หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย EGCO, PTT, PTTEP ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 42 ตัว
กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายถั่วเหลือง (S) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (usd index, DX) เกิดสัญญาณซื้อ เงินยูโร (EC) เกิดสัญญาณขาย ลุงแมวน้ำทบทวนรูปแบบทางเทคนิคประกอบกับสภาพตลาดและได้ปรับมุมมองใหม่ ลุงแมวน้ำมองว่าขณะนี้กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะเป็นขาลง และเงินดอลลาร์น่าจะเป็นขาขึ้น ดังนั้นจึงปิดสัญญาซื้อถั่วเหลืองและเปิดสัญญาขายตามไป (open short position) ส่วน DX ก็ปิดสัญญาขายและเปิดสัญญาซื้อไป (open long position)
กองทุนอีทีเอฟ DBA ที่ลงทุนในสินค้าเกษตรเกิดสัญญาณขาย
ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นย่านเอเชียปรับตัวลดลงราว -1% (โดยประมาณ) บางตลาดก็เป็นบวกเล็กน้อย เช่น จีน แต่ตกกลางคืน (เวลาบ้านเรา) ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปก็ร่วงแรง มีตั้งแต่ -3% ถึง -7% หลังจากนั้นเมื่อตลาดฝั่งอเมริกา (รวมแคนาดาและอเมริกาใต้) เปิดก็ร่วงแรงเช่นกัน มีตั้งแต่ -3% ถึง -6% ลักษณะนี้ถือว่าตลาดแตกตื่นแล้วทั้งๆที่ประเด็นที่กังวลก็คือเรื่องเดิมๆ
วันนี้ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average, DJI) ร่วงลงราว 510 จุดหรือ -4.3% ดัชนี S&P500 ร่วงลงไปถึง -4.8% ดัชนีตลาดหุ้นที่ร่วงแรงมีมากจนนับไม่ไหว แต่กลุ่มที่ลงแรงที่สุดเป็นกลุ่มอเมริกาใต้ ที่ลงน้อยที่สุดคือเอเชีย (ที่จริงไม่ใช่เพราะเอเชียแข็งแกร่ง แต่เป็นเพราะตลาดเอเชียเปิดและปิดไปก่อน) ดัชนีตลาดหุ้นที่เกิดสัญญาณขายในวันนี้คือดัชนีหั่งเส็ง (HSI) ของฮ่องกง
ทางด้านค่าเงินแบบสปอต (spot price) เงินยูโร เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา โครนาของสวีเดน และรูเบิลของรัสเซีย อ่อนค่าจนเกิดสัญญาณขาย
อะไรจะเกิดหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเข้าสู่คลื่น C
คงจำได้ว่าเมื่อไม่กี่่วันที่ผ่านมานี้เองลุงมวน้ำได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่าตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาและยุโรปขณะนี้อาจกำลังอยู่ที่ต้นคลื่น C แล้ว ไม่ใช่ปลายคลื่น B พร้อมทั้งบอกว่าควรตามดูสัญญาณกลับทิศแนวโน้มไปอีกสักระยะหนึ่ง
มาดูกันว่าขณะนี้ดัชนีดาวโจนส์ (DJI) ที่เราถือว่าเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขณะนี้มีสัญญาณกลับทิศอะไรบ้างแล้ว ดังภาพต่อไปนี้
- bearish convergence ระหว่างดัชนีกับ RSI
- นับคลื่นย่อยได้ครบสามลูก
- ดัชนีดิ่งลงและตัดทะลุกรอบ standard error channel (SEC)
- แผนภาพแบบแท่งเทียนเกิดรูปแบบแท่งเทียนดำใหญ่ (big black candle)
- ดัชนีต่ำจากยอดคลื่นถึงประมาณ 11% ซึ่งการปรับลดขนาดนี้มักไม่ใช่การย่อเพื่อไปต่อ (retracement) แต่น่าจะเป็นการกลับทิศแนวโน้มมากกว่า
- ระดับ fibonacci ได้ 78.6%
ทีนี้มาดูด้านเศรษฐกิจของยุโรปกันบ้าง ลุงมวน้ำขอใช้ดัชนีแดกซ์ (DAX) ของเยอรมนีเป็นตัวแทนเศรษฐกิจของยุโรป พบว่ายุโรปน่าจะเข้าสู่คลื่น C แล้วดังภาพต่อไปนี้
สัญญาณกลับทิศที่เกิดขึ้นมีดังนี้
- bearish convergence ระหว่างดัชนีกับ RSI
- นับคลื่นย่อยได้ครบสามลูก
- ดัชนีดิ่งลงและตัดทะลุกรอบ standard error channel (SEC)
- แผนภาพแบบแท่งเทียนเกิดรูปแบบแท่งเทียนดำใหญ่ 3 แท่งติดกันหรือที่เรียกว่ากาดำสามตัว (three black crows)
- ดัชนีต่ำจากยอดคลื่นถึงประมาณ 13% แล้ว ซึ่งการปรับลดขนาดนี้มักไม่ใช่การย่อเพื่อไปต่อ (retracement) แล้ว แต่น่าจะเป็นการกลับทิศแนวโน้มมากกว่า
- ระดับ fibonacci ได้ 78.6%
ทีนี้ลองมาดูกันว่าหากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้าสู่คลื่น C แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
ลุงแมวน้ำประเมินว่าจะเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้
- ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่คลื่นขาลงใหญ่ ไม่ว่าประเทศใดจะอยู่ในคลื่นใดก็ตาม น่าจะลงตามกันไปหมด
