Tuesday, November 5, 2013

05/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 3 ระบอบถนอม-ประพาส-ณรงค์ กับฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง

ย่านวังบูรพาหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2489 วังบูรพาในยุคนั้นยังเป็นวังเจ้าจริงๆ ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นย่านบันเทิงของหนุ่มสาว

เยาวราช ปี 2495 ในยุคนั้นเยาวราชถือเป็นแหล่งธุรกิจการค้าใจกลางเมือง มีทั้งภัตตาคาร ร้านค้า โรงหนัง โรงงิ้ว โรงน้ำชา ในภาพยังสามารถเห็นรถลาก สามล้อถีบ และแนวรถรางได้


“เดี๋ยวก่อน ลุงแมวน้ำ ฉันอยากถามหน่อย” ยีราฟแทรกขึ้นมา “ลุงก็บอกว่าช่วงนั้นบ้านเมืองสงบ อาชญากรรมก็ลดลง เพราะผู้นำเด็ดขาด การดำเนินชีวิตราบรื่น ฉันว่าถ้าเป็นแบบนั้นสภาพบ้านเมืองก็ถือว่าน่าอยู่ รัฐธรรมนูญเอามาต้มกินก็ไม่ได้ ฉันว่าเรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญไม่น่ามีแรงจูงใจพอที่จะเรียกคนนับแสนๆคนให้ออกมาได้หรอก”

“นั่นสิ ผมก็ว่ายังงั้นนะ” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง

“เสรีภาพไงล่ะ ที่ขาดหายไป เสรีภาพมีความสำคัญมากเลยนะ” ลิงจ๋อพูด น้ำเสียงเคร่งเครียดจริงจัง

“วุ้ย อยู่สบายก็พอ มีถั่วฝักยาวกิน ไม่มีใครมาทำร้ายฉัน ฉันก็พอใจแล้ว จะประท้วงอะไรกันอีก” ยีราฟสาวพูดพลางสะบัดคอยาวๆ น้ำลายยืดกระเซ็นใส่ตัวอื่นๆจนเลอะไปหมด

“ลุงว่าแม่ยีราฟพูดมีประเด็นนะ” ลุงแมวน้ำพูด “คิดกันอย่างง่ายๆ ชีวิตราบรื่นเป็นสุข แล้วจะมาไม่พอใจอะไรกันอีก แต่เอายังงี้ ขอให้ทุกคนหลับตานะ”

“ผมยังไม่ง่วงเลยฮะ” กระต่ายน้อยพูด พลางกระดิกหาง

“ลุงไม่ได้ให้เข้านอน แต่ลุงอยากให้หลับตาเพื่อใช้จินตนาการ เอาละ ลองหลับตากันหน่อย ฟังลุงพูด แล้วจินตนาการตามลุงไป ลุงจะพาหลานๆย้อนอดีตไปในยุดเมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน ถ้าหลานใช้จิตนาการตามไปด้วย ลุงคิดว่าหลานๆจะเข้าใจ” ลุงแมวน้ำพูด หยุดทิ้งระยะสักครู่ จากนั้นพูดต่อช้าๆ

“ลุงขอเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เลยนะ ในปีนั้นเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่สองมีจุดเริ่มต้นในซีกโลกฝั่งตะวันตก แต่ก็ลุกลามมายังเอเชียด้วย โดยสงครามโลกครั้งที่สองในย่านเอเชียตะวันออกนี้เราเรียกกันว่าสงครามมหาเอเชียบูรพานั่นเอง

“หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง บ้านเมืองส่วนใหญ่ ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก ล้วนแต่เสียหายจากภัยสงคราม บ้านเมืองเสียหาย ผู้คนล้มตาย ดังนั้นหลังจากสงครามโลก คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นยุคฟื้นฟูชาติของประเทศต่างๆในโลก

“โลกในตอนนั้นก็แปลกๆอยู่ เพราะว่าประเทศที่ชนะสงคราม หรือว่าเป็นฝ่ายพระเอก ที่เรียกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น กลับประกอบด้วยมหาอำนาจจากสองขั้วลัทธิ นั่นคือ สหรัฐอเมริกาซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นพี่ใหญ่ฝ่ายโลกประชาธิปไตยซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี กับรัสเซียซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของโลกฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง สองขั้วลัทธิฝ่ายพระเอกจึงแย่งชิงกันเป็นใหญ่กันเอง เพราะว่าพระเอกฝ่ายประชาธิปไตยก็กลัวถูกพระเอกฝ่ายคอมมิวนิสต์ครอบงำ รวมทั้งต้องการแพร่ขยายแนวคิดในแบบประชาธิปไตยของตนเอง ส่วนพระเอกฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็คิดทำนองนั้นเหมือนกัน และนั่นคือที่มาของยุคสงครามเย็นที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามครอบงำผู้อื่น ดังนั้นประเทศอื่นๆจึงเสมือนว่าต้องเลือกข้าง ว่าจะสนับสนุนฝ่ายใดเป็นลูกพี่

“ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ประเทศจีนเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นลิทธิคอมมิวนิสต์ โลกจึงยิ่งวุ่นวาย กลายเป็น 3 ขั้ว คือประชาธิปไตยแบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี แบบคอมมิวนิสต์รัสเซีย และคอมมิวนิสต์แบบจีน

“สำหรับประเทศไทยในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2482 เป็นต้นมาก็เริ่มต้อนรับกระแสตะวันตก ประเทศไทยเข้าสู่ยุคทันสมัยหรือ modernization และหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นก็ยิ่งเปิดรับกระแสทุนและกระแสอารยธรรม วัฒนธรรมจากโลกตะวันตกเข้ามาอย่างมากมาย เนื่องจากอเมริกาพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเอาประเทศต่างๆเป็นพวก ประเทศเล็กต้องเลือกข้าง หากไม่เป็นพวกอเมริกาก็ต้องกลายเป็นพวกคอมมิวนิสต์ไป”

“คร่อฟ ฟี้...” เสียงกระต่ายน้อยกรน

“เดี๋ยว อย่าเพิ่งหลับ บอกให้จินตนาการก่อน เอ้า หลับตาจิตนาการตามลุงต่อไป...” ลุงแมวน้ำพูด

“ลองจินตนาการดู ว่าเด็กที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือตั้งแต่ พ.ศ. 2489 เป็นต้นไป พวกนั้นจะเป็นคนอย่างไร มีลักษณะนิสัยร่วมอย่างไร เรามาดูบริบททางสังคมใยุคนั้นกัน

“เด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นแม้ไม่ได้ผ่านชีวิตที่ยากลำบากในยุคสงครามมา แต่ยุคหลังสงครามที่เพิ่งฟื้นฟูชาติก็ลำบากไม่น้อย บ้านเรือนตึกราม ทรัพย์สินเสียหาย ข้าวของเครื่องใช้ขาดแคลน ชีวิตก็ไม่สบายนัก บางคนก็สูญเสียบุคคลในครอบครัวในระหว่างสงคราม เพาะบ่มให้เด็กในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีลักษณะร่วมก็คือ มีความขยัน อดทน หนักเอาเบาสู้ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต

ถนนราชดำเนิน พ.ศ. 2499


ย่านวังบูรพา หลังจากที่วังบูรพาภิรมย์ถูกรื้อออกและพัฒนาเป็นแหล่งบันเทิงของคนหนุ่มสาวหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงไม่นาน

บรรยากาศของกรุงเทพฯในยุคปี พ.ศ. 2499 ที่ความเจริญแบบตะวันตกเริ่มไหลบ่าเข้ามา และกรุงเทพฯเริ่มทันสมัยแบบตะวันตก

“แหล่งบันเทิงในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นของผู้ใหญ่ คือ ย่านธุรกิจการค้าใจกลางเมืองก็คือย่านเยาวราช ซึ่งมีแต่โรงหนัง โรงงิ้ว ภัตตาคารร้านอาหาร ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2500 วังบูรพาถูกรื้อ คือแต่เดิมเป็นวังเจ้า จากนั้นถูกรื้อไปและพัฒนาเป็นย่านธุรกิจ ย่านวังบูรพาจึงเป็นแหล่งวัยรุ่นแห่งแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือยุคโก๋หลังวังนั่นเอง

“ทีวีก็มีเพียง 2 ช่อง เป็นทีวีขาวดำ มิหนำซ้ำทีวีไม่ใช่มีกันทุกบ้าน อุปกรณ์บันเทิงหลักคือวิทยุสี่เหลี่ยมเป็นตู้เครื่องใหญ่ๆ ไม่อย่างนั้นก็อ่านหนังสือ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าชีวิตวัยรุ่นหลังสงครามโลกแม้จะเปิดรับความทันสมัย แต่ก็ยังค่อนข้างจืดชืด

