Tuesday, July 14, 2015

เมื่อหุ้นจีนซิ่งสาย 8 ถึงเวลาฟองสบู่แตกหรือยัง (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”



ทิศทางของเศรษฐกิจจริงและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเติบโตสูงมาตลอดแต่ตลาดหุ้นไม่ร้อนแรง คลื่น 1 ใหญ่และ 2 ใหญ่ กินเวลานาน ต่อมาปี 2006 ตลาดหุ้นร้อนแรงมาก ตลาดขึ้นแบบม้วนเดียว คลื่นใหญ่ 3-4-5 รวมเป็นลูกเดียวกัน และตอนขาลงก็เร็วมากเช่นกัน คลื่นขาลง A-B-C รวมเป็นลูกเดียวแยกไม่ออก จนในปี 2014 หลังจากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นจีนก็กลับมาร้อนแรงมากอีก

วิเคราะห์ตลาดหุ้นจีน เศรษฐกิจซึมเซาแต่ตลาดหุ้นร้อนแรง


เศรษฐกิจจีนร้อนแรงมานับยี่สิบปีแต่ตลาดหุ้นจีนเพิ่งร้อนแรงใน ช่วงปี 2006-2007 เป็นเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่งตลาดหุ้นจีนก็พุ่งถึง +450% 

ในทางตรงกันข้าม จากปี 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนค่อยๆชะลอตัว แต่ตลาดหุ้นจีนตอบสนองอย่างรุนแรง เพียงหนึ่งปีตลาดหุ้นร่วงไป -73% หลังจากนั้นก็หมดความร้อนแรงไปเป็นเวลาหลายปี

จนในราวปลายปี เดือนตุลาคม 2014 จีนเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยและลดสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR, reserved requirement ratio) หลายครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบเศรษฐกิจ

มาตรการเหล่านี้ยังเห็นผลต่อระบบเศรษฐกิจไม่ชัด แต่ว่ากลับเกิดผลต่อตลาดหุ้นจีนอย่างรุนแรง ในปี 2014-2015 ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวิ่งจาก 2300 จุดไป 5160 จุดหรือ +125% ในเวลาครึ่งปีเท่านั้น และถ้าหากมองดัชนีเซินเจินคอมโพสิตก็ยิ่งร้อนแรงกว่า คือ +140%

หากเราจะเปรียบเทียบความร้อนแรงของตลาดหุ้นจีนในยุคก่อนโอลิมปิกฤดูร้อน หรือปี 2007 กับตอนนี้ มีทั้งความเหมือนและความต่าง ลองมาดูกัน


ตลาดหุ้นจีนหลังจากร่วงแรงในปี 2007 ก็เกิดเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงใหญ่ อธิบายได้ว่าตลาดหุ้นจีนต้องใช้เวลานานในการปรับตัวให้เข้าส่ดุลยภาพ โดยสอดคล้องไปกับปัจจัยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจด้วย


ในช่วงก่อนโอลิมปิก ตลาดขาขึ้นในรอบนั้นอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาหลายปีแต่ตลาดหุ้นยังไม่ร้อนแรง พอมาปี 2006 ถึงบทจะร้อนแรงก็ร้อนแรงอย่างรวดเร็วและตลาดก็วายในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน หากพิจารณาในเชิงเทคนิค จากกราฟในยุโอลิมปิกจะเห็นว่าคลื่น 3-4-5 นั้นแยกไม่ออก ขึ้นม้วนเดียวก็จบคลื่น 5 ไปเลย และหลังจากนั้นตอนขาลงก็ลงเร็วมาก คลื่น A-B-C รวมเป็นคลื่นเดียวกัน รวมแล้วคลื่น 3-4-5-A-B-C กินเวลาประมาณสองปีครึ่งเท่านั้น

หลังจากจบรอบนั้น อัตราการเติบโตของจีนลดลงเรื่อยมา จากจีดีพีที่โตปีละ 14% ก็เหลือ 12%, 10%, 9%, 8% ฯลฯ ส่วนตลาดหุ้นจีนหลังจากการร่วงแรงในปี 2008 จากนั้นก็มีการเด้งขึ้นลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ และมาสลบเหมือดเอาในปี 2013 ซึ่งหากวิเคราะห์ด้วยรูปแบบทางเทคนิคจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นจีนก็ก่อรูปแบบสามเหลี่ยมชายธง (wedge) ใหญ่ อธิบายได้ว่าตลาดหุ้นจีนขึ้นแรงเกินไปและลงแรงเกินไปจนตลาดเสียดุลยภาพ เมื่อตลาดเสียดุลยภาพ ตลาดก็พยายามปรับตัวให้เข้าสู่ดุลยภาพ ดังนั้นจึงเห็นราคาเด้งขึ้นลงเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง

รูปแบบสามเหลี่ยมชายธงนี้เป็นรูปแบบในธรรมชาติ นั่นคือเป็นรูปแบบคล้ายการเคลื่อนที่ของคลื่นกลผ่านตัวกลางนั่นเอง นึกง่ายๆก็คือคลื่นในมหาสมุทร เมื่อเกิดในมหาสมุทรจะเป็นคลื่นสูงมาก แต่เมื่อเข้าใกล้ชายฝั่ง คลื่นจะค่อยๆเตี้ยลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงระลอกเล็กๆเมื่อมาถึงฝั่ง

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการโยนหินลงในน้ำ ตอนแรกน้ำจะกระเพื่อมแรง ต่อมาเมื่อระลอกเดินทางไกลออกไปก็จะเล็กลงเรื่อยและหายไปในที่สุดน้ำก็กลับมาราบเรียบดังเดิม รูปแบบสามเหลี่ยมชายธงก็เป็นแบบนี้นั่นเอง

นั่นเป็นเรื่องในอดีต ทีนี้ประเด็นก็อยู่ที่ว่าในปี 2014 ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอยู่ ตลาดหุ้นจีนขึ้นแรงได้อย่างไร

คำตอบก็คือ ครั้งก่อนตลาดหุ้นจีนร้อนเพราะเศรษฐกิจร้อน แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นจีนร้อนเพราะฤทธิ์ของยาโด๊ปการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดสัดส่วนกันสำรอง RRR ประกอบกับการให้สินเชื่อมาร์จินแก่นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นจีนที่ซบเซากลับสู่ภาวะเก็งกำไรอย่างร้อนแรง จนประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้งหนึ่ง


ตลาดหุ้นจีน 2015 ร้อนแรงกว่าเดิม อันตรายกว่าเดิม


แม้ว่าอัตราการขึ้นของตลาดหุ้นจีนในรอบนี้จะขึ้นไป +125% ซึ่งน้อยกว่าครั้งก่อน (ครั้งก่อน +450%) แต่การขึ้นรอบนี้ใช้เวลาประมาณครึ่งปีเท่านั้น อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจจริงก็ด้อยกว่าในรอบก่อน ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงมองว่าครั้งนี้เก็งกำไรกันดุเดือดกว่า

งานเลี้ยงก็ต้องมีวันเลิกรา ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ตลาดวาย หลังจากที่หุ้นถูกไล่ราคาจนเกินไปปัจจัยพื้นฐานไปมาก พีอีของดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตขึ้นไปถึง 23 เท่ากว่า และพีอีของดัชนีเซินเจินคอมโพสิตขึ้นไปถึง 70 เท่า ทางการจีนก็เริ่มเป็นห่วงและควบคุมการให้เทรดด้วยมาร์จินให้เข้มงวดขึ้น ตรงนี้แหละที่เป็นการจุดชนวน พอควบคุมมาร์จินเข้าตลาดก็ร่วง

เมื่อตลาดร่วง ใครต่อใครก็ชิงกันขาย ในที่สุดตลาดหุ้นก็เกิดอาการแตกตื่นในตอนกลางเดือนมิถุนายน 2015 ที่เพิ่งผ่านมา ที่จริงก่อนหน้านั้นในราวปลายเดือนพฤษภาคม มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าอยู่บ้าง นั่นคือ หุ้นบางตัวในตลาดฮ่องกงร่วงแรงผิดปกติ ดังที่ลุงแมวน้ำเคยคุยให้ฟังไปแล้ว หลังจากนั้นตลาดหุ้นจีนก็เริ่มร่วง และตลาดหุ้นฮ่องกงก็ร่วงตาม

ถามว่าที่ตลาดหุ้นลงแรงครั้งนี้มีขบวนการทุบหุ้นหรือไม่ จะมีหรือไม่มีลุงแมวน้ำก็ไม่อาจยืนยันได้ แต่เมื่อขึ้นแรงแพงขนาดนี้ แม้ไม่มีขบวนการทุบตลาด อะไรไปสะกิดเข้าหน่อยก็ต้องร่วงลงมาเองอยู่แล้ว

