Monday, December 15, 2014

สงครามราคาน้ำมันดิบและกลยุทธ์การลงทุน (1)






เช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะที่ลุงแมวน้ำกำลังนั่งจิบกาแฟอ่านหนังสืออยู่บนโขดหินก็ได้ยินเสียงกุบกับๆ เสียงนั้นดังเข้าใกล้อย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็เห็นยีราฟสาวกำลังห้อตะบึงมาทางโขดหินพร้อมกับลิงจ๋อนั่งอยู่บนหลัง ทั้งสองมีสีหน้าแตกตื่น

“กรี๊ด” ยีราฟกรีดร้องเสียงดัง “แย่แล้วลุงแมวน้ำ ทำยังไงดี”

“แล้วลุงจะรู้ไหมเนี่ยว่าเรื่องอะไรกัน” ลุงแมวน้ำละสายตาจากหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ “จู่ๆก็ร้องเอะอะวิ่งเข้ามา”

“ราคาน้ำมันดิบดิ่งโลก” ลิงจ๋อพูดด้วยน้ำเสียงแตกตื่น “หุ้นตกกันวินาศสันตโร”


ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2014 และปรับตัวลงแรงในช่วงปลายปี


“สัปดาห์ที่แล้วหุ้นตกไปหลายสิบจุดก็รู้กันแล้วนี่ ทำไมเพิ่งจะมาตกใจล่ะ” ลุงแมวน้ำยังงุนงง

“ก็ใช่ แต่นั่นหุ้นตกเฉยๆแต่ว่าตอนนี้ข่าวออกมาแล้วว่านี่อาจเป็นวิกฤตราคาน้ำมันที่ตกต่ำอาจพาให้เศรษฐกิจโลกดิ่งเหว” ลิงจ๋อพูดละล่ำละลัก “คราวนี้ได้พังกันเป็นแถบๆ”

“พอร์ตของฉันแดงเถือกไปหมดเลย กรี๊ดดดดด” ยีราฟร้องอีก

ลุงแมวน้ำรีบหยิบที่อุดหูแบบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมออกมาอุดหูเอาไว้

“ใจเย็นๆแม่ยีราฟ อย่าเพิ่งเอะอะไป เดี๋ยวลุงหูหนวกกันพอดี เสียงแม่ยีราฟเกิน 120 เดซิเบลแล้วมั้งเนี่ย” ลุงแมวน้ำพูด แล้วหันมาทางลิงจ๋อ “แล้วที่นายจ๋อพูดนี่มันยังไงกัน พอน้ำมันแพงก็บอกเศรษฐกิจโลกจะดิ่งเหว นี่น้ำมันถูกยังบอกเศรษฐกิจโลกจะดิ่งเหวอีก ทำไมถึงได้ดิ่งเหวง่ายนัก เศรษฐกิจโลกนะไม่ใช่บันจี้จัมพ์”

“โอ๊ย ลุงแมวน้ำไม่ได้ติดตามข่าวเลยหรือไง” ลิงพูดด้วยน้ำเสียงตำหนิ “เห็นลุงอ่านหนังสือผมยังนึกว่าลุงอ่านพวกข่าว วิเคราะห์เศรษฐกิจอยู่เสียอีก”

“เปล่า ลุงกำลังดูรายการแสดงสตรีตโชว์ที่สวนลุมอยู่ กำลังวางแผนว่าเย็นนี้ลุงจะไปดูการแสดงอะไรบ้าง” ลุงแมวน้ำตอบ

“ตลาดหุ้นแดงเดือด เศรษฐกิจโลกจะพังอยู่แล้ว ลุงแมวน้ำยังใจเย็นดูการแสดงได้อีก” ลิงพูด

“ราคาน้ำมันดิ่งทำไมหุ้นโทรศัพท์ของฉันต้องดิ่งไปด้วยล่ะ” ยีราฟปล่อยโฮออกมา “แล้วฉันจะทำยังไงดี”