“กระแสทันสมัยที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ได้มาเพียงเรื่องวัฒนธรรม แต่เรื่องการศึกษาก็ด้วย ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบการศึกษาของไทยพัฒนาไปในแนวทางตะวันตกมากขึ้น มหาวิทยาลัยเริ่มมีมากขึ้น ดังนั้นจากเดิมที่เด็กวัยรุ่นจบมัธยมหรือจบพาณิชย์ก็เพียงพอที่จะออกไปประกอบอาชีพแล้ว กลายเป็นว่าความนิยมที่เรียนถึงระดับปริญญาตรีมีมากขึ้น และในยุคของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์นี้เป็นยุคที่การศึกษาในระดับปริญญาตรีเริ่มขยายตัวออกไปสู่ภูมิภาค มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ โดยในช่วงต้นเป็นการตรากฎหมายและก่อสร้างอาคาร กว่าจะเปิดรับนักศึกษาได้จริงก็ล่วงเข้ามาในยุคของจอมพลถนอม

“หลักหมุดสำคัญของการศึกษาไทยหลักหมุดหนึ่งอยู่ที่ปี พ.ศ. 2504 หรือที่เรียกว่าปี ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม คือเป็นปีที่เริ่มใช่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 และปีนั้นเองที่มหาวิทยาลัยของรัฐริเริ่มการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วยระบบข้อสอบคัดเลือกกลาง จากที่ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยต่างคนต่างรับนักเรียนเข้ากันเอง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2505 ระบบการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยจึงเริ่มใช้เป็นปีแรก

“ในยุคนั้นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันจำนวนที่มหาวิทยาลัยรับได้ยังไม่มากนัก ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2504-2510 ถ้าลุงแมวน้ำจำไม่ผิด จำนวนรับของมหาวิทยาลัยของรัฐรวมกันรับได้ประมาณ 35,000 คนเท่านั้น ดังนั้นการเข้ามหาวิทยาลัยจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยได้ก็ถือว่าเป็น ปัญญาชน”

“ในช่วงนั้น พ.ศ. 2504-2510 ประเทศไทยพัฒนาไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 และ 2 ซึ่งตอบรับการไหลบ่าของทุนนิยมตะวันตก สังคมไทยเริ่มพัฒนาไปสู่ยุคอุตสาหกรรมการผลิต สัมคมเกษตรจากการทำเกษตรก๊อกๆแก๊กๆไปตามมีตามเกิด ก็เปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวแบบตะวันตกที่ทำรายได้มากขึ้น เกษตรกรในภาคชนบทมีทางเลือกมากขึ้น หากไม่ทำเกษตรแผนใหม่ที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ก็ไปทำงานโรงงานหรือทำงานตามห้างร้าน ไม่ว่าทางใดก็ยกระดับรายได้ขึ้นทั้งนั้น


สภาพบ้านเมืองของกรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2507 รถรางยังมีใช้อยู่


ห้างเซ็นทรัลราชประสงค์ เปิดในปี พ.ศ. 2507 ยุคนี้เป็นยุคที่แหล่งคนหนุ่มสาวย้ายมาที่ราชประสงค์ ห้างเซ็นทรัลเปิดได้ไม่กี่ปีก็ปิดไปเพราะแข่งสู้ห้างไดมารูของญี่ปุ่นไม่ได้


เยาวราช พ.ศ. 2508 ยังเป็นแหล่งค้าขายของชาวจีน แต่ศูนย์กลางความเจริญในกรุงเทพฯย้ายไปอยู่ที่ราชประสงค์แล้ว




“สิ่งที่มาพร้อมกับการพัฒนา นั่นก็คือความเหลื่อมล้ำ หลายๆคนยกระดับรายได้ขึ้นอย่างมากมาย แต่ขณะที่หลายๆคนจนลงและจนลง เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น ประกอบกับในช่วงนั้นกรุงเทพฯพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แหล่งวัยรุ่นย่านวังบูรพาเริ่มโรย ขณะเดียวกันศูนย์การค้าย่านราชประสงค์ผุดขึ้นมาแทน มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นในย่านนี้สองห้าง คือห้างเซ็นทรัล และห้างไดมารูของญี่ปุ่น ห้างไดมารูมีบันไดเลื่อนและลิฟต์ซึ่งหรูมากในยุคนั้น มีร้านอาหารแบบฝรั่ง มีบาร์แบบฝรั่ง ราชประสงค์ในยุคนั้นคือจุดที่ทันสมัยที่สุดในเมืองกรุง

“ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าลักษณะร่วมของวัยรุ่นและหนุ่มสาวในยุคนั้นคือมานะ อดทน ยิ่งเป็นผู้ที่ได้เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย ได้เรียน ได้อ่าน ได้เห็น และได้คิดกับสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ การมีแหล่งบันเทิงน้อย การได้อ่านหนังสือเยอะ ทำให้หนุ่มสาวในยุคนั้นมีลักษณะร่วมเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งก็คือ มีอุดมการณ์ และมุ่งแสวงหาความหมายของชีวิต

ความเหลื่อมล้ำที่มาพร้อมกับกระแสทุนนิยม ทำให้หนุ่มสาวปัญญาชนเริ่มตั้งคำถามกับตนเอง และพยายามแสวงหาคำตอบ

ในยุคที่คนหนุ่มสาวกำลังแสวงหา และมีสิ่งบันเทิงมายั่วยุน้อย ทำให้คนหนุ่มสาวสนใจทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมต่างๆ


“ดังนั้น ผู้ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อถึงวัยที่เข้ามหาวิทยาลัย ก็จะได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์สืบต่อมาจากรุ่นพี่ รวมทั้งกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในยุคนั้นมีการออกไปรับใช้มวลชนกันเยอะ ก็คือพวกงานค่ายอาสาพัฒนาชนบทนั่นแหละ ก็ยิ่งเพาะบ่มหนุ่มสาวเหล่านี้ให้มีอุดมการณ์เข้มข้นยิ่งขึ้น ครูโกมล คีมทอง เป็นตัวอย่าง คือจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองกรุง แต่สมัครใจไปเป็นครูในถิ่นทุรกันดาร งบทกวี ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ที่โด่งดัง ก็ถูกประพันธ์ขึ้นในยุคนี้เช่นกัน

“เอาละ ทีนี้หนุ่มสาวเหล่านี้มาเกี่ยวกับการเมืองและการเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ประเด็นก็อยู่ที่ยุคคณาธิปไตยของจอมพลสฤษดิ์ ต่อด้วยยุคถนอม-ประพาส-ณรงค์ที่ทั้งประเทศอยู่ในกำมือของบุคลคลเพียงกลุ่มเดียวนี่แหละ ที่ทำให้คนหนุ่มสาวปัญญาชนเหล่านั้นทนไม่ได้” ลุงแมวน้ำขมวดปม “และเด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ลุงบรรยายบริบทสังคมมานี้ ก็คือคนที่เรียกว่ารุ่นเจนบี (Gen B) หรือคนรุ่นเบบี้บูม (Baby Boomer) นั่นเอง”

Saturday, November 2, 2013

02/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 2 ปฐมบทวันมหาวิปโยค




จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้นตำรับดาบอาญาสิทธิ์ ม.17


“มา มา ถ้าอย่างนั้นมานั่งเล่นที่สวนข้างโขดหินกันก่อน แล้วฟังลุงเล่านิทาน ตอนเช้าอย่างนี้บรรยากาศในสวนกำลังร่มรื่นทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด

“เดี๋ยวก่อนนะฮะลุง ขอตัวสักครู่ เดี๋ยวผมตามไปในสวนฮะ” กระต่ายน้อยพูดพลางกระโดดแผลวจากไปอย่างรวดเร็ว

ลุงแมวน้ำกับลิงจ๋อเดินไปรออยู่ในสวน เพียงครู่เดียวกระต่ายน้อยก็วิ่งลิ่วมาพร้อมกับยีราฟ ม้าลาย หมี และสิงสาราสัตว์ในคณะละครสัตว์อีกหลายตัว

“กระต่ายน้อยวิ่งมาบอกว่าลุงแมวน้ำจะเล่านิทาน แหม เล่าตั้งแต่เช้าเลยนะ พวกเราชอบฟังนิทาน เลยมาขอฟังด้วย” ยีราฟสาวพูด

“นี่ยกโขยงกันมาฟังนิทานเลยเหรอ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ที่จริงมันเป็นเรื่องจริงหรอกนะ เพียงแต่ว่าลุงเล่าแบบนิทานเท่านั้นเอง มันเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้ อีกทั้งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศไทยทีเดียว เอ้า เมื่อมากันพร้อมแล้ว ลุงจะเริ่มเล่าเลยก็แล้วกันนะ”

“กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...” กระต่ายน้อยพูดเบาๆ

“ใช่แล้ว...” ลุงแมวน้ำขำในความซ่าของกระต่ายน้อย คงอยู่ในหมวกของนักมายากลมานานเลยเหงา เมื่อได้ออกมาข้างนอกบ้างจึงสดชื่นรื่นเริง “นิทานก็ต้องขึ้นต้นเรื่องแบบนั้น”

“กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ประมาณ  80 กว่าปีมาแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 ตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยก็เดินอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตยแบบลุ่มๆดอนๆตลอดมา ที่ว่าลุ่มๆดอนๆเพราะว่าเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีการเลือกตั้งสลับกับการรัฐประหารเรื่อยมา

“ลุงขอจับความตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ก็แล้วกัน เล่าแบบกระชับ คือในปีนั้นมีการทำรัฐประหารโดยคณะทหาร ภายใต้การนำของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อมีการรัฐประหาร ตามธรรมเนียมก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้งไปแล้วร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่นั้นนายกรัฐมนตรีก็คือจอมพล ป. นั่นเอง”

“ก็คือคณะทหารยังกุมอำนาจอยู่ เพียงแต่แปลงร่างจากคณะรัฐประหารเป็นคณะรัฐมนตรี” ลิงจ๋อว่า

“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำพูด “บ้านเมืองในยุคนั้นแม้จะใช้ชื่อว่าเป็นระอบบประชาธิปไตย แต่โดยเนื้อหาแล้วก็คือเผด็จการทหารจำแลงนั่นเอง”

“จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศอยู่หลายปี จนในปี พ.ศ. 2500 ก็ถูกรัฐประหาร” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ

“อ้าว ตัวเองทำรัฐประหาร แล้วตัวเองก็โดนเอาบ้าง” ยีราฟอุทาน

“ใช่แล้ว และผู้ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขุนพลคนสนิท ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง สาเหตุที่มีการรัฐประหารเพราะว่ามีการโกงการเลือกตั้งกันอย่างหนักจนประชาชนรับไม่ได้ มีการประท้วง บ้านเมืองวุ่นวาย จนจอมพลสฤษดิ์ต้องใช้กำลังทหารยึดอำนาจและทำรัฐประหารในปี 2500 

“จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ จนในปี พ.ศ. 2501 ประเทศไทยก็มีรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ชื่อพลโทถนอม กิตติขจร (ยศในตอนนั้น)” 

“แต่การเมืองก็เกิดความวุ่นวาย พลโทถนอมไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยราบรื่น จอมพลสฤษดิ์และพลโทถนอม จึงร่วมกันทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งก็คือเป็นการรัฐประหารตัวเองนั่นเอง และหลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จอมพลสฤษดิ์ก็รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองโดยไม่มีการเลือกตั้ง คือเป็นคณะรัฐบาลเผด็จการทหาร”

“ว้า ยังงั้นก็แย่สิ ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย” ลิงจ๋อบ่น

“แต่ก็แปลกนะ ที่ประชาชนในยุคนั้นกลับรู้สึกว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2502 นั้น มีบทบัญญัติอยู่มาตราหนึ่ง ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีแบบไร้ขีดจำกัด คือ จะทำอะไรก็ได้ และให้ถือว่าการกระทำนั้นถูกกฎหมาย ซึ่งเท่ากับให้ดาบอาญาสิทธิ์แก่นายกรัฐมนตรีนั่นเอง”

“โห สมัยก่อนมียังงี้ด้วย แล้วประชาชนรับได้เหรอครับ” ลิงจ๋อถาม

“ลุงอยากจะบอกว่า เท่าที่ลุงเห็นมา ลุงคิดว่าประชาชนชอบเสียอีกนะ นี่เราไม่มองกันในเรื่องหลักการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้อำนาจแก่นายกฯในการจัดการกับความไม่สงบเรียบร้อยต่างๆในบ้านเมือง ทำให้นายกฯสามารถดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดและเฉียบขาด 

“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องไฟไหม้ คนในสมัยก่อนกลัวเรื่องไฟไหม้กันมาก เพราะว่าโจรปล้นบ้านสิบครั้งไม่เท่ากับไฟไหมบ้านครั้งเดียว ใครถูกไฟไหม้ก็คือหมดเนื้อหมดตัวนั่นเอง และยังอาจเสียชีวิตจากไฟคลอกด้วย จอมพลสฤษดิ์ใช้ความเฉียบขาดด้วย ม.17 กับพวกคดีวางเพลิง โดยถือเป็นเรื่องร้ายแรง ยกตัวอย่างกรณีไฟไหม้ 300 หลังคาเรือนที่สุพรรณบุรี จอมพลสฤษดิ์ขึ้น ฮ. ไปบัญชาการ และดำเนินการสอบสวนมือเพลิงด้วยตนเอง จากนั้น ใช้อำนาจ ม.17 สั่งประหารชีวิตมือเพลิง ณ จุดเกิดเหตุนั้นเลย ทำให้ผู้ร้ายเกิดความเกรงกลัว คดีวางเพลิง ไฟไหม้ ในยุคนั้นลดลงอย่างมาก ประชาชนก็ชอบใจ”

