อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของบัญชีเงินฝากธนาคารแบบฝากประจำ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ในรอบ 11 ปี |
ดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index) |
อรุณสวัสดิ์คร้าบ
ช่วงนี้ลุงแมวน้ำคงต้องมาแบบผลุบๆโผล่ๆ เป็นนินจาแมวน้ำไปอีกสักพักหนึ่ง งานเยอะเหลือเกิน รับจ๊อบวุ่นวายไปหมด ขอเวลาให้ลุงทำเว็บไซต์ขายของให้เรียบร้อยก่อน จนป่านนี้ยังไม่เสร็จเลย และที่สำคัญก็คือช่วงนี้แหล่งข้อมูลทั้งหุ้นและฟิวเจอร์สของลุงแมวน้ำรวนอย่างหนัก ซ่อมข้อมูลกันจนมึน ตอนนี้ก็ยังซ่อมไม่เสร็จ ยังต้องใช้เวลาอีกหน่อย
มาดูกันเป็นบางประเด็นก็แล้วกัน ช่วงนี้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกายังไม่ไปไหน มิหนำซ้ำเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมายังลงอีกด้วย เพราะผลประกอบการไตรมาสสามของบริษัทใหญ่ในอเมริกาออกมาดูไม่ค่อยดี น้ำมันกับทองคำเลยร่วง ตอนนี้พวกน้ำมัน ทองคำ สินค้าเกษตร เป็นสัญญาณขายอยู่ หากวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วยระดับฟิโบนาชชีเป้าหมาย (targetting Fibonacci) ทองคำยังดูไม่ออกว่าจะลงได้แค่ไหน ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์อาจลงได้ถึงต้นๆของ 100 ดอลลาร์ สรอ คือร้อยกว่าๆ ส่วนยางพารา RSS3 ก็มีสัญญาณขาย อาจลงได้ถึง 91.5 บาท
ตัวเลขที่บอกข้างบนคือใช้การประเมินจากกราฟราคาของสินค้าแต่ละตัว คือใช้ปัจจัยทางเทคนิคของตนเองล้วนๆ แต่หากพิจารณาปัจจัยค่าเงินดอลลาร์ สรอ ประกอบ ตอนนี้เงินดอลลาร์ สรอ กำลังอยู่ในทิศทางขาลง มีรีบาวด์บ้างแต่ก็น่าจะลงต่อ หากดอลลาร์ สรอ อ่อนตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆน่าจะลงไม่มาก อาจไม่ลงลึกถึงขนาดที่ลุงแมวน้ำประเมินไว้
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแบบประจำ 1 ปี สองอย่างนี้แพ้เงินเฟ้อมาตลอด คือคิดเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแล้วติดลบเกือบตลอดทุกเดือน สำหรับในขณะนี้ ผลจากโครงการประชานิยมต่างๆซึ่งเป็นการก่อหนี้สาธารณะในระยะยาว ก็คือการนำเงินในอนาคตมาใช้ คล้ายๆกับ QE นั่นเอง ผลจากโครงการต่างๆของรัฐทำให้ประเทศไทยมีการบริโภคที่สูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ค่อยๆปรับตัวขึ้นมาตลอด กระแสเงินที่ไหลเข้า จึงส่งผลกับอัตราเงินเฟ้อของไทยค่อยๆเพิ่มขึ้น ตอนนี้อัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุคงเหลือ 10 ปี (real 10 yr Thai gov bond yield) จนถึงกันยายน 2012 เหลือประมาณ 0.2% ใกล้แพ้เงินเฟ้อเต็มที คิดว่าของเดือนตุลาคมนี้คงติดลบหรือว่าแพ้เงินเฟ้อแล้ว
ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะมีส่วนกดดันให้เงินไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (ทั้งจากเงินของต่างชาติและเงินของนักลงทุนไทยเอง) ดังนั้นหากไม่มีเหตุการณ์พิเศษที่รุนแรงจนทำให้สถานการณ์พลิกผัน ลุงแมวน้ำคาดว่าตลาดหุ้นไทย รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากับยุโรป น่าจะไปต่อได้อีกพักใหญ่ๆทีเดียว คือถ้าไม่ใช่คลื่น B ใหญ่ก็ต้องเป็นคลื่น 5 ใหญ่ แต่ถึงอย่างไรสุดท้ายก็ต้องจบคลื่น ตอนนี้เราก็ตามแนวโน้มไปก่อน ไปไหนเราก็ไปด้วย เมื่อไรจบคลื่นในที่สุดเราก็ต้องรู้เองจนได้ ที่สำคัญคือต้องอย่าเทรดเกินตัวเพราะย่ามใจ เทรดเท่าที่มีกำลังรับความเสี่ยงได้
