Thursday, May 19, 2011

18/05/2011 * การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (2)

หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยหลุดมาหลายวัน วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,075.91 จุด ลดลง 9.05 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ AOT และมีวัญญาณขาย CPN, LH ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 29 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของข้าวสาลี (W) เกิดสัญญาณซื้อ ฟิวเจอร์สของหุ้นไทย ITD, LH เกิดสัญญาณขาย

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปิดเขียว ที่ลงค่อนข้างแรงมีตลาดหุ้นเวียดนามกับตุรกี ทางด้านสัญญาณทางเทคนิคในระดับภูมิภาคยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง




การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (2)



เมื่อตอนที่แล้วเราดูกราฟราคาน้ำมันดิบ (CL) กันไปแล้วว่ามีผันผวนเพียงใด ผลของการแกว่งตัวแรงทำให้เกิดสัญญาณหลอกได้ง่ายขึ้น ทำให้ผลการเทรดขาดทุนหนัก แต่ก่อนที่จะคุยกันต่อไป ลุงแมวน้ำขอย้อนไปดูตารางที่แสดงถึงความผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ตารางนี้เราเคยดูกันไปแล้วแต่ลุงแมวน้ำนำมาแสดงเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง





จากตารางนี้เราจะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบกับน้ำตาลทรายเบอร์ 11 (sugar #11, SB) นั้นต่างก็มีความผันผวนสูง แต่หากเหลือบไปดูพอร์ตจำลองของลุงแมวน้ำที่เสนอเป็นประจำทุกวันจะเห็นว่าพอร์ตจำลองนั้นได้กำไรจากการเทรดน้ำตาลมากทีเดียว เทรดน้ำมันดิบขาดทุนไปเกือบ 50,000 ดอลลาร์ ในขณะที่เทรดน้ำตาลกำไรเกือบ 30,000 ดอลลาร์ ถ้าเช่นนั้นความแตกต่างของสินค้าที่มีความผันผวนสูงสองตัวนี้อยู่ที่ไหน

คำตอบก็คือรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคานั่นเอง ลองมาดูกราฟราคาน้ำตาล SB กันก่อน




จะเห็นว่าแม้น้ำตาล SB จัดว่าเป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูง ราคาขึ้นแรงลงแรง แต่ว่าการขึ้นแรงหรือว่าลงแรงนั้นเกิดในช่วงที่เป็นขาขึ้นอย่างแรง (คือ bullish trend มีกำลังแรง) หรือว่าเป็นขาลงอย่างแรง (คือ bearish trend มีกำลังแรง) ผลก็คือราคาน้ำตาลมีช่วงที่ขึ้นแบบม้วนเดียวหรือลงแบบม้วนเดียว แทบไม่เกิดสัญญาณหลอกในระหว่างทางเลย ดังนั้นการขึ้นแรงลงแรงแบบนี้จึงทำให้เกิดกำไร

แต่ขณะเดียวกันลองมาดูราคาน้ำมันดิบ ดังนี้




จะเห็นว่ากราฟราคาน้ำมันดิบไม่สวยเท่ากับน้ำตาล ช่วงที่เกิดแนวโน้มแรงๆจนราคาวิ่งแบบม้วนเดียวมีอยู่เพียงช่วงเดียวคือขาลงแรง (ที่แรเงาในภาพ) ส่วนอื่นนั้นเป็นการแกว่งแบบขึ้นๆลงๆ ทำให้เกิดสัญญาณหลอกบ่อยครั้ง เมื่อเทรดไปเรื่อยๆผลขาดทุนสะสมจึงมาก

แต่หากจะถามว่าสินค้าตัวใดที่มีความผันผวนแบบม้วนเดียวยาวๆเหมือนกับน้ำตาล คำตอบก็คือตอบไม่ได้ เนื่องจากรูปแบบของน้ำตาลนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ต่อไปราคาน้ำตาลอาจแกว่งขึ้นๆลงๆแบบน้ำมันดิบจนต้องคืนกำไรไปก็ได้ ไม่มีใครรู้แน่

