Saturday, November 2, 2013

02/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 2 ปฐมบทวันมหาวิปโยค




จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้นตำรับดาบอาญาสิทธิ์ ม.17


“มา มา ถ้าอย่างนั้นมานั่งเล่นที่สวนข้างโขดหินกันก่อน แล้วฟังลุงเล่านิทาน ตอนเช้าอย่างนี้บรรยากาศในสวนกำลังร่มรื่นทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด

“เดี๋ยวก่อนนะฮะลุง ขอตัวสักครู่ เดี๋ยวผมตามไปในสวนฮะ” กระต่ายน้อยพูดพลางกระโดดแผลวจากไปอย่างรวดเร็ว

ลุงแมวน้ำกับลิงจ๋อเดินไปรออยู่ในสวน เพียงครู่เดียวกระต่ายน้อยก็วิ่งลิ่วมาพร้อมกับยีราฟ ม้าลาย หมี และสิงสาราสัตว์ในคณะละครสัตว์อีกหลายตัว

“กระต่ายน้อยวิ่งมาบอกว่าลุงแมวน้ำจะเล่านิทาน แหม เล่าตั้งแต่เช้าเลยนะ พวกเราชอบฟังนิทาน เลยมาขอฟังด้วย” ยีราฟสาวพูด

“นี่ยกโขยงกันมาฟังนิทานเลยเหรอ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ที่จริงมันเป็นเรื่องจริงหรอกนะ เพียงแต่ว่าลุงเล่าแบบนิทานเท่านั้นเอง มันเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้ อีกทั้งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศไทยทีเดียว เอ้า เมื่อมากันพร้อมแล้ว ลุงจะเริ่มเล่าเลยก็แล้วกันนะ”

“กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...” กระต่ายน้อยพูดเบาๆ

“ใช่แล้ว...” ลุงแมวน้ำขำในความซ่าของกระต่ายน้อย คงอยู่ในหมวกของนักมายากลมานานเลยเหงา เมื่อได้ออกมาข้างนอกบ้างจึงสดชื่นรื่นเริง “นิทานก็ต้องขึ้นต้นเรื่องแบบนั้น”

“กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ประมาณ  80 กว่าปีมาแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 ตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยก็เดินอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตยแบบลุ่มๆดอนๆตลอดมา ที่ว่าลุ่มๆดอนๆเพราะว่าเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีการเลือกตั้งสลับกับการรัฐประหารเรื่อยมา

“ลุงขอจับความตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ก็แล้วกัน เล่าแบบกระชับ คือในปีนั้นมีการทำรัฐประหารโดยคณะทหาร ภายใต้การนำของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อมีการรัฐประหาร ตามธรรมเนียมก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้งไปแล้วร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่นั้นนายกรัฐมนตรีก็คือจอมพล ป. นั่นเอง”

“ก็คือคณะทหารยังกุมอำนาจอยู่ เพียงแต่แปลงร่างจากคณะรัฐประหารเป็นคณะรัฐมนตรี” ลิงจ๋อว่า

“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำพูด “บ้านเมืองในยุคนั้นแม้จะใช้ชื่อว่าเป็นระอบบประชาธิปไตย แต่โดยเนื้อหาแล้วก็คือเผด็จการทหารจำแลงนั่นเอง”

“จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศอยู่หลายปี จนในปี พ.ศ. 2500 ก็ถูกรัฐประหาร” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ

“อ้าว ตัวเองทำรัฐประหาร แล้วตัวเองก็โดนเอาบ้าง” ยีราฟอุทาน

“ใช่แล้ว และผู้ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขุนพลคนสนิท ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง สาเหตุที่มีการรัฐประหารเพราะว่ามีการโกงการเลือกตั้งกันอย่างหนักจนประชาชนรับไม่ได้ มีการประท้วง บ้านเมืองวุ่นวาย จนจอมพลสฤษดิ์ต้องใช้กำลังทหารยึดอำนาจและทำรัฐประหารในปี 2500 

“จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ จนในปี พ.ศ. 2501 ประเทศไทยก็มีรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ชื่อพลโทถนอม กิตติขจร (ยศในตอนนั้น)” 