“นายจ๋อเล่าให้ลุงฟังหน่อยสิ ว่าราคาน้ำมันดิบตกต่ำแล้วทำให้เศรษฐกิจโลกพังได้ยังไง” ลุงแมวน้ำถาม “แม่ยีราฟให้นายจ๋ออธิบายมาก่อน อย่าเพิ่งตกใจ ตอนนี้อย่าว่าแต่หุ้นโทรศัพท์ของมียีราฟเลย หุ้นดาวเทียม ไฟฟ้า น้ำประปา โรงพยาบาล ธนาคาร บ้าน คอนโด ฯลฯ อะไรก็ลงไปหมดนั่นแหละ”

“ก็เท่าที่อ่านข่าวและบทวิเคราะห์เศรษฐกิจ สรุปได้ว่าราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งเหวนี้เป็นสงครามราคา กลุ่มโอเปกต้องการสกัดเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดาน จึงลดราคาน้ำมันดิบลงอย่างฮวบฮาบ” ลิงจ๋ออธิบาย

“แล้วเศรษฐกิจโลกจะดิ่งเหวได้ยังไง น้ำมันราคาถูกน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่านะ” ลุงแมวน้ำแย้ง

“ลุงยังไม่รู้อะไร” ลิงพูด “ราคาน้ำมันดิบที่ต่ำมากจะทำให้บริษัทที่ผลิตเชลออลย์เจ๊งได้ หุ้นพลังงานถึงได้ดิ่ง นี่ทำให้ตลาดหุ้นเสียหายและนักลงทุนเสียหายได้มากมายเชียวนะลุง” ลิงอธิบาย “ยังมีอีก ราคาน้ำมันดิบต่ำอาจทำให้ยุโรปอยู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำจนอาจถึงขั้นเงินฝืดได้ คราวนี้ปัญหายุโรปจะยิ่งแก้ไม่ออก รวมทั้งบางประเทศอาจถึงขั้นถังแตกและต้องผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรก็ได้ อย่างเช่นรัสเซีย ถ้ายุโรปและรัสเซียเกิดวกฤติเศรษฐกิจขนาดนั้นก็จะพาให้เศรษฐกิจโลกดิ่งเหวได้”

“นี่นายจ๋อมองในทางร้ายเกินไปไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“เท่าที่อ่านมาผมว่าก็มีเหตุผลนะ ดูอย่างวิกฤติราคน้ำมันดิ่งในปี 2008 สิลุง ตอนนั้นโลกก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่หรือ” ลิงตอบ


ราคาน้ำมันดิบดิ่งโลกปี 2008 ครั้งนั้นต่างจากครั้งนี้


“เอาละ ลุงเข้าใจแนวความคิดของนายจ๋อแล้ว แต่ว่าจากสถานการณ์ที่เกิดตรงหน้านี้ แต่ละคนก็ย่อมพยายามหาเหตุผลมาอธิบาย และพยายามคาดการณ์ข้างหน้ากันไปต่างๆนานา ลองมาฟังมุมมองของลุงแมวน้ำดูบ้างไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“พูดแบบนี้แสดงว่าลุงคิดไม่เหมือนกับผม” ลิงพูด “ลุงลองว่ามาสิครับ”

“แต่ฉันเชื่อเหตุผลของนายจ๋อนะลุง” ยีราฟเสริมขึ้นบ้าง น้ำตายังรื้นอยู่ที่ดวงตา “ฉันว่ามันคงแย่จริงๆนั่นแหละ”

“ก่อนอื่นเรามาดูราคาน้ำมันดิบในอดีตกันก่อน” ลุงแมวน้ำพูดพลางล้วงเอากระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย “นี่เป็นราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ของตลาดสหรัฐอเมริกา”




หลังจากที่ลุงแมวน้ำกางกราฟราคาน้ำมันดิบให้ลิงและยีราฟดูจึงพูดต่อ

“เราคงต้องมาทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของการที่ราคาน้ำมันดิ่งในช่วงปี 2008 ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ก็ไม่ได้เป็นส่วนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งโดยตรง เรื่องของเรื่องมาจากการแข่งขันโอลิมปิกของจีนเป็นประเด็นหลัก”

