Tuesday, November 13, 2012
13/11/2012 สรุปภาวะการลงทุนรอบสัปดาห์ (05/11/2012 - 09/11/2012) * โลหะมีค่าและน้ำมันดิบรีบาวด์
วันนี้ลุงแมวน้ำมีรายงานทั้งสรุปประจำสัปดาห์และประจำวัน เรามาดูสรุปประจำสัปดาห์กันก่อน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (05/11/2012 - 09/11/2012) ตลาดหุ้นปรับตัวลง ดัชนี Dow Jones Global Index (W1DOW) ปรับตัวลง -2.10% กลุ่มที่ฉุดตลาดเป็นกลุ่มยุโรป กรีซยังไม่ได้รับเงินกู้งวดต่อไป จึงเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้อีก สถานการณ์ในประเทศกรีซก็คุกรุ่น ประท้วงรัฐบาลกันวุ่นวาย แต่ดัชนีตลาดหุ้นของกรีซกลับทรงตัว ที่ลงหนักเป็นอิตาลีกับสเปน ตอนนี้ที่อิตาลีกำลังเผชิญภัยธรรมชาติ ฝนตกน้ำท่วม เมืองเวนิสจมบาดาล มองไม่เห็นถนนหรือคูคลอง เห็นแต่ผืนน้ำเต็มไปหมด
กลุ่มที่ฉุดตลาดกลุ่มถัดมาคือสหรัฐอเมริกานั่นเอง เรื่องหน้าผาการคลัง (fiscal cliff) ที่มาตรการช่วยเหลือและลดหย่อนภาษีต่างๆ จะสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะว่าฝ่ายบริหารกับสภายังตกลงกันไม่ได้ ขณะนี้ประธานาธิบดีเป็นเดโมแครต สภาเป็นรีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ดังนั้นสถานการณ์คล้ายๆกับตอนที่แก้กฎหมายเพื่อไม่ให้พันธบัตรรัฐบาลอเมริกันผิดนัดชำระหนี้ดังที่ผ่านมาแล้ว คือฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนละพรรคกัน ทำให้การบริหารประเทศยากยิ่งขึ้นหากคุยกันไม่รู้เรื่อง ปีหน้า สรอ ก็ต้องมีการขึ้นภาษีและตัดงบประมาณกันยกใหญ่
ส่วนทางด้านเอเชียนั้นตลาดก็ร่วงเช่นกัน ที่ลงแรงได้แก่ตลาดหุ้นประเทศญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง รัสเซีย ทางญี่ปุ่นนั้นกำลังปวดหัวกับปัญหาเศรษฐกิจ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ขาดทุนหนัก เช่น พานาโซนิก ฯลฯ ทางรัฐบาลบอกว่าจะไม่อุ้ม ให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือให้บริษัทหาทางแก้เอาเอง แก้ไม่ได้ก็ล้มไป จึงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่น ส่วนจีนนั้นแม้ว่าเปลี่ยนผู้นำแล้ว แต่ตลาดยังไม่ได้ตอบสนองในทางบวกเลย ยังคงลงต่อเนื่องเช่นเดิม
สำหรับตลาดหุ้นไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีเซ็ต SET index ปรับตัวลง -1.21% ลงมากกว่าสิงคโปร์นิดหน่อย ต่างชาติยังขายต่อเนื่อง มีซื้อสุทธิสลับบ้างในบางวันเท่านั้น แต่ลุงแมวน้ำสังเกตว่ามีแรงซื้อหุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่ๆเข้ามาบ้างแล้ว และแม้ว่าดัชนีตลาดจะปรับตัวขึ้นลงไม่มากนัก แต่หากดูหุ้นรายตัวพบว่าหุ้นในกลุ่ม SET50 ผันผวนเอาการ คือแกว้่งตัวค่อนข้างแรง อีกทั้งไปกันคนละทิศคนละทาง ขึ้นแรงก็มี ลงแรงก็มี อย่างเช่น BTS ขึ้นประมาณ +12% ส่วน MAKRO ลงประมาณ -10%
ด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มโลหะมีค่า คือทองคำ และเงิน กับน้ำมันดิบรีบาวด์ โลหะเงิน +5.65% น้ำมันดิบเบรนต์ +3.29% แต่โลหะอุตสาหกรรมไม่ขึ้นตาม รวมทั้งก๊าซก็ไม่ขึ้น สินค้าเกษตรลง -1.5%
ด้านค่าเงินหรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน สัปดาห์ที่ผ่านมาดอลลาร์ สรอ แข็งค่าได้ทั้งๆที่ทองคำขึ้น ปกติมักจะสวนทางกัน เงินยูโรและสกุลยุโรปอื่นๆอ่อนค่าจึงทำให้ดอลลาร์ สรอ แข็งค่าขึ้น
ด้านเงินสกุลเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่แข็งค่า เงินเยนแข็งค่าแม้ว่าทางการญี่ปุ่นพยายามกดค่าเงินให้อ่อน ส่วนเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย +0.26%