เมื่อเข้าใจธรรมชาติของสินค้าที่มีความผันผวนแล้วก็มาดูเทคนิคในการเทรดกัน เทคนิคที่ลุงแมวน้ำใช้ในการเทรดสินค้าจำพวกนี้ก็คือ

เทคนิคที่ 1 หลีกเลี่ยง

หลีกเลี่ยง เปลี่ยนไปเทรดอย่างอื่นแทน พูดแล้วก็เหมือนกำปั้นทุบดิน แต่ก็เป็นความจริง สินค้าตัวใดที่ประวัติแรงดี มีกำไรสูง ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าต่อไปจะเป็นเช่นนั้น แต่สินค้าตัวใดที่ประวัติเก่าไม่ค่อยดี ให้ระวังเอาไว้ว่าอนาคตก็จะซ้ำรอยเดิม นี่คือแนวคิดของลุงแมวน้ำซึ่งถือหลักปลอดภัยเอาไว้ก่อน ผลิตภัณฑ์ในโลกการลงทุนมีให้เลือกเทรดมากมาย สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดประวัติไม่ดีควรหลีกเลี่ยง อย่าไปทนเทรด ยกตัวอย่างเช่นน้ำมันดิบ CL ที่เห็นรายงานในพอร์ตจำลองขาดทุนหนักเป็นเวลานานก็เพราะว่าพอร์ตจำลองนั้นดำเนินไปเรื่อยๆเพื่อให้นักลงทุนเอาไว้ศึกษา แต่หากจะให้เทรดจริงๆลุงแมวน้ำเลือกเทรดอย่างอื่นดีกว่า ไม่จะเป็นต้องไปเสี่ยงกับสินค้าที่ประวัติไม่สวย


เทคนิคที่ 2 ใช้ระบบสัญญาณซื้อขายที่ช้าลง

ใช้ระบบสัญญาณที่ช้าลง แนวคิดนี้ก็คือการพยายามลดสัญญาณหลอกให้เหลือน้อยลงนั่นเอง การใช้ระบบสัญญาณที่มีความไวน้อยลงจะทำให้เกิดสัญญาณซื้อขายช้าลง เมื่อสัญญาณซื้อขายเกิดช้าลง โอกาสเกิดสัญญาณหลอกก็น้อยลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นแทนที่จะใช้ระบบ PnT 1 ที่ใช้เส้นซิกแซก 1% ก็เปลี่ยนมาใช้ PnT 3 หรือใช้เส้นซิกแซก 3% แทนนั่นเอง ลองดูผลเปรียบเทียบกัน ภาพต่อไปนี้เป็นการเทรดข้าวสาลี (W)




แท่งเขียวแท่งแดงคือการเกิดสัญญาณซื้อและขายในระบบ PnT 1 ส่วนริบบอน (แถบด้านล่าง) สีน้ำเงินกับสีแดงแทนการเกิดสัญญาณซื้อและขายในระบบ PnT 3

จากภาพ จะเห็นว่าทั้งสองระบบให้ผลกำไรพอๆกัน คือ 45 จุด แต่ที่แตกต่างกันก็คือระบบ PnT 1 ซื้อขายหลายครั้ง ส่วนระบบ PnT 3 นั้นขายเพียงครั้งเดียว ดังนั้นเสียค่าคอมมิชชั่นน้อยกว่า กำไรจากระบบ PnT 3 จึงมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อเสียเกี่ยวกับระบบสัญญาณช้าที่ต้องทราบเอาไว้ 2 ข้อ คือ ข้อแรก ระบบที่มีความไวน้อยกว่า สัญญาณซื้อขายจะเกิดช้ากว่า คือสัญญาณซื้อก็เกิดช้ากว่า สัญญาณขายก็เกิดช้ากว่า ผลของการใช้ระบบสัญญาณช้าอาจทำให้ขาดทุนหนักได้ดังภาพต่อไปนี้




