Thursday, February 24, 2011

22/02/2011

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 987.21 จุด ลดลง 8.21 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ CPF, IVL ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 21 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ถั่วเหลือง (S) และข้าวสาลี (W) เกิดสัญญาณขาย ช่วงนี้สินค้าเกษตรหลายตัวปรับราคาลงบ้าง

กองทุนอีทีเอฟ DBO ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในน้ำมันดิบ เกิดสัญญาณซื้อ

ด้านตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่ตลาดปิดแดง

วันนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด สาเหตุน่าจะมาจากปัญหาการก่อความไม่สงบในประเทศลิเบีย ประเทศลิเบียนี้เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกาตอนบน มีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรสำคัญ ปกครองโดยผู้นำโมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นวีรบุรุษในดวงใจของชาวลิเบียเนื่องจากต่อกรกับโลกตะวันตกชนิดไม่ยอมก้มหัวให้ แต่มาวันนี้ผู้นำกัดดาฟีกลับเป็นคนที่ประชาชนต้องการขับไล่ด้วยข้อหาทรราชย์

ทุกวันนี้การก่อความไม่สงบในโลกอาหรับได้ลุกลามไปหลายประเทศแล้ว ที่ีตกเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ก็คืออียิปต์ บาห์เรน และตามมาด้วยลิเบีย วันนี้เหตุการณ์ในอียิปต์คลี่คลายไปแล้วแต่เหตุการณ์ไม่สงบในลิเบียกลับรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้นำสั่งกองทัพปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันประชาชนก็ลุกฮือและควบคุมเมืองสำคัญที่เป็นเมืองการผลิตน้ำมันเอาไว้ได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในโลกพุ่งอย่างรวดเร็ว ทองคำก็พุ่ง ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเนื่องจากเกรงเหตุการณ์ความไม่สงบจะบานปลายและแพร่ระบาดไปในกลุ่มประเทศโลกอาหรับอื่นๆ และทำให้ดัชนีสำคัญหลายตัวปรับตัวลดลงจนเกิดสัญญาณขาย ซึ่งสามารถดูได้จารายงานประจำวัน อาทิ ดัชนีตลาดกลุ่มยุโรป ดัชนี MSCI All country World เป็นต้น




Tuesday, February 22, 2011

21/02/2011 * มองเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2011 (7)

วันนี้ตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาหยุด ดังนั้นข้อมูลในตารางบางรายการอาจเป็นข้อมูลของวันก่อนหน้านี้ โปรดสังเกตที่วันที่

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 995.87 จุด เพิ่มขึ้น 0.10 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ HMPRO, RATCH ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 17 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส ฟิวเจอร์สของ SCB เกิดสัญญาณซื้อ

ด้านตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่ตลาดปิดแดง ดัชนีของแอฟริกาใต้ (ZADOWD) เกิดสัญญาณซื้อและดัชนีของประเทศออสเตรย (ATX) เกิดสัญญาณขาย


มองเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2011 (7)

ในตอนที่แล้วเราได้ไปพิจารณาในภาพกว้างหรือภาพใหญ่ของประเทศในย่านต่างๆ ยังเหลืออีกสองย่านที่เราจะไปพิจารณากัน นั่นคือ ทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ข้อมูลในกลุ่มประเทศย่านแอฟริกาและตะวันออกกลางนี้ลุงแมวน้ำไม่มีฐานข้อมูลที่จะนำมาเขียนเป็นกราฟร่วมในภาพเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบกันได้ คงมีเพียงกราฟของดัชนีตลาดหลักทรัพย์รายประเทศเท่านั้น เราไปดูในกลุ่มแอฟริกากันก่อน

กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกานั้นยังแบ่งออกเป็นภาค คือ แอฟริกาซีกเหนือที่จัดอยู่ในประเทศโลกอาหรับ เช่น อียิปต์ มอรอกโค ลิเบีย ตูนีเซีย ส่วนประเทศอื่นๆในแอฟริกาที่มีศักยภาพในการลงทุนและไม่ได้อยู่ในกลุ่มโลกอาหรับ ได้แก่ แองโกลา คองโก อิควิทอเรียลกีนี กานา เคนยา มาลี ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และแซมเบีย

กราฟของหลายๆประเทศที่กล่าวมานี้ลุงแมวน้ำคงหามาให้ดูไม่ได้ทั้งหมด คงเอามาดูกันเฉพาะที่บางประเทศเท่านั้น มาดูกราฟของประเทศแอฟริกาใต้กัน



ภาพที่เห็นข้างบนเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของแอฟริกาใต้ในรอบสิบกว่าปี เลขสองหลักที่แกน X ของภาพเป็นเลขปี ค.ศ. เช่น Jan/98 ก็หมายเดือนเดือนมกราคม 1998 จะเห็นว่าดัชนีอยู่ในระดับ 30,000 กว่าจุด โดยดัชนีตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วภายในช่วงสี่ห้าปีมานี้เอง สะท้อนให้เห็นถึงเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าไปในประเทศนี้ การเก็งกำไรอย่างรุนแรงและภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลพวงของการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด หากนับคลื่นคาดว่าปัจจุบันน่าจะอยู่ในคลื่น 5 ใหญ่ซึ่งคลื่น 5 นี้จะไปได้ไกลอีกเพียงใดก็ยากที่จะตอบได้




