Tuesday, March 10, 2015

ดอลลาร์อเมริกันแข็งค่า เมื่อป้าเจน (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


กราฟดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) แสดงค่าเงินดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าเงินดอลลาร์ สรอ ในช่วงนี้แข็งค่าผิดปกติ แข็งค่ากว่าตอนก่อนใช้คิวอีเสียอีก


เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเลขการจ้างงานออกมาดี ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกเช่นเคย เกรงว่าป้าเจนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในเร็วๆนี้อีก


เศรษฐกิจอเมริกาดี นักลงทุนกลับแตกตื่นเฟด


ป้าเจนแสดงท่าทีออกมาแล้วว่าภายในครึ่งปีแรกนี้ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ แต่หลังจากนั้นไปแล้วก็ต้องขึ้นกับข้อมูลตัวเลขต่างๆ ซึ่งลุงแมวน้ำคิดว่าแม้แต่เฟดเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไรกันแน่ เนื่องจากต้องใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆตัวชี้วัดมาตัดสินใจ ดังนั้นจึงบอกได้แต่แนวทาง แต่ระบุเงื่อนเวลาไม่ได้ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจก็ไม่นิ่ง เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี อย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็ต้องดูกันไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ

แต่จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในตอนนี้ เป็นภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ก็กะเก็งกันว่าเฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2015 นี้แหละ ซึ่งคราวนี้ดูท่าทางนักลงทุนจะมั่นใจมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ สรอ จึงได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาสักพักหนึ่งแล้ว

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือว่า QE ที่ทำมาตั้งแต่สมัยลุงเบนนั้นคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เงินที่อัดฉีดนั้นมาจากไหนกันล่ะ หากเป็นประเทศอื่นก็ยาก เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินกันวุ่นวายเพื่อเอาเงินมาอัดฉีด แบบกรีซตอนนี้ไง ต้องกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรปมาใช้ ซึ่งเจ้าหนี้ก็ใช่ว่าจะให้กู้ง่ายๆ ต้องมีเงื่อนไขโน่นนี่นั่น วุ่นวายไปหมด

การหาเงินมาอัดฉีดสำหรับอเมริกานั้นก็เล่นไม่ยาก ขาใหญ่เสียอย่าง ไม่ต้องไปกู้ใคร ซึ่งเราเรียกกันเล่นๆว่าพิมพ์เงินเพิ่มนั่นเอง  เพราะว่าเป็นเงินที่ไม่มีอะไรมารองรับ มีแต่เครดิตของความเป็นขาใหญ่เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจขออเมริกาฟื้นจากไข้ ธนาคารกลางก็จำเป็นต้องเก็บเงินดอลลาร์ สรอ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจออกไปจากระบบ เพราะหากไม่เก็บคืนมันก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง และการที่เงินตรามีมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจก็จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจเองในที่สุด ดังนั้นจำเป็นต้องเก็บเงินกลับออกไป โดยกระบวนการเก็บเงินกลับนี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นักลงทุนทั่วโลกก็กะเก็งกันว่าเมื่ออเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดเงินออกไปจากระบบ เมื่อนั้นสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ก็จะน้อยลง เงินดอลลาร์ สรอ ก็จะแข็งค่าขึ้น อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน นั่นเอง

ทีนี้ก็เข้าทางนักลงทุน ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นก็มีการลงทุนเพื่อเก็งกำไร นักลงทุนก็คาดการณ์กันว่าหากป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์จะแข็ง หุ้นจะตก ดังนั้นจึงน่าจะมีนักลงทุนบางส่วนที่นำเงินดอลลาร์ไปลงทุนในประเทศต่างๆรีบขายหุ้นในประเทศนั้นๆและรีบซื้อเงินดอลลาร์ สรอ เอาไว้ ที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เงินดอลลาร์ สรอ ไหลกลับประเทศนั่นเอง คนเราพอกลัวว่าจะเกิดมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะการกระทำของนักลงทุนเองนั่นแหละ

ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ ในรอบนี้ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ กรกฎาคม 2014 นั้นค่อนข้างผิดปกติ ลองสังเกตดูในกราฟค่าเงินดอลลาร์ สรอ ของลุงแมวน้ำดูก็จะพบว่าตอนที่ลุงเบนใช้คิวอี 3 ซึ่งเป็นคิวอีรอบที่อัดฉีดเงินเข้าในระบบมากที่สุด ราวๆกลางปี 2012 ตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจแล้วเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าอะไรมากมาย แค่แกว่งขึ้นลงในกรอบ 80-85 จุดเท่านั้น ตอนอัดฉีดเงินไม่ได้อ่อนค่ามากมาย รวมทั้งหากมองย้อนไปถึงปี 2006 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังไม่แข็งขนาดนี้ (ตอนนั้น usd index อยู่ที่ประมาณ 92 จุด) แต่เหตุใดตอนจะเก็บเงินกลับ (ตอนนี้ยังไม่ได้เก็บเงินกลับด้วย แค่เตรียมตัวจะเก็บเท่านั้น) เงินดอลลาร์ก็แข็งค่ามากมาย วิ่งมาถึง 97-98 จุดแล้ว น่าคิดอยู่เหมือนกัน





นโยบายของเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้นตนเอง


ที่เป็นเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติ สาเหตุหลักน่าจะมี 2 ประการ คือ ข้อแรก เป็นการเก็งกำไรของนักลงทุน ข้อสอง เกิดจากการที่เงินตราสกุลอื่นๆทำตัวเองให้อ่อนค่า เช่น เงินเยน เงินยูโร ที่ทำคิวอี เงินจึงอ่อนค่า กับเงินตราสกุลอื่นๆที่ทำตัวให้อ่อนค่าเพื่อป้องกันเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไป ส่วนเหตุผลอื่นๆน่าจะเป็นประเด็นรอง

คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังต่างๆจึงเป็นแนวทางส่งเสริมตลาดทุน หรือจะพูดง่ายๆให้เจาะจงก็คือเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้น ดังนั้นแม้จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดก็ต้องระวัง เพราะต้องทำเพื่อส่งเสริมตลาดหุ้นให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำร้ายตลาดหุ้นอเมริกา เพราะอสังหาฯและหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีความมั่งคั่งของคนอเมริกัน (ยกเว้นแต่เป็นการทำร้ายตลาดหุ้นโดยไม่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด ฯลฯ) ดังนั้นป้าเจนจึงดูแล้วดูอีก ไม่ผลีผลามทำอะไรลงไป และเมื่อเราเข้าใจประเด็นนี้ก็น่าจะเบาใจได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดนั้นไม่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาเสียหาย และเมื่อตลาดหุ้นอเมริกาไปต่อได้ ตลาดหุ้นไทยและประเทศอื่นๆที่มักมีทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอเมริกาก็ควรไปต่อได้เช่นกัน อาจมีตกใจบ้างก็ควรเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ดังนั้นอย่าไปกลัวเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรมองว่านั่นกลับเป็นโอกาสมากกว่า

เอาละ ทีนี้ ขณะนี้เฟดก็เล็งๆจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเงินดอลลาร์ สรอ ก็แข็งค่าต่อเนื่อง ลองมาดูกันว่าหากดอลลาร์ สรอ แข็งค่ามากเกินสมควรแล้วจะเกิดผลอะไรบ้าง


เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งเกิน อะไรจะเกิดขึ้น


เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกาลดลง คะเนกันว่าผลประกอบการของหุ้นใน S&P 500 นั้นมีราวๆครึ่งหนึ่งที่เป็นรายได้มาจากต่างประเทศเนื่องจากไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอื่น หากเงินดอลลาร์ สรอ แข็ง ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นจะลดลง ข้อนี้กระทบตลาดหุ้น

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้าส่งออกของอเมริกาขายยาก เพราะราคาแพง หลายปีที่ผ่านมานี้น้าบารักใช้นโยบายเรียกบริษัทอเมริกันกลับบ้าน คือย้านฐานการผลิตกลับบ้าน ก็กลับมาพอสมควร บริษัทเหล่านี้จะได้รับผลประทบมาก เท่ากับทำร้ายผู้ประกอบการในประเทศ

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้านำเข้าถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ก็ทำร้ายผู้ประกอบการในกระเทศอีก