ส่วนที่แรเงาสีชมพูนั้น ระบบ PnT 1 เกิดสัญญาณซื้อและขายหลายครั้ง แต่ระบบ PnT 3 เกิดสัญญาณซื้อเพียงครั้งเดียวแล้วถือยาวไปขายเอาปลายเดือนมีนาคม ผลก็คือระบบ PnT 3 ให้ผลขาดทุนถึง -43 จุด

ข้อเสียข้อต่อมาของระบบสัญญาณช้าคือเสียสุขภาพจิต กล่าวคือ เนื่องจากระบบสัญญาณช้านั้นสัญญาณขายอยู่ลึก ขณะที่ยังไม่ถึงสัญญาณขายนั้นเป็นช่วงที่ทำใจได้ยากเพราะเราจะเห็นว่าพอร์ตของเรานั้นขาดทุน คืนกำไร หรือว่า draw down (แล้วแต่จะเรียก) ไปมาก ทำให้เสียสุขภาพจิต ผู้ที่ไม่เคยชินหรือไม่มีการฝึกฝนให้เทรดด้วยระบบสัญญาณช้ามาก่อน เมื่อใช้ระบบสัญญาณช้าแล้วพอร์ตเกิดการ draw down อาจเครียดมาก ทำให้เสียสุขภาพจิต

ข้อเสียของระบบที่ช้าจึงเป็นที่มาของเทคนิคข้อที่ 3 นั่นคือ


เทคนิคที่ 3 เข้าตั้งแต่คลื่นต้น

เทคนิคที่ 2 และ 3 นี้ต้องใช้ร่วมกันเสมอ คลื่นต้น คือ คลื่น 1 คลื่น 2 หรือว่าต้นคลื่น 3 เพราะหากใช้ระบบสัญญาณที่ช้าแต่ไปเข้าคลื่นหลัง เข้ากลางคลื่น หรือเข้าปลายคลื่น ผลขาดทุนจะหนักยิ่งกว่าใช้ PnT 1 เสียอีก ดังนั้นการเทรดด้วยระบบสัญญาณที่ช้าจำเป็นต้องเข้าตั้งแต่คลื่นต้นเสมอเพื่อให้สะสมกำไรได้มากพอในคลื่น 3 และรับมือการคืนกำไรในคลื่นหลังจากนั้น

ดังนั้นหากผู้ที่จะเทรดสินค้าผันผวนต้องมีความสุขุม อดทน หนักแน่น รู้จักรอเวลา และต้องนับคลื่นเป็น เพื่อจับจังหวะเข้าเทรดตอนคลื่นต้นได้

ลองดูตัวอย่า CL ที่เทรดด้วยเทคนิค 2 และ 3 ร่วมกัน เข้าเทรดประมาณเดือนเมษายน 2009 หลังจากที่จบขาลงยาวและมีสัญญาณกลับทิศเป็นขาขึ้นแล้ว ผลเป็นดังนี้





ช่วงที่แรเงาสีน้ำเงินนั้นเปรียบเทียบการเทรด 3 ระบบ คือ PnT 0.2 คือใช้เส้นซิกแซก 0.2% ซึ่งก็คือระบบซื้อขายไวนั่นเอง กับอีกสองระบบคือ PnT 1 และ PnT 3

จะเห็นว่าระบบที่ไวไม่เป็นผลดี เพราะแทนที่ความไวของระบบจะเท่าทันความผันผวนแต่ปรากฏว่าก็ยังไม่ทันอยู่ดี ทำให้ยิ่งเกิดสัญญาณหลอกมากครั้ง ขาดทุนถึง 18,790 ดอลลาร์ (ยังไม่รวมค่าคอมมิชชัน) เกิดการเทรดไป 39 ครั้ง หากรวมค่าคอมมิชชันเข้าไปด้วยจะยิ่งขาดทุนมากกว่านี้

ทั้งสามระบบคิดผลกำไรขาดทุนเป็นจำนวนเงินออกมาแล้วแม้จะใช้ระบบ PnT 3 ก็ยังขาดทุนแต่ว่าขาดทุนน้อยกว่า คือขาดทุน 1,800 ดอลลาร์ (ซื้อขาย 12 ครั้ง) ส่วนระบบ PnT 1 ขาดทุน 12,640 ดอลลาร์ (ซื้อขาย 26 ครั้ง ยังไม่รวมค่าคอมมิชชัน)


