Wednesday, November 19, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (2)






ค่าที่เราจะนำมาใช้ก็คือ forward EPS ของปี 2015 ซึ่งในตารางนี้แสดงไว้ในคอลัมน์ EPS 2015F นั่นเอง (ในกรอบสีแดง)

แต่อย่างไรก็ดี ค่าที่แสดงในเว็บเพจหน้านี้เป็นลักษณะของการรวบรวมประมาณการของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่างๆ หรือที่เรียกว่าเป็น consensus ดังนั้น หุ้นแต่ละตัวอาจมีนักวิเคราะห์เข้ามาให้ตัวเลขประมาณการมากน้อยไม่เท่ากัน สำหรับหุ้นศุภาลัยนี้มีนักวิเคราะห์ให้ค่าประมาณการเอาไว้ถึง 12 โบรกเกอร์ ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว

ในกรณี Spali นี้มี EPS 2015F (F หมายถึง forecast คือบอกว่าเป็นค่าประมาณการ) แล้วจะเอาค่าประมาณการค่าไหนมาใช้ดีล่ะ


แนวคิดในการเลือกค่าประมาณการของกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS)


ในกรณีที่มีค่า forward EPS ให้หลายๆค่า ลุงแมวน้ำมีหลักในการเลือกมาใช้ดังนี้

  1. ใช้ค่าเฉลี่ย หลักการนี้ก็คือการนำเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมาเฉลี่ยกัน แล้วนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาใช้
  2. ใช้ค่ามัธยฐาน (median) ค่าฐานนิยมเป็นค่ากลางของข้อมูลชนิดหนึ่ง อธิบายง่ายๆคือการเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมากางเรียงกันจากน้อยไปมาก จากนั้นจิ้มเอาค่าที่อยู่กลางชุดข้อมูลมาใช้ สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้มัธยฐานก็คือ ในบางกรณี ค่าประมาณการจากนักวิเคราะห์บางรายอาจโด่งออกไป เช่น สูงเว่อหรือต่ำเว่อ หากเรานำค่าเฉลี่ยมาใช้ ค่าเฉลี่ยที่ได้อาจคลาดเคลื่อนจากความจริงไปมาก การใช้ค่ามัธยฐานแทนกก็อาจช่วยลดความคลาดเคลื่อนได้
  3. ใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกัน คือตัดค่าโด่งทิ้งไป เลือกเอาแต่ค่าที่เกาะกลุ่มกันมาเฉลี่ย (ภาษาคณิตศาสตร์เรียกว่าค่าฐานนิยมนั่นเอง) สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกันคือ ในกรณีที่มีค่าประมาณการหลายๆค่า และค่าประมาณการบางค่าโด่งออกไป หากมีค่าประมาณน้อยค่าก็ไม่เหมาะที่จะใช้
  4. เลือกค่าใดค่าหนึ่งจากโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ที่เราคิดว่าน่าเชื่อถือมากที่สุด เช่น หากเรารู้ว่าโบรกเกอร์รายใดชำนาญในการวิเคราะห์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มาก เราก็อาจเจาะจงเลือกค่าประมาณการจากโบรกเกอร์นั้นมาใช้

สำหรับกรณีศึกษาของลุงแมวน้ำนี้ ลุงแมวน้ำใช้ค่าเฉลี่ยก็แล้วกัน ค่าประมาณการของ EPS 2015F ที่ลุงแมวน้ำใช้ก็คือ 2.87 บาท/หุ้น

หมายเหตุไว้นิดหนึ่ง ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ค่าเฉลี่ย 2.87 นั้น ที่จริงแล้วลุงแมวน้ำแอบไปอ่านบทวิเคราะห์หลายๆฉบับที่แสดงการคำนวณไว้ด้วย ลุงคิดว่าค่านี้น่าจะใกล้เคียงความจริง


