Tuesday, July 2, 2013

02/07/2013 * แบบนี้ขึ้นหรือลงกันแน่ จะเชื่อกราฟไหนดี


ดัชนีเซ็ต อีกไม่นานน่าจะย่อ หากตลาดเป็นขาขึ้นเราจะเห็นรูปแบบดัชนีซิกแซกขึ้น โดยจุดต่ำสุดยกสูงขึ้น

สัปดาห์นี้ลุงแมวน้ำยังทำสรุปในรอบเดือนมิถุนายนไม่เสร็จเลย ไม่ค่อยมีเวลาป้อนข้อมูล ลุงแมวน้ำไม่ได้ขี้เกียจนะคร้าบ แต่ว่าพักผ่อนเยอะนิดนึง ^_^

เมื่อปลายเดือนที่แล้วตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ก็รีบบาวด์ขึ้นมา ตลาดหุ้นไทยกับอเมริกาก็ขึ้นด้วย หุ้นไทยขึ้นแรงติดต่อกันหลายวัน แม้ในวันนี้ ช่วงเช้าที่ลุงแมวน้ำจิ้มแป้นพิมพ์อยู่นี้ ตลาดหุ้นก็ขึ้นได้อีก 20 จุด

แต่ใจเย็นๆนะคร้าบ ไม่ต้องไล่ สัญญาณซื้อของ SET index ยังต้องรอไปอีก อีกประการ ขึ้นติดต่อกันหลายวันก็ต้องมีปรับลงมาบ้าง การย่อตัวของดัชนีเป็นเรื่องดี ทำให้เราเห็นรูปแบบทางเทคนิคได้ชัดขึ้นว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลง หากเป็นขาขึ้น รูปแบบการย่อตัวจะเป็นการซิกแซกขึ้น คือจุดต่ำสุดจะยกขึ้นสูงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นขาลง การย่อจะเกิดรูปแบบซิกแซกลง คือจุดสูงสุดต่ำลงเรื่อยๆ อีกประการ การย่อตัวทำให้ค่าความผันผวนลดลง เทรดแล้วไม่เหนื่อยมาก ดังนั้นการนั้นการย่อเป็นเรื่องดี

ดูอย่างตลาดหุ้นญี่ปุ่นสิ ขึ้นแรงมาก ม้วนเดียวขึ้นไปหลายพันจุด แบบนี้ตอนลงจะไม่ย่อแล้ว จะย่นลงมาเลย ก็ดังที่เห็นในช่วงเดือนที่แล้ว หากขึ้นแรงแบบม้วนเดียวนี่ไม่น่าเทรด เพราะว่าความผันผวนสูง เทรดแล้วเหนื่อย เพราะโอกาสขาดทุนสูง

ดังนั้นลุงแมวน้ำว่าหุ้นไทยไม่ต้องไล่หรอก ใจเย็นๆ หากตัวไหนสัญญาณซื้อมาก็ว่ากันไป แต่หากสัญญาณซื้อยังไม่มา ก็ไม่จำเป็นต้องใจร้อน


รูปแบบกราฟราคายางพาราสองตลาดแตกต่างกัน แนวโน้มระยะสั้นไปตรงข้ามกันเลย ทั้งที่เป็นยางผลิตภัณฑ์เดียวกัน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินเยน-บาท อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก

รูปที่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูในวันนี้เป็นยางพารา รูปบนกราฟของราคายางโตคอมหรือยางพาราตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเทรดกันเป็นเงินเยน

ส่วนรูปล่างเป็นกราฟของราคายางพาราตลาดไทย ซึ่งเทรดกันเป็นเงินบาท

ทั้งสองรูปนี้ลุงจับภาพมาในช่วงเวลาเดียวกัน สามารถดูเทียบกันได้ อีกทั้งยางพาราของสองตลาดนี้เป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน แต่จะสังเกตเห็นว่ารูปแบบของกราฟตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมามีรูปทรงกราฟที่ไม่ค่อยเหมือนกันนัก ยางเดียวกันแต่ทำไมกราฟราคาจึงไม่ล้อตามกัน แต่แตกต่างกันได้ขนาดนี้

