หุ้น P/E ต่ำ น่าลงทุนหรือไม่
หลังจากที่ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นจนชื่นใจ จึงคุยต่อ
“เอ้า มาดูกันต่อ ลองดูว่าเราสามารถตีความอะไรจากกราฟได้บ้าง
“ในช่วงปี 1996, 1997, 1998 ผลกำไรของโซนี่เติบโตดีเชียว ส่วนปี 1999 ผลกำไรด้อยกว่าปี 1998 เล็กน้อย แต่ขอให้เราจินตนาการย้อนไปในอดีต ต้องไม่ลืมว่าปี 1997 (พ.ศ. 2540) เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในย่านเอเชียตะวันออก กำไรเติบโตขนาดนี้ถือว่าเก่งทีเดียว
“ราคาหุ้นของบริษัทโซนี่พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในปี 1999 ที่เห็นราคาในภาพนั้นเป็นราคา ณ สิ้นปี ที่จริงราคาในระหว่างปียังแพงกว่านั้นอีก และต่อมาในปี 2000 กำไรของโซนี่ลดลงมาก ทำให้ราคาหุ้นร่วง และทำให้เกิดค่าพีอีที่สูงเป็นประวัติการณ์ นั่นคือ 467 เท่า เกิดจากที่กำไรร่วงแรงแต่ราคาหุ้นยังลงไม่แรงนัก อาจจะด้วยหวังลุ้นว่ากำไรปีถัดไปจะกระเตื้องก็เป็นได้ ดังนั้นแม้ราคาร่วงแต่ก็มีแรงรับ นี่คือลักษณะของความคาดหวังว่าหุ้นโซนี่จะฟื้นไข้ได้ พีอีจึงสูงมาก
“ต่อมาในปี 2001 ผลกำไรของโซนี่ตกต่ำหนักลงกว่าเดิม กำไรสุทธิต่อหุ้นหรือ EPS เหลือเพียง 0.15 ดอลลาร์ สรอ/หุ้น (จาก 3.56 ดอลลาร์/หุ้นในปี 1999) นั่นคือหุ้นฟื้นไข้ฟื้นไม่จริง ไข้กลับทรุดลง ดังนั้นราคาหุ้นจึงร่วงต่อ คราวนี้ละ ค่าพีอีลดลงเรื่อยๆ นี่แหละที่ลุงเคยเตือนว่าระวังหุ้นฟื้นไข้นั้นฟื้นไม่จริง”
ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกรูปหนึ่งออกมากาง
“ลุงให้ดูกราฟอีกรูปหนึ่ง เป็นการดูเฉพาะช่วงปี 2004-2013 จะได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น กราฟนี้ประกอบด้วยข้อมูล 3 อย่าง นั่นคือ ราคาหุ้น, ค่า eps, และค่าพีอี ลองมาดูกัน
“จากภาพที่แล้วและภาพนี้เราจะเห็นชัดขึ้นว่าแนวโน้มของค่าพีอีลดลงเรื่อยๆมาตั้งแต่ปี 2000 ทั้งนี้ เนื่องจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ แม้ในบางปีผลประกอบการของโซนี่จะดีขึ้น แต่เนื่องจากหุ้นโซนี่อยู่ในระยะเสื่อมเสียแล้ว ดังนั้นนักลงทุนจึงกลัว เมื่อไม่กล้าเข้าไปซื้อขาย ค่าพีอีจึงต่ำลงและต่ำลง ท้ายที่สุด ในปี 2009-2013 โซนี่ขาดทุน 4 ปีติดกัน ช่วงนั้นจึงไม่มีค่าพีอี เนื่องจากปีที่ขาดทุนคำนวณค่าพีอีไม่ได้
“ลุงแมวน้ำจึงขอสรุปว่า ในช่วงตลาดขาลง คือกิจการอยู่ในระยะเสื่อม ราคาหุ้นมักอยู่ในคลื่นอีเลียตขาลง A-B-C ค่าพีอีถูกๆสามารถเกิดขึ้นได้ แต่พีอีถูกๆนี้เกิดเนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตัวหุ้น กลัวว่าปีหน้าผลประกอบการจะร่วงต่ออีก จึงไม่กล้าเข้ามาซื้อขาย ดังนั้นพีอีจึงต่ำลงและต่ำลง”
“แล้วพีอีต่ำแบบนี้ซื้อได้ไหมจ๊ะลุง” ยีราฟถาม
ลิงจ๋อเอาหางรัดคือตัวเองและแลบลิ้น ทำท่าแขวนคอตาย