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดอลลาร์แข็งจะไม่ดีต่ออเมริกา ข้อดีที่เห็นชัดคือ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสเลิกพึ่งเงินดอลลาร์ ก็พยายามไปพึ่งเงินสกุลอื่นกัน เงินหยวนก็ทำท่าว่าจะมาแรง การที่ดอลลาร์แข็งบ้างก็จะทำให้โลกต้องหันมาซบเงินดอลลาร์ต่อไป

ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าสหรัฐอเมริกาคงพอใจที่เงินดอลลาร์แข็งขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องรักษาระดับไว้ไม่ให้แข็งจนเป็นภัยต่อตนเอง และนอกจากนี้ สมัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หากเศรษฐกิจอเมริกาเกิดสั่นคลอนในช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคเดโมแครตก็แย่เลย คงไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นหรอก ซึ่งเฟดนั้นดูแลเรื่องนโยบายการเงิน แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่งานของป้าเจน เป็นงานของกระทรวงการคลัง

ลุงแมวน้ำจึงคาดว่าเงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งค่าขึ้นไม่ได้พอสมควร แต่ไม่ควรมากเกินไป คงไม่ได้แข็งทะลุฟ้า รวมทั้งเงินยูโรและเงินเยนที่อ่อนค่าลงมามากแล้ว คงไม่อ่อนไปเรื่อยๆหรอก อีกไม่นาน ทุกอย่างย่อมเข้าสู่ดุลยภาพของมัน ทั้งเงินดอลลาร์ สรอ และเงินสกุลต่างๆจะค่อยๆเข้าที่เข้าทาง และเสถียรขึ้น 

แต่ว่าช่วงนี้ ในขณะที่เงินเยนและยูโรอ่อน ผู้ที่ได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนคือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่มีฐานการผลิตนอกประเทศ ผลจากเงินเยนอ่อนจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็นกิจการข้ามชาติจะได้อานิสงส์ ส่วนหุ้นที่เป็นกิจการท้องถิ่นน่าจะได้อานิสงส์น้อย

ส่วนกรณี เงินยูโรอ่อนค่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ดีคือเยอรมนี เพราะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น เยอรมนีเศรษฐกิจเข้มแข็งอยู่แล้วด้วย ดังนั้นตลาดหุ้นเยอรมนีจึงน่าสนใจ แต่การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นยุโรปต้องระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เดี๋ยวเรามาคุยกันต่อคร้าบ

นอกจากนี้ เงินหยวนก็อ่อนค่าเช่นกัน ทำให้การส่งออกของจีนดีขึ้น ตลาดหุ้นจีนก็ได้รับอานสงส์เชิงบวกด้วยเช่นกัน

นั่นคือมุมมองด้านการลงทุนสำหรับสามตลาดใหญ่ ส่วนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ นั้นค่าเงินสกุลท้องถิ่นขึ้นกับกระแสเงินดอลลาร์ สรอ ยูโร กับเยน ตัวอย่างเช่นเงินบาท แม้ดอลลาร์ สรอ แข็งค่า แต่หากมีเงินเยนกับยูโรไหลเข้ามาก็อาจทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่านัก ก็ต้องคอยติดตามอัตราแลกเปลี่ยน ตอนนี้สูตรสำเร็จเดิมๆว่าดอลลาร์ สรอ แข็งแล้วบาทจะอ่อนใช้ไม่ได้แล้ว

ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกมักอิงกับทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หากตลาดหุ้นอเมริกาจาม ตลาดหุ้นประเทศอื่นก็อาจมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลไปด้วย

Sunday, March 8, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ สมดุลธรรมชาติ (1)





เกริ่นนำ


บทความเรื่องนี้เป็นความลับของธรรมชาติที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ กฎของความสมดุล หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าดุลยภาพของธรรมชาติ ก็ได้ 

ที่ผ่านมา ลุงแมวน้ำได้เล่าเกี่ยวกับกฎและทฤษฎีสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์และตลาดทุนที่มีมาจากกฎธรรมชาติ นั่นคือ วงจรของเศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ แม้แต่คลื่นอีเลียตก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องวัฏจักรนั่นเอง รวมทั้งการนำพากิจการให้รอดในโลกธุรกิจ หรือการลงทุนให้อยู่รอดได้ ก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องวิวัฒนาการ 

ดุลยภาพของธรรมชาติเป็นกฎธรรมชาติที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง การเข้าใจดุลยภาพของธรรมชาติจะทำให้เราเข้าใจวัฎจักรเศรษฐกิจและคลื่นอีเลียตได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถนำกฎธรรมชาตินี้ไปใช้ทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ในการลงทุนได้อีกด้วย


ขวดวิเศษของลิงจ๋อ


เช้าวันหยุดวันหนึ่ง ขณะที่ลุงแมวน้ำเดินเข้าไปในสวนพร้อมกับกาแฟและขนมเพื่อไปพักผ่อนในศาลาชมสวน ลุงแมวน้ำก็สังเกตเห็นว่าภายในศาลามีสมาชิกชุมนุมกันอยู่คึกคัก เหมือนกับกำลังมุงดูอะไรอยู่ ลุงแมวน้ำจึงเข้าไปชะโงกดูบ้างแต่ยังมองไม่เห็นเพราะถูกบังจนมิด จึงเอ่ยถามขึ้นว่า

“กำลังดูอะไรกันอยู่น่ะ”

“ดูขวดต้นไม้ของนายจ๋ออยู่จ้ะลุง” ยีราฟคอยาวที่ได้เปรียบในการชมตอบ

“ขวดต้นไม้” ลุงแมวน้ำทวนคำ “ชื่อน่าสนใจจัง ขอลุงดูบ้างสิ”

ลุงแมวน้ำแหวกฝูงสมาชิกเข้าไปในใจกลางวง จึงได้เห็นว่าลิงจ๋อและสมาชิกตัวอื่นๆกำลังดูขวดแก้วใบหนึ่งอยู่ เป็นขวดที่ปิดฝาเรียบร้อย ภายในมีต้นไม้บรรจุอยู่


สวนขวดระบบปิด (sealed bottle garden) ภายในบรรจุพืชพวกมอส เฟิร์น มีดินและน้ำอยู่ด้วย สวนขวดนี้สามารถอยู่ได้โดยปิดฝาไว้แน่น ไม่ต้องรดน้ำหรือดูแลอื่นใด และอยู่ได้นานนับปี เป็นตัวอย่างของสมดุลในธรรมชาติ (natural equilibrium)


“มันเป็นขวดวิเศษนะลุง” ลิงจ๋อเจ้าของขวดพูดขึ้นบ้าง

“มันวิเศษยังไง และนายจ๋อไปได้มาจากไหน” ลุงแมวน้ำเมื่อเห็นขวดก็รู้แล้วว่ามันคืออะไร แต่ก็ลองถามลิงดู

“นายจ๋อซื้อมาจากถนนคนเดินที่สีลมจ้ะลุง” ฮิปโปพูดบ้าง “นายจ๋อยังโม้อีกว่าต้นไม้ในขวดนี้อยู่ได้เป็นปีโดยไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องดูแลอะไร”

“ไม่ได้โม้” ลิงพูดบ้าง “แต่มันเป็นขวดวิเศษ ฉันลองสังเกตมาได้สองสัปดาห์แล้ว ยังเขียวดีอยู่เลยทั้งๆที่ไม่ได้ไปยุ่งกับมัน ไม่ได้ดูแลอะไรเลย แค่ให้โดนแดดบ้าง”

บรรดาสมาชิกหัวเราะกันครึกครื้น

“โอ๊ย ขำ ต้นไม้ในขวด ไม่เปิดฝา ไม่รดน้ำ แล้วอยู่ได้เป็นปี จะเป็นไปได้ยังไง” ม้าลายหัวเราะบ้าง “ลุงแมวน้ำไม่ขำเหรอ”

“ไม่เห็นมีอะไรขำนี่ ก็มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงๆ” ลุงแมวน้ำพูด

“ลุงแมวน้ำแอ๊บเนียนไปกับนายจ๋อด้วยด้วย” บรรดาสมาชิกหัวเราะกันอีกเพราะไม่เชื่อ

ลุงแมวน้ำจึงล้วงเอาภาพภาพหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย และคลี่ให้บรรดาสมาชิกดู