มาดูทางด้านประเทศอียิปต์บ้าง จากภาพด้านบน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอียิปต์น่าจะจบคลื่น 5 ไปแล้ว ขณะนี้น่าจะกำลังอยู่ในคลื่นขาลงใหญ่ (A-B-C ใหญ่) ซึ่งกว่าจะจบคลื่น C ใหญ่คงอีกนาน ภายในปัี 2011 นี้กองทุนรวมที่เกี่ยวกับอียิปต์ควรรอดูไปก่อน


มาดูทางด้านกลุ่มตะวันออกกลางกันบ้าง ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางมีศักยภาพในการลงทุนมากน้อยต่างกัน ที่มีชื่อเป็นที่คุ้นหูก็ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี เลบานอน ซีเรีย รวมไปถึงอิสราเอลและจอร์แดน ลุงแมวน้ำคงนำภาพกราฟดัชนีมาให้ดูกันเฉพาะบางประเทศเท่านั้น

เริ่มต้นกันด้วยประเทศตุรกี ดังภาพต่อไปนี้



ประเทศตุรกีเป็นประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพยีงสิบปีดัชนีตลาดเติบโตจากหลักพันไปหกหมื่นกว่า รุนแรงพอๆกับบราซิล ในช่วงที่ผ่านมาตุรกีถือว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ที่เนื้อหอม นักลงทุนและกองทุนต่างๆเข้าไปเก็งกำไรกันอย่างดุเดือด ดูดัชนีก็น่าจะพอทราบได้

ในอดีตที่ผ่านมา ตุรกีมีอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรงมาก เมื่อหลายปีก่อนคณะละครสัตว์ของลุงแมวน้ำเดินทางไปเปิดการแสดงยังต่างประเทศ ลุงแมวน้ำก็มีโอกาสติดสอยห้อยตามไปด้วยและได้ไปเดินเล่นรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินอิสตันบุลของตุรกี ในสมัยนั้นอัตราเงินเฟ้อรุนแรงมาก เงินลีรา (Lira) ของตุรกีด้อยค่าอย่างหนัก 1 ดอลลาร์ สรอ แลกได้ประมาณ 1,600,000 ลีรา (หนึ่งล้านหกแสน ไม่ได้พิมพ์ผิด) แฮมเบอร์เกอร์ราคาถูกที่สุดในร้านค้าภายในสนามบินราคาอันละ 1,800,000 ลีรา ถ้าแพงขึ้นมาหน่อยก็เป็นอันละ 2 ล้านหรือ 3 ล้านลีรา และภายในเวลาไม่นานราคาสินค้าก็ปรับเปลี่ยนเป็นแพงขึ้นไปอีกเพราะเงินเฟ้อทะยานอย่างรวดเร็ว ลุงแมวน้ำยังคิดเล่นๆว่าถ้าเอาเงินดอลลาร์ สรอ ไปแลกสัก 2-3 ดอลลาร์ ลุงแมวน้ำก็สามารถจับเงินล้านได้อย่างสบายๆ

เงินลีราในปัจจุบันเป็นเงินลีราใหม่ มีการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเสียใหม่เพือให้เกิดความสะดวกในการใช้และแลกเปลี่ยน

ตลาดตุรกีน่าจะกำลังอยู่ในคลื่น 5 ใหญ่ จะจบเมื่อไรก็ไม่รู้ ถือได้ว่าอันตรายแล้ว

จากนั้นก็มาดูทางด้านประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอาหรับ ซาอุดิอารเบียกันบ้าง ดังภาพต่อไปนี้



กราฟดัชนีตลาดของซาอุดิอารเบียดูแปลกเนื่องจากนับแล้วไม่ได้ 1-2-3-4-5 เหมือนกับว่าคลื่น 3 กับ 5 ซ้อนอยู่ด้วยกัน คือเมื่อพุ่งถึงยอดคลื่นแล้วก็ดำดิ่งลงมาเลย

ดัชนีของซาอุดิอารเบียไหลลงมาจากสองหมื่นกว่าจุดเหลือสี่พันกว่าจุด ปัจจุบันอยู่ในระดับห้าพันกว่าจุด จากการนับคลื่นเหมือนกันจะจบคลื่น C ไปแล้ว ขณะนี้อาจจะกำลังอยู่ในคลื่น 1

ทางด้านสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์หรือที่เรานิยมเรียกกันสั้นๆว่ายูเออี (UAE) ดังภาพต่อไปนี้


ดัชนีตลาด UAE ก็ดูไม่ปกติ ไม่เป็น 1-2-3-4-5 ให้เห็นชัดๆ หากคิดว่ายอดสูงยอดแรก (ปี 2005 ต่อ 2006) นั้นเป็นยอด 3 และ 5 ที่เกิดชิดกัน ปัจจุบันดัชนีตลาดของ UAE ก็น่าจะจบคลื่น C ไปแล้วและอยู่ในคลื่น 1-2

หรือหากมองว่ายอดคลื่นที่ปี 2007-2008 ไม่ใช่ยอดคลื่น B แต่ว่าเป็นยอดคลื่น 5 ที่เป็นคลื่นล้มเหลวหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า failed wave 5 คือคลื่น 5 ที่ไม่สามารถไปสูงเกินกว่าคลื่น 3 ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หากมองว่าเป็นกรณีหลังนี้ ปัจจุบันเราอาจยังไม่จบคลื่น C คงตองรอดูไปก่อนว่าเมื่อไรจะจบ แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำคิดว่าน่าจะเป็นกรณีแรกมากกว่า คือ เรากำลังอยู่ในคลื่น 1-2

(โปรดติดตามอ่านในวันถัดไป)