Monday, November 25, 2013

25/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 6 วันมหาวิปโยค



“มวลชนหลั่งไหลออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งสู่ถนนราชดำเนิน โดยมีขบวนนักศึกษาอาชีวะทำหน้าที่เป็นการ์ดคุ้มกัน สมทบกับมหาชนที่หลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง มุ่งสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มวลชนในวันนั้นเยอะมาก เต็มถนนราชดำเนินไปหมด มีการประมาณกันว่าถึงห้าแสนคนทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูดพร้อมกับหยิบภาพถ่ายเก่าๆออกมาให้ดูกัน

“อู้ฮู” กระต่ายน้อยอุทาน “ทำไมมากมายอย่างนี้”

“มหาชนปักหลักอยู่เต็มถนนราชดำเนิน เหตุการณ์ยังเป็นปกติ ไม่มีอะไร จนกระทั่งตอนเย็น ก็มีข่าวว่าตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเข้าเจรจากับจอมพลประภาส และได้ข้อยุติว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และจะร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในปีถัดไป (พ.ศ. 2517) พร้อมทั้งมีการทำบันทึกช่วยจำไว้ด้วย





“ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ทางฝ่ายปฏิบัติการเดินขบวนก็ได้ประกาศให้มหาชนเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า มหาชนจึงเคลื่อนตัวจากถนนราชดำเนินกลาง ไปทางสะพานผ่านฟ้า และเข้าสู่ถนนราชดำเนินนอก มุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า จนถึงเวลาประมาณสองทุ่ม สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยก็ออกข่าวว่ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ที่ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสิบสามคน พร้อมทั้งจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปีถัดไป”

“แฮปปี้เอ็นดิ้งนี่” ลิงจ๋อท้วงด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษ “ไม่ใช่มั้ง”

“ฟังต่อไปก่อนสิ” ลุงแมวน้ำตอบ “ฟังข่าวจากวิทยุแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี มวลชนบางส่วนก็สลายตัวกลับบ้านไป แต่ว่าความเป็นจริงในขณะนั้นสถานการณ์สับสนมาก ข่าวลือเต็มไปหมด ลือกันว่ารัฐบาลสับขาหลอกเพื่อให้ฝ่ายศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาตายใจ ดังนั้นมวลชนส่วนหนึ่งก็ยังไม่สลายตัว เพราะไม่แน่ใจในสถานการณ์ ยังเหลืออยู่ในพื้นที่ชุมนุมเป็นเรือนแสน

“จนเวลาประมาณ 4 ทุ่ม กรมประชาสัมพันธ์ก็ออกข่าวว่ามีบุคคลบางคนที่ไม่ใช่นักศึกษาและประสงค์ร้าย สวมรอยเข้ามาอภิปรายโจมตีรัฐบาลและยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล พร้อมกับข่าวลือแพร่สะพัดว่าแกนนำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาถูกปูนหมายหัวเอาไว้แล้ว ชะตาขาดแน่ ดังนั้นในราวเที่ยงคืนของวันที่ 13 ต่อเนื่องกับเช้าวันที่ 14 แกนนำของศูน์กลางนิสิตนักศึกษาจึงให้มหาชนที่ยังรวมตัวกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เคลื่อนขบวนไปที่วังสวนจิตรลดา หมายยึดเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง และปักหลักนอนค้างคืนกันอยู่โดยรอบวังสวนจิตรลดานั่นเอง



“จนถึงตอนเช้ามืดของวันที่ 14 มวลชนที่ค้างคืนรอบพระราชวังสวนจิตรลดาเห็นว่าเหตุการณ์ยังสงบอยู่ บางส่วนจึงทยอยกันสลายตัวเพื่อเดินทางกลับบ้าน และแล้ว เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น...

“มวลชนที่เดินทางกลับบ้านถูกหน่วยตำรวจคอมมานโดสกัดทางด้านถนนราชวิถี บัญชาการโดยนายตำรวจใหญ่สองคน และที่สำคัญคือนายตำรวจใหญ่สองคนนี้คือกลุ่มบุคคลที่อื้อฉาวในกรณีเฮลิคอปเตอร์ล่าสัตว์ป่าสงวนที่ทุ่งใหญ่นเรศวรเสียด้วย




