เรามาดูความเปลี่ยนแปลงของตลาดต่างๆในรอบเดือนพฤษภาคมกัน
ในด้านสภาพเศรษฐกิจจริงนั้น ทางด้านสหรัฐอเมริกา ตัวเลขยอดขายบ้าน ราคาเฉลี่ยบ้าน อัตราการว่างงาน ล้วนแต่ดูดีขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาก็ตอบสนอง โดยปรับตัวทำจุดสูงสุดใหม่ไปเรื่อยๆ จะมาเสียจังหวะก็ตอนช่วงปลายเดือน เนื่องจากลุงเบน เบอร์นันกี ประธานเฟด รายงานต่อสภาพ โลกทั้งโลกก็จับตามองว่าลุงเบนจะพูดเกี่ยวกับการยุติโครงการ QE3 หรือไม่ ซึ่งก็เป็นแบบเดิม คือพูดจาอึมครึมเข้าไว้ มีแต่ประโยคเงื่อนไข ถ้า... หากว่า... ในกรณีที่... เป็นไปได้ว่า... ฯลฯ ซึ่งการไม่ฟันธงทำให้ตลาดกังวลใจ ประกอบการกรรมการเฟดหลายคนให้ความเห็นกันไปต่างๆนานา แต่สุดท้ายตลาดก็ตีความเอาว่าเป็นไปได้ที่เฟดอาจยุติหรืออย่างน้อยก็ชะลอการอัดฉีดในอีกไม่นานนี้ เท่านั้นเอง ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ร่วงตอบสนองต่อข่าว แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ตลาดหุ้นอเมริกาเองไม่ค่อยสนใจข่าวนี้นัก คือตอบสนองต่อข่าวการยุติ QE ค่อนข้างน้อย โดยปรับตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หากพิจารณาตามกลุ่มธุรกิจ (business sector) กลุ่มธุรกิจในตลาดหุ้นที่ช่วงนี้ปรับตัวขึ้นดี ได้แก่ กลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเดินเรือ และกลุ่มสายการบิน
ทางด้านยุโรป ตัวเลขทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของยุโรปยังเปราะบางอยู่ การฟื้นตัวทำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในยุโรปรวมแล้วปรับตัวขึ้นในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากธนาคารกลางของยุโรปมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง และนอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์และหลายๆฝ่ายยังจุดประเด็นให้กลุ่มยุโรปทบทวนนโยบายรัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่าย ซึ่งน่าจะเป็นผลเสีย ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยาก พร้อมกันนั้น ยังมีเสียงสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการอัดฉีดแบบ QE ของอเมริกากับประเทศต่างๆในยุโรปด้วย ซึ่งที่จริงแล้วปัจจุบันยุโรปเองก็มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการอัดฉีดเงินแบบมหาศาลดังเช่นอเมริกากับญี่ปุ่น
ทางด้านเอเชีย ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนกับญี่ปุ่นที่ออกมาในเดือนพฤษภาคมไม่ค่อยดีเท่าไร การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสแรกก็ไม่ค่อยสวยนัก ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทย ลุงแมวน้ำก็ยังงงๆอยู่ แถลงแล้วมาบอกว่าตัวเลขผิด โน่นก็ผิด นั่นก็ผิด ลุงแมวน้ำเลยไม่รู้ว่าที่จริงแล้วยังไงกันแน่
สรุปตลาดหุ้นในรอบเดือนพฤษภาคม ในฝั่งอเมริกา สหรัฐอเมริกากับแคนาดา ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ส่วนอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ปรับตัวลง ทางฝั่งยุโรป ตลอดทั้งเดือนตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเกือบทุกประเทศ ส่วนทางฝั่งเอเชียแปซิฟิกนั้นมีทั้งปรับตัวขึ้นและลง ตลาดหุ้นที่ขึ้นแรงคือเวียดนามและจีน ส่วนตลาดหุ้นที่ลงแรงคือรัสเซียกับออสเตรเลีย ส่วนตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งเดือนปรับตัวลง -2.2%
