Wednesday, April 15, 2015

ธุรกิจเพื่อสังคม กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ







บทความในวันนี้เขียนต่อจากเมื่อวาน ที่จริงน่าจะนับเป็นตอนที่ 3 แต่เนื่องจากอาจจะทำให้บทความดูยาวไป ไม่น่าอ่าน จึงขอตัดตอน เปลี่ยนหัวเรื่องเอาดื้อๆเลย แต่ที่จริงเนื้อหาก็ต่อเนื่องกันนั่นแหละ คือการอัปเดตผลงานในรอบปีที่ผ่านมาของลุงแมวน้ำ ^_^


การลงทุนในตลาดฮ่องกงของลุงแมวน้ำ


มาคุยกันเรื่องการลงทุนในตลาดฮ่องกงกันต่อ

ลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดหุ้นฮ่องกงมีข้อดีหลายอย่าง อัตราแลกเปลี่ยนก็นิ่ง ตลาดหุ้นมีพีอีต่ำ หุ้นถูกๆยังมีอยู่มาก เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่กลัวว่าเศรษฐกิจจีนจะเกิดวิกฤตอันเนื่องจากจีนเร่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันมานานนับสิบปี ก็เกรงกันว่าเครื่องยนต์จะพัง ฟองสบู่ของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์จะแตก ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจึงร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

แต่สำหรับประเด็นนี้ลุงไม่ค่อยกลัว เพราะเท่าที่ลุงติดตามเศรษฐกิจจีนมาหลายปี ลุงเห็นว่าฟื้นตัวได้และตลาดหุ้นจีนก็ส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว ลุงจึงเข้าไปลงทุนในราวไตรมาสสามของปี 2014 ซึ่งตอนนั้นตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ในแผ่นดินใหญ่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ในขณะเดียวกันฮ่องกงเกิดความไม่สงบทางการเมือง กลุ่มคนหนุ่มสาวเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ที่เรียกว่าเหตุการณ์ Occupy Central นั่นเอง ตอนนั้นตลาดหุ้นฮ่องกงได้รับผลกระทบไปไม่น้อย ดังนั้นไม่ได้ฟื้นตัวตามตลาดเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนของลุง


เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง Occupy Central ในฮ่องกงเมื่อปี 2014

ตลาดหุ้นฮ่องกงยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น ไม่เสียภาษีกำไรจากการขายหุ้น (capital gain tax) รวมทั้งเงินปันผลจากหุ้นที่ได้รับก็ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย ภาษีเหล่านี้เป็นต้นทุนของนักลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ข้อมูลราคาหุ้น งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน รายละเอียดต่างๆสามารถหาดูได้ง่ายและเป็นภาษาอังกฤษด้วย (ในบางประเทศข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาท้องถิ่น)

ลุงแมวน้ำก็เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทยาและไบโอเทค เนื่องจากจีนมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข อีกทั้งชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หุ้นบริษัทยาของจีนเติบโตดี มีหุ้นถูกให้เลือกมากพอควร ก็เลือกซื้อไปหลายบริษัท ตอนที่สถานการณ์ทางการเมืองดุเดือด หุ้นฮ่องกงของลุงหล่นไป -20% แต่ลุงก็เฉยๆ ตอนนี้กลับมาทำกำไรแล้ว ได้ผลตอบแทนประมาณ 40%-50% ยังไม่ได้ขายเพราะคิดว่ายังไปต่อได้อีก แต่ถ้าขึ้นเยอะๆลุงก็ขายนะ เปลี่ยนไปตัวอื่นแทน ^_^

หุ้นกลุ่มยาและไบโอเทคของลุงหากเทียบกับหุ้นยอดนิยมอย่างเช่น CITIC Bank ลุงได้ผลตอบแทนดีกว่านิดหน่อย แต่หากไปเทียบกับ TENCENT ก็ยังสู้ tencent ไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็แค่นั้นแหละ

