Sunday, April 20, 2014

20/04/2014 ฉันจะออมได้เท่าไรกว่าจะถึงวัยเกษียณ





หลังจากที่ลุงแมวน้ำคุยกับยีราฟสาวไปเมื่อวันก่อน หลายวันต่อมายีราฟสาวแวะมาหาลุงแมวน้ำที่โขดหินอีก

“สวัสดีจ้ะลุง ขอคุยด้วยหน่อยสิ” แม่ยีราฟทักทาย

“ได้สิ แม่ยีราฟจะคุยเรื่องอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม ที่จริงถามไปยังงั้นแหละ เพราะเดาได้อยู่แล้วว่าแม่ยีราฟจะมาคุยด้วยเรื่องอะไร

“อยากคุยกับลุงเรื่องการออมสำหรับวัยเกษียณหน่อยจ้ะ” ยีราฟพูด เป็นไปตามที่ลุงคาด นี่ถ้าลุงซื้อหวยก็ถูกไปแล้ว

“ได้สิ แม่ยีราฟจะถามว่าอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“ฉันอยากรู้ว่าฉันจะออมเงินได้เท่าไรเมื่อถึงวัยเกษียณน่ะสิ” ยีราฟสาวถาม “วันก่อนลุงยกตัวอย่างและการคำนวณสำหรับการเกษียณในปี 2566 แต่ของฉันกว่าจะเกษียณมันยังไกลกว่านั้น”

“อ้าว” ลุงแมวน้ำอุทาน “แล้วลุงจะไปรู้ได้ยังไงว่าแม่ยีราฟจะออมเงินได้เท่าไร”

“แหม ก็ช่วยบอกฉันหน่อยเถอะ นะ นะ” ยีราฟสาวออดอ้อน “ไหนว่าความรู้รอบพุงเยอะไง ถามแค่นี้ทำไมตอบไม่ได้”

“ก็แม่ยีราฟหาเงินเอง เก็บเงินเอง แล้วลุงจะไปรู้ได้ยังไง” ลุงแมวน้ำเริ่มปวดหัวกับคำถามของยีราฟสาวอีกแล้ว

“ไม่รุ ลุงต้องบอกฉัน” ยีราฟสรุปเอาดื้อๆ

“ยังงี้ก็มีด้วย เดี๋ยว ขอลุงนึกก่อน จะทำยังไงดี” ลุงแมวน้ำนิ่งนึกอยู่สักครู่ “เอายังงี้ก็แล้วกัน”

ว่าแล้วลุงแมวน้ำก็ดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

“ถ้ายังงั้นเราต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ละกัน ลุงแมวน้ำจะสมมติใหม่ ลองฉายภาพอนาคตใหม่อีกสักภาพ แล้วแม่ยีราฟลองดูว่าพอเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไหม” ลุงแมวน้ำพูด “มาดูภาพนี้กัน”

ลุงแมวน้ำคลี่กระดาษกางออกให้ยีราฟดู พลางอธิบาย





“เราลองมาสมมติกันใหม่...” ลุงแมวน้ำพูด “เอ้า หลับตา แล้วจินตนาการว่า เมื่อปี 2554 แม่ยีราฟอายุ 22 ขวบ เพิ่งจบปริญญาตรีมาใหม่ๆและเพิ่งเริ่มทำงานที่คณะละครสัตว์เป็นปีแรก”

“ฮ่าฮ่า ลุงแมวน้ำสมมติเว่อจัง” ยีราฟหัวเราะ

“ไม่เว่อหรอก ลุงสมมติแบบนี้มีที่มาที่ไป ไม่ได้ยกขึ้นมาลอยๆ” ลุงแมวน้ำตอบ “คิดตามไปก่อน ถ้าเริ่มทำงานเมื่ออายุ 22 ปี 2554 แปลว่าทำงานปีสุดท้ายเมื่ออายุครบ 60 ขวบคือปี 2592 จากนั้นปี 2593 ก็จะว่างงาน เริ่มใช้จ่ายเงินเกษียณเป็นปีแรก”

“จ้ะ เอายังงั้นก็ตามใจลุง”

“ด้วยแผนหลังเกษียณแบบประหยัด คุณภาพชีวิตจำกัด ตามที่คำนวณไว้ในปีฐาน 2554 คือ 246,500 บาท ณ ปี 2593 แม่ยีราฟน่าจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีราวปีละ 645,725 บาท” ลุงแมวน้ำพูดพลางชี้ให้ดูในตารางในกระดาษ “สมมติต่อไปอีกนิด และถ้าวันที่แม่ยีราฟเกษียณมีเงินออมอยู่ 10,500,000 บาท และเงินนั้นทำงานด้วยตัวเอง ให้ผลตอบแทนปีละ 5% แม่ยีราฟจะอาศัยเงินก้อนนั้นใช้ชีวิตไปได้จนอายุ 80 ปี”

