Tuesday, July 8, 2014

08/07/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (6)





แง้มดูพอร์ตภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ (PHATRA GHC)

“เอาละ คราวนี้เรามาแง้มดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนเปิดภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ หรือ PHATRA Global Health Care กัน” ลุงแมวน้ำพูดหลังจากดูดน้ำปั่นเสร็จ “ดังที่ลุงบอกว่ากองทุนรวมนี้ต่างจาก BCARE เนื่องจาก BCARE เป็นกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนแม่เพียงกองทุนเดียว ส่วน PHATRA GHC เป็นกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดหุ้นอเมริกาถึง 6 กองทุน”

“ทำไมต้องลงทุนถึง 6 อีทีเอฟเลยละลุง” ลิงจ๋อถาม

“มาถามลุงแล้วลุงจะรู้ไหมเนี่ย ลุงไม่ใช่ผู้ออกกองทุน” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “แต่ถ้าจะให้เดาก็น่าจะเป็นเพื่อกระจายการลงทุนในซับเซ็กเตอร์ต่างๆของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ลองดูตารางนี่สิ”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกแผ่นหนึ่ง

พอร์ตการลงทุนของ PHATRA GHC ณ มีนาคม 2014

“นี่ไง เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ 6 กองทุนที่ PHATRA GHC ลงทุนอยู่ จะสังเกตว่าอีทีเอฟแต่ละกองหรือว่าแต่ละตัวมีธีมย่อยแตกต่างกันออกไป XPH กับ PJP เน้นไปทางหุ้นบริษัทยา IXJ เป็นอีทีเอฟที่ลงทุนแบบคละ IHI เน้นไปทางทางหุ้นเครื่องมือแพทย์ ส่วน XBI เน้นไปทางหุ้นไบโอเทค และสุดท้ายคือ IHF เน้นไปทางผู้ให้บริการ ได้แก่ หุ้นโรงพยาบาล คลินิก ประกันสุขภาพ ฯลฯ

“หากสังเกตจากธีมการลงทุนของอีทีเอฟทั้งหก ก็พอจะคะเนได้ว่า PHATRA GHC ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทยาเป็นสัดส่วนสูงที่สุด เพราะลงทุนในอีทีเอฟด้านบริษัทยาถึงสองอีทีเอฟ”

“แสดงว่าความหวือหวาเร้าใจของกองทุนรวมนี้น่าจะน้อยกว่า BCARE ใช่ไหมครับ” ลิงถาม “เพราะลงทุนในหุ้นไบโอเทคน้อยกว่า”

“ถ้าจะสรุปแบบนั้นก็ยังเร็วไป ตอนนี้เรามาดูเรื่ององค์ประกอบของพอร์ตกันก่อน เดี๋ยวลุงค่อยพาไปดูเรื่องความผันผวนและผลตอบแทน” ลุงแมวน้ำตอบ จากนั้นพูดต่อ “หากพูดถึงองค์ประกอบของพอร์ตกองทุนรวม PHATRA GHC นั้นค่อนข้างซับซ้อนกว่า เนื่องจากไปลงทุนในอีทีเอฟซึ่งเป็นกองทุนรวมแบบหนึ่ง และยังไปลงทุนอีทีเอฟถึง 6 กองทุน ในอีทีเอฟแต่ละกองทุนก็มีไส้ในประกอบด้วยหุ้นนับสิบตัว ดังนั้น 6 อีทีเอฟหากนำไส้ในมาวิเคราะห์แล้วจะพบว่ามีการลงทุนซ้ำซ้อนกันอยู่ด้วย และนอกจากนี้ อีทีเอฟบางกองทุนยังลงทุนในหุ้นที่เป็นบริษัทโฮลดิง (holding company) อีก ซึ่งบริษัทโฮลดิงนี้ก็ไปลงทุนในหุ้นด้านเฮลท์แคร์อีกต่อหนึ่ง

“ยกตัวอย่างเช่น หุ้น Johnson & Johnson (JNJ) นี้มีการลงทุนซ้ำซ้อนกันจากหลายอีทีเอฟและจากบริษัทโฮลดิงด้วย ดังนั้นหากนำไส้ในของ PHATRA GHC มาวิเคราะห์ให้ละเอียดก็ซับซ้อนและซ้ำซ้อนดังที่ว่า แต่ว่าลุงก็ลองวิเคราะห์เจาะลึกดู และนับรวมการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน พบว่ากองทุนนี้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหลัก 20 หุ้นแรกประมาณนี้ เอ้า ลองดูตารางกันหน่อย” ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงตารางอีกแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่ายและคลี่ให้ลิงดู

หุ้น 20 ลำดับแรกในพอร์ตของ PHATRA GHC และสัดส่วนโดยประมาณ ณ มีนาคม 2014

เมื่อนายจ๋อได้ดูตารางแล้ว ลุงแมวน้ำก็พูดต่อ

“จากสัดส่วนการลงทุนที่ลุงคำนวณมาอย่างคร่าวๆ จะเห็นว่าพอร์ตของ PHATRA GHC หุ้นที่ลงทุนมากที่สุดก็ยังมีน้ำหนักเพียง 3% ดังนั้นพอร์ตนี้เป็นพอร์ตกระจายการลงทุนมากทีเดียว มีหุ้นอยู่หลายสิบบริษัท และในหลายซับเซ็กเตอร์ ดังนั้นจะหวังผลตอบแทนแรงๆคงไม่ได้เช่นกัน”


