Wednesday, March 25, 2015

ธปท ปรับลดคาดการณ์จีดีพี หุ้นในตลาด SET น่าสนใจกว่า MAI


คาดการณ์การเติบโตจีดีพีเป็นร้อยละ (%) ในปี 2015, 2016 ของบางประเทศในย่านเอเชียตะวันออก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ไอเอมเอฟ (IMF) ปรับปรังล่าสุดเมื่อ มกราคม 2015


เมื่อไม่กี่วันมานี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์จีดีพีปี 2015 อยู่ที่ 3.8% เป็นตัวเลขใหม่ที่ปรับลดคาดการณ์ลงมา ในขณะเดียวกันศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยก็คาดการณ์การเติบโตของไทยปี 2015 ไว้ที่ 2.8% โห ยิ่งต่ำลงมาอีก สาเหตุก็เพราะงบลงทุนไหลออกมาช้า ส่งออกไม่ค่อยดี ราคาผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง หนี่ครัวเรือนสูง บลา บลา บลา ก็ถือว่าตัวเลขที่ประเมินใหม่นี้สะท้อนภาพเศรษฐกิจในเชิงบวกน้อยลง

วันนี้ขอลุงคุยในภาคเศรษฐกิจจริงบ้าง จากที่ลุงแมวน้ำสังเกตมาในงานบ้านและคอนโด งานท่องเที่ยว พบว่าคนเดินบางตาลง เวลาลุงแมวน้ำเดินทางไปที่ไหนมักชอบสอบถามชาวบ้านร้านค้าต่างๆ ก็พบว่ายอดขายลดลง แท้กซี่ก็มีผู้โดยสารลดลง (แต่ลุงก็แอบสงสัยว่าผู้โดยสารน้อยไหงเลือกรับผู้โดยสารจัง >.<) นี่ก็กำลังจะมีงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิตติ์อีกแล้ว ในวันพรุ่งนี้ ลุงก็จะลองไปสังเกตการค้าขายในงานดูอีกสักงาน แต่อีกภาพหนึ่ง หากเดินไปในห้าง ลุงแมวน้ำก็จะพบว่าร้านอาหารหรูบางร้านก็ยังมีคนต่อคิวยาว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้ที่มีกำลังซื้อก็ยังมีอยู่

ปัญหาหลักเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาต้องดำเนินไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น หากปวดหัวมาก ทำงานไม่ได้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือกินยาแก้ปวดไปก่อน แต่นั่นก็แค่หายปวดชั่วคราว ไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา หากจะแก้ที่ต้นตอก็เป็นเรื่องยาว ต้องไปตรวจรักษากันอีกยาว

ฉันใดก็ฉันนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของไทยตอนนี้สะสมทั้งเรื่องเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ต้องแก้กันยาว แต่อาการเฉพาะหน้าคือรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง สายป่านหมด ก็จำเป็นต้องเร่งบรรเทา ใครมาบริหารก็คงหนักใจเพราะต้องดูแลทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว อย่างเรื่องส่งไม่ออกนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมของเราเสียศักยภาพในการแข่งขันไปมาก ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารที่ยังพอได้อยู่ หากไม่แก้ที่โครงสร้างแม้จะลดค่าเงินบาทก็ยากที่จะเร่งยอดขายให้เติบโตต่อไปได้

และที่สำคัญมากก็คือเรื่องการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บ้านเรายิ่งนานการศึกษาก็ยิ่งแย่ ซึ่งการแก้ปัญหาก็ไม่ใช่ง่ายๆ

วันนี้ลุงแมวน้ำเอาภาพคาดการณ์การเติบโตในปี 2015 และ 2016 ของไอเอมเอฟที่อัปเดตล่าสุด มกราคม 2015 มาให้ดูกัน ตอนนั้นของไทยยังถูกคาดการณ์ไว้ที่ 4 กว่าๆ แต่อีกไม่นานไอเอ็มเอฟอาจปรับลดลง แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราการเติบโตสวยงามทั้งนั้น นี่แหละที่ลุงแมวน้ำบอกว่าประเทศในย่านนี้น่าสนใจกว่ายุโรปและอเมริกา ที่จริงไทยเราสามารถอาศัยโมเมนตัมของการเติบโตในภูมิภาคนี้เติบโตเกาะไปด้วยได้ นั่นคือ ทำตัวเป็นหน้าด่านของ CLM นั่นคือ เป็นหน้าด่านหรือประตูสู่พม่า ลาว และกัมพูชา เพราะโดยชัยภูมิแล้วเราอยู่ในตำแหน่งที่ดี ทำตัวเป็นขาใหญ่ในกลุ่ม TCLM ได้ และหากขยายการค้าให้ไกลออกไปอีก ก็เชื่อมไปได้ถึงอินเดีย จีนตอนใต้ และจีนตะวันตก เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และหากขายไปอีกก็ไปถึงบังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา พวกนี้อัตราเติบโตสูงทั้งนั้น

