ลุงแมวน้ำคิดจะเขียนเรื่องพิษของการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือว่ามาตรการ QE ที่เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อคืนพันธบัตรและตราสาร MBS ของสหรัฐอเมริกา
ทวนกันสั้นๆนิดหน่อย ตอนนี้สหรัฐอเมริกากำลังใช้มาตรการ QE3 อยู่ คือเป็นการอัดฉีดเงินหรือการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 ซึ่งมาตรการ QE3 นี้อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อตราสารหนี้ที่อิงกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือที่เรียกว่า mortgage backed security ด้วยวงเงินเดือนละ 40,000 ล้านดอลลาร์ สรอ กับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในโครงการที่ต่อเนื่องมาจากโครงการ operation twist โดยซื้อพันธบัตรอีกเดือนละ 45,000 ล้านดอลลาร์ สรอ ซึ่งบางคนก็เรียกว่าเป็น QE4 หรือบางคนก็เรียกรวมๆกันไปว่า QE3
นอกจากนี้ ทางกลุ่มยูโร โดยธนาคารแห่งยุโรปหรือ ECB ก็มีโครงการช่วยซื้อพันธบัตรเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ประเทศในกลุ่มที่มีปัญหา ก็ถือว่าเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเช่นกัน โดยเนื้อหาก็คือเป็น QE กลายๆนั่นเอง เพียงแต่ว่าเงินที่ใช้ไม่ได้เป็นปริมาณมหาศาลและต่อเนื่องอย่างอเมริกา ส่วนอังกฤษก็มีการอัดฉีดสภาพคล่องเช่นกัน เพียงแต่ว่าปริมาณเงินไม่มาก และทำเป็นครั้งคราว
ยังมีอีก ทางญี่ปุ่น ก็ออก QE มาเช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรีอาเบะ ประกาศกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พ้นจากหล่มด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือการอัดฉีดสภาพคล่องปริมาณมหาศาลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง แทบจะเรียกได้ว่าไม่อั้นคล้ายๆกับอเมริกาทีเดียว
ดังนั้นเท่ากับว่ากลุ่มชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างก็มีการอัดฉีดเงิน ซึ่งแน่นอน การอัดฉีดเงินก็ต้องใช้เงิน เมื่อเงินไม่พอก็ต้องยืมเอาเงินในอนาคตมาใช้ หรือที่เรียกว่าการพิมพ์เงินเพิ่มนั่นเอง ซึ่งเงินที่พิมพ์เพิ่มเหล่านี้ต่อไปก็จะกลายเป็นหนี้สาธารณะ หากใช้แล้วได้ผลก็ดีไป แต่หากใช้แล้วไม่ได้ผล ก็เท่ากับว่าก่อหนี้ให้แก่ลูกหลาน
ประเด็นที่สำคัญในตอนนี้ก็คือ หลังจากที่ลุงเบน ประธานเฟด ใช้มาตรการ QE3 และ QE4 ทุ่มเงินแบบไม่อั้นจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อก่อนทุกคนก็เฮฮากับสภาพคล่องที่ท่วมระบบเศรษฐกิจโลก ตลาดพันธบัตรในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นเพราะเงินท่วมโลก นักลงทุนจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนล่ะ ส่วนใหญ่ก็เอาไปลงไว้ที่ตลาดพันธบัตร อีกส่วนก็ไปลงที่ตลาดหุ้น
มาจนถึงทุกวันนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว อย่างเช่นราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลง ฯลฯ ทุกคนก็เริ่มกังวลกันแล้วว่าเฟด หรือว่าลุงเบนนั้นจะเอาอย่างไรกับ QE จะยุติเมื่อไรและอย่างไร แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ลุงเบนเองพูดจาแบบคลุมเครือมาตลอด ไม่เคยให้ความกระจ่างเสียที คนในเฟดเองก็ออกมาให้ความเห็นเป็นครั้งคราว ซึ่งคนในเฟดเองที่ไม่เห็นด้วยกับ QE ก็มี
