Monday, November 22, 2010

19/11/2010 * กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (5)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1008.77 จุด เพิ่มขึ้น 4.05 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ CPF ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 21 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายถั่วเหลือง (S) ลุงแมวน้ำประเมินจากกราฟ การนับคลื่น และรูปแบบกราฟของสินค้าเกษตรตัวอื่นๆด้วย คาดว่าราคาถั่วเหลืองน่าจะยังเป็นขาขึ้นอยู่ ดังนั้นในคราวนี้ลุงแมวน้ำจึงปิดสัญญาซื้อเท่านั้น ยังไม่เปิดสัญญาขาย

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ตลาดหุ้นสำคัญขึ้นบ้างลงบ้าง

กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (5)

ลุงแมวน้ำได้คุยให้ฟังเกี่ยวกับการประหยัดภาษีด้วยการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF มาแล้วหลายตอน ได้กล่าวถึงเทคนิคในการลงทุนด้วยปัจจัยทางเทคนิคหลายๆแบบ มาวันนี้เรามาดูกันว่าเทคนิคแบบต่างๆที่เราลงทุนกันนั้นสรุปแล้วช่วยประหยัดภาษีและออกดอกออกผลเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการประหยัดภาษีอย่างไรบ้าง

ลองดูในตารางต่อไปนี้ซึ่งเป็นตารางสรุปแนวทางการลงทุนใน LTF แบบต่างๆและผลตอบแทนที่ได้ ซึ่งมีทั้งผลตอบแทนจากกองทุนเอง (capital gain) และผลตอบแทนจากกองทุนรวมสิทธิประโยชน์จากภาษีด้วย เพราะว่าการลดรายจ่ายก็เท่ากับการเพิ่มรายได้ ภาษีส่วนหนึ่งที่ประหยัดได้จึงถูกนำมาบวกเข้ากับผลกำไรจากกองทุน รวมทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนทางเลือกอื่นๆ


หากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนจากเทคนิคการลงทุนในวิธีต่างๆ โดยไม่นำผลทางภาษีมาคำนวณด้วย ลุงแมวน้ำพอสรุปได้ดังนี้
  1. การเทรดกองทุน LTF แบบสับกองทุนด้วยระบบ PnT 1.10 ได้ผลไม่ดีนัก ได้ผลตอบแทนเพียง 0.82% ทั้งเหนื่อยและทั้งได้ผลตอบแทนต่ำ
  2. กลยุทธ์สับกองทุน LTF แบบนานๆสับกองทุนเสียทีหนึ่งตามแนวโน้มระยะยาวได้ผลกำไรดี (33.13% กับ 20.76%) แต่อัตราผลกำไรนี้มีความไม่แน่นอน ที่เห็นอยู่นี้คล้ายภาพลวงตาเนื่องจากจุดที่ตัดสินใจสับกองทุนนั้นต่างคนก็ต่างความคิด สับกองทุนต่างเวลากันก็ได้ผลตอบแทนต่างๆกัน ทุกคนที่เอาเทคนิคนี้ไปใช้จะไม่ได้ผลตอบแทนตามตัวเลขนี้ ผู้ที่ชำนาญในการนับคลื่นจะได้เปรียบ
  3. การลงทุนแบบทางเลือก (TDEX กับกองทุนตราสารหนี้) โดยไม่สนใจสิทธิประโนชน์ทางภาษี ให้ผลตอบแทนดี (58.48%) แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับข้อ 2 นั่นคือแต่ละคนหากนำเทคนิคนี้ไปใช้จะไม่ได้อัตราผลตอบแทนตามนี้เนื่องจากนานาจิตตัง ดังนั้นจึงมีความไม่แน่นอน ผู้ที่ชำนาญในการนับคลื่นจะได้เปรียบ
  4. การเทรด TDEX ด้วยระบบ PnT 1.10 เหมือนเทรดหุ้นทั่วไป ไม่มีการสับกองทุน ให้ผลแน่นอนเป็นรูปธรรม ใครเทรดก็ได้แบบนี้ ได้ผลตอบแทนพอใช้ได้ (17.95%)
หากนำผลของการประหยัดภาษีมาคิดด้วย โดยถือเสมือนหนึ่งว่าภาษีที่ประหยัดได้คือกำไรที่ได้เพิ่มเติมมา จากตารางเราจะพบว่าผู้ที่มีเงินเดือน 20,600 บาท แม้มีสิทธิที่จะลงทุนใน LTF ได้แต่เมื่อลงทุนแล้วก็ไม่ได้ช่วยประหยัดภาษีแต่อย่างใดเนื่องจากระดับเงินเดือนนี้ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนมากขึ้นก็ยิ่งเงินได้สุทธิตกอยู่ในช่วงที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 30% แล้วละก็จะยิ่งเห็นผลมาก ทำให้ผลตอบแทนสุทธิ (รวมเอาภาษีที่ประหยัดได้มาเป็นผลกำไรด้วย) อยู่ในอัตราที่สูง ไม่ว่าใช้เทคนิคหรือระบบอะไรก็ตามมาลงทุนใน LTF หากเงินเดือนสูง อัตราผลตอบแทนจะดีกว่าเงินเดือนที่น้อยกว่า และที่แน่นอนก็คือ การลงทุนทางเลือกหรือการลงทุนที่ไม่ใช่ลงทุนในกองทุน LTF จะไม่มีกำไรส่วนเพิ่มจากภาษีที่ประหยัดได้