“แหม่ๆๆ ทำเป็นเรียลลิตี้โชว์เลยนะ” กระต่ายน้อยออกความเห็น

“แต่ในซอกมุมที่ประชาชนทั่วไปมองเข้าไปไม่ถึง กฎหมายข้อนี้ก็เป็นอันตรายแก่สุจริตชนอย่างใหญ่หลวง เพราะว่าจอมพลสฤษดิ์ใช้มาตรา 17 นี้อย่างไร้การตรวจสอบ และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ยกตัวอย่างเช่นกรณีวางเพลิง ใครจะรู้ล่ะว่ามือเพลิงนั้นเป็นมือเพลิงจริงหรือว่าเป็นแพะ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ ดังนั้นข้อดีก็มี คือคนร้ายกลัวเกรง แต่ข้อเสียก็มาก เพราะสุจริตชนอาจถูกให้ร้ายได้ 

“และตัวอย่างก็มีให้เห็นจริงๆ นั่นคือ มีประชาชน โดยเฉพาะพวกที่เป็นนักคิด  นักเขียน นักพูด ที่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤดิ์ พวกที่คิดต่างเห็นต่างเหล่านี้ถูกกำจัดออกไปจนหมด โดยถูกคุมขังแบบขังลืม ไม่ต้องมีเหตุผล เพียงบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์เท่านั้น แม้แต่พระที่คิดต่างเห็นต่างก็ยังถูกจับสึก มีปัญญาชนที่เห็นต่างถูกจับยิงเป้าที่ท้องสนามหลวงด้วยข้อหาภัยคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปกติ รัฐบาลยุคนั้นจึงถือว่าเป็นเผด็จการทหารอย่างสมบูรณ์แบบ และในยุคของจอมพลสฤษดิ์นี้เอง คือยุคที่ปัญญาชนผู้เห็นต่างถูกต้อนเข้ามุมอับ ถูกบีบคั้นจนอับจนสิ้นหนทาง และต้องเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ภาพอันเลวร้ายเหล่านี้ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยได้สังเกตนัก เพราะภาพที่ชาวบ้านสัมผัสได้คือการดำเนินชีวิตที่ราบรื่น อาชญากรรมลดลง คดีเพลิงไหม้ลดลง”

“อือม์ มันก็น่าคิดนะ ว่า ม.17 นี่แท้ที่จริงเป็นคุณหรือเป็นโทษกันแน่” ลิงจ๋อรำพึงกับตนเอง “มันเป็นกฎหมายที่อิงกับตัวบุคคลอย่างแรง หากได้ผู้ใช้กฎหมายเลวๆละก็แย่เลย”

“เรื่องราวยังไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ฟังลุงเล่าต่อ หลังจากที่จอมพลสฤษด์เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2506 หลังจากนั้นจอมพลถนอม ตอนนั้นเป็นยศจอมพลแล้ว ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นยาวเลย จนถึงปี พ.ศ. 2514 โน่นเลย หลังจากนั้นก็ทำการรัฐประหารตนเอง” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ

จอมพลถนอม กิติขจร

“หา รัฐประหารตนเองอีกแล้วเหรอ ทำกันเป็นแฟชั่นเลยหรือไง” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง

“ตอนที่จอมพลถนอมเป็นนายกในรอบสอง ก็มีการตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้ง ทีนี้ในการเลือกตั้งปี 2512 ส.ส. พรรคประชาไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองของจอมพลถนอมเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆจากจอมพลถนอม โดยอ้างคำสัญญาที่ให้ไว้แก่กัน เมื่อไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่ต้องการ บรรดา ส.ส. ก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในสภา จอมพลถนอมคุมสถานการณ์การเมืองไม่อยู่ จึงทำการรัฐประหารตนเองอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2514 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ยังคง ม.17 เอาไว้เป็นดาบอาญาสิทธิ์และตนเองยังเป็นนายกฯเช่นเดิม ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ไม่ต้องมีสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน คณะรัฐบาลในยุคนั้นจึงเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปแบบอีก และนี่เอง คือปฐมบทที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในลำดับต่อมา”