“อยากแขวนคอตายจริงๆเลยแม่ยีราฟ หุ้นขาลงที่ยังไม่รู้ว่าราคาจะจบลงที่ตรงไหนจะซื้อได้ยังไง ถูกแล้วก็ยังมีถูกกว่านี้อีกรออยู่ข้างหน้า ถูกวันนี้แต่เป็นดอยในวันหน้า เข้าใจไหม” ลิงพูดเสียงดุ
“จ้ะ จ้ะ เข้าใจก็ได้” ยีราฟพูด “แหม ถามแค่นี้ต้องดุด้วย”
“ที่นายจ๋อสรุปมาก็ถูกแล้วล่ะ หุ้นขาลงอาจมีค่าพีอีต่ำๆได้ แต่ควรระวัง เพราะจริงๆแล้วเราก็ไม่รู้ว่าขาลงนั้นจบหรือยัง ถ้ายังไม่จบ ไปรับเข้าก็เจ็บกระเป๋าได้ และนอกจากนี้ เมื่อสักครู่เรายังได้เห็นตัวอย่างของการฟื้นไข้ที่ฟื้นไม่จริงให้เห็นอีกด้วย ใครเข้าก็เจ็บกระเป๋าเช่นกัน ดังนั้นลุงจึงบอกไงว่าเข้าลงทุนเมื่อฟื้นไข้แล้วชัดๆดีกว่า ซึ่งต้องอาศัยเวลารอ และค่าพีอีในช่วงที่ฟื้นไข้แล้วก็อาจไม่ต่ำ แต่เข้าลงทุนช่วงนั้นปลอดภัยสบายใจกว่า” ลุงแมวน้ำสรุป
ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ
“แล้วยังมีหุ้นพีอีต่ำอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ควรผลีผลามเข้าลงทุน นั่นคือ หุ้นพีอีต่ำที่กำไรเกิดจากรายการพิเศษ ไม่ได้เกิดจากผลการดำเนินงานตามปกติ”
“หมายความว่ายังไงครับลุง” ลิงถาม
“ที่จริงลุงเคยพูดถึงไปบ้างแล้ว คือหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำ บางทีต่ำมากด้วย ซึ่งกำไรสุทธินั้นมาจากกำไรพิเศษ เช่น การขายที่ดิน หรือขายตึก หรือขายสินทรัพย์บางอย่างของบริษัทออกไปแล้วได้กำไรมา กำไรพวกนี้จะมีผลไปฉุดค่าพีอีให้ต่ำลง แต่ว่าไม่ได้สะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินกิจการไง บางทีพีอีต่ำเพราะกำไรจากการขายทรัพย์สิน แต่ว่าธุรกิจหลักอาจขาดทุนก็ได้
“กำไรพิเศษพวกนี้มักเกิดเป็นรายการครั้งเดียว เพียงปีใดปีหนึ่ง แล้วก็จบไป เช่น ขายที่ดินได้ก็บันทึกกำไรในปีนั้น แล้วก็จบกันไป ค่าพีอีในปีนั้นอาจต่ำมาก ใครเข้าลงทุนโดยดูจากค่าพีอีโดยไม่ดูที่มาที่ไปประกอบก็อาจเสียใจภายหลังได้” ลุงแมวน้ำพูด
“ฟังดูราวกับว่าหุ้นที่ค่าพีอีต่ำไม่น่าลงทุน ยังงั้นเลยนะจ๊ะลุง” ฮิปโปตั้งข้อสังเกตบ้าง
“มันก็ไม่เชิงหรอก หุ้นพีอีต่ำในกรณีที่ลงทุนได้ก็มีอยู่” ลุงแมวน้ำพูด
ลุงแมวน้ำดึงกระดาษออกมาอีกสองแผ่น จากนั้นกางให้ดูแผ่นหนึ่งก่อน
“เรื่องโซนี่จบไปแล้ว คราวนี้มาดูที่ PSL กันอีก นี่คือภาพเดิมที่เราเคยดูกันไปแล้ว ค่าพีอีของหุ้น PSL จำได้ไหม ตรงที่วงสีน้ำเงินไว้ นายจ๋อถามว่าพีอีขนาดนี้ถูกหรือยัง ลงทุนได้ไหม และลุงตอบว่าแนวโน้มกิจการเป็นขาลง ไม่น่าลงทุน” ลุงแมวน้ำพูด
“จำได้ครับลุง” ลิงตอบ
ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง
“คราวนี้ลุงอยากให้ดูภาพนี้ ภาพนี้เป็นภาพเดิมนั่นแหละ แต่ว่าลุงนำค่าพีอีมาแสดงให้ดูตลอดช่วงเลย กราฟนี้ซับซ้อนหน่อย ค่อยๆดูกันไป
“ว้าว ว้าว ว้าว” ยีราฟอุทาน “ทำไมค่าพีอีในตอนต้นๆต่ำยังงี้ละลุง ปี 2001 ค่าพีอี 0.55 เท่า เป็นไปได้ยังไง”
“ฟังลุงอธิบายแล้วจะเข้าใจ ต้องเท้าความก่อนว่าในปี 1997 เป็นปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจในภูมิภาคนี้ซบเซาไปหลายปี กิจการขนส่งทางเรือก็ซบเซาและขาดทุนติดกันหลายปีทีเดียว รวมทั้งหุ้น PSL นี้ด้วย
