Thursday, August 9, 2012

09/08/2012 * มูลค่าแท้จริงของทองคำและน้ำมันดิบ (3)




วันนี้ลุงแมวน้ำจะขอคุยเรื่อง มูลค่าที่แท้จริงของทองคำและน้ำมันดิบ (ที่จริงรวมสินค้าอย่างอื่นด้วย) ให้จบ จากนั้นเราจะได้ไปดูเรื่องอื่นกันต่อไป

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ลุงแมวน้ำทิ้งท้ายเอาไว้ว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 25 ปี คือตั้งแต่ 1986 จนถึงปี 2011 ราคาน้ำมันดิบขึ้นแรงกว่าราคาทองคำเสียอีก แต่ทั้งคู่ก็ถือว่าชนะเงินเฟ้อ ดังนั้นเราน่าจะมาลงทุนในทองคำกับน้ำมันดิบเพื่อนต้านเงินเฟ้อกันดีกว่าไหม

เพื่อตอบคำถามนี้ วันนี้ลุงแมวน้ำนำเอากราฟที่พล็อตจากข้อมูลดิบเมื่อวันก่อนมาให้ดู คือเป็นกราฟที่เปรียบเทียบราคาสินค้าและดัชนีต่างๆ ตั้งแต่ ทองคำ น้ำมันดิบ บิ๊กแม็ค และดัชนีราคาผู้บริโภค พร้อมทั้งลุงแมวน้ำเพิ่มสินค้าเข้ามาให้อีก นั่นคือ ทองแดง กับ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJIA หรือ DJI) โดยลุงแมวน้ำคำนวณเป็นคะแนนมาตรฐาน คือให้ สินค้าและดัชนีทุกชนิดมีค่าเท่ากันในปี 1986 คือมีค่าเป็น 1 หน่วย เมื่อทุกชนิดถูกปรับให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ทีนี้เราก็สามารถเปรียบเทียบกันได้ว่าใครแรงกว่าใคร