นี่ก็คือการลงทุนในต่างแดนของลุงแมวน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตทั้งหมด การลงทุนหลักของลุงยังอยู่ในเมืองไทยเนื่องจากลุงเห็นว่ายังมีหุ้นไทยที่ดีราคาถูก มีโอกาสเติบโต ยังมีให้เลือกอยู่พอควร


กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ


ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายที่ลุงอยากจะเล่า ซึ่งเรื่องนี้มีความหมายกับลุงมากกว่าตัวเลขกำไรสวยๆจากตลาดหุ้นเสียอีก

เท้าความไปถึงเมื่อก่อน ลุงมีความฝันอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมมานานแล้ว อยากทำธุรกิจที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคม และนำผลกำไรมาทำกองทุนเพื่อสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส และก็มีโอกาสได้ทำธุรกิจเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยทำควบคู่ไปกับงานหลักคือการแสดงละครสัตว์ แต่ก็เป็นงานเหนื่อยมาก การทำกิจการนั้นต้องทำงานกันเป็นทีม ก็ต้องมีพนักงาน แต่ปัจจุบันพนักงานหายากเหลือเกิน เมื่อเฟืองไม่ครบ เครื่องยนต์ก็เดินสะดุด กิจการงานก็ไม่ราบรื่น การตลาดก็สะดุด ผลตอบแทนก็ไม่ดี เมื่อผลตอบแทนไม่ค่อยดีก็ยิ่งไม่มีใครอยากทำงานด้วย ก็เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ผลก็คือทำแล้วก็เหนื่อยมาก เงินก็ไม่ค่อยได้ พอเหนื่อยก็ยิ่งคิดอะไรไม่ออก >.<

เมื่อกิจการไม่ค่อยดี เรื่องกองทุนสงเคราะห์ก็ขยายได้ยาก เรื่องกองทุนนั้นที่จริงลุงก็ทำมาเรื่อยๆตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ แต่ว่าวงเงินของกองทุนมีจำกัด ลุงคิดว่าเมื่อทำธุรกิจเพื่อสังคมน่าจะได้มีส่วนช่วยขยายเงินกองทุนได้ แต่ก็ไม่เป็นดังที่คิด

ชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันไป ไม่ได้ทางหนึ่งก็ต้องไปหาทางอื่น ในช่วงหลังกิจการเพื่อสังคมของลุงแมวน้ำจึงลดรูปลงมา ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเอง แต่กลายเป็นโฮลดิงคอมพานี (holding company) ที่มีลุงแมวน้ำเป็นเจ้าของแทน นี่พูดแบบฟังหรูๆ พูดง่ายๆก็คือแทนที่ลุงจะทำธุรกิจจริงๆซึ่งต้องการทีมงานจำนวนมาก ลุงก็เลิก และหันมาขยายการลงทุนตลาดหุ้นแทน ไม่มีทีมงานอะไร ลุงก็ทำของลุงไปเรื่อย เหนื่อยก็พัก ไม่ต้องทำบัญชี กำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังไปเอาเครดิตภาษีมาอีก ชีวิตก็เหนื่อยน้อยลงนิดหน่อย แค่น้อยลงนิดหน่อยนะ ไม่ได้มาก เพราะต้องบริหารกองทุนสงเคราะห์

ที่จริงการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องที่ดีและควรฝึกกันไว้ให้ทำให้ได้ เพราะโลกในปัจจุบันเราจะทำอะไรแบบหัวเดียวกระเทียมลีบจะโตไม่ได้ แต่ลุงพบข้อจำกัดหาทีมงานได้ยากก็จนใจ นี่เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเฉพาะตัวของลุง แต่ก็ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

ลุงเล่าเท้าความเรื่องเก่าๆไปไกลหน่อยเพื่อปูพื้น เกรงว่าจะงงกัน สรุปว่าในปี 2014 ลุงแมวน้ำสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยได้ดีกว่าความคาดหมาย ในวิกฤตก็มีโอกาส ตอนนี้กองทุนสงเคราะห์ของลุงขยายตัวเป็นระดับเลขเจ็ดหลักต่อปี ลุงสงเคราะห์ผู้พิการ ให้ทุนการศึกษาเยาวชน ช่วยเหลือสัตว์จรจัด ทำหมันสัตว์จรจัดเพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ ก็ทำเท่าที่มีแรงทำไหว แต่ดูเหมือนว่าชีวิตที่รอความช่วยเหลือมีมากเหลือเกิน ก็อยากทำให้ได้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย


ทั้งหมดนี้ก็เป็นการอัปเดตในรอบปีที่ผ่านมา เขียนโน่นเขียนนี่ คุยกันวันหยุด เมื่อตลาดเปิดแล้ว เราก็มาคุยเรื่องการลงทุนกันต่อคร้าบ

Tuesday, April 14, 2015

สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 7 การลงทุนของลุงแมวน้ำ (2)



ลุงแมวน้ำโกอินเตอร์ ลงทุนในต่างประเทศ


ลุงแมวน้ำออกไปลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2013 เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกๆที่ออกไปตามลงทุนตามระบบ ต้องขอขยายความเรื่องนี้สักหน่อยเมื่อก่อนหน้านี้การลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือฟิวเจอร์สค่อนข้างยุ่งยาก คือเราต้องไปเปิดพอร์ต (เปิดบัญชีซื้อขาย) กับโบรกเกอร์ในต่างประเทศเอง และต้องโอนเงินในการเทรดตามกฎกติกาของโบรกเกอร์นั้น ซึ่งโบรกเกอร์ในต่างประเทศนั้นมีมากมาย ด้านความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงเอาเอง

ต่อมาเมื่อ ธปท ผ่อนคลายกฎเรื่องการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้ง กลต ได้อนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยผ่านโบรกเกอร์ไทย ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนซื้อหุ้นหรือฟิวเจอร์สได้โดยผ่านทางโบกรกเกอร์ไทย ทำให้การลงทุนสะดวกและอุ่นใจขึ้นมาก เพราะโบรกเกอร์ไทยนั้น กลต ควบคุมอยู่ ไม่ต้องกลัวโดนโกง เมื่อระบบต่างๆพร้อม ลุงแมวน้ำจึงออกไปลงทุนบ้าง


ไปตลาดอเมริกาเพื่อโยงไปสู่การลงทุนตลาดชายขอบ (Frontier Market)


ตลาดหุ้นต่างประเทศแห่งแรกที่ลุงออกไปลงทุนก็คือตลาดหุ้นอเมริกา เหตุที่ไปตลาดอเมริกาเพราะที่นั่นมีอีทีเอฟ (อีทีเอฟคือกองทุนรวมที่ซื้อขายได้บนกระดานหุ้นเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง) ธีมต่างๆให้เลือกมากมายกว่าหนึ่งพันอีทีเอฟทีเดียว ลุงสนใจลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) กับตลาดชายขอบ (frontier market) ซึ่่งอีทีเอฟในตลาดหุ้นอเมริกานี้น่าจะสามารถตอบโจทย์การลงทุนของลุงได้

ขออธิบายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่และตลาดชายขอบสักหน่อย ตลาดเกิดใหม่ก็คือตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ส่วนตลาดชายขอบนั้นเป็นตลาดที่เกิดมาหลังจากตลาดเกิดใหม่เสียอีก ดังนั้นจึงมีระดับขั้นของการพัฒนาน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่ แต่ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ตัวอย่างของตลาดชายขอบ เช่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ บังคลาเทศ ปากีสถาน อาร์เจนตินา ไนจีเรีย เคนยา มอรอกโค ฯลฯ

ลุงก็ไปลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาโดยซื้ออีทีเอฟเวียดนาม (VNM) อินโดนีเซีย (EIDO) และตลาดชายขอบ (FM) เริ่มลงทุนประมาณปลายปี 2013 หรือต้นปี 2014 ประมาณนี้แหละ อีทีเอฟเหล่านี้ซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์ สรอ แต่ตัวกองทุนอีทีเอฟเองไปลงทุนประเทศใดก็ใช้เงินสกุลท้องถิ่นนั้นแล้วรับรู้ผลกำไรขาดทุนโดยแปลงเป็นสกุลดอลลาร์ สรอ อีกที

