Saturday, January 3, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ หมู่เกาะกาลาปาโกส กับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (2)



รับจ๊อบจนเหนื่อย ขอพักหน่อยคร้าบ ^_^


“แล้วที่ลุงบอกว่าที่หมู่เกาะนี้เป็นห้องทดลองธรรมชาติ ใช้ศึกษาปรากฏการณ์ทางวิวัฒนาการ หมายความว่ายังไงกันจ๊ะลุง” ยีราฟถามบ้าง

“ก็เพราะว่าที่นี่เป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้มนุษย์ค้นพบความลับอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ นั่นคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการน่ะสิ” ลุงแมวน้ำตอบ

“ยิ่งฟังก็ยิ่งงง” ลิงบ่น “ทีแรกบอกเป็นห้องทดลอง ที่หลังกลายเป็นกุญแจไปเสียแล้ว ตกลงหมู่เกาะนี้จะเป็นอะไรกันแน่”

“ลุงกำลังจะเล่าให้ฟังอยู่นี่ไง” ลุงแมวน้ำพูด “พวกเราเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าเผ่าพันธุ์ของพวกเรามาจากไหน ทำไมยีราฟจึงเป็นยีราฟ ทำไมลิงจึงเป็นลิง และทำไมมนุษย์จึงเป็นมนุษย์”



วิวัฒนาการของลามาร์ก ยีราฟคอยาวและหนูถูกตัดหาง 20 รุ่น



“ถามอะไรแปลกๆ ไม่เคยคิดหรอกลุง ผมคิดแต่ว่าหุ้นตัวไหนน่าซื้อ” ลิงรีบตอบ “ลิงก็เป็นลิงละมั้ง คงมีมาแต่นานเนแล้ว”

“นายจ๋อก็คิดแต่เรื่องหุ้น” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ลุงถามแม่ยีราฟบ้างดีกว่า แม่ยีราฟเคยคิดบ้างไหมว่ายีราฟนั้นเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมหน้าตาเป็นอย่างไร และหากลุงบอกว่าเผ่าพันธุ์ยีราฟแต่เดิมนั้นคอสั้นๆเหมือนม้าลาย จะเชื่อไหม”

“พวกฉันมาจากไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่หากลุงบอกว่าบรรพบุรุษของฉันเคยคอสั้นเหมือนม้าลาย ก็เชื่อยากอยู่” ยีราฟตอบ “ลุงอ่านนิยายมากเกินไปหรือเปล่า”

“พวกมนุษย์น่ะสงสัยกันมานานแล้วว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนั้นมาจากไหน ในสมัยก่อน คือเมื่อสองพันปีก่อนจนมาถึงยุคกลางหรือเมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว ซึ่งก็คือยุคที่คริสต์ศาสนามีอิทธิพลในโลกตะวันตกคือทางฝั่งยุโรป ชาวตะวันตกเชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นผลงานการสร้างของพระเจ้า นั่นก็คือ เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตแต่เดิมเป็นยังไงก็เป็นยังงั้นเรื่อยมา แต่ต่อมาเมื่อวิทยาการในโลกก้าวหน้าขึ้น บรรดานักคิดและนักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเดิมเป็นยังไงก็เป็นยังงั้นจริงหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนเปลงพัฒนาได้” ลุงแมวน้ำเล่า

“แล้วคิดกันออกมั้ยลุง” ลิงถาม

“ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนเสนอความคิดว่าสิ่งมีชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้” ลุงแมวน้ำตอบ “อย่างเช่นลามาร์ค (Lamarck, ค.ศ. 1744-1829) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยศตวรรษที่ 18 ได้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีใจความสำคัญคือสิ่งมีชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบเกิดจากการใช้และไม่ใช้”


ลามาร์ค นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 18 ลามาร์คเสนอทฤษฑีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตด้วยการใช้และไม่ใช้อวัยวะต่างๆ ซึ่งแม้แต่ลามาร์คเองก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ทฤษฎีนี้ต่อมาอีกไม่กี่สิบปีภายหลังก็ถูกหักล้างด้วยทฤษฎีของดาร์วิน แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดของลามาร์คยังเชื่อต่อๆกันมานับศตวรรษแม้แต่ในทุกวันนี้