การเทรดกองทุนรวม

การเทรดกองทุนรวมต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศหรือ FIF (foreign investment fund) นั้น ไม่เหมาะที่จะเทรดด้วยด้วยระบบสัญญาณ PnT 1 เนื่องจากกองทุนรวมมีข้อจำกัดหลายประการ คือ
  1. รายงานค่า NAV ล่าช้า โดยเฉพาะกองทุนรวม FIF กว่าจะรู้ค่า NAV ก็อาจจะหลายวันให้หลัง ทำให้คำนวณสัญญาณ ณ สิ้นวันทำการนั้นๆไม่ได้
  2. การชำระเงินอาจนาน กองทุนรวม FIF มักจ่ายเงินแก่ผู้ถือหน่วยช้า เช่น T+5 หรือบางกองทุนก็เเป็น T+7 ซึ่งกว่าจะได้เงินเข้ามาบางทีเกิดสัญญาณรอบใหม่ไปแล้ว ทำให้มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดที่จะเข้าซื้อขายตามสัญญาณ
  3. ผู้ลงทุนในกองทุนมักเป็นผู้ที่ต้องการลงทุนในช่วงเวลาที่ค่อนข้างนาน ระบบ PnT 1 เกิดสัญญาณซื้อขายค่อนข้างเร็ว ทำให้ฝืนกับนิสัยการลงทุนของผู้ลงทุนเอง
  4. กองทุนรวม FIF บางกองค่าคอมมิชชั่น (หรืออาจเรียกว่าค่า front end, back end) แพง คือแพงกว่าค่าคอมมิชชันซื้อขายหุ้นทั่วไป การซื้อขายบ่อยทำให้ขาดทุนได้

ด้วยเหตุนี้การเทรดกองทุนรวมต่างๆโดยเฉพาะ FIF จึงมักไม่เหมาะที่จะเทรดด้วยระบบ PnT 1 ควรใช้แนวคิดระบบที่ช้าลงและเข้าคลื่นต้นเหมือนกับการเทรดสินค้าผันผวนจึงจะเหมาะสมกว่า

สำหรับระบบที่ช้าลงนั้นก็มีได้หลายแบบ PnT 3 นั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ลุงแมวน้ำนำเสนอและคำนวณให้ดู แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมีความรู้เกี่ยวกับระบบสัญญาณและการเขียนโปรแกรมเรายังสามารถออกแบบระบบหรือดัดแปลงระบบได้อีกหลายแนวทางให้ได้ระบบที่ช้าลงและข้ามสัญญาณหลอกไปได้ แม้แต่ PnT 5 (ใช้เส้น 5% zigzag) ซึ่งช่วงการ draw down ลึกมาก หากใช้ด้วยความเข้าใจและมีประสบการณ์ก็สามารถใช้กับการเทรดกองทุนรวมได้ แต่หากใช้อย่างไม่เข้าใจจะเสียสุขภาพจิตมาก





Monday, May 16, 2011

13/05/2011 - 17/05/2011 * การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (1)

ตลาดหุ้น ตลาด AFET และ TFEX ของไทยทำการจนถึงวันที่ 13 จากนั้นเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ดังนั้นข้อมูลในวันที่ 16-17 จึงมีเพียงข้อมูลของตลาดต่างประเทศ

13/05/2011

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,084.96 จุด ลดลง 1.31 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 30 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของดัชนีนิกเกอิ (NK) เกิดสัญญาณขาย ดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index) ก็เกิดสัญญาณขาย

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นลุงแมวน้ำยังมองเช่นเดิมว่าในระดับคลื่นใหญ่เป็นขาขึ้นอยู่ ดังนั้นจึงเทรดด้านซื้อ (ด้าน long position) เพียงด้านเดียว จึงเพียงปิดสัญญาซื้อไป