ดังนั้นภาพล่าสุดที่ปรากฏออกมาก็คือ นักลงทุนส่วนใหญ่กังวลกันว่าเฟดจะยุติโครงการ QE ภายในปีนี้ หรืออย่างน้อยก็เริ่มชะลอการซื้อพันธบัตรลง คือลดวงเงินที่จะใช้ในแต่ละเดือนลง ประกับกับลุงเบนเองก็ยังอึมครึมอยู่เช่นเดิม ดังนั้นส่วนใหญ่จึงคิดกันว่าเรื่องการชะลอหรือยุติโครงการคิวอีในเร็วๆนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ผลของการชะลอหรือยุติคิวอีจะเกิดกับตลาดพันธบัตรก่อน เพราะว่าคิวอีนั้นอัดฉีดเงินด้วยการซื้อพันธบัตรและตราสารต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา พันธบัตรมีราคาดีเพราะเจ้ามือใหญ่คือลุงเบนตั้งโต๊ะรับซื้ออย่างไม่อั้นอยู่ คิดเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นก็ได้ หากมีใครมาตั้งโต๊ะซื้อหุ้นแบบไม่อั้นทุกเดือนๆ ตลาดหุ้นก็ต้องขึ้น ก็เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตร
ทีนี้สมมติต่อไป หากเรารู้ว่าเจ้ามือจะหยุดซื้อหุ้นในเวลาอีกไม่นาน แล้วเราจะทำอย่างไร ก็ถ้าเจ้ามือไม่ซื้อหุ้น ราคาหุ้นก็อาจตก อย่ากระนั้นเลย ชิงขายก่อนดีกว่า
ฉันใดก็ฉันนั้น นักลงทุนที่เกรงว่าลุงเบนจะหยุดรับซื้อพันธบัตรก็คิดแบบนี้เช่นเดียวกัน
เรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดพันธบัตรบ้าง
|
ราคาพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี และ 30 ปี ในช่วงโครงการ QE2 และ operation twist |
ภาพบนเป็นราคาพันธมัตรรัฐบาลอเมริกัน ราคานะคร้าบ ไม่ใช่อัตราผลตอบแทน ราคาพันธบัตรก็ดูแบบราคาหุ้นนั่นแหละ จะเห็นว่าตลอดช่วงโครงการ QE 2 ต่อด้วยโครงการซื้อพันธบัตร operation twist พันธบัตรราคาดี
ลุงแมวน้ำพยายามทำกราฟให้เป็นราคาพันธบัตร จะได้ดูเข้าใจง่ายเพราะว่าดูแบบหุ้น แต่หากว่าทำกราฟเป็นกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรละก็ จะดูคนละแบบกัน ซึ่งถ้าไม่คุ้นอาจงงหรือเข้าใจยาก
|
ราคาพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี และ 30 ปี ในช่วงโครงการ QE3 เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นของอเมริกา |
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงโครงการ QE3 และภาคขยายของ operation twist คือตั้งแต่กันยายน 2012 เป็นต้นมา แม้ว่าเฟดจะทุ่มซื้อพันธบัตรทุกเดือน แต่ตลาดพันธบัตรกลับเป็นแนวโน้มขาลง ซึ่งแนวโน้มนี้เป็นการค่อยๆลง คือมีเด้งขึ้นสลับกับเด้งลง แต่หากตีเส้นแนวโน้มแล้วก็จะเห็นว่าเป็นแนวโน้มขาลง
และที่น่าสังเกตก็คือ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2013 เป็นต้นมา ราคาพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันไหลลงอย่างรวดเร็ว
|
ราคาพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี ราคาไหลลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือน พฤษภาคม 2013 เช่นกัน |
|
ราคาพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ราคาเริ่มไหลลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2013 เช่นกัน |
สองภาพบนนี้เป็นกราฟราคาพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี กับอังกฤษ ตามลำดับ จะเห็นว่าราคาพันธบัตรเริ่มไกลลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2013 เช่นกัน
|
ราคาพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ราคาเริ่มไหลลงตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2013 และมาลงแรงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2013 |
ทางด้านพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น เรื่องพันธบัตรญี่ปุ่นค่อนข้างซับซ้อนหน่อย สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ราคาพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว พอคุณอาเบะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อราวๆต้นเดือนเมษายน 2013 ก็ประกาศอัดฉีดเงินครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือโครงการคิวอีฉบับซามูไรนั่นแหละ การอัดฉีดเงินเข้าไปในตลาดก็ทำโดยการซื้อพันธบัตรจากตลาด