“ยังไงกันฮะลุง ใช้และไม่ใช้” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“ทฤษฎิวิวัฒนาการของลามาร์คนั้นกล่าวว่าสิ่งมีชีวิตใช้อวัยวะอะไรมาก อวัยวะนั้นก็จะพัฒนาใหญ่โตแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และหากอวัยวะใดไม่ได้ใช้ก็จะค่อยๆลีบเล็กลง และลักษณะของอวัยวะที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นท่ายทอดสู่ลูกหลานได้ด้วย” ลุงแมวน้ำเล่า “ยกตัวอย่างเช่น ลามาร์คอธิบายคอที่ยาวเฟื้อยของยีราฟว่าเมื่อก่อนนั้นก็ไม่ยาวหรอก แต่ว่าต้องชะเง้อคอกินผลไม้จากต้นไม้สูงๆอยู่เป็นนิจสิน นานเข้าคอก็ยืดยาวออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นยีราฟคอยาวในทุกวันนี้”

“ฟังดูก็มีเหตุผล” ลิงพูด

“ทฤษฎีของลามาร์คนั้นต่อมาอีกเพียงไม่กี่สิบปีก็ถูกหักล้างโดยทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน แต่น่าแปลกที่ยังมีคนเชื่ออยู่จนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น ที่เรามักพูดกันเล่นๆว่ามนุษย์เราสมัยนี้เอาแต่จิ้มแช็ตด้วยโทรศัพท์มือถือ อีกหน่อยมือจะมีแต่นิ้วหัวแม่โป้งที่โตเบ้อเริ่ม นิ้วอื่นๆลีบไปหมด หรือที่บอกว่าเดี๋ยวนี้มนุษย์เราไม่ค่อยใช้แรงงานใช้แต่สมอง อีกหน่อยจะแขนขาลีบและหัวโตเบ้อเริ่ม คำกล่าวล้อเล่นเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนถึงความเชื่อในทฤษฎีใช้และไม่ใช้ของลามาร์ค” ลุงแมวน้ำพูด

“อ้าว มันไม่จริงยังงั้นหรอกเหรอครับ” ลิงแปลกใจ

“เรื่องน่าทึ่งก็อยู่ตรงนี้แหละ ทฤษฎีวิวัฒนาการของลามาร์คด้วยการใช้หรือไม่ใช้นั้นนั้น แม้แต่ลามาร์คเองก็พิสูจน์ไม่ได้ เป็นเพียงการคาดคะเนเอาเท่านั้น แม้จะมีผู้พยายามทดลองโดยการตัดหางหนูถึง 20 รุ่นต่อเนื่องกัน แต่หนูรุ่นที่ 21 ก็ยังมีหางยาวเข่นเดิม” ลุงแมวน้ำพูด

“อูย ทดลองอะไรกัน โหดร้าย” กระต่ายน้อยอุทาน



วิวัฒนาการของดาร์วิน กุญแจอยู่ที่นกฟินช์ในกาลาปาโกส



“การเดินทางไปสำรวจที่หมู่เกาะกาลาปาโกสของดาร์วินเมื่อเกือบ 200 ปีก่อนนี่แหละ ทำให้ต่อมาไขความลับของธรรมชาติและพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการรูปแบบไปได้อย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่นปลาวาฬนั้นเดิมเป็นสัตว์สี่ขาอยู่บนบก หรือว่าคนมีสายวิวัฒนาการร่วมกับลิง ที่เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าคนวิวัฒนาการมาจากลิงนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ

“ใช่ฮะ คนวิวัฒนาการมาจากลิง ผมเคยได้ยินมาเหมือนกัน แสดงว่าน้าจ๋อเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์” กระต่ายน้อยหัวเราะชอบใจ “แล้วกระต่ายมาจากอะไรฮะเนี่ย”

“หมู่เกาะที่ญาติลุงแมวน้ำแอ๊บแบ๊วขอปลากินเนี่ยนะที่เป็นกุญแจไขความลับ ยังงั้นเล่ามาเลยลุง” ลิงท่าทางกระตือรือร้นสนใจ “ถ้ายังงั้นผมก็มีโอกาสกลายเป็นมนุษย์ละสิ”

“ว่าไปโน่น” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin, ค.ศ. 1809-1882) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 19 เมื่อสมัยยังวัยรุ่น อายุราวๆ 17 ปี ดาร์วินเข้าเรียนในสาขาแพทยศาสตร์ แต่เมื่อเรียนไปได้สักพักก็รู้สึกว่าตนเองชอบศึกษาทางธรรมชาติวิทยามากกว่า จึงเบนเข็มชีวิตไปทางด้านธรรมชาติวิทยา