เอาละ ทีนี้มาพูดถึงการลงทุนกันบ้าง บริษัทในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าบริษัททั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้น หากบริษัททั่วไปบ่นว่าส่งไม่ออก แต่บริษัทในตลาดหุ้นที่ส่งออกไม่กระทบก็มี เนื่องจากโมเดลธุรกิจอาศัยโมเมนตัมของการเติบโตของเพื่อนบ้านและโตไปด้วย ที่จริงแล้วก็ยังมีบริษัทที่มีการเติบโตที่ดีให้เลือกลงทุน เสียแต่ว่าหลายตัวก็แพงแล้ว

จังหวะที่ตลาดปรับตัวนี่แหละ ทำให้หุ้นดีราคาแพงมีราคาลดลงมาให้อยู่ในระดับที่พอซื้อหาได้ ดังนั้น สำหรับนักลงทุนแล้ว นี่คือโอกาส เรื่องกลยุทธิ์การลงทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายคนก็กลัวตลาด หลายคนก็ติดหุ้นในราคาสูง เมื่อโอกาสดีๆมาถึงก็ไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้ นอกจากนี้ตอนนี้นักลงทุนหลายคนอาจตัดสินใจออกจากตลาดไปเลยเพราะหุ้นบางชนิดที่หวือหวานั้นลงไปลึกมาก นักลงทุนบางรายก็ถึงขั้นถอดใจ

ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป หุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นที่มีความสามารถในระดับที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ ซึ่งมักเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่หน่อย หุ้นขนาดเล็กทุนน้อย แข่งขันยากขึ้น ดังนั้นหากพูดรวมๆแล้วหุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นในตลาด SET โดยเฉพาะหุ้นนอก SET 50 ที่มาร์เก็ตแคปใหญ่หน่อย ส่วนหุ้นในตลาด mai ลุงกลับเห็นว่าต้องพิจารณาให้ดี เพราะแพงแล้ว อีกทั้งผลประกอบการสะท้อนว่าความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก นี่พูดในภาพรวมๆนะคร้าบ ข้อยกเว้นย่อมมี เพียงแต่เราต้องไปลงในรายละเอียดกัน

Sunday, March 15, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ สมดุลธรรมชาติ (2)



สมดุลแบบพลวัตร ปรากฏการณ์เกิดป่า


ลุงแมวน้ำหยิบภาพอีกใบหนึ่งออกมากางให้ดู เห็นเป็นภาพต้นไม้มากหมายหลายแบบ




“เรามาเริ่มต้นกันตรงที่ว่าเมื่อพื้นดินหลังจากที่ถูกไฟป่าเผาผลาญหรืออาจถูกมนุษย์รุกรานตัดทำลายไปจนหมด จนอยู่ในสภาพที่เหี้ยนเตียน มีแต่ดินและทราย อีกทั้งยังแห้งแล้ง รักษาความชื้นไว้ไม่ได้ ไม่มีพืชใดเลย หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามาดูตามภาพกันเลย

“แรกที่สุดเลย เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆที่ปลิวมาจากที่อื่นและมาตกในพื้นที่นี้ แต่พืชที่จะขึ้นได้เป็นพวกวัชพืช เพราะวัชพืชเป็นพืชที่มีลักษณะงอกง่าย อดทนต่อสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายได้ดี ส่วนเมล็ดพืชอื่นๆแม้จะตกลงมาเช่นกันแต่จะงอกและขึ้นไม่ได้เพราะสภาพพื้นดินไม่อำนวย เรื่องนี้ก็ตรงกับเรื่องกฎการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ (Law of Natural Selection) ยังจำได้ไหม ดังนั้น ในปีแรก พืชที่ธรรมชาติคัดเลือกให้เจริญในพื้นที่ได้ก็คือพวกวัชพืชคลุมดิน

“เมื่อมีวัชพืชคลุมดินแล้ว ดินก็เริ่มรักษาความชื้นเอาไว้ได้บ้าง พวกไม้ล้มลุกอายุสั้นหรือที่เรียกว่าพืชฤดูเดียวที่งอกง่ายจะเจริญขึ้นตามมา ดังนั้นในปีที่ 2 เราจึงเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเติบโตอยู่ในพื้นที่

