Tuesday, August 7, 2012

07/08/2012 สรุปภาวะการลงทุนประจำเดือนกรกฎาคม (07/2012)



วันนี้ลุงแมวน้ำนำรายงานภาวะการลงทุนประจำเดือนกรกฎาคมมาให้ดูกันตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้น ยุโรปปรับตัวขึ้นมากที่สุด ส่วนเอเชียดูไม่ค่อดี ที่ขึ้นก็ขึ้นเล็กน้อย ที่ลงแรงก็มี ที่น่าสังเกตคือจีน ตลาดหุ้นจีนลงเอาลงเอามาพักใหญ่แล้ว ตลอดเดือนที่ผ่านมาก็ลงไปถึง -5.23% สัญญาณทางเทคนิคยังไม่มีอะไร ยังคงเป็นแนวโน้มขาลง ซึ่งน่าเป็นห่วงเนื่องจากหากลงต่อไปอีกสักระยะหนึ่งคงส่งผลกระทบต่อเอเชียรุนแรงมากขึ้น






Friday, August 3, 2012

03/08/2012 * มูลค่าแท้จริงของทองคำและน้ำมันดิบ (2) : ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีบิ๊กแม็ค



เมื่อวานเป็นวันหยุด ลุงแมวน้ำได้พักวันหนึ่ง ค่อยยังชั่ว ^_^

เมื่อวานคือวันที่ตลาดหุ้นรอคอย คือรอฟังผลการประชุม ECB ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่บอกทำนองว่าเรื่องมาตรการต่างๆในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรปจะค่อยๆทยอยออกมาในอีกสองสามสัปดาห์ข้างหน้า คำพูดนี้จะว่าไปก็แล้วแต่อารมณ์ของผู้ที่ได้รับสาร หากจะมองว่าเป็นเรื่องดีก็มองได้ เพราะว่าอีกไม่นานอีซีบีก็จะมีมาตรการออกมา แต่หากจะมองร้ายก็มองได้ว่าไม่มีอะไรใหม่ พูดแล้วก็ยังอึมครึม แต่ตลาดเลือกที่จะมองในแง่ร้าย ดังนั้นเมื่อวานตลาดหุ้นยุโรปจึงปิดแดง ที่ลงแรงคือเยอรมนี -2.2% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดแดง -0.7% ลงน้อยกว่าเยอรมนี

ปัจจัยทางจิตวิทยาเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก โดยเฉพาะจิตวิทยาของมหาชน บางทีเรานึกว่านี่จะเป็นข่าวดีตลาดน่าจะขึ้น ตลาดหุ้นกลับลง บางทีเรานึกว่าจะเป็นเรื่องร้าย ตลาดควรจะลง ตลาดกลับขึ้น กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ดังนั้นการดักซื้อหรือดักขายล่วงหน้าโดยพยายามคาดเดาจิตวิทยามหาชนแท้ที่จริงแล้วก็อาจมีโอกาสคาดเดาถูกได้พอๆกับการโยนเหรียญแล้วทายว่าหัวหรือก้อยเท่านั้น ลุงแมวน้ำคิดว่าหากจะลงทุนอย่างต่อเนื่องและอยู่ในตลาดให้ได้นานควรไปทำตามแนวโน้มดีกว่า

หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปลง ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาก็ลงตามไปด้วยนอกจากลงตามตลาดยุโรปแล้วคงผสมกับเรื่องผิดหวังที่ยังไม่มี QE3 ก็ได้ แต่เนื่องจากตัวเลขอัตราการว่างงานพอดูได้ ดังนั้นตลาดจึงมีรีบาวด์ขึ้นมาบ้าง แต่ก็ดังที่ลุงแมวน้ำเคยคุยเอาไว้ให้ฟังว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกานั้นมีวิธีคำนวณหลายแบบ คือทางการเองก็มีตั้ง 6 วิธีคำนวณ ดังนั้นหากจะทำความเข้าใจกับสภาพของตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกาควรต้องเข้าไปดูรายละเอียดวิธีการคำนวณให้รู้ที่มาที่ไปด้วย

ด้านค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน ผลจากการที่ตลาดหุ้นในยุโรปและ สรอ ร่วง ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ แข็งค่าขึ้นมา เมื่อคืน usd index วิ่งจาก 82.3 จุด ไป 83.5 จุดอย่างรวดเร็ว เงินยูโรกับฟรังก์สวิสอ่อนค่าลง -0.4% เงินเยนแข็งค่า +0.3% ส่วนเงินบาทและดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่า -0.1%

ด้านด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ผลจากเงินดอลลาร์ สรอ ที่แข็งค่า เมื่อคืนราคาทองคำลงไป -0.9% โลหะเงิน -1.7% ราคาน้ำมันดิบ wti ก็ลงไป -1.8% แต่น้ำมันดิบเบรนต์ไม่ยอมลง กลับขึ้นสวนแบบผิดสังเกต โดยปิดบวกไป +0.1% ลุงแมวน้ำยังไม่ได้ตามข่าวเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลงนิดหน่อย ดัชนีสินค้าเกษตรปิดที่ 92.01 จุด -1%