คำตอบก็คือปัจจัยของค่าเงินหรือว่าอัตราแลกเปลี่ยนนั่นเอง เพราะว่าช่วงนี้ทั้งเงินบาทและเงินเยนผันผวน โดยเฉพาะเงินเยนผันผวนหนัก

ลองมาดูกราฟยางโตคอมกันก่อน จะเห็นว่าในช่วงเดือนมิถุนายน กราฟราคายางโตคอมเป็นขาลงเห็นได้ชัด ส่วนยางตลาดไทย ราคายางพาราในช่วงกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา กลับก่อตัวเป็นรูปแบบขาขึ้น เพราะมีการซิกแซกที่จุดต่ำสุดยกสูงขึ้น

กรณีแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก นานๆจะเห็นความแตกต่างเยอะๆแบบนี้สักที ส่วนรูปแบบราคาทองคำโคเม็กซ์กับทองไทยนั้นต่างกันบ้างแต่ไม่มาก เพราะว่าความผันผวนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์ สรอ ไม่รุนแรง เท่ากับคู่เยน/บาท

รูปแบบนี้หาดูได้ยาก นานๆจะเห็นสักที แต่ก็เทรดยากด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อกราฟไหน ตามกราฟยางญี่ปุ่นดีหรือกราฟยางไทยดี

ในความเห็นของลุงแมวน้ำ กรณีนี้ควรดูยางโตคอมเป็นหลัก เพราะว่าราคายางไทยตามยางตลาดญี่ปุ่น ไม่ใช่ญี่ปุ่นตามไทย ดังนั้นควรดูราคาโตคอมเป็นหลักในช่วงที่ค่าเงินผันผวนมาก แต่หากค่าเงินนิ่งๆแล้วก็ดูกราฟยางไทยได้ ไม่มีปัญหาอะไร


รูปแบบกราฟราคาฟิวเจอร์สทองคำตลาดอเมริกา กับฟิวเจอร์สทองคำไทย แม้ว่าทองคำสองตลาดนี้เป็นคนละผลิตภัณฑ์กัน เพราะว่าเนื้อทองไม่เท่ากัน แต่ว่ารูปแบบราคาล้อกันไป ไม่แตกต่างกันนัก ทั้งนี้เพราะอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ สรอ บาท ไม่ผันผวนมากนัก


และสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ กราฟยางไทยนั้นแม้ว่าตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. เป็นต้นมาจะซิกแซกขึ้น อันเป็นรูปแบบขาขึ้น แต่ถ้าเราดูในภาพที่ใหญ่ขึ้น จะเห็นว่าส่วนย่อยที่เรามองว่าเป็นขาขึ้นนั้นอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมชายธงอีกทีหนึ่ง ดังนั้นต้องระวังเอาไว้ ราคายางญี่ปุ่นยังเป็นขาลงอยู่ ส่วนยางไทยก็เข้าสู่ปลายสามเหลี่ยมชายธง ยังไม่ใช่ขาขึ้นจริงๆ ดังนั้นต้องระวังคร้าบ






Sunday, June 30, 2013

30/06/2013 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ บำรุงผิวพรรณ ผ่องใส ลดริ้วรอย ด้วยโยเกิร์ตนมถั่วเหลือง (เจ/มังสวิรัติ) (2)


วันนี้วันหยุด เรามาคุยเรื่องครีมบำรุงผิวกันต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ลุงแมวน้ำก็คุยโน่นคุยนี่ไปเรื่อยๆ แวะไปโน่นบ้าง แวะไปนี่บ้าง วันพักผ่อนก็คุยกันสบายๆ อย่าว่ากัน

ก่อนที่เราจะไปทำครีมโยเกิร์ตบำรุงผิวพรรณ ลุงแมวน้ำจะชวนพวกเราแวะไปดูเรื่องผิวหนังกันก่อน ให้เข้าใจโครงสร้างของผิวหนังกันสักเล็กน้อย จะได้เข้าใจว่าขอบเขตจำกัดของสกินแคร์นั้นบำรุงผิวพรรณได้มากน้อยเพียงใด จะได้รู้เท่าทันโฆษณาด้วย


