วันนี้ลุงแมวน้ำมีของเล่นใหม่มาฝาก นั่นคือ รายงานสรุปภาวะการลงทุนประจำเดือน รายงานประจำเดือนนี้เป็นมุมมองที่กว้างกว่ารายงานประจำสัปดาห์ ทำให้เรามีมุมมองในกรอบเวลาต่างๆกันหลายกรอบ เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่พวกเราบ้าง
ที่จริงวันนี้วันหยุด ลุงแมวน้ำยังอยากให้พวกเราพักสบายๆอีกสักวัน ไม่อยากเอาเรื่องการลงทุนมาทำให้จิตใจขุ่นมัว เพราะรายงานนั้นแดงทั้งฉบับเลย มีสีเขียวปนอยู่นิดเดียว แต่เนื่องจากลุงแมวน้ำติดภารกิจต้องไปแสดงที่ต่างจังหวัด ขวัญใจมหาชนก็แบบนี้แหละ ^_^ ไม่แน่ใจว่าวันอังคารเช้าจะอัปเดตทันหรือเปล่า ไหนๆก็ไหนๆ ทำเสียตอนนี้เลยก็แล้วกัน หากถูกใจโปรดส่งปลามาเป็นกำลังใจหน่อย
ในรอบเดือนพฤษภาคม 2012 หรือว่า 05/2012 ที่ผ่านมา สถานการณ์ทั่วโลกไม่ค่อยดีนัก สาเหตุหลักมาจากเรื่องปัญหาวิกฤตหนี้ของกลุ่มสหภาพยุโรปที่จริงต้องพูดให้ชัดอีกหน่อยว่าเป็นปัญหาที่มาจากกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรร่วมกัน (Eurozone) ซึ่งมีอยู่ 17 ประเทศ ส่วนกลุ่มสหภาพยุโรปนั้นมีทั้งหมด 27 ประเทศ
เงื่อนตายที่ยังคลายไม่ออกและเป็นเงื่อนสำคัญที่พาให้กลุ่มยูโรโซนนี้เสียหลักไปทั้งกลุ่มก็คือการที่แต่ละประเทศในกลุ่มมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกันแต่กลับมาใช้เงินสกุลเดียวกัน ทำให้มีปัญหาในการบริหารทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของแต่ละประเทศ รวมทั้งเป็๋นปัจจัยเร่งที่ทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซประทุขึ้นมาจนนานาประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่มต้องทุ่มเงินเข้ามาช่วยอุ้ม
แต่อย่างไรก็ดี ยิ่งนานวันเข้าสถานการณ์ก็ยิ่งส่อว่าหนทางแก้ปัญหาของกลุ่มดูจะยากเย็นยิ่งขึ้นทุกที ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้กลุ่มฝ่ายซ้ายซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยมาตรการรัดเข็มขัด ตามมาด้วยผลการเลือกตั้งทั่วไปของกรีซที่พรรคฝ่ายขวาซึ่งสนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดไม่ได้รับเลือกมากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้สถาบันการเงินในสเปนและอิตาลีถูกลดอันดับเครดิตกันระนาว
เท่านั้นยังไม่พอ ทางฝั่งเอเชีย ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนก็ออกมาไม่ค่อยดีเท่าไรนัก สะท้อนถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งใครต่อใครคาดหวังว่าจีนจะเป็นประเทศพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยโลก แต่สุดท้ายก็คงไม่ใช่ นอกจากนี้สถาบันการเงินของญี่ปุ่นยังถูกลดอันดับเครดิตอีกด้วยเช่นกัน ดังนั้นในเดือนที่ผ่านมาจึงเป็นเดือนที่มีแต่ข่าวไม่ค่อยดีเต็มไปหมด
ทีนี้มาดูตัวเลขในรายงานกันบ้าง ในเดือน 05/2012 ดัชนีชี้วัดตลาดหุ้นระดับโลกคือ Dow Jones Glogal Index กับ MSCI All Countries World Index ร่วงลงมาประมาณ -9% ทั้งคู่ แต่หากพิจารณาแยกตามภูมิภาคจะเห็นว่ากลุ่มยุโรปร่วงไปประมาณ -14% สหรัฐอเมริกา -6% กลุ่มเอเชียแปซิฟิกลงไป -10% กลุ่มละตินอเมริกาลงไป -14% กลุ่มแอฟริกาลงไป -8% สำหรับกลุ่มเอเชียแปซิฟิกนั้นหากดูย่อยลงไปอีก กลุ่มที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าเพื่อนคือกลุ่มอาเซียน (ASEAN.L) -5% และกลุ่มอ่าวผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม GCC) -4%
หากดูในรายประเทศ ประเทศที่ตลาดหุ้นลงแรงที่สุดคือกรีซ -25% รองลงมาคือรัสเซีย -22% ทำให้เงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าอย่างหนัก ผู้ที่ถือกองทุนกลุ่ม BRICS อยู่ต้องระมัดระวังเพราะนอกจากรัสเซียที่ลงหนักแล้ว จีน อินเดีย บราซิลก็ออกอาการเป๋แล้วเช่นกัน