ช่วงนี้สินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าทองคำ น้ำมัน และสินค้าเกษตร เก็งกำไรกันอย่างหนัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ลากกันจนเกินจริง ใครที่ถือไว้นานแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร รอสัญญาณขายแล้วค่อยว่ากัน แต่ใครที่คิดโดดเข้าไปตอนนี้ต้องคิดหนักสามตลบเลย เพราะเมื่อไรที่ราคาร่วง ราคาน่าจะลงเร็วมาก



มูลค่าแท้จริงของทองคำและน้ำมันดิบ (2) : ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีบิ๊กแม็ค (Big MACIndex)


วันนี้เรามาคุยกันเรื่องมูลค่าที่แท้จริงของทองคำและน้ำมันดิบกันต่อ

วันก่อนลุงแมวน้ำทิ้งท้ายเอาไว้ว่าคุณค่าทองคำนั้นเป็นเรื่องอุปโลกน์กันขึ้นมา ในอดีตที่ผ่านมาก็มีสินค้าชนิดอื่นที่อุปโลกน์กันว่าเป็นทรัพย์สินมีค่า เช่น เกลือ ในยุคโรมัน ที่จริงไม่ต้องย้อนไปถึงยุคโรมันหรอก ย้อนไปแค่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง เกลือก็เป็นของหายากในหลายๆพื้นที่ในประเทศไทย ตอนนั้นเกลือก็แพงพอๆกับทองเช่นกัน ดังนั้นก็ไม่แน่เหมือนกันว่าต่อไปโลกอาจหันไปถือเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นของมีค่าแล้วทองคำจะเสื่อมค่าไป แต่นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้ทองยังมีค่าเราก็พยายามหาวิธีประเมินมูลค่าของทองคำไปก่อน

โดยทั่วไปชาวบ้านมักเทียบราคาทองกับราคาข้าวปลาอาหาร ซึ่งนัยของการเปรียบเทียบนี้แท้ที่จริงแล้วก็คือการเปรียบเทียบราคาทองคำกับอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง สมมติง่ายๆ เช่น เมื่อ 20 ปีก่อน ทองคำบาทหนึ่งซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 300 ชาม เดี๋ยวนี้ทองคำบาทหนึ่งก็ซื้อได้ 300 ชามเช่นเดิม ก็แปลความได้ว่าทองคำขึ้นตามเงินเฟ้อ แบบนี้จะถือทองคำหรือถือเงินสดก็ได้ ผลไม่ได้แตกต่างกัน

แต่หากปัจจุบันทองคำหนึ่งบาทซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 400 ชาม ก็ตีความง่ายๆว่าราคาทองคำชนะเงินเฟ้อ แบบนี้ถือทองคำดีกว่าถือเงินสด เพราะทองคำให้อำนาจซื้อมากกว่า แต่หากซื้อได้เพียง 200 ชามก็เท่ากับว่าราคาทองคำแพ้เงินเฟ้อ แบบนี้ถือเงินสดดีกว่าถือทองคำ เพราะเงินสดมีอำนาจซื้อมากกว่าทองคำ เป็นต้น

แต่การประเมินภาวะเงินเฟ้อด้วยก๋วยเตี๋ยวนั้นไม่ค่อยเท่เท่าไร เพราะอิงกับสินค้าเพียงรายการเดียว ดังนั้นโดยปกติแล้วนักเศรษฐศาสตร์มักคำนวณอัตราเงินเฟ้อด้วยราคาสินค้าหลายๆชนิดแล้วนำมาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกัน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ผัก ค่าเช่าบ้าน บลา บลา บลา รวมแล้วนับร้อยรายการ ฯลฯ แล้วเรียกเสียใหม่ให้เก๋ เท่ ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ consumer price index หรือ cpi นั่นเอง ปัจจุบันหากชาวบ้านคิดเรื่องเงินเฟ้อก็อาจคิดถึงราคาก๋วยเตี๋ยวของเมื่อก่อนเทียบกับปัจจุบัน แต่หากทางราชการคิดก็ต้องคิดด้วยราคาสินค้าหลายๆอย่างแล้วรายงานออกมาเป็นค่า cpi ซึ่งที่จริงก็คือความหมายเดียวกันนั่นเองคือต้องการรู้สภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งพอใช้ไปใช้มา เรื่องดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับชาวบ้านทั่วไป ดังนั้นในบ้านเราจึงมีดัชนีง่ายๆที่ชาวบ้านใช้กันอีกดัชนีหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีมาม่า นั่นเอง ซึ่งดัชนีมาม่านั้นก็เป็นแนวคิดเดียวกับดัชนีก๋วยเตี๋ยวอดีตนั่นเอง แต่ว่ามาม่าฟังดูทันสมัยดี ^_^