“แม้ว่าไม้ล้มลุกงอกง่าย แต่วงจรชีวิตก็สั้น เพียงปีเดียวก็ตาย และเมื่อตายซากก็ทับถมอยู่บนผิวดินนั่นเอง ทำให้ดินอุดมขึ้นและเก็บความชื้นได้ดียิ่งขึ้น พอปีที่ 3 เราก็จะเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเพิ่มมากขึ้น มีไม้พุ่มตามมา และผ่านไปอีกหลายปี เมื่อดินสะสมความอุดมมากขึ้นอีก พวกไม้ยืนต้นที่เป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น สน ยูคาลิปตัส ก็จะขึ้นได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 3-25 เราจะค่อยๆเห็นไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน งอกตามมาเป็นลำดับ

“หลังจากปีที่ 25 ไม้เนื้ออ่อนจะเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นเผ่าพันธุ์เด่นในพื้นที่นั้น พวกไม้ล้มลุกและไม้พุ่มจะลดน้อยลง เนื่องจากไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนมีลักษณะยืนต้นและทรงใหญ่ บดบังแสงแดดไม่ให้ส่องลงพื้นดิน ไม้เล็กจึงอยู่ไม่ได้และล้มตายลง

“เมื่อไม้เล็กล้มตายลงทับถมบนดิน ดินก็ยิ่งอุดม ดังนั้น หลังจากที่มีไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนแล้ว ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งก็จะเริ่มงอกและเจริญเติบโตได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 25-100 เราก็จะเห็นไม้ยืนต้นพวกไม้เนื้ออ่อนเป็นพืชเด่น และมีไม้เนื้อแข็งขึ้นแซม เช่น ต้นต้นโอ๊คอันเป็นไม้เนื้อแข็งในเขตอบอุ่น หรือไม้เนื้อแข็งแบบป่าเมืองร้อนก็เช่น มะฮอกกานี เต็ง ตะเคียน ฯลฯ

ช่วงปีที่ 100-200 ไป ไม้เนื้อแข็งก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ป่าจะเริ่มทึบมากขึ้น จนไม้เนื้อแข็งกลายเป็นพืชเด่น และหลังจากนั้น คือปีที่ 200 เป็นต้นไป พื้นที่นี้ก็จะมีลักษณะป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์มาก

“โอ้โฮ จากพื้นดินโล่งและแล้ง กว่าจะกลายเป็นป่าได้ก็ตั้งสองร้อยปีขึ้นไปเชียว” ฮิปโปอุทาน

“ใช่แล้วแม่ฮิปโป” ลุงแมวน้ำตอบพร้อมกับถอนหายใจ “ป่าอันอุดมสมบูรณ์นั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ใช้เวลานับร้อยปี หรือหลายชั่วคนทีเดียว แต่การตัดไม้ทำลายป่านั้นใช้เวลาเดี๋ยวเดียว ป่าที่ถูกตัดหรือป่าที่ถูกไฟไหม้ก็ทำนองเดียวกัน คือกว่าที่จะกลับมาเป็นป่าดังเดิมต้องรออีกหลายร้อยปี”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วจึงพูดต่อ

“เรามาคุยเรื่องสมดุลแบบพลวัตรกันต่อ ตัวอย่างการเกิดป่านี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงสมดุลแบบพลวัตรได้ดียิ่งขึ้น นั่นคือ ความสมดุลบนความไม่สมดุล หมายถึงว่าสมดุลที่เกิดขึ้นคงอยู่ได้เพียงช่วงเวลาเดียว หลังจากนั้นสมดุลนั้นก็จะเสียไป และธรรมชาติก็จะค่อยๆปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่

และนอกจากนี้พรรณไม้ที่ขึ้นในแต่ละช่วงของการเกิดป่าล้วนแต่เป็นไปตามกฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทั้งสิ้น เมื่อสมดุลเดิมเสียไปและธรรมชาติปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ พืชพรรณที่เหมาะสมที่จะอยู่รอดก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้น กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทำงานร่วมกับสมดุลแบบพลวัตรเสมอ

“ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ไม้ล้มลุกคลุมดินนั่นไง ผิวดินมีแต่ไม้ล้มลุก นั่นแหละคือสมดุลของธรรมชาติ ณ ขณะนั้น แต่เมื่อไม้ล้มลุกอายุสั้นตายไป สมดุลก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง เพราะว่าดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น วันหนึ่งไม้เนื้ออ่อนก็งอกได้ สมดุลก็เปลี่ยนไปอีกนิดหนึ่ง และเมื่อไม้เนื้ออ่อนงอกได้มากขึ้น สมดุลค่อยๆเปลี่ยนทีละหน่อยไปเรื่อยๆจนในที่สุดกลายเป็นป่าไม้เนื้ออ่อน แต่ว่าป่านี้ก็ไม่ใช่จุดสมดุลที่ถาวร เพราะนานวันสมดุลก็เสียไปอีก และกลายเป็นป่าทึบ

