Thursday, March 11, 2010

10/03/2010 * DJI, S50, GC, โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (4)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 720.84 จุด เพิ่มขึ้น 2.07 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 โปรแกรมของลุงแมวน้ำวันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่ 35 ตัว

สำหรับกลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

กลุ่มดัชนีต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ดัชนีต่างประเทศในรายงานเป็นสัญญาณซื้อทั้งหมด โดยเฉพาะดัชนี FTSE ของอังกฤษและ SENSEX ของอินเดียเปลี่ยนจากสภาวะไร้ทิศทางเป็น uptrend แล้ว

ดัชนีดาวโจนส์ (DJI) กำลังมาทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 10725.4 อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันว่าขณะนี้ DJI จบคลื่น B (สีน้ำเงิน) ไปแล้วหรือไม่ ถ้าผ่านไปได้คงต้องกลับมานับคลื่นใหม่ เพราะแสดงว่ายังไม่จบ B


รูปแบบของ SET และ S50 แกว่งตัวในช่วงแคบมาหลายวัน ก่อตัวเป็นรูปแบบของปลายสามเหลี่ยมชายธง อีกไม่นานคงได้รู้กันว่าจะดัชนีจะทะลวงออกจากชายธงกลายเป็น uptrend หรือว่า downtrend แต่จากการนับคลื่นของลุงแมวน้ำ เรายังไม่จบคลื่น 5 (สีน้ำตาล) ดังนั้นจึงมองว่าโอกาสเป็น uptrend เข้าสู่คลื่น 5 มีมากกว่า


ทองคำ GC ช่วงนี้แกว่งตัวรุนแรง ยังดูอะไรไม่ออก แต่ใกล้เกิดสัญญาณขายมากแล้ว แปลว่าราคาทองคำอาจร่วงต่อได้อีก นักช้อนหรือชาวสวนควรระวังตัวให้มาก



โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (4)

จากตอนที่แล้วที่เราคุยกัน เนื่องจากลุงแมวน้ำต้องการมีเงินก้อน 7,500,000 บาท เพื่อสร้างบำนาญหลังการเกษียณอายุขึ้นมาเอง นอกจากนี้ลุงแมวน้ำยังมีความจำเป็นต้องเก็บออมเพื่อการอื่นอีก ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมีความคิดที่จะทำเป็นโครงการลงทุนเพื่อจัดทำกองทุนบำนาญของลุงแมวน้ำเอง ใช้เงินต้นจากการออมจำนวนหนึ่ง โดยให้กองทุนนี้สามารถเกิดดอกผลงอกงามต่อไปได้จนครบตามเป้า

ข้อกำหนดเบื้องต้น


เมื่อลุงแมวน้ำจะทำโครงการลงทุน คงต้องมีข้อกำหนดเบื้องต้นกันก่อน ข้อกำหนดเบื้องต้นของลุงแมวน้ำเป็นดังนี้

  1. ใช้เงินออมในการตั้งโครงการลงทุน 192,000 บาท โดยเริ่มลงทุนเมื่อได้เงินครบ 120,000 บาท ที่เหลือทยอยออมเดือนละ 2,000 บาทอีกเป็นเวลา 3 ปี จนครบ 192,000 บาทในที่สุด
  2. ลงทุนในฟิวเจอร์สเป็นหลัก ใช้การเทรดตามแนวโน้มตลาดและเทรดอย่างเป็นระบบตามสัญญาณซื้อขายเมื่อสิ้นวัน (คือ eod trade ไม่ใช้ intraday trade)
  3. ในแต่ละปี เมื่อมีกำไรให้นำเงินกำไรมาลงทุนต่อ
  4. เป้าหมายของโครงการนี้คือกองทุนบำนาญขนาด 7,500,000 บาท
  5. ระยะเวลาของโครงการ 10-15 ปี
  6. อย่าหวังรวย อย่าหวังรวยจากโครงการลงทุนนี้ ขอให้มีทัศนคติในการทำโครงการเพียงเพื่อการยังชีพตามสมควรเท่านั้น
  7. เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการลงทุน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเงิน 192,000 บาทนี้อาจขาดทุนและสูญเงินต้นไปจนหมดได้ ดังนั้นหากยังทำใจไม่ได้กับการสูญเงินจำนวนนี้ก็ยังไม่ควรเริ่มต้นโครงการ