แง้มดูพอร์ตศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD)

“ต่อจากนั้นเรามาแง้มดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนเปิดศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD) กัน” ลุงแมวน้ำพูดหลังจากดูดน้ำปั่นเสร็จ “กองทุนนี้คล้ายกับ Bcare ในแง่ที่ว่าเป็นกองทุนลูก (feeder fund) ที่ลงทุนในกองทุนหลักหรือว่ากองทุนแม่ (master fund) เพียงกองทุนเดียว นั่นคือ KH-HealthHD ลงทุนในกองทุน JPMorgan Global Healthcare Fund Class A และลงทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ

“กองทุน KH-HealthHD มีความเสี่ยงระดับ 6 มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วย และป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

“สำหรับกองทุนหลักคือ JPMorgan Global Healthcare Fund นั้นมีโครงสร้างการลงทุนคือลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาประมาณ 60% ของพอร์ตการลงทุน ส่วนที่เหลือก็กระจายการลงทุนไปในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี ฯลฯ) แคนาดา ญี่ปุ่น

“ทางด้านการกระจายในซับเซ็กเตอร์ต่างๆ และรายชื่อหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ตการลงทุนก็ดูได้ตามนี้เลย กองทุนรวมนี้ให้น้ำหนักในซับเซ็กเตอร์ยามากที่สุด คือ 47.5% รองลงมาเป็นซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคโนโลยี” ลุงแมวน้ำพูดพลางดึงกระดาษออกมาอีกสองแผ่นจากหูกระต่ายและกางให้ลิงจ๋อดู


พอร์ตการลงทุนของ JPMorgan Global Healthcare Fund
กระจายในซับเซ็กเตอร์ต่างๆ (subsector breakdown) ณ พฤษภาคม 2014


รายชื่อหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ตการลงทุนของ JPMorgan Global Healthcare Fund (Top Ten Holdings) ณ พฤษภาคม 2014


เปรียบเทียบกองทุนรวมและหุ้นเฮลท์แคร์ ผลตอบแทนและความผันผวน


“ผลตอบแทนของสามกองทุนนี้เป็นอย่างไรบ้างละครับลุง” ลิงถาม “ที่อยากรู้ที่สุดก็เรื่องนี้แหละ ลุงก็ไม่บอกเสียที”

“อ้าว ใจเย็นๆสิ ลุงก็ค่อยๆเล่าไปทีละเรื่อง ที่เล่ามาตั้งเยอะก็เพราะว่าลุงอยากให้นายจ๋อลงทุนด้วยความรู้ ไม่ใช่ลงทุนด้วยความไม่รู้” ลุงแมวน้ำตอบ “ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่นายจ๋ออยากรู้แล้วล่ะ ลุงหาข้อมูลมาให้มากกว่าที่นายจ๋ออยากรู้เสียอีก”

“เอ๊ะ ยังไง” ลิงสงสัย

“ดูนี่เลย” ลุงแมวน้ำพูด พลางดึงกระดาษอีกแผ่นออกมาจากหูกระต่าย

“นี่เป็นตารางแสดงผลตอบแทนในรอบ 5 ปี และแสดงความผันผวนไว้ด้วย”


ตารางแสดงผลตอบแทน 5 ปีของหุ้น กองทุน และดัชนีด้านเฮลท์แคร์ และค่าความผันผวน


“ดูยังไงน่ะลุง” ลิงจ๋อยกหางขึ้นมาเกาหัว

“ลุงจะค่อยๆอธิบายตารางนี้ให้ฟัง ตารางนี้สำคัญมาก เพราะเป็นสรุปและเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้นและกองทุนต่างๆในรอบ 5 ปี คือเริ่มลงทุนตั้งแต่ เมษายน 2009 และสิ้นสุดที่มีนาคม 2014 รวม 5 ปี

“หุ้นและกองทุนที่ลุงทำผลงานการลงทุนมาให้ดูเปรียบเทียบกันก็มีหลายอย่าง ได้แก่ กองทุนรวม BCARE, PHATRA GHC นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนของดัชนี SET, ผลตอบแทนของดัชนีเซ็กเตอร์สุขภาพ (Health sector index) ของตลาดหุ้นไทย

“นอกจากนี้แล้ว ลุงยังได้เปรียบเทียบผลตอบแทนในรอบ 5 ปี ของหุ้นและอีทีเอฟอีก 6 ตัว นั่นคือ หุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH), หุ้นเครือบางกอกเชน (BCH เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โรงพยาบาลการุญเวช)

“และยังมีอีทีเอฟ XLV (SPDR Health Care Select Sector Fund) ซึ่งเป็นอีทีเอฟด้านเฮลท์แคร์ที่มีสินทรัพย์สูงสุดในตลาดอเมริกา คือประมาณ 10,500 ล้านดอลลาร์ สรอ หรือสามแสนกว่าล้านบาท กับยังมีกองทุนรวม JPMorgan Global Healthcare Fund ที่เป็นกองทุนแม่ของ KF-HEALTHD

“ยังมีอีก ลุงยังเปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ในตลาดหุ้นเอเชียอีก 3 บริษัท เพื่อให้เห็นบรรยากาศการลงทุนของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ในเอเชียด้วย ได้แก่ หุ้นแรฟเฟิลส์เมดิคัล (Raffles Medical Group) ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ทำธุรกิจสถานพยาบาล, ไซโนฟาร์มาซูติคัล (Sino Biopharmaceutical) ในตลาดหุ้นฮ่องกง ทำธุรกิจผลิตยาในจีน และหุ้นฟู่ต้านจางเจียงไบโอฟาร์มาซูติคัล (Shanghai Fudan-Zhangjiang Bio-Pharmaceutical) ในตลาดหุ้นฮ่องกง ทำธุรกิจยาไบโอเทคในจีน”