ตลาดหุ้นที่ขึ้นแรงในเดือนที่ผ่านมานั้นไม่มีเลย มีพียงตลาดหุ้นจีนที่บวกได้นิดหน่อย คือ +0.2% และตลาดหุ้นมาเลเซีย +0.6% ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นเดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลง -7%
สำหรับตลาดหุ้นไทย หุ้นในกลุ่ม SET50 ที่ยังมีแรงอยู่ก็คือกลุ่มค้าปลีก BIGC +14% และ ROBINS +10% ส่วน CPALL ลงไป -10% และบางตัวที่อาการหนักคือ STA -25%, ESSO -22%, PTTGC -21%, BANPU -19%
ทางด้านสินค้าโภคภัณฑ์ เดือน 05/2012 ทองคำ (GC) ลงไป -6% น้ำมันดิบ WTI (CL) -17% สินค้าเกษตร -10% สินค้าเกษตรลงหนักตามราคาน้ำมันดิบ ยางพารา RSS3 ก็ลงไป -10% เช่นกัน แม้ว่าจะพยายามดึงและดันราคาเอาไว้ด้วยข่าวต่างๆ แต่สุดท้ายราคาก็เป็นไปตามกลุ่ม
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แข็งค่ามาก ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD Index, DX) +5.4% เงินยูโรอ่อนค่า -6.4% เงินเยนแข็งค่า +1.8% เงินบาทอ่อนค่า -3.6% สิงคโปร์ดอลลาร์ -4.1%
ทางด้านตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงเนื่องจากเงินหนีความผันผวนจากตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์เข้าไปพักผ่อนอยู่ในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอมริกันลดลงอย่างฮวบฮาบเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย คือเงินสกุลเอเชียและยุโรปส่วนหนึ่งไหลออกและเข้าไปอยู่ในเงินสกุลดอลลาร์ สรอ และพันธบัตรอเมริกัน
วันนี้ลุงแมวน้ำจะพูดถึงเรื่องตราสารหนี้มากหน่อย เพราะตัวเลขต่างๆที่เกี่ยวกับตราสารหนี้ก็พอจะบอกอะไรเกี่ยวกับตลาดหุ้นได้ด้วยเช่นกัน ลองมาดูกันดังภาพต่อไปนี้
ภาพข้างบนเป็นอัตราผลตอบแทนของ
พันธบัตรรัฐบาลกรีซ อายุ 10 ปี จะเห็นว่าสถานการณ์ในเดือนมีนาคมดีขึ้น เพราะว่าอัตราผลตอบแทนลดลง แต่ก็ยังถือว่าสูงลิ่วอยู่ (ปกติไม่ควรเกิน 7%) จากนั้นเดือนพฤษภาคม หลังเลือกตั้ง สถานการณ์ก็แย่ลงอีก ดูจากอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นแสดงว่าพันธบัตรนี้ไม่มีใครอยากได้ ใครที่มีอยู่ก็พยายามขายออกไป
ภาพข้างบนเป็น
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปน อายุ 10 ปี จะเห็นว่าขยับเข้ามาใกล้ 7% ขึ้นทุกที หากเกินกว่า 7% แปลว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลสเปนสูงมากจนเกินกำลังที่จะชดใช้หนี้ได้แล้ว จำเป็นต้องมีใครมาช่วยอุ้ม ซึ่งก็หนีไม่พ้นไอเอ็มเอฟและธนาคารกลางของยุโรปกับสถาบันและกลไกทั้งหลายที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับปัญหาวิกฤติหนี้ ตอนนี้สเปนมีปัญหาเรื่องประชาชนขาดความมั่นในในสถาบันการเงินและพากันถอนเงินจากธนาคารไปเก็บไว้ที่บ้านแล้ว กรีซก็เช่นกัน หากปัญหาลุกลามอาจทำให้สถาบันการเงินพังและลามเป็นโดมิโนได้ ผลสุดท้ายยากคาดเดา
ภาพข้างบนเป็น
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี อายุ 10 ปี แนวโน้มเข้าใกล้ 7% เข้าไปทุกทีเช่นกัน
มาดู
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อายุ 10 ปี กันบ้างตามภาพข้างบนนี้ จะเห็นว่าอัตราผลตอบแทนลดอย่างฮวบฮาบแม้อัตราผลตอบแทนจะต่ำมากก็ตาม เพราะนักลงทุนตองการหาที่ที่ปลอดภัย ไม่ใช่ต้องการเก็งกำไร
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี อายุ 10 ปี ก็เช่นกัน ดังภาพบน อัตราผลตอบแทนน้อยมากแต่ก็มีแต่คนอยากได้
มาดูด้านพันธบัตรเอเชียกันบ้าง ข้างบนเป็น
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย อายุ 10 ปี นักลงทุนใช้เป็นที่หลบภัยเช่นกัน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ไม่ค่อยเคลื่อนไหวนัก เพราะมีเงินไหลออกนั่นเอง