ทั้งหมดที่คุยมานี้ก็เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาลงทุนของเพื่อนนักลงทุนที่ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และท้ายที่สุดนี้ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนกับ LTF เพื่อประหยัดภาษีนี้ก็มีความเสี่ยง อีกทั้งการประหยัดภาษีนี้ไม่ใช่เรื่องที่อยู่เฉยๆก็ได้มา แต่ผู้มีเงินได้ต้องเอาเงินอีกก้อนหนึ่งมาลงทุนเพื่อให้สามารถประหยัดภาษีก้อนนี้ได้ ดังนั้นการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีเท่ากับเป็นการจัดสรรการลงทุนเพิ่มเติมหรือเป็นการเพิ่มพอร์ต ส่วนนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเราลงทุนมากเกินไปหรือยัง เราพร้อมที่จะเอาเงินลงทุนอีกก้อนหนึ่งมาลงในตลาดหุ้นเพื่อประหยัดภาษีหรือไม่ อย่ามองแต่โปรโมชันล่อใจหรือมองโลกแต่เพียงด้านดีเพียงด้านเดียว ลุงแมวน้ำคิดเสมอว่าตลาดหุ้นนั้นไม่มีอะไรแน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ขนาดพยายามไม่ประมาทก็ยังพลาดพลั้งได้ ดังนั้นการวาดภาพต้องมองทั้งสองด้านเอาไว้ ว่าหากได้กำไรจะได้แค่ไหน อย่างไร หากขาดทุนแล้วจะขาดทุนได้เลวร้ายที่สุดเพียงใด

สำหรับการลงทุนในกองทุน RMF เพื่อประหยัดภาษีนั้นมีความแตกต่างจากการลงทุนใน LTF ตรงที่กฎหมายกำหนดให้ LTF ต้องลงทุนให้หุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 65% ของพอร์ตกองทุน ส่วนกองทุน RMF นั้นไม่มีข้อจำกัดเช่นนี้ ดังนั้นผู้ลงทุนในกองทุน RMF เพื่อประหยัดภาษีหากต้องการลงทุนในกองทุนที่เป็นกองหุ้น (หมายถึงลงทุนในหุ้นในสัดส่วนสูง) ก็สามารถนำเทคนิคแบบ LTF ไปใช้ได้ แต่หากจะลงทุนใน RMF ที่ไม่ใช่กองหุ้น อย่างเช่น กองตราสารหนี้ กองทอง (หมายถึงลงทุนในทองคำ) ก็ต้องพิจารณาแตกต่างกันออกไป คงไม่ต้องใช้เทคนิคแบบ LTF

ที่จริงยังมีวิธีการลงทุนใน LTF อีกวิธีหนึ่ง นั่นคือวิธีถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือที่เรียกว่า dollar cost averaging (DCA) หรือบางคนก็เรียกว่า baht cost averaging (BCA) ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่การลงทุนโดยปัจจัยทางเทคนิค และอีกประการ ผลตอบแทนที่ได้มีโอกาสเป็นภาพลวงตาได้สูง ดังนั้นจึงยังไม่นำมากล่าว แต่ลุงแมวน้ำจะนำมาคุยเป็นหัวข้อ dollar cost averaging ไปเลยในโอกาสต่อไป

ลุงแมวน้ำมีความเห็นโดยสรุปเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี LTF จากมุมมองของผู้ที่เทรดโดยใช้ระบบตามแนวโน้มและใช้ปัจจัยทางเทคนิค ดังนี้

  • การลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนใน LTF ต้องถือไว้เป็นระยะเวลา 5 ปีปฏิทินหรือนานกว่านั้น ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเมื่อถึงเวลาที่เราต้องการขายคืนหน่วยลงทุนภาวะตลาดในช่วงนั้นเป็นเช่นไร หากเป็นจังหวะที่ไม่ดี ภาษีที่ประหยัดได้อาจไม่คุ้มกับเงินต้นที่หดหายไปจากภาวะตลาดขาลง ดังนั้นหากเป็นผู้ที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษี 20% หรือสูงกว่านั้น การลุงทุนใน LTF ก็ถือว่าน่าสนใจ แต่หากเป็นผู้ที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษี 10% แล้วควรไตร่ตรองให้มากเพราะอาจไม่คุ้ม
  • ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน LTF ที่ตนเองสนใจเป็นอย่างดี การลงทุนจำเป็นต้องมีความรู้ หากคิดว่ายังมีความรู้ไม่เพียงพอก็อย่าเพิ่งลงทุนดีกว่า ศึกษาให้ดีก่อนแล้วจึงลงทุนก็ไม่สาย อย่าลงทุนเพราะมีโปรโมชันหรือของแถม
  • การเลือกลงทุนใน LTF ไม่จำเป็นต้องลงทุนตอนปลายปี (ปัจจุบันนิยมลงทุนกันในช่วงปลายปี โดยเฉพาะเดือนธันวาคม) เพราะภาวะตลาดตอนปลายปีอาจไม่ใช่ช่วงที่ดีในการเข้าลงทุนเสมอไป ควรลงทุนตามจังหวะทางเทคนิค (ซึ่งต้องศึกษา) จะลดโอกาสขาดทุนลงได้ โดยประเมินคร่าวๆเอาไว้ก่อนว่าปีนี้ต้องเสียภาษีเท่าไร จากนั้นเลือกจังหวะลงทุนที่เหมาะสมซึ่งนักลงทุนอาจใช้ปัจจัยทางเทคนิคหรือปัจจัยพื้นฐานตามแต่ที่ตนถนัดมาพิจารณา ส่วนในปลายปีอาจลงทุนเพิ่มอีกเล็กน้อยเป็นยอดเก็บตก
  • ควรพิจารณากองทุน LTF ที่ใช้อนุพันธ์เอาไว้ด้วย สำหรับเอาไว้สับกองทุนเพื่อพักเงินในช่วงตลาดขาลง อนึ่ง ควรศึกษาหรือถามเจ้าหน้าที่ขายหน่วยลงทุนให้กระจ่างว่าการสับหน่วยลงทุนนี้มีค่าใช้อย่างเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายในการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนอาจมีหรือไม่มี หรือมีแล้วเปลี่ยนแปลงได้
ส่วนการลงทุนในกองทุน RMF นั้นลุงแมวน้ำอยากฝากข้อคิดเพิ่มเติมเอาไว้ดังนี้
  • การลงทุนในกองทุน RMF เป็นการลงทุนในระยะยาว มีกองทุนที่มีความเสี่ยงมากน้องต่างกันหลายระดับให้เลือก หากต้องการความปลอดภัยสูงก็ควรลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ของภาครัฐ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อก่อนนี้เรามักคิดว่าตราสารหนี้ภาครัฐมั่นคงมาก แต่ในปัจจุบันจากปรากฏการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ ตราสารหนี้ภาครัฐที่อยู่ในสภาพง่อนแง่นก็มี ดังนั้นหากต้องการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศต้องมีความรู้ความเข้าใจพอสมควร ที่ง่ายที่สุดคือกองทุนตราสารหนี้ของทางการไทยเพราะติดตามสถานการณ์ได้ง่าย
  • หากต้องการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ เหล่านี้ควรติดตามดูผลงานของกองทุนและดัชนีราคาหุ้นเอาไว้บ้าง ไม่ควรซื้อแล้วเก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้โดยไม่สนใจอีกเลยเนื่องจากเห็นว่าเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะาอาจพลาดพลั้งได้
  • หากต้องการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีก็ควรเลือกลงทุนกับกองทุนที่มีกองทุนตราสารหนี้ให้สับเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัว เนื่องจากในบางช่วงของการลงทุนอาจเป็นตลาดขาลง ซึ่งในช่วงนั้นควรย้ายเงินมาพักเอาไว้ในที่ปลอดภัยจะเป็นการดีกว่า

Friday, November 19, 2010

18/11/2010 * กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (4)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1004.72 จุด เพิ่มขึ้น 14.59 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย BGH, EGCO, GLOW, SCB ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 20 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ยางพารา (RSS) รีบาวด์จนติดราคาเพดาน

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกรีบาวด์กันเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่รีบาวด์ดล็กน้อยไปจนระดับ 2%

ช่วงนี้ตลาดแกว่งแรง มีความเป็นไปได้ที่ดัชนี SET และดัชนีตลาดหุ้นอื่นๆจะจบคลื่นขาขึ้นไปแปล้วและเริ่มต้นคลื่น A แต่ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ คงยังบอกอะไรชัดเจนไม่ได้ ควรอยู่เฉยๆและรถอดูสัญญาณกลับทิศให้ชัดเจนเสียก่อน



กลยุทธ์การลงทุน LTF, RMF ในตลาดขาลง (4)

เมื่อวันก่อนเราคุยกันถึงเรื่องกลยุทธ์สับกองทุน LTF ในตลาดช่วงขาลง รวมทั้งนำเอาผลตอบแทนการลงทุนในช่วงเวลาต่างๆทั้งขาขึ้นและขาลงมาเปรียบเทียบกันดู ผลปรากฏว่ากลยุทธ์สับกองทุนให้ผลตอบแทนที่ดีทีเดียว แต่ปัญหาที่น่าคิดก็คือ ผลการทดสอบได้แบบนี้แล้วในชีวิตจรืงเราสามารถทำได้แบบนี้หรือไม่

กลยุทธ์สับกองทุน LTF ทฤษฎีกับชีวิตจริง

ในชีวิตจริงการลงทุนใน LTF ด้วยกลยุทธ์แบบสับกองทุนแบบถือยาว นานๆจึงจะสับกองทุนสักครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สาเหตุเพราะ

ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อใดตลาดเป็นขาขึ้น และเมื่อใดเป็นขาลง ในการทดสอบที่เราดูผลกันมาแล้ว ลุงแมวน้ำเป็นผู้กำหนดว่าตลาดเมื่อใดเป็นขาขึ้นและเมื่อใดเป็นขาลง แต่ในชีวิตจริงของผู้ลงทุนแต่ละใครจะเป็นผู้บอกว่าเมื่อใดเป็นตลาดขาลง (ควรสับกองทุนจากกองหุ้นไปสู่กองหุ้นผสมอนุพันธ์) และเมื่อใดเป็นขาขึ้น (ควรสับกองทุนกลับมาเป็นกองหุ้นอีกครั้งหนึ่ง) การสับกองทุนแบบที่ลุงแมวน้ำทำตัวอย่างให้ดูนั้นเป็นการสับกองทุนแบบนานๆครั้ง ไม่ได้สับกองทุนตามสัญญาณซื้อขาย ซึ่งเมื่อดูกราฟย้อนหลัง ทุกอย่างก็ดูง่ายและชัดเจนไปหมด แต่เมื่อใดที่เป็นสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน อะไรๆก็ดูจะฟันธงได้ยาก ผู้ที่จะสับกองทุนแบบนี้แล้วได้ผลตอบแทนที่ดีต้องเป็นผู้ที่ชำนาญเรื่องทฤษฎีคลื่นของอีเลียตอีกทั้งต้องนับคลื่นใหญ่เก่งเนื่องจากต้องมองคลื่นในภาพใหญ่ ไม่ใช่ในภาพย่อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ืทุกคนจะทำได้ดี และถึงแม้แต่ละคนจะนับได้ จุดที่ตัดสินใจสับกองทุนก็จะมีต่างๆนานา ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนตามแนวคิดกลยุทธ์สับกองทุน LTF นี้ไม่สามารถได้ผลดีอย่างเช่นที่ดูกันในตัวอย่าง แต่จะได้หลากหลายต่างๆนานา รวมทั้งอาจถึงกับขาดทุนก็เป็นได้