“เอ๊ะ ยังไง ลุง ทำไมถึงได้เป็นยังไง ไม่เหมือนกับที่ผมได้ยินมาเลย” ลิงงง

“จีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งในปี 2008 ก่อนหน้านั้นหลายปีจีนมีการเตรียมการ ระดมสร้างสนามกีฬา ที่พัก และสาธารณูปโภคอื่นๆเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ จีนนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆทั้งน้ำมันดิบ วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะแรงเก็งกำไร ตอนต้นปี 2007 ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล แต่พอถึงกลางปี 2008 ราคาน้ำมันดิบ WTI กลายเป็น 140 ดอลลาร์กว่าๆ เมื่อการเตรียมการต่างๆเสร็จสิ้นลง ความต้องการที่มากผิดปกติก็หมดไป ราคาน้ำมันดิบจึงเริ่มดิ่งเหว ประกอบกับพิษของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เข้ามาผสมด้วย ทำให้ความต้องการใช้พลังงานของอเมริกากับยุโรปลดลง แต่นั่นแค่เหตุการประกอบ จริงๆแล้วเกิดจากแรงเทขายหลังโอลิมปิกของจีนทำให้ตลาดเกิดความแตกตื่น ยิ่งแตกตื่นราคาก็ยิ่งดิ่ง ดังนั้น แค่เพียงไม่กี่เดือนในช่วงปลายปี 2008 ราคาน้ำมันดิบก็ดิ่งลงจาก 140 ดอลลาร์ สรอ/บาเรลเหลือเพียง 37 ดอลลาร์เท่านั้น ตอนนั้นมีนักลงทุนและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่ขาดทุนจากสต็อกน้ำมันดิบและการเทรดน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก นั่นคือที่มาที่ไปของวิกฤตราคาน้ำมันเมื่อปี 2008

“ที่จริงไม่ได้ดิ่งเหวแต่เพียงน้ำมันดิบเท่านั้น แต่สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ทั้งถ่านหิน โลหะอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร ค่าระวางเรือ ล้วนแต่ดิ่งเหวกันหมด ซึ่งสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดิ่งเหวในปี 2008 ต่างจากตอนนี้ ตอนนั้นเกิดจากการเก็งกำไรกันอย่างหนักจนราคาไล่ขึ้นไปสูงมาก จากนั้นจึงถูกทิ้งลงมา แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบไม่ได้เก็งกำไรกันอย่างหนัก แต่เกิดจากการมีสินค้าทดแทนเข้ามาทำให้เกิดสงครามราคาขึ้น”


วิกฤตราคาน้ำมันดิบ 2014 เมื่อโอเปกเปิดสงครามราคาสกัดดาวรุ่ง


“มันยังไงกันจ๊ะลุง สินค้าทดแทนกับสงครามราคาน่ะ” ยีราฟถามขึ้นบ้าง หลังจากที่สงบสติอารมณ์ได้แล้ว

ลุงแมวน้ำอธิบายต่อว่า

“หากมองกันในเชิงธุรกิจ การผลิตน้ำมันดิบเพื่อขายจัดว่าเป็นธุรกิจชนิดหนึ่งโดยมีสินค้าคือน้ำมันดิบ ดังนั้นเราสามารถเอาหลักการตลาดเข้ามาวิเคราะห์สถานการณ์ได้ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เรียกว่าสงครามราคา หรือสงครามตัดราคา

“สงครามราคาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างแรงและต้องการเงินสดเอาไว้ใช้จ่าย เมื่อธุรกิจไม่ดีหรือขายสินค้าเงินเชื่อไปมากๆ ไม่มีเงินสดเลย มีแต่เงินเชื่อ จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ทางหนึ่งที่ทำได้ก็คือเอาสินค้าในโกดังมาขายราคาถูกๆ ขาดทุนไม่ว่า ขอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน คือขอให้ได้เงินสดมาก่อน