ผลการลงทุนเป็นไงน่ะหรือ ลุงจะเล่าให้ฟัง


ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VNINDEX สีส้ม) เทียบกับอีทีเอฟ VNM (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนนั้นตลาดไร้ทิศทาง รออยู่นานก็ไม่ไปไหน อีกทั้งยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ดูที่ตลาดหุ้นเวียดนามก่อน ตอนที่ลุงลงทุนใน VNM นั้นดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 400 กว่า ถึง 500 กว่าจุด วนเวียนอยู่แถวนั้น และหลังจากนั้นก็ยังวนเวียนอยู่แถวนั้นไม่ไปไหน อีกทั้งเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่า ดังนั้นแม้ดัชนีจะขึ้นแต่หากคำนวณผลจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยแล้วก็ไม่คุ้ม ลุงแมวน้ำลงทุนอยู่ประมาณ 3 ไตรมาสก็เห็นว่าสู้กับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว จึงขายอีทีเอฟ VNM ออกไป โดยขาดทุนนิดหน่อย



ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (Jakarta composite index สีส้ม) และอีทีเอฟ EIDO (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนตลาดเป็นขาขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนน้อยเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยน

มาดูตลาดหุ้นอินโดนีเซียกัน ตอนที่ลุงเข้าลงทุนใน EIDO นั้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นขาขึ้นตลอด ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี แต่ก็อีกนั่นแหละ เสียเปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควร เนื่องจากเงินรูเปียะค่อนข้างผันผวน ถืออยู่ราวสามไตรมาส สุดท้ายก็คิดว่าขายดีกว่า ได้กำไรมาพอควร ดูเหมือนจะเกือบ 10% ดัชนีขึ้นเยอะแต่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามดัชนีเพราะอัตราแลกเปลี่ยน


อีทีเอฟ FM ตัวโปรดของลุงแมวน้ำ เริ่มแรกก็สร้างผลตอบแทนที่ดี แต่สุดท้ายลืมดูไพักหนึ่ง เจอสงครามราคาน้ำมันดิบและอีโบลาระบาด หนีแทบไม่ทัน >.<

ตัวสุดท้าย อีทีเอฟตลาดเกิดใหม่ FM ตัวนี้เป็นตัวที่ลุงชอบมาก ไตรมาสเดียวก็ขึ้นไปราวๆ 20% แล้ว ตัวนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะลงทุนในหลายประเทศและหลายสกุลเงิน ในทางทฤษฎีถือว่าเป็น natural hedged คือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหักล้างกันเองจนเกือบหมด

ความผิดพลาดประการสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศของลุงไม่ใช่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเรื่องนั้นรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดูแล คือลุงอัปเดตราคาไม่ค่อยบ่อยนัก บางทียุ่งๆก็เว้นไม่ได้ดูไปหลายสัปดาห์

ในราวกลางปี 2014 ประมาณช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม แถวนั้นแหละ ที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มดิ่งอย่างรวดเร็วเพราะโอเปกเริ่มสงครามตัดราคาน้ำมันดิบ และนอกจากนี้ ทางแอฟริกาหลายประเทศก็มีเชื้ออีโบลาระบาดเสียด้วย ทีนี้ FM ของลุงนี่มีทั้งคูเวต แอฟริกา อะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ได้รับผลกระทบไปเยอะทีเดียว เพียงสองเดือน ราคา FM ก็ดิ่งอย่างรวดเร็ว ลุงเปิดจอมาดูอีกทีกำไรหายไปหมด เห็นท่าไม่ดีก็รีบขายออกไป

สรุปรวมงานนี้ได้แค่เท่าทุน กำไรนิดเดียวถือว่าเท่าทุนก็แล้วกัน นี่ยังไม่รวมผลจากเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนั้น เพราะการรับรู้กำไรของลุงต้องแปลงดอลลาร์ สรอ เป็นบาทอีกทอดหนึ่ง ซึ่งลุงก็ป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ด้วยการซื้อดอลลาร์ฟิวเจอร์ส นี่ว่ากันตามทฤษฎีเลย ซึ่งเท่าที่เล่ามานี้จะเห็นว่าเวลาทำงานจริงๆก็เรื่องเยอะหลายขั้นตอนอยู่ ทำเอาลุงมึนเหมือนกัน >.<

การลงทุนในต่างแดนของลุงก็ได้ผจญภัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก

หลังจากอีทีเอฟชุดนี้แล้ว ลุงก็ยังให้ความสนใจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ตลาดชายขอบ รวมทั้งตลาดฟื้นไข้อันได้แก่ญี่ปุ่นกับยุโรปอีกด้วย เพราะตลาดเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่งดงาม แต่การลงทุนในตลาดเหล่านี้ล้วนแต่ต้องระมัดระวังอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น

ตลาดยุโรปลงทุนเป็นเงินยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนตัวมาก หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินยูโร

ตลาดญี่ปุ่นลงทุนเป็นเงินเยน  ค่าเงินเยนอ่อนตัวมากเช่นกัน หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินเยน

ดังนั้นจะเห็นว่าหากเป็นนักลงทุนส่วนบุคคล เราคงลงทุนหลายตลาดหลายสกุลเงินไม่ไหวหรอก ลุงก็คิดว่าตนเองดูแลไม่ไหว ดังนั้นต้องเลือกการลงทุนเพียงสกุลเงินเดียวจะสะดวกในการดูแลมากกว่า

ถ้าเช่นนั้นจะลงทุนในตลาดไหนดีละที่สร้างผลตอบแทนได้ดี อีกทั้งปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนน้อย???


มุ่งสู่ตลาดฮ่องกง


พิจารณาดูแล้วตลาดหุ้นฮ่องกงนี่แหละตอบโจทย์ที่สุด ลุงคิดว่าดีกว่าตลาดอเมริกาเสียอีก เพราะในช่วงปีที่แล้วตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวแล้ว ส่วนตลาดฮ่องกงยังไร้ทิศทางอยู่ คือโมเมนตัมมาทางตลาดหุ้นจีนกันหมด ไม่ค่อยมีใครสนใจตลาดหุ้นฮ่องกง ทั้งๆที่ตลาดหุ้นฮ่องกงนั้นถูกแสนถูก อีกทั้งหุ้นที่เป็นดูอัลลิสต์ (dual list คือหุ้นที่จดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง) พวกหุ้นที่จดทะเบียนสองตลาดนี้ หุ้นที่เทรดในตลาดหุ้นจีน (ที่เรียกว่า A-share) มีราคาแพงกว่าหุ้นเดียวกันที่จดในตลาดฮ่องกง (ที่เรียกว่า H-share) พูดง่ายๆคือหุ้น H-share ถูกกว่า A-share ทั้งๆที่เป็นหุ้นเดียวกัน H-share บางตัวถูกกว่า A-share ถึง 30% หรือ 40% ก็มี ในทางทฤษฎี ในที่สุดราคาของสองตลาดนี้จะลู่เข้าหากัน แปลว่าสักวันหนึ่งราคาหุ้น H-share จะวิ่งขึ้นไปหาราคาหุ้น A-share


ปี 2014 ตลาดหุ้นจีน (สีส้ม) เป็นขาขึ้น ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกง (เส้นสีเขียว) ไม่ไปไหน ในทางทฤษฎี สักวันตลาดฮ่องกงจะต้องขึ้นตามตลาดหุ้นจีน

และนอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฮ่องตรึงกับเงินดอลลาร์ สรอ อัตราแลกเปลี่ยนนิ่งมาก หมดกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้เลย ดูแลแค่ด้าน บาท-ดอลลาร์ สรอ เพียงขาเดียวเท่านั้น

ลุงก็จัดแจงแปลงเงินดอลลาร์ สรอ เป็นดอลลาร์ ฮ่องกงแล้วเข้าลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงโดยไม่รอช้า ^_^