เมื่อวันก่อนลุงแมวน้ำได้ดูคลิปทางยูทูปอยู่คลิปหนึ่ง เนื้อหาในคลิปเป็นนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งตำหนิกระทรวงศึกษาธิการที่เขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน ก็ทำนองว่าเราจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่แล้ว แต่ทำไมเรายังสร้างแบบเรียนที่เสี้ยมสอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่เพื่อนบ้านก็ไม่ได้ถูกสอนให้เกลียดชังไทยแม้ว่าเราจะมีประวัติศาสตร์รรบพุ่งกัน ใจความของคลิปก็ทำนองนี้
ท้ายคลิปที่เป็นคอมมเมนต์ของผู้ชมคลิป ส่วนใหญ่ก็ชื่นชมนักเรียนผู้นี้ว่ากล้าแสดงออก บ้างก็ว่าฉลาดและมีความคิดกว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ
แบบเรียนประวัติศาสตร์สอนให้คนไทยเกลียดเพื่อนบ้านจริงหรือ
ประเด็นที่ลุงตั้งข้อสังเกตก็คือ นักเรียนในคลิปตำหนิกระทรวงศึกษาธิการว่าเขียนแบบเรียนที่สอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน แต่ฟังตั้งแต่ต้นจนจบคลิปก็เป็นแต่การตำหนิ แต่ไม่ได้แสดงเหตุผลหรือตัวอย่างว่าเนื้อหาส่วนใดสอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้านอย่างไร ผู้ชมที่ชมคลิปก็คงบอกไม่ได้ว่าข้อความตำหนินั้นสมควรหรือไม่ เพราะไม่ได้เห็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ว่ามีเนื้อหาดังว่าจริงหรือไม่
ลุงแมวน้ำจึงหาเวลาไปที่ร้านศึกษาภัณฑ์เพื่อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายมาอ่านดู ว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่สอนให้ผู้เรียนที่เป็นเยาวชนไทยเกลียดชังเพื่อนบ้าน ก็เลยคิดจะนำมาเรื่องนี้มาคุยกันกับพวกเรา ดังนั้น บทความเช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำในครั้งนี้จึงแปลกออกไปจากแนวทางเดิมที่ลุงเคยเขียน
ก่อนอื่นลุงแมวน้ำต้องขออธิบายก่อนว่าแบบเรียนในระดับประถม มัธยมนั้นใครจะเขียนและใช้สอนในโรงเรียนได้บ้าง แบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนมีผู้เขียนและผลิต 2 กลุ่มหลัก นั่นคือ กระทรวงศึกษาฯผลิตแบบเรียนเอง กับสำนักพิมพ์เอกชนผลิตแบบเรียนซึ่งกระทรวงศึกษาฯเห็นชอบและให้ใช้เรียนในโรงเรียนได้ ดังนั้นแบบเรียนประวัติศาสตร์นั้นที่จริงแล้วก็ไม่ใช่มีแต่กระทรวงฯเขียน ที่เป็นผลงานของสำนักพิมพ์เอกชนก็มีหลายสำนักพิมพ์ เนื้อหาเป็นไปตามเค้าโครงที่กระทรวงกำหนด ส่วนรายละเอียด ลีลาการเขียน ลีลาการนำเสนอ การทำภาพประกอบ ความสวยงามของรูปเล่ม ก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสำนักพิมพ์
ลุงแมวน้ำก็ดูทั้งแบบเรียนของกระทรวงและแบบเรียนที่สำนัพิมพ์เอกชนเขียน เพื่อหาว่าเนื้อหาส่วนใดสอนให้คนไทยเกลียดชังเพื่อนบ้านบ้าง ลองฟังความเห็นของลุงแมวน้ำก็แล้วกัน
ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์ในยุคนี้ต่างจากเมื่อสามสิบถึงห้าสิบปีก่อนพอสมควร สมัยนี้มีการพิมพ์ที่ดีขึ้น สมัยก่อนเป็นตำราขาวดำ สมัยนี้เป็นตำราสี เนื้อหาก็มีความหลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมทั้งอารยธรรมโลก ประวัติศาสตร์โลก และประวัติศาสตร์ไทย
เฉพาะในส่วนประวัติศาสตร์ไทยนั้นเท่าที่ลุงอ่านส่วนใหญ่ก็เขียนแบบเป็นกลาง คือเราคงเข้าใจกันดีว่าการเรียนนั้นประกอบด้วยการบรรยายของครูกับเนื้อหาในตำรา ลำพังเนื้อหาในตำราน่ะไม่เท่าไร แต่ส่วนประกอบที่สำคัญที่จะเสริมสร้างทัศนคติให้ไปในทางใดนั้นคือการสอนในห้องเรียนด้วย
