พักผ่อน เติมฝัน ในวันฟ้าใสที่บางกะเจ้า |
ปกติลุงแมวน้ำชอบไปออกกำลังกายในวันหยุดที่สวนสาธารณะ ส่วนใหญ่มักไปที่สวนลุมพินี เนื่องจากเดินทางสะดวก และยังมีของกินให้เลือกเยอะอีกด้วย ^_^
แต่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา สวนลุมถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมของมวลมหาประชาชน การไปออกกำลังกายที่นั่นจึงไม่ค่อยสะดวกนัก เนื่องจากผู้คนเยอะมาก ลุงแมวน้ำจึงต้องระเหเร่ร่อนไปตามสวนสาธารณะอื่นๆ บางทีก็ไปว่ายน้ำตามสระต่างๆ
มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ลุงแมวน้ำไปแล้วประทับใจและอยากมาชวนให้พวกเราไปพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายกัน นั่นคือ ที่ บางกะเจ้า
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับบางกะเจ้ากันก่อน แม้ว่าลุงแมวน้ำจะชวนพวกเราไปเที่ยวที่บางกะเจ้าเพื่อออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจกัน แต่จะไปเที่ยวที่ไหนทั้งทีก็อยากให้รู้ที่มาที่ไปของสถานที่นั้นไว้สักหน่อย รู้ไว้ใช่ว่า เอาไว้เป็นความรู้รอบพุง ก็เหมือนกับการลงทุนในหุ้นนั่นแหละ จะลงทุนในหุ้นสักตัวก็คือการลงทุนในธุรกิจอย่างหนึ่ง จะซื้อทั้งทีก็ควรจะรู้จักหัวนอนปลายเท้าของหุ้นนั้นบ้าง ^_^
บางกะเจ้าคืออะไร
บางกะเจ้านั้น มีความหมายสองนัย นัยแรกก็คือเป็นชื่อของตำบลหนึ่งในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และความหมายอีกนัยหนึ่งหมายถึงพื้นที่สีเขียวซึ่งกินเนื้อที่ถึง 6 ตำบลของอำเภอพระประแดง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 12,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักพูดถึงบางกะเจ้าในความหมายหลัง คือหมายถึงพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่เป็นปอดของกรุงเทพฯ
มีข้อสังเกตอยู่นิดหนึ่ง นั่นคือ คำว่า บางกะเจ้า ในอำเภอพระประแดงนี้เขียนว่า บางกะเจ้า แต่ก็มักมีผู้เขียนว่า บางกระเจ้า ซึ่งหากเขียนว่าบางกระเจ้าก็อาจทำให้สับสนได้เนื่องจาก บางกระเจ้า เป็นชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร
บางกะเจ้าสำคัญอย่างไร - ที่มาของปอดสีเขียวของกรุงเทพฯ
ปอดสีเขียวที่ลุงแมวน้ำพูดถึงนี้หมายถึงปอดที่เป็นพื้นที่เกษตร ไม่ใช่ปอดขึ้นรานะ ^_^
ลุงแมวน้ำคงต้องขอเท้าความถึงความเป็นมาของพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้านี้สักหน่อย คือย้อนไปเมื่อเกือบสี่สิบปีมาแล้ว คือราวๆปี พ.ศ. 2520 ในยุคของรัฐบาลป๋าเปรม รัฐบาลในยุคนั้นมีมติให้อนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ของกรุงเทพฯ คือ ตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียว
ก็คงต้องเข้าใจบริบททางสังคมในยุคนั้นกันสักหน่อย เนื่องจาก ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา ลัทธิทุนนิยมเริ่มเฟื่องฟู ทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในไทย ทำให้กรุงเทพฯเป็นชุมชนเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แถบสมุทรปราการก็มีโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นมามากมาย รัฐบาลในยุคป๋าเปรมจึงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเอาไว้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว สำหรับทำเกษตรกรรม ไม่ให้ทำโรงงานหรือทำหมู่บ้านจัดสรร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ปีนั้นก็มีรัฐประหารพอดีเลย โดยคณะ รสช ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลน้าชาติ (พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัน) และตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยมี พล.อ.สุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาล พลเอกสุจินดา ได้อนุมัติโครงการ สวนกลางมหานคร เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียวประมาณ 9,000 ไร่ ซึ่งครอบคลุมท้องที่ 6 ตำบลในอำเภอพระประแดง นั่นคือ ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางยอ ต.บางกอบัว ต.บางกะสอบ ต.บางกะเจ้า และ ต.ทรงคะนอง พร้อมทั้งออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเวนคืนที่ดินบางส่วน