กลยุทธ์สับกองทุนตามระบบ PnT 1.10

หากไม่ใช้การนับคลื่นใหญ่ นักลงทุนที่คุ้นเคยกับการเทรดในระบบ PnT 1.10 อาจเกิดความคิดขึ้นมาว่าถ้าเช่นนั้นทำไมไม่สับกองทุน LTF ตามจังหวะสัญญาณซื้อขายของระบบ PnT 1.10 ให้เหมือนกันการเทรดหุ้นไปเสียเลย ต้องการใช้สัญญาณซื้อขายเหมือนการเทรดหุ้น การสับกองทุนตามสัญญาณซื้อขายทำได้ยาก สาเหตุเพราะ
  • กองทุน LTF ค่ายไทยพาณิชย์นั้นในการสับกองทุนมูลค่า NAV ที่ได้รับจะเหลื่อมกัน 3 วัน (T+3) หมายถึงเมื่อออกจากกองทุนจะได้ NAV ของวันนี้ ส่วนกองทุนที่เข้าไปนั้นจะได้ NAV ที่ T+3 ซึ่งหากเทรดตามสัญญาณ การเหลื่อมวันเช่นนี้จะกระทบต่อผลตอบแทนได้มาก ที่ควรได้กำไรก็อาจกลายเป็นขาดทุนไป
  • หากคิดใช้คู่กองทุน LTF ของค่ายกสิกรไทย เมื่อดูจากเงื่อนไข T+0 คือสับกองทุนได้ NAV เป็นของวันเดียวกัน ดูไปก็น่าจะเหมาะดี แต่ในทางปฏิบัติก็ยังยาก เนื่องจากการสับกองทุน LTF แต่ละครั้งผู้ถือหน่วยลงทุนได้ไปทำธุรกรรมที่ธนาคารเอง จะทำผ่านตู้เอทีเอ็มหรือไซเบอร์แบงกิงไม่ได้ หากบางช่วงที่เป็นช่วงไร้ทิศทางอาจเกิดสัญญาณหลอกติดๆกัน ผู้ลงทุนอาจต้องเข้าออกธนาคารทุกสองสามวัน คงไม่ใช่เรื่องที่สะดวกนัก
ดังนั้นในทางปฏิบัติ การใช้ระบบ PnT 1.10 เทรดกองทุน LTF ก็ทำได้ยาก แต่หากจะพยายามทำ คู่กองทุนค่ายกสิกรไทยก็พอทำได้ในแง่ความเป็นไปได้ แต่ส่วนที่ว่าทำแล้วผลตอบแทนจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กลยุทธ์สับกองทุน LTF พูดง่าย ทำยาก แล้วมีการลงทุนทางเลือกอื่นหรือไม่

จากที่คุยกันมาแล้ว พบว่ากลยุทธ์สับกองทุน LTF นั้นในทางทฤษฎีเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากเนื่องจากมีข้อจำกัดในหลายๆด้าน เพื่อนนักลงทุนหลายคนอาจคิดใหม่ไปเลยว่าถ้าอย่างนั้นไม่ลงทุนในกองทุน LTF เสียเลยได้ไหม หากลงทุนอย่างอื่นแล้วได้ผลตอบแทนมากพอก็เอากำไรนั้นมาจ่ายภาษีไปก็แล้วกัน หรือพูดง่ายๆว่าเเอาเงินก้อนที่คิดจะซื้อกองทุน LTF มาลงทุนวิธีอื่น ยอมจ่ายภาษีไปก็ได้ แล้วไปหาทางอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า อย่างนี้จะง่ายกว่าไหม

