บทความ
เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ เป็นบทความอ่านสบายๆในวันหยุด ลุงแมวน้ำก็เขียน โน่น นี่ นั่น ไปเรื่อย แบบตามสบาย บางทีก็คุยเกี่ยวกับต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หนังสือ อาหารการกิน บางทีก็พาไปเที่ยว หรือบางทีก็คุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่มาวันนี้ ลุงแมวน้ำจะชวนคุยเรื่องหนังหรือว่าภาพยนตร์กัน
ลุงแมวน้ำจะเล่าด้วยภาพก็แล้วกัน ดูภาพกันไป คุยกันไป ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลังนะคร้าบ ^_^
|
รุ่งอรุณที่สวนลุม บรรยากาศน่าออกกำลังกายมาก |
เมื่อวาน ลุงแมวน้ำไปวิ่งที่สวนลุมเช่นเคย ไปถึงสวนลุมประมาณ 6 โมงเช้า กำลังรุ่งอรุณพอดี ลุงแมวน้ำจึงชมรุ่งอรุณเหนือทะเลสาบสวนลุมสักครู่ จากนั้นก็แวะไปกินเต้าฮวยกับน้ำเต้าหู้ร้อนๆ แล้วก็ออกกลิ้ง เอ๊ย วิ่ง
|
โรงหนังลิโด โรงหนังเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ยุคต้นของสยามสแควร์ เริ่มฉายในปี พ.ศ. 2511 สมัยก่อนเป็นโรงหนังขนาดใหญ่ ขนาด 1000 ที่นั่ง เหมือนกับโรงหนังสยามและสกาล่า แต่ต่อมาเกิดไฟไหม้โรงหนัง เมื่อสร้างโรงหนังขึ้นมาใหม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยแบ่งซอยเป็นโรงขนาดเล็ก 3 โรง เหลือที่นั่งโรงละไม่กี่ร้อยที่ |
กว่าจะวิ่งเสร็จ เลี้ยงปลาเสร็จ ทำอะไรต่ออะไรเรียบร้อย ก็ประมาณ 10 โมง ลุงก็ออกจากสวนลุม นั่งรถไปสยามสแควร์ เดิมทีคิดว่าจะเข้าร้านหนังสือสักหน่อย
ลุงแมวน้ำลงจากรถ จากนั้นเดินเตร็ดเตร่ไปที่โรงหนังลิโด ลุงแมวน้ำมีแฟนคลับคนหนึ่งเปิดร้านขายเสื้อผ้าอยู่ที่นั่น คิดว่าจะแวะไปเยี่ยมเยียนทักทายสักหน่อย แต่ก็หาไม่เจอ ตอนนั้นยังเช้าอยู่ด้วย ร้านค้าที่อยู่ชั้นล่างของโรงหนังลิโดยังเปิดร้านกันไม่มาก อาจเป็นเพราะยังมาไม่ถึงก็ได้
|
โปสเตอร์ภาพยนตร์ ต้นส้มแสนรัก หรือ My Sweet Orange Tree ที่หน้าโรงภาพยนตร์ลิโด สยามสแควร์ |
ไม่เจอก็ไม่เจอ ไม่เป็นไร ขณะที่จะเดินออกจากโรงหนังลิโด ก็บังเอิญไปเห็นโปสเตอร์หนังที่อยู่หน้าโรงหนัง ชื่อหนังทำให้ลุงนิ่งไป 3 วินาที ^_^
คงต้องขอเท้าความสักหน่อย คือโรงหนังลิโดนี้มีมาตั้งแต่สยามสแควร์ยุคแรกเริ่ม สมัยก่อนเป็นโรงหนังขนาดใหญ่ เหมือนกับสยามและสกาล่า แต่ต่อมาก็ปรับปรุงหลังจากถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2536 โดยแบ่งซอยเป็นโรงหนังขนาดเล็กหรือที่เรียกกันว่ามินิเธียเตอร์ 3 โรง
โรงหนังลิโดยุคมินิเธียเตอร์เป็นที่ชื่นชอบของคนรักหนัง เพราะว่ามักเอาหนังแปลกๆมาฉายอยู่เป็นประจำ ที่ว่าหนังแปลกๆก็คือภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์กระแสหลักของฮอลลีวูด แต่เป็นหนังแนวอาร์ต หนังที่ต้นทุนต่ำแต่ว่ามีเนื้อหาโดดเด่น หนังที่ได้รางวัล หนังจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่อเมริกา เช่น หนังฝรั่งเศส ญี่ปุ่น บราซิล ฯลฯ รวมความแล้วคือเป็นโรงหนังที่ฉายหนังดีนอกกระแสนั่นเอง เมื่อก่อนลุงแมวน้ำก็ชอบมาดูหนังแปลกๆที่นี่เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มาบ่อยนัก หลังๆนี่งานยุ่งจนไม่ค่อยได้ไปเดินเล่นที่สยามสแควร์ ก็เลยพลอยไม่ได้ดูหนังที่ลิโดไปหลายปีทีเดียว