“กับอีกกรณีก็คือการมีสินค้าชนิดอื่นที่มีความใกล้เคียงกันเข้ามาในตลาด ก็ต้องมีการแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป รายหนึ่งแย่งตลาดไป รายอื่นก็ต้องแย่งคืนมา กลยุทธ์อย่างหนึ่งก็คือการลดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดกลับมา

“ทั้งสองกรณีนี้เมื่อมีรายหนึ่งลดราคา รายอื่นก็ต้องลดราคาตาม ลดกันไปลดกันมานั่นก็คือสงครามตัดราคานั่นเอง

“กับอีกกรณีหนึ่งก็คือการที่ปลาใหญ่ต้องการกินปลาเล็ก นั่นคือ ในสินค้าที่มีความใกล้เคียงกันและทดแทนกันได้ รายใหญ่ที่มีทุนหนา สายป่านยาว ใช้กลยุทธ์สงครามตัดราคา ทำให้รายเล็กที่สายป่านสั้นกว่าอยู่ไม่ได้และออกจากตลาดไป

“ทั้งสามกรณีหากเกิดขึ้นเป็นระยะสั้น ผลดีจะเกิดแก่ผู้ใช้สินค้าหรือผู้บริโภค นั่นคือ ได้ใช้ของราคาถูก แต่หากการตัดราคาเกิดขึ้นเนิ่นนานเกินไป จนผู้ประกอบการรายเล็กอยู่ไม่ได้ สุดท้ายตลาดจะถูกผูกขาดโดยรายใหญ่ ซึ่งอาจเป็นรายใหญ่รายเดียวหรือรายใหญ่ไม่กี่รายที่ฮั้วราคากันได้ ซึ่งถึงตอนนั้นตลาดถูกผูกขาดแล้วนี่ จะขึ้นราคาอย่างไรก็ได้ตามใช้ชอบ ผู้บริโภคก็เสียประโยชน์แล้วล่ะ”

“ฟังดูเข้ากับเหตุการณ์ราคาน้ำมันนี้อยู่เหมือนกันนะครับลุง” ลิงจ๋อว่า “สินค้าที่เข้ามาใหม่คือเชลออยล์ (shale oil) ผู้ที่ต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้คือน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ชิมิ ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่าโอเปกต้องการกำจัดเชลออยล์ให้ออกจากตลาดไปและผูกขาดตลาดเอาไว้เหมือนดังเดิมละสิ”

“พอเข้าเค้า แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด “เพราะว่าน้ำมันไม่ใช่สินค้าหรือธุรกิจทั่วไป เรื่องการตัดราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดนั้นสามารถทำให้ประสบผลได้ แต่หากโอเปกต้องการกำจัดเชลออยล์ให้หมดไปจากโลกนั้นทำไม่ได้หรอก และผูกขาดตลาดน้ำมันดิบเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากเรื่องพวกนี้เกี่ยวกับความมั่นคงของพลังงาน ซึ่งรัฐต้องให้การสนับสนุน ดังนั้นแม้ว่าโอเปกจะตัดราคาอย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตเชลออยล์อาจมีเจ๊งไปบ้าง แต่เมื่อโอเปกขึ้นราคา เชลออยล์ก็กลับมาได้ใหม่

“ดังนั้น ลุงแมวน้ำมองกรณีสงครามราคาน้ำมันดิบ โอเปกตัดราคาเพื่อมุ่งรักษาส่วนแบ่งการตลาดและรายได้มากกว่า ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ โอเปกก็ตัดราคาจนถึงระดับที่ตนเองรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ก็เพียงพอ”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกแผ่นหนึ่ง




