เกริ่นนำ
บทความเรื่องนี้เป็นความลับของธรรมชาติที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ กฎของความสมดุล หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าดุลยภาพของธรรมชาติ ก็ได้
ที่ผ่านมา ลุงแมวน้ำได้เล่าเกี่ยวกับกฎและทฤษฎีสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์และตลาดทุนที่มีมาจากกฎธรรมชาติ นั่นคือ วงจรของเศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ แม้แต่คลื่นอีเลียตก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องวัฏจักรนั่นเอง รวมทั้งการนำพากิจการให้รอดในโลกธุรกิจ หรือการลงทุนให้อยู่รอดได้ ก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องวิวัฒนาการ
ดุลยภาพของธรรมชาติเป็นกฎธรรมชาติที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง การเข้าใจดุลยภาพของธรรมชาติจะทำให้เราเข้าใจวัฎจักรเศรษฐกิจและคลื่นอีเลียตได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถนำกฎธรรมชาตินี้ไปใช้ทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ในการลงทุนได้อีกด้วย
ขวดวิเศษของลิงจ๋อ
เช้าวันหยุดวันหนึ่ง ขณะที่ลุงแมวน้ำเดินเข้าไปในสวนพร้อมกับกาแฟและขนมเพื่อไปพักผ่อนในศาลาชมสวน ลุงแมวน้ำก็สังเกตเห็นว่าภายในศาลามีสมาชิกชุมนุมกันอยู่คึกคัก เหมือนกับกำลังมุงดูอะไรอยู่ ลุงแมวน้ำจึงเข้าไปชะโงกดูบ้างแต่ยังมองไม่เห็นเพราะถูกบังจนมิด จึงเอ่ยถามขึ้นว่า
“กำลังดูอะไรกันอยู่น่ะ”
“ดูขวดต้นไม้ของนายจ๋ออยู่จ้ะลุง” ยีราฟคอยาวที่ได้เปรียบในการชมตอบ
“ขวดต้นไม้” ลุงแมวน้ำทวนคำ “ชื่อน่าสนใจจัง ขอลุงดูบ้างสิ”
ลุงแมวน้ำแหวกฝูงสมาชิกเข้าไปในใจกลางวง จึงได้เห็นว่าลิงจ๋อและสมาชิกตัวอื่นๆกำลังดูขวดแก้วใบหนึ่งอยู่ เป็นขวดที่ปิดฝาเรียบร้อย ภายในมีต้นไม้บรรจุอยู่
“มันเป็นขวดวิเศษนะลุง” ลิงจ๋อเจ้าของขวดพูดขึ้นบ้าง
“มันวิเศษยังไง และนายจ๋อไปได้มาจากไหน” ลุงแมวน้ำเมื่อเห็นขวดก็รู้แล้วว่ามันคืออะไร แต่ก็ลองถามลิงดู
“นายจ๋อซื้อมาจากถนนคนเดินที่สีลมจ้ะลุง” ฮิปโปพูดบ้าง “นายจ๋อยังโม้อีกว่าต้นไม้ในขวดนี้อยู่ได้เป็นปีโดยไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องดูแลอะไร”
“ไม่ได้โม้” ลิงพูดบ้าง “แต่มันเป็นขวดวิเศษ ฉันลองสังเกตมาได้สองสัปดาห์แล้ว ยังเขียวดีอยู่เลยทั้งๆที่ไม่ได้ไปยุ่งกับมัน ไม่ได้ดูแลอะไรเลย แค่ให้โดนแดดบ้าง”
บรรดาสมาชิกหัวเราะกันครึกครื้น
“โอ๊ย ขำ ต้นไม้ในขวด ไม่เปิดฝา ไม่รดน้ำ แล้วอยู่ได้เป็นปี จะเป็นไปได้ยังไง” ม้าลายหัวเราะบ้าง “ลุงแมวน้ำไม่ขำเหรอ”
“ไม่เห็นมีอะไรขำนี่ ก็มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงๆ” ลุงแมวน้ำพูด
“ลุงแมวน้ำแอ๊บเนียนไปกับนายจ๋อด้วยด้วย” บรรดาสมาชิกหัวเราะกันอีกเพราะไม่เชื่อ