ด้านตลาดตราสารหนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกันลดลงตลอดเส้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุคงเหลือ 10 ปี ลงมาอยู่ 1.61% ลดลง 12 จุดเบสิส (basis point, bp) ส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทยเส้นอัตรผลตอบแทนลดลงเฉพาะพันธบัตรอายุคงเหลือ 5 ปีและน้อยกว่านั้น ส่วนที่อายุคงเหลือมากกว่า 5 ปี อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.42% เพิ่มขึ้น 5 จุดเบสิส
สำหรับเมื่อวาน 12/11/2012 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ต่างชาติขายสุทธิ ตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆมีทั้งขึ้นและลง กระจายกันไป ส่วนตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเท่านั้น แทบไม่ไปไหน สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงทั้งหมด ไม่ว่าโลหะ ปิโตรเลียม สินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตัวหลัก คือ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ลงหนัก
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อวาน 12/11/2012 ส่วนใหญ่ปรับตัวในกรอบแคบ ดัชนีดอลลาร์ สรอ (usd index) ทรงตัว เงินบาทไม่ขยับ ส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุคงเหลือ 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น 4 จุดเบสิส
Sunday, November 11, 2012
11/11/2012 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ: จีน ห้องเช่ารูหนู เศรษฐกิจที่รุดหน้าบนความเหลื่อมล้ำ
เมื่อไม่กี่วันมานี้จีนมีการเปลี่ยนผู้นำ เช้าวันหยุดวันนี้ลุงแมวน้ำอยากคุยเรื่องเมืองจีนสักหน่อย ลุงแมวน้ำจะไม่เล่าแบบบรรยายวิชาประวัติศาสตร์ แต่จะหยิบเอาบางแง่บางมุมในประวัติศาสตร์ของจีนมาคุยกันฟังเท่านั้น ก็อยากคุยน่ะ ^__^
ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3000 ปี ในอดีต จีนปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสาธารณรัฐคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1949 หรือเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว โดยวันชาติของจีนในปัจจุบันคือวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ก็คือวันที่เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั่นเอง
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองก็เพราะในปลายยุคราชวงศ์ชิงนั้นเกิดความเสื่อม การบริหารราชการแผ่นดินอ่อนแอ ความเหลื่อมล้ำขึ้นอย่างรุนแรงในสังคม พวกศักดินาหรือผู้มีฐานะก็ร่ำรวยสุขสบายอย่างล้นเหลือ ส่วนชาวนา คนยากจน ก็จนแบบหนังท้องกิ่วจนไปติดกระดูกสันหลัง ดังนั้นประชาชนจึงลุกฮือขึ้นทำการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองจนสำเร็จและสถาปนาเป็นสาธารณรัฐในปี ค.ศ. 1912
ช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นกินเวลานานหลายปี กว่าที่จีนจะตั้งหลักในระบบสาธารณรัฐได้ทุกฝ่ายต้องจ่ายคุณค่าแลกเปลี่ยนไปไม่น้อยในสงครามกลางเมืองระหว่างคนจีนด้วยกันเองแต่ต่างอุดมการณ์ แต่ในที่สุดประชาชนก็เป็นใหญ่ในแผ่นดินจนได้ ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตุง หรือที่เรียกกันว่าท่านประธานเหมานั่นเอง ประเทศจีนเปลี่ยนจากการปกครองอีกครั้งจากสาธารณรัฐทุนนิยมกลายเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในที่สุด ในปี ค.ศ. 1949
เมื่อรัฐคอมมิวนิสต์หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกสถาปนาขึ้น โครงสร้างทางสังคมก็เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐทั้งหมด ประชาชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆ เพื่อจะได้เท่าเทียมกัน คือไม่มีอะไรเหมือนๆกันนั่นเอง ที่ดินถูกยึดมาเป็นของรัฐ คนรวยบ้างก็ถูกประชาทัณฑ์จนตาย บ้างก็หนีไปอยู่ในประเทศต่างๆ อย่างเช่น ประเทศไทย บ้างก็ถูกจับไปอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์และทำงานในค่ายหรือที่เรียกว่าคอมมูน แม้แต่จักรพรรดิ์พระองค์สุดท้ายของจีนในที่สุดก็กลายเป็นคนเฝ้าอุทยาน