“ประชาชนที่ถูกสกัดก็ไม่พอใจ มีการขว้างปาข้าวของใส่กลุ่มตำรวจ จนตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และจากจุดนั้นเอง รถตำรวจที่ใช้ปราบจลาจลก็พุ่งเข้าใส่ฝูงชน จากนั้นตำรวจคอมมานโดพร้อมสองนายตำรวจใหญ่ก็ถือกระบองกรูกันเข้ามาไล่ตีประชาชน แม้แต่เด็กและผู้หญิงก็ยังถูกกระบองตี



“ฝูงชนแตกฮือ บางส่วนวิ่งหนีเข้าไปในวังสวนจิตรลดาบางส่วนก็หนีเข้าไปในสวนสัตว์เขาดิน การปะทะยามย่ำรุ่งนี้กินเวลาไม่นาน แต่จากจุดนี้เองที่กลายเป็นชนวนให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายออกไปในถนนราชดำเนินนอก และลามไปจนถึงถนนราชดำเนินกลาง มวลชนโกรธแค้น รัฐบาลใช้กำลังทหารและตำรวจออกปราบปรามประชาชน ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อสู้ทั้งๆที่มีเพียงมือเปล่าและท่อนไม้




“มวลชนที่โกรธแค้นตอบโต้ด้วยการก่อความวุ่นวาย มีการบุกยึดกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งตอนนั้นตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนราชดำเนิน ใกล้สนามหลวง เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานต้นตอข่าวบิดเบือนทั้งหลาย อีกทั้งยังมีการเผาทำลายรถและสถานที่ราชการ

“ในวันที่ 14 นั้นเอง รัฐบาลกลับออกข่าวว่ามีมวลชนบุกเข้าไปในวังสวนจิตรลดาเพื่อก่อวินาศกรรม จากนั้นก็ระดมกำลังทหารและตำรวจออกปราบปรามประชาชน ทั้งๆที่เมื่อวานเพิ่งทำบันทึกช่วยจำกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯอยู่หยกๆ การปราบปรามประชาชนในครั้งนั้นดำเนินการด้วยความรุนแรง ทหารและตำรวจใช้กระสุนจริง มีรถถัง เฮลิคอปเตอร์ และอาวุธสงครามหนักด้วย สภาพการณ์ของราชดำเนินในตอนนั้นเหมือนในหนังพวกสงครามกลางเมืองไม่มีผิด มีการปะทะกันตลอดถนนราชดำเนินไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบางลำภู มีการกราดยิงประชาชนจากเฮลิคอปเตอร์ด้วย”





“สงสัยจะเป็นการสับขาหลอกแล้วตลบหลัง” ลิงจ๋อออกความเห็น “แล้วประชาชนจะเอาอะไรไปสู้ละลุง ทหารตำรวจใช้รถถัง อาวุธสงคราม ประชาชนมีอะไรล่ะ”

“ประชาชนมีแต่มือเปล่า ส่วนนักศึกษาอาชีวะก็พอจะมีท่อนไม้ ก็มีแค่นั้นแหละ” ลุงแมวน้ำตอบ “ตอนนั้นต้องบอกว่าเลือดของมวลชนหลั่งรดผืนปฐพีเพื่อแลกกับประชาธิปไตยจริงๆ เนื่องจากพื้นถนนมีกองเลือด และมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจากการปราบปรามประชาชน”

“แล้วตอนนั้นลุงอยู่ที่ไหนฮะ” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“ตอนสายๆของวันที่ 14 ลุงก็อยู่แถวๆสนามหลวงด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นลุงกำลังวิ่งอยู่ แล้วก็มี ฮ. บินอยู่เหนือหัว จากนั้นก็มีเสียงปืนกล ฮ.จะยิงปืนกลลงมาจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เมื่อมีเสียงปืนกลดังมาพร้อมกับการปรากฏของ ฮ. ก็ต้องเข้าใจว่ายังงั้นไว้ก่อน ทุกคนก็หมอบลงตามสัญชาติญาณ ลุงก็หมอบอยู่บนพื้นถนนนั่นเอง ซึ่งที่จริงต้องเข้าที่กำบังจึงจะถูก อย่างเช่นตามใต้ต้นมะขาม เพราะถ้ามีการยิงจาก ฮ. จริง การหมอบกลางแจ้งก็เท่ากับนอนแบเป็นเป้านิ่งให้ ฮ. เลือกยิงตามสบาย แต่ตอนนั้นไม่มีใครคิดอะไรทันหรอก ได้ยินเสียงปืนก็หมอบไว้ก่อน สภาพการณ์อลหม่านวุ่นวายมาก”