ในสมัยก่อน เมื่อทางราชการต้องการใช้พื้นที่ทำโครงการอะไร (เช่น ตัดถนน สร้างสวนสาธารณะ ฯลฯ) ก็จะใช้วิธีการเวนคืนจากเอกชน โดยให้ค่าตอบแทนต่ำๆ เพราะถือว่าประชาชนต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม บางครอบครัวถูกเวนคืนจนหมดตัว คือทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต บ้านและที่ดินโดนเวนคืนไปหมดทั้งแปลงแต่ได้เงินมานิดเดียว จะไปซื้อที่ใหม่ก็เงินไม่พอ ชีวิตที่มั่นคงจึงกลายเป็นชีวิตลำเค็ญ ประชาชนกลัวและต่อต้านการเวนคืนที่ดินกันมาก การเวนคืนในครั้งนี้ก็เช่นกัน ประชาชนคัดค้านกันมาก ในที่สุดรัฐบาลจึงต้องใช้วิธีซื้อที่ดินจากเอกชนตามความสมัครใจในราคาท้องตลาดเพื่อมาทำโครงการ
โครงการสวนกลางมหานครจึงทยอยซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการเรื่อยมา ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่สวน จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2542 ก็สามารถรวบรวมที่ดินได้ถึง 1,276 ไร่
พื้นที่สีเขียวบางกะเจ้านี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม โดยอนุรักษ์สวนแบบดั้งเดิมเอาไว้ และใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีการสร้างสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ชื่อ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ใช้เป็นแหล่งศึกษาและอนุรักษ์ระบบนิเวศและพืชพรรณท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเส้นทางระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล โดยคลองลัดโพธิ์ก็ตัดผ่านพื้นที่นี้ สามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯได้
สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ สวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูนกและผีเสื้อ |
วิถีชีวิตของชุมชนบางกะเจ้าหลังมีโครงการสวนกลางมหานคร เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับการพัฒนา |
และยิ่งไปกว่านั้น โครงการสวนกลางมหานครนี้ นอกจากการอนุรักษ์แล้ว ยังมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ธำรงอาชีพและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ด้วย เรียกว่าทั้งอนุรักษ์และพัฒนา และนอกจากนี้ การใช้รูปแบบการซื้อที่ดินจากเอกชนตามความสมัครใจในราคายุติธรรม ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะแม้แต่ต้นทางก็เริ่มต้นมาอย่างยุติธรรม ไม่มีการบังคับแข็งขืนใจชาวบ้านในชุมชน
ดังนั้น พื้นที่บางกะเจ้านี้ไม่เป็นเพียงพื้นที่สีเขียวหรือเป็นสวนสาธารณะ ปอดของกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการอนุรักษ์ระบบนิเวศและพืชพรรณท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิถีชีวิตชุมชนอีกด้วย จึงเป็นพื้นที่ที่มีความหมายในหลายมิติ
ต่อมาในราวปี 2004 ฟาน เคสเซล (Van Kessel) นักปั่นจักรยานชาวเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้บุกเบิกทัวร์ปั่นจักรยานในพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้านี้ จนบางกะเจ้าเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปั่นจักรยานทั้งไทยและต่างประเทศ มีเส้นทางสำหรับปั่นจักรยานมากมายหลายเส้น ตั้งแต่วงรอบเล็กเป็นระยะทางไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงวงรอบใหญ่ที่เป็นระยะทางกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตร ปั่นจักรยานชมเรือกสวน สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้งยังได้ชมต้นไม้นานาพันธุ์ นก และผีเสื้ออีกด้วย