ลุงแมวน้ำเกริ่นย้อนยุคไปหลายสิบปี ต่อไปนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าเรื่องราวของจีนด้วยภาพ เชิญติดตามได้คร้าบ ^__^
แต่อย่างไรก็ดี ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงไม่มีในโลกหรอก แม้อยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอุดมการณ์ของความเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด ชนชั้นปกครองก็มีความเป็นอยู่ดีกว่าประชาชนทั่วไปอยู่ดี
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960s ก็ประมาณปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ก็เริ่มมีแนวทางที่แตกต่างกัน ที่ชัดๆมีสองกลุ่มคือกลุ่มของประธานเหมาที่ยังมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม ประเภทที่ว่าเมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน กับอีกขั้วหนึ่งคือกลุ่มของหลิวเซ่าฉี เติ้งเสี่ยวผิง ที่มีแนวคิดต่อยอดการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปอีกด้วยแนวคิดแบบทุนนิยม ต่อมากลุ่มแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมหรือกลุ่มประธานเหมาเริ่มเสื่อมความนิยมลงและแนวคิดแบบทุนนิยมเริ่มเข้มแข็งขึ้น ประธานเหมาเห็นท่าไม่ดีจึงปฏิวัติตนเองอีกครั้งหนึ่ง โดยเรียกว่าเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรม และได้กวาดล้างผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีแนวคิดต่างออกไปจนสิ้น ในยุคนี้เองที่มีการทำลายศิลปวัฒนธรรม ศิลปวัตถุ วัดวาอาราม ฯลฯ รวมทั้งบุคลากรทางศิลปวัฒนธรรมของจีนไปมากมาย มีผู้เสียชีวิตในการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งหลิวเซ่าฉีและเติ้งเสียวผิงก็ถูกกวาดล้างจนหลุดจากอำนาจไป
ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้นในปี 1966 ผู้นำในยุคนี้เรียกว่าแก๊งสี่คน ชื่อแก๊งสี่คนนี้เราคงคุ้นหูกันดี คือประธานเหมา มาดามเจียงชิง หลินเปียว และเฉินป๋อต๋า ชื่อที่คุ้นหูอีกชื่อหนึ่งคือเรดการ์ด (red guard) อันเป็นชื่อของกองกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนแนวคิดปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ ในยุคนี้เศรษฐี ผู้ดี ปัญญาชน จากยุคราชวงศ์ ที่อยู่รอดได้ในยุคคอมมูน มาถึงยุคนี้กลับเอาตัวไม่รอด ถูกจับไปฆ่าเป็นจำนวนมาก เกิดความหวาดระแวงไปทั่วไม่เว้นแม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าใครจะรายงานใครว่าเป็นพวกหัวทุนนิยม ใครที่ถูกรายงานก็ตายแน่
ในยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนต้องเปิดเผย ไม่มีความลับต่อกัน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ดังนั้นใครจะพูดอะไรต้องพูดดังๆ คือให้คนอื่นได้ยินด้วยจะได้ไม่ถูกรายงาน ดังนั้นคนจีนที่ผ่านยุคนี้มาจึงมีนิสัยพูดเสียงดัง คุยกันก็เหมือนทะเลาะกัน
นี่ก็เป็นกิจกรรมในคอมมูน ถ่ายในปี 1968 อันเป็นช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม สังเกตขุดเขียวขี้ม้าและหมวกแก๊ป นี่แหละชุดมาตรฐานในยุคนั้น ไม่ต้องรีดด้วย เพราะไม่เอาเท่ ซักแล้วตากให้แห้ง สวมใส่ได้เลย |
แต่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่มีใครหนีพ้นวัฏสงสารหรือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ ในตอนท้าย หลินเปียวในแก๊งสี่คนพยายามยึดอำนาจจากประธานเหมาซึ่งเป็นแก๊งสี่คนด้วยกัน คือชิงอำนาจกันเอง หลินเปียวถูกกวาดล้างและเสียชีวิตในระหว่างหลบหนี ดังนั้น ในท้ายที่สุด เมื่อผู้สืบทอดตัวเต็งเสียชีวิตไป ประธานเหมาแทบไม่มีตัวเลือกเหลืออยู่เลย ดังนั้นก็ต้องเลือกแบบจำใจ ผู้ที่สืบทอดอำนาจต่อจากประธานเหมาคือโจวเอนไหล ซึ่งเป็นพวกแนวคิดทุนนิยม โดยเป็นผู้วางหลักสี่ทันสมัยและเป็นผู้ที่สนับสนุนเติ้งเสี่ยวผิง