โครงสร้างของผิวหนัง

เรามาดูภาพกันไป อธิบายกันไป จะได้เข้าใจง่ายและไม่เบื่อ เรามาดูโครงสร้างของผิวหนังกันก่อน ดังภาพนี้


โครงสร้างของผิวหนัง ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ชั้นหนิงแท้หรือว่าเดอร์มิส (dermis) และชั้นหนังกำพร้าหรือว่าเอพิเดอร์มิส (epidermis) 


โครงสร้างของผิวหนังประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ชั้นหนังแท้ หรือผิวหนังชั้นใน (dermis) และชั้นหนังกำพร้า หรือผิวหนังชั้นนอก (epidermis)

ผิวหนังชั้นในหรือว่าหนังแท้นั้นประกอบด้วยเซลล์ผิวหนังหลายชนิด เช่น ต่อมเหงื่อ รากของเส้นขน ต่อมไขมัน รวมทั้งเป็นที่อยู่ของเส้นใยโปรตีนที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั่นคือ คอลลาเจน (collagen) และ อิลาสติน (elastin) ซึ่งคอลลาเส้นและอิลาสตินนั้นเป็นเนื้อเยื่อที่สร้างความยืดหยุ่นให้แก่ผิวหนังของเรานั่นเอง

นอกจากนี้ ในชั้นหนังแท้นี้ยังมีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงอีกด้วย

ผัวหนังชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้า ชื่อก็บอกแล้วว่าอยู่ชั้นนอก คือเป็นผิวที่คลุมอยู่นอกสุดของร่างกาย และเป็นผิวหนังส่วนที่สัมผัสกับโลกภายนอกนั่นเอง

ผิวหนังชั้นนอกนี้ไม่มีเส้นเลือดและไม่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง ประกอบด้วยโครงสร้างย่อยหรือว่าแบ่งเป็นชั้นย่อยได้อีกหลายชั้น เซลล์เม็ดสี (melanocyte) ที่เป็นตัวสร้างเม็ดสี (melanin) เพื่อแสดงสีผิวก็อยู่ในชั้นนี้

ที่ผิวหนังชั้นนอกนี้เองที่เป็นชั้นที่ก่อให้เกิดกระบวนการผลัดเซลล์ผิว (skin turnover) ขึ้น

ส่วนที่ลุงแมวน้ำอยากให้สังเกตเอาไว้ก่อนก็คือ ชั้นสตราตัมคอร์เนียม (stratum corneum) หรือบางทีก็เรียกว่าชั้นฮอร์นีเลเยอร์ (horny layer) จำชั้นนี้เอาไว้ก่อน แล้วเรามาคุยกันต่อในหัวข้อถัดไป


การผลัดเซลล์ผิวหนังเกิดขึ้นได้อย่างไร

การผลัดเซลล์ผิวนั้นเกิดขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้า ลองดูภาพต่อไปนี้

กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเกิดขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้า โดยเบซาลเซลล์ (basal cell) จะแบ่งตัวเกิดเซลล์ใหม่อยู่เรื่อยๆ ส่วนเซลล์เก่าก็จะถูกดันให้เลื่อนขึ้นสู่ด้านบนไปตามลำดับ


จากภาพ เซลล์ที่อยู่ชั้นล่างสุดของชั้นหนังกำพร้าก็คือเบซาลเซลล์ (basal cell) เบซาลเซลล์นี้จะแบ่งตัวและผลิตเซลล์ใหม่อยู่เรื่อยๆ เมื่อมีเซลล์ใหม่ผลิตออกมา เซลล์เก่าที่อยู่ข้างบนก็จะถูกดันให้เลื่อนขึ้นชั้นบนไปเรื่อยๆ