ชาลส์ ดาร์วิน ในวัยหนุ่ม

“ตอนที่อายุ 22 ปี ดาร์วินตัดสินใจเข้าร่วมเดินทางไปกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) อันเป็นเรือสำรวจทางธรรมชาติวิทยาที่เดินทางไปสำรวจยังดินแดนต่างๆรอบโลกซีกใต้ เดิมทีดาร์วินคาดว่าการเดินทางสำรวจน่าจะกินเวลาประมาณ 2 ปี แต่ที่ไหนได้ กลายเป็นว่าต้องผจญภัยและสำรวจไปในดินแดนต่างๆรอบโลกนานถึง 5 ปี


เรือบีเกิลซึ่งเป็นเรือสำรวจทางด้านวิทยาศาสตร์ ออกเดินทางสำรวจซีกโลกภาคใต้เป็นเวลา 5 ปี ในช่วง 1831-1836 โดยชาล์ส ดาร์วิน ร่วมเดินทางไปด้วย

“ดาร์วินออกเดินทางจากเมืองพลีมัท ประเทศอังกฤษในปลายปี 1831 อ้อมทวีปอเมริกาใต้ ผ่านหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ และอ้อมขึ้นไปที่หมู่เกาะกาลาปาโกส จากนั้นเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังทวีปออสเตรเลีย ผ่านไปมหาสมุทรอินเดีย และเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก อ้อมผ่านทวีปแอฟริกา แวะที่อเมริกาใต้อีกครั้ง จากนั้นก็กลับอังกฤษ กว่าจะกลับถึงบ้านก็ปี 1836 โน่น”


เส้นทางเดินเรือสำรวจรอบโลกซีกใต้ของเรือบีเกิลเมื่อราว 200 ปีมาแล้ว

“ฟังแล้วน่าสนุกจังฮะ ผมอยากไปผจญภัยแบบนั้นบ้าง” กระต่ายน้อยกระดิกหางดุ๊กดิ๊กอย่างกระตือรือร้น

“เรือลำนี้เป็นโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยาไปกับเรือด้วยมากมาย ดังนั้น นอกจากหนุ่มน้อยดาร์วินจะต้องทำงานเก็บตัวอย่างพืช สัตว์ ฟอสซิล และวาดภาพและจดบันทึกสิ่งต่างๆที่พบแล้วยังได้เพิ่มพูนความรู้ต่างๆอย่างกว้างขวางจากเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมในเรือไปด้วย เช่น ชีววิทยา กีฏวิทยา (เกี่ยวกับแมลง) บรรพชีวินวิทยา (เกี่ยวกับฟอสซิล) ธรณีวิทยา ฯลฯ

“จากการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการสังเกตสิ่งมีชีวิตที่พบในดินแดนต่างๆ เมื่อดาร์วินมองในภาพกว้างก็พบว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ต่างถิ่นกันจะมีรูปลักษณะแตกต่างกัน แม้ว่าสองถิ่นที่อยู่จะมีภาพแวดล้อมและภูมิอากาศคล้ายกัน แต่สิ่งมีชีวิตที่พบกลับไม่เหมือนกัน และดาร์วินยังสังเกตพบว่าระดับความสูงของถิ่นที่อยู่กับที่ตั้งตามแนวเส้นรุ้งมีผลต่อความผันแปรของสิ่งมีชีวิต

“นอกจากนี้ บรรดาซากโบราณที่มีอายุต่างๆกันซึ่งทับถมในถิ่นเดียวกันก็มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน ดาร์วินเริ่มสงสัยว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ต่างยุคกันมีความเชื่อมโยงกันแต่ยังไปต่อไม่ถูก

“โดยเฉพาะเมื่อดาร์วินมาถึงหมู่เกาะกาลาปาโกส ดาร์วินสังเกตพบว่าเกาะที่ประกอบกันเป็นหมู่เกาะกาลาปาโกสนั้นแต่ละเกาะมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน บางเกาะแล้ง บางเกาะอุดมสมบูรณ์ บางเกาะเป็นภูเขา บางเกาะอยู่ที่ระดับน้ำทะเล พืชและสัตว์ในแต่ละเกาะก็แตกต่างกัน


หมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นหมู่เกาะที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟและคาดว่าโผล่พ้นน้ำเป็นเกาะเมื่อราว 5 ล้านปีถึง 10 ล้านปีมาแล้ว 

“กุญแจสำคัญก็คือนกฟินช์ (finch) อันเป็นนกขนาดเล็ก ซึ่งก็คือกลุ่มนกกระจิบนกกระจอกนั่นเอง ดาร์วินพบว่านกฟินช์ที่กระจายอยู่ตามเกาะต่างๆในหมู่เกาะกาลาปาโกสมีหลายชนิด ซึ่งต่อมาภายหลังจำแนกได้ประมาณ 14 สปีชีส์ ความแตกต่างที่เด่นชัดคือจงอยปากที่แตกต่างกัน และยิ่งไปกว่านั้น จงอยปากที่แตกต่างกันนั้นผันแปรไปตามสภาพอาหารของแต่ละเกาะ เช่น จงอยปากใหญ่และสั้นเหมาะกับการกินเมล็ดผลไม้ขนาดใหญ่ จงอยปากขนาดกลางเหมาะกับการกินเมล็ดผลไม้ขนาดเล็ก และจงอยบางเล็กยาวเหมาะกับการกินแมลง เป็นต้น ทำไมนกฟินช์ตามเกาะต่างๆจึงมีจงอยปากที่ผันแปรไปตามความเหมาะสมกับแหล่งอาหาร และเดิมทีนกเหล่านี้มีบรรพบุรุษเดียวกันหรือไม่


ภาพแสดงเส้นทางการสำรวจของดาร์วินไปตามเกาะต่างๆในหมู่เกาะกาลาปาโกส พร้อมพื้ชและสัตว์ที่ดาร์วินพบบนเกาะในสมัยนั้น (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดขยาย)


ภาพสเก็ตช์นกฟินช์บนเกาะกาลาปาโกสแสดงให้เห็นลักษณะจงอยปากที่แตกต่างกัน 4 ชนิด ฝีมือการวาดของดาร์วินเอง

ภาพโปสเตอร์นกฟินช์ 14 สปีชีส์บนเกาะกาลาปาโกสในปัจจุบัน สังเกตลักษณะของหัวนกและลักษณะของจงอยปากที่แตกต่างกัน ความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแหล่งอาหาร ซึ่งนกฟินช์เหล่านี้คือกุญแจที่ทำให้ดาร์วินสามารถสืบสาวจนไขความลับของธรรมชาติเรื่องการวิวัฒนาการได้ในเวลาต่อมา ซึ่งในยุคนั้นเป็นแนวคิดที่ท้าทายศาสนจักรมาก (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดขยาย)

“ดาร์วินในวัยหนุ่มยังไม่ได้คำตอบในตอนนั้น หลังจากที่กลับบ้านไปแล้วและศึกษาค้นคว้าต่ออีกราว 20 ปีจึงได้คำตอบ นั่นก็คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินนั้นมีคำอธิบายและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ในยุคต่อมายังพบหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีนี้อย่างต่อเนื่องและต่อยอดขยายความทฤษฎีนี้ต่อไปอีก จนเป็นทฤษฎีที่ยึดถือและใช้อธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน โดยยังไม่มีหลักฐานที่หักล้าง

“ลุงแมวน้ำขอรวบรัดสรุปทฤษฎีวิวัฒนาการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็แล้วกัน ว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ

ข้อแรก สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงเผ่าพันธุ์
ข้อสอง สิ่งมีชีวิตเกิดการผ่าเหล่า
ข้อสาม เกิดการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ”

“ยังไงกันฮะลุง ยังไม่เข้าใจ” กระต่ายน้อยทำหน้างุนงง

“นี่ลุงสรุปให้ฟังก่อนไง กำลังจะอธิบายขยายความให้ฟังต่อไป รวมทั้งการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจด้วย” ลุงแมวน้ำตอบ

Wednesday, December 31, 2014

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ หมู่เกาะกาลาปาโกสกับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (1)




ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2014 และต้อนรับปีใหม่ 2015 นี้มีวันหยุดอยู่หลายวัน สมาชิกในคณะละครสัตว์บางส่วนก็ลากลับภูมิลำเนา บางส่วนก็อยู่รับงานจ๊อบ ช่วงนี้เป็นเทศกาลแห่งความสุขดังนั้นจึงมีจ๊อบให้แสดงอยู่ไม่น้อย ส่วนลุงแมวน้ำก็ไม่ได้ไปไหน อยู่คอยรับงานแสดงและพักผ่อนที่โขดหิน ช่วงนี้อากาศเย็นสบายน่าพักผ่อนเสียด้วย ^_^