“แล้วหลังจากนั้นลุงทำไงฮะ” กระต่ายน้อยถามต่อ

“หลังจากเสียงปืนกลกราดยิงสงบลง ลุงก็พยายามลัดเลาะเพื่อโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา กะว่าจะซ่อนตัวในน้ำไว้ก่อน แต่สุดท้ายไม่ทันได้ลงน้ำ แต่วิ่งเตลิดเปิดเปิงไปทางบางลำภู แล้วออกไปทางถนนสามเสนและหลุดพ้นจากพื้นที่สังหารออกมาได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“ไม่ไปหลบในธรรมศาสตร์ละลุง” ลิงจ๋อถาม

“ก็กลัวว่าจะโดนปิดประตูตีแมวน้ำน่ะสิ เพราะธรรมศาสตร์ก็อยู่ในเขตพื้นที่สังหารเช่นกัน” ลุงแมวน้ำตอบ พลางหยิบรูปถ่ายใบหนึ่งออกมา บรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์ต่างมุงดู “ดูรูปนี้สิ”



“รูปนี้เท่มาก” ลิงจ๋อตอบ “ ผมเคยเห็นหลายครั้งแล้ว”

“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ภาพนี้โด่งดังไปทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นภาพที่แสดงจิตวิญญาณของประชาชนที่สู้กับอธรรมด้วยหัวใจและเลือดเนื้อ... สู้ทั้งที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ นี่ไม่ใช่การต่อสู้แบบจนตรอก แต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราศรัทธาและยึดมั่น”

“คนในภาพนี้ชื่อนายประพัฒน์ แซ่ฉั่ว ตอนนั้นเป็นนิสิตวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก็คือคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ในปัจจุบัน ภาพนี้ทำให้คุณประพัฒน์ได้ฉายาว่า ไอ้ก้านยาว ในเวลาต่อมา เส้นทางชีวิตของบุคคลในภาพก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน แต่ลุงยังไม่เล่าละกัน”

“ยังงั้นเล่าเรื่อง 14 ตุลา ต่อเลยลุง” แม่ยีราฟพูดขึ้นบ้าง

“ในตอนเย็นวันที่ 14 นั้นเอง จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นในหลวงทรงแต่งตั้งนายกคนใหม่เข้าดำรงตำแหน่ง คือศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และมีพระราชดำรัสทางทีวีเรียกวันที่ 14 นี้ว่าเป็นวันมหาวิปโยค” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ

“อ้าว ไหงจบง่ายๆยังงั้นละฮะลุง” กระต่ายน้อยถาม “หักมุมจังเลย”

“เปล่า ไม่ได้หักมุม เรื่องยังไม่จบ” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะแม้ว่าจอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ ในคืนวันนั้นที่ 14 นั้นเอง จอมพลถนอมใช้ตำแหน่ง ผบ.สส. ออกแถลงการณ์ว่ามีกลุ่มบุคคลที่พยายามนำลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยโดยอาศัยเหตุการณ์ในครั้งนี้ ดังนั้นเพื่อรักษาความมั่นคง การปราบปรามประชาชนจึงยังดำเนินต่อไป ไม่ได้ยุติลงเลย”




Monday, November 11, 2013

11/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 5 ระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์ ประเทศไทย ประเทศ (ของ) ใคร

ย้อนบรรยากาศอดีต บ้านเมืองในยุค 14 ตุลา 2516 นี่คือสี่แยกปทุมวัน ถ่ายในปี 2513 (1970) ตอนนั้นยังไม่เป็นสี่แยก แต่เป็นวงเวียนขนาดใหญ่ เรียกว่าวงเวียนปทุมวัน ยังไม่มีสยามเซ็นเตอร์ ยังไม่มีสยามดิส ส่วนสยามสแควร์มีโรงหนังสามโรง ที่เห็นเป็นแนวต้นไม้สีเขียวๆในภาพคือสยามเซ็นเตอร์แปละสยามดิสคัฟเวอรีในเวลาต่อมา


สี่แยกศาลาแดงในยุค 2513 (1970) ภาพนี้ถ่ายจากชั้นบนของโรงแรมดุสิตธานี ตรงป้ายโฆษณาหัวเทียนแชมเปี้ยนคือโรบินสันสีลมในวลาต่อมา 



“หูย เยอะจัง น่าจะแบ่งมาทางนี้บ้าง” ลิงจ๋อพูด “12 ล้านบาทในยุคนั้น ถ้าเป็นค่าเงินตอนนี้จะมีมูลค่าสักเท่าไรน้อ”