“แต่การเมืองก็เกิดความวุ่นวาย พลโทถนอมไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยราบรื่น จอมพลสฤษดิ์และพลโทถนอม จึงร่วมกันทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งก็คือเป็นการรัฐประหารตัวเองนั่นเอง และหลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จอมพลสฤษดิ์ก็รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองโดยไม่มีการเลือกตั้ง คือเป็นคณะรัฐบาลเผด็จการทหาร”

“ว้า ยังงั้นก็แย่สิ ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย” ลิงจ๋อบ่น

“แต่ก็แปลกนะ ที่ประชาชนในยุคนั้นกลับรู้สึกว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2502 นั้น มีบทบัญญัติอยู่มาตราหนึ่ง ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีแบบไร้ขีดจำกัด คือ จะทำอะไรก็ได้ และให้ถือว่าการกระทำนั้นถูกกฎหมาย ซึ่งเท่ากับให้ดาบอาญาสิทธิ์แก่นายกรัฐมนตรีนั่นเอง”

“โห สมัยก่อนมียังงี้ด้วย แล้วประชาชนรับได้เหรอครับ” ลิงจ๋อถาม

“ลุงอยากจะบอกว่า เท่าที่ลุงเห็นมา ลุงคิดว่าประชาชนชอบเสียอีกนะ นี่เราไม่มองกันในเรื่องหลักการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้อำนาจแก่นายกฯในการจัดการกับความไม่สงบเรียบร้อยต่างๆในบ้านเมือง ทำให้นายกฯสามารถดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดและเฉียบขาด 

“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องไฟไหม้ คนในสมัยก่อนกลัวเรื่องไฟไหม้กันมาก เพราะว่าโจรปล้นบ้านสิบครั้งไม่เท่ากับไฟไหมบ้านครั้งเดียว ใครถูกไฟไหม้ก็คือหมดเนื้อหมดตัวนั่นเอง และยังอาจเสียชีวิตจากไฟคลอกด้วย จอมพลสฤษดิ์ใช้ความเฉียบขาดด้วย ม.17 กับพวกคดีวางเพลิง โดยถือเป็นเรื่องร้ายแรง ยกตัวอย่างกรณีไฟไหม้ 300 หลังคาเรือนที่สุพรรณบุรี จอมพลสฤษดิ์ขึ้น ฮ. ไปบัญชาการ และดำเนินการสอบสวนมือเพลิงด้วยตนเอง จากนั้น ใช้อำนาจ ม.17 สั่งประหารชีวิตมือเพลิง ณ จุดเกิดเหตุนั้นเลย ทำให้ผู้ร้ายเกิดความเกรงกลัว คดีวางเพลิง ไฟไหม้ ในยุคนั้นลดลงอย่างมาก ประชาชนก็ชอบใจ”

“แหม่ๆๆ ทำเป็นเรียลลิตี้โชว์เลยนะ” กระต่ายน้อยออกความเห็น

“แต่ในซอกมุมที่ประชาชนทั่วไปมองเข้าไปไม่ถึง กฎหมายข้อนี้ก็เป็นอันตรายแก่สุจริตชนอย่างใหญ่หลวง เพราะว่าจอมพลสฤษดิ์ใช้มาตรา 17 นี้อย่างไร้การตรวจสอบ และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ยกตัวอย่างเช่นกรณีวางเพลิง ใครจะรู้ล่ะว่ามือเพลิงนั้นเป็นมือเพลิงจริงหรือว่าเป็นแพะ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ ดังนั้นข้อดีก็มี คือคนร้ายกลัวเกรง แต่ข้อเสียก็มาก เพราะสุจริตชนอาจถูกให้ร้ายได้ 