สวนขวดระบบปิดที่คงอยู่มาแล้วนาน 53 ปี และยังอยู่ในสภาพดี


“นี่ ลองดูขวดนี้บ้าง ถ้านายจ๋อโม้ ลุงในภาพคนนี้ก็ยิ่งอภิมหาโม้ เพราะว่าแกเลี้ยงต้นไม้ในขวดโดยไม่เปิดฝาและไม่รดน้ำมาแล้วถึง 50 กว่าปี” ลุงแมวน้ำพูด

“ฮ้า เป็นไปได้จริงๆเหรอฮะเนี่ย” กระต่ายน้อยอุทานบ้าง พลางดูภาพด้วยความสนใจ “แล้วต้นไม้เหล่านี้อยู่ได้ยังไงฮะลุง”

“นานๆลุงแมวน้ำจะเข้าข้างผมสักทีนะเนี่ย” ลิงหัวเราะบ้าง “ที่จริงผมก็สงสัยอยู่เหมือนกัน ทีแรกไม่เชื่อนักหรอก แต่เห็นว่าสวนขวดนี้สวยน่ารักดีจึงซื้อมา และพยายามพิสูจน์ดู เลี้ยงมาได้สองสัปดาห์แล้วก็ยังดีอยู่ ก็คิดว่าจะเลี้ยงไปเรื่อยๆเพื่อดูว่ามันจะอยู่ได้เป็นปีจริงหรือไม่ พวกนี้มาเห็นเข้าก็หัวเราะเยาะผม ลุงแมวน้ำอธิบายได้ไหมครับว่ามันเป็นไปได้ยังไง”

“สวนขวดนี้เรียกว่าสวนขวดระบบปิด เป็นของเล่นเก๋ๆของนักนิเวศวิทยาหรือนักพฤกษศาสตร์ที่พยายามจำลองระบบนิเวศในธรรมชาติมาไว้ในขวดแก้ว” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ยังไงกันจ๊ะลุง พูดให้เข้าใจง่ายๆหน่อยได้ไหม” ยีราฟถาม

“ลุงต้องเท้าความสักหน่อย ว่าในสมัยก่อน นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเรื่องราวในธรรมชาติ อย่างเช่น ชาล์ส ดาร์วิน ที่ลุงเคยคุยให้ฟังนั่นไง ดาร์วินก็สนใจในเรื่องราวของธรรมชาติ พยายามศึกษาค้นคว้าจนค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการในที่สุด” ลุงแมวน้ำพูด “นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาธรรมชาติก็สังเกตและตั้งข้อสงสัยว่าทำไมป่าจึงดำรงอยู่ได้ทั้งๆที่ไม่มีใครรดน้ำพรวนดิน ทำไมหนองน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง คือไม่มีทางน้ำไหลผ่าน จึงดำรงอยู่ได้โดยน้ำไม่เน่าเสีย ประชากรปลาก็ไม่ล้นหนองน้ำ

“ลุงถามแม่ยีราฟหน่อยว่า หนองน้ำหรือบึงน้ำที่แม่ยีราฟชอบไปเล่นน้ำน่ะ เราเห็นน้ำในบึงใสแจ๋วเห็นตัวปลา แม่ยีราฟเคยสงสัยไหมว่า ทำไมปลาในบึงน้ำไม่ขยายพันธุ์จนประชากรปลาล้นเกิน และทำไมปลาที่ตายในบึงไม่ทำให้น้ำเกิดเน่าเสีย”

“ไม่เคยสงสัยเลยจ้ะ” ยีราฟรีบตอบ “ฉันควรสงสัยเรื่องพวกนี้ด้วยเหรอ”

“เธอสงสัยหน่อยได้ไหม” ลิงพูดบ้าง “รับมุขกันหน่อย”