“ยัง เรื่องยังไม่จบเท่านั้น ฟังลุงเล่าต่อไปก่อน” ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง จากนั้นจึงเล่าต่อว่า “จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมหรือว่าเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2506 จากนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมาในปลายปีเดียวกันนั้นเอง โดยจอมพลถนอมควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีกลาโหมไว้ด้วย”

“คนเดียวนั่งสามเก้าอี้เลย” ลิงจ๋ออุทานอีก “ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นตำแหน่งของข้าราชการประจำ ทำไมมีตำแหน่งทางการเมืองแล้วยังเป็น ผบ. สูงสุดได้ล่ะลุง”

“สมัยนี้ไม่ได้ แต่ว่าสมัยก่อนได้ ยุคสมัยต่างกัน กฎระเบียบก็ต่างกัน ก็อย่าลืมว่าสมัยนั้นเป็นยุคเผด็จการทหารไง ทำไมจะทำไม่ได้” ลุงแมวน้ำตอบ “เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ในยุคนั้นก็นิยมควบตำแหน่งกันแบบนี้แหละ โดยเฉพาะนายกฯต้องควบตำแหน่งที่คุมกำลังเอาไว้ เพื่อความมั่นคงของคณะรัฐบาลทหาร”

“ถ้ายังงั้นทำไมไม่ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก น่าจะดีกว่าเป็น ผบ.สูงสุดนะลุง” ลิงจ๋อเสริม

“นายจ๋อติดตามการเมืองเยอะเลยนะ” ลุงแมวน้ำชม “มันก็ถูกอย่างที่นายจ๋อว่า แต่กรณีรัฐบาลจอมพลถนอมนี้ยังมีมือขวาของจอมพลถนอมอีกคนหนึ่ง คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยควบกับตำแหน่ง ผบ.ทบ. สองคนนี้เป็นดองกันด้วย เพราะว่าลูกชายของจอมพลถนอม คือพันเอกณรงค์ กิตติขจร ไปแต่งกับลูกสาวของจอมพลประภาส”

“เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน วงศาคณาญาติปกครองประเทศ” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง”

“เอ๊ะ รูปการณ์แบบนี้คุ้นๆนะลุง” ลิงจ๋อพูดอีก “เหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน”

“เอ้า ฟังลุงเล่าต่อก่อน” ลุงแมวน้ำเล่าเรืองต่อ “ยังเหลือตำแหน่งคุมกำลังสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่ง นั่นก็คือ กำลังตำรวจ ตอนนั้นโครงสร้างของตำรวจเป็นระดับกรม คือกรมตำรวจ ผู้บัคงคัญบัญชาสูงสุดก็คือตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งในตอนนั้นคือพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็เป็นผู้ที่จอมพลถนอมไว้วางใจเช่นกัน รวมความแล้วโครงสร้างของคณะรัฐบาลมั่นคงสถาพรเพราะว่าคุมกองกำลังเอาไว้เบ็ดเสร็จ

“แต่แม้ว่าจอมพลถนอมจะมีทั้งอำนาจและกำลังอย่างเบ็ดเสร็จ แต่กระแสประชาชนที่คลางแคลงใจต่อที่มาของทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ในตอนนั้นแรงเอาการ จนถึงกับทำให้รัฐบาลกังวลอยู่เหมือนกัน เนื่องจากประชาชนริ่มสงสัยในความโปร่งใสของรัฐบาลทหาร ท้ายที่สุด จอมพลถนอมจึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 17 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ จากนั้นดำเนินการสอบสวนจำนวนและที่มาของทรัพย์สินเหล่านั้น”

“ดาบนั้นคืนสนองเลยนะฮะ ต้นตำรับมาตรา 17 ในที่สุดก็โดนม. 17 ของตนเอง” กระต่ายน้อยพูดขึ้นบ้าง “เล่าต่อเร็วๆเลยฮะลุง”

“ผลจากการตรวจสอบทรัพย์สินหลังยึดทรัพย์ ทำให้พบว่าจอมพลสฤษดิ์มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เฉพาะเงินสดก็ประมาณ 410 ล้านบาท ที่ดินกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และยังมีที่ดินในเขตพระนครอีกไม่รู้ว่าเท่าไร นอกจากนี้ยังมีหุ้นอยู่ในบริษัทต่างๆอีกเป็นจำนวนมากถึงประมาณ 45 บริษัท เฉพาะเงินสด 410 ล้านบาท ในตอนนั้น หากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันก็ประมาณ 4,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว หากนำมูลค่าสินทรัพย์อื่นๆมาตีราคาในปัจจุบันคงมากกว่านี้อีกโข”