ทางด้านตลาดตราสารหนี้ เมื่อเดือนที่แล้วตลาดตราสารหนี้ปั่นป่วน เริ่มตั้งแต่ที่อเมริกา ตลาดพันธบัตรเป็นแนวโน้มขาลง มีแรงขายมาหลายเดือนแล้ว ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมากความกังวลในเรื่องการชะลอหรือยุติมาตรการ QE
จากนั้นก็ตามมาด้วยความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตรญี่ปุ่น ที่มีแรงขายออกมามากมายในช่วงปลายเดือน ทำให้อัตราผลตอบแทนพุ่งอย่างรวดเร็ว จนทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรแตกตื่นกันไปทั่วโลก ซึ่งประเด็นเรื่องตลาดพันธบัตรนี้ลุงแมวน้ำจะขอยกไปเล่าในบทความครั้งต่อไป เนื่องจากค่อนข้างยาว
สำหรับตลาดพันธบัตรของไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม ต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 15,000 ล้านบาท เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเกือบทั้งเส้น ขณะเดียวกันต่างชาติก็ขายหุ้นเป็นยอดสุทธิเช่นกัน เงินจำนวนนี้บางส่วนน่าจะไหลออก ดังนั้นคาดว่าเงินบาทยังคงเป็นทิศทางอ่อนค่าต่อไป
ด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ภาพรวมของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในเดือนพฤษภาคมยังปรับตัวลง ราคาทองคำกับโลหะเงินปรับตัวลงค่อนข้างมาก น้ำมันดิบปรับตัวลงเล็กน้อย สินค้าเกษตรมีบางตัวเริ่มปรับตัวขึ้นบ้างแล้ว ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ส่วนที่ยังปรับตัวลงได้แก่ ข้าวสาลี กาแฟ ฝ้าย ฯลฯ สินค้าเกษตรนั้นทางเทคนิคทำท่าจะลับทิศเป็นขาขึ้นหลายครั้ง แต่แล้วก็เหลว กลายเป็นลงต่อ
ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน เดือนที่ผ่านมาตลาดอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก เงินดอลลาร์ สรอ ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่า พอมาตอนปลายเดือนเริ่มกลายเป็นไร้ทิศทาง เงินยูโรกับเยนที่เดิมเป็นแนวโน้มอ่อนค่า ตอนปลายเดือนก็เริ่มแข็งค่า ส่วนเงินบาทนั้นยังเป็นแนวโน้มอ่อนค่า
สำหรับตลาดหุ้นไทย เดือนพฤษภาคมปรับตัวลง -2.2% ลุงแมวน้ำประเมินว่า SET ไม่น่าหลุด 1530 จุด จากนั้นรถไฟสาย 1700 ก็จะเดินทางต่อ เหตุผลประกอบก็คือตลาดหุ้นอเมริกาลงไม่มาก แนวโน้มใหญ่ของตลาดหุ้นอเมริกายังไม่เสีย ดังนั้นตลาดหุ้นไทยน่าจะไปเกาะกระแสตลาดหุ้นขาขึ้นไปเรื่อยๆได้
ข้างล่างนี้เป็นภาพพร้อมคำบรรยาย ดูไปทีละภาพนะคร้าบ ^_^
ทองคำผันผวนไปมาเช่นเดียวกับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ทองคำตอนนี้ดูยาก เทรดก็ยาก แนวโน้มใหญ่ยังเป็นขาลง แต่ว่าแนวโน้มเล็กเริ่มเป็นขาขึ้นแล้ว เทรดยากพอๆกับเทรดค่าเงิน เลี่ยงได้เลี่ยงดีกว่า |
น้ำมันดิบยังวิ่งอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมชายธง ตอนนี้แนวโน้มย่อยเป็นขาลงอยู่ |
ดูอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราสกุลสำคัญต่างๆและทองคำในเชิงเปรียบเทียบ จะเห็นว่าเงินเยน เงินฟรังก์สวิส และเงินดอลลาร์ออสเตรเลียผันผวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคม |
เงินบาทเป็นแนวโน้มอ่อนค่า ประกอบกับเมื่อเดือนที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตร คาดว่าจะมีเงินไหลออกบางส่วน ดังนั้นเงินบาทน่าจะยังอ่อนค่าต่อไป |