เมื่อเห็นภาพนี้ หลายคนคงผิดคาด เรามาดูรายละเอียดของสินค้าและดัชนีทั้งหมดกันก่อน

  • เส้นสีน้ำตาล (CPI) คือดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา ในปี 1986 มีค่า 1 หน่วย ในปี 2011 มีค่า 2.05 หน่วย นั่นคือ หากพูดภาษาชาวบ้านก็คือเงินเฟ้อตลอด 25 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัว (คือจาก 1 ไป 2.05)
  • เส้นสีแดง เป็นดัชนีบิ๊กแม็ค (Big MAC index) ในปี 2011 มีค่า 2.38 หน่วย นั่นคือเงินเฟ้อตลอด 25 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวกว่าเล็กน้อย (คือจาก 1 ไป 2.38) ดัชนีบิ๊กแม็คใช้ประเมินภาวะเงินเฟ้อประกอบกับเส้น cpi
  • เส้นสีเขียว ราคาทองคำ 1986 มีค่า 1 หน่วย และสังเกตให้ดี หากดูจากกราฟจะพบข้อเท็จจริงว่าราคาทองคำตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา ราคาต้วมเตี้ยมๆ แพ้เงินเฟ้อมาโดยตลอดจนถึงปี 2007 (ที่บอกว่าแพ้เงินเฟ้อคือปีใดที่ราคาทองคำอยู่ใต้เส้น cpi ก็ถือว่าแพ้เงินเฟ้อ) เพิ่งมาชนะเงินเฟ้อในปี 2008 เป็นต้นมานี่เอง สาเหตุที่ทองคำเอาชนะเงินเฟ้อไม่ได้ก็เพราะว่าราคาทองคำอยู่ในแนวโน้มใหญ่ขาลงมาตั้งแต่ปี 1980 ถึงปี 2002 (ราคาไหลลงจาก 800 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ มาจนถึง 300 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ โดยประมาณ) คือเป็นขาลงประมาณ 22 ปี ใครที่ถือทองคำในช่วงที่ว่านี้จะเจ็บตัวเพราะทองคำสู้เงินเฟ้อไม่ได้เลย
  • เส้นสีดำ แสดง ราคานำมันดิบเบรนต์  (Brent Crude Oil) ปี 1986 มีค่า 1 หน่วย และในปี 2011 มีราคา 7.83 หน่วย ราคาขึ้นมาเจ็ดเท่ากว่าๆ แต่สังเกตดูเส้นกราฟว่าผันผวนเป็นรถไฟเหาะ เมื่อถึงคราวลงก็ลงแรง เช่นในปี 2008
  • เส้นสีเหลือง แสดง ราคาโลหะทองแดง (copper) ปี 1986 มีค่า 1 หน่วย และในปี 2011 มีราคา 5.68 หน่วย ราคาขึ้นมาเกือบๆหกเท่าตัวในช่วงยี่สิบห้าปี ดูไปแล้วถือคุ้มกว่าทองคำเสียอีก ทองแดงถือเป็นตัวแทนของโลหะอุตสาหกรรม หากสังเกตดูกราฟจะพบว่าราคาผันผวนมากจนน่ากลัว พอๆกับหรืออาจจะมากกว่าน้ำมันดิบเสียอีก และหากสังเกตต่อไปจะพบว่า ราคาทองแดงบางปีก็แพ้เงินเฟ้อ (ปีที่เส้นกราฟทองแดงอยู่ใต้เส้น cpi)
  • เส้นสีฟ้า แสดงราคาหรือมูลค่าของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา โดยดูจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์นั่นเอง ปี 1986 มีค่า 1 หน่วย และในปี 2011 มีราคา 5.17 หน่วย ถือหุ้นก็ดีกว่าถือทองคำ
  • เส้นสีเทา แสดงราคาหรือ มูลค่าของพันธบัตร 30 ปีของรัฐบาลอเมริกัน (30 year US bond return) ปี 1986 อัตราดอกเบี้ยในปีนั้นอยู่ที่ 6.5% โดยประมาณ การคิดของลุงแมวน้ำในที่นี้คิดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ดอกเบี้ยรับก็เก็บไว้ ไม่ได้ลงทุนต่อ สมมติว่าพันธบัตรราคา 1 หน่วย สิ้นปีก็รับดอกเบี้ย 6.5 สตางค์ แสดงว่าสิ้นปีเงินของลุงแมวน้ำงอกมาเป็น 1.065 หน่วย พอสิ้นปี 1987 ก็รับดอกเบี้ยอีก 6.5 สตางค์ ลุงแมวน้ำก็จะมีเงินในปลายปี 1987 เป็น 1.065+065 = 1.13หน่วย คิดทบแบบนี้ไปเรื่อยๆ

เมื่อดูจากกราฟที่แปลงเป็นคะแนนมาตรฐานแล้วจะทำให้พบข้อเท็จจริงหลายคนอาจนึกไม่ถึงมาก่อน นั่นคือ

  • หากพิจารณาในแง่การเป็นสินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ ทองคำไม่ใช่สินทรัพย์ชนิดเดียวที่ต้านเงินเฟ้อได้
  • ยิ่งไปกว่านั้น ทองคำไม่ใช่สินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อที่ดีนักเสียด้วยซ้ำ (เพราะมีหลายปีที่อยู่ใต้เส้น cpi) ส่วนน้ำมันดิบกับทองแดงก็ผันผวนมาก มีบางปีก็แพ้เงินเฟ้อ
  • หุ้นดูจะเป็นสินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อที่ดี เพราะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้เสมอ ไม่มีปีใดที่แพ้เงินเฟ้แ
  • พันธบัตรรัฐบาล 30 ปี ก็ดูจะเป็นสินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อที่ดีได้ เพราะว่าหากดูจากกราฟก็สามารถชนะเงินเฟ้อได้ทุกปีเช่นเดียวกับหุ้น แต่ว่าสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินทรัพย์ได้ไม่ดีเท่ากับหุ้น (ก็คือกำไรดีไม่เท่ากับลงทุนหุ้นนั่นเอง)

แต่ แต่ และ แต่ ต้องเข้าใจเงื่อนไขของกราฟทุกเส้นในภาพนี้ให้ดีก่อน เพราะว่าลุงแมวน้ำสมมติว่าลงทุนในปี 1986 แล้วถือยาว หากดป็นหุ้น ทองคำ น้ำมัน ทองแดง ฯลฯ ก็ถือเรื่อยมาโดยไม่ขาย หากเป็นพันธบัตรก็ถือแล้วรับดอกเบี้ยเรื่อยมา หากไปลงทุนในปีอื่น หมายถึงว่าไปตั้งต้นค่า 1 ที่ปีอื่นๆ กราฟที่ได้ก็จะไม่เป็นแบบนี้ รวมทั้งผลตอบแทนการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้น ลงทุนทองคำ ลงทุนน้ำมัน ลงทุนทองแดง หรือลงทุนพันธบัตร ก็อาจไม่ได้มีการแพ้เงินเฟ้อหรือชนะเงินเฟ้อตามกราฟรูปนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จากภาพนี้ก็ยังพอทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะชนะเงินเฟ้อด้วยการลงทุนรูปแบบต่างๆ นั่นก็คือ