“โอ้โฮ” กระต่ายน้อยทำตาโต

“แต่ต่อมาก็มีการคืนทรัพย์สินให้แก่ทายาทหลังจากที่มีการตรวจสอบแล้ว หากส่วนใดได้มาโดยชอบก็คืนให้ไป” ลุงแมวน้ำพูดต่อ “และจากจุดนั้นเองที่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน เริ่มสนใจและจับตามองพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล

“เอาละ ที่นี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญดังที่ลุงแมวน้ำเล่ามาแล้ว สภาร่างฯนี้ตั้งมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ ร่างอยู่เกือบสิบปีจึงจะสำเร็จ เมื่อประกาศใช้ในปี 2511 ต้นปี 2512 ก็มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้น นับเป็นครั้งแรกหลังจาก พ.ศ. 2500 ที่มีการเลือกตั้ง และคนหนุ่มสาวในยุคนั้นเพิ่งจะได้สัมผัสกับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในชีวิตก็ครั้งนี้แหละ สำหรับปัญญาชนคนหนุ่มสาวที่สนใจประชาธิปไตยแล้ว เรื่องนี้เป็นเรืองที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะจอมพลถนอมเองก็ต้องตั้งพรรคการเมืองและกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ตามกติกาประชาธิไตย ตอนนั้นพรรคการเมืองใหญ่มีเพียงสองพรรค คือพรรคสหประชาไทของจอมพลถนอม และพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

“ในปี พ.ศ. 2512 จอมพลถนอมสามารถนำพรรคสหประชาไทเข้าสู่สภา และตนเองก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก โดยตัวละครสำคัญอื่นยังคงเดิม ได้แก่ จอมพลประภาส และพลตำรวจเอกประเสริฐก็ยังนั่งเก้าอี้เดิม แต่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ราบรื่นเช่นเดิม เพราะตอนนี้มีสภาผู้แทนแล้ว

“ในตอนนั้นจอมพลถนอมถูกอภิปรายในสภาอย่างหนัก ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านน่ะ ก็ตรวจสอบรัฐบาลไป และนอกจากนั้น ว่ากันว่า ในพรรคสหประชาไทหรือพรรครัฐบาลเอง สส ในพรรคก็ตีรวนเอากับหัวหน้าพรรคหรือจอมพลถนอม เพื่อเรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่างๆ ทำให้การบริหารประเทศไม่ราบรื่นเหมือนสมัยเผด็จการทหาร

“จอมพลถนอมก็คงโดนแรงเสียดทานเยอะนั่นแหละ ในที่สุด ก็เลยทำรัฐประหารตนเองอีกรอบหนึ่งในปี พ.ศ. 2514 สภาผู้แทนอะไรก็ไม่เอาแล้ว กลับไปเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเดิม และยิ่งไปกว่านั้น จอมพลถนอมยังต่ออายุราชการของตนเองในตำแหน่งผบ. สูงสุด ต่อไปอีก ถึงเวลาเกษียณแล้วก็ไม่ยอมเกษียณ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมากมาย โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวที่ได้ลิ้มรสการเลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่ง พอมาเปลี่ยนกลับไปเป็นอย่างเก่า เหล่าคนหนุ่มสาวก็ยอมรับไม่ได้

“นอกจากนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐประหารในตอนนั้นก็คือ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม หลังจากที่ทำการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พันเอกณรงค์ก็ยังมีบทบาทในการบริหารงานของรัฐบาลอีก ดังนั้นประชาชนก็มองกันว่าพันเอกณรงค์นี้คงเป็นทายาทที่จอมพลถนอมวางตัวเอาไว้สืบทอดอำนาจเผด็จการทหารต่อไป

“เหตุการณ์ที่สำคัญสองเรื่องในปี 2514 นั่นคือ การก่อตั้งและเปิดรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด และอีกเรื่องก็คือสหรัฐอเมริกาลอยตัวเงินดอลลาร์ สรอ โดยไม่อิงกับมาตรฐานทองคำ”