การคำนวณราคาเป้าหมายจาก forward EPS และ forward P/E ratio

เมื่อเราได้ค่า EPS ล่วงหน้ามาแล้ว จากนั้นขั้นต่อไปเราก็จะนำค่านี้มาคำนวณราคาเป้าหมายที่ระดับพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio) ต่างๆกัน โดยใช้สูตรดังนี้

ราคาเป้าหมาย = EPS ล่วงหน้า คูณ พีอีล่วงหน้า

Target price = forward EPS x forward P/E ratio

ดังนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าราคาเป้าหมายที่ค่าพีอีล่วงหน้า 15 เท่า เป็นเท่าไร ก็นำ 2.87 คูณด้วย 15 ได้เป็น 43.1 นั่นคือ ราคาเป้าหมาย ณ พีอีล่วงหน้า 15 เท่า คือ 43.1 บาท เป็นต้น

จากนั้นเราก็คำนวณราคาเป้าหมายที่ค่า พีอีล่วงหน้า ต่างๆ แล้วทำเป็นตาราง ดังนี้




ผลที่ได้จากตารางนี้ก็คือ ราคาเป้าหมายที่เป็นไปได้ ณ ค่าพีอีล่วงหน้าต่างๆนั่นเอง ลุงแมวน้ำเลือกใช้ช่วงของค่าพีอีล่วงหน้าตั้งแต่ 12.5 เท่า ไปจนถึง 25 เท่า ซึ่งราคาเป้าหมายที่พีอีล่วงหน้า 25 เท่าถือว่าซื้ออนาคตไปมากแล้ว ไม่ควรใช้ค่าพีอีล่วงหน้าที่สูงกว่านี้ เนื่องจากเป็นการคาดหวังที่เลิศลอยเกินไป

เอาละ ลุงแมวน้ำคำนวณราคาเป้าหมายด้วยวิธี EPS ล่วงหน้าได้มาตั้งหลายค่า แล้วจะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ


ผสมเทคนิคกับปัจจัยพื้นฐาน



เราก็ย้อนไปดูที่กราฟรูปเดิมของเราที่ประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้วิธีฟิโบนาชชี และดูว่ามีระดับฟิโบนาชชีอะไรบ้างที่สอดคล้องกับราคาเป้าหมายของวิธี EPS ล่วงหน้า




ผลปรากฏว่าที่ระดับฟิโบนาชชีสำคัญ 423.6% ได้ราคาเป้าหมาย 56 บาท




ส่วนวิธีคำนวณจาก EPS ล่วงหน้า ที่ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่า ได้ราคาเป้าหมาย 57.4 บาท ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่าสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในตลาดขาขึ้นเป็นค่าที่พีอีที่ไม่สูงนัก มีความเป็นไปได้ ดังนั้นราคาเป้าหมายของ Spali ที่รองรับผลประกอบการปี 2015 มีโอกาสไปได้ถึง 56-57 บาท


วิธีการนำราคาเป้าหมายไปใช้ในการลงทุน 


ราคาเป้าหมายของ Spali ที่ 56 บาทนี้เป็นราคาเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นจริงสูง เพราะประเมินค่อนข้างอนุรักษ์นิยม การนำไปใช้ในการลงทุนก็คือ เมื่อราคาไปถึงใกล้ๆ 56 บาทแล้วไปต่อไม่ไหว ไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขาย ก็ขายตามไป 

หากราคาไปเกิน 56 บาทก็ไม่ต้องทำอะไร ถือไปก่อน ไปไหนไปด้วย เมื่อใดที่ราคาไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขายจึงค่อยขาย

ราคาเป้าหมายนี้ใช้ได้ถึงเมื่อใด โดยปกติแล้วตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไปอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น ราคานี้หากจะเกิดก็ควรเกิดไม่เกิน มิถุนายน 2015 หลังจากมิถุนายน 2015 ไปแล้ว นักลงทุนน่าจะใช้ราคาเป้าหมายของปี 2016 มากกว่า แต่นี่เป็นแนวคิดคร่าวๆเท่านั้น ในทางปฏิบัติคงต้องดูสถานการณ์เมื่อกลางปี 2015 มาถึงด้วย