การลงทุนพันธบัตรในพันธบัตรอายุยาวๆโดยทั่วไปแล้วแม้ชนะเงินเฟ้อได้ก็ไม่มากมายนัก แค่พอเอาตัวรอด แต่ก็ความเสี่ยงต่ำ (ดูจากเส้นกราฟที่ผันผวนน้อยมาก นั่นคือความเสี่ยงต่ำ)

การลงทุนหุ้นนั้นผันผวนแต่ก็สร้างผลตอบแทนที่ดี ความเสี่ยงสูงเป็นลำดับถัดมา

การลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ ทองแดง น้ำมันดิบ) มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาอีก เพราะผันผวนมาก (ดูจากเส้นกราฟที่แกว่งขึ้นลงแรง) อีกทั้งมีโอกาสแพ้เงินเฟ้อในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ โดยเฉพาะการลงทุนทองคำ หากพิจารณาจากกราฟนี้แล้วคงทำให้คิดว่าที่จริงแล้วทองคำก็ไม่ได้มีเสน่ห์อะไรมากมาย และที่น่าสังเกตก็คือที่เรามักพูดกันว่าทองคำเป็นสินทรัพย์มั่นคง ใช้ต้านเงินเฟ้อ แต่หากดูจากพฤติกรรมราคาแล้ว ทองแดงก็พอๆกับทองคำ เสี่ยงพอกัน ผลกำไรดีพอกัน โอกาสขาดทุนพอกัน ฯลฯ น้ำมันก็ด้วย ที่จริงแล้วทองคำไม่ได้มั่นคงกว่าทองแดงและน้ำมันเลย เพียงแต่ว่าโดยสภาพของสินค้าและพฤติกรรมการลงทุนนั้นไม่มีใครซื้อทองแดงกับน้ำมันดิบมาเก็บไว้ที่บ้าน ดังนั้นในแง่ความเหมาะสมต่อการเก็บรักษาก็ต้องเลือกทองคำ แต่หากมองในแง่การลงทุนก็ไม่ได้มั่นคงต่างกัน และนี่เองคงเป็นสาเหตุที่ลุงวอเรน บัฟเฟต ไม่ชอบทองคำเอาเสียเลย แกชอบหุ้นมากกว่า

ในความเห็นของลุงแมวน้ำ ขณะนี้ทองคำไม่ใช่สินทรัพย์มั่นคงอีกต่อไปแล้ว ต่างจากเมื่อก่อน เพราะว่าเมื่อก่อนนานาประเทศใช้ทองคำเป็นทุนสำรองเพื่อหนุนระบบเงินตรา แต่ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้แล้ว แม้บางประเทศจะใช้ทองคำหนุนระบบเงินตราก็ใช้เพียงบางส่วน ดังนั้นทองคำในปัจจุบันจึงมีค่าเสมือนเงินตราสกุลหนึ่ง รวมทั้งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เก็งกำไรกันอย่างหนักมือ ต่อไปจะยิ่งไม่มีใครใช้ทองคำหนุนระบบเงินตรา เพราะว่าถึงอยากใช้ก็ใช้ไม่ไหว เนื่องจากปริมาณทองคำที่มีอยู่ทั่วโลกมีไม่เพียงพอรองรับระบบการค้า คิดง่ายๆ ปัจจุบันมีทองคำอยู่ในโลกประมาณ 142,000 เมตริกตัน หากคำนวณมูลค่าโดยคิดราคาทองคำที่ 1500 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ ทองคำ 142,000 เมตริกตันจะมีมูลค่าประมาณ 6.85 ล้านล้าน ดอลลาร์ สรอ แต่ขณะนี้หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มากถึง 10.85 ล้านล้าน ดอลลาร์ สรอ แล้ว นี่ยังไม่รวมปริมาณการค้าธุรกรรมการเงินต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก ดังนั้นหากจะติดยึดกับมูลค่าทองคำ เศรษฐกิจโลกจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้