“สำคัญยังไงฮะลุงแมวน้ำ” กระต่ายน้อยถาม

“ลุงกำลังจะเล่าต่อไปนี่ไง” ลุงแมวน้ำตอบ “หลังจากที่จอมพลถนอมทำการรัฐประหารตัวเอง และกลับไปบริหารแบบเผด็จการทหารเช่นเดิม ทำให้คนหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนไม่พอใจ และไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง เพราะการที่อเมริกายกเลิกมาตรฐานทองคำกับเงินดอลลาร์ สรอ ทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างหนักทั่วโลก ข้าวของขึ้นราคาไปหมด ประชาชนก็เดือดร้อน กระทบถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

ในยุคเผด็จการทหารครองเมือง มีการใช้อภิสิทธิ์และระบบพรรคพวกอย่างหนัก จนนิสิตนักศึกษาเริ่มมีปฏิกิริยา


“รัฐบาลเองก็ทำการปิดหูปิดตาประชาชนเพื่อรักษาสถานภาพของตนเอง มีการใช้อภิสิทธิ์อุปถัมภ์พรรคพวกตนเองมากมาย ในขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่พอใจรัฐบาลและมีการติดตามการทำงานและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอย่างเข้มข้นขึ้น วลีที่ใช้เรียกรัฐบาลในยุคนั้นจนติดปากกันก็คือ ‘รัฐบาลเผด็จการถนอม ประภาส ณรงค์’

“ก็ดังที่ลุงได้เล่าแล้วว่านิสิตนักศึกษาในยุคนั้นมีบทบาทสูง ในความเห็นของลุงถือว่าเป็นเสาหลักของประชาธิไตยต้นหนึ่งได้ทีเดียว ในยุคที่แม้แต่สื่อมวลชนก็ถูกปิดปาก มีเพียงนักหนังสือพิมพ์ใจกล้าบางคน และเหล่านิสิตนักศึกษานี่แหละที่กล้าเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน โดยสถานการณ์ได้เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2515 ที่นิสิตนักศึกษามีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ทั้งเรื่องการบริหาร และเรื่องข้าวยากหมากแพง



นิสิตนักศึกษาถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของสังคมในยุคนั้น เพราะกล้าแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร รวมทั้งยังประท้วงและเรียกร้องแทนประชาชนทั้งปวง


“จนในปี พ.ศ. 2516 ราวเดือนเมษายน มีเฮลิคอปเตอร์ตกลำหนึ่งที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม และพบว่าภายในเครื่องมีซากสัตว์ป่าจำนวนมาก รวมทั้งซากกระทิงอันเป็นสัตว์ป่าสงวน คาดว่าล่ามาจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีก็ออกมาแถลงว่า ฮ. ที่ตกนั้นเป็น ฮ. ที่ปฏิบัติราชการลับเกี่ยวกับความมั่นคง แต่สื่อมวลชนและนิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับชมรมอนุรักษ์ทราบดีว่าความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เพราะซากสัตว์ป่าสงวนเป็นหลักฐานอยู่

“ข้อเท็จจริงเรื่อง ฮ. ตกมีการสื่อสารถึงกันในหมู่นิสิตนักศึกษา จนในที่สุด นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในยุคนั้น ได้ออกหนังสือตีแผ่ข้อเท็จจริงที่ชื่อว่า ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ โดยเปิดโปงว่าแท้ที่จริงแล้ว ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2516 มีการจัดปาร์ตี้วันเกิด โดยนายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ประมาณ 60 คนเข้าป่าสงวน ล่าสัตว์ด้วยอาวุธสงคราม และจัดปาร์ตี้กันในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่ นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้อาวุธและพาหนะของหลวง คือ ฮ. สองลำ ขากลับ ฮ.ลำหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตกลงมา ความจึงได้แตก ว่าภารกิจที่แท้จริงครั้งนี้คือการทำผิดกฎหมาย เข้าป่าล่าสัตว์สงวนเพื่อหาประโยชน์สุขสำราญส่วนตน และที่สำคัญก็คือ หนึ่งในคณะที่เข้าป่าล่าสัตว์ด้วยอาวุธสงครามนี้ก็คือพันเอกณรงค์ กิตติขจร นั่นเอง”

“เอาละสิ” ลิงจ๋อพูด “เริ่มดุเดือดแล้ว”

“หนังสือเปิดโปงขายดีมาก หมดอย่างรวดเร็ว” ลุงแมวน้ำพูด “จากนั้นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ออกหนังสือตามมาบ้าง ชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ’ โดยมีเนื้อหาเสียดสีจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี”