ลุงแมวน้ำสะดุดใจกับโปสเตอร์หนังแผ่นนี้มาก เพราะว่าเป็นหนังบราซิล สร้างจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องเอกของบราซิล นั่นคือเรื่อง
Meu Pé de Laranja Lima ชื่อนี้เป็นภาษาโปรตุเกส ออกเสียงด้วยสำเนียงโปรตุเกสว่า มิว เพ เดอ ลาเรินจา ลีมา ชื่อในภาคภาษาอังกฤษว่า
My Sweet Orange Tree หรือชื่อในภาคภาษาไทยก็คือเรื่อง
ต้นส้มแสนรัก นั่นเอง
เห็นชื่อหนังปุ๊บ ลุงแมวน้ำก็ตัดสินใจทันทีเลยว่าไม่ดูไม่ได้แล้ว ตอนนั้น 10 โมงสิบห้าพอดี หนังรอบเช้าฉาย 10:15 น. อะไรจะบังเอิญได้ขนาดนั้น
|
ชั้นล่างของโรงภาพยนตร์ลิโด เป็นร้านค้าเล็กๆหลายสิบร้าน ส่วนใหญ่ขายเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น ส่วนโรงหนังอยู่ชั้นที่สอง |
โรงหนังอยู่ที่ชั้นสอง ลุงแมวน้ำก็เดินขึ้นบันไดไป
|
ชั้นสองของโรงหนังลิโด มีโรงหนังขนาดเล็กอยู่ 3 โรง พร้อมกับมีร้านค้า ร้านอาหาร โรงเรียนกวดวิชาอยู่ด้วย |
ซื้อตั๋วหนัง ราคาใบละ 80 บาทเอง ถือว่าถูกมาก สำหรับหนังดีๆนอกกระแสที่หาชมได้ยาก ดังที่บอกว่าที่นี่มีโรงหนังขนาดเล็ก 3 โรง ก็ฉายหนังนอกกระแสปนไปกับหนังโรงใหญ่ตามปกติ สำหรับหนังโรงใหญ่ที่เป็นหนังกระแสหลักนั้นมีแค่ 2D ไม่มีฉบับ 3D
|
โปสเตอร์หนัง ต้นส้มแสนรัก ที่อยู่ที่ประตูเข้าโรงหนัง |
|
สภาพภายในโรงหนัง รูปนี้หามาจากในเว็บ จะให้ดูว่ามีที่นั่งน้อยเพียงไม่กี่ร้อยที่ แต่ในวันที่ลุงแมวน้ำไปดูหนัง ผู้ชมไม่ได้มากขนาดนี้ |
วันนั้นเป็นรอบเช้า มีคนอยู่หลายสิบคน สักสามสิบคนได้มั้ง ลุงถือว่าเยอะสำหรับรอบเช้าขนาดนั้น
ก่อนที่จะดูหนัง ลุงแมวน้ำขอคุยเรื่องหนังสือต้นส้มแสนรักเสียก่อน เพื่อให้พวกเรารู้ที่มาที่ไปของหนัง รวมทั้งเข้าใจว่าทำไมลุงแมวน้ำถึงเห็นโปสเตอร์ปุ๊บก็ตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าไปดูเลย
|
Meu Pé de Laranja Lima วรรณกรรมเยาวชนเรื่องเอกของบราซิล ว่ากันว่าเป็นหนังสือที่มียอดขายสูงสุดของบราซิล มากกว่าหนังสือเล่มอื่นใด |
Meu Pé de Laranja Lima (Laranja คือส้ม ส่วน Laranja Lima เป็นส้มชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษบางทีเรียกว่า lemon orange) เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องเอกของบราซิล เขียนด้วยภาษาโปรตุเกส ว่ากันว่าไม่ได้เป็นเพียงวรรณกรรมเยาวชนธรรมดา แต่ยังเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของบราซิลอีกด้วย ผู้เขียนคือ José Mauro de Vasconcelos (โจเซ เมาโร เดอ วาสกอนซีลอส - อ่านตามสำเนียงโปรตุเกส) วาสกอนซีลอสเขียนหนังลือเล่มนี้ในปี 1968 (พ.ศ. 2511) ตอนที่เขียนนั้นมีอายุ 48 ปี ใช้เวลาเขียนเพียง 12 วันก็เสร็จ แต่วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการเขียนนั้นวาสกอนซีลอสต้องใช้เวลาเตรียมมาจนตลอดชีวิต เพราะเรื่องราวในหนังสือก็คือส่วนหนึ่งของชีวิตในวัยเด็กของตนนั่นเอง
Meu Pé de Laranja Lima ฉบับภาษาโปรตุเกสได้รับการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปลี่ยนภาพหน้าปกมาไม่รู้กี่ครั้ง อีกทั้งยังใช้เป็นหนังสืออ่านในระดับประถมของบราซิล ที่เห็นในภาพนี้เป็นตัวอย่างภาพหน้าปกเพียงส่วนเดียว ที่จริงยังมีเวอร์ชันอื่นๆอีก