ลุงแมวน้ำจึงล้วงเอาภาพภาพหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย และคลี่ให้บรรดาสมาชิกดู
สวนขวดระบบปิดที่คงอยู่มาแล้วนาน 53 ปี และยังอยู่ในสภาพดี |
“นี่ ลองดูขวดนี้บ้าง ถ้านายจ๋อโม้ ลุงในภาพคนนี้ก็ยิ่งอภิมหาโม้ เพราะว่าแกเลี้ยงต้นไม้ในขวดโดยไม่เปิดฝาและไม่รดน้ำมาแล้วถึง 50 กว่าปี” ลุงแมวน้ำพูด
“ฮ้า เป็นไปได้จริงๆเหรอฮะเนี่ย” กระต่ายน้อยอุทานบ้าง พลางดูภาพด้วยความสนใจ “แล้วต้นไม้เหล่านี้อยู่ได้ยังไงฮะลุง”
“นานๆลุงแมวน้ำจะเข้าข้างผมสักทีนะเนี่ย” ลิงหัวเราะบ้าง “ที่จริงผมก็สงสัยอยู่เหมือนกัน ทีแรกไม่เชื่อนักหรอก แต่เห็นว่าสวนขวดนี้สวยน่ารักดีจึงซื้อมา และพยายามพิสูจน์ดู เลี้ยงมาได้สองสัปดาห์แล้วก็ยังดีอยู่ ก็คิดว่าจะเลี้ยงไปเรื่อยๆเพื่อดูว่ามันจะอยู่ได้เป็นปีจริงหรือไม่ พวกนี้มาเห็นเข้าก็หัวเราะเยาะผม ลุงแมวน้ำอธิบายได้ไหมครับว่ามันเป็นไปได้ยังไง”
“สวนขวดนี้เรียกว่าสวนขวดระบบปิด เป็นของเล่นเก๋ๆของนักนิเวศวิทยาหรือนักพฤกษศาสตร์ที่พยายามจำลองระบบนิเวศในธรรมชาติมาไว้ในขวดแก้ว” ลุงแมวน้ำอธิบาย
“ยังไงกันจ๊ะลุง พูดให้เข้าใจง่ายๆหน่อยได้ไหม” ยีราฟถาม
“ลุงต้องเท้าความสักหน่อย ว่าในสมัยก่อน นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเรื่องราวในธรรมชาติ อย่างเช่น ชาล์ส ดาร์วิน ที่ลุงเคยคุยให้ฟังนั่นไง ดาร์วินก็สนใจในเรื่องราวของธรรมชาติ พยายามศึกษาค้นคว้าจนค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการในที่สุด” ลุงแมวน้ำพูด “นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาธรรมชาติก็สังเกตและตั้งข้อสงสัยว่าทำไมป่าจึงดำรงอยู่ได้ทั้งๆที่ไม่มีใครรดน้ำพรวนดิน ทำไมหนองน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง คือไม่มีทางน้ำไหลผ่าน จึงดำรงอยู่ได้โดยน้ำไม่เน่าเสีย ประชากรปลาก็ไม่ล้นหนองน้ำ
“ลุงถามแม่ยีราฟหน่อยว่า หนองน้ำหรือบึงน้ำที่แม่ยีราฟชอบไปเล่นน้ำน่ะ เราเห็นน้ำในบึงใสแจ๋วเห็นตัวปลา แม่ยีราฟเคยสงสัยไหมว่า ทำไมปลาในบึงน้ำไม่ขยายพันธุ์จนประชากรปลาล้นเกิน และทำไมปลาที่ตายในบึงไม่ทำให้น้ำเกิดเน่าเสีย”
“ไม่เคยสงสัยเลยจ้ะ” ยีราฟรีบตอบ “ฉันควรสงสัยเรื่องพวกนี้ด้วยเหรอ”
“เธอสงสัยหน่อยได้ไหม” ลิงพูดบ้าง “รับมุขกันหน่อย”
“อ้อ งั้นสงสัยก็ได้” ยีราฟตอบใหม่
“ปกติเรามักไม่สงสัยกันหรอก แต่นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าธรรมชาติคงความสมดุลของระบบนิเวศในหนองน้ำได้อย่างไร จึงพยายามหาคำตอบ และสร้างเป็นระบบนิเวศที่จำลองแบบมาจากธรรมชาตินำไปใส่ไว้ในขวดแก้ว อย่างในภาพนี้ คุณลุงคนนี้สามารถทำสวนโดยใส่ดินและปลูกต้นไม้ในขวดแก้วโดยปิดผนึกฝาขวดไว้ ไม่ต้องเปิดฝา ไม่ต้องรดน้ำพรวนดิน แค่ให้โดนแดดเท่านั้น ต้นไม้ในขวดก็อยู่ในสภาพนี้มาตั้งแต่ปี 1972 หรือเมื่อ 53 ปีมาแล้ว และน่าจะยังอยู่ในสภาพนี้ต่อไปได้อีกนาน ดังนั้นต้นไม้ในขวดของนายจ๋อก็น่าจะอยู่ได้หลายปีเช่นกัน”