ส่วนดัชนีดอลลาร์ สรอ นั้น หลังจากที่หลุดแนวรับใหญ่ไปแล้วลุงแมวน้ำมีความเห็นว่าน่าจะลงได้อีกยาว แต่ในทางการนับคลื่นยังถือว่าไม่ชัดเจนนัก ต้องถือข้อบ่งชี้ที่เป็นรูปธรรมเป็นหลักเนื่องจากความคิดอาจแฝงอคติได้ ดังนั้นยังคงใช้กลยุทธ์เดิมไปก่อนคือกลยุทธ์ขาขึ้น เทรดด้านซื้อเพียงขาเดียว เมื่อสัญญาณซื้อมาจึงเปิดสัญญาซื้อไป

ด้านตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นแถบอเมริกาปิดแดงเป็นส่วนใหญ่ ด้านยุโรปปิดเขียวและแดงคละกัน และเอเชียปิดค่อนไปทางเขียว

ดัชนีในระดับภูมิภาควันนี้มีสัญญาณขาย ได้แก่ ดัชนี Dow Jone's Global Index (W1DOW) ดัชนียุโรปไม่รวมอังกฤษ (E2DOW) ก็เกิดสัญญาณขาย



การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ หรือกองทุนที่มีราคาผันผวน (1)

เมื่อสองสามเดือนก่อน ลุงแมวน้ำมีโอกาสเล็ดรอดเข้าไปฟังการสัมมนาเกี่ยวกับกองทุนรวมของ บลจ แห่งหนึ่ง ที่บอกว่าเล็ดรอดเพราะว่าปกติเขาไม่ให้แมวน้ำเข้าฟัง ลุงแมวน้ำก็ได้แต่แอบๆ ทำตัวเล็กๆ ซ่อนอยู่หลังผ้าม่านเพราะความอยากฟังเพื่อหาความรู้

หลังเลิกงาน ผู้เข้าฟังหลายท่านก็กรูกันเข้ามาซักถามผู้จัดการกองทุนเป็นการส่วนตัว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกองทุนน้ำมัน ช่วงนั้นกองทุนน้ำมันกำลังฮิตติดลม (ที่จริงช่วงนี้ก็ยังฮิตอยู่) คงยังจำกันได้ถึงช่วงที่ราคาน้่ำมันดิบ WTI แกว่งอยู่ในกรอบ 70-90 ดอลลาร์/บาเรล ช่วงนั้นแกว่งขึ้นแกว่งลงอยู่แถวนี้พักใหญ่ ใครเข้าที่ราคาสูงเมื่อถึงเวลาราคาน้ำมันลงก็ตกใจเพราะค่า NAV ของกองทุนหดหายไปพอสมควร

"คุณจ๊ะ" หญิงมีอายุคนหนึ่งพูดกับผู้จัดการกองทุน "ถือกองทุนน้ำมันมาหลายเดือนแล้ว ยังขาดทุนอยู่เลย แล้วอย่างนี้จะมีโอกาสได้กำไรไหม"

"คือ อ้า" ผู้จัดการกองทุนคิดอยู่นานก่อนตอบ "ที่จริงกองทุนน้ำมันนี่ต้องเล่นรอบครับ เทรดดิงน่ะครับ ขึ้นก็ขาย ลงก็ซื้อ"

"อ้าว แล้วทำไมตอนซื้อไม่เห็นมีใครบอก" หญิงสูงอายุพูดอีก "แล้วที่ว่าขึ้นขายลงซื้อน่ะ ตอนลงให้ซื้อที่ราคาเท่าไร ตอนขึ้นให้ขายที่ราคาเท่าไร ใครจะบอกฉันล่ะ ฉันจะได้ทำได้ถูก"

"เรื่องแบบนี้ต้องตัดสินใจเอาเองครับ ราคาน้ำมันผันผวน คงบอกล่วงหน้าไม่ได้ว่าต้องซื้อเมื่อไรต้องขายเมื่อไร" ผู้จัดการตอบ

"อ้าว บลา บลา บลา..."