“พูดง่ายๆว่า หากเกษียณในปี 2566 ตอนนั้นต้องมีเงินออม 5,400,000 บาท แต่ถ้าไปเกษียณในปี 2593 กลายเป็นว่าต้องมีเงินออม 10,500,000 บาท” แม่ยีราฟทวน “ถูกไหมลุง”

“แม่นแล้ว” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะผลจากเงินเฟ้อนั่นเอง”

ลุงแมวน้ำหยุดคิดนิดหนึ่ง แล้วจึงพูดต่อ

“นั่นคือจำนวนเงินที่ต้องใช้ ทีนี้ก็มาถึงคำถามของแม่ยีราฟที่ว่า เมื่อถึงวันที่เราเกษียณแล้วเราจะมีเงินออมได้สักเท่าไร เรื่องนี้ก็ต้องสมมติเงื่อนไขอะไรหลายอย่างเพิ่มเข้ามา เพื่อให้สมจริงและคำนวณได้

“ในปี 2554 สมมติว่าแม่ยีราฟอายุ 22 ปี และเพิ่งจบปริญญาตรี ทำงานเป็นปีแรก ตอนนั้นแม่ยีราฟได้เงินเดือนเดือนละ 12,000 บาท”

“ทำไมต้องเป็น 12,000 บาทล่ะ” ยีราฟสงสัย “ลุงโมเมเอาเหรอ”

“เขาเรียกว่าสมมติแบบมีหลักการ ไม่ใช่โมเม” ลุงแมวน้ำพูดแก้ “สภาพความเป็นจริงของตลาดแรงงาน ในปีนั้นจบปริญญาตรีมา ทำงานครั้งแรก เงินเดือนก็ 10,000 บาทหรือสูงกว่านั้น ตามแต่สาขาที่จบมา ลุงก็ใช้ตัวเลข 12,000 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นกลุ่มที่จบปริญญาตรี สาขาทั่วๆไป

“จากนั้นลุงก็สมมติต่อไปว่าอัตราเงินเฟ้อปีละ 2.5% และแม่ยีราฟได้ขึ้นเงินเดือนทุกปี ปีละ 3% เงินเดือนขึ้นชนะเงินเฟ้อหน่อยนึง”

“แล้วฉันจะเก็บเงินได้เดือนละเท่าไรล่ะ” ยีราฟถาม

“นั่นก็ต้องสมมติอีก แต่สมมติแบบมีหลักการ มีงานวิจัยที่สำรวจการออมของคนไทยเอาไว้ พบผู้ที่มีเงินเดือนในช่วงหนึ่งหมื่นถึงสองหมื่นบาท มักออมได้ไม่เกิน 20% ของเงินเดือน ค่ากินอยู่แย่งเอาไปเสียเยอะ ถ้าเป็นระดับเงินเดือนสามสีหมื่นบาทก็ออมได้ราว 40% อันนี้ตัวเลขคร่าวๆนะ ลุงไม่ได้เอามาเป๊ะ

“ลุงก็เอาข้อมูลนี้มาสมมติเกณฑ์ในการออม นั่นคือ

“เงินเดือน 15,000 บาทหรือต่ำกว่านั้น ออมได้เดือนละ 15% ของเงินเดือน

“เมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 15,000 บาท การออมจะเปลี่ยนไป เป็นออมเดือนละ 20%

“”เมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทต่อเดือน จะออมเดือนละ 25% ของเงินเดือน

“และเมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 35,000 บาทจะออมเดือนละ 30% ของเงินเดือน

“และยังสมมติอีกว่าอยู่ตัวคนเดืยวไปเรื่อยๆ  เพราะหากสมมติว่ามีครอบครัว มีลูก ด้วยละก็ตัวเลขจะยิ่งซับซ้อน ตัวเลขซับซ้อนมากไปลุงก็ปวดหัว เอาแค่นี้แหละ อย่าให้ยากนัก”

“จ้ะๆ ยังงี้ก็ดีแล้ว แล้วยังไงต่อ” ยีราฟถาม

ลุงแมวน้ำจึงดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกแผ่นหนึ่ง กางให้ยีราฟดู