“ช่างกล้า” แม่ยีราฟพูดขึ้นบ้าง “สงสัยจะเรียบร้อย”

“อธิการบดีในยุคนั้นสั่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหง 9 คนที่เป็นแกนนำในการออกหนังสือเล่มนั้น จนเกิดเหตุการณ์ประท้วงของนิสิตนักศึกษากกันวุ่นวายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาต่อมา อันเป็นเดือนมิถุนายน 2516 และท้ายที่สุด อธิการบดีรามคำแหงในตอนนั้นต้องคืนสภาพนึกศึกษาทั้งเก้าคน และตนเองก็ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี” ลุงแมวน้ำเล่า “และจากจุดนี้เอง ที่เหล่านิสิตนักศึกษาเริ่มเหลือทนกับการบริหารที่ไร้ฝีมือ พฤติกรรมการปิดหูปิดตาประชาชน เล่นพรรคเล่นพวก หาประโยชน์ให้แก่ตนและพวกพ้อง”



“ไม่ไหวจะเคลียร์” กระต่ายน้อยพูด

“ใช่แล้ว สมัยนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่ไหวจะเคลียร์” ลุงแมวน้ำพูด “เหล่านิสิตนักศึกษาเห็นว่าหากมีตัวแทนของประชาชนมาบริหารประเทศ ก็จะเข้าใจปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าเผด็จการทหารที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ สถานการณ์ต่างๆที่ผ่านมา ทำให้ตกผลึกเป็นความคิดในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน”

“แล้วทหารจะยอมเหรอลุง” แม่ยีราฟถาม

“ถ้ายอมก็ไม่เกิดวันมหาวิปโยค 14 ตุลา 2516 น่ะสิ” ลุงแมวน้ำตอบ “ฟังต่อนะ

“วันที่ 5 ตุลาคม 2514 ธีรยุทธ บุญมี ผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ได้เปิดการแถลงที่บริเวณสนามหลวง และเปิดเผยรายชื่อผู้ที่เข้าชื่อกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ที่จริงมีมากกว่านี้ แต่นำมาเปิดเผยเท่านี้ พันเอกณรงค์ กิตติขจร เมื่อรู้ข่าว ก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะก่อม็อบสู้ เดี๋ยวทหารก็จะออกมาเดินขบวนบ้างว่าไม่อยากไปรบ”

“ฟังคุ้นๆอีกแล้ว” ลิงจ๋อพูด


รายชื่อบางส่วนของกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญในปี 2516


พันเอกณรงค์ตอบโต้กลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ด้วยการบอกว่าจะเอาทหารมาเดินขบวนเรียกร้องบ้าง



“วันต่อมา กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยามสแควร์ ฯลฯ ซึ่งในทีสุด กลุ่มที่แจกใบปลิวนี้ถูกตำรวจสันติบาลจับกุม 11 คน และยุงถูกจับกุมในภายหลังอีก 2 คน รวมเป็น 13 คน โดยตำรวจตั้งข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งคุมขัง ห้ามเยี่ยม ห้ามประกันตัว และบุคคลทั้งสิบสามนี้ถูกเรียกว่าเป็น กบฎรัฐธรรมนูญ”

กลุ่มผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน และถูกเรียกว่าเป็นกบฎรัฐธรรมนูญ


“ฟังชื่อแล้วรุนแรงจัง” กระต่ายน้อยเสริมออกความห็น “เป็นกบฎเลยนะ”

“จุดนี้เองที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของประชาชน กลุ่มนิสิตนักศึกษา นำโดยศูนย์รวมนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรศูนย์กลางของนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น ออกแถลงการณ์ประณาม สถาบันการศึกษาต่างๆก็เรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 ผู้ต้องหานี้ นิสิตนักศึกษาและอาจารย์ พยายามเข้าเยี่ยมผู้ต้องหา แต่ก็เยี่ยมไม่ได้

“และจากบันทึกของกระทรวงมหาดไทยที่มีจอมพลประภาสเป็นรัฐมนตรีว่าการในยุคนั้น ระบุว่ามีการประชุมของกระทรวงมหาดไทยและประเมินกันว่าหากมีการปราบปรามนิสิตนักศึกษา จะมีนิสิตนักศึกษาล้มตายไปประมาณ 2% ซึ่งก็เป็นหลักพันคน ก็จำเป็นต้องยอมสูญเสีย”