“นี่ผมก็เพิ่งรู้ที่มาที่ไปจากลุงแมวน้ำนะเนี่ย ตอนซื้อมาก็แค่คิดว่าสวยดีและแปลกดี” ลิงพูด “แต่ว่าความลับในธรรมชาติที่ทำให้สวนขวดนี้อยู่ได้เป็นปีโดยปิดฝาไม่ต้องดูแลคืออะไรครับ”
“คือสมดุลธรรมชาติ (natural equilibrium) หรือดุลยภาพของธรรมชาตินั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “สมดุลธรรมชาตินี้เป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เมื่อกฎนี้เป็นของธรรมชาติ ดังนั้นจึงอธิบายปรากฏการณ์ได้มากมาย รวมทั้งปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหรือการลงทุนก็หนีกฎธรรมชาตินี้ไปไม่ได้เช่นกัน”
“ลุงกำลังบอกว่าสวนขวดนี้เกี่ยวกับตลาดหุ้นใช่ไหม” ลิงหัวเราะ “เหลือเชื่อไปหน่อยมั้ง”
ธรรมชาติย่อมรักษาสมดุล
“สิ่งที่เราเห็นในสวนขวดนี้คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือ ธรรมชาติย่อมรักษาสมดุลเอาไว้เสมอ การที่สวนในขวดอยู่ได้เป็นสิบปีก็เพราะภายในขวดนั้นเกิดภาวะสมดุลขึ้นนั่นเอง ต้นไม้ในขวดมีการหายใจใช้ก๊าซออกซิเจนและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และก็มีการสังเคราะห์แสงที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา มีการดูดน้ำและคายน้ำออกจากต้นไม้ ทุกอย่างอยู่ในภาวะสมดุล จึงไม่ต้องเปิดฝารดน้ำ”
“เดี๋ยวก่อนลุง แล้วต้นไม้ทำไมไม่โตล้นขวด แล้วไม่มีใบร่วงหรือไง ใบไม้ร่วงก็ต้องเกิดใบไม้เน่าเสีย แต่ทำไมขวดในรูปยังสวยปิ๊งอยู่ได้” ลิงสงสัย “น่าจะเน่าเหม็นไปนานแล้ว”
“ก็นี่ไง เหมือนในบึงน้ำไหมล่ะ ทำไมปลาในบึงไม่ล้นบึง ทำไมปลาตายในบึงแล้วน้ำไม่เน่า ก็ทำนองเดียวกันนี่แหละ” ลุงแมวน้ำพูด
“แล้วลุงอธิบายยังไงละครับ” ลิงถามอีก
“ภายในขวดไม่ได้มีแต่สิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นไม้หรอก แต่ยังไม่สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่าจุลินทรีย์อยู่ด้วย จุลินทรีย์จะคอยย่อยสลายใบไม้ที่ตายให้กลายเป็นปุ๋ยไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ ก็เหมือนกับในบึงน้ำที่ปลาตายก็มีจุลินทรีย์คอยย่อยสลาย แต่ระบบนิเวศของบึงน้ำซับซ้อนกว่าในขวดเยอะ เราอย่าเพิ่งพูดถึงบึงน้ำเลย พูดกันเฉพาะในขวดก่อน จะได้ไม่งง” ลุงแมวน้ำพูด “สรุปว่าภายในขวดที่ปิดฝานั้น มีการหมุนเวียนก๊าซ มีการหมุนเวียนความชื้น และมีการหมุนเวียนของอินทรียสารภายในขวดอย่างสมดุล ระบบจึงดำรงอยู่ได้”
“แล้วที่ลุงบอกว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นนั้นเกี่ยวกันอย่างไรจ๊ะ ฉันฟังตั้งนานแล้วยังไม่เห็นเกี่ยวเลย” ยีราฟท้วง
“ใจเย็นๆสิ เรื่องนี้ต้องค่อยๆอธิบาย” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงจะเล่าให้ฟังเดี๋ยวนี้แหละ”
สมดุลสถิตและสมดุลพลวัตร