“นี่ลุงคำนวณมาให้ดู ภายใต้สมมติฐานที่ลุงเล่ามาเมื่อกี้ เมื่ออายุมากขึ้น แม่ยีราฟจะมีเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น และก็จะมีเงินออมต่อเดือนเพิ่มมากขึ้น สมมติว่าพอสิ้นปีก็นำเงินที่ออมได้ตลอดปีไปลงทุนทันที ขณะที่ยังไม่ครบปี เงินออมนั้นถือว่ายังไม่นำมาลงทุน





“ดังนั้น ในปี 2554 อันเป็นปีแรกที่มาทำงาน จึงถือว่าแม่ยีราฟยังไม่ได้นำเงินออมมาลงทุน พอขึ้นปีใหม่ 2555 เป๊ง แม่ยีราฟก็นำไปลงทุนเลยทันที จากนั้น สิ้นปี 2555 แม่ยีราฟจะมีเงิน 3 ก้อน นั่นคือ ก้อนแรก เงินออมของปี 2554 ก้อนที่ 2 ดอกผลของเงินออมปี 2554 และก้อนที่ 3 เงินออมระหว่างปี 2555 ที่ยังไม่ได้นำไปลงทุน ถ้าย่อหน้านี้งงก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องสนใจก็ได้ เราข้ามไปเลย ดูในตารางก็พอ

“สรุปว่าลุงคำนวณมาให้เบ็ดเสร็จ ว่ากรณีที่แม่ยีราฟนำเงินออมไปลงทุน แล้วได้ผลตอบแทนระดับต่างๆ เมื่อวัยผ่านไป แม่ยีราฟจะมีเงินสะสมเท่าไร ก็ดูเอาในตาราง

“กรณีที่นำเงินออมไปฝากธนาคาร ลุงคิดว่าให้ดอกผลปีละ 2% ซึ่งก็คือดอกเบี้ยเงินฝากนั่นเอง เมื่อถึงปี 2592 แม่ยีราฟจะเกษียณพร้อมด้วยเงินก้อน 3,095,291 บาท

“แต่ฉันต้องมี 10.5 ล้านนะลุง” ยีราฟท้วง

“ก็นั่นน่ะสิ วิธีนี้คงไม่พอใช้จ่าย เกษียณไม่สุขแน่ๆ” ลุงแมวน้ำพูด “มาดูกันต่อ หากแม่ยีราฟนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นละ เช่น ลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ฯลฯ นำเงินไปซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมเพิ่มทุกปีๆ และได้ผลตอบแทนปีละ 5% แม่ยีราฟจะมีเงินสำหรับวัยเกษียณ 5,147,098 บาท”

“ก็ยังไม่พอ” ยีราฟพูด

“ทีนี้ถ้าให้ผลตอบแทน 8% ต่อปีล่ะ ได้ถึง 9,322,091 บาทเชียว เกือบถึงเป้า 10.5 ล้านบาทแล้วนะ และลุงแอบไปคำนวณมาให้แล้วล่ะ ว่า เงิน 9.3 ล้านนี้แม่ยีราฟอยู่ได้ถึงอายุ 77 ปี พลาดเป้าไป 3 ปีเท่านั้น”

“อือม์ อันนี้ค่อยยังชั่ว” ยีราฟพึมพำ “แต่ฉันจะทำได้ถึงเหรอจ๊ะ”

“ลุงแมวน้ำอยากบอกว่า นี่แหละ การออมและการลงทุนเป็นกระบวนการตลอดชีวิต เหมือนกับการเรียนรู้นั่นแหละ ดังนั้น ควรหัดเป็นนิสัยตั้งแต่วัยเยาว์ และเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย เงินเดือน 12,000 บาทและเงื่อนไขอื่นๆที่ลุงสมมติมานั้น เป็นเงื่อนไขกลางๆสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี คือเป็นคนปริญญาตรี ทำงานกินเงินเดือนทั่วๆไปนี่แหละ ไม่ใช่เงื่อนไขที่สูงส่งอะไรเลย หากจบปริญญาตรี และทำงานเสมอต้นเสมอปลาย ขยันตามสมควร บุคคลผู้นั้นก็มีโอกาสเกษียณสุขได้ หากทำได้ดีกว่านั้น ก็มีโอกาสสุขสบายยิ่งขึ้น”

“แล้วถ้าไม่จบปริญญาตรีหรือทำไม่ได้ตามนั้นละจ๊ะลุง ชีวิตเราก็อาจจะพลาดด้วยเหตุอะไรก็ได้ ใครจะรู้” ยีราฟยังสงสัยต่อ