“อ้อ งั้นสงสัยก็ได้” ยีราฟตอบใหม่

“ปกติเรามักไม่สงสัยกันหรอก แต่นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าธรรมชาติคงความสมดุลของระบบนิเวศในหนองน้ำได้อย่างไร จึงพยายามหาคำตอบ และสร้างเป็นระบบนิเวศที่จำลองแบบมาจากธรรมชาตินำไปใส่ไว้ในขวดแก้ว อย่างในภาพนี้ คุณลุงคนนี้สามารถทำสวนโดยใส่ดินและปลูกต้นไม้ในขวดแก้วโดยปิดผนึกฝาขวดไว้ ไม่ต้องเปิดฝา ไม่ต้องรดน้ำพรวนดิน แค่ให้โดนแดดเท่านั้น ต้นไม้ในขวดก็อยู่ในสภาพนี้มาตั้งแต่ปี 1972 หรือเมื่อ 53 ปีมาแล้ว และน่าจะยังอยู่ในสภาพนี้ต่อไปได้อีกนาน ดังนั้นต้นไม้ในขวดของนายจ๋อก็น่าจะอยู่ได้หลายปีเช่นกัน”

“นี่ผมก็เพิ่งรู้ที่มาที่ไปจากลุงแมวน้ำนะเนี่ย ตอนซื้อมาก็แค่คิดว่าสวยดีและแปลกดี” ลิงพูด “แต่ว่าความลับในธรรมชาติที่ทำให้สวนขวดนี้อยู่ได้เป็นปีโดยปิดฝาไม่ต้องดูแลคืออะไรครับ”

“คือสมดุลธรรมชาติ (natural equilibrium) หรือดุลยภาพของธรรมชาตินั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “สมดุลธรรมชาตินี้เป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เมื่อกฎนี้เป็นของธรรมชาติ ดังนั้นจึงอธิบายปรากฏการณ์ได้มากมาย รวมทั้งปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหรือการลงทุนก็หนีกฎธรรมชาตินี้ไปไม่ได้เช่นกัน”

 “ลุงกำลังบอกว่าสวนขวดนี้เกี่ยวกับตลาดหุ้นใช่ไหม” ลิงหัวเราะ “เหลือเชื่อไปหน่อยมั้ง”


ธรรมชาติย่อมรักษาสมดุล


“สิ่งที่เราเห็นในสวนขวดนี้คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือ ธรรมชาติย่อมรักษาสมดุลเอาไว้เสมอ การที่สวนในขวดอยู่ได้เป็นสิบปีก็เพราะภายในขวดนั้นเกิดภาวะสมดุลขึ้นนั่นเอง ต้นไม้ในขวดมีการหายใจใช้ก๊าซออกซิเจนและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และก็มีการสังเคราะห์แสงที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา มีการดูดน้ำและคายน้ำออกจากต้นไม้ ทุกอย่างอยู่ในภาวะสมดุล จึงไม่ต้องเปิดฝารดน้ำ”

“เดี๋ยวก่อนลุง แล้วต้นไม้ทำไมไม่โตล้นขวด แล้วไม่มีใบร่วงหรือไง ใบไม้ร่วงก็ต้องเกิดใบไม้เน่าเสีย แต่ทำไมขวดในรูปยังสวยปิ๊งอยู่ได้” ลิงสงสัย “น่าจะเน่าเหม็นไปนานแล้ว”

“ก็นี่ไง เหมือนในบึงน้ำไหมล่ะ ทำไมปลาในบึงไม่ล้นบึง ทำไมปลาตายในบึงแล้วน้ำไม่เน่า ก็ทำนองเดียวกันนี่แหละ” ลุงแมวน้ำพูด

“แล้วลุงอธิบายยังไงละครับ” ลิงถามอีก

“ภายในขวดไม่ได้มีแต่สิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นไม้หรอก แต่ยังไม่สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่าจุลินทรีย์อยู่ด้วย จุลินทรีย์จะคอยย่อยสลายใบไม้ที่ตายให้กลายเป็นปุ๋ยไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ ก็เหมือนกับในบึงน้ำที่ปลาตายก็มีจุลินทรีย์คอยย่อยสลาย แต่ระบบนิเวศของบึงน้ำซับซ้อนกว่าในขวดเยอะ เราอย่าเพิ่งพูดถึงบึงน้ำเลย พูดกันเฉพาะในขวดก่อน จะได้ไม่งง” ลุงแมวน้ำพูด “สรุปว่าภายในขวดที่ปิดฝานั้น มีการหมุนเวียนก๊าซ มีการหมุนเวียนความชื้น และมีการหมุนเวียนของอินทรียสารภายในขวดอย่างสมดุล ระบบจึงดำรงอยู่ได้”