ในเช้าวันหยุดนี้ ลุงแมวน้ำได้จัดกิจกรรมเล็กๆให้แก่บรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์ นั่นคือ การพาเที่ยวเกาะกาลาปาโกส ก็ไม่ได้พาเที่ยวจริงๆหรอก แต่เป็นการพาเที่ยวทางจอทีวี

“เกาะกาลาปาโกส ชื่อแปลกๆ เกาะนี้มีอะไรดีหรือลุง” ยีราฟสาวจอมวิตกจริตถามขณะที่ลุงแมวน้ำกำลังเตรียมการบรรยายอยู่ในศาลาชมสวน ขณะนี้บรรดาสมาชิกรอชมกันพร้อมพรั่ง แต่ลุงแมวน้ำยังเตรียมอุปกรณ์ไม่เสร็จ

“มีแมวน้ำและสิงโตทะเลเยอะ” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้อ บ้านเก่าของลุงละสิ” ลิงถามบ้าง

“พูดซะ” ลุงแมวน้ำแย้ง “ถิ่นที่อยู่เดิมน่ะเขาเรียกบ้านเดิม ไม่ได้เรียกบ้านเก่า”

“อ้าว บ้านเก่ากับบ้านเดิมนี่ไม่เหมือนกันหรือลุง” ลิงสงสัย

“ไม่เหมือน” ลุงแมวน้ำยืนยัน “เพราะเวลากลับบ้านนั้น วลี กลับบ้านเก่า กับ กลับบ้านเดิม มีความหมายไม่เหมือนกัน ลุงยังไม่อยากกลับบ้านเก่า”

“อ๋อ เข้าใจแระ” ลิงหัวเราะขำ “เล่นมุขก็ไม่บอก ฮิฮิ”

“แต่ที่จริงเกาะกาลาปาโกสไม่ใช่บ้านเดิมของลุงหรอก แมวน้ำที่นั่นเป็นพวกแมวน้ำขนเฟอร์ (fur seal) ญาติของลุง” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วเกาะนี้มีอะไรดี ลุงถึงเอามาทำเป็นสารคดีท่องเที่ยวเล่าให้พวกเราฟังละจ๊ะ” ฮิปโปสาวถามบ้าง

“หมู่เกาะนี้มีความสวยงาม อีกทั้งยังเป็นเกาะอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ องค์การยูเนสโกจัดให้เป็นมรดกโลกทีเดียวนะ และที่สำคัญก็คือ หมู่เกาะนี้แหละ ที่เป็นสถานที่สำคัญที่ช่วยให้ชาลส์ ดาร์วิน ไขความลับอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้เรื่องหนึ่ง นั่นคือ เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต” ลุงแมวน้ำตอบ

“ว้า นึกว่าจะที่โน่นมีหุ้นที่น่าลงทุนอะไรทำนองนั้น” ลิงทำหน้าผิดหวัง “นี่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนหรอกหรือครับ"

“อะไรจะหายใจหายคอเป็นการลงทุนขนาดนั้น นี่วันหยุดก็คุยกันเรื่องเบาๆบ้างสิ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “แต่จะว่าไปเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับการลงทุนอยู่นะ”

“เกี่ยวยังไงครับลุง” ม้าลายถามบ้าง

“ทฤษฎีวิวัฒนาการนั้นเป็นกฎธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่หนีพ้นกฎของธรรมชาติไปได้ ดังนั้นพฤติกรรมของตลาดหุ้นก็เช่นกัน ก็เหมือนเลขฟิโบนาชชี หรือโค้งระฆังคว่ำนั่นแหละ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นกฎธรรมชาติที่เมื่อเราเข้าใจก็สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการลงทุนหรือในการทำธุรกิจได้” ลุงแมวน้ำตอบ “เพียงแต่ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆฟังลุงเล่าไปเรื่อยๆ ลุงก็พาเที่ยวไป เล่าโน่นเล่านี่ไป ไม่อยากให้เป็นวิชาการหนักๆ”

