ค่าที่เราจะนำมาใช้ก็คือ forward EPS ของปี 2015 ซึ่งในตารางนี้แสดงไว้ในคอลัมน์ EPS 2015F นั่นเอง (ในกรอบสีแดง)
แต่อย่างไรก็ดี ค่าที่แสดงในเว็บเพจหน้านี้เป็นลักษณะของการรวบรวมประมาณการของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่างๆ หรือที่เรียกว่าเป็น consensus ดังนั้น หุ้นแต่ละตัวอาจมีนักวิเคราะห์เข้ามาให้ตัวเลขประมาณการมากน้อยไม่เท่ากัน สำหรับหุ้นศุภาลัยนี้มีนักวิเคราะห์ให้ค่าประมาณการเอาไว้ถึง 12 โบรกเกอร์ ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว
ในกรณี Spali นี้มี EPS 2015F (F หมายถึง forecast คือบอกว่าเป็นค่าประมาณการ) แล้วจะเอาค่าประมาณการค่าไหนมาใช้ดีล่ะ
แนวคิดในการเลือกค่าประมาณการของกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS)
ในกรณีที่มีค่า forward EPS ให้หลายๆค่า ลุงแมวน้ำมีหลักในการเลือกมาใช้ดังนี้
- ใช้ค่าเฉลี่ย หลักการนี้ก็คือการนำเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมาเฉลี่ยกัน แล้วนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาใช้
- ใช้ค่ามัธยฐาน (median) ค่าฐานนิยมเป็นค่ากลางของข้อมูลชนิดหนึ่ง อธิบายง่ายๆคือการเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมากางเรียงกันจากน้อยไปมาก จากนั้นจิ้มเอาค่าที่อยู่กลางชุดข้อมูลมาใช้ สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้มัธยฐานก็คือ ในบางกรณี ค่าประมาณการจากนักวิเคราะห์บางรายอาจโด่งออกไป เช่น สูงเว่อหรือต่ำเว่อ หากเรานำค่าเฉลี่ยมาใช้ ค่าเฉลี่ยที่ได้อาจคลาดเคลื่อนจากความจริงไปมาก การใช้ค่ามัธยฐานแทนกก็อาจช่วยลดความคลาดเคลื่อนได้
- ใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกัน คือตัดค่าโด่งทิ้งไป เลือกเอาแต่ค่าที่เกาะกลุ่มกันมาเฉลี่ย (ภาษาคณิตศาสตร์เรียกว่าค่าฐานนิยมนั่นเอง) สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกันคือ ในกรณีที่มีค่าประมาณการหลายๆค่า และค่าประมาณการบางค่าโด่งออกไป หากมีค่าประมาณน้อยค่าก็ไม่เหมาะที่จะใช้
- เลือกค่าใดค่าหนึ่งจากโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ที่เราคิดว่าน่าเชื่อถือมากที่สุด เช่น หากเรารู้ว่าโบรกเกอร์รายใดชำนาญในการวิเคราะห์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มาก เราก็อาจเจาะจงเลือกค่าประมาณการจากโบรกเกอร์นั้นมาใช้
สำหรับกรณีศึกษาของลุงแมวน้ำนี้ ลุงแมวน้ำใช้ค่าเฉลี่ยก็แล้วกัน ค่าประมาณการของ EPS 2015F ที่ลุงแมวน้ำใช้ก็คือ 2.87 บาท/หุ้น
หมายเหตุไว้นิดหนึ่ง ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ค่าเฉลี่ย 2.87 นั้น ที่จริงแล้วลุงแมวน้ำแอบไปอ่านบทวิเคราะห์หลายๆฉบับที่แสดงการคำนวณไว้ด้วย ลุงคิดว่าค่านี้น่าจะใกล้เคียงความจริง
การคำนวณราคาเป้าหมายจาก forward EPS และ forward P/E ratio
เมื่อเราได้ค่า EPS ล่วงหน้ามาแล้ว จากนั้นขั้นต่อไปเราก็จะนำค่านี้มาคำนวณราคาเป้าหมายที่ระดับพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio) ต่างๆกัน โดยใช้สูตรดังนี้
ราคาเป้าหมาย = EPS ล่วงหน้า คูณ พีอีล่วงหน้า
Target price = forward EPS x forward P/E ratio
ดังนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าราคาเป้าหมายที่ค่าพีอีล่วงหน้า 15 เท่า เป็นเท่าไร ก็นำ 2.87 คูณด้วย 15 ได้เป็น 43.1 นั่นคือ ราคาเป้าหมาย ณ พีอีล่วงหน้า 15 เท่า คือ 43.1 บาท เป็นต้น
จากนั้นเราก็คำนวณราคาเป้าหมายที่ค่า พีอีล่วงหน้า ต่างๆ แล้วทำเป็นตาราง ดังนี้
ผลที่ได้จากตารางนี้ก็คือ ราคาเป้าหมายที่เป็นไปได้ ณ ค่าพีอีล่วงหน้าต่างๆนั่นเอง ลุงแมวน้ำเลือกใช้ช่วงของค่าพีอีล่วงหน้าตั้งแต่ 12.5 เท่า ไปจนถึง 25 เท่า ซึ่งราคาเป้าหมายที่พีอีล่วงหน้า 25 เท่าถือว่าซื้ออนาคตไปมากแล้ว ไม่ควรใช้ค่าพีอีล่วงหน้าที่สูงกว่านี้ เนื่องจากเป็นการคาดหวังที่เลิศลอยเกินไป
เอาละ ลุงแมวน้ำคำนวณราคาเป้าหมายด้วยวิธี EPS ล่วงหน้าได้มาตั้งหลายค่า แล้วจะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ
ผสมเทคนิคกับปัจจัยพื้นฐาน
เราก็ย้อนไปดูที่กราฟรูปเดิมของเราที่ประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้วิธีฟิโบนาชชี และดูว่ามีระดับฟิโบนาชชีอะไรบ้างที่สอดคล้องกับราคาเป้าหมายของวิธี EPS ล่วงหน้า
ผลปรากฏว่าที่ระดับฟิโบนาชชีสำคัญ 423.6% ได้ราคาเป้าหมาย 56 บาท
ส่วนวิธีคำนวณจาก EPS ล่วงหน้า ที่ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่า ได้ราคาเป้าหมาย 57.4 บาท ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่าสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในตลาดขาขึ้นเป็นค่าที่พีอีที่ไม่สูงนัก มีความเป็นไปได้ ดังนั้นราคาเป้าหมายของ Spali ที่รองรับผลประกอบการปี 2015 มีโอกาสไปได้ถึง 56-57 บาท
วิธีการนำราคาเป้าหมายไปใช้ในการลงทุน
ราคาเป้าหมายของ Spali ที่ 56 บาทนี้เป็นราคาเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นจริงสูง เพราะประเมินค่อนข้างอนุรักษ์นิยม การนำไปใช้ในการลงทุนก็คือ เมื่อราคาไปถึงใกล้ๆ 56 บาทแล้วไปต่อไม่ไหว ไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขาย ก็ขายตามไป
หากราคาไปเกิน 56 บาทก็ไม่ต้องทำอะไร ถือไปก่อน ไปไหนไปด้วย เมื่อใดที่ราคาไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขายจึงค่อยขาย
ราคาเป้าหมายนี้ใช้ได้ถึงเมื่อใด โดยปกติแล้วตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไปอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น ราคานี้หากจะเกิดก็ควรเกิดไม่เกิน มิถุนายน 2015 หลังจากมิถุนายน 2015 ไปแล้ว นักลงทุนน่าจะใช้ราคาเป้าหมายของปี 2016 มากกว่า แต่นี่เป็นแนวคิดคร่าวๆเท่านั้น ในทางปฏิบัติคงต้องดูสถานการณ์เมื่อกลางปี 2015 มาถึงด้วย
ขายไปแล้วทำยังไงต่อ รอกลับเข้าลงทุนอีกได้หรือไม่ ข้อนี้ตอบยาก แนวคิดก็คือ ควรหาข้อมูล EPS 2016F มาพิจารณาก่อน หากผลประกอบการของหุ้นมีการเติบโตก็กลับเข้าลงทุนอีกได้ หาก EPS 2016F ทรงตัวหรือลดลงก็อาจมองหุ้นตัวอื่นไปดีกว่า
วิธีประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคผสมกับปัจจัยพื้นฐานนั้นยังเหมาะสำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศด้วย เนื่องจากการไปลงทุนในต่างประเทศนั้นข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นอาจหายากหรือหากมีก็อ่านไม่เข้าใจด้วยอุปสรรคทางภาษา หรือข้อมูลอาจไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ฯลฯ การใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวก็มีโอกาสพลาดได้ แต่สิ่งที่พอหาได้ไม่ยากก็คือกราฟกับ forward EPS นั่นแหละ มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น นำมาใช้ร่วมกันช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศได้
ทำไมจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา
แล้วก็มาถึงบทเฉลยที่ว่าทำไมลุงแมวน้ำจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา ที่จริงก็ไม่ได้เจาะจงเลือกหุ้น Spali หรอก แต่ลุงตั้งใจเลือกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีศึกษา เหตุผลก็เนื่องจากว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์นี้มีค่า แบ็กล็อก (backlog) หรือยอดขายที่ตุนอยู่ในมือแต่ยังไม่ได้บันทึกบัญชีอยู่ ซึ่งก็คือยอดขายที่มีการวางเงินดาวน์แล้วแต่ยังไม่ได้โอนนั่นเอง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆมักมีแบ็กล็อกที่ตุนอยู่ในมืออาจถึง 12 เดือนล่วงหน้าทีเดียว ดังนั้น การคำนวณ EPS ล่วงหน้าในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มักทำได้ค่อนข้างใกล้เคียงความจริง เนื่องจากคำนวณจากแบ็กล็อกนั่นเอง และหาก EPS ล่วงหน้าประมาณได้ใกล้เคียงความจริง ราคาเป้าหมายที่ประเมินได้ก็ย่อมมีโอกาสเกิดได้สูงด้วย
ในตอนต่อไป ลุงแมวน้ำจะลองดูกรณีศึกษาในหุ้นตัวอื่นกัน ลุงแมวน้ำจะลองคำนวณราคาเป้าหมายของหุ้นในกลุ่มโซลาร์ฟาร์มยอดนิยมด้วย ^_^