“นี่เป็นการวิเคราะห์กราฟราคาน้ำมันดิบทางเทคนิค ลุงแมวน้ำมองว่าแนวรับของ WTI คือ 57 ดอลลาร์ หากหลุดลงมาจะมีแนวรับสำคัญคือ 52 ดอลลาร์ หลังจากนั้นน่าจะรีบาวด์ ลองดูเหตุการณ์ในปี 2008 สิ ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงมาจนถึง 37 ดอลลาร์เพราะตลาดตกใจ แต่นั่นไม่ใช่ราคาที่เหมาะสม สุดท้ายราคาก็รีบาวด์ไปอยู่ในกรอบ 80-100 ดอลลาร์ ซึ่งโอเปกก็บอกว่าเป็นระดับราคาที่โอเปกพอใจ

“ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ตลาดอาจตกใจจนราคาหลุดลงไปถึง 52 ดอลลาร์ แต่ลุงแมวน้ำคาดว่าน่าจะมีรีบาวด์กลับมา และราคาที่เสถียรแล้วน่าจะเกินกว่า 60 ดอลลาร์ เนื่องจากโอเปกคงตัดราคาเท่าที่ตนเองพอจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ ดังนั้นหากราคาไปเสถียรแถวๆ 30-40 ดอลลาร์ ลุงแมวน้ำคิดว่าต่ำเกินไป

“และนอกจากนี้แล้วลุงยังมีเหตุผลประกอบอื่นอีก”

“เหตุผลอะไรอีกครับลุง” ลิงถาม

“เอ้อ ลุงคอแห้งน่ะ...” ลุงแมวน้ำพูด

“ขอพักดูดน้ำปั่นก่อน” ลิงกับยีราฟช่วยต่อให้

Thursday, November 27, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (4)


กรณีศึกษา SEAFCO


กรณีศึกษานี้จะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เรามาดูประมาณการกำไรสุทธิกันก่อน ดูภาพต่อไปนี้




SEAFCO เป็นผู้ผลิตเสาเข็มเจาะและรับเหมาทำฐานราก สำหรับตัวอย่างนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากคาดการณ์ผลประกอบการของโบรกเกอร์ 4 รายค่อนข้างแตกต่างกัน คือสองรายต่ำหน่อย อีกสองรายสูงหน่อย ทำไมแตกต่างกันขนาดนี้

ลุงแมวน้ำก็มาเอะใจที่ค่าต่ำ คือประมาณการของ KKTRADE กับ TSC เนื่องจากผลคาดการณ์ผลประกอบการปี 2014 ได้ค่า EPS ประมาณ 0.53 บาท/หุ้น ซึ่งลุงแมวน้ำบังเอิญจำได้ว่าผลประกอบการ 9 เดือนของ SEAFCO คือ 0.61 บาท/หุ้น ก็ขนาด 9 เดือนยังได้เท่านี้ ทั้งปีจะลดเหลือ 0.53 บาท/หุ้นก็ไม่น่าใช่แล้ว ตัวเลขน่าจะคลาดเคลื่อน

ลุงแมวน้ำก็เปิดบทวิเคราะห์อ่าน คือหากสงสัยเช่นนี้จะดูแต่ตัวเลขแค่นี้ไม่ได้แล้ว ควรเปิดบทวิเคราะห์อ่านเพื่อไล่เรียงดูที่มาที่ไปของตัวเลขด้วย

อนึ่ง กรณีค่าไม่ค่อยน่าเชื่อนี้ อาจเกิดจากการพิมพ์ข้อมูลใส่ในเว็บคลาดเคลื่อนไปก็ได้ ไม่ได้หมายความว่านักวิเคราะห์วิเคราะห์คลาดเคลื่อน ทางที่ดีควรหาบทวิเคราะห์มาสอบทานอีกรอบหนึ่งทุกครั้งหากทำได้

ก็ปรากฏว่าตัวเลขของ DBSV น่าเชื่อถือและน่าจะใกล้เคียงกว่า ดังนั้น ในกรณีนี้ลุงแมวน้ำจึงเลือกใช้ค่า EPS 2015F จาก DBSV เพียงรายเดียว จากนั้นคำนวณเป็นตารางพีอีล่วงหน้า และตีเส้นระดับฟิโบนาชชี