ในยุคก่อน คือตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยเสียหายจากภัยสงคราม กำลังอยู่ในยุคฟื้นฟูชาติ อีกทั้งเป็นยุครุ่งเรืองของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน ซึ่งไทยกังวลต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมเข้ามามาก รวมทั้งในช่วงปี พ.ศ. 2517-19 เพื่อนบ้านทยอยล้ม คือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ทีละประเทศ ดังนั้นการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในยุคนั้นจึงเน้นที่การปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม
สมัยก่อนนั้นการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ลุงไม่ได้หมายถึงตำราเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเรียนในชั้นเรียน วิชาประวัติศาสตร์ไทยนั้นสร้างความรู้สึกให้แก่ผู้เรียนว่า ไทยนั้นเป็นพระเอก ชาติอื่นก็เป็นพระรองบ้าง เป็นผู้ร้ายบ้าง ก็ว่ากันไป ในศึกสงครามพระเอกถูกรังแกบ้าง ถูกทรยศบ้าง ตามไปเอาคืนบ้าง ยิ่งตอนจับผู้ทรยศมาตัดหัวเอาเลือดมาล้างเท้านั้นบรรยากาศการเรียนการสอนทำให้เกิดความรู้สึกว่าสะใจยิ่งนัก
สำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยในสมัยนี้ จากฉบับที่ลุงอ่าน ลุงว่าก็เขียนค่อนข้างเป็นกลางอยู่เหมือนกัน ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ส่วนการเรียนการสอนในสมัยนี้จะเป็นอย่างไรนั้นลุงไม่รู้ แต่ลุงมีข้อสังเกตอะไรบางอย่าง นั่นคือ จากสื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยบางเรื่องที่เน้นอุดมการณ์ชาตินิยม หนังเหล่านี้มีผู้ชมทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่นิยมกันมากมาย ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ความคิดเรื่องไทยเป็นพระเอกและเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้ายนั้นยังคงมีอยู่
ลุงแมวน้ำยังสังเกตว่าเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่มีการทำรัฐประหาร ทีวีจอดำไปพักหนึ่งเปิดแต่เพลงปลุกใจ มีบางคนก็โพสต์บอกขำๆว่าฟังเพลงปลุกใจทั้งวันแล้วฮึกเหิม ทำให้รู้สึกอยากออกไปไล่เตะชาติเพื่อนบ้าน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าหนุ่มสาวในสมัยนี้บางส่วนก็ยังมีความคิดแบบที่ว่าไทยเป็นพระเอกอยู่
ลองสังเกตดูสิว่า สำนวน เจองูกับเจอแขกให้ตีแขกก่อน นั้นยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ แม้แต่คนหนุ่มสาวในสมัยนี้ก็เชื่อในสำนวนนี้และคิดว่าชาวอินเดียไม่ค่อยน่าคบ ก็ขนาดให้ตีงูก่อนตีแขก แล้วจะน่าคบไหมล่ะ
ประวัติศาสตร์กับโลกใบใหม่
ในอดีตกาล สงครามแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรเป็นเรื่องปกติ จีนแบ่งเป็นหลายสิบแคว้นในยุครณรัฐ รบพุ่งห้ำหั่นกันเพื่อครอบครอดคว้นอื่น ยุโรปก็รบพุ่งแย่งชิงกัน มีแคว้นต่างๆมากมาย
ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรุกรานจีน เกาหลี เป็นบาดแผลของจีนและเกาหลีมาจนทุกวันนี้ แต่ทุกวันนี้ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ค้าขายกันเอิกเกริก คนจีนและเกาหลีเดินขวักไขว่ในญี่ปุ่น แต่งงานกันก็มี
