เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่มีสารคดีวันหยุด เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ เนื่องจากลุงแมวน้ำลาป่วยเนื่องจากปวดตา สาเหตุก็มาจากทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ขอพักผ่อนสายตาสักหน่อย ที่จริงอาการปวดตาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะเป็นสัญญาณเตือนให้ลุงแมวน้ำรู้ตัวว่าทำอะไรเกินความพอดีไปแล้ว
ช่วงนี้ลุงแมวน้ำหักโหมงานมากเกินไปเนื่องจากพยายามจะเปิดร้านค้าออนไลน์เพื่อทำอีคอมเมิร์ซให้ได้โดยเร็วที่สุด ความตั้งใจที่เกินพอดีบางครั้งก็มีข้อเสีย ที่ลุงไม่สบายในครั้งนี้ทำให้ลุงแมวน้ำได้คิดในหลายๆเรื่องที่ลืมคิดไป ตอนนี้ก็เลยผ่อนตัวเองลงมาบ้าง พยายามทำตัวให้อยู่ในทางสายกลางมากขึ้น อะไรที่ทำเต็มที่แล้วยังไม่ทันตามเป้าก็ต้องทบทวนกันใหม่ พยายามไม่หักโหมจนเกินกำลังอีก ช่วงนี้ลุงแมวน้ำจึงพักผ่อนมากขึ้นอีกนิด นอนเยอะขึ้นอีกหน่อย สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงอาจสังเกตได้ว่าลุงแมวน้ำห่างหายจากเว็บบล็อกและเฟซบุ๊กไปบ้าง ไม่ได้เรียกว่าเกียจคร้านหรอกนะ เรียกว่าพักผ่อนเยอะขึ้น โปรดอย่าเข้าใจผิด ^__^
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่อง QE3 ขึ้นมาอีกด้วย การทำ QE3 คงทำให้พฤติกรรมการลงทุนของมหาชนเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลให้ความเคลื่อนไหวของราคาเปลี่ยนแปลงไป และทำให้รูปแบบทางเทคนิคเปลี่ยนแปลงไป อาจต้องนับคลื่นระยะกลางกับคลื่นระยะยาวกันใหม่ ขอเวลาดูผลอีกสักระยะหนึ่ง ตอนนี้ลุงแมวน้ำเตรียมเข้าลงทุนอีกแล้วเพราะสถานการณ์เปลี่ยน เดิมทีลุงแมวน้ำพักการลงทุนหลักมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงต้องมาวางแผนการลงทุนใหม่
เอาละ วันหยุดไม่คุยเรื่องการลงทุน เพียงแค่เล่าความเปลี่ยนแปลงให้ฟังเท่านั้น มาคุยเรื่องสบายๆกันดีกว่า นั่นคือลุงแมวน้ำจะเล่าเรื่องทำธุรกิจให้ฟังกันต่อจากคราวที่แล้ว
ทวนกันนิดหน่อย คราวที่แล้วลุงแมวน้ำเล่าให้ฟังว่าเลือกลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพราะใช้การลงทุนเริ่มต้นต่ำ รวมทั้งมีการกระจายความเสี่ยงทั้งในแนวตั้งและในแนวราบ การกระจายความเสี่ยงในแนวตั้งคือการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่างระดับกัน ส่วนการการจายความเสี่ยงในแนวราบคือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงพอๆกัน โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลายตัว ไม่กระจุกในสินทรัพย์เพียงตัวเดียว
การทำอีคอมเมิร์ซหรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกนั้นสามารถทำได้อย่างอย่าง แต่ลุงแมวน้ำจะขอแบ่งตามความเข้าใจของลุงแมวน้ำเองเป็น 2 รูปแบบหลัก นั่นคือ
รูปแบบแรก
ไม่มีสินค้าหรือบริการเป็นของตนเอง การทำอีคอมเมิร์ซในรูปแบบนี้ผู้ทำไม่มีสินค้าหรือบริการเป็นของตนเอง แต่ช่วยคนอื่นขาย พูดง่ายๆก็คือเป็นนายหน้าขายสินค้า/บริการให้แก่ผู้อื่นนั่นเอง ซึ่งในทางอีคอมเมิร์ซมักเรียกว่าการเป็น
พันธมิตรธุรกิจ (affiliate)