“PSL ขาดทุนจนถึงปี 2000 จากนั้นในปี 2001 ก็เริ่มกลับมามีกำไร ช่วงปี 2001-2005 เป็นระยะฟื้นไข้และกลับมาเติบโตของ PSL แต่ราคาหุ้นไม่ได้ไปไหนเลย อาจเป็นด้วยนักลงทุนยังหลอนกับพิษต้มยำกุ้งอยู่ก็ได้ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ค่าพีอีต่ำมากแบบเหลือเชื่อ ต่ำกว่าพีอีตลาดด้วย (ค่าพีอีตลาดอยู่ในวงเล็บ) ค่าพีอีต่ำในช่วงฟื้นไข้นี้แหละน่าลงทุน ในตอนนั้นนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นเรือช่วงปี 2000 ได้กำไรกันมากมาย
“แต่นี่แหละ ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ช่วงฟื้นไข้ของธุรกิจเดินเรือสั้นมาก เพราะปี 2007 ก็เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง นับเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย” ลุงแมวน้ำสรุป
ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง แล้วจึงพูดต่อ
“ย้อนกลับมาเรื่องโซนี่กันอีกสักนิด ที่ลุงอยากให้พวกเราสังเกตกันอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ บริษัทโซนี่เป็นกรณีศึกษาที่ดีของวัฏจักรกิจการ นี่แหละคืออนิจจัง ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความเสื่อมได้ ไม่ว่าบริษัทจะยิ่งใหญ่และทำธุรกิจมายาวนานเพียงใด สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความเสื่อม โดยปัจจัยของความเสื่อมของโซนี่คือค่าเงินเยนแข็ง ทำให้สินค้าขายยาก มีราคาแพง นอกจากนี้ยังถูกสินค้าเกาหลีที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาจนแข่งขันได้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลียังเน้นที่ราคาต่ำกว่า ไม่ต้องใช้ทนทานมากนักก็ได้ เอาราคาประหยัดไว้ก่อน ก็นับว่าถูกใจตลาด จึงแย่งตลาดไปได้
“ข้อคิดอีกประการจากกรณีศึกษาของโซนี่ก็คือ อย่าคิดว่าซื้อหุ้นแล้วจะถือไปตลอดชีวิต แนวคิดนี้ปัจจุบันลุงว่าใช้ไม่ได้แล้วล่ะ เนื่องจากโลกเปลี่ยนไป การแข่งขันสูงขึ้น วัฏจักรของสินค้าและกิจการสั้นลง เนื่องจากใครคิดทำอะไรใหม่ๆจะไร้คู่แข่งได้เพียงเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ในเวลาไม่นานจะมีคู่แข่งกระโดดเข้าตลาดตามมามากมาย ดังนั้นการลงทุนในหุ้นต้องหมั่นตรวจสอบหุ้นของเราอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ทั้งโซนี่และ PSL ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสองครั้งในเวลาห่างกันไม่นาน คือต้มยำกุ้ง แล้วตามด้วยแฮมเบอร์เกอร์ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลกในยุคนี้อาจผันผวนมากขึ้น ดังนั้นความสามารถในการแข่งขันของกิจการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็ตอกย้ำแนวคิดที่ว่าการถือหุ้นไปตลอดชีวิตโดยไม่ติดตามถามไถ่เลยไม่น่าจะได้แล้วล่ะ”