ขายไปแล้วทำยังไงต่อ รอกลับเข้าลงทุนอีกได้หรือไม่ ข้อนี้ตอบยาก แนวคิดก็คือ ควรหาข้อมูล EPS 2016F มาพิจารณาก่อน หากผลประกอบการของหุ้นมีการเติบโตก็กลับเข้าลงทุนอีกได้ หาก EPS 2016F ทรงตัวหรือลดลงก็อาจมองหุ้นตัวอื่นไปดีกว่า 

วิธีประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคผสมกับปัจจัยพื้นฐานนั้นยังเหมาะสำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศด้วย เนื่องจากการไปลงทุนในต่างประเทศนั้นข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นอาจหายากหรือหากมีก็อ่านไม่เข้าใจด้วยอุปสรรคทางภาษา หรือข้อมูลอาจไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ฯลฯ การใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวก็มีโอกาสพลาดได้ แต่สิ่งที่พอหาได้ไม่ยากก็คือกราฟกับ forward EPS นั่นแหละ มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น นำมาใช้ร่วมกันช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศได้


ทำไมจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา


แล้วก็มาถึงบทเฉลยที่ว่าทำไมลุงแมวน้ำจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา ที่จริงก็ไม่ได้เจาะจงเลือกหุ้น Spali หรอก แต่ลุงตั้งใจเลือกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีศึกษา เหตุผลก็เนื่องจากว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์นี้มีค่า แบ็กล็อก (backlog) หรือยอดขายที่ตุนอยู่ในมือแต่ยังไม่ได้บันทึกบัญชีอยู่ ซึ่งก็คือยอดขายที่มีการวางเงินดาวน์แล้วแต่ยังไม่ได้โอนนั่นเอง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆมักมีแบ็กล็อกที่ตุนอยู่ในมืออาจถึง 12 เดือนล่วงหน้าทีเดียว ดังนั้น การคำนวณ EPS ล่วงหน้าในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มักทำได้ค่อนข้างใกล้เคียงความจริง เนื่องจากคำนวณจากแบ็กล็อกนั่นเอง และหาก EPS ล่วงหน้าประมาณได้ใกล้เคียงความจริง ราคาเป้าหมายที่ประเมินได้ก็ย่อมมีโอกาสเกิดได้สูงด้วย


ในตอนต่อไป ลุงแมวน้ำจะลองดูกรณีศึกษาในหุ้นตัวอื่นกัน ลุงแมวน้ำจะลองคำนวณราคาเป้าหมายของหุ้นในกลุ่มโซลาร์ฟาร์มยอดนิยมด้วย ^_^

Monday, November 17, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (1)





เราได้คุยกันถึงเรื่องโค้งทรงระฆังคว่ำและวัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฏจักรราคาหุ้น พร้อมกับคุยกันเรื่องค่าพีอีของหุ้นกันมาหลายตอนแล้ว วันนี้เราจะเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง

เรื่องที่ลุงแมวน้ำจะคุยในตอนนี้เป็นการประเมินราคาเป้าหมายของหุ้นด้วยวิธีทางสายวิเคราะห์ทางเทคนิคและวิธีทางสายปัจจัยพื้นฐานผสมกัน อันเป็นวิธีที่ลุงแมวน้ำใช้ในการลงทุน

ทำไมต้องใช้วิธีทางเทคนิคและพื้นฐานผสมกัน ประเด็นนี้มีที่มาที่ไปนิดหน่อย ลองมาพิจารณาเหตุผลกันก่อน