|
Meu Pé de Laranja Lima ฉบับแปลเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ต้นส้มแสนรัก ถูกพิมพ์ซ้ำมาหลายสิบครั้ง ฉบับภาษาไทยนี้พิมพ์จำหน่ายเป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดวงกมลในปี พ.ศ. 2522 แปลโดยมัทนี เกษกมล |
Meu Pé de Laranja Lima ฉบับภาษาไทย ใช้ชื่อว่า
ต้นส้มแสนรัก วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 หลังจากฉบับภาษาโปรตุเกส 11 ปี ฉบับภาษาไทยนี้แปลโดยมัทนี เกษกมล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล
ต้นส้มแสนรัก เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมาก ในยุคแรกที่วางจำหน่าย จัดว่าเป็นหนังสือฮิตของวัยรุ่นเลยทีเดียว
ต้นส้มแสนรักนั้นเป็นเรื่องราวของเด็กชายวัย 6-7 ขวบคนหนึ่ง ชื่อว่า เซเซ่ ที่่เกิดและเติบโตในเขตที่ยากจนของริโอ เดอ จาไนโร ครอบครัวนี้ยากจน มีลูกมาก พ่อตกงานมาเป็นเวลานานและติดเหล้า แม่หารายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว
เซเซ่เติบโตมาในสภาพครอบครัวที่ยากแค้น ขาดแคลน สำหรับเซเซ่นั้นคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเด็กมีปัญหา ดื้อรั้น ชอบก่อเรื่องและสร้างความเดือดรอนให้แก่ผู้อื่น ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีใครรักเซเซ่ เซเซ่จึงถูกลงโทษจากพ่อและพี่อยู่เป็นประจำ เด็กน้อยเซเซ่เองก็รู้ว่าตนเองนั้นไม่มีใครรัก มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าใจและเห็นใจ ดังนั้นเซเซ่จึงเติบโตขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว มีเพียงต้นส้มมิงกินโย และนกในทรวงอกเท่านั้นที่เป็นเพื่อนที่พอจะระบายความทุกข์ให้ฟังได้
แต่แม้ว่าจะเติบโตมาในความยากแค้น เด็กน้อยเซเซ่กลับเต็มไปด้วยความฝันอันสวยสดงดงาม และอาจเป็นเพราะความฝันนี้กระมัง ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเด็กน้อยให้ก้าวเดินต่อไปได้
ต้นฉบับเรื่องนี้ในภาษาโปรตุเกสเขียนด้วยภาษาที่เรียบง่าย แต่ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กน้อยเซเซ่ได้อย่างงดงามและกินใจ ส่วนสำนวนในฉบับภาษาไทยก็เรียบง่ายและกินใจเช่นกัน ดังนั้นคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่เสียน้ำตาให้กับเด็กน้อยเซเซ่จึงมีอยู่น้อยมาก
ภาพข้างบนเป็นภาพหน้าปกของต้นส้มแสนรักในยุคแรก 4 ปกแรก (เรียงลำดับเหมือนกับอ่านหนังสือ คือจากซ้ายบนไปทางขวา) เป็นฉบับที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล ต่อมาประมาณปี 2530 ก็เปลี่ยนเป็นจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นหมาก (ปกที่ 5) และต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น (ปกที่ 6 ล่างขวา)
|
ต้นส้มแสนรัก ฉบับสำนวนแปลของสมบัติ เครือทอง ทั้งภาค 1 และภาค 2 |