“ถ้าเกี่ยวกับการลงทุนละก็น่าสนใจขึ้นมาเชียว ยังงั้นเล่าเลยครับลุง” ลิงเร่ง

“โอ๊ย เมื่อไรจะบรรยายฮะลุงแมวน้ำ ผมกินแครอทรอไปหลายแท่งแล้วฮะ” กระต่ายน้อยเริ่มบ่น “มัวแต่คุย”

“ใจเย็นๆสิ เอาละ ลุงพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลย” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำท่าทางน่าเอ็นดูของกระต่ายน้อย

เมื่อราวสามสิบปีก่อน การบรรยายที่มีภาพสวยๆประกอบดังเช่นสารคดีท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ขั้นแรกคือต้องเอาภาพสวยๆเหล่านั้นมาถ่ายเป็นฟิล์มสไลด์เสียก่อน นั่นคือต้องมีกล้องถ่ายรูป จากนั้นนำฟิล์มสไลด์แต่ละรูปมาใส่ในกรอบกระดาษ เมื่อจะใช้งานก็ต้องมีเครื่องฉายสไลด์ อีกทั้งยังต้องมีจอภาพสำหรับฉายสไลด์อีกด้วย การเตรียมสารคดีท่องเที่ยวสักสิบหรือยี่สิบภาพนั้นอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์และเสียเงินไม่น้อย แต่เดี๋ยวนี้ชีวิตง่ายขึ้นมากอย่างเหลือเชื่อ แค่ค้นหารูปจากอินเทอร์เน็ต จากนั้นใช้โปรแกรมพวกสร้างแกลเลอรี่เรียงร้อยภาพเข้าด้วยกันเป็นชุด เวลาจะใช้งานบรรยายก็มีเพียงแค่แท็บเล็ตต่อกับทีวี แค่ครึ่งชั่วโมงก็เตรียมรูปให้พร้อมบรรยายได้แล้ว

“เอาละนะ ลุงจะเริ่มแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงจะฉายภาพพร้อมกับเล่าเรื่องให้ฟัง ก็มีทั้งภาพท่องเที่ยวและที่เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ ได้ทั้งความบันเทิงและความรู้ไปด้วย”


หมู่เกาะกาลาปาโกสอยู่ที่ใด





“ใครรูบ้างว่าเกาะกาลาปาโกสอยู่ที่ไหน” ลุงแมวน้ำถามหลังจากฉายภาพแรกขึ้นในจอทีวีขนาด 40 นิ้ว บรรดาสมาชิกร้องอู้ฮูในความสวยงาม

“ยังกะเกาะสิมิลัน สงสัยอยู่ในทะเลอันดามันละมั้ง” ลิงจ๋อเดา

“ผิดนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำตอบ “เกาะกาลาปาโกสนี้ที่จริงต้องเรียกว่าหมู่เกาะ เพราะว่าไม่ได้มีเพียงเกาะเดียว หมู่เกาะกาลาปาโกส (Galápagos Islands) นี้เป็นส่วนหนึ่งของ ประเทศเอกวาดอร์ (Ecuador) ในทวีปอเมริกาใต้ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก”




“โอ้โฮ อยู่ไกลจากประเทศไทยมากเลย แล้วจะไปเที่ยวกันไหวมั้ยเนี่ย คงแพงน่าดู ลุงแมวน้ำเคยไปหรือยัง” ลิงถามอีก

“อยู่ไกลจากประเทศไทยมาก” ลุงแมวน้ำตอบ “หากวัดระยะทางจากกรุงเทพฯไปยังเมืองกิโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ ก็ราวๆ 18,500 กิโลเมตรทีเดียว ส่วนหมู่เกาะกาลาปาโกสนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งเอกวาดอร์ออกไปอีกประมาณ 1,000 กม รวมแล้วก็ร่วมๆ 20,000 กิโลเมตร หากนั่งเครื่องบินก็ต้องบินกันราว 36-40 ชั่วโมง ต่อเครื่องหนึ่งถึงสองครั้งแล้วแต่สายการบิน เดี๋ยวนี้บ้านเรามีทัวร์ไปยังหมู่เกาะกาลาปาโกสแล้ว ค่าทัวร์ประมาณ 300,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ลุงเองก็ยังไม่เคยไป แต่ก็เป็นความฝันเล็กๆของลุงประการหนึ่ง”