จากตารางพีอีล่วงหน้าและจากระดับฟิโบนาชชี พบว่ามีราคาเป้าหมายที่สอดคล้องกันหลายค่า คือที่ระดับฟินาชชี 161.8%, 261.8% และ 423.6% ล้วนแต่มีทางเป็นไปได้

ที่จริงหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างหากอยู่ในภาวะตลาดขาขึ้นไม่น่าเทรดกันที่พีอีล่วงหน้า 15 เท่า ควรจะสูงกว่านี้ ขนาด 25 เท่าก็ยังเป็นไปได้ หากเป็นกรณีเช่นนี้ ก็เลือกราคาเป้าหมายที่ 11.5 บาทซึ่งสอดคล้องกับพีอีล่วงหน้า 15 เท่าเอาไว้ก่อน เมื่อถึง 11.5 บาท ก็ค่อยว่ากันอีกที คือปล่อยให้ราคาไปตามแนวโน้ม หากราคายังไปต่อได้ก็ไม่ต้องรีบขาย เพราะราคาอาจไปได้ถึง 23.5 บาทก็ได้



การประมาณราคาเป้าหมายในยามตลาดขาลง


กรณีศึกษา SINGER


การประมาณราเป้าหมายยามตลาดเป็นขาลงนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างจากการประมาณการในยามตลาดขาขึ้นเล็กน้อย อย่างแรกก็คือ การกำหนดกรอบพีอีล่วงหน้าในยามตลาดขาลงต้องกำหนดให้เป็นช่วงต่ำ เช่น ที่ 5 ถึง 15 เท่า

เราลองมาดูประมาณการ EPS กันก่อน





นี่ก็อีกแล้ว ค่าประมาณแบบกระจัดกระจาย พวกค่ากระจายนี่พึงระวัง

ลุงแมวน้ำก็ไปตรวจดูผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2557 ของหุ้นซิงเกอร์ พบว่า 9 เดือนแรกนี้ EPS ต่อหุ้นได้ 0.80 บาท และปีนี้ผลประกอบการแย่กว่าปีที่แล้ว ราคาหุ้นก็ร่วงยาว ดังนั้นสำหรับ EPS 2014F ประมาณการของ PST, ASP, TSC น่าจะสูงเกินไป ค่าของ TRINITY น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด และเมื่อลุงแมวน้ำอ่านรายละเอียดในบทวิเคราะห์ของทรินิตีก็เห็นว่าที่มาที่ไปของค่าประมาณน่าน่าจะเชื่อถือได้มากกว่าค่าอื่นๆ ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงเลือกใช้ค่า EPS 2015F ของทรินิตีเพียงค่าเดียว  ไม่ได้ใช้ค่าเฉลี่ย

ลุงแมวน้ำคำนวณค่าพีอีล่วงหน้าในช่วงค่าต่ำ จากนั้นลากเส้นฟิโบนาชชี การลากเส้นฟิโบนาชชีนั้นต้องลากแบบขาลง คือดึงเส้นให้เฉียงไปคนละทางกับการตีเส้นขาขึ้น (วิธีใช้เครื่องมือฟิโบนาชชีควรสอบถามจากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการ)






กรณีนี้ก็มีระดับฟิโบนาชชีที่สอดคล้องกับค่าพีอีล่วงหน้าอยู่ 2 ค่า คือ 13.5 บาท (เท่ากับพีอีล่วงหน้าประมาณ 11 เท่า) กับ 9 บาท ลุงแมวน้ำว่าราคา 13.5 บาทนี้มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากโดยทั่วไปหุ้นในกลุ่มพาณิชย์เทรดกันที่พีอีค่อนข้างสูง คือ 30 เท่าหรือสูงกว่านั้น ดังนั้นหากร่วงลงมาระดับ 11 เท่านี่ก็ต่ำแล้ว อีกประการ ผลประกอบการ 2015 น่าจะดีกว่า 2014 สะท้อนว่าปีหน้าผลงานของซิงเกอร์น่าจะฟื้นตัวได้

แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสลงถึง 9 บาทมีอยู่บ้าง ผลกระกอบการไตรมาส 4 ปี 2014 กับไตรมาส 1 ปี 2015 จะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ หากออกมาไม่น่าพอใจราคาอาจไหลลงถึง 9 บาทได้


การประมาณเป้าหมายดัชนี

กรณีศึกษา S&P 500 


การประมาณราคาที่ลุงแมวน้ำเล่ามานี้ใช้ได้กับหุ้นทั้งในยามขาขึ้นและขาลง นอกจากใช้กับหุ้นแล้วยังใช้กับดัชนีได้อีกด้วย เราลองมาดูกัน

สมมติว่าเราจะประมาณดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกา เราก็จำเป็นต้องรู้ EPS 2015F ของดัชนีนี้เสียก่อน พวกดัชนีที่สำคัญมักหาค่า EPS ล่วงหน้าได้ไม่ยาก ที่จริงของ SET ก็มีผู้ประมาณ SET EPS 2015F เอาไว้ แต่ลุงแมวน้ำยกกรณีศึกษาเป็น S&P 500 เพราะอยากให้เห็นวิธีนี้ใช้ได้ทั่วไป ใช้กับตลาดต่างประเทศก็ได้

ขั้นแรกเราก็ปรึกษาอากู๋เสียก่อน โดยใช้กูเกิลค้นหาว่ามีใครประมาณ EPS 2015 เอาไว้บ้าง โดยใช้คำค้นว่า EPS S&P 500 2015




เมื่อกูเกิลรายงานผลการค้นออกมา เราก็เลือกดูการประมาณจากบทวิเคราะห์ที่ดูน่าเชื่อถือ และเป็นประมาณการใหม่ๆ ไมใช่ประมาณเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว

ผลก็คือ ลุงแมวน้ำเลือกเอาการวิเคราะห์ของโกลด์แมนแซคส์มาใช้ ก็เปิดเข้าไปอ่านรายละเอียดข้างใน จะพบว่าโกลด์แมนแซคส์ประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้นของดัชนี S&P 500 ในปี 2015 ไว้ที่ 122 ดอลลาร์/หุ้น ส่วนธนาคารแห่งอเมริกา (BOA) ประเมินไว้ 126 ดอลลาร์/หุ้น

เราก็เลือกประมาณการต่ำไว้ก่อน ใช้ 122 ดอลลาร์ เอามาคำนวณพีอีล่วงหน้า ได้ดังนี้





จากนั้นก็ลากเส้นฟิโบนาชชี




จะพบว่าที่ 161.8% (พีอีล่วงหน้า 17.5 เท่า) คือที่ดัชนี 2100 จุดนั้นใกล้ถึงแล้ว (ตอนนี้ 2072 จุด) ดังนั้นคงต้องมองไปที่พีอีล่วงหน้า 20 เท่า นั่นคือระดับฟิโบนาชชีระดับถัดไป ดัชนี S&P 500 อาจไปได้ถึง 1500 จุดในปี 2015

เป้าหมายนี้เป็นไปได้ทั้งคู่ กรณีที่ป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดแล้วผลกระทบทางลบรุนแรง ตลาดอาจเริ่มไหลตั้งแต่ต้นปี 2015 นั่นคือ ในกรณีร้ายเราอาจเห็นแค่ดัชนี 2100 จุดในตอนต้นปี 2015 และตลาดลงเป็นเวลาหลายเดือน

แต่หากผลกระทบไม่รุนแรง ดัชนีก็อาจไปได้ถึง 2500 จุดในปีหน้านี้โดยค่อยๆไต่ระดับขึ้นไป ซึ่งลุงแมวน้ำให้น้ำหนักกับเป้า 2500 จุดมากกว่า



ทั้งหมดนี้ก็เป็นการประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้เครื่องมือทางปัจจัยพื้นฐานและเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคผสมกัน รวมทั้งกรณีศึกษายามขาขึ้น ขาลง ดัชนี ตลาดต่างประเทศ ครบครัน ลองเอาไปใช้กันดูนะคร้าบ