- เงินตึง ขาดสภาพคล่อง ทำให้เกิดอุปสงค์เงินดอลลาร์ขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น
- สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งน้ำมันดิบและทองคำ จะมีแนวโน้มเป็นขาลง
ตัวอย่างจากอดีต
หลายคนอาจไม่เห็นด้วยว่าดอลลาร์จะแข็งค่าและราคาทองคำจะอ่อนตัวได้อย่างไร ประเด็นก็คือเมื่อขาดสภาพคล่องทางการเงิน ใครมีอะไรก็ต้องขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด แม้แต่ทองคำซึ่งถือว่าเป็นแหล่งพักพิงก็ยังใช้ไม่สะดวกเท่ากับเงินสด ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่าสภาพคล่องเป็นอย่างไร ซึ่งสภาพคล่องนั้นดูได้จากดัชนีสองค่า คือ ผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย LIBOR 3 เดือนกับ Overnight Indexed Swap หรือที่เรียกกันว่า 3mo LIBOR OIS spread กับดัชนีอีกดัชนีหนึ่งก็คือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย LIBOR 3 เดือนกับตั๋วเงินคลัง 3 เดือนของสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกกันว่า TED spread ซึ่งดัชนีทั้งสองค่านี้แสดงอยู่ในเว็บบล็อกของลุงแมวน้ำแล้ว ทางด้านขวามือ
ลองมาดูวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 กัน
ลองดูภาพต่อไปนี้ซึ่งเป็นดัชนี 3mo LIBOR OIS spread จะเห็นว่าค่า spread ตั้งแต่กันยายน 2007 เป็นต้นมาเริ่มสูงขึ้น และต่อมามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2008 และไปสูงสุดที่ราวเดือนตุลาคม 2008 จากนั้นค่อยๆลดลง
ลองดูค่าเงินดอลลาร์ดูบ้าง ดัชนีดอลลาร์ สรอ ในช่วงนั้นเป็นดังภาพต่อไปนี้
จะเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์เริ่มแข็งอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2008 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ค่า spread เริ่มสูงขึ้นมาก อธิบายได้ว่าช่วงนั้นสภาพคล่องตึงตัวมาก
คราวนี้มาดูกันว่าเกิดอะไรกับตลาดหุ้นบ้าง ดังภาพดัชนีดาวโจนส์ต่อไปนี้
เส้นตั้งสีดำที่ทำเป็นเส้นอ้างอิงก็คือเดือนมกราคม 2008 นั่นเอง เราจะเห็นว่าตั้งแต่กันยายน 2007 ดัชนีดาวโจนส์ไหลลงมาตลอด อาจอธิบายได้ว่านักลงทุนส่วนหนึ่งจำต้องขายหุ้นเพราะต้องการใช้เงินสดเนื่องจากตอนนั้นสภาพคล่องเริ่มตึงตัว
ทีนี้ลองมาดูราคาทองคำในช่วงนั้นกันบ้าง ดังภาพต่อไปนี้ จะเห็นว่าราคาทองคำเริ่มร่วงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2008 และต่ำที่สุดที่ราวๆเดือนตุลาคม 2008 คิดเป็นราคาก็ไหลจาก 1000 ดอลลาร์ไปถึง 700 ดอลลาร์ (โดยประมาณ) ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าช่วงต้นนั้นนักลงทุนขาดสภาพคล่อง ขายหุ้นแล้วไม่พอ ต่อมายังต้องขายทองอีกด้วย (อันที่จริงไม่ใช่เพียงทองเท่านั้นที่ราคาตกลง แต่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆรวมทั้งสินค้าเกษตรก็ราคาตกลงด้วย) และหลังจากกันยายน 2008 เมื่อสภาพคล่องเริ่มดึขี้น เงินดอลลาร์ก็อ่อนตัวลงและราคาทองคำค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น
เหตุการณ์ในปัจจุบัน
ตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐอเมริกาตกต่อเนื่องมานานหลายสัปดาห์ จนวันนี้ตลาดลงอย่างหนัก สังเกตค่า TED spread และ 3mo LIBOR OIS spread ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าระดับดัชนีทั้งสองในตอนนี้ยังไม่ถือว่าสูง แต่รูปแบบของดัชนีที่กระชากตัวขึ้นมาทำให้เริ่มเห็นเค้าลางของสภาวะเงินตึงตัว ช่วงนี้ควรหมั่นติดตามค่าทั้งสองนี้อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ usd index ยังเกิดแท่งเทียนขาวใหญ่ (big white candle) ซึ่งเป็นสัญญาณกลับทิศแนวโน้มเป็นขาขึ้นประการหนึ่ง แม้มีเพียงประการเดียวในตอนนี้แต่ก็ควรติดตามดูต่อไป
จากเหตุการณ์ในอดีตที่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดู คงพอเห็นภาพได้ว่าราคาทองคำในสภาพเศรษฐกิจไม่ดีนั้นอาจไม่ได้สูงขึ้นและสูงขึ้นเรื่อยๆเสมอไป คงตองสังเกตเรื่องสภาพคล่องด้วย ดังนั้นไม่ควรประมาทหรือมองทองคำในแง่ดีจนเกินไปนัก