“แล้วที่ลุงบอกว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นนั้นเกี่ยวกันอย่างไรจ๊ะ ฉันฟังตั้งนานแล้วยังไม่เห็นเกี่ยวเลย” ยีราฟท้วง

“ใจเย็นๆสิ เรื่องนี้ต้องค่อยๆอธิบาย” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงจะเล่าให้ฟังเดี๋ยวนี้แหละ”


สมดุลสถิตและสมดุลพลวัตร


ลุงแมวน้ำหยิบเอาภาพอีกใบหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

“สมดุลธรรมชาติหรือว่าดุลยภาพในธรรมชาตินั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ นั่นคือ สมดุลแบบสถิต (static equilibrium) กับ สมดุลแบบพลวัตร (dynamic equilibrium)


ตัวอย่างของสมดุลแบบสถิต (สมดุลแบบอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว) และสมดุลแบบพลวัตร (สมดุลไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ)


“โอย มึน” ลิงบ่น “เอาง่ายๆหน่อยครับลุง”

“ธรรมชาติมีแนวโน้มรักษาสมดุลเอาไว้เสมอ ดูตัวอย่างง่ายๆที่เราอาจนึกไม่ถึง คือก้อนหินที่วางอยู่กับที่ ชุดเก้าอี้ที่วางในสวน อะไรต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่อยู่นิ่งกับที่ เหล่านี้ก็เป็นดุลยภาพในธรรมชาติเช่นกัน สมดุลที่อยู่ในภาวะอยู่นิ่งกับที่นี้เป็นแบบที่เราเข้าใจง่าย พวกนี้เรียกว่าสมดุลแบบสถิต” ลุงแมวน้ำพูด “แต่สมดุลอีกแบบหนึ่งนั้นเป็นสมดุลที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอ”

“สมดุลคือต้องนิ่งสิ เคลื่อนไหวแล้วจะสมดุลได้ยังไง แย้งกับความรู้สึกจัง” ลิงพูด

“นายจ๋อลองดูภาพคนขี่จักรยานล้อเดียวสิ” ลุงแมวน้ำพูด “การทรงตัวอยู่บนจักรยานล้อเดียวทำได้โดยขี่จักรยานเลี้ยงตัวไปเรื่อยๆ หากอยู่นิ่งเฉยจักรยานจะล้ม นี่แหละคือสมดุลแบบพลวัตร นั่นคือ ทุกจังหวะของความเคลื่อนไหวก่อให้เกิดสมดุล แต่ในขณะเดียวกัน สมดุลก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่เรางงกับสมดุลแบบเคลื่อนไหวก็ขอให้นึกถึงการขี่จักรยานล้อเดียว และสมดุลแบบพลวัตรนี่แหละที่เรานำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและอธิบายพฤติกรรมราคาในตลาดหุ้นได้

“ยังไม่เข้าใจอยู่ดีจ้ะลุง” ยีราฟบ่น “ลุงแมวน้ำพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ได้ไหม ทำไมชอบพูดอะไรยากๆ”

“ใจเย็นๆแม่ยีราฟ” ลุงแมวน้ำปลอบ “ฟังไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็จะเข้าใจมากขึ้น


สมดุลพลวัตร ปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกกับกระต่าย


ลุงแมวน้ำล้วงภาพอีกใบหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


ปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกและกระต่าย ตัวอย่างที่ดีสำหรับอธิบายการเกิดสมดุลแบบพลวัตร


“ภาพนี้เป็นภาพปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกล่ากระต่าย” ลุงแมวน้ำพูด

“ลุงฮะ เปลี่ยนตัวอย่างได้ไหม ผมเสียวไส้ ใจไม่ดีเลย” กระต่ายน้อยโอดครวญ ทำท่าอกสั่นขวัญหาย