แต่แทนที่โครงการคิวอีของญี่ปุ่นจะแทนที่จะทำให้พันธบัตรราคาดียิ่งขึ้น กลับตรงกันข้าม ชาวญี่ปุ่นกลับเทขายพันธบัตรออกมา ทำให้ราคาพันธบัตรร่วงลง (แปลว่าอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น) ซึ่งก็อธิบายเหตุผลได้ยากเหมือนกันว่าเกิดจากอะไร แต่ผลก็คือ เนื่องจากพันธบัตรญี่ปุ่นนั้นคนญี่ปุ่นและสถาบันถือครองกันเป็นจำนวนมาก เมื่อราคาพันธบัตรลดลง ก็เหมือนกับว่าธนาคารมีสินทรัพย์ลดลง ซึ่งส่งผลต่อฐานะการเงินของธนาคาร รวมทั้งการกันสำรองหนี้ด้วย ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2013 มีแรงขายพันธบัตรญี่ปุ่นออกมาอย่างรุนแรง เมื่อตลาดพันธบัตรวุ่นวาย เพราะกลัวกันว่าอาจถึงขั้นอาจมีธนาคารเจ๊งเนื่องจากฐานะการเงินเสียหาย ผลกระทบก็ลามไปที่ตลาดหุ้นด้วย ดังนั้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นของญี่ปุ่นก็เริ่มร่วงอย่างรุนแรง จนธนาคารกลางของญี่ปุ่นต้องแทรกแซงด้วยการทุ่มเงินพยุงราคาพันธบัตรเอาไว้ แต่ก็อาจได้ผลเพียงชั่วคราว เพราะตอนนี้แนวโน้มตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นของญี่ปุ่นก็ลงอีกแล้ว
จากนั้นก็มาดูตลาดพันธบัตรของไทยบ้าง ดังภาพต่อไปนี้
|
ราคาพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 7-10 ปี |
จะเห็นว่าราคาพันธบัตรรัฐบาลไทยเริ่มปรับตัวลงตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2013 ราคาไหลลงค่อนข้างเร็วทีเดียว เงินส่วนหนึ่งก็ไหลออกจากประเทศไป ผลจากการขายพันธบัตรของต่างชาติ และการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นด้วย
ยังไม่หมด มาดูราคาหน่วยลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรกันบ้าง
|
แนวโน้มราคาหน่วยลงทุนของกองทุน AEOB (Aberdeen Emerging Oportunity Bond fund) ที่ลงทุนในพันธบัตรอายุยาวของตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชีย แนวโน้มไหลลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภมคม 2013 |
|
ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนเทมเพิลตันโกลเบิลบอนด์ (TMB Templeton Globle Bond fund) ที่ลงทุนในพันธบัตรอายุสั้นในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในย่านเอเชีย แนวโน้มขาลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม |
|
ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนพิมโก โทเทิลรีเทิร์นบอนด์ (Krungsri PIMCO Total Return Bond fund) ที่ลงทุนในพันธบัตรอเมริกัน แนวโน้มขาลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม |
จะเห็นว่าตลาดพันธบัตรเริ่มลงแรงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แม้ว่าลุงเบนจะไม่พูดอะไรชัดเจนเกี่ยวกับการชะลอหรือยุติโครงการ QE3 แต่ว่าตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวลงเพื่อรับสถานการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว
และจะเห็นได้ว่า หากตลาดพันธบัตรค่อยๆอ่อนตัวลง จะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น เพราะว่าเงินทุนบางส่วนจะย้ายมาลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากตลาดพันธบัตรทั้งโลกมีขนาดใหญ่มาก แค่เงินลงทุนบางส่วนไหลเข้าตลาดหุ้นก็ทำให้ตลาดหุ้นคึกคักได้