“และตัวอย่างก็มีให้เห็นจริงๆ นั่นคือ มีประชาชน โดยเฉพาะพวกที่เป็นนักคิด  นักเขียน นักพูด ที่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤดิ์ พวกที่คิดต่างเห็นต่างเหล่านี้ถูกกำจัดออกไปจนหมด โดยถูกคุมขังแบบขังลืม ไม่ต้องมีเหตุผล เพียงบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์เท่านั้น แม้แต่พระที่คิดต่างเห็นต่างก็ยังถูกจับสึก มีปัญญาชนที่เห็นต่างถูกจับยิงเป้าที่ท้องสนามหลวงด้วยข้อหาภัยคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปกติ รัฐบาลยุคนั้นจึงถือว่าเป็นเผด็จการทหารอย่างสมบูรณ์แบบ และในยุคของจอมพลสฤษดิ์นี้เอง คือยุคที่ปัญญาชนผู้เห็นต่างถูกต้อนเข้ามุมอับ ถูกบีบคั้นจนอับจนสิ้นหนทาง และต้องเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ภาพอันเลวร้ายเหล่านี้ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยได้สังเกตนัก เพราะภาพที่ชาวบ้านสัมผัสได้คือการดำเนินชีวิตที่ราบรื่น อาชญากรรมลดลง คดีเพลิงไหม้ลดลง”

“อือม์ มันก็น่าคิดนะ ว่า ม.17 นี่แท้ที่จริงเป็นคุณหรือเป็นโทษกันแน่” ลิงจ๋อรำพึงกับตนเอง “มันเป็นกฎหมายที่อิงกับตัวบุคคลอย่างแรง หากได้ผู้ใช้กฎหมายเลวๆละก็แย่เลย”

“เรื่องราวยังไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ฟังลุงเล่าต่อ หลังจากที่จอมพลสฤษด์เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2506 หลังจากนั้นจอมพลถนอม ตอนนั้นเป็นยศจอมพลแล้ว ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นยาวเลย จนถึงปี พ.ศ. 2514 โน่นเลย หลังจากนั้นก็ทำการรัฐประหารตนเอง” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ

จอมพลถนอม กิติขจร

“หา รัฐประหารตนเองอีกแล้วเหรอ ทำกันเป็นแฟชั่นเลยหรือไง” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง

“ตอนที่จอมพลถนอมเป็นนายกในรอบสอง ก็มีการตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้ง ทีนี้ในการเลือกตั้งปี 2512 ส.ส. พรรคประชาไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองของจอมพลถนอมเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆจากจอมพลถนอม โดยอ้างคำสัญญาที่ให้ไว้แก่กัน เมื่อไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่ต้องการ บรรดา ส.ส. ก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในสภา จอมพลถนอมคุมสถานการณ์การเมืองไม่อยู่ จึงทำการรัฐประหารตนเองอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2514 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ยังคง ม.17 เอาไว้เป็นดาบอาญาสิทธิ์และตนเองยังเป็นนายกฯเช่นเดิม ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ไม่ต้องมีสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน คณะรัฐบาลในยุคนั้นจึงเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปแบบอีก และนี่เอง คือปฐมบทที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในลำดับต่อมา”

Friday, November 1, 2013

01/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 1 เหมาเข่งสุดซอย


เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือเหตุการณ์ที่ประชาชนกว่าห้าแสนคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารโดยการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลให้รัฐบาลใช้กำลังและอาวุธปราบปรามประชาชน มีผู้เสียชีวิตตามรายงาน 77 คน แต่ในความป็นจริงแล้วมีผู้หายสาบสูญไปเป็นจำนวนมาก

ภาพถ่ายจากมุมสูง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลเผด็จการทหารสั่งกำลังทหารให้ออกจากที่ตั้งและปราบปรามประชาชนผู้มีเพียงมือเปล่าหรืออย่างดีก็มีท่อนไม้ มีการใช้อาวุธปืนยิงกราดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ด้วย


เช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ลิงจ๋อพร้อมกับกระต่ายน้อยจอมซ่ามาหาลุงแมวน้ำที่โขดหินตั้งแต่เช้าตรู่

“ลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำ ตื่นเร้ว มัวแต่นอนอยู่นั่นแหละ” ลิงจ๋อส่งเสียงร้องเรียก

ลุงแมวน้ำโผล่ออกมาจากหลังโขดหินพร้อมกับทักทาย

“ลุงตื่นตั้งนานแล้ว ใครว่าลุงมัวแต่นอน ว่าแต่นายจ๋อมีอะไรเหรอ มาหาลุงแต่เช้าเชียว” ลุงแมวน้ำถาม