นอกจากนี้ ในปี 2538 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นยังจัดพิมพ์ต้นส้มแสนรัก ที่แปลโดยสมบัติ เครือทอง อีกสำนวนแแปลหนึ่งด้วย และในปีเดียวกันนั้นเอง ประพันธ์สาส์นก็จัดพิมพ์ ต้นส้มแสนรัก ภาค 2 ซึ่งเป็นภาคต่อจากภาคแรก โดยภาค 2 นี้แปลจากหนังสือชื่อ Vamos Aquecer o Sol (วาโมส อาเกเซโรซอล) ซึ่งวาสกอนซีลอสเขียนภาคสองของเซเซ่เรื่องนี้ในปี 1974 (พ.ศ. 2517) แต่ก็ไม่โด่งดังเท่ากับภาคแรก นักวิจารณ์หลายคนวิจารณ์ว่าภาคสองนี้เป็นส่วนเกิน คือ ไปลดทอนความงดงามของภาคแรกไปเสียด้วยซ้ำ
|
ภาพปก Meu Pé de Laranja Lima ที่แปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน และตุรกี ส่วนภาษาจีนนั้นเป็นฉบับการ์ตูน |
หนังสือเล่มนี้ว่ากันว่ามีการแปลเป็นภาษาต่างๆ 32 ภาษา และตีพิมพ์จำหน่ายในกว่า 19 ประเทศ ซึ่งข้อมูลนี้อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ของสื่อในบราซิล ลุงแมวน้ำก็ไม่รู้เหมือนกันว่า 32 ภาษานั้นมีภาษาอะไรบ้างเพราะไม่มีรายละเอียดระบุไว้ แต่เท่าที่ค้นมา ภาษาหลักๆก็มีหลายภาษาทีเดียว ดังภาพที่เห็น รวมไทยด้วย อย่างน้อยก็มีการแปล 7 ภาษาเข้าไปแล้ว
ลุงแมวน้ำไม่อยากเล่าเนื้อเรื่องมาก เกรงว่าจะสปอยล์ รู้เรื่องล่วงหน้าแล้วจะอ่านหนังสือและดูหนังไม่สนุก แต่เอาเป็นว่า ในความเห็นของลุงแมวน้ำ ภาพยนตร์เรื่องนี้งดงาม น่าดูมาก สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความหมายของหนังสือได้ดีทีเดียว อีกทั้งมุมกล้องก็งดงาม ตอนหนังเลิก ลุงเห็นผู้ชมซับน้ำตากันหลายคน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกอะไร น้อยคนนักที่จะไม่หลั่งน้ำตาให้กับเซเซ่และความฝันของเด็กน้อย เพราะความฝันของเซเซ่นั้นก็คือฝันในวัยเยาว์ของพวกเรานั่นเอง
ทั้งหนังสือและหนังเรื่องนี้ไม่เพียงแต่สำหรับเยาวชน ที่จริงต้องจัดว่าเป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ควรอ่านและเป็นหนังที่ผู้ใหญ่ควรดูมากกว่า เพราะจะทำให้เข้าใจเด็กได้ยิ่งขึ้น ก็น่าแปลกที่พวกเราล้วนแต่เคยผ่านวัยเด็กมา แต่พอโตแล้วกลับกลายเป็นไม่เข้าใจลูกหลานของตนเอง หนังเรื่องนี้จะช่วยเตือนความจำในเรื่องที่พวกเราผู้ใหญ่อาจลืมไปแล้วว่าเมื่อวัยเยาว์นั้นเราคิด รู้สึก และต้องการอะไร
ลุงแมวน้ำออกจากโรงหนังอย่างมีความสุข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้สร้างได้งดงาม และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า... ลุงแมวน้ำอ่านเรื่องต้นส้มแสนรักครั้งสุดท้ายก็เมื่อราวยี่สิบกว่าปี เกือบสามสิบปีมาแล้ว การได้ดูหนังเรื่องนี้เป็นเสมือนได้พบเจอเพื่อนเก่าที่จากกันมายาวนานอีกครั้งหนึ่ง
ภาพข้างล่างนี้เป็นบางส่วนจากภาพยนตร์ เซเซ่น่ารักมาก ตีบทเด็กที่ร้ายเดียงสาแต่แอบเหงาเดียวดายได้กระจุย ยิ่งฉากที่คุยกับต้นส้มนั้น... ไม่เล่าดีกว่า แต่อยากให้ไปดูกัน เท่าที่ดูจากโปรแกรม อย่างน้อยก็ยังฉายจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2556 นี้ หนังดีๆแบบนี้ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีให้ดูอีก
และล่างสุดเป็นคลิปบางส่วนจากหนังเรื่องนี้ Meu Pé de Laranja Lima ผลงานเขียนบทและกำกับโดยผู้กำกับที่มีชื่อเสียงของบราซิล Marcos Bernstein (มาร์คอส เบร์นสตีน) เสียงในฟิล์มเป็นภาษาโปรตุเกส พร้อมบรรยายไทย