“โอ๊ย 1,350%” ลิงคราง “ทำไมมันแรงยังงี้ หุ้นอะไรกันเนี่ย”

“หุ้นบริษัทฟู่ต้านจางเจียง ทำธุรกิจยาและไบโอเทคในจีนแผ่นดินใหญ่ จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง หุ้นตัวนี้คิดง่ายๆว่าลงทุน 100 บาท ห้าปีต่อมาได้ผลตอบแทนมาอีก 1350 บาท” ลุงแมวน้ำพูด “แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งคุยถึงหุ้นตัวนี้ นี่เราคุยเรื่องกองทุนเฮลท์แคร์กันอยู่ เห็นตัวเลขผลตอบแทนแล้วตาโตเชียว”

“ก็แน่ละสิ ซื้อกล้วยได้หลายปีเลย ฮิฮิ” ลิงหัวเราะ “อ้อ เดี๋ยวก่อนลุง ผมสังเกตว่าในตารางผลตอบแทน มีคำว่า non total return กับ total return มันต่างกันยังไง”

“เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อลุงคิดผลตอบแทนหรือว่า performance ลุงคิดจากราคาหุ้นหรือราคากองทุนในรอบ 5 แล้วคิดเป็นร้อยละออกมาเลย คือดูกราฟที่ต้นงวดและท้ายงวด เอามาคำนวณเลย นั่นหมายความว่า พวกเงินปันผลจ่ายจะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นผลการดำเนินงาน พวกนี้เรียกว่าผลตอบแทนแบบ non total return คือไม่ได้รวมเงินปันผลเข้ามาด้วย

“ทีนี้กองทุน BCARE ไม่ได้จ่ายเงินปันผล แต่ว่า PHATRA GHC จ่ายปันผล ลุงจึงคำนวณผลตอบแทนของ PHATRA GHC แบบ total return คือรวมเงินปันผลให้ดูด้วย จะได้เทียบกับ BCARE ได้อย่างยุติธรรม ส่วนหุ้นหรือกองทุนอื่นๆลุงไม่ได้คำนวณแบบ total return เอาไว้เพราะว่าแค่อยากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคร่าวๆเท่านั้นเอง

“จะเห็นว่า ผลตอบแทนของ BCARE กับ PHATRA GHC ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาก็สูสีกัน คือ 147% กับ 144% ตามลำดับ แม้ว่าน้ำหนักการลงทุนในซับเซ็กเตอร์จะแตกต่างกันบ้าง และที่อยากให้สังเกตก็คือ ผลตอบแทนของกองทุนรวมทั้งสองนี้ด้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นและดัชนีอื่นๆดังที่เห็นในตาราง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงนั่นเอง ก็เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เฉลี่ยผลตอบแทนกันไป กองทุนแบบนี้ผลตอบแทนสวยใช้ได้ ผลตอบแทนขนาดปีละกว่า 20% ก็หรูมากแล้ว และมั่นคงดี ไม่ต้องไปอิจฉาทางเลือกอื่นๆในตารางหรอก ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็ย่อมสูงตามไปด้วยนั่นแหละ

“ลุงยังไม่ได้นำเอากองทุน KF-HEALTHD มาเปรียบเทียบร่วมกับ BCARE และ PHATRA GHC เนื่องจาก KF-HEALTHD เป็นกองทุนไทยที่เพิ่งออกใหม่ ยังไม่มีผลงานให้เปรียบเทียบ แม้ว่าลุงแสดงผลการดำเนินงานของกองทุนแม่คือ JPMorgan Global Healthcare Fund ไว้ให้ดูด้วย แต่ไม่ควรนำเอาผลงานของกองทุน JPMorgan Global Healthcare Fund มาเปรียบเทียบกับ BCARE และ PHATRA GHC เนื่องจาก BCARE และ PHATRA GHC มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย”

“เดี๋ยวก่อนครับลุง แล้วค่า volatility ในตารางนี่คืออะไร” ลิงถาม

“นี่แหละ คือค่าความผันผวน ลุงคำนวณเปรียบเทียบให้ดู ค่าต่ำแปลว่าความผันผวนน้อย ค่าสูงกว่าคือผันผวนมากกว่า และหากลองสังเกตดูจะพบว่าพวกที่เป็นหุ้นความผันผวนจะสูง นี่แหละ หากจะลงทุนเป็นหุ้นต้องทำใจไว้ด้วยว่าแกว่งแรง ส่วนกองทุนรวมที่กระจายการลงทุนมักผันผวนต่ำเพราะกระจายการลงทุนออกไปนั่นเอง”

“ผมยังสงสัยอีกอย่าง” ลิงถามอีก “ลุงบอกว่า BCARE ลงทุนในหุ้นไบโอเทคเยอะกว่า PHATRA GHC ใช่ไหม ที่จริงผมเดาเอาไว้ว่า BCARE น่าจะผันผวนกว่า PHATRA GHC แต่ทำไมจากในตาราง ค่าความผันผวนของ BCARE กลับต่ำกว่า PHATRA GHC ล่ะ”