“พี่จ๋อเขาจะมาชวนลุงไปที่แยกอุรุพงษ์ฮะ” กระต่ายน้อยรีบตอบแทน ดวงตากระต่ายน้อยเป็นประกาย แสดงถึงความกระตือรือร้น

“จะไปทำไมล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“อ้าว ลุงไม่รู้หรอกเหรอว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยผ่านสภาผู้แทนเรียบร้อยแล้ว” ลิงจ๋อพูด

“ผ่านที่ไหนกัน เพิ่งจะวาระสองกันเมื่อคืน ต้องรอให้ผ่านวาระสามก่อนสิ” ลุงแมวน้ำตอบ

“ก็นี่แหละ ผ่านสภาผู้แทนทั้งสามวาระแล้วแปรญัตติวาระสองจบก็ลงมติวาระสามกันเมื่อตอนเช้ามืดนี้เอง อย่างด่วนเลยลุง” ลิงจ๋อเร่ง

“เดี๋ยวก่อนสิ ใจเย็นๆ ลุงยังมีงานสำคัญที่ทำค้างอยู่” ลุงแมวน้ำตอบ เพิ่งจะรู้เหมือนกันว่าร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านวาระสามแล้ว

“โอ๊ย ลุงนี่อิดออดจริง” ลิงจ๋อบ่น “เรื่องเขื่อนแม่วงก์ก็ทีหนึ่งแล้ว ชวนก็ไม่ไป ชักช้าเป็นแมวน้ำอยู่นั่นแหละ นี่ก็อีกแล้ว”

“อ้าว ก็เป็นแมวน้ำน่ะถูกแล้ว อีกอย่างก็แก่แล้วด้วย จะทำอะไรรวดเร็วเหมือนนายจ๋อได้ยังไง” ลุงแมวน้ำพูด

“ไม่กล้าไปก็บอกมาเถอะ ฮึ สงสัยลุงจะกลัวหมามุ่ยโปรยใส่ เราไปกันสองตัวก็ได้ จริงมั้ยกระต่ายน้อย” ลิงจ๋อดูแคลน แต่ลุงแมวน้ำรู้ดีว่าลิงจ๋อกำลังพูดเพื่อยุลุง

“จริงคร้าบ” กระต่ายน้อยรับคำ “รีบไปเร็วๆเข้า”

“กระต่ายน้อยนี่ก็แปลก ปกติกระต่ายมักขี้กลัว ขี้ตกใจ แต่รายนี้ดูกระตือรือร้นเสียจริง” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำ

“อ้าว เรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ขนาดขี้ตกใจอย่างกระต่ายน้อยยังพร้อมจะไปร่วมประท้วงเลย แล้วลุงจะอิดออดไปถึงไหน” ลิงจ๋อยุอีก

“ลุงไม่ได้อิดออด และไม่ได้ปฏิเสธ แต่ว่าลุงยังมีภาระค้างอยู่ ลุงเขียนบทความยังไม่เสร็จเลย การให้ความรู้แก่มวลชนก็เป็นการต่อสู้อย่างหนึ่งเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่ง การแสดงละครสัตว์ลุงก็ต้องรับผิดชอบ รับงานมาแล้วจะทำให้เสียหายได้อย่างไร” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้อ ลุงเขียนบทความอยู่เหรอ เรื่องอะไรล่ะครับ” ลิงจ๋อถาม

ลุงแมวน้ำไม่ได้ตอบคำถามนายจ๋อ แต่พูดต่อไป “อีกอย่างหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้ลุงถือว่าป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก เพราะนี่คือการทำรัฐประหารในรูปแบบใหม่ที่น่ากลัว เมื่อก่อนผู้ที่ทำรัฐประหารได้ต้องมีกำลังและอาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือรัฐประหารมักทำโดยทหารนั่นเอง แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นการทำรัฐประหารด้วยเงิน มีเงินมากๆก็ยึดประเทศได้ด้วยการใช้เงินซื้ออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ กำลังที่จะต่อต้านกับอธรรมครั้งนี้ยังไม่พอหรอก ลุงกำลังรอวีรบุรุษที่จะมาเป็นผู้นำในการต่อสู้ด้วยกับพวกเรา”