“หูยยยย ขนาดนั้นเลย” กระต่ายน้อยหูตั้งชัน ท่าทางตกใจ

“เหตุการณ์ลุกลามรวดเร็วมาก วันที่ 9 ตุลาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประท้วงและงดสอบ มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลที่ลานโพธิ์ นักศึกษาแพทย์ศิริราชก็ข้ามฝั่งแม่น้ำมาสมทบด้วย ด้านนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็มีการประท้วงเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาเช่นกัน ทางด้านจอมพลถนอมก็ประกาศว่าจะใช้ ม.17 กับผู้ต้องหาทั้งสิบสามคน”

“มาตรานี้อีกแล้ว” ลิงจ๋อพูด

จอมพลถนอมบอกว่าจะใช้ ม.17 กับกลุ่มกบฎรัฐธรรมนูญ


“คืนวันที่ 9 ฝนตกหนัก แต่นักศึกษาก็ยังปักหลักประท้วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันต่อมา วันที่ 10 ตุลาคม การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆก็ส่งสาสน์แสดงความสนับสนุน พร้อมกันนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาก็เข้ามารับช่วงต่อจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อยกระดับการชุมนุม พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนเข้ามาร่วมการประท้วงด้วย

“สายธารของมหาชนหลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทาง นักศึกษาวิทยาลัยครู (คือสถาบันราชภัฎในปัจจุบัน) หลายแห่งเดินทางมารว่มด้วย จากนั้นตามมาด้วยนักศึกษาประสานมิตร นักเรียนอาชีวะและมัธยม ทั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัดก็ทยอยเดินทางมาร่วม ลานโพธิ์จึงเริ่มแน่นขนัด จนต้องย้ายไปชุมนุมในสนามฟุตบอล ประชาชนให้การสนับสนุน ให้ทั้งอาหารและค่าใช้จ่ายต่างๆในการชุมนุม นักเรียนไทยต่างประเทศก็ส่งเงินมาช่วย



ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ มหาชนหลั่งไหลเข้ามาร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



มหาชนล้นหลามจนเต็มสนามฟุตบอลจของมหาวิทยาลัย มีทั้งนิสิต นักศึกษา ประชาชน และนักเรียน ทั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัด


“ในคืนวันที่ 11 มีการตั้งกองบัญชาการปราบปรามจลาจลที่สวนรื่นฤดี โดยมีจอมพลประภาสป็นผู้บัญชาการ จนวันที่ 12 มหาชนจากทุกทิศยังหลั่งไหลเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อชุมนุมประท้วง และในตอนเที่ยงวันนั้นเอง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลให้คำตอบอันน่าพอใจภายในเวลาเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม หากยังไม่ได้รับคำตอบก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป พร้อมกันนั้น มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็มีการประท้วงด้วยเช่นกัน”

“แล้วทางรัฐบาลตอบว่าไหง” ลิงจ๋อรีบถาม “เล่าเร็วสิลุง”

“ในคืนวันที่ 12 นั้นเอง กรมประชาสัมพันธ์ออกประกาศให้พ่อแม่ผู้ปกครอง เตือนลูกหลานอย่าเข้าร่วมชุมนุม เพราะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเตรียมแฝงตัวมาทำร้ายผู้ชุมนุม แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง ก็มีการเสริมกำลังทหารและตำรวจรอบบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ลุงแมวน้ำเล่า

“โอ๊ะ คุ้นๆอีกแล้ว” ลิงจ๋ออุทาน

“จนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม ไม่มีคำตอบจากรัฐบาล และรัฐบาลก็ยังไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสิบสามคน แกนนำนิสิตนักศึกษาจึงนำมหาชนในมหาวิทยาลัยออกจากประตูมหาวิทยาลัยไปสู่ภายนอกซึ่งกองกำลังตำรวจรายล้อมอยู่ โดยกลุ่มหัวหมู่ทะลวงเป็นนักศึกษาอาชีวะ พร้อมกับอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น พริกไทย เอาไว้สู้กับสุนัขตำรวจ และหน้ากาก ผ้า กับน้ำสะอาด เอาไว้ป้องกันแก๊สน้ำตา” ลุงแมวน้ำเล่า

กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนพลออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเส้นตาย 13 ตุลาคม 2516 เวลาเที่ยงได้ผ่านพ้นไป มีการจัดกระบวนพลเพื่อรับมือกับกองกำลังตำรวจและสุนัขตำรวจที่ด้านนอก