ธนาคารกลางยุโรปลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจอีก
เมื่อคืนนี้ธนาคารกลางของยุโรป หรือที่เรียกว่า ECB (European Central Bank) ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนอีก
ลุงแมวน้ำขอเท้าความหน่อยเพื่อความเข้าใจ คือขณะนี้เศรษฐกิจของยุโรปในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร แม้ว่าดัชนีหลายตัวจะบ่งชี้ว่าค่อยๆกระเตื้องขึ้นในภาพรวม แต่ก็ยังเรียกได้ว่าเศรษฐกิจติดหล่มอยู่ โดยเฉพาะ ปัญหาหนักอกของอีซีบีที่คิดว่าเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัวของยูโรโซนก็คือ ภาวะเงินฝืด คือ ประชาชนไม่ยอมควักกระเป๋าออกมาจับจ่ายใช้สอย เมื่อเงินไม่หมุน เศรษฐกิจก็ไม่สะพัด ก็ไม่พ้นจากหล่มเสียที
ทางอีซีบีนั้นใช้นโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเช่นกัน แต่ว่าใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ได้อัดฉีดแบบไม่อั้นดังเช่นอเมริกา กลไกสำคัญที่อีซีบีใช้กระตุ้นเศรษฐกิจประการหนึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากใช้ดอกเบี้ยนโยบายในอัตราต่ำที่ 1 สลึง (0.25%) ก็แล้ว เงินก็ยังฝืดอยู่ ก็มีการลุ้นกันว่าอีซีบีโดยลุงมาริโอจะมีมาตรการแบบพิมพ์เงินมาอัดฉีดไม่อั้นแบบอเมริกาและญี่ปุ่นหรือไม่
ปรากฏว่ามาตรการเพิ่มเติมล่าสุด ก็คือประกาศเมื่อคืน (เวลาบ้านเรา) นี้เอง ปรากฏว่าอีซีบีไม่ทำคิวอีแบบปลายเปิด แต่ใช้การลดอัตราดอกเบี้ยอีก มาตรเพิ่มเติมล่าสุดก็คือ
- ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 0.25% เหลือ 0.15%
- ลดดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ธนาคารต่างๆนำมาฝากไว้กับธนาคารอีซีบี จาก 0% เป็น -0.10% แปลง่ายๆก็คือ ธนาคารใดจะเอาเงินไปฝากธนาคารกลางต้องเสียค่าฝากเงิน 0.10%
- ลดดอกเบี้ยเงินกู้มาร์จิน จาก 0.75% เหลือ 0.4%
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของลุงมาริโอก็คือ เพื่อกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆพยายามนำเงินไปหมุนบ้าง อย่าเอาแต่กองไว้ในธนาคารหรือเอามาฝากกับอีซีบี เมื่อเงินสะพัด อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น นั่นคือเศรษฐกิจหมุนเวียน
หากเป็นไปตามคาด นั่นคือ เมื่อเงินเฟ้อ แปลว่าเงินยูโรน่าจะอ่อนค่าลง แต่ที่ไหนได้ เมื่อคืน (เวลาบ้านเรา กลางวันของยุโรป) เงินยูโรอ่อนค่าไปวูบหนึ่ง จากนั้นก็กลับมาแข็งค่าขึ้นกว่าเดิม
ค่าเงินยูโรไม่ตอบสนองต่อมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยของอีซีบี อ่อนค่ามาเดี๋ยวเดียวจากนั้นกลับแข็งค่าขึ้น (ดูแท่งเทียนแท่งสุดท้าย) |
และนอกจากนี้ หากเงินยูโรถูกกดดันให้หมุน เงินส่วนหนึ่งจะหมุนออกไปหารายได้นอกประเทศ นั่นคือ ที่เรียกว่า ยูโรแครรีเทรด (Euro carry trade) อันเป็นการเอาเงินยูโรที่มีต้นทุนการกู้ยืมต่ำไปลงทุนแสวงหากำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าของประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศในเอเชีย ซึ่งน่าจะทำให้ค่าเงินเอเชียแข็งค่าขึ้น และตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้น แต่ปรากฏว่าค่าเงินเอเชียแข็งขึ้นนิดเดียว และตลาดหุ้นเอเชียไม่ตอบสนอง นอกจากไม่ขึ้นแล้วหลายๆตลาดยังลงเสียด้วย