“ช่างสังเกตดีนี่ BCARE ผันผวนต่ำกว่าหน่อยจริงๆด้วย” ลุงแมวน้ำชม “ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า BCARE ลงทุนในกองทุนรวม WGHCEPAE ความผันผวนของ BCARE เกิดจากความผันผวนของราคาหุ้นในพอร์ต WGHCEPAE นี่เราตัดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนออกไปก่อนนะ สมมติว่าไม่มีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ส่วน PHATRA GHC ลงทุนในอีทีเอฟ ความผันผวนของ PHATRA GHC เกิดจากความผันผนของราคาหุ้นในพอร์ตของอีทีเอฟ และความผันผวนจากราคาอีทีเอฟเองด้วยเพราะอีทีเอฟก็เทรดกันในกระดานหุ้น เรียกว่ากองทุนนี้รับความผันผวนสองชั้นเลยทีเดียว ทั้งจากราคาหุ้นและราคาอีทีเอฟ จึงผันผวนกว่านิดหน่อย” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงจ๋อพยักหน้า

ลุงแมวน้ำดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกหลายใบ

“เอ้า นี่ ลุงมีกราฟให้ดูประกอบ


กราฟ 5 ปีของ SET, Health sector index, และราคาหุ้น BH, BCH เปรียบกทียบกับกองทุน XLV, Phatra GHC, BCARE

“ดูภาพนี้ก่อน ภาพนี้เป็นกราฟที่ลุงเปรียบเทียบให้ดูความเคลื่อนไหวของราคาของกองทุนและหุ้นต่างๆในรอบ 5 ปี สังเกตเห็นไหมว่ากราฟของ PHATRA GHC ค่อยๆขึ้น ไม่หวือหวา กราฟของ BCARE ก็คล้ายๆกัน แต่ลุงไม่ได้ทำ BCARE มาให้ดู นี่แหละการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมทำให้เส้นกราฟดูมั่นคง ผันผวนมากก็ใจหายใจคว่ำมาก

“และเรื่องที่ควรตระหนักไว้เสมอ 2 เรื่อง คือ ทั้งสองกองทุนนี้ลงทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ สรอ ดังนั้นความผันผวนส่วนหนึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนจะมีผลมากหรือน้อยขึ้นกับว่ากองทุนบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีเพียงใด และอีกข้อหนึ่งก็คือ องค์ประกอบของทั้งสองกองทุนรวมนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นในตลาดอเมริกา ดังนั้นความผันผวนของตลาดหุ้นอเมริกาย่อมมีผลต่อความผันผวนของกองทุนด้วย ส่วนจะมีผลมากน้อยเพียงใดบอกได้ยากเนื่องจากเวลาต่างกัน สถานการณ์ต่างกัน ผลกระทบก็ต่างกันออกไป



กราฟราคาหุ้นโรงพยาบาล BH ของไทย เทียบกับราคาหุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ของสิงคโปร์และฮ่องกงบางตัว

“ภาพนี้เป็นกราฟราคาหุ้นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง หุ้นที่อยู่ในตารางข้างบนนั่นแหละ ลุงยกตัวอย่างให้ดู


กราฟราคาหุ้นในตลาดอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่ขาดทุนหนัก เป็นอุทาหรณ์สำหรับการลงทุน

“และภาพนี้ลุงให้ไว้เพื่อเตือนสติ ที่ผ่านมาเราดูแต่ผลตอบแทนที่สวยหรู เราอย่าประมาท ต้องไม่ลืมอีกด้านหนึ่งด้วย ลุงเอากราฟราคาหุ้นที่ขาดทุนยับมาให้ดู ชอบแต่ของแรงๆ พลาดเข้าก็แย่เหมือนกัน”



สรุปแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ


“ลุงแมวน้ำเล่ามาเสียเยอะ สุดท้ายก็มาพูดเรื่องขาดทุนยับ สรุปแล้วอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์น่าลงทุนไหมเนี่ย” ลิงถาม

“ถามแบบนี้ก็ตอบยาก เพราะเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ คนนั้นก็ชอบอุตสาหกรรมนั้น คนนี้ก็ชอบอุตสาหกรรมนี้ ต่างคนก็มีเหตุผลของตัวที่ชอบและไม่ชอบ คนที่ชอบอุตสาหกรรมไหนก็ย่อมมีเหตุผลสนับสนุน ไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก” ลุงแมวน้ำตอบ

“แหม่ แทงกั๊กจริงลุง เอาเป็นว่าความเห็นของลุงล่ะ” ลิงทำหน้ายู่ยี่เมื่อได้ยินคำตอบของลุงแมวน้ำ

“อ้าว ไม่ได้แทงกั๊ก ถ้าถามความเห็นของลุง ลุงก็เห็นว่าอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าสนใจลงทุน เพราะเป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับกระแสโลกหรือว่าเมกะเทรนด์ ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และยังดำเนินไปอีกนาน ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นสังคมผู้สูงอายุ พูดง่ายๆก็คือเป็นคนแก่ที่มีเงิน คนกลุ่มนี้แม้อยู่ในประเทศที่การสาธารณสุขดี แต่เรื่องความแก่ชราไม่เข้าใครออกใคร ถึงจะรวยหรือสาธารณสุขดีเพียงใด พอแก่แล้วก็ต้องออดๆแอดๆ ก็ต้องพึ่งสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมนี้

“ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ไทย จีน และประเทศอื่นๆในย่านเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา ฯลฯ เหล่านี้เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประชาชนมีการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัวรวดเร็ว คนที่กลายมาเป็นชนชั้นกลางเหล่านี้ต้องการการบริการทางการแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น แม้จะจ่ายแพงขึ้นก็ยอม ดังนั้นก็ต้องพึ่งสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน

“โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ เซ็กเตอร์ย่อยยา โรงพยาบาล เติบโตดีมากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน ตอนนี้ชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น กำลังซื้อของชาวจีนมีมากขึ้น อุตสาหกรรมยาของจีนเติบโตดีมาก แต่ทางด้านโรงพยาบาลเอกชนยังก๊อกๆแก๊กๆอยู่ ผลตอบแทนยังไม่ค่อยดีนัก แต่ลุงมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนมากกว่า อีกหน่อยหุ้นที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลของจีนก็ต้องเติบโตดีเช่นกัน เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น

“ส่วนหุ้นโรงพยาบาลของไทยนั้นยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก อันเป็นไปตามกระแส urbanization เพียงแต่ว่าการเข้าลงทุนควรหาจังหวะที่เหมาะสม และหุ้นยา อาหารเสริม ก็ยังเติบโตได้อีก

“หากสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ และเลือกหุ้นไม่ถูก หรือกลัวว่าเลือกแล้วผิดตัว ก็ลงทุนในกองทุนรวมก็ได้ อาศัยกองทุนรวมเป็นผู้คัดเลือกหุ้นให้ และจัดพอร์ตให้กระจายการลงทุน ก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมนั้น เราลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งในเมืองไทยแต่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีอยู่สองกองทุน ดังที่ลุงเล่ามาแล้ว แต่ต้องเข้าใจความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพที่เป็นหุ้นภายในประเทศ ปัจจุบันยังไม่มี


“แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพยังไปต่อได้เรื่อยๆ ดังนั้นหุ้นและกองทุนรวมต่างๆที่ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่แน่นอน ราคาย่อมต้องมีแกว่งขึ้นลงอันเป็นธรรมชาติของราคาหุ้นและกองทุน ดังนั้นผู้ลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่าการเฝ้าดูราคาทุกวัน เพราะจะทำให้สุขภาพจิตเสีย


“ลุงสรุปให้แบบนี้คงไม่ว่าลุงแมงกั๊กแล้วนะ” ลุงแมวน้ำพูด

“คร้าบ ไม่ว่าแล้วคร้าบ” ลิงจ๋อหัวเราะดังนั้น  “ได้ข้อมูลแล้ว ผมคงต้องกลับเสียที เอาไว้เมื่อมีปัญหาจะมาปรึกษาลุงแมวน้ำใหม่”

ว่าแล้วลิงก็เอาหางเกี่ยวกิ่งไม้และห้อยโหนจากไป

“คราวหน้าถ้าจะมา อย่าลืมเอาน้ำปั่นมาฝากลุงด้วยล่ะ” ลุงแมวน้ำร้องบอกไล่หลัง


Saturday, July 5, 2014

05/07/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (5)






กองทุนรวมสุขภาพที่ลงทุนในต่างประเทศ (กองทุนรวมเฮลท์แคร์ FIF) กองทุนรวม BCARE, PHATRA GHC และ KF-HEALTHD



“เอาละ ชื่นใจแล้ว ไหน เมื่อกี้ว่าไงนะ” ลุงแมวน้ำถามลิงหลังจากดูดน้ำปั่นจนชื่นใจ

“เฮ้อ ลุงแมวน้ำลืมอีกแล้ว” ลิงถอนหายใจ “เราพูดถึงกองทุนรวมเฮลท์แคร์ไง”

“อ้อ ใช่ เมื่อกี้เราพูดกันถึงเรื่องหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นไทย จากนั้นก็เลยมาพูดถึงเรื่องกองทุนรวมที่ลงทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ซึ่งกองทุนรวมด้านเฮลท์แคร์ที่เปิดให้นักลงทุนไทยได้ลงทุนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีกองทุนรวมเฮลท์แคร์ที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เท่าที่มีอยู่ 3 กองทุนรวมก็เป็นกองทุนรวมประเภทที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund, FIF) ทั้งสามกองเลย นั่นคือ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) ของค่ายบัวหลวง กับกองทุนเปิดภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ (PHATRA Global Health Care, PHATRA GHC) ของค่ายภัทร และกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเฮลธ์แคร์อิควิตี้ปันผล (KF-HEALTHD) ของค่ายกรุงศรีอยุธยา” ลุงแมวน้ำทบทวนความจำ

“แล้วลุงก็กำลังจะเล่าเรื่องกองทุนรวมเฮลท์แคร์ให้ผมฟัง” ลิงจ๋อเสริมให้อีก “ว่าแต่ว่าลงทุนในหุ้นเฮลท์แคร์ในตลาดหุ้นไทยดี หรือว่าลงทุนในกองทุนรวมเฮลท์แคร์ที่ลงทุนในต่างประเทศดีกว่าล่ะ”

“ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป

“ข้อเสียของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คือส่วนใหญ่ก็เป็นหุ้นโรงพยาบาล หุ้นในซับเซ็กเตอร์อื่นของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ยังมีให้เลือกลงทุนน้อย ดังที่ลุงได้คุยไปแล้ว และหากมองในแง่การกระจายความเสี่ยงก็อาจมองได้ว่ากระจายความเสี่ยงในวงจำกัด หากเศรษฐกิจไทยเกิดเป็นอะไรไป หุ้นก็คงลงหมดทั้งกระดาน รวมทั้งหุ้นทั้งหมดในพอร์ตของเรา