ในขณะที่เซลล์ถูกดันขยับเลื่อนขึ้นไป เซลล์เหล่านี้ก็จะสะสมสารเคอราติน (keratin) ไว้ในเซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเซลล์รุ่นเก่าถูกดันขึ้นมาจนถึงชั้นบนสุดที่เรียกว่าชั้นสตราตัมคอร์เนียม (stratum corneum) เซลล์ก็จะหมดอายุและตาย พร้อมกับสารเคอราตินที่สะสมเอาไว้จนเต็มที่ ดังนั้นที่ชั้นบนสุดนี้จึงเป็นแหล่งรวมของเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่ตายแล้ว พร้อมจะหลุดลอกออกไป พร้อมกันนั้นก็สะสมเคอราตินเอาไว้มากซึ่งทำให้เซลล์มีความแข็งกว่าเซลล์ทั่วไป ธรรมชาติได้ออกแบบให้เซลล์หนังกำพร้าชั้นย่อยที่อยู่นอกสุดของร่างกายนี้มีความแข็งกว่าปกติ ก็เพื่อปกป้องผิวชั้นอื่นๆนั่นเอง

แถมอีกนิดหนึ่งว่า เล็บมือ เล็บเท้า เขาสัตว์ ก็เป็นเซลล์ที่ประกอบด้วยเคอราตินชนิดหนึ่งเหมือนกัน จึงทำให้เล็บและเขาสัตว์มีความแข็ง แต่เป็นเคอราตินชนิดย่อยคนละชนิดกับที่คลุมผิวหนัง จึงมีความแข็งแตกต่างกัน

และเนื่องจากเซลล์ในชั้นสตราตัมคอร์เนียม มีความแข็งกระด้างกว่าเซลล์ที่อยู่ชั้นล่างๆ เนื่องจากมีสารเคอราตินสะสมอยู่มาก ดังนั้น บางทีเราก็เรียกชั้นสตราตัมคอร์เนียมว่าชั้นฮอร์นีเลเยอร์ โดยคำว่า horny layer นั้น horny ก็มาจาก horn (เขาสัตว์) นั่นเอง ส่วนภาษาไทยนั้นเราเรียกว่าชั้นขี้ไคล 

ในกระบวนการผลัดเซลล์ผิวนั้น จากเซลล์เกิดใหม่ที่เบซาลเซลล์ผลิตออกมา เซลล์จะค่อยๆแก่ตัวลงพร้อมกับถูกดันขึ้นไปข้างบน จนถึงชั้นขี้ไคล กระบวนการนี้ในเด็กและคนหนุ่มสาวกินเวลาประมาณ 14 วัน จากนั้นเซลล์ที่ตายแล้วจะค่อยๆหลุดลอกออกไป (คือขี้ไคลค่อยๆลอกออกไปนั่นเอง) กินเวลาอีกประมาณ 14 วัน รวมแล้วชั้นหนังกำพร้ามีการผลัดเซลล์ผิวรอบหนึ่งๆกินเวลาประมาณ 28 วัน เท่ากับหนึ่งเดือนทางจันทรคติพอดี คิดง่ายๆว่า 1 เดือนก็แล้วกัน

ซึ่งอัตราการผลัดเซลล์ผิวนี้ หากเป็นวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ กระบวนการผลัดรอบหนึ่งจะกินเวลานานกว่านี้ คือประมาณ 45-50 วันหรือหนึ่งเดือนครึ่ง ดังนั้น ในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ ชั้นขี้ไคลหรือว่าเซลล์ในชั้นสตราตัมคอร์เนียมจะสะสมตัวหนากว่าในวัยหนุ่มสาว เนื่องจากกระบวนการผลัดเซลล์เกิดช้าลงตามวัยนั่นเอง


เซลล์ผิวหนังจริงที่นำมาย้อมสีและดูภาคตัดขวางด้วยกล้องจุลทรรศน์ แสดงให้เห็นชั้นหนังแท้ หนังกำพร้า และชั้นขี้ไคล (stratum corneum) ซึ่งเป็นชั้นย่อยอยู่บนสุดของชั้นหนังกำพร้า

ภาพถ่ายแสดงภาคตัดขวางของเซลล์ผิวหนังในวัยหนุ่มสาวกับวัยผู้ใหญ่ ชั้นบนสุด (หมายเลข 1) คือชั้นขี้ไคล สังเกตว่าชั้นขี้ไคลของวัยหนุ่มสาวบางกว่าในวัยผู้ใหญ่