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐาน 


เนื่องจากการประเมินราคาเป้าหมาย หรือบางทีก็เรียกว่าราคายุติธรรม (fair value) ด้วยวิธีทางปัจจัยพื้นฐานนั้นใช้การคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของหุ้นด้วยวิธีการต่างๆกันหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ในการประเมินมูลค่าปัจจุบันด้วยวิธีการต่างๆนั้นยังต้องอาศัยสมมติฐานประมาณการรายได้อีกด้วย ดังนั้น หากข้อมูลด้านประมาณการรายได้คลาดเคลื่อน หรือใช้ตัวแบบในการคำนวณไม่เหมาะสม ราคาเป้าหมายที่ได้ก็ย่อมคลาดเคลื่อนได้ ส่วนจะคลาดเคลื่อนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ใช้และตัวแบบในการคำนวณว่าคลาดเคลื่อนไปมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ จุดอ่อนอีกประการในการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐานก็คือมักต้องใช้การคำนวณค่อนข้างมาก นักลงทุนโดยทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษามาทางด้านนี้ส่วนใหญ่คำนวณเองไม่ได้ มักต้องพึ่งราคาเป้าหมายจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งหุ้นบางตัวโบรกเกอร์ต่างๆให้ราคาเป้าหมายที่แตกต่างกันมาก ก็ไม่รู้ว่าราคาไหนจึงเป็นราคาที่เหมาะสมใกล้เคียงความจริง

และแม้ว่ามีราคาเป้าหมายแล้ว นักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็มักไม่รู้ว่าจุดซื้อจุดขายอยู่ที่ใด บางทียังไม่ถึงราคาเป้าหมายก็ร่วงเสียก่อน บางทีเลยราคาเป้าหมายไปตั้งไกลก็ยังขึ้นไม่หยุด เป็นต้น

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค


การประเมินราคาเป้าทางหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มีหลายวิธี เช่น แนวรับแนวต้าน การวัดแก็ป การวัดส่วนสูงของคลื่น วิธีฟิโบนาชชี ฯลฯ แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำ วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยเครื่องมือทางเทคนิคที่แพร่หลายที่สุดน่าจะเป็นวิธีฟิโบนาชชีเป้าหมาย (Fibonacci targeting) กับวิธีแนวรับแนวต้าน (support resistant level targeting)

วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยแนวรับแนวต้านนั้นก็เป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่มักใช้กับราคาเป้าหมายในระยะสั้น คือมักใช้กับการเทรดระยะสั้นมากกว่า จุดอ่อนสำคัญของวิธีนี้ก็คือ เมื่อราคาหุ้นทำนิวไฮหรือทำนิวโลว์ ก็จะไม่มีแนวรับแนวต้านแล้ว วิธีนี้จึงใช้กับราคาหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่หรือจุดต่ำสุดใหม่ไม่ได้

ส่วนวิธีฟิโบนาชชีนั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องราคาหุ้นทำนิวไฮหรือนิวโลว์ ราคาเท่าไรก็คำนวณได้ สำหรับจุดอ่อนของวิธีฟิโบนาชชีนี้ก็มีอยู่หลายประการ ที่สำคัญก็คือวิธีนี้จะให้ราคาเป้าหมายหลายราคา ต้องเลือกเอาเอง นักลงทุนอาจเลือกไม่ถูกว่าราคาไหนน่าจะเป็นราคาเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุด

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการก็คือ วิธีฟิโบนาชชีนี้ใช้การวัดที่อิงกับยอดคลื่นและท้องคลื่น หากนับคลื่นไม่ถูก หรือรูปแบบราคาก่อตัวเป็นรูปทรงที่แปลกประหลาด การวัดฟิโบนาชชีก็ยากและอาจคลาดเคลื่อนได้มาก