ต่อมา ปี 1975 โจวเอนไหลเสียชีวิต และปี 1976 เหมาเจ๋อตุงก็เสียชีวิต แก๊งสี่คนก็ถูกกวาดล้าง ยุคของการปฏิวัติวัฒธรรมจึงปิดฉากลง พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมแบบจีนๆภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง อันเป็นรากฐานของจีนในทุกวันนี้
ผู้พันมาแล้ว ร้านผู้พันไก่ทอดเปิดสาขาแรกในเมืองจีนในปี 1987 ดูคิวเสียก่อน ท้ายแถวอยู่ไหนมองไม่เห็นเลยเพราะว่าแถวยาวมาก ปัจจุบัน ปี 2012 มีร้านเคเอฟซีในจีนประมาณ 4000 สาขา |
ห้องเช่าแคปซูลนี้มีพื้นที่ส่วนกลางต่างหาก ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักรีด ใช้ของส่วนกลาง ซึ่งก็มีขนาดเล็กเช่นกัน |
ห้องพักแคปซูลหรือว่าห้องพักรูหนูที่ปักกิ่งนี้ยังจัดว่ามีสภาพดี ลองมาดูห้องเช่าในเมืองอื่นกันบ้าง 3 ภาพต่อไปนี้เป็นที่พักในเมืองอู่ฮั่น ถ่ายในปี 2012 นี่เอง
คนนี้ประกอบอาชีพเซลส์แมนเช่นกัน กำลังกินแฮมเบอร์เกอร์ข้างๆส้วมนั่นเอง ห้องเช่าที่อู่ฮั่นเช่นกัน |
ที่เห็น 3 ภาพก่อนหน้านี้เป็นที่พักแบบคนมีการศึกษา หากเป็นพ่อค้าแม่ค้าเร่ คือพวกความรู้น้อย ทำการค้าเล็กๆน้อยๆ มาจากชนบทมาอยู่ในเมืองใหญ่ สภาพที่พักจะแย่ยิ่งกว่านี้เสียอีก แย่จนเรานึกไม่ออกว่าเป็นยังไง เราไปดูกัน 3 ภาพต่อไปนี้ถ่ายในปี 2012 นี่เอง
นี่เป็นบ้านรูหนู คือเป็นห้องเช่าในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว แม่ลูกคู่นี้พักอาศัยอยู่ในรูที่มีประตูขนาดสูง 1 เมตร เด็กคนนี้อายุ 6 ขวบ เดินเข้าไปได้ แต่ว่าแม่ต้องมุดเข้าไป รูนี้เป็นซอกข้างตึก |
แม่มีอาชีพแม่ค้าเร่ขายอาหาร กลางวันเวลาแม่ออกไปขายของก็จะล็อกห้องขังลูกชายอยู่ในห้อง |
ภาพภายในห้อง ซึ่งต้องมุดและคลานลงมา ภายในห้องมีแต่ของใช้ที่พังและถูกทิ้ง แม่ลูกคู่นี้ก็เก็บเอามาใช้ต่อ |
สุดท้าย ลุงแมวน้ำจะพาไปดูที่พักของคนยากคนจนในฮ่องกง เมืองที่ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงมาก และผลจาก QE3 จะยิ่งทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง รวมทั้งเมืองอื่นๆในเอเชีย ขยับสูงขึ้นไปอีก
กางเกงในไม่มีที่ตาก แขวนไว้หน้ากรงนี่แหละ จะหายไหมเนี่ย |
พื้นที่ส่วนกลางของผู้อาศัยในห้องกรงก็มีที่นั่งเล่นนิดหน่อย ครัวนิดหน่อย ห้องน้ำรวม ในภาพ ชายชรากำลังนั่งอย่างทอดอาลัย ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปต่อได้ยังไง |
นี่แหละ ผลพวงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมือใครยาวสาวได้สาวเอา และนี่ก็คือภาพชีวิตของจีนในบางมุมที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็น ประเทศที่มีจีดีพีเติบโตปีละกว่า 10% ประเทศที่รายได้ประชากรต่อหัวสูงขึ้นทุกปี ประเทศที่กำลังการบริโภคมหาศาลและคนชั้นกลางขึ้นไปมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เราเห็นร้านขายกระเป๋าหลุยที่แสนแพงและคลับไฮโซสุดหรูหราในเมืองเซี่ยงไฮ้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในบางซอกมุมของประเทศจีน ยังมีชีวิตด้านที่ลำบากยากแค้นอยู่ ซึ่งภาพทำนองนี้ไม่ได้มีอยู่แต่ใประเทศจีนเท่านั้น แต่ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในทุกดินแดน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะดูแลจัดการกันอย่างไร ประเทศไทยก็มีเช่นกัน คนเร่ร่อนใต้สะพาน คนจรนอนสนามหลวง ฯลฯ เหล่านี้เราก็มี และในอนาคต แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นกว่านี้ แต่ภาพเหล่านี้ก็คงไม่หมดไป เพราะยิ่งเศรษฐกิจดีก็ยิ่งเหลื่อมล้ำ การแก้เราต้องแก้กันในเชิงโครงสร้างเลยทีเดียว
Subscribe to:
Posts (Atom)