“และป่าทึบนี้เหมือนกับจะเป็นสมดุลที่ถึงที่สุดแล้ว คือนี่แหละคงตัวแล้ว เหมือนกับต้นไม้ในขวดโหลปิดฝา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอก สมดุลแบบพลวัตรไม่มีวันสิ้นสุด มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย นั่นคือ ในที่สุดเมื่อป่าทึบมากก็สะสมซากกิ่งไม้ไว้มาก พวกนี้เป็นเชื้อเพลงอย่างดีเลย สักวันหนึ่งก็อาจเกิดไฟไหม้ป่าได้อีก แล้วทุกอย่างก็กลับไปตั้งต้นใหม่”




“สมดุลแบบพลวัตรไม่มีอะไรคงตัว และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นกฎของวัฏจักร ชิมิ ชิมิ” ลุงพูดอย่างถึงบางอ้อ

“แม่นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าวัฏจักรก็คือวงจรของสมดุลแบบพลวัตรนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “เห็นไหมว่าคุยกันไปคุยกันมา ก็วกกลับมาที่เรื่องเดิม คือวัฏจักร ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าการขี่จักรยานล้อเดียว หมาจิ้งจอกกับกระต่าย ป่าไม้ หรือแม้แต่การโคจรของดวงจันทร์ หรือระบบสุริยะ ล้วนแต่เป็นสมดุลแบบพลวัตร และก็อยู่ในกฎของวัฏจักรหรือกฎอนิจจังทั้งสิ้น”





“เดี๋ยวก่อนนะจ๊ะลุง ฉันขอขัดคอหน่อยเถอะ” ยีราฟพูดอย่างอดรนทนไม่ได้ “นี่ลุงจะคุยเรื่องธรรมะหรือคุยเรื่องหุ้นกันแน่ ฉันฟังเรื่องป่าของลุงแล้วยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับหุ้นหรือการลงทุนตรงไหนเลย ลุงพาออกป่าไปไกลเชียว”

“เออ นั่นสินะ” สมาชิกทุกตัวเห็นด้วย “ลุงแมวน้ำพาเดินออกป่าไปไกลเลย คงหลงป่าแล้วมั้ง”

“ลุงไม่ได้พาหลงป่า ก็อยู่แถวๆนี้แหละ ที่ลุงเล่ามานั้นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งนั้น” ลุงแมวน้ำพูด “ใจเย็นๆ ค่อยๆฟังลุงเล่า อย่ารีบ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นแนวคิด ดังนั้นต้องฟังแล้วค่อยๆคิด ค่อยๆทำความเข้าใจ อย่าใจร้อน


สมดุลแบบพลวัตรและทฤษฎีดาว


“พวกเราที่ศึกษาทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาบ้างคงรู้จักทฤษฎีดาว (Dow Theory) กัน โดยเฉพาะข้อหนึ่งที่บอกว่า price discounts all news หรือ ราคารับรู้ข่าวสารไว้แล้วทั้งหมด แปลความหมายได้ว่าราคาหุ้นคือผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดจากข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในตลาด

“ที่ลุงยกตัวอย่างสมดุลแบบพลวัตรด้วยตัวอย่างหมาจิ้งจอกกับกระต่ายนั้น ตัวอย่างนั้นมีตัวละครเพียงสองตัว คือหมาจิ้งจอกกับกระต่าย เวลาเราทำความเข้าใจก็จะง่าย เพราะสมดุลของหมาจิ้งจอกกับกระต่ายสัมพันธ์กัน หมาจิ้งจอกมากกระต่ายก็น้อย หมาจิ้งจอกน้อยกระต่ายก็มาก แล้วก็เขียนออกมาเป็นกราฟ 2 เส้น

“แต่ในกรณีของการเกิดป่า เราจะเห็นว่ามีปัจจัยมาเกี่ยวข้องมากมาย วัชพืช ไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้ลุ้มลุกพุ่ม ไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็ง ไม้แต่ละกลุ่มก็ประกอบด้วยหลายชนิดไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ แมลง และสัตว์อื่นๆเข้ามาอาศัยในป่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีผลต่อกันและกัน ซึ่งหากเขียนวัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตในป่าเป็นรายชนิด คงได้เส้นกราฟเป็นแสนๆเส้นทีเดียว