แต่ในทางตรงกันข้าม หากเฟดทำอะไรแบบรุนแรงหรือฉับพลัน ตลาดพันธบัตรก็คงดิ่งนรก และหาเนื่องจากตลาดพันธบัตรมีขนาดใหญ่มาก หากตลาดพันธบัตรลงอย่างรวดเร็ว ผู้เสียหายจะมีเยอะมาก ทั้งธนาคาร เอกชน และรายย่อย เนื่องจากขาดทุนจากราคาพันธบัตร หากรับการขาดทุนไม่ไหวก็ต้องขายพันธบัตรทิ้ง หรือต้องขายสินทรัพย์อย่างอื่นมาเพื่ออุดราคาพันธบัตร ซึ่งนั่นก็จะทำให้ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบลามไปด้วย คงตลาดแตกตามตลาดพันธบัตรไป
นอกเหนือจากภาคตลาดทุนที่ได้รับผลกระทบแล้ว ในภาคเศรษฐกิจจริงก็จะได้รับผลกระทบจากตลาดพันธบัตรที่ร่วงแรงด้วย กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ฯลฯ ก็จะขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ที่ผ่อนบ้านอยู่ก็จะมีภาระมากขึ้น ส่วนผู้ที่จะกู้ใหม่ก็อาจไม่มีกำลังพอ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งฟื้นขึ้นจากหลุมก็อาจกลับลงหลุมไปอีก
ดังนั้นจะเห็นว่าเฟดหรือว่าลุงเบนตอนนี้มีสภาพเหมือนขี้อยู่บนหลังเสือ เสือเสพติดคิวอีอย่างงอมแงม อย่าว่าแต่จะเลิกจริงๆเลย แค่บอกว่าจะเลิกก็แย่แล้ว
และหากเฟดจะยุติคิวอีจริง ต้องมีขั้นตอนที่นุ่มนวลมาก ไม่อย่างนั้นผลก็คงเป็นดังที่เห็นในไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ นี่แค่เป็นหนังตัวอย่าง แค่กังวล ยังไม่เลิกจริง ยังขนาดนี้ ซึ่งลุงเบนเองก็คงเห็นและนำไปขบคิดหาทางออกเช่นกัน
ท้ายที่สุดนี้ แน่นอน ผลของคิวอี ไม่ได้กระทบแต่ตลาดหุ้น แต่ยังกระทบตลาดเงินด้วย อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนจนเวียนหัว ตอนนี้ราคาดอลลาร์ สรอ ตก แต่อย่าย่ามใจว่าดอลลาร์ สรอ อ่อน ทองคำจะต้องขึ้น เพราะว่าตอนนี้ตลาดพันธบัตรไหลลงเร็ว ใครขาดทุนพันธบัตรหนักๆก็ต้องขายหุ้น ขายทอง เอาเงินสดมาใช้ก่อน
|
เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่างๆและทองคำ |
|
ราคาพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี และ 30 ปี ในช่วงโครงการ QE3 เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นของอเมริกา |
ดูภาพนี้กันอีกครั้ง เป็นภาพราคาหุ้นกับราคาพันธบัตรของอเมริกา จะเห็นว่าตลาดพันธบัตรเป็นแนวโน้มขาลง ผู้ที่ถือพันธบัตรหรือกองทุนพันธบัตรควรติดตามสถานการณ์และทบทวนการลงทุน
ส่วนตลาดหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น ที่จริงตอนนี้ตลาดหุ้นฝั่งอเมริกายังไม่มีอะไรเสียหาย ที่ลงแรงคือตลาดหุ้นย่านเอเชีย ซึ่งรูปแบบทางเทคนิคเริ่มเสียหายบ้างแล้ว แต่แนวโน้มใหญ่ยังไม่เสีย ซึ่งลุงแมวน้ำก็ยังมองว่า หากตลาดหุ้นอเมริกายังไม่ถูกถล่มขาย จนรูปแบบทางเทคนิคเสียหาย คือแนวโน้มใหญ่เปลี่ยน ตลาดหุ้นเอเชียก็ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ และแนวโน้มใหญ่ก็ยังไม่น่าเปลี่ยนเช่นกัน
แต่ถ้าตลาดหุ้นอเมริกาตกใจและถูกถล่มขายด้วย ตลาดเอเชียคงลงยาว ซึ่งหากเป็นไปตามกรณีนี้ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่าจะเกิดรูปแบบทางเทคนิคอย่างไร เอาไว้เกิดแล้วค่อยว่ากัน
แต่ที่น่ากลัวก็คือ ตอนนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่เป็นคลื่น 5 หรือคลื่นขยายส่วนของคลื่น 5 เมื่อไรที่จบคลื่นใหญ่นี้ละก็ ถึงตอนนั้นแหละขาลงใหญ่ของจริง รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจจริงก็คงถดถอยด้วย ลุงแมวน้ำว่าอย่างไรก็ต้องเกิด เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ จะเกิดเมื่อไร ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง