Wednesday, August 11, 2010

10/08/2010 * CC, ยางพารา สินค้าเกษตร น้ำมันดิบ และค่าเงินดอลลาร์ สัมพันธ์กันเพียงใด

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 861.95 จุด ลดลง 13.23 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณขาย HANA, TOP ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 45 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณซื้อข้าวไทย (WBR5) สัญญาณขายโกโก้ (CC)

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ทุกตลาดที่อยู่ในรายงานพร้อมใจกันลง เป็นตัวแดงทั้งหมด

ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าเกษตรโกโก้ (CC) เกิดสัญญาณซื้อขายค่อนข้างถี่ แต่ละครั้งล้วนแต่เป็นสัญญาณหลอก (flase signal) ที่หลอกให้เสียเงินทั้งสิ้น วันนี้ลุงแมวน้ำจึงขอนำเอากราฟราคา CC มาให้ดูกันเนื่องจากกรณี CC เป็นกรณีที่น่าสนใจศึกษามาก



จากภาพ จะเห็นว่าจั้งแต่เดือนมีนาคม 2010 เป็นต้นมา ระบบของลุงแมวน้ำเกิดสัญญาณซื้อขายที่เป็นสัญญาณหลอกติดกันถึง 9 ครั้ง ส่วนระบบ PnT 1.10 ก็เกิดสัญญาณหลอกติดต่อกันถึง 7 ครั้ง เจอสัญญาณหลอก 3 ครั้งก็แย่แล้ว นี่โดนเข้าไป 7 ครั้ง 9 ครั้ง เมื่อดูจากกราฟจะเห็นว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมาราคาโกโก้แกว่งตัวออกข้างในแบบไร้ทิศทางซึ่งมีกรอบการแกว่งตัวขึ้นลงค่อนข้างกว้าง เมื่อเกิดการออกข้างในลักษณะกรอบกว้างเช่นนี้ย่อมต้องเสียเงินมาก แบบนี้เป็นใครก็ต้องหมดตัวเนื่องจากระบบตามแนวโน้มใช้ไม่ได้กับตลาดในภาวะไร้ทิศทาง หากไร้ทิศทางและแกว่งตัวในกรอบแคบหรือแกว่งตัวเป็นสามเหลี่ยมชายธงก็เสียเงินในตอนต้นมากหน่อย และต่อมาเมื่อหลุดจากปลายธงก็จะกลับเข้าสู่แนวโน้มได้ แต่การแกว่งของ CC นี้แกว่งแบบเป็นจังหวะคลื่นซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไรจะพ้นจากสภาวะไร้ทิศทางนี้ได้

เมื่อเราพบกับสินค้าเช่นนี้ ในตอนแรกคงไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดสัญญาณหลอกติดต่อกันกี่ครั้งเนื่องจากไม่มีใครรู้อนาคต กว่าจะรู้ตัวก็คืนกำไรแถมทุนไปโขแล้ว ดังนั้นแต่ละคนต้องมีจุดตัดสินใจว่าหากเกิดสัญญาณหลอกติดกันกี่ครั้งก็หยุดเทรดต้องมาทบทวนกลยุทธ์แล้ว สินค้ามีให้เลือกเทรดตั้งหลายอย่างไม่จำเป็นต้องมาทนกับตัวที่เราแพ้ทาง การศึกษารูปแบบทางเทคนิคเดิมๆของสินค้าตัวนั้นๆก็พอช่วยได้บ้าง

แต่เหรียญมีสองด้าน เมื่อมีเสียก็ต้องมีดีบ้าง รูปแบบของ CC เช่นนี้นักเก็งกำไรในตลาดไร้ทิศทางคงจะชอบเนื่องจากแกว่งเป็นคาบไปเรื่อยๆ หากจับจังหวะการแกว่งได้ก็ได้เงินใช้เป็นรอบๆเลยทีเดียว แต่ลุงแมวน้ำไม่แนะนำ เนื่องจากระบบที่ใช้เทรดต้องเป็นระบบที่ใช้กับตลาดไร้ทิศทาง ซึ่งเป็นคนละระบบกับระบบตามแนวโน้ม ผู้ที่มินิสัยถือยาวชอบเทรดตามแนวโน้มมักปรับตัวกับระบบไร้ทิศทางไม่ค่อยได้เนื่องจากต้องเทรดค่อนข้างไว อีกประการการจับคาบการแกว่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อดูกรณีศึกษา CC ไปแล้ว คราวนี้เรามาดูเรื่องที่ลุงแมวน้ำคุยค้างเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวานกันต่อ

จากการใช้การทดสอบทางสถิติแบบง่ายๆด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ หรือถ้าจะเรียกให้เต็มก็คือสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson's correlation coefficient) เืพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ชุดว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ซึ่งเมื่อวานเราได้คุยกันไปแล้วว่าราคายางพารากับราคาน้ำมันดิบสัมพันธ์กันบ้าง แต่ไม่แนบแน่น ตามกันบ้าง ไม่ตามกันบ้าง

วันนี้ลุงแมวน้ำมีผลทดสอบที่จะมานำเสนออีก จากการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2007 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วเป็นข้อมูลมากกว่า 800 วันทำการ ได้ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าดังนี้

  • ความสัมพันธ์ระหว่างยางพารากับสินค้าเกษตรอื่นๆ ลุงแมวน้ำพิจารณาจากดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์ (Deutsch Bank Agriculture USD Index) ซึ่งรวมสินค้าเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง น้ำตาล โกโก้ ฝ้าย และกาแฟ ได้ค่า r = 0.4409 (ยังห่า่งจาก 1 อีกไกล แสดงว่ามีความสัมพันธ์ตามกันอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก)
  • ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และราคาน้ำมันดิบ r = 0.8784 (ค่าเข้าใกล้ 1 แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันสูง ตีความได้ว่าเมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้น ราคาสินค้าเกษตรในกลุ่มนี้ก็จะขึ้นตามไปด้วย)
  • ราคายางพารากับค่าเงินดอลลาร์ คำนวณจากราคายางพารากับดัชนีดอลลาร์ สรอ r = -0.4869 (ค่าอยู่ระหว่าง 0 กับ -1 แสดงว่ามีความสัมพันธ์แบบสวนทางกัน กล่าวคือ เมื่อดอลลาร์แข็ง ราคายางพาราจะตก แต่เนื่องจากค่านี้ยังห่างจาก -1 อีกไกล แสดงว่าบางครั้งยางพาราก็ราคาตก บางครั้งก็ราคาไม่ตก และเมื่อเงินดอลลาร์อ่อนค่า ราคายางพาราก็ขึ้นบ้าง นิ่งๆบ้าง)
  • ดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และเงินดอลลาร์ สรอ r = -0.7609 (ค่าใกล้ -1 หมายความว่าความสัมพันธ์แบบสวนทางนี้ค่อนข้างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน ราคาสินค้าเกษตรหลักจะสูงขึ้น และเมื่อเงินดอลาร์แข็งค่า ราคาสินค้าเกษตรหลักจะลดลง)

คราวนี้ลองมาดูภาพกัน

ยางพารากับสินค้าเกษตรอื่นๆ ลุงแมวน้ำพิจารณาจากดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์


ดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และราคาน้ำมันดิบ


ราคายางพารากับดอลลาร์ สรอ


ดัชนีสินค้าเกษตรของดอยทช์แบงก์และดอลลาร์ สรอ


วิธีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ก็อย่างเช่น คู่ใดที่มีความสัมพันธ์กันมากก็นำไปใช้พิจารณาเลือกลงทุนได้ เมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้น กองทุนสินค้าเกษตรก็เป็นทางเลือกหนึ่งได้อีกทางหนึ่งในการลงทุน หรือหากราคาน้ำมันดิบร่วงก็อาจพิจารณาลดหรืองดการลงทุนในกองทุนสินค้าเกษตร

หรือคู่ใดมีความสัมพันธ์กันต่ำก็จะได้ทราบว่าสินค้าคู่นี้ราคาไม่ตามกันหรือไม่สวนกัน

สำหรับวันนี้ ลุงแมวน้ำมีคำถามที่ฝากเอาไปคิดเล่นสนุกๆ นั่นคือ

  • ราคาทองคำกับค่าเงินดอลลาร์สัมพันธ์กันเพียงใด
  • ราคาทองคำกับราคาน้ำมันสัมพันธ์กันเพียงใด
  • ดัชนี SET กับดัชนีดาวโจนส์สัมพันธ์กันเพียงใด
  • ราคาน้ำตาลตลาดโลกกับราคาหุ้นของโรงงาน้ำตาลในไทยสัมพันธ์กันเพียงใด

พรุ่งนี้มาดูคำตอบกัน

Tuesday, August 10, 2010

09/08/2010 * RSS, ราคายางพาราตามราคาน้ำมันดิบหรือไม่

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 875.18 จุด เพิ่มขึ้น 0.11 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 47 ตัว

สำหรับกลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ดัชนี SET กับ RSI และดัชนีดาวโจนส์ (DJI) กับ RSI ต่างก็เกิดรูปแบบลู่เข้าหรือว่า convergence แล้ว ถือว่าเป็นสัญญาณการกลับทิศแนวโน้มประการหนึ่ง คงต้องติดตามสัญญาณการกลับทิศอื่นๆที่อาจจะตามมา

ช่วงนี้ราคายางพารากลับทิศมาเป็นขาขึ้นอีก เมื่อลองนับคลื่นดูก็เป็นไปได้ว่าขณะนี้เราอาจอยู่ในคลื่น 5 (สีน้ำตาลแล้ว) และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ราคายางรอบนี้ควรจะไปได้ไกลกว่า 113.85 บาท ซึ่งเป็นราคาของยอดคลื่น 3 (สีน้ำตาล)



หลายๆคนคิดว่าทิศทางของราคายางพาราเป็นไปตามราคาน้ำมันดิบ เพราะตามลักษณะการใช้งานแล้ววัสดุที่ทำด้วยยางพารากับวัสดุทางปิโตรเคมีเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้หลายตัวทีเดียว เมื่อน้ำมันดิบแพง สินค้าด้านปิโตรเคมีก็แพงขึ้น ราคายางพาราอันเป็นวันดุทดแทนจึงสูงขึ้นด้วย แต่ผู้ที่เทรดยางพาราและสังเกตราคาน้ำมันดิบตามไปด้วยอาจสังเกตพบว่าในบางช่วงกลับไม่เป็นเช่นนั้น บางช่วงน้ำมันดิบขึ้นแต่ยางพาราทรงตัว บางช่วงน้ำมันดิบทรงตัวแต่ยางพาราขึ้น อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมานี้เป็นช่วงที่น้ำมันดิบทรงตัวและยังแกว่งอยู่ในกรอบ แต่ทว่าราคายางพารากลับขึ้นมาค่อนข้างมาก

เนื่องจากลุงแมวน้ำมีหัวคำนวณอยู่บ้างนิดหน่อย เมื่อว่างจากการแสดงละครสัตว์ก็ลองนำเอาข้อมูลต่างๆมาคำนวณดูเล่นสนุกๆ เพื่อพิสูจน์ความจริงในข้อที่ว่าราคายางพารากับราคาน้ำมันดิบตามกับหรือไม่ ลุงแมวน้ำจึงลองใช้เครื่องมือทางสถิติอย่างง่ายดู นั่นคือ การพิจารณาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient)

ก่อนที่เราจะมาดูผลการคำนวณ เรามาทำความเข้าใจกับสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์นี้กันก่อน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เป็นการคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ชุด แล้วบ่งบอกออกมาว่าข้อมูลสองชุดนั้นมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ค่าที่คำนวณออกมาได้เราเรียกว่าค่าอาร์ (r) วิธีการคำนวณเป็นอย่างไรนั้นคงไม่นำมากล่าวในที่นี้เพราะว่าจะปวดหัวกันเปล่าๆ แต่สรุปได้ว่าค่าที่คำนวณออกมาได้นี้มีค่าตั้งแต่ -1 ถึง 1

  • หาก r มีค่าเป็น 1 หรือมีค่าใกล้กับ 1 มากๆ แสดงว่าข้อมูลสองชุดนั้นมีความสัมพันธ์ไปตามกันอย่างแน่นแฟ้น ชนิดที่ว่าไปไหนต้องไปด้วยกันเสมอ
  • หาก r มีค่าไม่ถึง 1 คืออยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ก็ต้องดูว่าค่านั้นมากน้อยเพียงใด อย่างเช่น r=0.5 แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับแน่นแฟ้น ตามบ้างไม่ตามบ้าง
  • หาก r มีค่าน้อยและเข้าใกล้ 0 ความสัมพันธ์จะยิ่งน้อยลง r ใกล้ 0 เท่าใดแสดงว่ายิ่งไม่มีความสัมพันธ์กัน
  • หาก r มีค่าเป็น -1 หรือว่าเข้าใกล้ -1 มากๆ แสดงว่ามีความสัมพันธ์แบบสวนทางกัน นั่นคือ อย่างหนึ่งขึ้น อย่างหนึ่งจะต้องลง เรียกว่าไปด้วยกันไม่ได้เลย ต้องตรงกันข้ามกันเสมอ
  • หาก r มีค่าอยู่ระหว่าง -1 ถึง 0 ก็ต้องดูว่าค่านั้นมากน้อยเพียงใด อย่างเช่น r = -0.5 แสดงว่ามีความสัมพันธ์แบบสวนทางกันอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับสวนกันเสมอไป บางทีก็สวนทางบ้าง บางทีก็เฉยๆไม่สวนทางบ้าง (ข้อนี้จะเข้าใจยากหน่อย แต่ไม่เป็นไร ไม่เข้าใจก็ข้ามไปก่อน)

ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า เห็นภาพแล้วจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

เราลองมาดูตัวอย่างของคู่ที่มีความสัมพันธ์แบบตามกันแน่ๆนั่นก็คือ S50 กับ SET50 เหตุที่ต้องตามกันแน่ๆก็คงทราบกันดี เพราะว่า S50 เป็นอนุพันธ์ที่อิง SET50 ดังนั้นการเคลื่อนไหวของ S50 จึงเป็นไปตาม SET50

ลุงแมวน้ำนำเอาข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2007 ถึงปัจจุบันมาคำนวณดู พบว่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ S50 และ SET50 มีค่าเท่ากับ 0.9992 หรือว่า r = 0.9992

จะเห็นว่าค่า r มีค่าเข้าใกล้ 1 มาก แสดงว่า S50 กับ SET50 ตามกันชนิดแนบแน่นทุกฝีก้าวเลยทีเดียว

หากเรานำเอาค่าปิดของ S50 และ SET50 ในแต่ละวันมาพล็อตกราฟดูเราจะได้ภาพเป็นแบบนี้



เส้นกราฟมีลักษณะแคบเรียว ชี้ทะแยงขึ้นไปทางขวา นั่นคือ เมื่อ SET50 มีค่าสูง S50 ก็มีค่าสูงไปด้วย เมื่อ SET50 มีค่าน้อง S50 ก็มีค่าน้อยตามไปด้วย

ทีนี้ด้วยวิธีการเดียวกันนี้ ลุงแมวน้ำนำเอาข้อมูลราคายางพารากับราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ปี 2007 จนถึงปัจจุบันมาคำนวณดูบ้าง ได้ผลดังนี้

r = 0.6060 (แสดงถึงความสัมพันธ์พอประมาณ)

ลองมาดูกราฟกัน



จากภาพจะเห็นว่าลักษณะของกราฟที่ได้ไม่ได้เป็นเส้นเรียว แต่มีลักษณะกระจายตัวเป็นเส้นพองๆ แถมยังมีปลายเป็นสองหางเหมือนหางปลา นี่คือลักษณะของการมีความสัมพันธ์แบบตามกันอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับแน่นแฟ้น บางช่วงก็ตามกัน บางช่วงก็ไม่ตามกัน ซึ่งจากภาพก็สอดคล้องกับค่า r ที่คำนวณได้ นั่นคือ มีความสัมพันธ์พอประมาณ ตามบ้างไม่ตามบ้าง (หากพิจารณาจากกราฟ กราฟที่เห็นเป็นหางปลานั้น หากแฉกบนคือช่วงที่ราคาตามกัน หางแฉกล่างคือช่วงที่ราคาไม่ตามกัน)

เมื่อเราทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างยางพารากับราคาน้ำมันดิบเป็นเช่นนี้แล้วเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ขอฝากให้เพื่อนนักลงทุนนำไปคิดต่อยอดต่อไป เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนนักลงทุนบ้าง

ด้วยวิธีการเช่นนี้ เราสามารถทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ชุดได้อีกมากมาย สมมติเช่น

  • ค่าเงินดอลลาร์กับราคาน้ำมันดิบสัมพันธ์กันหรือไม่
  • ราคาทองคำสัมพันธ์กับค่าเงินดอลลาร์จริงหรือไม่
  • ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones, DJI) กับดัชนี SET ตามกันหรือไม่
  • ราคายางพารากับสินค้าเกษตรตัวอื่นๆตามกันหรือไม่
ฯลฯ

ในวันต่อๆไปลุงแมวน้ำจะลองนำเอาราคาชุดอื่นๆมาทดสอบความสัมพันธ์กัน ลองมาดูกันว่าสินค้าคู่ใดมีความสัมพันธ์กันแบบใด และเป็นไปอย่างที่เราเคยคิดเอาไว้หรือไม่