ตลาดหุ้นเอเชียก็ไม่ค่อยตอบสนองทางจิตวิทยาต่อมาตรการของอีซีบี แทนที่จะขึ้นรับข่าวกลับลงรับข่าว |
ดังที่เห็นแล้วว่าตลาดไม่ค่อยตอบสนองกับมาตรการของอีซีบีนัก ที่จริงมาตรการเหล่านี้หากใช้แล้วก็ต้องใช้ไปสักระยะแล้วจึงประเมินผลได้ ณ วันนี้ที่จริงก็ยังไม่เห็นผลอะไรหรอก แต่ที่ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูคือผลทางจิตวิทยาหรือความคาดหวังของนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนไม่ได้ตอบสนองอะไรนัก เมื่อชาวบ้านเขาไม่ตื่นเต้นกัน ดังนั้นเราก็ไม่ควรไปคาดหวังอานิสงส์ต่อตลาดหุ้นไทยจนเกินเหตุ
ถนนทุกสายมุ่งสู่พลังงานทดแทน
และอีกเรื่องหนึ่งที่ลุงแมวน้ำอยากพูดถึงและฝากเตือนนักลงทุนในวันนี้ ก็คือเรื่องการลงทุนในพลังงานทดแทน
หลายปีมานี้ มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนกันมากมาย ตอนนี้มีอยู่หลายสิบบริษัท ใครต่อใครก็อยากเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทำอสังหาฯก็มาทำแสงอาทิตย์ เป็นโรงพิมพ์ก็มาทำแสงอาทิตย์ เป็นแวร์เฮาส์ก็มาทำแสงอาทิตย์ ผลิตเหล็กก็มาทำแสงอาทิตย์ จนลุงแมวน้ำเองก็งงว่าหุ้นเดี๋ยวนี้ทำธุรกิจข้ามเซ็กเตอร์จนจำไม่ได้ว่าทำอะไรกันแน่ เรียกได้ว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่พลังงานทดแทนก็คงไม่ผิด
ที่ลุงแมวน้ำอยากจะเตือนก็เรื่องนี้แหละ เพราะว่าเท่าที่ลุงแมวน้ำสังเกต หุ้นใดพอออกข่าวว่าจะทำพลังงานทดแทน หุ้นก็วิ่งดีทีเดียว ใครๆก็เลยอยากทำบ้างกระมัง เพราะทำแล้วราคาหุ้นวิ่งดี บางทีมีแค่ข่าวโครงการแพลมออกมา ยังไม่ได้ลงมือทำจริงๆ ราคาหุ้นก็ขึ้นแล้ว เก็งกำไรกันสนั่น นักลงทุนเห็นว่าพลังงานทดแทนเป็นเทรนด์ที่กำลังแรง พอมีข่าวหุ้นตัวไหนก็วิ่งเข้าใส่ทันที บางทีก็ไปค้างอยู่บนยอดดอย
เรื่องธุรกิจพลังงานทดแทนนั้นที่จริงแล้วมีรายละเอียดพอสมควรทีเดียว หากคิดจะถือลงทุนยาวๆควรศึกษาให้เข้าใจในรายละเอียด วันนี้ลุงแมวน้ำขอเล่าคร่าวๆก่อนละกัน เน้นที่โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ วันหลังจึงค่อยลงรายละเอียด
การทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ลักษณะการดำเนินธุรกิจหรือว่าการทำมาหากิน หากแบ่งง่ายๆก็แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม นั่นคือ
1. ผู้ที่ทำโรงไฟฟ้า (คือโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟ) เพื่อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้า
2. ผู้ที่รับจ้างสร้างโรงไฟฟ้า คือ ออกแบบ รับเหมาก่อสร้างรวมวัสดุอุปกรณ์
ที่จริงแบ่งได้ย่อยกว่านี้อีก แต่วันนี้พูดคร่าวๆก็คิดเสียว่ากลุ่มใหญ่ๆก็มีเท่านี้
แบบแรก ผู้ที่ทำโรงไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านั้น จะได้ค่าตอบแทนแน่นอน ทำสัญญาขายกันกี่เมกะวัตต์ก็เป็นไปตามนั้นตลอดอายุของสัญญา ราคาดีด้วย เพราะการไฟฟ้าต้องการส่งเสริม จึงมีเงินพิเศษบวกให้จากค่าไฟปกติ (ที่เรียกว่าค่าแอดเดอร์หรือค่าฟีดอินทาริฟ ตามแต่กรณี) เบ็ดเสร็จแล้วโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้จะได้ค่าไฟหน่วยละ 6 บาทขึ้นไป ตามแต่ลักษณะการอุดหนุน และจะได้ตามนั้นตลอดอายุสัญญา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ประเด็นสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าแบบนี้ก็คือ ต้องทำตามโควตาที่ได้รับมา จะทำมากกว่านั้นไม่ได้ และตอนนี้โควตาหมดแล้วด้วย เต็มจนปี 2563 แปลว่าใครที่จะลงทุนแบบนี้ จ้างเขาสร้าง แล้วเราดูแล รายได้จะแน่นอน รู้ล่วงหน้าเลย เพราะโควตามีแค่นั้น แต่รายจ่ายจะไม่แน่นอน เพราะโซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์รูฟแต่ละรายนั้นประสิทธิภาพไม่เท่ากัน เนื่องจากการออกแบบและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ หากออกแบบไม่ดี อุปกรณ์ประสิทธิภาพต่ำ การผลิตไฟฟ้าก็ต่ำ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าสูง รวมทั้งใบอนุญาตตอนนี้ไม่มีแล้วด้วย ใครอยากทำตอนนี้ต้องไปซื้อต่อจากคนที่มีอยู่แล้ว ค่าเซ้งใบอนุญาตคิดกันเมกะวัตต์ละเป็นล้านบาท ก็เป็นต้นทุน
หรือหากไม่เซ้งใบอนุญาต หนทางที่สำเร็จรูปกว่านั้นก็คือไปซื้อโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้วมาเสียเลย หากเป็นประการนี้นักลงทุนก็ต้องศึกษารายละเอียดให้ดี เนื่องจากเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะด้านพลังงานแสงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงเร็ว โซลาร์ฟาร์มเมื่อ 5 ปีก่อนกับเดี๋ยวนี้ ความทันสมัยก็ต่างกันมาก รวมทั้งประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย ราคาที่ซื้อมาหเหมาะสมหรือไม่ นักลงทุนต้องมีข้อมูลเหล่านี้จึงค่อยพิจารณาเข้าลงทุน
อีกประการ หุ้นอะไรที่รู้รายได้แน่นอน หุ้นนั้นมักไม่ค่อยวิ่ง ราคาเรื่อยๆมาเรียงๆตามปัจจัย เพราะไม่มีอะไรให้ลุ้น
แบบที่สอง ประเด็นสำหรับธุรกิจที่ปรึกษา ออกแบบ รับจ้างสร้างโรงไฟฟ้าก็คือ ตอนนี้เป็นธุรกิจที่แข่งกันสูงพอควร ก็คล้ายๆงานรับเหมาก่อสร้างในสาขาอื่นๆ ฝีมือ ชื่อเสียง และการบริหารต้นทุน จึงเป็นตัวชี้ขาดว่าธุรกิจจะมีกำไรหรือไม่ บุคลากรที่มีฝีมือก็หาไม่ง่ายนัก ทีมงานก็สำคัญ ดังนั้นใครที่กระโดดเข้ามาในเซ็กเตอร์นี้ ไม่ใช่ว่าจะเห็นกำไรใสๆ
ดังนั้น นักลงทุนก็ควรพิจารณา ว่าหุ้นที่มีข่าวว่าจะทำพลังงงานทดแทนนั้น ทำในส่วนไหน ต้นทุนเป็นอย่างไร มีโอกาสรุ่งไหม และสัดส่วนรายได้ของธุรกิจเดิมเป็นอย่างไร รายละเอียดที่ต้องพิจารณามีเยอะทีเดยว อย่าเพิ่งเห็นว่าทำพลังงานทดแทนก็คิดว่าดีแน่และรีบวิ่งเข้าใส่
สุดท้ายนี้ ลุงเอากราฟราคาของหุ้นหลายบริษัทที่ทำเกี่ยวกับพลังแสงอาทิตย์ ได้แก่ PPP, SOLAR, SPCG, WHA, GUNKUL, EPCO, IFEC, TFI ลองดูรูปแบบของราคา และใครรู้บ้างว่าหุ้นแต่ละหุ้นนี้ที่ว่านี้เป็นผู้เล่นในส่วนไหนของธุรกิจพลังงานทดแทน เป็นเพียงข่าวหรือดำเนินการแล้ว และผู้ประกอบการมีความพร้อม มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจนี้ระดับใด หากยังไม่เข้าใจ ควรหาความรู้ก่อนนะคร้าบ ใจเย็นๆ ^_^
หุ้น PPP |
หุ้น SOLAR |
หุ้น SPCG |
หุ้น EPCO |
หุ้น WHA |
หุ้น GUNKUL |
หุ้น IFEC |
หุ้น TFI |