ประเทศเอกวาดอร์และหมู่เกาะกาลาปาโกส สวรรค์ของผู้แสวงหาธรรมชาติ





“หมู่เกาะกาลาปาโกสนี้เป็นหมู่เกาะที่ประกอบด้วยเกาะหลัก 19 เกาะ และโขดหินอีกราว 40 โขด ในส่วนที่เป็นเกาะหลักนั้นเป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ 5 เกาะ






“หมู่เกาะกาลาปาโกสนั้นอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย แต่อยู่กันคนละซีกโลก มีพืชและสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเต่ายักษ์ ซึ่งชื่อ Galápagos นั้นมาจากภาษาสเปนโบราณ Galápago หมายถึงเต่า และชื่อประเทศ Ecuador ก็หมายถึงอีเควเตอร์ (equator) หรือเส้นศูนย์สูตรนั่นเอง เห็มไหมว่าทั้งชื่อประเทศและชื่อเกาะล้วนแต่มีที่มาทั้งนั้น






“เราแวะมาพูดถึงประเทศเอกวาดอร์บนแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาใต้กันก่อน แล้วค่อยไปต่อ ประเทศเอกวาดอร์ตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกัน เคยเป็นอาณานิคมของสเปนมาก่อน ดังนั้นแม้ในปัจจุบันภาษาทางการของเอกวาดอร์จึงเป็นภาษาสเปน แต่ทว่าเงินตราของเอกวาดอร์กลับใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา มีเมืองหลวงชื่อกีโต (Quito)

“เอกวาดอร์มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทยแต่มีประชากรเพียง 16 ล้านคน ส่วนหมู่เกาะกาลาปาโกสนั้นมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของกรุงเทพฯแต่มีประชากรเพียง 20,000 คน

“ทางด้านเศรษฐกิจนั้นประเทศเอกวาดอร์มีจีดีพีต่อหัว 5,310 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งสูสีกับประเทศไทย ดังนั้นความเจริญของชุมชนเมืองจึงมีไม่น้อยเลยทีเดียว






“กลับมาพูดถึงหมู่เกาะกาลาปาโกสกันต่อ หมู่เกาะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกมาสิบกว่าปีแล้ว ความโดดเด่นของหมู่เกาะกาลาปาโกสคือมีสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกเทศ ค่อนข้างตัดขาดจากโลกภายนอก อีกทั้งมีความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ประกอบกันทำให้กาลาปาโกสเป็นเสมือนห้องทดลองทางธรรมชาติวิทยาที่ใช้ศึกษาปรากฏการณ์ทางด้านวิวัฒนากรของสิ่งมีชีวิตได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันหมู่เกาะนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เนื่องจากถูกภัยคุกคามจากมนุษย์ มีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยที่สูญพันธุ์ไปแล้วและกำลังสูญพันธุ์






“ไหนว่าที่นี่มีสิงโตทะเลและแมวน้ำไงฮะ ยังไม่เห็นเลย” กระต่ายน้อยถาม


สิงโตทะเลแอ๊บแบ๊ว



“มีสิ นี่ไง” ลุงแมวน้ำตอบพลางเลื่อนภาพไปยังภาพต่อไป “ที่นี่มีแมวน้ำและสิงโตทะเลเยอะทีเดียว แมวน้ำชนิดที่มีมากคือแมวน้ำเฟอร์ (fur seal) แมวน้ำกับสิงโตทะเลเป็นญาติที่ใกล้ชิดกันมาก หากไม่คุ้นเคยบางทีก็แยกไม่ออก สิงโตทะเลค่อนข้างคุ้นเคยกับผู้คนมากกว่า ส่วนแมวน้ำจะอยู่ห่างๆ ดังนั้นที่เห็นป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆคนมักเป็นสิงโตทะเล ลองดูคลิปนี่สิ




“นี่เป็นคลิปที่ตลาดปลาในหมู่เกาะกาลาปากอส สิงโตทะเลกับนกพิลิแกนทำเนียนมาขอปลากินฟรีๆ ซึ่งพ่อค้าแถวนั้นก็คุ้นเคยดีและมักเลี้ยงปลาให้เป็นประจำ ทำให้เกิดภาพน่ารักๆแบบในคลิปนี้ และนี่แหละที่ทำให้ผู้ที่หลงใหลในธรรมชาติอยากมาเที่ยวที่เอกวาดอร์และหมู่เกาะกาลาปากอส”