นิตยสาร TIME ฉบับหนึ่งในปี 2006 คัดเลือกของดีที่สุดในเอเชียเอาไว้ และยกย่องบางกะเจ้าว่าเป็นโอเอซิสของเขตเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย |
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ยกบางกะเจ้าให้เป็น The Best Urban Oasis of Asia |
นิตยสารไทม์ (TIME Magazine) ปี 2006 มีฉบับหนึ่งได้รวบรวมของดีที่สุดในเอเชียเอาไว้ และบางกะเจ้านี้เป็นสถานที่ที่นิตยสารไทม์ยกย่องว่าเป็น The Best Urban Oasis of Asia (โอเอซิสของเขตเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย - โอเอซิสคือแหล่งน้ำกลางทะเลทราย มีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตในทะเลทราย)
ปอดของกรุงเทพฯอยู่ที่ไหน - เดินทางไปอย่างไร
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อบางกะเจ้า แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ และไม่รู้ว่าจะไปยังไง คงไปยากแน่ๆเลย เรามาดูตำแหน่งแห่งที่ของบางกะเจ้ากัน การเดินทางไปไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องมีรถส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องมีจักรยานส่วนตัว นั่งรถเมล์ไปนี่แหละ แล้วก็ไปเช่าจักรยานเอาที่นั่น สะดวกและง่ายอย่างที่นึกไม่ถึงเลย
พื้นที่บางกะเจ้านี้ เรียกว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ บางคนก็บอกว่าเป็นพื้นที่ทรงกระเพาะหมู ตกลงว่าจะเป็นปอดหรือกระเพาะหมูกันแน่ เราลองมาดูกัน
เมื่อลุงแมวน้ำคุยถึงเรื่องกราฟราคาหุ้น ลุงมักเอาภาพในหลายๆกรอบเวลามาให้ดูกัน เพื่อให้เห็นทั้งภาพในลักษณะมหภาค และระดับกลาง ไปจนถึงระดับย่อย เปรียบเหมือนกัน เพื่อให้เกิดมุมมองทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ในทำนองเดียวกัน ก็เหมือนกับเมื่อเราพูดถึงบางกะเจ้า ทำเป็นเป็นปอด หรือกระเพาะหมู ต้องดูจากในระดับมหภาคจึงจะเห็น ส่วนความสวนสดงดงามนั้น ต้องเข้าไปดูใกล้ๆในระดับรายละเอียดจึงจะเห็น
เราลองมาดูภาพในมุมสูง จากภาพถ่ายดาวเทียมกัน
พื้นที่บางกะเจ้าดูๆไปก็เหมือนปอด (กลีบบนคือบางกะเจ้า กลีบล่างไม่ใช่) |
ภาพนี้เป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่ดูจากระยะไกล ด้านล่างของภาพคือปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ออกอ่าวไทย จะเห็นว่าส่วนที่เป็นสีเข้มคือพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนที่เห็นเป็นสีอ่อนหรือออกไปทางสีขาว คือพื้นที่เขตชุมชนที่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ส่วนที่วงด้วยเส้นสีเขียวดูไปก็คล้ายๆปอด (ต้องจินตนาการเอาหน่อย) มีสองกลีบ ปอดกลีบบนคือบางกะเจ้านั่นเอง ดังนั้นจะเรียกว่าปอดของกรุงเทพฯก็คลับคล้ายอยู่ ^_^
เส้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่าแม่น้ำเจ้าพระยาโอบบางกะเจ้าเอาไว้ แล้วค่อยไหลมาออกอ่าวไทย พื้นที่สีเขียวบางกะเจ้านี้จึงมีความสำคัญในแง่การบริหารจัดการน้ำในยามน้ำหลากกรุงเทพฯอีกด้วย |
ภาพล่างสุดแสดงรายละเอียดเพิ่มขึ้นมาอีก ในภาพนี้ดูไปแล้วบางกะเจ้าก็คล้ายกระเพาะหมู นี่แหละ ปอดก็ได้ กระเพาะก็ได้ ^_^
มุมล่างซ้ายของภาพ ตำแหน่งคอคอดของพระเพาะ (หรือขั้วปอดนั่นเอง) คือคลองลัดโพธิ์ ตำแหน่งลูกศรเขียวคือสวนสาธารณะและสวนพฤกษ์ศาสตร์ กับตลาดน้ำ จุดท่องเที่ยวสำคัญในบางกะเจ้า
การเดินทางก็ง่ายมาก วันนี้ลุงเล่าคร่าวๆก่อน คราวหน้าจะเล่าละเอียดอีกทีหนึ่ง
นั่งรถเมล์สาย 4 หรือ 47 มาที่วัดคลองเตยนอก (วงกลมสีแดงด้านบนของภาพ) จากนั้นนั่งเรือข้ามฟากมา (คนละ 10 บาท ออกตลอดเวลา) ก็เป็นบางกะเจ้าแล้ว มีจุดให้เช่าจักรยานที่ท่าเรือนั่นเอง ขี่ไปเที่ยวสวนหรือไปชมตลาดน้ำก็ได้ และสังเกตวงกลมสีเหลือง ที่ดินผืนนั้นเป็นสวนเก่าริมแม่น้ำ ขนาดประมาณเกือบ 300 ไร่ เป็นที่ดินของ N-Park ทำเลสวยทีเดียว ^_^
ตอนหน้าเรามาคุยรายละเอียดเรื่องการเดินทางและจุดท่องเที่ยวกันต่อคร้าบ