Wednesday, April 18, 2012

17/04/2012 * วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยและดัชนีเซ็ต (SET index) กรณีศึกษาสำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค

ค่าเงินเช้านี้ 18/04/2012 (รายงานวันเทรดที่ 17/04/2012)

วันที่ 17/04/2012 ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ปิดลบ ตลาดหุ้นไต้หวันลงหนักหน่อย -1.9% ส่วนอินเดียสามารถปิดเขียวได้แบบสวนกระแสเอเชีย คือปิด +1.2% ตลาดหุ้นไทย ดัชนีเซ็ต SET index ปิดที่ 1160.23 (-0.8%) ต่างชาติขายสุทธิ 1249 ล้านบาท

ส่วนตลาดฝั่งยุโรปนั้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นแรง ส่วนใหญ่เกินกว่า +1.0% ดัชนี DAX ของเยอรมนี +2.7% ตลาดหุ้นอิตาลีที่เป็นเหตุกังวลรอบใหม่ของยุโรปก็บวกแรง ดัชนีฟุตซีมิลาโนอินดิซีบอร์ซา (FTSE MIB) ของอิตาลี +3.7% ตลาดหุ้นฝั่งอเมริกาก็ปิดเขียว ดัชนีโบเวสปา (IBovespa) ของบราซิล +1.2% ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ปิดเขียว ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริกาขึ้นไป +1.5%

ทางด้านค่าเงิน วันที่ 17 เปลี่ยนแปลงไม่มาก ดอลลาร์ สรอ ปรับตัวในกรอบแคบ usd index อยู่ในกรอบ 79.4 ถึง 79.8 จุด เงินสกุลยุโรปแทบไม่เปลี่ยนแปลง เงินยูโร -0.11% ทางด้านเงินเอเชียแปซิฟิกผันผวนกว่าเงินสกุลยุโรป เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย +0.4% เงินเยนอ่อนค่า -0.60% เงินดอลลาร์สิงคโปร์เงินบาทปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ถือว่าทรงตัว

ทางด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อวันที่ 17 น้ำมันดิบรีบาวด์ wti +1.3% แต่น้ำมันดิบเบรนต์แทบไม่เปลี่ยนแปลง กลุ่มโลหะ ทองแดงลง +0.5% โลหะเงิน +1.1% ส่วนทองคำ +0.1% ดัชนีสินค้าเกษตร 79.04 จุด (+0.1%)

เช้านี้ (18/04/2012) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) อยู่ที่ 79.6 จุด เงินยูโร 1.313 ดอลลาร์ สรอ/ยูโร เงินเยน 81.1 เยน/ดอลลาร์ สรอ เงินบาท 30.81 บาท/ดอลลาร์ สรอ

น้ำมันดิบ wti 104.2 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล น้ำมันดิบเบรนต์ 118.5 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล ทองคำ 1651 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์


วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยและดัชนีเซ็ต (SET index) กรณีศึกษาสำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค

ช่วงไม่กี่วันมานี้ตลาดหุ้นไทยลงเอาๆ ต่างชาติก็เริ่มขายมาหลายวันแล้ว ผู้ที่ลงทุนหุ้นเอาไว้บางคนอาจใจไม่ค่อยดี ช่วงนี้มาร์เก็ตติงของโบรกเกอร์หุ้นรับโทรศัพท์กันจนหูชา ไม่ใช่หูชาเพราะว่าโดนต่อว่า แต่หูชาเพราะนักลงทุนโทรถามสถานการณ์และปรึกษามาร์เกตติง ที่จริงตลาดหุ้นลงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยขึ้นต่อเนื่องมาหลายเดือน นักลงทุนหุ้นเริ่มชินกับสีเขียว ไม่ค่อยคุ้นกับสีแดงเสียแล้ว ประกอบกับนักลงทุนหุ้นรายใหม่ๆที่เข้าตลาดในช่วงนี้มีพอสมควร คนกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยพบกับกระดานสีแดงเท่าไรนัก พอมาเจอเข้าก็อาจกังวล