ผลัดเซลล์ผิวแล้วไง ก็แปลว่าผิวกระจ่างใสต้องรอ 1 เดือน

เมื่ออ่านถึงตอนนี้ หลายคนอาจงงว่า จะพูดเรื่องผลัดเซลล์ผิวไปทำไม ก็แค่กระบวนการที่ขี้ไคลหลุดออกออกจากผิวหนัง แสนจะธรรมดา จะอธิบายอะไรให้มากมาย

ลุงแมวน้ำอยากจะบอกว่า ก็กระบวนการขัดขี้ไคลหรือชั้นขี้ไคลหลุดลอกนี่แหละ ที่มีส่วนช่วยให้ผิวดูขาวผ่องขึ้น รวมทั้งผิวที่เต่งตึงขึ้น มีริ้วรอยลดน้อยลง ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการขัดขี้ไคลนี้ส่วนหนึ่ง 

เรามาดูเรื่องประเด็นผิวขาวกระจ่างใสกันก่อน

ยังจำได้ไหมที่ลุงแมวน้ำพูดในย่อหน้าข้างบนว่าในชั้นหนังกำพร้านั้นมีเมลาโนไซต์ (melanocyte) หรือเซลล์สร้างเม็ดสีอยู่ ซึ่งเซลล์สร้างเม็ดสีนี้จะสร้างเม็ดสี (melanin) พูดง่ายๆก็คือ การเกิดสีผิวนั้นเกิดขึ้นในชั้นหนังกำพร้านั่นเอง

การทำให้ผิวขาวขึ้นนั้น หลักการสำคัญก็คือการเอาสารอะไรทาลงไปที่ผิวหนัง แล้วสารนั้นไปยับยั้งการสร้างเม็ดสี ให้สร้างได้น้อยลง เมื่อเม็ดสีมีน้อยลง ผิวก็จะขาวขึ้น เม็ดสีน้อยลงนิดหน่อย ผิวก็ดูผ่องๆ ยิ่งกดการสร้างเม็ดสีได้มากเท่าใด ผิวก็ขาวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าในระดับสกินแคร์ (skincare) นั้นสารที่ใช้ลดการสร้างเม็ดสีได้นิดหน่อยเท่านั้น (หากต้องการลดการสร้างเม็ดสีลงมากๆ ต้องใช้ในระดับที่เป็นยา ซึ่งเราจะไม่ไปถึงประเด็นนั้น)

เมื่อเซลล์สร้างเม็ดสีออกมาแล้ว เม็ดสีก็จะอยู่ในผิวอย่างนั้นแหละ สกินแคร์ที่ทาลงไปจะไปลดการสร้างเม็ดสีในรุ่นต่อไป อะไรที่มีอยู่แล้วก็จะไม่ลดลง

นั่นก็แปลว่า ผลของสกินแคร์ที่ทำให้ผิวผ่องขึ้นนั้น ต้องรอให้ผลัดเซลล์ผิวรุ่นเก่าออกไปแล้วก่อน จึงจะเห็นผลในงานในเซลล์รุ่นใหม่ ดังนั้นก็คิดง่ายๆว่ากว่าจะเห็นผลผิวขาวผ่องขึ้น มักต้องรออย่างน้อย 1 เดือน เพราะว่าต้องรอผลัดเซลล์ผิวไปรอบหนึ่งก่อน

และก็แปลว่า หากมีอะไรที่เห็นผลเร็วกว่านั้น เช่น ใน 3 วัน 7 วัน ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคอื่น นั่นคือ ใช้สารที่มีคุณสมบัติทางแสงช่วยพรางสีผิว ซึ่งก็เหมือนการโปะแป้งพรางสีผิวนั่นเอง แต่สารที่ใช้นี้ไม่ใช่แป้งธรรมดา แต่เป็นสารเคลือบผิวที่มีขนาดเล็กละเอียด เวลาใช้จึงดูเป็นธรรมชาติ เหมือนกับเป็นสีผิวจริง แต่ล้างออกได้ อาบน้ำไปก็กลับมาสีตกเหมือนเดิม ^_^

วันนี้ลุงเมื่อยครีบแล้ว ยังไม่จบจนได้ ^_^

สัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันว่าการผลัดเซลล์ผิวนั้นช่วยลดริ้วรอยให้จางลงได้หรือไม่ และถ้าได้ ลดได้อย่างไร รอหน่อยนะคร้าบ