สุดท้ายหญิงสูงอายุและกลุ่มที่ติดกองทุนน้ำมันอยู่ก็กลับไปทั้งๆที่ยังไม่หายข้องใจว่าเมื่อไรตนจะมีกำไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ลุงแมวน้ำยกเรื่องนี้ขึ้นมานอกจากเพื่อเป็นการเกริ่นถึงเรื่องการลงทุนในตลาดผันผวนแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็อยากสะท้อนให้เห็นภาพการลงทุนของนักลงทุนไทยด้วยว่าทางฝ่ายผู้ลงทุนเองบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ กับทางฝ่ายที่จัดการลงทุนหรือสนับสนุนการลงทุนบางส่วนก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนได้ไม่เพียงพอเช่นกัน คงต้องช่วยๆกันพัฒนาต่อไปอีก การลงทุนของนักลงทุนรายย่อยจึงจะเป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงในชีวิตที่แท้จริง ไม่ใช่การวัดดวงหรือการพนัน


เมื่อวันก่อน ในบทความ 2 เรื่องก่อนหน้านี้ เราได้คุยกันไปถึงเรื่องที่ว่า ตลาดหุ้นในปัจจุบันผันผวนกว่าเมื่อก่อนหรือไม่ กับอีกเรื่องหนึ่งก็คือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนกว่าราคาหุ้นจริงหรือไม่ ก็คงได้คำตอบกันไปแล้วว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันไม่ได้ผันผวนกว่าในอดีต แต่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนกว่าตลาดหุ้นไทยจริง ที่เน้นว่าตลาดหุ้นไทยก็เพราะว่าลุงแมวน้ำแสดงข้อมูลเปรียบเทียบราคาสินค้าโภคภัณฑ์กับดัชนีเซ็ต ก็คงสรุปได้แค่นั้น จะไปตีความในเชิงกว้างว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนกว่าตลาดหุ้นทั้งโลกไม่ได้เพราะว่าตลาดหุ้นแต่ละประเทศก็มีความผันผวนต่างกัน

ไม่ว่าสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้น หรือกองทุนก็ตาม หากราคา (หรือ NAV ในกรณีกองทุน) ผันผวนมาก การกะเก็งจังหวะซื้อขายทำได้ยาก ยิ่งผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมส่วนหนึ่งเป็นพวกที่หลีกเลี่ยงความผันผวนจากตลาดหุ้น คิดว่ากองทุนรวมไม่ค่อยหวือหวา น่าอุ่นใจกว่า พอมาเจอราคาน้ำมันดิบและค่า NAV ของกองทุนน้ำมันก็ทำใจได้ยาก หากจะให้ทำแบบเทรดดิงโดยกะเก็งจังหวะซื้อๆขายๆคงทำได้ยากเพราะไม่มีความชำนาญ ประกอบกับยิ่งเป็นลักษณะกองทุนรวมที่ค่า NAV รายงานค่อนข้างล่าช้า กว่าจะรู้ค่า NAV ก็อีกหลายวันให้หลัง การคิดหรือตัดสินใจอะไรโดยดูจาก NAV ย่อมไม่ทันการ


การเทรดในตลาดที่ราคาผันผวนแม้จะมีระบบช่วยก็ยังถือว่ายาก การเทรดด้วยระบบตามแนวโน้ม (trend following system) จะให้ผลไม่ค่อยดีนักเนื่องจากระบบสัญญาณติดตามความผันผวนค่อยทัน ผลก็คือเกิดสัญญาณซื้อขายที่เป็นสัญญาณหลอกหรือ false signal ยิ่งเกิดสัญญาณหลอกบ่อยเพียงใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่พอร์ตลงทุนก็ยิ่งมากเท่านั้น อีกประการก็คือ การแกว่งตัวแรงของราคาทำให้เราต้องขายหรือปิดสัญญาในราคาที่ลึก ลองคิดดูว่าหากราคาหุ้นร่วงมาตลอดทั้งวัน เรารอไปขายหรือปิดสัญญาที่สิ้นวันตามระบบ ราคาที่ขายได้ในตอนท้ายตลาดอาจทำให้ขาดทุนได้ลึกมาก