ลุงแมวน้ำหยิบเอาภาพอีกใบหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย
“สมดุลธรรมชาติหรือว่าดุลยภาพในธรรมชาตินั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ นั่นคือ สมดุลแบบสถิต (static equilibrium) กับ สมดุลแบบพลวัตร (dynamic equilibrium)”
ตัวอย่างของสมดุลแบบสถิต (สมดุลแบบอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว) และสมดุลแบบพลวัตร (สมดุลไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ) |
“โอย มึน” ลิงบ่น “เอาง่ายๆหน่อยครับลุง”
“ธรรมชาติมีแนวโน้มรักษาสมดุลเอาไว้เสมอ ดูตัวอย่างง่ายๆที่เราอาจนึกไม่ถึง คือก้อนหินที่วางอยู่กับที่ ชุดเก้าอี้ที่วางในสวน อะไรต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่อยู่นิ่งกับที่ เหล่านี้ก็เป็นดุลยภาพในธรรมชาติเช่นกัน สมดุลที่อยู่ในภาวะอยู่นิ่งกับที่นี้เป็นแบบที่เราเข้าใจง่าย พวกนี้เรียกว่าสมดุลแบบสถิต” ลุงแมวน้ำพูด “แต่สมดุลอีกแบบหนึ่งนั้นเป็นสมดุลที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอ”
“สมดุลคือต้องนิ่งสิ เคลื่อนไหวแล้วจะสมดุลได้ยังไง แย้งกับความรู้สึกจัง” ลิงพูด
“นายจ๋อลองดูภาพคนขี่จักรยานล้อเดียวสิ” ลุงแมวน้ำพูด “การทรงตัวอยู่บนจักรยานล้อเดียวทำได้โดยขี่จักรยานเลี้ยงตัวไปเรื่อยๆ หากอยู่นิ่งเฉยจักรยานจะล้ม นี่แหละคือสมดุลแบบพลวัตร นั่นคือ ทุกจังหวะของความเคลื่อนไหวก่อให้เกิดสมดุล แต่ในขณะเดียวกัน สมดุลก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่เรางงกับสมดุลแบบเคลื่อนไหวก็ขอให้นึกถึงการขี่จักรยานล้อเดียว และสมดุลแบบพลวัตรนี่แหละที่เรานำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและอธิบายพฤติกรรมราคาในตลาดหุ้นได้”
“ยังไม่เข้าใจอยู่ดีจ้ะลุง” ยีราฟบ่น “ลุงแมวน้ำพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ได้ไหม ทำไมชอบพูดอะไรยากๆ”
“ใจเย็นๆแม่ยีราฟ” ลุงแมวน้ำปลอบ “ฟังไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็จะเข้าใจมากขึ้น
สมดุลพลวัตร ปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกกับกระต่าย
ลุงแมวน้ำล้วงภาพอีกใบหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย
ปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกและกระต่าย ตัวอย่างที่ดีสำหรับอธิบายการเกิดสมดุลแบบพลวัตร |
“ภาพนี้เป็นภาพปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกล่ากระต่าย” ลุงแมวน้ำพูด
“ลุงฮะ เปลี่ยนตัวอย่างได้ไหม ผมเสียวไส้ ใจไม่ดีเลย” กระต่ายน้อยโอดครวญ ทำท่าอกสั่นขวัญหาย
“ลุงมีแต่ตัวอย่างนี้ กระต่ายน้อยทำใจหน่อยละกัน มันแค่ตัวอย่าง ไม่ได้เกิดกับกระต่ายน้อยหรอก” ลุงแมวน้ำปลอบใจ จากนั้นพูดต่อ “ตัวอย่างนี้เป็นตัวแบบที่ใช้อธิบายสมดุลธรรมชาติ โดยสมมติว่าในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งมีแต่กระต่ายและหมาจิ้งจอก ไม่มีสัตว์อย่างอื่นเลย และหมาจิ้งจอกก็ล่ากระต่ายเป็นอาหาร