รูปที่นำมาฝากวันนี้เป็นดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index) กับ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของบัญชีเงินฝากธนาคารแบบฝากประจำ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยตลอดระยะเวลา 11 ปี คือตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
สำหรับภาพดัชนีดอลลาร์ สรอ เมื่อดูแนวโน้มแล้วน่าจะอยู่ในคลื่นขาลง หมายความว่าดอลลาร์ สรอ มีแนวโน้มอ่อนตัว ระหว่างทางก็คงมีเด้งขึ้นบ้างอันเป็นการรีบาวด์ในขาลง
สำหรับอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพอัตราผลตอบแทนแท้จริง หมายถึงว่าหักลบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ออกไปแล้ว วิธีดูก็คืออะไรที่อยู่ต่ำกว่า 0 (คือติดลบนั่นเอง) นั่นคือแพ้อัตราเงินเฟ้อ จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของเงินฝากประจำแบบ 1 ปี (เส้นสีฟ้า) ส่วนใหญ่แพ้เงินเฟ้อตลอด มีชนะบ้างแค่บางช่วง แสดงว่าหากคิดยังชีพด้วยดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารคงยาก เพราะเงินด้อยค่าลงเรื่อย
ส่วน อัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี (เส้นสีเขียว) แพ้เงินเฟ้อบ้าง ชนะเงินเฟ้อบ้าง ส่วนใหญ่ชนะเงินเฟ้อได้ แต่ต่อจากนี้ไปคงแพ้เงินเฟ้อแล้ว ตีความอย่างง่ายๆได้ความว่าผู้ที่ยังชีพจากการซื้อพันธบัตรแล้วรับดอกเบี้ย หากเดิมพออยู่ได้ ต่อไปคงไม่ค่อยพอแล้วล่ะ แต่หากเดิมไม่พอใช้อยู่แล้วต่อไปยิ่งแย่กว่าเดิม
ส่วน อัตราผลตอบแทนแท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 20 ปี (เส้นสีม่วง) อาการดีกว่าเส้นสีเขียวหน่อยนึง แต่ต่อไปไม่แน่เพราะว่าเส้นสีม่วงกำลังดิ่งลงเช่นกัน
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เส้นสีน้ำตาล) ที่ผ่านมามีทั้งแพ้และชนะอัตราเงินเฟ้อ เมื่อไรที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อก็จะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เพราะสร้างแรงจูงใจในการออม แต่เนื่องจากผลของ QE จากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายๆประเทศทำให้มีกระแสเงินต่างชาติไหลเข้ามาในบ้านเรา หากเงินเข้ามามาก เงินบาทก็เฟ้อ การกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วยสกัดเงินต่างชาติได้บ้าง แต่ก็ทำลายแรงจูงใจในการออมของประชาชนในประเทศ ทำให้ต้องควักกระเป๋านำเงินออมมาลงทุน สุดท้ายเงินก็อาจเฟ้อได้อีก เรียกว่าผลเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เรื่องเงินเฟ้อในภาวะ QE เช่นนี้ดูแลยากและเลี่ยงไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องเกิด อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงรั้งสถานการณ์ไว้ได้บ้างเท่านั้นเอง
เมื่อไรที่ลุงแมวน้ำซ่อมข้อมูลเสร็จจะพยายามเขียนบทความให้อ่านกันอีกครับ มีเรื่องที่อยากเขียนหลายเรื่องทีเดียว
อ้อ ช่วงนี้มีงานสัปดาห์หนังสือที่ศูย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์นะคร้าบ แวะหาชมและหาซื้อหนังสือกัน มีอบรม สัมมนาสั้นๆ และเปิดตัวหนังสือด้วยตลอดงาน ลุงแมวน้ำก็คิดว่าจะไปหาความรู้รอบพุงเช่นกัน แล้วเจอกัน ^__^