ลุงแมวน้ำอยากฝากนักลงทุนหุ้นรายใหม่ๆที่เพิ่งเข้าตลาดมา ส่วนใหญ่มักเป็นคนหนุ่มสาว คนเหล่านี้เงินออมยังไม่มากนักเพราะว่าเพิ่งใช้ชีวิตวัยทำงานกันได้ไม่มี่ปี เงินออมขั้นต้นในช่วงเริ่มทำงานนี้มีความสำคัญมาก เพราะมันเป็นฐานสำหรับขยายผลต่อไปในอนาคต หากเงินออมก้อนนี้ทำงานให้เราได้ดี เราก็เป็นอิสระทางการเงินเร็วหน่อย แต่หากเราทำให้เงินต้นก้อนนี้หดหายไป การเป็นอิสระทางการเงินก็ช้าลง

การลงทุนในตลาดหุ้นหรือในตลาดทุนอื่นเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่จะขยายผลเงินออมของเรา แต่ลุงแมวน้ำอยากฝากนักลงทุนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนใหม่ว่านักลงทุนต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง วิเคราะห์และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง หากเงินพร้อมแต่ความรู้ยังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งเข้ามาดีกว่า ศึกษาไปก่อน พร้อมแล้วจึงเข้ามา อย่าลงทุนเพราะว่าฟังผู้อื่นแนะนำโดยที่เราเองยังวิเคราะห์ไม่ออกหรือตัดสินใจไม่ได้ การวิเคราะห์นั้นจะเป็นสายปัจจัยพื้นฐานก็ได้ หรือสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ได้ หรือจะใช้ผสมกันก็ได้ แต่หากจะผสมกันต้องรู้จักวิธีใช้แบบผสมกันด้วย หากใช้ผิดวิธีก็ไม่ได้ผลอีก

ทีนี้ลองมาดูแนวโน้มตลาดหุ้นไทยกันดู ว่ามุมมองของลุงแมวน้ำที่อาศัยการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิคมองอย่างไรบ้าง ลุงแมวน้ำขอใช้บทความวันนี้เป็นการณีศึกษาสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาการวิเคราะห์ทางเทคนิค ว่าเมื่อเราเรียนรู้ไปแล้วนำไปประยุกต์อย่างไร

ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น หลักสำคัญคือการวิเคราะห์กราฟ เราใช้กราฟดัชนีตลาดหุ้นเป็นตัวแทนของตลาดหุ้น ในการวิเคราะห์กราฟนั้น หลักสำคัญที่ลุงแมวน้ำใช้ก็คือ ต้องเห็นภาพของตลาดหุ้นให้กระจ่างด้วยการดูในหลายๆกรอบเวลา

สมมติว่าเราจะศึกษาป่า หากเราเดินไปที่ใต้ต้นยางนาที่อยู่ในป่าต้นหนึ่ง เราก็เห็นต้นไม้หนึ่งต้น ต้นนี้มีรายละเอียดอย่างไร ใบเป็นอย่างไร ต้นเป็นอย่างไร เป็นโรคหรือไม่ ฯลฯ เราจะมองเห็น และหากเรามองไปรอบๆตัว เราเห็นต้นไม้ต้นอื่นๆรอบตัวเราในระดับที่เราสังเกตรายละเอียดของแต่ละต้นได้ เช่น มีต้นประดู่ ต้นเต็ง ต้นแดง ฯลฯ เราก็เห็นภาพและเข้าใจป่าในแบบหนึ่ง

คราวนี้สมมติว่าเราปีนขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง แล้วมองลงมาจากยอดเขา เราก็จะเห็นต้นไม้หลายๆต้นประกอบกันเป็นผืนป่าในอีกแบบหนึ่ง ยังอาจพอเห็นรายละเอียดได้บ้าง แต่หากเราขึ้น ฮ. แล้วบินขึ้นไปสูงๆ มองลงมาข้างล่าง เราก็เห็นผืนป่าในอีกรูปแบบหนึ่ง ตรงไหนถูกลักลอบตัดไม้ไป ตรงไหนเกิดไฟป่าเผาผลาญ เราก็จะเห็นได้ แต่หากเรามองจากบน ฮ. เราคงแยกแยะไม่ออกว่าต้นไหนเป็นต้นอะไร แต่ละต้นมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะว่าอยู่ไกลเกินไป