“จากกราฟ แกน Y หรือแกนซ้ายเป็นจำนวนของกระต่ายและหมาจิ้งจอก ส่วนแกน X หรือแกนนอนเป็นเวลาที่ผ่านไป เราจะสังเกตว่าในตอนต้นนั้นมีกระต่ายและหมาจิ้งจอกอยู่จำนวนหนึ่ง
“เมื่อเวลาผ่านไป กระต่ายเพิ่มจำนวนขึ้นเพราะเรารู้กันดีว่ากระต่ายขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อกระต่ายมีมากขึ้น หมาจิ้งจอกก็อิ่มหมีพีมัน ล่ากระต่ายกินจนพุงกาง เมื่ออาหารสมบูรณ์ประชากรหมาจิ้งจอกก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เมื่อหมาจิ้งจอกเพิ่มจำนวนก็กินอาหารเพิ่มขึ้น จนประชากรกระต่ายลดลง
“เมื่อเวลาผ่านไปอีก ประชากรกระต่ายลดลงมากจนหมาจิ้งจอกอดอยาก หมาจิ้งจอกก็เริ่มอดตายและกินกันเอง พอหมาจิ้งจอกลดจำนวนลงก็กินกระต่ายน้อยลง ประชากรกระต่ายก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เมื่อประชากรกระต่ายเพิ่ม หมาจิ้งจอกก็เริ่มอุดมสมบูรณ์อีก ก็ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนตาม
“จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าธรรมชาติพยายามรักษาสมดุลอยู่เสมอ เมื่ออะไรมากไปหรือน้อยไป ธรรมชาติจะพยายามปรับตัวเพื่อให้คงสมดุลเอาไว้ แต่เนื่องจากปริมาณประชากรไม่คงตัว ดังนั้นสมดุลของธรรมชาติจึงไม่อยู่นิ่ง แต่เคลื่อนตัวไปเรื่อยเช่นกัน นี่แหละคือสมดุลแบบมีพลวัตร หรือสมดุลที่เคลื่อนตัวหรือเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ
“และถ้าหากว่าเราจะสังเกตทรงของกราฟประชากรกระต่ายและกราฟประชากรหมาจิ้งจอก เราก็จะพบว่าปริมาณประชากรทั้งสองชนิดนี้เคลื่อนไหวเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำที่ต่อเนื่องกัน เห็นไหม”
“จริงด้วย” ยีราฟถึงบางอ้อ พอเข้าใจบ้างแล้วจ้ะ งั้นคุยต่อเลยลุง”
สมดุลพลวัตร จากดุลยภาพเดิมสู่ดุลยภาพใหม่
ลุงแมวน้ำล้วงภาพอีกใบหนึ่งออกมา คราวนี้เป็นภาพป่าไม้
“เราลองมาดูตัวอย่างกันอีกสักตัวอย่างหนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่แน่นแฟ้นขึ้น ลองดูภาพนี้ สมมติว่าป่าอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีสมดุลธรรมชาติอยู่แล้ว ทีนี้สมมติว่ามีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซง นั่นคือ เกิดฟ้าผ่าและไฟไหม้ป่า ป่าอันอุดมถูกเผาจนเกลี้ยง เหลือแต่ตอตะโก นั่นคือ ดุลยภาพของป่าไม้เสียหายไป แน่นอน ธรรมชาติย่อมต้องพยายามรักษาสมดุลอยู่เสมอ เมื่อดุลยภาพเดิมเสียหายไป ธรรมชาติก็จะพยายามสร้างดุลยภาพใหม่ให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม
“เราลองมาดูกันว่าหลังจากป่าไม้ถูกเผาแล้วเกิดอะไรขึ้น ธรรมชาติสร้างสมดุลใหม่ และสมดุลใหม่นั้นเกิดพลวัตรอย่างไร” ลุงแมวน้ำพูด