และนอกจากนี้ ลุงแมวน้ำยังมีข้อกังวลอีกประการหนึ่ง นั่นคือ วิธีฟิโบนาชชีนี้เป็นวิธีที่เก่าแก่มาก ใช้กันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว สมัยก่อนการนำไปใช้ยังไม่แพร่หลายนัก แต่สมัยนี้นักลงทุนใช้ฟิโบนาชชีกันทั้งโลก และสมัยนี้เป็นยุคที่รูปแบบทางเทคนิคสร้างกันได้ โดยเฉพาะในหุ้นที่สภาพคล่องน้อยยิ่งสร้างรูปแบบทางเทคนิคให้ตรงตามตำราได้ง่ายๆ รวมทั้งปัจจุบันยังการใช้โปรแกรมเทรดหุ้น หรือที่เรียกว่า robotic trading system หรือ algorithmic trading system คือเขียนสูตรคำนวณเป็นโปรแกรม แล้วโปรแกรมนี้สามารถสั่งซื้อขายหุ้นได้เองเมื่อถึงจุดซื้อขายตามที่โปรแกรมคำนวณ ซึ่งการใช้โปรแกรมเทรดหุ้นนี้ก็สามารถสร้างรูปแบบทางเทคนิคมาดักทางเพื่อกินเงินรายย่อยได้เช่นกัน เช่น การเทขายก่อนถึงระดับฟิโบนาชชีสำคัญ เป็นต้น

รวมความแล้วทั้งวิธีทางสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน ลุงแมวน้ำจึงใช้สองวิธีนี้ร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการกำหนดราคาเป้าหมายและจุดซื้อจุดขาย เท่าที่ลุงแมวน้ำใช้มาก็คิดว่าได้ผลดี ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ วันนี้จึงนำมาขยายให้พวกเราอ่านและอาจลองนำไปใช้กัน

วิธีการของลุงแมวน้ำไม่ยากนัก แต่อาจมีหลายขั้นตอน ต้องค่อยๆอ่านและทำตามไป ใช้เทคนิคนิดๆ ใช้พื้นฐานหน่อยๆ ไม่ได้ลงลึกอะไร ใครๆก็น่าจะพอทำได้หากมีความตั้งใจ ข้อสำคัญคืออย่าใจร้อน ในที่สุดก็จะทำได้

เอาละ ลองมาดูกันว่าอุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง

  1. สายการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี (Fibonacci retracement) เครื่องมือนี้หาใช้ได้ทั่วไป คือมีใน อีไฟแนนซ์ (e-finance) และในแอสเพน (aspen) 
  2. สายการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ใช้ข้อมูล forward EPS จากเว็บไซต์ www.settrade.com


การประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้น กรณีศึกษา Spali


การประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธีผสมนี้ใช้ได้ทั้งในยามตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง ใช้หลักการเดียวกันแต่รายละเอียดแตกต่างกันนิดหน่อย ในที่นี้ลุงแมวน้ำจะคุยเรื่องการประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้นก่อน โดยเราจะใช้หุ้นศุภาลัยหรือ Spali เป็นกรณีศึกษา ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ตัวนี้ไม่ได้เชียร์หุ้นนะคร้าบ มีเหตุผลที่เลือกใช้หุ้นนี้ ซึ่งอ่านต่อไปเดี๋ยวจะทราบ

ต่อไปนี้เป็นวิธีปฏิบัติในการประเมินราคาเป้าหมาย เรามาทำไปด้วยกันเลย รูปมาก่อน คำอธิบายตามหลัง

การประเมินด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี


ขั้นแรกเราหาราคาเป้าหมายทางเทคนิคก่อน ลุงแมวน้ำเครื่องมือฟิโบนาชชี

เราก็เปิดกราฟ Spali ออกมาดู ใช้อีไฟแนนซ์หรือแอสเพนก็ได้ ในชั้นนี้ลุงแมวน้ำโมเมถือเอาว่าพวกเราใช้เครื่องมือฟิโบนาชชีในอีไฟแนนซ์หรือแอสเพนเป็นแล้ว หากยังใช้ไม่เป็น ควรศึกษาวิธีใช้งานจากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่ ปกติโบรกเกอร์จะสอนวิธีใช้เครื่องมือทางเทคนิคให้




นี่เป็นกราฟแท่งเทียนของราคาหุ้น Spali ประเด็นแรกที่ต้องวิเคราะห์ก่อนก็คือ มองไปข้างหน้าน่าจะเป็นตลาดขาขึ้นหรือขาลง