ภาพป่าเดียวกันเมื่อเราดูจากบน ฮ. ดูจากบนเขา และดูจากใต้ต้นยางนา แม้ว่าเป็นป่าเดียวเดียวกัน แต่ก็ทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจได้แตกต่างกัน แต่หากเราได้ดูทั้งสามภาพ เราก็ย่อมเกิดความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะเห็นทั้งระดับกว้างใหญ่และเห็นทั้งในรายละเอียดมาพิจารณาประกอบกัน

เช่นเดียวกัน ในการวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัยทางเทคนิค ปกติลุงแมวน้ำต้องพิจารณากรอบเวลาต่างๆหลายกรอบไปพร้อมกันเพื่อให้เห็นทั้งภาพกว้าง ภาพกลาง และภาพละเอียด ซึ่งการดูภาพกว้างได้นั้นต้องมีฐานข้อมูลที่ย้อนหลังไปมาก ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงชอบลงทุนในหุ้นหรือดัชนี หรือฟิวเจอร์สที่อิงกับหุ้นที่มีอายุนานๆ พวกของเข้าใหม่ที่มีประวัติการเทรดสั้นๆลุงแมวน้ำมักเลี่ยงเพราะว่าทำความเข้าใจกับมันไม่ได้ทั้งหมด

อ้าว คุยเสียเพลิน ยังไม่ได้วิเคราะห์ SET index เลย มาๆๆ มาดูกัน


ภาพดัชนีเซ็ตในกรอบเวลาที่กว้างมาก (20 ปี)


มาดูภาพแรกกันก่อน ภาพแรกนี้เป็นดัชนีเซ็ตในกรอบเวลาใหญ่ เป็นคลื่นระดับคลื่นรายหลายๆปี (ตัวเลขชุดสีดำ) ลุงแมวน้ำประเมินว่าในกรอบเวลาใหญ่ ขณะนี้เรากำลังอยู่ในคลื่น 5 ใหญ่ ซึ่งนี่งเองที่ทำให้ลุงแมวน้คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยจะไปเกินกว่า 1800 จุด เพราะว่าทฤษฎีคลื่นของอีเลียตมีหลักว่า 5 ต้องสูงกว่าคลื่น 3 นั่นเอง แต่นั่นเป็นคงเป็นเรื่องอีกนาน

ในชุดคลื่นใหญ่ คลื่น 5 (สีดำ) ก็ประกอบด้วยชุดคลื่นย่อยในระดับรองลงไป กล่าวคือ คลื่นใหญ่ 5 (สีดำ) ประกอบด้วย 5 คลื่นย่อย (สีน้ำเงิน) ซึ่งขณะนี้เราน่าจะอยู่ในปลายคลื่น 3 (สีน้ำเงิน) แล้ว

หากเราซูมภาพเข้าไปอีก เข้าไปดูคลื่นย่อยที่เล็กลง ชุดคลื่นสีน้ำเงินนี้นับคลื่นยาก ลุงแมวน้ำจับคลื่นสีน้ำเงินมาท่อนหนึ่ง ไม่ได้เอามาทั้งหมด แล้วลองนับคลื่นย่อยดู ได้เป็นชุดคลื่นย่อยสีน้ำตาล ดังภาพต่อไปนี้

ภาพดัชนีเซ็ตในกรอบเวลาที่กว้าง (15 ปี)


หากจับความตามภาพชุดคลื่นสีน้ำตาล ตอนนี้เราอยู่ในคลื่นย่อย 5 (สีน้ำตาล) อันเป็นคลื่นขาขึ้นลูกสุดท้ายของชุดคลื่นสีน้ำตาล แต่จะจบคลื่น 5 เมื่อไรยังไม่รู้