รูปแบบนี้มีการลงทุนด้านทรัพย์สินต่ำ คือหมายความว่าไม่ต้องมีสต็อกสินค้าเอง แต่การเป็นพันธมิตรธุรกิจช่วยเขาขายสินค้านนั้นใช่ว่าไม่ต้องลงทุนอะไร ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านกำลังสมองหรือเป็นการลงทุนด้านความคิดมากกว่า นั่นคือ จะเชียร์สินค้าอย่างไรให้ขายได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความสามารถเช่นกัน
วิธีการดำเนินงานของการทำธุรกิจแบบพันธมิตรก็คือ เราต้องเปิดเว็บไซต์หรือเว็บบล็อกของเราขึ้นมา แล้วก็เลือกสินค้าหรือบริการที่เรามีความสันทัด จากนั้นก็เขียนบทความแนะนำสินค้าตัวนั้น จากนั้นก็แนะนำไว้ในบทความว่าหากจะซื้อสินค้าตัวนี้ให้ไปซื้อที่นี่ ตามลิงก์ที่เราแนะนำ เมื่อผู้ซื้อคลิกเข้าไปซื้อตามลิงก์ที่เราระบุเอาไว้ พันธมิตรก็จะได้ส่วนแบ่งจากการขายหรือว่าค่านายหน้าจากการขาย แต่หากผู้ซื้ออ่านบทความของพันธมิตรแล้วไม่ได้คลิกลิงก์เข้าซื้อ แต่ไปซื้อที่อื่น พันธมิตรก็ไม่ได้อะไรเหมือนกัน
การทำอีคอมเมิร์ซแบบพันธมิตรธุรกิจเป็นที่นิยมกันมาก ขายได้ทั้งสินค้ามีตัวตน เช่น ทีวี รถยนต์ หนังสือ ฯลฯ อะไรก็ได้ บางทีขายของที่มีราคาสูงได้ก็ได้ส่วนแบ่งมาหลายเงินอยู่เหมือนกัน ก็พอเลี้ยงตัวได้ หรือจะเป็นสินค้าไม่มีตัวตน เช่น ขายอีบุ๊ก ซอฟต์แวร์ ก็ได้ หรือจะเป็นพันธมิตรขายบริการ เช่น แนะนำโรงแรม สปา หลักสูตรการเรียน ฯลฯ ก็ได้
ที่จริงการเป็นนายหน้าซื้อขายนอกจากการเป็นพันธมิตรธุรกิจแล้วปัจจุบันยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ที่เรียกว่าดรอปชิป (dropshipping) ซึ่งลุงแมวน้ำยังไม่พูดถึงดีกว่า เดี๋ยวจะยืดยาวเกินไป
อีคอมเมิร์ซอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากการทำพันธมิตรธุรกิจแล้ว ก็เป็นการ
ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยตรง นั่นเอง การทำอีคอมเมิร์ซแบบซื้อขายรูปแบบนี้ผู้ขายต้องลงทุนด้านสินค้าหรือบริการด้วยตนเอง เช่น หากเป็นสินค้ามีตัวตนก็ต้องมีสต็อกสินค้าของตนเอง ใครมาซื้อจะได้พร้อมขาย หากเป็นสินค้าไม่มีตัวตน เช่น อีบุ๊ก ก็ต้องไปซื้อสิทธิ์จากผู้ทรงสิทธิ์เพื่อเอามาขาย หากเป็นบริการก็ต้องมีบริการไว้รองรับลูกค้าจริงๆ เช่น มีร้านสปาอยู่จริง เป็นต้น อีคอมเมิร์ซในรูปแบบซื้อขายนี้ก็ต้องใช้ทุนมากหน่อย สินค้า/บริการบางชนิดมีราคาแพงก็ยิ่งต้องใช้ทุนมาก การลงทุนนอกจากต้องลงทุนในตัวสินค้า/บริการ ที่จะขายแล้วยังต้องลงทุนในตัวระบบประกอบการขายต่างๆอีกด้วย เช่น มีซอฟต์แวร์ร้านค้าออนไลน์ มีระบบบัญชี มีระบบจัดส่งสินค้า ฯลฯ
อีคอมเมิร์ซสองรูปแบบหลัก คือ เป็นพันธมิตรธุรกิจ กับแบบเปิดร้านขายสินค้า/บริการ สองรูปแบบหลักนี้ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องขึ้นมาอีกมากมาย เช่น ธุรกิจเว็บโฮสติง ธุรกิจออกแบบ ธุรกิจที่ปรึกษา ธุรกิจรับเขียนซอฟต์แวร์ ธุรกิจรับจ้างเขียนบทความ รับทำ seo ฯลฯ
สำหรับลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำเลือกที่จะทำธุรกิจซื้อขายสินค้าที่มีตัวตนครับ หากจะถามว่าทำไมเลือกแบบนี้ก็คงต้องตอบว่าแล้วแต่ความชอบ ลุงแมวน้ำคิดว่าตนเองถนัดที่จะทำธุรกิจซื้อขายสินค้า รวมทั้งมีความชอบที่จะทำแบบนี้มากกว่า เรื่องการเป็นพันธมิตรธุรกิจ หรือการซื้อขายบริการนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าตนเองไม่ค่อยถนัดเท่าไร
เอาละ เมื่อลุงแมวน้ำเลือกรูปแบบธุรกิจ โดยเลือกที่จะทำธุรกิจซื้อขายสินค้าที่มีตัวตนแล้ว ลุงแมวน้ำทำอย่างไรต่อ
ลุงแมวน้ำก็ต้องมาคิดต่อไปว่า
จะขายให้แก่ใคร ขายอะไร และขายอย่างไร
สำหรับลุงแมวน้ำแล้วเรื่องขายให้แก่ใคร หรือว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ต้องคิดก่อน ส่วนเรื่องขายอะไร และขายอย่างไรนั้น ค่อยคิดตามมา แต่บางคนก็บอกว่าต้องคิดเสียก่อนว่าขายอะไรเป็นอย่างแรก ก็แล้วแต่นะ แต่ลุงแมวน้ำถนัดแบบคิดเรื่องขายใครก่อนมากกว่า
ที่ว่าย
ขายใครหรือว่าขายให้แก่ใครนั้นก็คือการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั่นเอง ปกติเวลาเรียนเรื่องการตลาดก็มักสอนกันว่าเรื่องกลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน แต่หากลองไปถามนักธุรกิจเอสเอ็มอีว่าสินค้าของคุณตัวนี้กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ส่วนใหญ่มักตอบว่าขายประชาชนทั่วไป ขายลูกค้าทั่วไป ทุกเพศ ทุกหมู่เหล่า หากตอบแบบนี้ก็ทำการตลาดยาก เพราะกลุ่มลูกค้ามีหลายแบบ แต่ละแบบมีวิธีการทำตลาดที่แตกต่างกัน แม้แต่สินค้าตัวเดียวกันหากทำการตลาดในลูกค้าคนละกลุ่มก็อาจต้องทำการตลาดคนละแบบ หากตอบว่ากลุ่มลูกค้าคือประชาชนทั่วไปแบบนี้คงเหนื่อยเพราะทำการตลาดกันไม่ถูก
สำหรับลุงแมวน้ำ ที่ลุงแมวน้ำเลือกก็คือ กลุ่มลูกค้าที่เป็น
GEN C จะเลือกผิดหรือเลือกถูกลุงแมวน้ำก็ไม่รู้ละ แต่ว่าลุงแมวน้ำตัดสินใจเลือกกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปแล้ว
GEN C คืออะไร ก็คือ เจเนอเรชัน ซี (generation C) นั่นเอง ในทางการตลาด เราจำแนกกลุ่มผู้บริโภคตามวัย เช่น เบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) เจนเอ็กซ์ (gen x) เจนวาย (gen y) ฯลฯ
Baby boomer หรือกลุ่มหลังสงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นยุคที่ประเทศต่างๆฟื้นฟูชาติหลังสงครามกันเป็นการใหญ่ ยุคนี้มีประชากรเกิดขึ้นมามากทดแทนผู้ที่ล้มหายตายจากไปในสงคราม กลุ่มนี้ปัจจุบันอายุ 50 ปีขึ้นไป นี่แบ่งคร่าวๆ มีแบ่งหลายตำรา บางตำราก็ว่าอายุ 47 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีค่านิยมหนักเอาเบาสู้ ความอึดเป็นเลิศ เก็บหอมรอมริบ เพราะผ่านความลำบากหลังสงครามโลกมา เรื่องไอทีไม่ค่อยรู้หรอก เพราะโตมาในยุควิทยุตู้สี่เหลี่ยมใหญ่ๆ ซื้อของโดยยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ
Gen X กลุ่มนี้เป็นลูกของเบบี้บูมเมอร์ ปัจจุบันมักอายุ 30 ปีขึ้นไป ยังมีพฤติกรรมหนักเอาเบาสู้ ประหยัด แม้ไม่ได้ผ่านความยากลำบากในยุคฟื้นฟูชาติมาด้วยตนเองแต่ก็โตมาในยุคสงครามเย็นที่ความลำบากยังคงมีอยู่ ดังนั้นความหนักเอาเบาสู้กับความประหยัดจึงมีอยู่ แต่อาจหย่อนๆมาจากรุ่นพ่อแม่บ้าง ความอึดยังมีอยู่ พวกนี้โตมาในยุคโทรทัศน์ขาวดำ เรื่องไอทีมาเรียนรู้เอาตอนโต ยังซื้อสินค้าโดยยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ
Gen Y กลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ที่จริงยังมีซอยย่อยลงมาเป็นกลุ่มเด็กหรือพวกยุคมิลเลนเนียม (millennium gen) อีก แต่เยอะเกินไป ลุงแมวน้ำเอาแค่นี้พอ สำหรับคนรุ่นนี้ สงครามโลกคือประวัติศาสตร์ที่นึกภาพไม่ค่อยออกว่าเป็นอย่างไร พ่อแม่ ปู่ย่า ก็เลี้ยงมาแบบทะนุถนอม ไม่อยากให้ลำบากเหมือนตนเอง ดังนั้นพวกนี้จึงโตมาในสภาพแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง ทำให้รักสะดวกสบาย กลุ่มนี้มีพฤติกรรมกล้าลอง กล้าเรียน กล้าแหกกฎเกณฑ์ ทะเยอทะยาน กล้าที่จะให้รางวัลในชีวิตแก่ตนเอง ผลก็คือกล้าใช้จ่ายทั้งๆที่อาจจะมีรายได้น้อย เจนวายโตมาในยุคโทรทัศน์สีและเกมคอมพิวเตอร์ มาใช้อินเทอร์เน็ตตอนวัยรุ่น พวกนี้ใช้จ่ายซื้อของเพราะคุณค่าทางอารมณ์มากขึ้น คือ ประโยชน์ใช้สอยจะอย่างไรอาจไม่สำคัญ แต่ซื้อเพราะต้องการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ก็อยากได้น่ะ มีอะไรไหม ทำนองนั้นแหละ
ขอแถมหน่อยก็ได้ หลังเจนวายคือยุคมิลเลนเนียม เด็กยุคมิลเลนเนียมโตมากับไฮสปีดอินเตอร์เน็ต และเกมคอมพิวเตอร์แบบ 3D รวดเร็ว ฉับไว จึงส่งผลให้เด็กรุ่นนี้มีโลกส่วนตัวสูง อบอุ่นในโลกออนไลน์แต่เดียวดายในโลกแห่งความเป็นจริง มนุษยสัมพันธ์ไม่ค่อยดี พูดจาห้วนๆ รออะไรไม่ค่อยได้ และสมาธิสั้น การสื่อสารแบบบรรยายความทำไม่ดี แต่ชอบสื่อสารด้วยไอคอนและอิโมติคอนต่างๆแทน แบบนี้ไง ^__^ :-) :-( =.=”
พวกเบบี้บูมเมอร์กับเจนเอ็กซ์ มีเงินเก็บเยอะเพราะว่าเก็บเงินเก่ง ตอนหนุ่มสาวไม่ค่อยได้ใช้เงิน พอมาถึงตอนนี้ก็เป็นวัยที่เริ่มนำเงินเก็บออกมาใช้แล้ว กระเป๋าโตเริ่มเปิดออกมาแล้ว ส่วนเจนวายทำงานไปใช้เงินไป กระเป๋าเล็กแต่ก็ใช้เงินเก่ง ล้วงออกมาง่าย
อ้าว ยังไม่ได้พูดเรื่อง
gen c เลย เจนซีคือกลุ่มเบบี้บูมเมอร์กับเจนเอ็กซ์ที่มีความสันทัดในเรื่องไอที คือพวกที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปและกระโดดเข้ามาในโลกของอินเทอร์เน็ต พวกเจนซีคือพวกที่กล้าซื้อของทางอินเทอร์เน็ต ส่วนพวกเบบี้บูมเมอร์กับเจนเอ็กซ์โดยทั่วไปแล้วไม่ยอมซื้อของทางอินเทอร์เน็ต ต้องซื้อของตามร้านที่ได้เห็นตัวสินค้า ได้ดูสภาพ สีสัน จึงจะตัดสินใจได้
ลุงแมวน้ำจึงคิดจับกลุ่มลูกค้า เจนซี คือผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป นิยมซื้อสินค้าที่มีสาระ คือยังเน้นประโยชน์ใช้สอยอยู่มาก แต่การซื้อเพราะคุณค่าทางอารมณ์ก็เริ่มมีน้ำหนักขึ้นมาบ้างแล้ว ที่เลือกกลุ่มนี้เพราะเป็นคนในวัยเดียวกับลุงแมวน้ำไง ลุงแมวน้ำเข้าใจมุมมอง วิธีคิด อะไรหลายๆอย่างได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ก็คงอยากหาเพื่อนฝูงในวัยเดียวกันด้วยละมั้ง ลุงแมวน้ำไม่ได้คิดถึงคำว่า
“ลูกค้า” เท่าไร คิดถึงคำว่า
“เพื่อน” มากกว่า ภาษาวัยรุ่นต้องบอกว่า
ขายแบบชิลๆ ขายแบบขำๆ ส่วนกลุ่มเจนวายที่แก่แดด คือมีความคิดและถือคุณค่าแบบคนรุ่นพ่อแม่ (ซึ่งมีไม่มาก) ลุงแมวน้ำก็ยินดีต้อนรับ