จากรูปแบบทางเทคนิค ดูจากกราฟ Sapli ราคายังอยู่ในคลื่นใหญ่ขาขึ้น และหากประเมินจากปัจจัยเศรษฐกิจ ธปท สภาพัฒน์ และอีกหลายๆหน่วยงาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าในปี 2015 จีดีพีของไทยน่าจะเติบโตได้ในอัตรา 4% ถึง 4.5% เมื่อเทียบจากปี 2014 ดังนั้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้น Spali ในปี 2015 น่าจะเป็นตลาดขาขึ้น

แล้วเราจะกำหนดจุดไหนเพื่อลากเส้นฟิโบนาชชีดีล่ะ คำตอบก็คือโดยปกติจะเป็นยอดคลื่นและท้องคลื่นล่าสุด




สมมติว่ามือใหม่ ยังกำหนดจุดลากเส้นไม่ถูก ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว อย่าเพิ่งท้อ ทำมั่วๆไปก่อน ทำบ่อยๆแล้วจะเกิดประสบการณ์ขึ้นมาเอง เล็งยอดคลื่นและท้องคลื่นไว้ รวมเป็น 2 จุด




สมมติว่าเลือกจุดได้แล้ว ดังในรูป คราวนี้เราก็ไปเลือกเครื่องมือที่เรียกว่า Fibonacci retracement (ในแผงเครื่องมืออาจมี Fibonacci หลายอย่าง ให้เลือก Fibonacci retracement) จากนั้นลากเครื่องมือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ที่เราเล็งเอาไว้นั่นน่ะ)




เครื่องมือ Fibonacci retracement จะคำนวณระดับฟิโบนาชชีเป้าหมายออกมาให้หลายค่า มีตั้งแต่ 29 บาท 39 บาท 56 บาท จะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ นี่แหละคือปัญหา

การประเมินด้วยปัจจัยพื้นฐาน ใช้เครื่องมือสัดส่วนพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)


เราพักเรื่องราคาทางเทคนิคเอาไว้ก่อน คราวนี้มาคำนวณทางปัจจัยพื้นฐานกันบ้าง จากนั้นเราจะเอาค่าที่ได้ไปพิจารณาร่วมกัน วิธีทางปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการประเมินราคาเป้าหมายนั้นลุงแมวน้ำเลือกใช้วิธีที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือ ใช้วิธีประเมินจากค่าพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)

ค่าพีอีล่วงหน้านี้เราต้องคำนวณเอาเอง การที่จะคำนวณได้จำเป็นจะต้องรู้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS) เสียก่อน ซึ่งค่า forward EPS นั้นปกตินักลงทุนทั่วไปคำนวณเองไม่ไหวหรอก มักต้องอาศัยอ่านจากบทวิเคราะห์ต่างๆ แล้วนำค่าที่บทวิเคราะห์คำนวณไว้ให้มาใช้

เอาละ เราจะประเมินราคาเป้าหมายของ Spali ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการรู้ก็คือ forward EPS หรือประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นในปี 2015 ของ Spali เหตุที่ลุงแมวน้ำใช้ค่าของปี 2015 ก็เพราะว่าตอนนี้เป็นปลายปี 2014 แล้ว ได้ค่า EPS 2014 มาก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการลงทุนในนตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไป 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ลุงแมวน้ำจึงใช้ EPS 2015




ไปที่เว็บไซต์ www.settrade.com

เมื่อเข้าไปที่หน้าหลักแล้ว มองไปที่คอลัมน์ขวามือของหน้าหลัก จะเห็นกรอบที่เขียนว่า ความเห็นนักวิเคราะห์ : IAA Concensus




ป้อนชื่อหุ้น spali ลงไปในช่อง ตามรูป จากนั้นกดปุ่ม Enter





จากนั้นเราจะเห็นตัวเลขมากมายก่ายกองปรากฏออกมา ไม่ต้องตาลายและไม่ต้องตกใจ เราไม่ได้ใช้ค่าเหล่านี้ทั้งหมด เราเลือกมาแค่บางค่าเท่านั้นเอง ^_^