แม้แต่เยอรมนีที่จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง สู้กับผ่ายสัมพันธมิตร คืออเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ผู้คนล้มตาย บ้านเมืองเสียหาย แต่ทุกวันนี้เยอรมนีเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มยูโรโซน คอยสนับสนุนเงินทุนเพื่ออุ้มชาติสมาชิกให้อยู่ร่วมในยูโรโซนได้
นั่นเป็นโลกใบเก่า เราต้องเรียนประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาตนเอง นั่นคือ เพื่อให้เข้าใจว่าสงครามนั้นเป็นเรื่องโหดร้าย มีแต่บาดเจ็บ ล้มตาย เสียหายกันทุกฝ่าย และเพื่อให้เข้าใจอดีตนั้นเราผิดพลาดอะไรไปบ้าง และจะได้ไม่ทำซ้ำเช่นนั้นอีก เราจะหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนโลกใบใหม่นี้ได้อย่างไร นั่นคือประโยชน์ของการเรียนประวัติศาสตร์
โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราต้องอยู่กับปัจจุบัน เราต้องตระหนักว่าเราไม่ใช่พระเอก ชาติอื่นเป็นเพื่อน ไม่ใช่เป็นรองเรา เราเคยรบพุ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นคืออดีต เราทำเขา เขาทำเรา มีแต่เจ็บกันทั้งสองฝ่าย เราเรียนอดีตเพื่อไม่ให้กลับไปทำแบบเดิมๆ ไม่อย่างนั้นเราจะพัฒนาชาติให้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจต่อไปไม่ได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่รวมกันเราอยู่ แยกกันอยู่ตายเดี่ยว
ชาวพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นคนรุ่นหลัง ความขัดแย้งบาดหมางของชนรุ่นก่อนหน้าเราตั้งไม่รู้กี่ชั่วรุ่นนั้นมันหมดไปนานแล้ว เราไม่ได้เกิดและโตในบริบทแบบนั้น เราเกิดและโตในยุคที่มีแต่เพื่อนบ้าน มีแต่คนบ้านใกล้เรือนเคียง มีแต่มิตร ไม่ใช่ศัตรู
ที่มา เจองูกับแขก ให้ตีแขกก่อน
เรื่องเจองูกับแขกให้ตีแขกก่อนนั้นก็เช่นกัน ทำให้คนไทยคิดว่าแขกหรือชาวอินเดียนั้นร้ายกาจยิ่งกว่างู คบไม่ได้ว่างั้นเถอะ เพราะขนาดต้องตีแขกก่อนตีงู แต่ที่จริงแล้วชาวอินเดียเป็นเพื่อนบ้านที่น่าคบ ทำการค้าด้วยได้ ถ้าเข้าใจกัน ที่นิสัยน่ารัก ใจกว้าง มีมากมาย ก็เหมือนคนไทยหรือชาติอื่นๆ ที่ดีก็มี ที่ร้ายก็มี คละกันไป
เรื่องราวความเป็นมาของสำนวนนี้มีบอกเล่ากันหลายกระแส แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำ ที่มาของสำนวนนี้มาจากในยุคที่อังกฤษครอบครองอินเดีย ชาวอินเดียที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของอังกฤษก็มี ก็เช่น มหาตมคานธี นั่นไง ในยุคที่อินเดียต่อต้านอังกฤษ ชาวอังกฤษก็ระวังตัว โดยเฉพาะชาวอินเดียสามารถเป่าปี่ให้งูเต้นระบำได้ ชาวอังกฤษก็คิดว่าชาวอินเดียมีวิชาดี สามารถบงการงูได้ ก็เกรงว่าชาวอินเดียเป่าปี่ให้งูเต้นระบำนั้นจะบงการให้งูมาทำร้ายได้ด้วย จึงเตือนกันว่าเจองูกับแขกอยู่ด้วยกัน ให้ตีแขกก่อน ไม่เช่นนั้นแขกจะบงการงูให้เข้ามาฉกได้ ที่มาก็เป็นทำนองนี้ ต่อมาความเข้าใจก็คลาดเคลื่อนกันไป กลายเป็นเข้าใจว่าแขกร้ายเจ้าเล่ห์ยิ่งกว่างู คบไม่ได้ ซึ่งที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น
หากเรายังคิดว่าเราเป็นพระเอกและดูแคลนชาติพันธุ์อื่นๆ ต่อไปเราจะอยู่ในโลกใบใหม่นี้ได้ยาก ทำงานทำการ ทำธุรกิจอะไรก็ยาก เพราะมีอคติด้านเชื้อชาติ แต่หากเปิดหัวใจ ด้วยทัศนคติฉันมิตร เราจะพัฒนาไปด้วยกันได้ง่ายขึ้นและทำให้เราเข้มแข็งขึ้นทั้งกลุ่มด้วย