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของป่าหรืออาจพูดว่าสนใจดูดุลยภาพแบบพลวัตรของป่าในแบบองค์รวม เราก็ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตเป็นรายชนิด เราก็ดูเพียงแต่วัฏจักรของระบบนิเวศป่าเท่านั้น ซึ่งสามารถแทนได้ด้วยกราฟเพียงเส้นเดียว เพราะดุลยภาพของป่านั้นคือดุลยภาพของทุกสรรพสิ่งและสรรพชีวิตที่อยู่ในป่ามารวมกัน

“และทฤษฎีดาวที่ว่า price discounts all news นั้นก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องดุลยภาพแบบพลวัตรแบบองค์รวมนั่นเอง โดยราคาหุ้นนั้นเป็นผลมาจากข้อมูลข่าวทุกอย่างที่นักลงทุนรับรู้ ผ่านกระบวนการด้านอารมณ์ของนักลงทุน และออกมาเป็นแรงซื้อและแรงขายที่สู้กันและเข้าสู่ดุลยภาพในที่สุด แต่ดุลยภาพนั้นไม่คงตัว เพราะข้อมูลข่าวสารเปลี่ยน อารมณ์นักลงทุนเปลี่ยน ราคาก็เปลี่ยน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของราคาจึงเป็นสมดุลแบบพลวัตร คือสมดุลได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วสมดุลนั้นก็เคลื่อนตัวไป

“และการเคลื่อนตัวของสมดุลแบบพลวัตรนั้นเองที่ทำให้เกิดแนวโน้ม (trend) นี่ก็เป็นทฤษฎีดาวอีกเช่นกัน”

“อือม์ จริงด้วย” ลิงพยักหน้าแบบเข้าใจ ส่วนยีราฟยังทำหน้างุนงง

“ลุงอยากขอเสริมในประเด็น price discounts all news ในทฤษฎีดาวอีกสักหน่อย เราต้องเข้าใจให้กระจ่างว่าราคาหุ้นไม่ใด้เป็นดุลยภาพแบบพลวัตรของข้อมูลข่าวสารทุกอย่างในโลก เป็นแต่เพียงดุลยภาพของจิตวิทยานักลงทุนที่ตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารที่ตนรับรู้เท่านั้น

“ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A มีนักลงทุนเทรดกันเพียง 3 คน การเคลื่อนไหวของราคาเป็นผลมาจากจิตวิทยาของนักลงทุนทั้งสามคนนี้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ใช่ข่าวสารของทั้งโลกที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ แต่เป็นข้อมูลข่าวสารเท่าที่ทั้งสามคนรับรู้มาเท่านั้น

“ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง หุ้น google ที่นักลงทุนเทรดกันทั่วโลก สมมติว่ามีนักลงทุนเทรดกันสักหนึ่งล้านคน ราคาของหุ้น google ก็เป็นดุลยภาพของปัจจัยทางจิตวิทยาจากข้อมูลข่าวสารที่นักลงทุนทั่วโลกหนึ่งล้านคนนั้นรับรู้มา

“ดังนั้น ประโยคที่ว่า price discounts all news นั้น หากเป็นหุ้น A  คำว่า all news ก็คงหมายถึงข่าวสารเพียงไม่กี่ชิ้น เพราะเทรดกันเพียง 3 คน คนเพียง 3 คนจะไปรับรู้ข่าวอะไรได้มากมาย แต่หากเป็นหุ้น google คำว่า all news จะหมายถึงข้อมูลข่าวสารนับล้านชิ้นจากนักลงทุนล้านคนทั่วโลก สรุปว่า all news ไม่ใช่หมายถึงข้อมูลทั้งหมดจริงๆ แต่หมายถึงข้อมูลเท่าที่นักลงทุนที่เกี่ยวข้องรับรู้เท่านั้นเอง

“สุดท้ายนี้ ลุงแมวน้ำขอสรุปว่า สมดุลแบบพลวัตรอันเป็นกฎธรรมชาตินั้นสามารถนำมาประยุกต์กับการลงทุนได้ โดยยกตัวอย่างทฤษฎีดาวมาให้ดู ว่าสมดุลแบบพลวัตรนั้นทำให้เกิดวัฏจักรราคา และทำให้เกิดแนวโน้มได้อย่างไร และด้วยการต่อยอดหลักของสมดุลแบบพลวัตรนี้ ยังทำให้เรานำไปประยุกต์กับการกำหนดจุดซื้อขายได้อีกด้วย”

“หา ใช้กำหนดจุดซื้อขายได้จริงเหรอฮะลุง ทำได้ไงเนี่ย” กระต่ายน้อยสนใจ

“ยังไม่บอก ขอลุงพักก่อนนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ขอกั๊กหน่อย”