“ส่วนข้อดีก็คือ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลของไทยอยู่ในยุคชุมชนเมืองขยายตัวพอดี หรือที่เรียกว่าเป็นยุคของ urbanization ดังนั้นโอกาสเติบโตยังมีอีกมาก หุ้นเฮลท์แคร์ของไทยโดยเฉพาะหุ้นโรงพยาบาลถือว่าเป็นหุ้นเติบโตสูงหรือ growth stock เชียว และอีกอย่างก็คือ หุ้นไทยซื้อขายกันเป็นเงินบาท ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี้ในปัจจุบันผันผวนและคาดเดาได้ยากมาก”

“แล้วข้อดีข้อเสียของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศล่ะลุง” ลิงถาม

“ข้อดีของกองทุนรวมเฮลท์แคร์ที่ลงทุนในต่างประเทศก็คือ มีการกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า ทั้งในแง่ประเทศที่ไปลงทุน กับในแง่ซับเซ็กเตอร์ที่ไปลงทุน คือกองทุนรวมเหล่านี้มักกระจายการลงทุนในหลายซับเซ็กเตอร์ของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ รวมทั้งกระจายการลงทุนในหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่ก็ลงทุนเป็นหลักสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ราว 70% ของพอร์ต รองลงมาอันดับสองมักเป็นหุ้นในสวิตเซอร์แลนด์แต่สัดส่วนห่างกันมาก มักลงทุนไม่เกิน 10% ของพอร์ต รองลงมาอีกก็เป็นหุ้นในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย ที่พูดให้ฟังด้านน้ำหนักของพอร์ตคร่าวๆก็เพื่อให้เห็นว่า ที่จริงแล้วกองทุนรวมเฮลท์แคร์ในต่างประเทศ จะว่าไปก็ยังกระจุกตัวอยู่ในหุ้นในตลาดอเมริกาเป็นหลัก แต่ว่าหากมองในเรื่องขอบเขตของธุรกิจแล้ว หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจแบบนานาชาติ ก็ถือได้ว่ามีการกระจายการลงทุน

“ข้อเสียของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศคือความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ทั้งสามกองทุนนี้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้เต็มจำนวนและเป็นไปตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน คือเป็นแบบไดนามิก ดังนั้นความเสี่ยงจึงยังมีอยู่ ส่วนจะมีมากน้อยเท่าไรก็บอกยาก ในบางช่วงเวลาอาจไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงเลยก็ได้”

“ยังงั้นผมขอถามลุงเรื่องกองทุนรวมก่อนก็แล้วกัน กองทุนสามกองนี้ต่างกันอย่างไรบ้างละครับ กองไหนให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน” ลิงจ๋อถาม

“ก่อนที่เราจะมาดูผลตอบแทน เรามาดูข้อมูลพื้นฐานของสามกองทุนนี้ก่อนดีกว่า เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ลุงจะพูดถึง BCARE กับ PHATRA GHC ก่อนเนื่องจากเป็นกองทุนรวมที่เห็นผลงานมาหลายปีแล้ว ส่วน KF-HEALTHD เป็นกองทุนรวมที่ใหม่มาก ยังไม่เห็นผลงาน” ลุงแมวน้ำพูดแล้วหยุดนิดหนึ่ง ก่อนจะพูดต่อไปว่า

มาดูกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) ก่อนละกัน กองทุน BCARE นี้เป็นกองทุนลูก (feeder fund) ที่ไปลงทุนในกองทุนแม่ (master fund) ในต่างประเทศอีกทีหนึ่ง โดยกองทุนแม่นี้มีชื่อว่า Wellington Global Health Care Equity Portfolio Class A (WGHCEPAE) ลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ การจัดพอร์ตการลงทุนว่าจะลงทุนในหุ้นอะไรบ้างนั้นกองทุนแม่นี้เป็นผู้บริหารจัดการ ส่วนกองทุนไทยนั้นเป็นผู้ไปลงทุนในกองทุนแม่อีกทอดหนึ่ง

“ตัวกองทุน BCARE ที่เป็นกองทุนลูกนั้นจัดว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6 คือเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน พูดง่ายๆก็คือเป็นกองทุนหุ้น ไม่มีการจ่ายเงินปันผล หากผู้ลงทุนต้องการเงินก็ใช้วิธีการขายคืนหน่วยลงทุน มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเป็นดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนฝั่งไทย”

ลิงจ๋อนั่งฟังทำตาปริบๆ เมื่อเห็นลิงจ๋อยังไม่ถามอะไร ลุงแมวน้ำจึงพูดต่อ

“ส่วนกองทุนเปิดภัทร โกลบอล เฮลธ์แคร์ หรือ PHATRA GHC นั้นต่างกันออกไป ไม่ได้ลงทุนแบบกองทุนแม่-กองทุนลูก แต่กองทุน PHATRA GHC นั้นลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF, exchange traded fund) ในตลาดหุ้นอเมริกาหลายๆกองทุน โดยลงทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ”

“ยังไงกันลุง เรื่องกองทุนแม่-กองทุนลูกของ BCARE นั้นยังพอเข้าใจ แต่ว่า PHATRA GHC ที่ลงทุนในอีทีเอฟนี้ไม่ค่อยเข้าใจ” ลิงจ๋องง