“วีรบุรุษคนไหนล่ะลุง ตอนนี้ผู้นำการประท้วงมีอยู่หลายคน ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน แกนนำพันธมิตร และอื่นๆอีกมากมาย” ลิงจ๋อถาม

ลุงแมวน้ำยังไม่ตอบคำถามอีก แต่พูดต่อไปว่า

“ลุงเคยผ่านเหตุการณ์พวกนี้มาแล้ว เมื่อ 40 ปีก่อน ตอน 14 ตุลาคม 2516 ลุงก็วิ่งฝ่าลูกกระสุนปืนอยู่ที่ท้องสนามหลวง ครบ 40 ปีพอดีเลย”

“ลุงแมวน้ำอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาด้วยเหรอ” ลิงจ๋อถาม “ไม่ยักรู้”

“ช่าย วันนั้นลุงอยู่ที่ท้องสนามหลวง จำได้แม่นยำเลยว่าลุงเดินอยู่แถวๆหน้าโรงละคอนแห่งชาติ มีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือหัว ทันใดนั้นก็มีเสียงปืนกลดังรัว มีการยิงปืนจาก ฮ. ลงมาข้างล่าง ฝูงชนหาที่กำบังกันใหญ่ พวกที่อยู่ในที่โล่ง เข้าที่กำบังไม่ทัน รวมทั้งลุง ก็ได้แต่หมอบราบกับพื้น ที่จริงหากยิงจาก ฮ. การหมอบราบกับพื้นคงไม่ช่วยอะไร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น” ลุงแมวน้ำพูด

“อู๊ว์ว์ว์ ตื่นเต้นจัง” กระต่ายน้อยทำหูตั้งชัน  “ว่าแต่เรื่อง 14 ตุลา นี่มันยังไงกันเหรอฮะลุงแมวน้ำ”

“นายจ๋อเล่าได้ไหมล่ะ สนใจการเมืองขนาดนี้” ลุงแมวน้ำถาม

“ผมเกิดไม่ทัน รู้นิดเดียวเองว่าเป็นวันที่ประชาชนลุกฮือขั้นขับไล่เผด็จการ” ลิงจ๋อตอบ

“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีความสำคัญกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ และที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตมาก” ลุงแมวน้ำตอบ

“มันสี่สิบปีมาแล้วนะลุง นานมากแล้ว จะสำคัญกับปัจจุบันมากขนาดที่ลุงว่าได้ยังไง” ลิงจ๋องง “อ้อ แล้ววีรบุรุษที่ลุงรอคอยคือใคร ยังไม่ได้บอกเลย”

“ถ้ายังงั้นนายจ๋อกับกระต่ายน้อยอย่าเพิ่งไปที่อุรุพงษ์เลย มาฟังลุงเล่านิทานก่อนดีกว่า เสร็จแล้วก็ค่อยไปกัน” ลุงแมวน้ำพูด

“โอ๊ย จะมาฟังนิทานอะไรกันตอนนี้ กำลังหน้าสิ่วหน้าขวาน” ลิงจ๋อโวย

“ต่ายน้อยอยากฟังฮะลุง เล่าเลย” กระต่ายน้อยกระดิกหางสั้นอย่างระรัว “ผมชอบฟังนิทาน”

“ฟังก่อนแล้วค่อยไป ยังไม่มีอะไรช้าเกินไปหรอก และถ้านายจ๋อเข้าใจเหตุการณ์ 14 ตุลา มากกว่านี้ ก็อาจมีส่วนช่วยกับการขับเคลื่อนในครั้งนี้ก็ได้ เพราะว่าหนุ่มสาวที่มีบทบาทปลดปล่อยประชาชนจากเผด็จการทหารในวันนั้นก็คือคนที่มีส่วนในปฏิบัติการยึดประเทศในวันนี้” ลุงแมวน้ำพูด

“ฮ้า ยังงั้นเหรอลุง” ลิงจ๋ออุทาน “เอา ยังงั้นก็เอา ฟังนิทานสักหน่อยก็ดีเหมือนกัน อยากรู้เสียแล้ว” ลิงจ๋อตกลงในที่สุด