“โอย ลุงปวดหัวแล้ว” ลุงแมวน้ำมึนตึ้บกับคำถามของยีราฟสาว “ยังงั้นเราเอาไว้คุยต่อกันในวันหลังละกัน”

Friday, April 18, 2014

18/04/2014 ต้องมีเงินเท่าไรสำหรับวัยเกษียณสุข (2)




“หากต้องการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่านี้ หรือจะเรียกว่าหรูกว่าตัวอย่างที่ลุงยกมานี้ เราลองมาดูตัวอย่างอื่นๆกัน” ลุงแมวน้ำพูดพลางล้วงกระดาษออกมาอีก 2 แผ่นจากในหูกระต่าย

ลุงแมวน้ำเลือกกระดาษมาแผ่นหนึ่งและคลี่กางออกให้ลิงจ๋อและพวกดู และพูดว่า

“นี่เป็นภาพฉายของการใช้ชีวิตหลังเกษียณในระดับที่ดีขึ้นมาอีกหน่อย ลุงจะเรียกว่าระดับค่อนข้างดีละกัน” ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูรายการค่าใช้จ่ายในตาราง “ชีวิตระดับนี้มีค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีก ลุงจะแจงให้ดูในบางประเด็น ตัวอย่างที่แล้วที่เป็นคุณภาพชีวิตระดับพอใช้ ค่าอาหารก็จำกัด ค่าสันทนาการต่างๆก็จำกัด งานบ้านต้องทำเอง และเจ็บป่วยก็ต้องพึ่งบัตรทองอย่างเดียว





“แต่ในตัวอย่างนี้ งบประมาณในด้านต่างๆจะมากขึ้น ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น อย่างเช่น ค่าแม่บ้าน เราสามารถจ้างคนทำความสะอาดหรือจ้างคนช่วยซักรีดได้

“ค่าสันทนาการ เราสามารถเป็นสมาชิกฟิตเนสคลับที่หรูขึ้น ซึ่งจะมีเครื่องเล่นต่างๆมากมายหลากหลายขึ้น งบสำหรับไปเที่ยวก็มากขึ้นเป็น 30,000 บาท ไปเที่ยวได้ไกลหน่อย เช่น ประเทศจีน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแม้ว่ายังต้องพึ่งบัตรทองเป็นหลักเช่นเดิม แต่งบสำหรับตรวจรักษาเพิ่มเติม และงบสำรองสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉินก็จัดให้มากขึ้น

“คุณภาพชีวิตในระดับนี้ คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี ณ ค่าครองชีพปี 2554 ก็คือ 410,950 บาทต่อปี แต่หากมองไปในอนาคต ณ ปี 2566 อันเป็นปีที่เราไม่ได้ทำงานแล้ว ค่าใช้จ่าย ณ ปีนั้นก็น่าจะเป็นปีละ 552,682 บาทต่อปี”

“กรี๊ด” แม่รีราฟแลบลิ้นยาวพลางบ่น “ยิ่งแพงขึ้นไปอีก แล้วต้องมีเงินออมเท่าไรละลุง”

“เท่าที่ลุงคำนวณเอาไว้ เมื่อยามที่เราเกษียณ หากเรามีเงินออมอยู่ 9,000,000 บาท และเงินเก้าล้านบาทนี้ไม่ได้ให้ดอกผลอะไรเลย แม่ยีราฟก็จะอยู่ได้จนอายุ 73 ปี แล้วเงินออมก็จะหมด” ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ “แต่ถ้าเงินออมก้อนนี้ให้ดอกผลได้ปีละ 5% หมายความว่าในช่วงที่แม่ยีราฟเกษียณก็ใช้เงินออมนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ก็สามารถออกดอกผลได้ปีละ 5% ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะใช้เงินก้อนนี้ไปได้จนอายุ 80 ปี จากนั้นเงินก็จะหมด

“แต่ถ้าเงินออมนี้ออกดอกผลได้ปีละ 8% ก็จะอยู่ได้นานถึงอายุ 93 ปี” ลุงแมวน้ำพูด

“เงินเก็บเก้าล้านบาทเชียว” ลิงจ๋อพูดเบาๆด้วยท่าทางใช้ความคิด “แล้วกระดาษอีกแผ่นละลุงแมวน้ำ มีอะไรอยู่ในนั้น”

“อ๋อ แผ่นที่สามเป็นภาพฉายของคุณภาพชีวิตในระดับที่ดีหรือว่าหรูขึ้นไปอีกน่ะสิ” ลุงแมวน้ำพูดพลางคลี่กระดาษแผ่นที่สามออกมา