ลองมาดูภาพนี้กัน



ภาพนี้เป็นราคาฟิวเจอร์สน้ำมันดิบ (CL) พร้อมกับรายงานพอร์ตลงทุนของลุงแมวน้ำ ลงทุนด้วยระบบสัญญาณลุงแมวน้ำ (ไม่ใช่ PNT 1.10 เนื่องจากลุงแมวน้ำไม่ได้ทำข้อมูล PNT 1.10 เอาไว้ แต่ก็น่าจะขาดทุนพอๆกัน จึงนำเอามาให้ดูแทน) พอร์ตลงทุนน้ำมันดิบนี้เทียบกันระหว่างสองกลยุทธ์ สีเหลืองคือเทรดด้านลอง (lomg position) เท่านั้น ไม่เทรดด้านชอร์ต ซึ่งคล้ายกับการซื้อขายหุ้น กับอีกช่องหนึ่งคือสีเนื้อ เป็นการเทรดทั้งด้านลองและด้านชอร์ต

จะเห็นว่ากลยุทธ์ที่เทรดด้านลองด้านเดียวนั้นขาดทุนไป 7,660 ดอลลาร์ ส่วนด้านที่ใช้กลยุทธ์เทรดทั้งด้านลองและด้านชอร์ตนั้นยิ่งขาดทุนหนัก คือ 51,050 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,500,000 บาท) ยิ่งเทรดก็ยิ่งขาดทุนหนัก

นี่ก็คือปัญหาของการเทรดตามระบบสัญญาณในตลาดที่มีความผันผวนสูง

แนวทางการแก้ระบบสัญญาณให้ไวขึ้นเพื่อเทรดในตลาดผันผวนนั้น อย่างเช่น จากระบบ PnT 1.10 ที่ใช้เส้นซิกแซก 1% (1% zigzag) ก็ลดลงมา อาจเหลือเพียงใช้ 0.5% zigzag สัญญาณซื้อขายจะได้เกิดไวขึ้น แนวคิดนี้ในความเห็นของลุงแมวน้ำคิดว่าไม่ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะขาดทุนหนักยิ่งขึ้นเนื่องจากระบบที่ไวขึ้นการเกิดสัญญาณหลอกก็จะถี่ยิ่งขึ้น ยิ่งสัญญาณหลอกมากเพียงใดก็ยิ่งขาดทุนมาก ลุงแมวน้ำจึงมองว่าการใช้ระบบสัญญาณให้ไวขึ้นคงแก้ปัญหาไม่ได้

เหตุผลอีกประการก็คือ ระบบการเทรดแบบตามแนวโน้มนี้หากใช้ราคาปิดของแต่ละวันเป็นข้อมูล หรือที่เรียกว่าใช้ข้อมูล end of day นั้นโดยธรรมชาติของระบบเองต้องการเวลาช่วงหนึ่งในการติดตามแนวโน้ม หากเปรียบระบบตามแนวโน้มด้วยข้อมูลราคาปิดของแต่ละวันเป็นเหมือนการขับรถเก๋งในถนน หากการจราจรไปช้าๆ (เปรียบได้กับตลาดที่ผันผวนน้อย) เมื่อเราขับรถเราก็ทิ้งช่วงห่างจากคันหน้าพอสมควร

แต่หากไปขับในทางหลวงระหว่างจังหวัดที่รถใช้ความเร็วสูง (เปรียบเหมือนตลาดที่ผันผวนสูง) การขับรถตามคันหน้าต้องเผื่อระยะให้มากยิ่งขึ้นไปอีก หากขับจ่อจี้ไปติดๆเมื่อรถคันหน้าเลี้ยงหรือเบรกเราจะหยุดไม่ทัน โอกาสชนท้ายมีสูงมาก

ฉันใดก็ฉันนั้น ระบบตามแนวโน้มด้วยข้อมูลราคาปิดรายวันนั้นต้องการระยะห่างพอสมควร หรือก็คือตัวระบบเองต้องมีความไวของสัญญาณอยู่ที่ระดับหนึ่ง จะไปเร่งรัดให้ไวยิ่งกว่านั้นอีกก็เป็นการฝืนธรรมชาติของระบบและอาจยิ่งก่อความเสียหาย