และจากการที่ปัจจุบันปริมาณทองคำมีไม่เพียงพอกับระบบการค้าในโลก ลองคิดดูเล่นๆว่าหากยุโรปถดถอยอย่างแรง เงินยูโรย่อมต้องอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ผู้ที่ถือเงินยูโรคงอยากเปลี่ยนไปถืออย่างอื่นมากกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะทิ้งเงินยูโรไปถือทองคำกันทั้งหมด เพราะว่าทองคำมีไม่พอ ดังนั้นก็ต้องพยายามไปซื้อเงินตราสกุลอื่นแทน แต่เงินฟรังก์สวิสที่แข็งแกร่งก็มีปริมาณเงินหมุนเวียนในโลกไม่มากนัก เงินเยนแม้จะเป็นสกุลแข็งแต่ก็ไม่พอเช่นกัน ดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลีย ก็มีปริมาณเงินไม่มาก เงินหยวนก็ยังไม่อินเตอร์พอ หาแลกได้ยาก ถ้าเช่นนั้นอะไรที่พอจะเข้าไปพึ่งพาได้ คิดแล้วก็มีแต่เงินดอลลาร์ สรอ นั่นเอง เพราะมีปริมาณหมุนเวียนอยู่ในโลกมากมายและเพียงพอ

ดังนั้น แม้ใครจะมองว่าดอลลาร์ สรอ เน่าเพียงใดก็ตาม แต่สุดท้ายทองคำก็พึ่งไม่ได้เพราะปริมาณมีจำกัด ขณะนี้ก็ต้องดอลลาร์ สรอ เท่านั้น นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ ดอลลาร์ สรอ ยังแข็งค่าแม้ใครต่อใครจะบอกว่าดอลลาร์ เน่าแล้ว ต้องอวสานแน่ๆ และนี่เองเป็นเหตุผลที่เงินเยนยังแข็งแกร่งได้แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นก็ตาม

ดอลลาร์ สรอ ยังคงเป็นที่พักพิงหลักของผู้ที่หนีจากเงินยูโรต่อไปอีกหลายปี แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่สหรัฐอเมริกาจะพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อใช้ในมาตรการ QE ต่างๆก็ตาม นอกจากนี้ ที่พึ่งพิงรองก็คงเป็นเงินตราสกุลแข็งอื่นๆดังที่ว่ามา

และอีกประการที่ลุงแมวน้ำอยากฝากข้อคิดไว้จากกราฟนี้ ก็คือ สินทรัพย์แต่ละชนิดให้ผลตอบแทนดีไม่เท่ากัน และความเสี่ยงก็ไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นการลงทุนในระยะยาวต้องมีการกระจายความเสี่ยง หลักการลงทุนให้มีกำไรนั้นต้องจำกัดความเสี่ยงไว้ให้ได้ คือต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่รู้เทคนิคดีหรือรู้ปัจจัยพื้นฐานดี การรู้จักบริหารความเสี่ยงและจำกัดความเสี่ยงให้ควบคุมได้คือหัวใจที่สำคัญครับ ไม่อย่างนั้นเงินต้นจะสูญ เข้าตำราทุนหายกำไรหดได้

จบแล้วคร้าบ ^__^




Tuesday, August 7, 2012

07/08/2012 สรุปภาวะการลงทุนประจำเดือนกรกฎาคม (07/2012)



วันนี้ลุงแมวน้ำนำรายงานภาวะการลงทุนประจำเดือนกรกฎาคมมาให้ดูกันตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้น ยุโรปปรับตัวขึ้นมากที่สุด ส่วนเอเชียดูไม่ค่อดี ที่ขึ้นก็ขึ้นเล็กน้อย ที่ลงแรงก็มี ที่น่าสังเกตคือจีน ตลาดหุ้นจีนลงเอาลงเอามาพักใหญ่แล้ว ตลอดเดือนที่ผ่านมาก็ลงไปถึง -5.23% สัญญาณทางเทคนิคยังไม่มีอะไร ยังคงเป็นแนวโน้มขาลง ซึ่งน่าเป็นห่วงเนื่องจากหากลงต่อไปอีกสักระยะหนึ่งคงส่งผลกระทบต่อเอเชียรุนแรงมากขึ้น