ทีนี้ลุงแมวน้ำก็ซูมภาพเข้าไปอีก ในคลื่นย่อย 5 (สีน้ำตาล) นับคลื่นย่อยที่เกิดอยู่ในนั้น ได้เป็นชุดคลื่นย่อยสีม่วง ดังภาพต่อไปนี้

ภาพดัชนีเซ็ตในกรอบเวลาประมาณ 1 ปี


จากภาพ ขณะนี้เราน่าจะอยู่ในคลื่น 4 (สีม่วง) ที่จริงพูดตอนนี้ยังเร็วไปหน่อยเพราะดัชนีเซ็ตยังไม่ได้กลับทิศอย่างชัดเจน อาจจะอยู่ปลายคลื่น 3 ก็ได้ แต่ลุงแมวน้ำต้องการใช้เป็นกรณีศึกษาเรื่องการนับคลื่น อีกอย่างก็เปนการคาดการณ์ ไม่มีใครรู้อนาคตหรอก ก็เอาเป็นว่าลุงแมวน้ำประเมินว่าตอนนี้เราอยู่ในคลื่น 4 แล้วก็แล้วกัน

อะไรที่เป็นคลื่น 4 มักไม่ค่อยดี เนื่องจากคลื่น 4 เป็น reactive wave คือคลื่นขาลงในชุดคลื่นขาขึ้น อีกทั้งคลื่น 4 มักผันผวนชวนเวียนหัว และชวนให้ขาดทุนด้วย

ประมวลภาพในหลายๆกรอบเวลา หากเราจบคลื่น 4 สี่ม่วง (ตอนนี้ยังไม่จบ) หากเราจบก็จะเข้าคลื่น 5 สีม่วง เมื่อจบคลื่น 5 (สีม่วง) ก็เท่ากับว่าเราจบคลื่น 5 (สีน้ำตาล) ด้วย แปลว่าเราก็จะเข้าสู่คลื่นขาลง a-b-c ในชุดคลื่นสีน้ำตาล

การตีความ หากสถานการณ์เป็นไปตามนี้ ก็หมายความว่า ขณะนี้เราคงผจญกับความผันผวนของตลาดหุ้นในคลื่น 4 ไปอีกสักพักหนึ่ง คลื่นนี้เป็นคลื่นคืนกำไรเพราะมักหลอกให้เราตายใจ เห็นลงไปมากแล้วรีบาวด์ขึ้นมาก็นึกว่าจบคลื่นแล้ว ที่ไหนได้ ขึ้นแรงแล้วกลับลงไปใหม่ หลังจากจบคลื่น 4 จากนั้นหุ้นไทยคงไปต่อได้ แต่เมื่อไรที่จบคลื่น 5 (สีม่วงและสีน้ำตาล จบพร้อมกัน) นี่สิ ตลาดหุ้นคงปรับตัวลงลึก

วิเคราะห์ต่อไปอีกนิด หากถามว่าเมื่อไรจะจบคลื่น 5 (สีม่วงและสีน้ำตาล) เราก็ประเมินด้วยการวัดเป้าหมายด้วยตัวบ่งชี้ฟิโบนาชชี (Fibonacci target indicator) วัดระดับฟิโบนาชชี วัดจากหลายๆกรอบ ช่วงดัชนีใดที่มีระดับฟิโบนาชชีสอดคล้องกันหลายชุด ช่วงนั้นมีน้ำหนักสูง จากภาพข้างบน ลุงแมวน้ำประเมินว่าคลื่น 5 (สีม่วง) อาจจบแถวๆดัชนีเซ็ต 1300 ถึง 1350 จุด

หากถามต่ออีกว่า แล้วคลื่น 4 (สีม่วง) นี้จะลงไปถึงแค่ไหน ลุงแมวน้ำก็ใช้หลักของการวัดเป้าหมายด้วยตัวบ่งชี้ฟิโบนาชชีอีก ดังภาพต่อไปนี้


