เห็นไหมว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของตลาดหุ้น เงินดอล และยูโร สอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด 

ตลาดหุ้นอเมริกาคงป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ก่อน หากเงินดอลแข็งค่าต่อเนื่อง คราวนี้คงลงยาว เนื่องจากหากผ่านแนวต้านสำคัญไม่ได้จะปรับตัวลงลึก แต่หากเงินดอลอ่อนค่าลง นักลงทุนมีความมั่นใจ คราวนี้ก็ไปพบกันที่ 2400 จุด 



มาดูตลาดหุ้นไทยกันบ้าง ในช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกากำลับทดสอบระดับฟิโบนาชชีนี้อยู่ ตลาดหุ้นไทยคงลงไม่ลึก ไม่น่าหลุด 1450 จุด  อาจลงไม่ถึงก็ได้ แต่หากตลาดอเมริกาไหลลงลึก เอาไว้เกิดแล้วค่อยมาดูกันอีกที >.<

สำหรับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ลุงแมวน้ำไม่ค่อยกังวล สิ่งสำคัญอยู่ที่ขวัญกำลังใจหรือจิตวิทยานักลงทุนมากกว่า และตอนที่เฟดบอกว่าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมันก็นานหลายเดือนมาแล้ว ปัจจัยเรื่องคิวอียุโรปยังส่งผลไม่ชัด ค่าเงินยังไม่แข็งขนาดนี้ ตอนนี้ลุงว่าป้าเจนและเฟดคงทบทวนสถานการณ์กัน เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่เร่งตัว แต่หากเร่งตัวเมื่อไร เฟดก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย

นี่แหละคร้าบ ก็ค่อยประเมินสถานการณ์กันทีละเปลาะ แต่นี่เป็นมมุมมองสถานการณ์ระยะสั้น มองระยะยาวก็ยังคงเดิม รถไฟสาย 2000 ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

Tuesday, March 10, 2015

ดอลลาร์อเมริกันแข็งค่า เมื่อป้าเจน (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


กราฟดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) แสดงค่าเงินดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าเงินดอลลาร์ สรอ ในช่วงนี้แข็งค่าผิดปกติ แข็งค่ากว่าตอนก่อนใช้คิวอีเสียอีก


เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเลขการจ้างงานออกมาดี ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกเช่นเคย เกรงว่าป้าเจนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในเร็วๆนี้อีก


เศรษฐกิจอเมริกาดี นักลงทุนกลับแตกตื่นเฟด


ป้าเจนแสดงท่าทีออกมาแล้วว่าภายในครึ่งปีแรกนี้ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ แต่หลังจากนั้นไปแล้วก็ต้องขึ้นกับข้อมูลตัวเลขต่างๆ ซึ่งลุงแมวน้ำคิดว่าแม้แต่เฟดเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไรกันแน่ เนื่องจากต้องใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆตัวชี้วัดมาตัดสินใจ ดังนั้นจึงบอกได้แต่แนวทาง แต่ระบุเงื่อนเวลาไม่ได้ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจก็ไม่นิ่ง เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี อย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็ต้องดูกันไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ

แต่จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในตอนนี้ เป็นภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ก็กะเก็งกันว่าเฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2015 นี้แหละ ซึ่งคราวนี้ดูท่าทางนักลงทุนจะมั่นใจมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ สรอ จึงได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาสักพักหนึ่งแล้ว

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือว่า QE ที่ทำมาตั้งแต่สมัยลุงเบนนั้นคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เงินที่อัดฉีดนั้นมาจากไหนกันล่ะ หากเป็นประเทศอื่นก็ยาก เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินกันวุ่นวายเพื่อเอาเงินมาอัดฉีด แบบกรีซตอนนี้ไง ต้องกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรปมาใช้ ซึ่งเจ้าหนี้ก็ใช่ว่าจะให้กู้ง่ายๆ ต้องมีเงื่อนไขโน่นนี่นั่น วุ่นวายไปหมด

การหาเงินมาอัดฉีดสำหรับอเมริกานั้นก็เล่นไม่ยาก ขาใหญ่เสียอย่าง ไม่ต้องไปกู้ใคร ซึ่งเราเรียกกันเล่นๆว่าพิมพ์เงินเพิ่มนั่นเอง  เพราะว่าเป็นเงินที่ไม่มีอะไรมารองรับ มีแต่เครดิตของความเป็นขาใหญ่เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจขออเมริกาฟื้นจากไข้ ธนาคารกลางก็จำเป็นต้องเก็บเงินดอลลาร์ สรอ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจออกไปจากระบบ เพราะหากไม่เก็บคืนมันก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง และการที่เงินตรามีมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจก็จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจเองในที่สุด ดังนั้นจำเป็นต้องเก็บเงินกลับออกไป โดยกระบวนการเก็บเงินกลับนี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นักลงทุนทั่วโลกก็กะเก็งกันว่าเมื่ออเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดเงินออกไปจากระบบ เมื่อนั้นสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ก็จะน้อยลง เงินดอลลาร์ สรอ ก็จะแข็งค่าขึ้น อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน นั่นเอง