“ลุงอธิบายคำว่า ETF แบบง่ายๆก่อน อีทีเอฟเป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะพิเศษคือซื้อขายได้ในกระดานหุ้น ทำตัวเหมือนเป็นหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งในตลาดหุ้นไทยก็มีอีทีเอฟให้เทรดได้ตั้งหลายตัว เช่น BCHAY, GOLD99, TDEX, ENGY EFOOD, CHINA เป็นต้น เหล่านี้เป็นอีทีเอฟทั้งสิ้น

“กองทุน PHATRA GHC นี้ก็นำเงินไปซื้อกองทุนอีทีเอฟทางด้านเฮลท์แคร์ในตลาดหุ้นอเมริกา ก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน กองทุนนี้ลงทุนในอีทีเอฟประมาณ 4-6 ตัว มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย กองทุนนี้มีความเสี่ยงระดับ 8 มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเป็นดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนฝั่งไทย”

“เดี๋ยวๆ ลุง กองทุน BCARE มีความเสี่ยงระดับ 6 ใช่ไหม แล้วทำไมกองนี้ระดับความเสี่ยงไม่เท่ากัน กองทุนไหนเสี่ยงกว่ากัน” ลิงจ๋อทัก

“ช่างสังเกตเหมือนกันนี่” ลุงแมวน้ำชม “ความเสี่ยงต่างระดับกันอย่างที่นายจ๋อทักนั่นแหละ เรื่องการจัดระดับความเสี่ยงนี้เป็นกฎของตลาด ตัวเลขมากคือความเสี่ยงสูงยิ่งขึ้น พวกที่ความเสี่ยงระดับ 6 พูดง่ายๆคือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นล้วนๆ ส่วนกองทุนรวมที่ความเสี่ยงระดับ 8 เป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด มักมีการลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงสูงด้วย เช่น ลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์หรือตราสารหนี้ที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured note) เป็นต้น แต่เท่าที่ลุงดูในรายงานประจำปียังไม่พบว่ามีสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้นะ การลงทุนหลักยังเป็นอีทีเอฟอยู่”

“แล้วสองกองทุนนี้ยังมีความแตกต่างกันยังไงอีกลุง ฟังแล้วก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเลือกอะไรดี”

“ที่ลุงเล่ามานั้นเป็นข้อมูลพื้นฐานของกองทุน ยังมีข้อมูลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ลุงยังไม่ได้บอกเลย นั่นก็คือ การจัดพอร์ตลงทุนของทั้งสองกองทุนรวม ความแตกต่างสำคัญก็อยู่ที่การจัดพอร์ตนี่แหละ” ลุงแมวน้ำพูด

“ยังงั้นเล่าต่อเลยครับลุง”



แง้มดูพอร์ตกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE)

“เรามาเริ่มกันที่พอร์ตการลงทุนของ BCARE กันก่อน การจัดพอร์ตของ BCARE ขึ้นอยู่กับนโยบายในการลงทุนของกองทุน WGHCEPAE สำหรับ WGHCEPAE ที่ BCARE ลงทุนอยู่นั้นหากแบ่งการลงทุนตามซับเซ็กเตอร์ จะพบว่าลงทุนในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคโนโลยีสูงที่สุด คือเป็นสัดส่วน 38.9% ของพอร์ตการลงทุน รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิก สถานพักฟื้น สถานฟื้นฟู และแผนประกันสุขภาพต่างๆ) โดยลงทุนเป็นสัดส่วน 25.9% ของพอร์ต และรองลงมาอีกเป็นซับเซ็กเตอร์ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบตารางสองแผ่นออกมาจากหูกระต่ายและคลี่แผ่นหนึ่งออกให้ลิงดู “เอ้า ดูตารางนี่ ตามนี้เลย”


พอร์ตการลงทุนของ WGHCEPAE กระจายในซับเซ็กเตอร์ต่างๆ ณ มีนาคม 2014


“สงสัยว่าพอร์ตนี้จะชอบความแรง” ลิงออกความเห็น “ลงในหุ้นไบโอเทคเยอะเขียว”

“เอาละ ทีนี้หากว่าเราอยากรู้ว่ากองทุนนี้ลงทุนในหุ้นอะไรบ้าง ก็ลองดูตารางนี้ ลุงแมวน้ำเอารายชื่อหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ต BCARE มาให้ดูกัน” ลุงแมวน้ำพูดพลางเอาตารางอีกแผ่นหนึ่งให้ลิงดู จากนั้นพูดต่อ “จะเห็นว่าหุ้นหลักอยู่ในกลุ่มไบโอเทคโนโลยีและยา อีกทั้งยังเป็นหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกาเสีย 8 บริษัท อีกสองบริษัทอยู่ในเบลเยี่ยมและญี่ปุ่น จากตารางนี้ทำให้พอเห็นภาพการจัดน้ำหนักในการลงทุนและประเทศที่เข้าลงทุนได้”


พอร์ตการลงทุนของ WGHCEPAE แสดงหุ้น 10 อันดับแรกในพอร์ตและค่า P/E ณ มีนาคม 2014


“หุ้นพวกนี้ลุงรู้จักบ้างไหม” ลิงถาม “หุ้นตัวแรก P/E สูงปรี๊ด น่ากลัวเชียว”