หลายคนคงแปลกใจกับข้อกำหนดสองข้อสุดท้าย เหตุผลก็คือ การเทรดหุ้นหรือว่าฟิวเจอร์สอย่างเป็นระบบนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการควบคุมความโลภและความกลัว ความโลภเกิดจากเมื่อได้กำไรแล้วย่ามใจ ความกลัวเกิดจากการขาดทุนแล้วเข็ดขยาด สองประการนี้ทำให้เกิดการเสียวินัยในการเทรดและจะนำไปสู่ความหายนะอย่างแท้จริงในที่สุด ดังนั้นในการเทรดอย่างเป็นระบบนั้นต้องเริ่มต้นด้วยการปรับทัศนคติเสียก่อน และก็เท่ากับเป็นการฝึกอุเบกขาธรรมไปด้วยในตัว เมื่อควบคุมความโลภและความกลัวได้ เป้าหมายของโครงการก็จะบรรลุได้

นอกจากนี้ เพื่อลดความซับซ้อนและทำให้เข้าใจง่ายที่สุด ลุงแมวน้ำจึงทำโครงการบำนาญสำหรับตัวลุงแมวน้ำเองเท่านั้น ไม่ได้รวมบำนาญของป้าแมวน้ำเข้ามาด้วย แต่หากเข้าใจหลักการก็สามารถนำไปต่อยอดได้

วันพรุ่งนี้เราจะมาดูการจัดพอร์ตการลงทุนและผลกำไรที่ได้กัน


Wednesday, March 10, 2010

09/03/2010 * โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (3)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 718.77 จุด ลดลง 1.52 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 โปรแกรมของลุงแมวน้ำวันนี้มีสัญญาณขาย QH ขณะนี้ถือหุ้นอยู่ 35 ตัว

สำหรับกลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

กลุ่มดัชนีต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ทองคำกับน้ำมันราคาบังไม่ไปไหน เดินหน้าถอยหลังอยู่แถวๆเดิม สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ตอนนี้ในภาพรวมยังเป็นสัญญาณขายอยู่ ยกเว้นยางพารากับฝ้ายที่เป็นสัญญาณซื้อ

ดัชนีหุ้นไทยไม่รู้จะไปทางไหนเหมือนกัน แต่ลุงแมวน้ำยังวางอุเบกขา ยังไม่มีสัญญาณขายก็ถือไปเรื่อยๆ


โครงการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ บำนาญสร้างเองของลุงแมวน้ำ (3)

รูปแบบการออม

ในเมื่อเราต้องการออมเพื่อสร้างบำนาญของเราเองขึ้นมา ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูกันก่อนว่ารูปแบบการออมนั้นมีอะไรให้เลือกได้บ้าง ลุงแมวน้ำลองยกมาดูพร้อมกับข้อด้อยของแต่ละวิธีการออมในแบบคร่าวๆ
  • ใส่ตุ่มฝังดิน อาจโดนขุดสหรือปลวกกินได้ ไม่มีดอกเบี้ย
  • ฝากธนาคาร อัตราดอกเบี้ยต่ำ ยิ่งฝากเงินยิ่งหดเพราะว่าแพ้เงินเฟ้อ
  • ลงทุนในตราสารการเงินต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ดอกเบี้ยดีกว่าฝากธนาคาร แต่อาจไม่ชนะเงินเฟ้อ รวมทั้งมีความเสี่ยง
  • ลงทุนในตราสารการเงินในกลุ่มหุ้นสามัญ ฟิวเจอร์ส ออปชัน เป็นเหมือนการลงทุนทำธุรกิจ มีความเสี่ยงสูง ราคาหุ้นเป็นวัฏจักร มีขึ้นมีลง
  • ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีสภาพคล่องต่ำ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีอาจต้องเก็บนานมาก
  • ซื้อสังหาริมทรัพย์ เช่น ทองคำ เพชร ราคามีวัฏจักร มีขึ้นมีลง
  • ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ

ราคาทองคำมีขึ้นก็มีลง ไม่ได้มีแต่ขึ้นอย่างเดียว ใครที่ซื้อทองคำในปี 1979 ต้องเก็บทองเอาไว้นานเกือบ 30 ปีราคาจึงจะกลับมาอยู่ที่เดิม


หุ้นก็มีขึ้นและมีลง อย่าคิดว่าเก็บเอาไว้สักสิบปีถึงอย่างไรก็กำไรแน่ๆ จากกราฟข้างบน หากซื้อหุ้นเมื่อปี 1980 แล้วขายในปี 1990 ก็มีกำไร แต่หากซื้อในปี 1990 แล้วขายในปี 2000 ก็ยังขาดทุน แม้จะเป็นหุ้นที่มีเงินปันผลก็ยังไม่แน่ว่ามีกำไร

รูปแบบการออมคงต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพของบุคคล ผู้ที่มีรายได้เกินพอ เงินเก็บมากมาย ก็อาจเลือกวิธีการออมที่ไม่เน้นให้มีดอกผลงอกเงยก็ได้เพราะว่ามีเยอะอยู่แล้ว การออมที่ดอกผลต่ำความเสี่ยงก็มักจะต่ำด้วย เงินต้นก็ปลอดภัยดี แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่มากนัก มีกำลังการออมที่จำกัด อาจเลือกวิธีการออมที่เน้นให้ดอกผลสูงเพราะต้องการให้เงินช่วยทำงานด้วย มิฉะนั้นจะออมไม่ถึงเป้า