ทีนี้ก็เข้าทางนักลงทุน ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นก็มีการลงทุนเพื่อเก็งกำไร นักลงทุนก็คาดการณ์กันว่าหากป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์จะแข็ง หุ้นจะตก ดังนั้นจึงน่าจะมีนักลงทุนบางส่วนที่นำเงินดอลลาร์ไปลงทุนในประเทศต่างๆรีบขายหุ้นในประเทศนั้นๆและรีบซื้อเงินดอลลาร์ สรอ เอาไว้ ที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เงินดอลลาร์ สรอ ไหลกลับประเทศนั่นเอง คนเราพอกลัวว่าจะเกิดมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะการกระทำของนักลงทุนเองนั่นแหละ

ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ ในรอบนี้ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ กรกฎาคม 2014 นั้นค่อนข้างผิดปกติ ลองสังเกตดูในกราฟค่าเงินดอลลาร์ สรอ ของลุงแมวน้ำดูก็จะพบว่าตอนที่ลุงเบนใช้คิวอี 3 ซึ่งเป็นคิวอีรอบที่อัดฉีดเงินเข้าในระบบมากที่สุด ราวๆกลางปี 2012 ตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจแล้วเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าอะไรมากมาย แค่แกว่งขึ้นลงในกรอบ 80-85 จุดเท่านั้น ตอนอัดฉีดเงินไม่ได้อ่อนค่ามากมาย รวมทั้งหากมองย้อนไปถึงปี 2006 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังไม่แข็งขนาดนี้ (ตอนนั้น usd index อยู่ที่ประมาณ 92 จุด) แต่เหตุใดตอนจะเก็บเงินกลับ (ตอนนี้ยังไม่ได้เก็บเงินกลับด้วย แค่เตรียมตัวจะเก็บเท่านั้น) เงินดอลลาร์ก็แข็งค่ามากมาย วิ่งมาถึง 97-98 จุดแล้ว น่าคิดอยู่เหมือนกัน





นโยบายของเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้นตนเอง


ที่เป็นเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติ สาเหตุหลักน่าจะมี 2 ประการ คือ ข้อแรก เป็นการเก็งกำไรของนักลงทุน ข้อสอง เกิดจากการที่เงินตราสกุลอื่นๆทำตัวเองให้อ่อนค่า เช่น เงินเยน เงินยูโร ที่ทำคิวอี เงินจึงอ่อนค่า กับเงินตราสกุลอื่นๆที่ทำตัวให้อ่อนค่าเพื่อป้องกันเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไป ส่วนเหตุผลอื่นๆน่าจะเป็นประเด็นรอง

คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังต่างๆจึงเป็นแนวทางส่งเสริมตลาดทุน หรือจะพูดง่ายๆให้เจาะจงก็คือเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้น ดังนั้นแม้จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดก็ต้องระวัง เพราะต้องทำเพื่อส่งเสริมตลาดหุ้นให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำร้ายตลาดหุ้นอเมริกา เพราะอสังหาฯและหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีความมั่งคั่งของคนอเมริกัน (ยกเว้นแต่เป็นการทำร้ายตลาดหุ้นโดยไม่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด ฯลฯ) ดังนั้นป้าเจนจึงดูแล้วดูอีก ไม่ผลีผลามทำอะไรลงไป และเมื่อเราเข้าใจประเด็นนี้ก็น่าจะเบาใจได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดนั้นไม่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาเสียหาย และเมื่อตลาดหุ้นอเมริกาไปต่อได้ ตลาดหุ้นไทยและประเทศอื่นๆที่มักมีทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอเมริกาก็ควรไปต่อได้เช่นกัน อาจมีตกใจบ้างก็ควรเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ดังนั้นอย่าไปกลัวเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรมองว่านั่นกลับเป็นโอกาสมากกว่า

เอาละ ทีนี้ ขณะนี้เฟดก็เล็งๆจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเงินดอลลาร์ สรอ ก็แข็งค่าต่อเนื่อง ลองมาดูกันว่าหากดอลลาร์ สรอ แข็งค่ามากเกินสมควรแล้วจะเกิดผลอะไรบ้าง


เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งเกิน อะไรจะเกิดขึ้น


เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกาลดลง คะเนกันว่าผลประกอบการของหุ้นใน S&P 500 นั้นมีราวๆครึ่งหนึ่งที่เป็นรายได้มาจากต่างประเทศเนื่องจากไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอื่น หากเงินดอลลาร์ สรอ แข็ง ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นจะลดลง ข้อนี้กระทบตลาดหุ้น

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้าส่งออกของอเมริกาขายยาก เพราะราคาแพง หลายปีที่ผ่านมานี้น้าบารักใช้นโยบายเรียกบริษัทอเมริกันกลับบ้าน คือย้านฐานการผลิตกลับบ้าน ก็กลับมาพอสมควร บริษัทเหล่านี้จะได้รับผลประทบมาก เท่ากับทำร้ายผู้ประกอบการในประเทศ

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้านำเข้าถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ก็ทำร้ายผู้ประกอบการในกระเทศอีก

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดอลลาร์แข็งจะไม่ดีต่ออเมริกา ข้อดีที่เห็นชัดคือ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสเลิกพึ่งเงินดอลลาร์ ก็พยายามไปพึ่งเงินสกุลอื่นกัน เงินหยวนก็ทำท่าว่าจะมาแรง การที่ดอลลาร์แข็งบ้างก็จะทำให้โลกต้องหันมาซบเงินดอลลาร์ต่อไป

ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าสหรัฐอเมริกาคงพอใจที่เงินดอลลาร์แข็งขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องรักษาระดับไว้ไม่ให้แข็งจนเป็นภัยต่อตนเอง และนอกจากนี้ สมัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หากเศรษฐกิจอเมริกาเกิดสั่นคลอนในช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคเดโมแครตก็แย่เลย คงไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นหรอก ซึ่งเฟดนั้นดูแลเรื่องนโยบายการเงิน แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่งานของป้าเจน เป็นงานของกระทรวงการคลัง

ลุงแมวน้ำจึงคาดว่าเงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งค่าขึ้นไม่ได้พอสมควร แต่ไม่ควรมากเกินไป คงไม่ได้แข็งทะลุฟ้า รวมทั้งเงินยูโรและเงินเยนที่อ่อนค่าลงมามากแล้ว คงไม่อ่อนไปเรื่อยๆหรอก อีกไม่นาน ทุกอย่างย่อมเข้าสู่ดุลยภาพของมัน ทั้งเงินดอลลาร์ สรอ และเงินสกุลต่างๆจะค่อยๆเข้าที่เข้าทาง และเสถียรขึ้น 

แต่ว่าช่วงนี้ ในขณะที่เงินเยนและยูโรอ่อน ผู้ที่ได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนคือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่มีฐานการผลิตนอกประเทศ ผลจากเงินเยนอ่อนจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็นกิจการข้ามชาติจะได้อานิสงส์ ส่วนหุ้นที่เป็นกิจการท้องถิ่นน่าจะได้อานิสงส์น้อย

ส่วนกรณี เงินยูโรอ่อนค่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ดีคือเยอรมนี เพราะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น เยอรมนีเศรษฐกิจเข้มแข็งอยู่แล้วด้วย ดังนั้นตลาดหุ้นเยอรมนีจึงน่าสนใจ แต่การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นยุโรปต้องระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เดี๋ยวเรามาคุยกันต่อคร้าบ

นอกจากนี้ เงินหยวนก็อ่อนค่าเช่นกัน ทำให้การส่งออกของจีนดีขึ้น ตลาดหุ้นจีนก็ได้รับอานสงส์เชิงบวกด้วยเช่นกัน

นั่นคือมุมมองด้านการลงทุนสำหรับสามตลาดใหญ่ ส่วนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ นั้นค่าเงินสกุลท้องถิ่นขึ้นกับกระแสเงินดอลลาร์ สรอ ยูโร กับเยน ตัวอย่างเช่นเงินบาท แม้ดอลลาร์ สรอ แข็งค่า แต่หากมีเงินเยนกับยูโรไหลเข้ามาก็อาจทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่านัก ก็ต้องคอยติดตามอัตราแลกเปลี่ยน ตอนนี้สูตรสำเร็จเดิมๆว่าดอลลาร์ สรอ แข็งแล้วบาทจะอ่อนใช้ไม่ได้แล้ว

ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกมักอิงกับทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หากตลาดหุ้นอเมริกาจาม ตลาดหุ้นประเทศอื่นก็อาจมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลไปด้วย