ดูที่เส้นฟิโบสีน้ำเงินเส้นหนา เป็นไปได้ว่าคลื่น 4 (สีม่วง) นี้อาจจบลงแถวดัชนี 1020 ถึง 1070 จุด ก็ลึกพอดู

เมื่อเราประเมินได้แบบนี้แล้ว เราก็นำเอาไปใช้ต่อยอดได้ตามแต่นโยบายการเทรดของแต่ละคน เช่น ในคลื่น 4 อาจหยุดเทรดชั่วคราว ฯลฯ

ฝากลองไปประเมินต่อกันดูด้วยตนเอง ว่าหากนับคลื่นตามแนวทางนี้ เมื่อจบคลื่น 5 (สีน้ำตาล) แล้ว ปลายคลื่น c (สีน้ำตาล) อาจลงไปได้ถึงดัชนีเท่าไร

นี่เป็นกรณีศึกษาการนับคลื่นและการใช้ความรู้ทางเทคนิคในการเทรด การนับคลื่นและการเทรดไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด เพราะแต่ละคนอาจนับไม่เหมือนกัน หากรู้ว่านับผิดก็นับใหม่ก็ได้ ความสำคัญคือเราจะเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการลงทุนอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์



ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญในโลก เมื่อ 17/04/2012



อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญ เมื่อ 17/04/2012

Tuesday, April 17, 2012

16/04/2012 * สรุปรอบสัปดาห์ ตลาดหุ้นลงอีก ดอลลาร์ สรอ อ่อนค่า สินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน

สัปดาห์ที่ 09/04/2012-13/04/2012 นี้โลกยังไม่มีข่าวดีอะไร มีแต่ข่าวดีส่วนตัวคือลุงแมวน้ำได้หยุดยาวววววววว หลายวันในช่วงสงกรานต์ ชอบจริงๆเลย ทำไมลุงแมวน้ำถึงได้ชอบวันหยุดนักก็ไม่รู้ ^_^

ตอนนี้เข้าสู่โหมดวิตกกังวล (อีกแล้ว) ความกังวลก็เรื่องเดิมๆ คือกลุ่มยุโรปกลับมากังวลเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะโดยตัวละครเปลี่ยนจากกรีซมาเป็นสเปนและอิตาลี ทางด้านสหรัฐอเมริกาก็กังวลว่าเมื่อไม่มี QE3 แล้วเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นไม่ไหว ข่าวดีมีอยู่เล็กน้อย คือ เกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธล้มเหลว และกรณีพิพาทเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านมีแนวโน้มว่าจะพูดคุยกันได้ จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง

ดัชนีโลก Dow Jones Global index (W1DOW) ซึ่งเฉลี่ยจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง -1.6% ดัชนีโลกอีกดัชนีหนึ่งคือ MSCI All Country World Index ก็ลดลงประมาณ -1.5% ดัชนีตลาดหุ้นกลุ่มยุโรป Dow Jone Europe Index (E1DOW) -2.0%

ดัชนีตลาดหุ้นกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเฉลี่ยในรอบสัปดาแล้วปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่แล้ว คือ +0.2% ส่วนดัชนีตลาดกลุ่มอาเซียน FTSE ASEAN USD Index (ดูแทนด้วย ASEAN.L) ปรับตัวลงนิดหน่อย -0.3% ตลาดหุ้นญี่ปุ่นซวนเซอีกครั้งจากผลประกอบการขาดทุนของบริษัทชั้นนำยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น นั่นคือ โซนี มิตซูบิชิ โดยถูกแบรนด์เกาหลีชิงตลาดไปมาก สะท้อนถึงความเสียเปรียบในการแข่งขันกับเกาหลีที่นับวันจะยิ่งเสียตลาดไปมากขึ้น