ต้องออมเท่าไร ขึ้นกับว่าเกษียณแล้วต้องการรายได้เท่าไร และจะอยู่ไปอีกกี่ปี

การที่จะตอบคำถามว่าต้องออมเท่าไรและเลือกวิธีการออมอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ออมต้องการสร้างบำนาญหลังเกษียณเท่าไร ดังนั้นคำตอบจึงแทบจะเป็นเรื่องครอบจักรวาลเพราะว่าต่างคนก็ต่างความคิด ต่างความต้องการ ยากที่จะเหมือนกัน ดังนั้นจึงยากที่จะมีสูตรสำเร็จสำหรับใช้กับทุกๆคนได้ แต่ละคนจึงต้องนำแนวทางที่มีอยู่แล้วไปปรับเพื่อให้เข้ากับตนเอง

แต่เพื่อให้มองเห็นภาพบ้าง หนังสือหลายๆเล่มมีสูตรสำหรับรายได้หลังเกษียณว่าควรจะประมาณ 70% ของรายได้เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ แต่ก็มองเห็นภาพได้ยากเพราะว่าแต่ละคนรายได้ไม่เท่ากัน 70% ของบางคนอาจมากมาย และของบางคนอาจมีไม่มากนักก็ได้ อีกประการ สูตรนี้มักใช้กับผู้ที่มีเงินเดือนประจำ แต่สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือรายได้ไม่แน่นอนก็ยากจะใช้ได้

ลุงแมวน้ำขอตอบคำถามข้อนี้โดยอิงจากภาระค่าใช้จ่ายน่าจะดีกว่า โดยเราลองมาประเมินกันคร่าวๆว่าผู้สูงอายุควรมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
  • ค่าเช่าบ้าน ไม่น่าจะมี ถึงวัยนี้ควรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว มิฉะนั้นคงไม่สามารถออมเงินเพื่อสร้างบำนาญได้
  • ค่าอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเดินทาง พอๆกับก่อนเกษียณ อาจน้อยกว่าก็ได้ เพราะว่าเมื่อเกษียณแล้วอาจไม่ต้องแต่งตัวมากนัก
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จำเป็นต้องมี ผู้สูงอายุควรมีประกันสุขภาพเอาไว้ แม้จะมีประกันสังคมอยู่แล้วก็ตาม
  • ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพ บางส่วนอาจต้องออกเองเนื่องจากเบิกประกันไม่ได้
  • ค่าใช้จ่ายสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ ทำบุญ ฯลฯ อันเป็นการบำรุงรักษาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
  • ค่าคนดูแล ค่าอุปกรณ์และวัสดุจำเป็นบางอย่าง กรณีที่ผู้สูงอายุสุขภาพไม่ดีจริงๆอาจต้องจ้างคนดูแลและอาจมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองเพิ่มเติมอื่นๆ
ฯลฯ

ลุงแมวน้ำคะเนเอาว่าภายในสิบปีข้างหน้าค่าครองชีพในเมืองคงสูงกว่านี้มาก ดังนั้นผู้สูงอายุที่อยู่ในสังคมเมืองหากจะมีชีวิตตามสมควรก็น่าจะมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท โดยส่วนที่คาดการณ์ได้ยากคือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั่นเอง

คำถามต่อมาก็คือ แล้วชีวิตหลังเกษียณจะอยู่ไปได้อีกสักกี่ปี จะได้คำนวณการออมถูก คำตอบก็คือไม่ทราบ เพราะว่าอายุขัยของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่จากข้อมูลทางสถิติพบว่าอายุขัยเฉลี่ยของชายไทยอยู่ที่ 68 ปี และของหญิงไทยอยู่ที่ 75 ปี การออมก็ต้องเผื่อเอาไว้บ้าง เผื่อว่าผู้ออมจะมีอายุขัยเกินค่าเฉลี่ย เงินออมจะได้ไม่หมดเสียก่อน ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดเอาง่ายๆว่าต้องเตรียมบำนาญเผื่อเอาไว้จนถึงอายุ 85 หรือเตรียมเอาไว้นาน 25 ปีหลังเกษียณก็แล้วกัน

สรุปว่าหากต้องการมีรายได้หลังเกษียณเดือนละ 25,000 บาท และอยู่ไปได้จนถึงอายุ 85 ปี จะต้องเตรียมเงินบำนาญเอาไว้ถึง 25,000 x (25 x 12) = 7,500,000 บาท (คิดแบบง่ายๆ ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อใดๆ)

เจ็ดล้านห้าแสนบาท!