“เอ้า เก้าล้านก็ยังไม่พอ ดูแผ่นนี้ซิว่าจะกี่ล้าน” ลิงจ๋อพูด




“แผ่นนี้ลุงแมวน้ำฉายภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดียิ่งขึ้นไปอีก เรื่องหลักก็คือ ค่าพาหนะเพิ่มขึ้น จากเดิม 2 แผนแรกนั้นต้องพึ่งบริการรถสาธารณะเป็นหลัก แต่สำหรับในแผนนี้สามารถใช้รถยนต์ได้ โดยตั้งงบค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงรถยนต์เอาไว้ด้วย แต่ว่าต้องมีรถยนต์อยู่แล้วนะ ส่วนที่อยู่อาศัย ชีวิตในแบบนี้ลุงคาดว่าน่าจะอยู่บ้านที่ใหญ่หน่อยหรืออาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมระดับดี ดังนั้นจึงตั้งงบค่าส่วนกลางและการซ่อมบำรุงที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้น

“ที่สำคัญก็คือ ในแผนนี้มีงบด้านสุขภาพมากขึ้น สามารถทำประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุได้ เบี้ยประกันสุขภาพชนิดนี้ค่อนข้างแพง แต่ก็ทำให้การรักษาพยาบาลสะดวกสบายมากขึ้น เพราะพึ่งบัตรทองแค่บางส่วน บางส่วนก็พึ่งประกันสุขภาพไป นอกจากนี้ยังตั้งงบประมาณค่ารักษาพยาบาลส่วนเกิน และเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมากขึ้น งบท่องเที่ยวสันทนาการก็มากขึ้น คราวนี้ไปได้ถึงยุโรป อเมริกาเลย

“สำหรับคุณภาพชีวิตระดับดีตามแผนนี้ ลุงคำนวณแล้วว่า ณ ปี 2566 ต้องมีเงินออม 18,600,000 บาท หรือจะจำง่ายๆก็ปัดเป็นสิบเก้าล้านบาทก็ได้”

“แล้วเงินก้อนนี้จะใช้ชีวิตแบบนี้ไปได้กี่ปีจ๊ะลุง” ยีราฟถาม

“ก็ถ้าเงินออมไม่ให้ผลตอบแทนเลย แม่ยีราฟก็จะใช้จ่ายได้จนอายุ 73 ปี จากนั้นเงินจะหมด แต่ถ้าเงินออมให้ดอกผลบ้าง 5% ต่อปี ก็มีเงินใช้จ่ายได้จนอายุ 80 ปี และถ้าเงินออมให้ผลตอบแทนได้ถึงปีละ 8% ก็ใช้ไปได้จนอายุ 92 ปี”

“ฟังแล้วท้อจังลุง แต่ละแผนต้องมีเงินออมหลักล้านทั้งนั้น แม้แต่แผนที่ประหยัดที่สุดก็ยังต้องมีถึงห้าล้านสี่ ชีวิตของฉันจะมีโอกาสออมได้ถึงขนาดนั้นไหมเนี่” แม่ยีราฟเริ่มแสดงอาการวิตกจริตอีก “อยากรู้จังว่าจะมีสักกี่คนที่ออมได้ขนาดนั้น”

“นั่นสิลุง ฟังแล้วห่อเหี่ยวเลย เพราะคงไม่มีโอกาสไปถึงจุดนั้น” ลิงจ๋อพูดขึ้นบ้าง

“โอ๊ย อย่าเพิ่งท้อสิ ชีวิตไม่ได้มีเส้นทางเพียง 3 เส้นนี้เท่านั้น” ลุงแมวน้ำพูด “นี่แม่ยีราฟถามมาลุงก็ตอบไป ก็ว่าไปตามการคำนวณ แต่ชีวิตไม่ได้มีอยู่เพียงแค่นี้ เรายังมีทางเดินให้เลือกอีกมากมาย ที่สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข ลุงยังเล่าไม่หมดเลย อีกอย่าง ถ้าเราเรียนรู้วิธีการออมและการลงทุนตั้งแต่วันหนุ่มสาว เมื่อถึงยามเกษียณก็ไม่อับจนหรอก”

“อ้าว ลุงยังเล่าไม่หมดหรอกเหรอ แหม่ ค่อยมีกำลังใจหน่อย” ลิงจ๋อพูดด้วยแววตาที่แจ่มใสขึ้น “งั้นเล่าต่อเลยลุง”

“เอาไว้ก่อน ลุงเมื่อยแล้ว วันหลังค่อยมาคุยกันต่อละกัน” ลุงแมวน้ำตอบ