“ในวันที่ 15 ตุลาคม การปราบปรามประชาชนยังดำเนินต่อไป โดยฝ่ายรัฐบาลออกข่าวใส่ร้ายผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สวมรอยเข้ามาและมีอาวุธหนัก จึงต้องปราบปราม แต่ประชาชนไม่เชื่อและลุกฮือขึ้นสู้ด้วยความโกรธแค้น เลือดของประชาชนที่เปื้อนอยู่บนถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียงไม่ได้ทำให้ประชาชนหวาดหวั่น แต่ตรงกันข้าม กลับยิ่งหนุนเนื่องเข้าต่อสู้กับกองกำลังของหทารและตำรวจ ประชาชนในเขตกรุงเทพและอีกหลายท้องที่ในต่างจังหวัดลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล แม้แต่นักเรียนก็ยังออกมาต่อสู้ด้วย
“สถานการณ์วุ่นวายและสับสนอลหม่านอย่างที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่สังหารนั้นสยดสยองมาก สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ การติดต่อสื่อสารระหว่างมวลชนในสถานการณ์อันยุ่งเหยิงเช่นนั้นทำไม่ได้เลย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาขาดการติดต่อกับมวลชน ไม่มีใครรู้ว่าแกนนำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกทั้งยังมีข่าวลือว่าแกนนำนิสิตนักศึกษาบางคนเสียชีวิตไปแล้ว แกนนำที่ยังเหลืออยู่จึงมีการจัดตั้งศูนย์ปวงชนชาวไทยขึ้นมาชั่วคราวเพื่อประสานงานกับมวลชนและเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ โดยแกนนำของศูนย์ปวงชนชาวไทยบางคนก็อย่างเช่นจิรนันท์ พิตรปรีชา”
“นักเขียน กวีซีไรต์นี่ลุง” ลิงจ๋อพูด
“ใช่แล้ว คุณจิรนันท์ก็เป็นหนึ่งในผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม” ลุงแมวน้ำตอบ จากนั้นเล่าต่อ
“สุดท้ายทหารเองทนดูไม่ไหว ผบ.ทบ. ในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม โดย ผบ.ทอ. กับ ผบ.ทร. ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน สร้างแรงกดกัดแก่จอมพลถนอมเป็นอย่างมาก เพราะอำนาจที่คุมกองกำลังอย่างแท้จริงนั้นอยู่ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ที่ ผบ.สส.
“เรื่องราวเท่าที่เผยแพร่สู่สังคมก็มีเพียงสั้นๆเท่านี้ แต่ลุงแมวน้ำคาดว่าเรื่องนี้คงมีรายละเอียดเบื้องหลังอีกมากมายที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม เพราะในที่สุด ในตอนเย็นวันนั้นเอง จอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทหารและตำรวจยุติการปราบปรามประชาชนและถอยกลับเข้ากรมกอง ในตอนหัวค่ำ สถานีวิทยุก็ออกข่าวว่าถนอม ประภาส ณรงค์ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว
“ทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป สถานการณ์ความรุนแรงก็สงบลง” ลุงแมวน้ำเล่าจนจบพร้อมกับถอนหายใจเมื่อนึกถึงเหตุการณ์อันสยดสยองในอดีต
“คราวนี้จบจริงๆใช่ไหมฮะ” กระต่ายน้อยถาม
“คราวนี้จบจริงๆ” ลุงแมวน้ำตอบ “เมื่อเหตุการณ์รุนแรงยุติลง มวลชนที่เหลืออยู่ก็ร่วมแรงร่วมใจกันสะสางเรื่องราวต่อมา ทั้งสะสางสถานที่ ทั้งลำเลียงผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล จัดการกับศพของผู้เสียชีวิต รวมทั้งทำความสะอาดถนนหนทางและจัดการจราจร เพื่อให้ชีวิตและเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้แต่นักเรียนที่เป็นลูกเสือจราจรก็มาช่วยโบกรถตามสี่แยก”
“ฟังแล้วสยดสยองจัง” แม่ยีราฟพูดพลางหลับตาปี๋ “ไม่อยากนึกภาพตามเลย แล้วผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปเท่าไรนะลุง”
“เสียชีวิตไป 77 คนและบาดเจ็บพิการรวม 857 คน นี่คือยอดอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้ที่หายสาบสูญอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ที่หายสาบสูญนี้คาดว่าคงเสียชีวิตไปแล้ว” ลุงแมวน้ำตอบ
“แล้วหลังจากนั้นบ้านเมืองเป็นอย่างไรบ้างละลุง ดีขึ้นไหม” ลิงจ๋อถาม
“ถ้าดูในระดับจุลภาค ส่วนที่ร้ายก็มี นั่นคือครอบครัวของผู้ที่ล้มตาย และบาดเจ็บพิการ ครอบครัวของวีรชนเหล่านี้ต้องทุกข์โทมนัส เหล่านี้บางคนเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ครอบครัวต้องขาดรายได้ ไหนจะมีเรื่องค่ารักษาพยาบาลอีก ยิ่งผู้ที่บาดเจ็บพิการนั้นบางคนชีวิตเปลี่ยนไปราวกับตกนรก สถาบันครอบครัวต้องอัปปางลง สุดท้ายก็กลายเป็นวีรบุรุษที่โลกไม่ลืม แต่ก็ไม่ค่อยได้เหลียวกลับมาดูแลนัก