ในขณะที่เมืองไทยมีดัชนีมาม่า ฝรั่งก็มีดัชนีทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน นั่นคือ ดัชนีบิ๊กแม็ค (Big MAC index) อันเป็นดัชนีที่เปรียบเทียบราคาแฮมเบอร์เกอร์ชนิดบิ๊กแม็คในปีต่างๆเอาไว้ ที่สำคัญคือดัชนีบิ๊กแม็คนี้เป็นดัชนีระดับอินเตอร์ทีเดียว คือ มีการคำนวณในเงินตราหลายสกุล เช่น ดัชนีบิ๊กแม็คที่เป็นเงินบาท ที่เป็นเงินยูโร ที่เป็นเงินเยน ฯลฯ

เอาละ ตอนนี้เราก็มีดัชนีสำหรับชี้วัดภาวะเงินเฟ้อกันหลายตัวแล้ว คือ cpi มาม่า และบิ๊กแม็ค ลุงแมวน้ำจะลองเอาดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา กับดัชนีบิ๊กแม็คของสหรัฐอเมริกา (ใช้ราคาจากร้านในนิวยอร์กมาคำนวณ) มาเทียบกับราคาทองคำและน้ำมันดิบดูที่เป็น ดอลลาร์ สรอ ดังนี้


ตารางเปรียบเทียบดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา ดัชนีบิ๊กแม็คของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และราคาทองคำกับราคาน้ำมันดิบ


ตารางที่เห็นข้างบนนี้เป็นตารางที่คำนวณโดยปรับให้ดัชนี cpi กับ Big MAC index และราคาน้ำมันดิบกับทองคำในปี 1986 มีค่าเป็น 1 หน่วยเท่ากันหมด จากนั้นเราก็ติดตามดูว่าเมื่อเวลาผ่านไป ค่าทั้งสี่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ดูที่ปี 2011 กัน

ปี 2011 ค่า cpi ของ สรอ อยู่ที่ 2.05 หน่วย จากที่ปี 1986 อยู่ที่ 1.0 หน่วย แปลความว่าจากปี 1986 ถึงปี 2011 ราคาสินค้าข้าวปลาอาหารโดยทั่วไปของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว คือเดิมสินค้าราคา 1 usd ในปี 1986 พอมาในปี 2011 สินค้าตัวนั้นราคากลายเป็น 2.05 usd แล้วนั่นเอง

ปี 2011 ค่าดัชนีบิ๊กแม็ค ของ สรอ อยู่ที่ 2.38 หน่วย จากที่ปี 1986 อยู่ที่ 1.0 หน่วย แปลความว่าจากปี 1986 ถึงปี 2011 ราคาสินค้าข้าวปลาอาหารโดยทั่วไปของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวกว่าๆ คือเดิมสินค้าราคา 1 usd ในปี 1986 พอมาในปี 2011 สินค้าตัวนั้นราคากลายเป็น 2.38 usd แล้วนั่นเอง เมื่อมองด้วยดัชนีบิ๊คแม็ค ภาวะเงินเฟ้อของ สรอ แรงกว่ามองด้วยดัชนี cpi นิดหน่อย

ทีนี้มาดูราคาทองคำกับน้ำมันดิบกันบ้าง

ทองคำ ปี 1986 เทียบให้มีราคา 1 usd พอมาปี 2011 กลายเป็นราคา 4.27 usd

น้ำมันดิบ ปี 1986 เทียบให้มีราคา 1 usd พอมาปี 2011 กลายเป็นราคา 7.83 usd

จากข้อมูลที่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดู จะเห็นว่าราคาทองคำนั้นชนะอัตราเงินเฟ้อแบบขาดลอย ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ต้านเงินเฟ้ออย่างได้ผล และที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้น น้ำมันดิบกลับกลายเป็นสินทรัพย์ที่ต้านเงินเฟ้อได้เด็ดขาดยิ่งกว่าทองคำเสียอีก ใครตุนน้ำมันดิบใส่ปิ๊บไว้หลังบ้านดีกว่าตุนทองอีก ลุงแมวน้ำเปรียบเทียบนะ อย่าตุนเองไว้จริงๆล่ะ เชื้อเพลิงทั้งนั้น หากตุนจริงๆสุดท้ายคงไม่มีอะไรเหลือเพราะพระเพลิงกินหมด

ในเมื่อทองคำกับน้ำมันดิบต้านเงินเฟ้อได้ชงัด ดังนั้นเรามาลงทุนทองคำกับลงทุนน้ำมันดิบเพื่อต้านเงินเฟ้อกันดีกว่าไหม

คำตอบนี้เอาไว้คุยกันต่อวันวันถัดไปนะคร้าบ ก่อนที่ลุงแมวน้ำจะเฉลย จะลองแสดงความเห็นกันก่อนก็ได้นะครับ มีรางวัลให้คือผู้ที่ตอบถูกใจ ลุงแมวน้ำจะไปอยู่ด้วย ^__^