ลุงแมวน้ำก็เคยคิดอยู่เหมือนกัน และลองทำข้อมูลเอาไว้แล้วด้วย เรามาดูกันก่อนว่าการลงทุนทางเลือกหากไม่ต้องการลงทุนในกองทุน LTF แต่ก็อยากประหยัดภาษีนั้นพอมีช่องทางทำอะไรได้บ้าง
  1. หากมองในแง่ถือยาว นานๆสับกองทุนเสียทีหนึ่ง (ในกรณีนักลงทุนบางคนที่นับคลื่นเก่ง สามารถทำได้) แทนที่เราจะลงทุนใน LTF กองหุ้นและกองหุ้นผสมฟิวเจอร์ส เราลงทุนอย่างอื่นได้หรือไม่ ที่ลุงแมวน้ำคิดเอาไว้ก็คือลงทุนใน TDEX (กองทุนอีทีเอฟของ SET50) เมื่อตลาดขาขึ้น และเมื่อตลาดเป็นขาลงก็เเอาเงินไปพักไว้ในกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้ล้วนๆไม่มีหุ้นอยู่นั้นเมื่อหุ้นตกก็ไม่กระทบอะไร
  2. หากต้องการใช้ระบบ PnT 1.10 เทรด TDEX อย่างเดียวไปเลย ซื้อขายตามสัญญาณ จะได้ผลตอบแทนดีกว่ากลยุทธ์สับคู่กองทุน LTF หรือไม่

ผลการเทรดกองทุน LTF แบบสับกองทุนด้วย PnT 1.10 และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ

เรามาดูผลการลงทุนในแบบต่างๆกัน ลุงแมวน้ำทดลองทำข้อมูลเอาไว้แล้ว ทั้งหมดต่อไปนี้เป็นผลการลงทุนในช่วงเวลาเดิม นั่นคือ 26 ส.ค. 2551 ถึง 7 ก.ย. 2552 ดังนี้

หากเป็นกรณีถือยาว การลงทุนทางเลือกของลุงแมวน้ำคือ เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นให้ถือ TDEX และเมื่อตลาดเป็นขาลงให้ถือกองทุนตราสารหนี้ ในที่นี้ลุงแมวน้ำเลือกกองทุนตราสารหนี้ T-Global Bond อันเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลทั่วโลก (Templeton Global Bond Fund) ลุงแมวน้ำเลือกแบบอินเตอร์หน่อย ผลการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับการสับกองทุน LTF เป็นดังนี้


จะเห็นว่าให้ผลตอบแทนดีน่าสนใจทีเดียว (ผลตอบแทน 58.48%) ดีกว่าคู่กองทุน LTF อยู่พอสมควร ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้ได้รับผลกระทบน้อยมากยามหุ้นตก (ที่จริงควรไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผลตอบแทนที่ขาดทุนเล็กน้อยในช่วงขาลงที่แสดงในตารางน่าจะเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยน)

ทีนี้ลองมาดูผลการเทรดด้วยระบบ PnT 1.10 กัน ตารางข้างล่างนี้เป็นการเทรด TDEX ด้วยระบบ PnT 1.10 กับการเทรดคู่กองทุน LTF ค่ายกสิกรไทย KEQLTF และ KSDLTF ด้วยระบบ PnT 1.10 กล่าวคือ เมื่อเกิดสัญญาณซื้อก็ให้สับกองทุนจาก KSDLTF มาเป็น KEQLTF และเมื่อเกิดสัญญาณขายก็ให้สับกองทุนจาก KEQLTF มาเป็น KSDLTF

จะเห็นว่าการเทรด TDEX ตามสัญญาณระบบ PnT 1.10 ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เทรดไป 11 ครั้ง (เกิดสัญญาณซื้อ 11 ครั้ง และเกิดสัญญาณขาย 11 ครั้ง) ให้ผลตอบแทน 17.95% ดีกว่าผลตอบแทนของการถือกองทุน LTF แบบถือยาวกองหุ้นอย่างเดียว (ไม่สลับกองทุน)

แต่ถ้าเทรดกองทุน LTF แบบสลับกองทุนด้วย PnT 1.10 ผลตอบแทนไม่ดีนัก เทียบได้พอๆกับการถือยาว LTF กองหุ้นอย่างเดียว (คือไม่สลับกองทุน) ดูไปแล้วการวิ่งเข้าวิ่งออกธนาคารเพื่อสับกองทุนจะได้ผลไม่คุ้มเหนื่อย

(ตอนต่อไปจะเป็นตอนสุดท้าย เป็นการสรุปผลการลงทุนในแบบต่างๆกับการประหยัดภาษี)