“แต่หากมองในแง่มหภาค การเปลี่ยนแปลงโดยประชาชนในครั้งนั้นทำให้สังคมไทยอภิวัฒน์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ยุคของการปกครองแบบคณาธิปไตยโดยคณะเผด็จการทหารหมดสิ้นลง เราได้รัฐธรรมนูญ และได้รัฐบาลผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าอิทธิพลของทหารจะยังไม่หมดไป แต่ก็ค่อยๆลดลง โดยเฉพาะในแง่ธุรกิจการค้า
“ดังที่ลุงบอกว่าในยุคนั้นเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยกระแสทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจไปได้อย่างรวดเร็ว มีการค้าการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หลัง 14 ตุลา จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นก็คือจากเดิมที่ธุรกิจต่างๆต้องพึ่งพาระบบทหารตำรวจอุปถัมภ์ อิทธิพลของระบบพรรคพวกเหล่านี้ก็ลดน้อยลง ก็กลายมาเป็นว่าใครจะทำธุรกิจการค้าก็ไม่ต้องไปพึ่งพาเส้นสายอิทธิพลของนายทหารตำรวจใหญ่ๆ ไม่ต้องมอบหุ้นลมให้ฟรีๆ ไม่ต้องเอารูปนายทหารตำรวจใหญ่มาติดผนัง การทำธุรกิจก็สะดวกและเสรีมากยิ่งขึ้น” ลุงแมวน้ำพูด
“จากวันนั้นถึงวันนี้ เหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันเกี่ยวข้องกันอย่างไรล่ะลุง ถึงได้เอามาเล่าเนี่ย” ลิงจ๋อถามอีก
“ไม่สังเกตหรือว่าเหตุการณ์หลายๆเรื่องในอดีตคล้ายคลึงกับในปัจจุบัน จะเรียกว่ากงล้อของประวัติศาสตร์หมุนเวียนมาอีกก็พอได้” ลุงแมวน้ำตอบ “และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สถานภาพของนิสิตนักศึกษาได้ถูกยกสูงขึ้นกว่าเดิมอีก หนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาถือเป็นเสาหลักต้นหนึ่งของสังคมทีเดียว และถูกเปรียบเป็นโคมที่ส่องแสงนำทางสังคมด้วย”
“ขนาดนั้นเชียว” ลิงจ๋อทึ่ง
“แน่นอน และหลังจากนั้นมา นิสิตนักศึกษาก็กระตือรือร้นและมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่องและมากมาย ซึ่งประเด็นนี้ต่างกับในปัจจุบัน ที่นิสิตนักศึกษายุคนี้เป็นยุคที่มีบทบาททางการเมืองน้อยกว่าสมัยนั้นมาก แต่เรื่องนี้ลุงของยกเอาไว้ก่อน ยังไม่พูดต่อ” ลุงแมวน้ำพูด “แต่ที่จะบอกก็คือว่าหนุ่มสาววีรชน 14 ตุลาในวันนั้น คือคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ และหนุ่มสาวที่ต่อต้านระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหารในวันนั้นบางส่วนก็กลายมาเป็นผู้สนับสนุนระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมในวันนี้นั่นเอง"
“ยังไงฮะลุง อธิบายความหมายหน่อยฮะ ป๋มยังไม่เข้าใจ” กระต่ายน้อยทำหน้าสงสัย กระดิกหางปุกปุยไปมา
“คณาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ปกครองประเทศแบบผูกขาดโดยคนเพียงกลุ่มเดียว สมัยก่อนเรามีคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหาร หมายความว่าเป็นการปกครองประเทศที่ผูกขาดโดยกลุ่มทหารเพียงกลุ่มเดียวนั่นเอง” ลุงแมวน้ำอธิบาย
“ฮะ แล้วคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมละฮะลุง” กระต่ายน้อยถามต่อ
“ก็คือระบอบการปกครองทีปกครองประเทศโดยคนกลุ่มเดียว เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนั้นไม่ใช่ทหาร แต่เป็นกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งที่ผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศเอาไว้นั่นเอง โดยเนื้อหาและรูปแบบแล้วคล้ายกันมาก เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครเท่านั้นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ
“แต่ตอนนี้เราเป็นประชาธิปไตยนะจ๊ะลุง ไม่ใช่เผด็จการ” ยีราฟแย้ง
“เมื่อก่อน ตอนยุค 14 ตุลา เราก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็เป็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เพียงแต่ว่าเป็นแต่ในนามไง แต่โดยเนื้อหาแล้วก็ต้องมาดูกันอีกที
“อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ เราก็เห็นประจักษ์ชัดแล้วว่าประเทศไทยถูกปกครองด้วยกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง ที่ครอบงำทั้งคณะรัฐบาลและสภา สามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้ที่ตนต้องการ รวมทั้งแก้ไขหรือไม่รับกฎหมายอะไรก็ได้ที่ตนไม่ต้องการ นี่ก็คือเนื้อหาเป็นคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมไง” ลุงแมวน้ำอธิบาย
“และที่สำคัญและน่าเหลือเชื่อก็คือ นิสิตนักศึกษาหลายคนที่ต่อต้านคณาธิปไตยเผด็จการทหารถนอม ประภาส ณรงค์ ในยุคโน้น กลายมาเป็นผู้สนับสนุนคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมในวันนี้” ลุงแมวน้ำพูดต่อ
“อึ้งกิมกี่” ลิงจ๋ออุทาน “ทำไมเป็นยังงั้นไปได้”