“ลุงมีแต่ตัวอย่างนี้ กระต่ายน้อยทำใจหน่อยละกัน มันแค่ตัวอย่าง ไม่ได้เกิดกับกระต่ายน้อยหรอก” ลุงแมวน้ำปลอบใจ จากนั้นพูดต่อ “ตัวอย่างนี้เป็นตัวแบบที่ใช้อธิบายสมดุลธรรมชาติ โดยสมมติว่าในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งมีแต่กระต่ายและหมาจิ้งจอก ไม่มีสัตว์อย่างอื่นเลย และหมาจิ้งจอกก็ล่ากระต่ายเป็นอาหาร

“จากกราฟ แกน Y หรือแกนซ้ายเป็นจำนวนของกระต่ายและหมาจิ้งจอก ส่วนแกน X หรือแกนนอนเป็นเวลาที่ผ่านไป เราจะสังเกตว่าในตอนต้นนั้นมีกระต่ายและหมาจิ้งจอกอยู่จำนวนหนึ่ง

“เมื่อเวลาผ่านไป กระต่ายเพิ่มจำนวนขึ้นเพราะเรารู้กันดีว่ากระต่ายขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อกระต่ายมีมากขึ้น หมาจิ้งจอกก็อิ่มหมีพีมัน ล่ากระต่ายกินจนพุงกาง เมื่ออาหารสมบูรณ์ประชากรหมาจิ้งจอกก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เมื่อหมาจิ้งจอกเพิ่มจำนวนก็กินอาหารเพิ่มขึ้น จนประชากรกระต่ายลดลง

“เมื่อเวลาผ่านไปอีก ประชากรกระต่ายลดลงมากจนหมาจิ้งจอกอดอยาก หมาจิ้งจอกก็เริ่มอดตายและกินกันเอง พอหมาจิ้งจอกลดจำนวนลงก็กินกระต่ายน้อยลง ประชากรกระต่ายก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เมื่อประชากรกระต่ายเพิ่ม หมาจิ้งจอกก็เริ่มอุดมสมบูรณ์อีก ก็ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนตาม

จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าธรรมชาติพยายามรักษาสมดุลอยู่เสมอ เมื่ออะไรมากไปหรือน้อยไป ธรรมชาติจะพยายามปรับตัวเพื่อให้คงสมดุลเอาไว้ แต่เนื่องจากปริมาณประชากรไม่คงตัว ดังนั้นสมดุลของธรรมชาติจึงไม่อยู่นิ่ง แต่เคลื่อนตัวไปเรื่อยเช่นกัน นี่แหละคือสมดุลแบบมีพลวัตร หรือสมดุลที่เคลื่อนตัวหรือเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ

“และถ้าหากว่าเราจะสังเกตทรงของกราฟประชากรกระต่ายและกราฟประชากรหมาจิ้งจอก เราก็จะพบว่าปริมาณประชากรทั้งสองชนิดนี้เคลื่อนไหวเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำที่ต่อเนื่องกัน เห็นไหม”

“จริงด้วย” ยีราฟถึงบางอ้อ พอเข้าใจบ้างแล้วจ้ะ งั้นคุยต่อเลยลุง”


สมดุลพลวัตร จากดุลยภาพเดิมสู่ดุลยภาพใหม่


ลุงแมวน้ำล้วงภาพอีกใบหนึ่งออกมา คราวนี้เป็นภาพป่าไม้




“เราลองมาดูตัวอย่างกันอีกสักตัวอย่างหนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่แน่นแฟ้นขึ้น ลองดูภาพนี้ สมมติว่าป่าอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีสมดุลธรรมชาติอยู่แล้ว ทีนี้สมมติว่ามีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซง นั่นคือ เกิดฟ้าผ่าและไฟไหม้ป่า ป่าอันอุดมถูกเผาจนเกลี้ยง เหลือแต่ตอตะโก นั่นคือ ดุลยภาพของป่าไม้เสียหายไป แน่นอน ธรรมชาติย่อมต้องพยายามรักษาสมดุลอยู่เสมอ เมื่อดุลยภาพเดิมเสียหายไป ธรรมชาติก็จะพยายามสร้างดุลยภาพใหม่ให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม

“เราลองมาดูกันว่าหลังจากป่าไม้ถูกเผาแล้วเกิดอะไรขึ้น ธรรมชาติสร้างสมดุลใหม่ และสมดุลใหม่นั้นเกิดพลวัตรอย่างไร” ลุงแมวน้ำพูด