“ก็พอรู้นิดหน่อย” ลุงแมวน้ำตอบ “อย่างเช่นหุ้นลำดับที่หนึ่งในตาราง คือ ฟอเรสต์แลบ (Forest Laboatories, FRX) นี่เป็นหุ้นดังในกลุ่มไบโอเทค และยิ่งไปกว่านั้น ฟอเรสต์แล็บเพิ่งถูกซื้อโดยบริษัทแอกตาวิส (Actavis, ACT) ที่เป็นหุ้นบริษัทยายักษ์ใหญ่อันดับต้นๆของโลก เพิ่งออกข่าวไปเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง มูลค่าที่ซื้อคือ 25,000 ล้านดอลลาร์ สรอ หรือ 800,000 ล้านบาท”

“โห สดๆร้อนๆเลยนะลุง แปดแสนล้านบาท มูลค่ามหาศาลเลย” ลิงอ้าปากหวอ

“ใช่แล้ว ก็ดังที่ลุงบอก หุ้นในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคมีลุ้นให้เทคโอเวอร์กันอยู่เรื่อยๆ” ลุงแมวน้ำพูด “ราคาหุ้น FRX วิ่งหน้าตั้งมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และข่าวการซื้อขายมาออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ วิ่งจาก 40 ดอลลาร์ต่อหุ้นมาถึง 99 ดอลลาร์ กองทุน BCARE ก็ได้อานิสงส์ไปด้วยนี่แหละ

“หุ้นบริษัทยายักษ์ใหญ่ อย่างเช่น เมิร์ก (MRK) แอกตาวิส (ACT) แกลกโซ (GSK) บริษัทเหล่านี้มามาร์เก็ตแคปหรือว่ามูลค่าตลาดสูงมาก เป็นระดับแสนล้านดอลลาร์ สรอ ทีเดียว และบริษัทยาเหล่านี้มักไปเทกโอเวอร์บริษัทยาไบโอเทคมาไว้ในครอบครอง คือไปเอาบริษัทไบโอเทคมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท หากมองกันในเชิงโครงสร้างธุรกิจ การเทคโอเวอร์แบบนี้เป็นการเอื้อประโยชน์กันและกัน หรือเป็นการร่วมพลังกัน (synergy) เพราะบริษัทไบโอเทคมีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจสูง ผู้ถือหุ้นก็ความเสี่ยงไปด้วย รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีก็อาจติดขัดด้วยเรื่องเงินทุน แต่หากไปอยู่ในชายคาของบริษัทยายักษ์ใหญ่ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงไปได้ การพัฒนาเทคโนโลยีก็ราบรื่นกว่า ไม่ค่อยติดขัดเรื่องเงินทุน ส่วนบริษัทยาที่มีเงินทุนพร้อมกว่าก็สามารถใช้ธุรกิจไบโอเทคโนโลยีเป็นตัวสร้างรายได้แก่บริษัท ดังนั้นบริษัทยายักษ์ใหญ่แม้โดยซับเซ็กเตอร์แล้วจะอยู่ในซับเซ็กเตอร์ยาทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้วมักมีธุรกิจด้านไบโอเทคอยู่ด้วย”


ราคาหุ้น Forest Laboratories อันเป็นหุ้นด้านไบโอเทคโนโลยีวิ่งแรงตั้งแต่ปลายปี 2013 ปัจจุบันหุ้น FRX ไม่มีแล้วเนื่องจากบริษัทยาแอกทาวิส (ACT) ซื้อไปแล้ว


“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงพูด พลางดูในตาราง “แล้วลุงยังมีข้อสังเกตอะไรอีกไหม”

“ก็ยังมีข้อสังเกตอีกนิดหน่อย อย่างเช่น หุ้นยูไนเต็ดเฮลท์ (UNH) เป็นธุรกิจประกันสุขภาพยักษ์ใหญ่ หุ้นนี้อยู่ในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ด้วย และหุ้นแมกเคสซัน (MCK) ทำธุรกิจหลายอย่าง คือขายส่งยาและเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ยังขายโซลูชันด้านซอฟต์แวร์บริหารโรงพยาบาลอีกด้วย ก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ

“นอกจากนี้ ลุงอยากให้สังเกตสัดส่วนการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวของพอร์ตนี้ จะเห็นว่าลงทุนในหุ้นบริษัทละนิดละหน่อย หุ้น 10 บริษัทที่มีสัดส่วนสูงสุดรวมกันแล้วก็ยังไม่ถึง 30% ของพอร์ตเลย คาดว่าทั้งพอร์ตคงมีหุ้นหลายสิบบริษัท โดยทางทฤษฎีแล้วการกระจายการลงทุนในหุ้นมากมายขนาดนี้ทำให้พอร์ตการลงทุนกระจายความเสี่ยงได้ดี แต่ก็จะหวังให้พอร์ตกำไรแรงๆคงไม่ได้ การเติบโตของผลตอบแทนเป็นไปตามการเติบโตของเซ็กเตอร์มากกว่า รวมทั้งความผันผวนของผลตอบแทนกองทุนก็ไม่น่าผันผวนมาก เนื่องจากเป็นไปตามความผันผวนของเซ็กเตอร์มากกว่าความผันผวนจากตัวหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

 นอกจากนี้ก็ยังไม่มีอะไร ต่อไปเราไปแง้มดูพอร์ตลงทุนของ PHATRA GHC กันดีกว่า”

“ดีเลยลุง ยังงั้นดู PHATRA GHC กันต่อเลย” ลิงจ๋อพูด

“โอ๊ะ โอ๊ะ ไม่ได้สิ” ลุงแมวน้ำพูด

“คอแห้ง ขอดูดน้ำปั่นสักหน่อยก่อน” ลิงจ๋อและลุงแมวน้ำพูดขึ้นพร้อมๆกันราวกับนัดกันไว้