ตลาดหุ้นที่ขึ้นแรงในรอบสัปดาห์ ได้แก่ ตลาดหุ้นเวเนซุเอลา และตลาดหุ้นสโลวีเนีย +3.8% ทั้งคู่ ตลาดหุ้นที่ลงแรงเป็นตลาดหุ้นในยุโรปทั้งสิ้น คือ ตลาดหุ้นอิตาลี สเปน ฟินแลนด์ และฮังการี -5.0% ลงแรงรองลงมาคือ ตลาดหุ้นเยอรมนีและฝรั่งเศส -3% ส่วนตลาดหุ้นไทยในรอบสัปดาห์ SETi ปรับตัวลง -1.1% ต่างชาติเริ่มขายสุทธิแล้ว

ทางด้านตลาดพันธบัตร ดูจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีทั้งที่อัตราผลตอบแทนลดลง และที่เพิ่มขึ้น กระจายกันไป พันธบัตรที่อัตราผลตอบแทนลดลง ได้แก่ กรีซ สหรัฐอเมริกา สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีน ฯลฯ ส่วนพันธบัตรที่อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ได้แก่ สเปน โปรตุเกส ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยในรอบสัปดาห์เพิ่มขึ้นประมาณ 0.02 จุด (basis point)

ทางด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ในรอบสัปดาห์แนวโน้มค่อนไปทางปรับตัวลดลง ที่ปรับตัวเพิ่มมีเพียงไม่กี่สินค้า เช่น โกโก้ (CC) +4.2% ฝ้าย (CT) +3.2% ทองคำ (GC) +1.7% ส่วนที่ปรับตัวลง เช่น น้ำตาล (SB11) -4.9% ข้าวโพด -4.6% กาแฟ (KC) และข้าวสาลี (W) -2.5% ทั้งคู่ ส่วนน้ำมันดิบ wti คงที่ แต่น้ำมันดิบเบรนต์ -1.3% ดัชนีสินค้าเกษตร DJUBSAG ตลอดสัปดาห์ปรับตัวลง -1.8% ส่วนยางพาราลงหนักหน่อย -3.6%

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในรอบสัปดาห์ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (USD index) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.3% เงินตราสกุลยุโรปก็อ่อนค่าลงเล็กน้อยเช่นกัน เงินยูโร -0.15% ฟรังก์สวิส -0.25% ดอลลาร์สิงคโปร์กับเงินเยนแข็งค่ามากที่สุด +0.9% รองลงมาเป็นเงินบาทและดอลลาร์ออสเตรเลีย +0.7%


ค่าเงินเช้านี้ 17/04/2012 (รายงานวันเทรดที่ 16/04/2012)


สำหรับวันที่ 16/04/2012 ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ปิดแดงแต่ว่าลงไม่มาก ยกเว้นดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นที่ลงแรงกว่าเพื่อน -1.7% ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ

ส่วนตลาดฝั่งยุโรปนั้นปิดกระจาย จับทิศทางไม่ออก มีทั้งขึ้นและลง ดัชนี DAX ของเยอรมนี +0.6% ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาและบราซิลส่วนใหญ่กระดานแดงตั้งแต่ต้นตลาดจึงถึงปิดตลาด ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐไม่พร้อมใจกัน คือดัชนี S&P 500 ปิดแดง ดัชนี Nasdaq ก็ปิดแดง ส่วนอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ปิดเขียว +0.6%

เช้านี้ (17/04/2012) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) อยู่ที่ 79.6 จุด เงินยูโร 1.312 ดอลลาร์ สรอ/ยูโร เงินเยน 80.5 เยน/ดอลลาร์ สรอ เงินบาท 30.80 บาท/ดอลลาร์ สรอ

น้ำมันดิบ wti 103.1 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล น้ำมันดิบเบรนต์ 118.5 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล ทองคำ 1652 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์

วันพรุ่งนี้ลุงแมวน้ำจะนำเอาภาพการนับคลื่นของดัชนี SETi มาให้ดูกันครับ ลองประเมินดูว่าตอนนี้ยังลงทุนได้หรือไม่


กราฟแสดงความสัมพันธ์ของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินสำคัญบางสกุลรวมทั้งทองคำ



ตารางหุ้น ฟิวเจอร์ส และกองทุนรวม และค่าสถิติต่างๆ