เทคนิคในการเทรดในตลาดที่ผันผวนสูงเป็นอย่างไร โปรดติดตามในวันถัดไป








16/05/2011


กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของดัชนี S&P 500 เกิดสัญญาณขาย

ตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่ปิดแดง ดัชนี S&P 500 (เป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาตัวหนึ่งที่คำนวณจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 500) และแนสแดก (Nasdaq) ของสหรัฐอเมริกาก็เกิดสัญญาณขาย (แต่ดัชนีดาวโจนส์ยังเป็นสัญญาณซื้ออยู่) กรีซยังร่วงแรงเนื่องจากเรื่องปัญหาของประเทศ

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมาหลายวัน ทำให้ดัชนีในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคทยอยกันเกิดสัญญาณขาย สำหรับวันนี้ยังมีดัชนีของตลาดหุ้นนิกเกอิ (Nikkei) ของประเทศญี่ปุ่น และดัชนีคอสปี (Kospi) ของเกาหลีใต้ที่เกิดสัญญาณขาย

ในระดับภูมิภาค ดัชนีเอเชียใต้ (P3DOW) และดัชนีกลุ่มตะวันออกกลางกลุ่มจีซีซี (DJGCC50D) ก็เกิดสัญญาณขาย






17/05/2011


กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของดัชนีดาวโจนส์ (DJ) และฟิวเจอร์สทองคำ (GC) เกิดสัญญาณขาย ทั้งตลาดหุนและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวกันถ้วนหน้าในระยะนี้ แต่ลุงแมวน้ำนับคลื่นของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาแล้วคิดว่าน่าจะยังไม่จบคลื่นใหญ่ ดังนั้นจึงปิดสัญญาซื้อไปเท่านั้น ไม่ได้เปิดสัญญาขาย

ส่วนทองคำนั้นเดิมทีลุงแมวน้ำคิดว่าจบคลื่นไปแล้ว แต่ในที่สุดความจริงก็ออกมาว่ายังไม่จบ ขณะนี้ดูยากแล้วว่าทองคำ GC จบคลื่นใหญ่ไปแล้วที่ราคา 1,557 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ที่ผ่านมานี้หรือเปล่า ประเด็นนี้อาจต้องไปพิจารณาค่าเงินดอลลาร์ สรอ ประกอบด้วย หากเงินดอลลาร์กลับทิศเป็นขาขึ้น ทองคำอาจจบคลื่นได้ แต่หากเงินดอลลาร์ยังไม่ได้กลับทิศ คือยังเป็นแนวโน้มขาลงอยู่ เพียงแต่มีเด้งขึ้นมาบ้างเท่านั้น หากเป็นกรณีหลังทองคำก็ยังไม่น่าจบคลื่นใหญ่ ลุงแมวน้ำให้น้ำหนักไปทางอย่างหลังมากกว่า ดังนั้นจึงปรับมุมมองเกี่ยวกับทองคำเป็นว่ายังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอยู่ ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่เปิดสัญญาขายทองคำ

ตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่ปิดแดง ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jone's Industrial Index, DJI) ของสหรัฐอเมริกา ดัชนีแดกซ์ (DAX) ของเยอรมนี และดัชนีฟุตซี 100 (FTSE 100) ของอังกฤษเกิดสัญญาณขาย

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมาหลายวัน ทำให้ดัชนีในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคทยอยกันเกิดสัญญาณขาย สำหรับวันนี้ยังมีดัชนีของตลาดหุ้นนิกเกอิ (Nikkei) ของประเทศญี่ปุ่น และดัชนีคอสปี (Kospi) ของเกาหลีใต้ที่เกิดสัญญาณขาย

ในระดับภูมิภาค ดัชนีเอเชียใต้ (P3DOW) และดัชนีกลุ่มตะวันออกกลางกลุ่มจีซีซี (DJGCC50D) ก็เกิดสัญญาณขาย