จากภาพต่างๆข้างบน พันธบัตรในย่านเอเชียนั้นแม้จะมีอัตราผลตอบแทนที่ลดลง (แปลว่ามีคนอยากซื้อ) แต่ลุงแมวน้ำคาดว่าเงินลงทุนบางส่วนต้องไหลออกไปเข้าสหรัฐอเมริกาและดอลลาร์ สรอ เพราะว่าช่วงนี้เงินดอลลาร์ สรอ แข็งค่ามาก และน่าจะแข็งค่าต่อไปได้อีก เงินลงทุนจากตะวันตกที่เข้ามาในเอเชียเมื่อเจอกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ ที่แข็ง แม้ว่าได้กำไรจากพันธบัตรก็อาจไม่มากนัก ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอาจมากกว่า ดังนั้นเงินบางส่วนจึงต้องไหลกลับ
ทีนี้หากพวกเราต้องการพักเงินในตลาดพันธบัตรบ้างจะทำอย่างไร ทางเลือกสำหรับนักลงทุนรายย่อยของไทยก็คือฝากเงินกับกองทุนตลาดเงิน ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของไทย ในบ้านเรายังไม่มีกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรระยะยาว กับอีกทางเลือกหนึ่งคือลงทุนกับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็น FIF คือไปลงทุนในกองทุนพันธบัตรในต่างประเทศอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็มีอยู่เพียงไม่มีกองทุน เท่าที่ลุงแมวน้ำรวบรวมไว้ในตาราง
KFTRB กองทุนแม่คือ
PIMCO Total Return Bond Fund นโยบายกองทุนคือลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐอเมริกา ซึ่งฟังดูเผินๆก็น่าจะดีและให้ผลตอบแทนได้ดีในช่วงนี้เพราะว่าพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันกำลังเป็นที่ต้องการ ราคาพันธบัตรอเมริกันอายุ 30 ปีปรับตัวขึ้นในเดือนเดียวถึง +5.2% แต่หากดูจากการเปลี่ยนแปลงของ NAV ของ KFTRB ในรอบเดือนที่ผ่านมา nav +0.8% เท่านั้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่ราคาดีในตอนนี้เป็นพวกที่อายุเกิน 7 ปี ส่วนของ PIMCO อายุเฉลี่ยไม่ได้นานขนาดนั้น และอีกประการ ในขณะนี้ PIMCO มีโครงสร้างการลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ MBS (Mortgage-backed Securities) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ผูกพันกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยมีอยู่ในพอร์ตประมาณกว่า 50% ซึ่งตราสารพวกนี้เคลื่อนไหวไปตามทิศทางตลาดหุ้น สรอ และมีพันธบัตรอยู่ประมาณ 30% ของพอร์ต ดังนั้นเมื่อตลาดหุ้นลง nav ของ PIMCO ก็ลดลงด้วย
ส่วนอีกสองกองทุนที่มีกองทุนแม่เป็น
Templeton Global Bond Fund กับ
Aberdeen Global - Emerging Markets Bond Fund ลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ สองกองทุนนี้มีดูเรชัน (duration) ต่างกัน กองหลังดูเรชันประมาณ 10 ปีซึ่งดูเผินๆก็น่าจะดี แต่ก็ดังที่ลุงแมวน้ำบอกคือเสียเปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อดอลลาร์ สรอ แข็ง ดูค่า nav ที่สวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็คงพอทำให้เราทราบได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีผลมากเพียงใด
ความเห็นของลุงแมวน้ำก็คือ ช่วงนี้พักเงินในกองทุนตลาดเงิน (money market fund) ก่อนดีกว่า ได้แบบเรื่อยๆมาเรียงๆ ได้น้อยแต่ก็ไม่ขาดทุน แต่เลือกกองด้วยนะ
อีกประการคือ ทองคำ แต่ต้องรอก่อน ไม่ใช่ตอนนี้ สำหรับตอนนี้แค่ตามดูไปก่อน เพราะว่าหากวิกฤตหนี้ยุโรปลุกลามจนถึงขั้นสถาบันการเงินล้ม เมื่อนั้นคนจะถอนเงินจากธนาคารและซื้อทองคำเก็บบางส่วน อีกประการ ปี 55 นี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากของไทยจะลดการคุ้มครองเหลือเพียงบัญชีละ 1 ล้านบาท ดังนั้นทองคำอาจเป็นทางเลือกได้ทางหนึ่ง แต่ลุงแมวน้ำขอย้ำว่ายังไม่ใช่เวลานี้ ตอนนี้ทองคำยังเป็นขาลงอยู่ แล้วลุงแมวน้ำจะมาวิเคราะห์ทองคำในความเห็นแบบแมวน้ำๆให้ฟังในโอกาสต่อไป
ตอนนี้ขอลาไปก่อนละคร้าบ ^_^