ตลาดหุ้นจีนร่วงลง -34% ในเวลาประมาณครึ่งเดือน ทางการจีนพยายามอออกมาตรการหลายประการเพื่อหยุดการร่วงของหุ้น ได้แก่การห้ามซื้อขายหุ้นประมาณ 1300 หลักทรัพย์ ห้ามขายชอร์ต ห้ามรายใหญ่ขายหุ้นในเวลา 6 เดือน ห้ามกองทุนขายหุ้น ตั้งกองทุนพยุงหุ้น ผ่อนคลายเรื่องมาร์จินอีก ฯลฯ ผลจากการระงับการซื้อขายหุ้นไปเกือบครึ่งตลาดทำให้ตลาดหุ้นหยุดร่วงได้จริงๆ


วิเคราะห์เหตุการณ์ตลาดหุ้นจีน 2015 ตกแต่ไม่แตก บทเรียนราคาแพงของจีน


มาวิเคราะห์เหตุการณ์ในครั้งนี้กัน เป็นบทเรียนราคาแพงของจีนจริงๆ  จีนกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมทั้งกระตุ้นตลาดหุ้นไปด้วยเพราะหากตลาดหุ้นขึ้น ผลก็คือความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายย่อยชาวจีนซึ่งมี 90 ล้านบัญชีและส่วนใหญ่น่าจะเป็นชนชั้นกลางของจีนที่มีอยู่ประมาณ 200-300 ล้านคน เปรียบเหมือนกับจีนให้ยาโด๊ปแต่พลาดตรงที่ไม่เข้าใจผลข้างเคียงดีพอ ผลก็คือ ยานี้มีผลข้างเคียงรุนแรง ทำให้ท้องเสีย เบื่ออาหาร ผมร่วง ฯลฯ จีนเคยมีประสบการณ์กับครั้งโอลิมปิกมาแล้ว แต่ครั้งนี้ก็ยังพลาด เชื่อว่าจะทำให้ทางการจีนระมัดระวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกำกับตลาดทุนให้ดียิ่งขึ้น

ตลาดหุ้นตกครั้งนี้ยังไม่น่าถือว่าเป็นสถานการณ์ฟองสบู่แตก เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่สูง ไม่ใช่สถานการณ์ที่เอื้อต่อการเกิดฟองสบู่ ตลาดหุ้นเก็งกำไรรุนแรงไปบ้างจึงตกลงมาก เมื่อตกลงมาแล้วสถานการณ์ก็ไม่ได้ลุกลามเนื่องจากทางการจีนออกมาตรการสกัดการลุกลามอย่างรวดเร็ว ลุงแมวน้ำมองว่าเป็นเพียงการผันผวนที่รุนแรงเท่านั้น ไม่ใช่ภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้นแตก

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ลงทุนในตลาดหุ้นจีนได้หรือยัง


มาพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจกันก่อน เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวอยู่ แม้จีนจะประกาศว่าจะรักษาอัตราการเจริญ จีดีพีโตปีละ 7% ให้ได้ แต่ตอนนี้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว สัญญาณทางเศรษฐกิจหลายประการบ่งชี้ว่าอาจโตไม่ถึง 7% คือได้แค่ 6.8% เท่านั้น ดังนั้นเป้าหมายดัชนีปลายปี 2015 อาจถูกปรับลดลงไปบ้าง


ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปัจจุบันมีพีอี 20 เท่า ส่วนดัชนีเซินเจินคอมโพสิต 52.3 เท่า ดัชนีตลาดหุ้นจีนมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกหากคาดการณ์เศรษฐกิจจีน 2015 นี้โตไม่ถึง 7%


นอกจากนี้ ทางการจีนคงพยายามกำกับตลาดทุนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ประกอบกับความเสียหายของนักลงทุนรายย่อยอาจทำให้บางส่วนเข็ดขยาด หรือทุนหมด ดังนั้นรวมๆแล้วตลาดหุ้นจีนคงไม่ร้อนแรงเช่นเดิมแล้ว และน่าจะเทรดกันที่ค่าพีอีตลาดที่ต่ำลงกว่าเดิม

ในทางเทคนิค ดัชนีคงก่อตัวเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงคล้ายกับรอบก่อน แต่การเดินเข้าสู่ปลายสามเหลี่ยมชายธงน่าจะเร็วกว่าเดิม แปลความว่าตลาดคงเด้งขึ้นเด้งลงในโซนราคาแถวๆนี้ไปอีกหลายเดือน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ปลายชายธงก็ต้องดูกันอีกที หลายเศรษฐกิจดี ดัชนีคงตัดทะลุชายธงขึ้นข้างบน แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวยิ่งกว่าเดิม ดัชนีก็คงตัดทะลุลง


ตลาดหุ้นจีนนับจากนี้ไป น่าจะก่อตัวเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมชายธงอีก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อน และคงใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อเข้าสู่ปลายชายธง 


ถามว่าถึงเวลาลงทุนได้หรือยัง โบราณว่าข่าวดีให้ขาย ข่าวร้ายให้ซื้อใช่ไหม ตอนนี้ก็ถือเป็นข่าวร้ายแล้ว แต่ลุงแมวน้ำคิดว่าควรรอดูไปก่อน เพราะตอนนี้ตลาดยังอาจลงไม่สุด ที่ตลาดหยุดลงเนื่องจากหุ้นจีนยังถูกห้ามขายอยู่พันกว่าหลักทรัพย์ หากเปิดซื้อขายได้ตามปกติก็ไม่แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อีกประการ ตลาดหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมาผันผวนรุนแรงมาก ไม่ค่อยน่าลงทุนเท่าไรนักเนื่องจากตลาดที่ผันผวนมากมักขาดเสถียรภาพ หลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนคงถูกคุมเข้ม การที่จะสร้างผลตอบแทนที่ร้อนแรงอีกคงยากแล้ว แม้ว่าเรื่องเสถียรภาพอาจจะดีขึ้นแต่ก็เป็นเสถียรภาพที่เกิดจากกฎเกณฑ์ที่แปลกประหลาดที่ตลาดเสรีอื่นๆไม่ทำกัน ก็ยังไม่รู้ว่าจะยังน่าลงทุนไหม

ดังนั้น ลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดตอนนี้ยังฝุ่นตลบ ควรรอให้สถานการณ์ฝุ่นจางลงก่อน ให้เข้าสู่ปลายชายธงและตัดทะลุปลายให้เรียบร้อยก่อนดีกว่า ถึงตอนนั้นหากยังน่าลงทุนก็ค่อยเข้าลงทุน


ผลจากตลาดหุ้นจีนกระทบเศรษฐกิจไทยหรือไม่


ลุงว่าไม่น่า แม้ว่านักลงทุนรายย่อยจีนที่เสียหายในตลาดหุ้นเหล่านี้คือกลุ่มชนชั้นกลางที่เดินทางท่องเที่ยวและเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยนี่เอง ตลาดลงราวๆ -30% ถึง -40% ทำให้ความมั่งคั่งของชนชั้นกลางลดลงไปบ้าง แต่ประเด็นคือเรื่องขวัญและกำลังใจมากกว่า ตอนนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจจีน ดังนั้นอีกไม่นานขวัญและกำลังใจของนักลงทุนจีนก็คงกลับมา ดังนั้นแม้ตลาดหุ้นลงแรงก็จริงแต่คงไม่กระทบกับภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนจนกระทบเศรษฐกิจไทย แต่ประเด็นที่น่าติดตามอยู่ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ทำให้การนำเข้าสินค้าของจีนลดลง เรื่องนี้ต่างหากที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อเศรษฐกิจไทย


ตลาดหุ้นฮ่องกง รักแล้วรอหน่อย


การลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง ยังรอได้ ไม่ต้องรีบ แม้ราคาถูกแล้วแต่ก็อาจไม่ขึ้น


แถมเรื่องตลาดหุ้นฮ่องกง ตอนนี้ตลาดหุ้นฮ่องกงถูกมาก พีอีตลาดอยู่แค่ 10.8 เท่าเอง ดูเหมือนจะน่าซื้อ แต่ลุงแมวน้ำก็คิดว่าดูไปก่อนเช่นกัน เนื่องจากตลาดหุ้นฮ่องกงอาศัยโมเมนตัมของตลาดหุ้นจีนรวมกับโมเมนตัมของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาผสมกัน หากไม่มีโมเมนตัมจากสองตลาดนี้ แม้ตลาดหุ้นฮ่องกงถูกกว่านี้ก็ไม่วิ่ง ดังนั้นก็รอได้ ใจเย็นๆคร้าบ

Friday, July 10, 2015

เมื่อหุ้นจีนซิ่งสาย 8 ถึงเวลาฟองสบู่แตกหรือยัง (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”




ตลาดหุ้นจีนร่วงแรง -34% นักลงทุนในตลาดหุ้นขาดทุนหนัก ดาราบางคนมีข่าวว่าพอร์ตเสียหายไปนับหมื่นล้าน ทำให้เกิดเป็นประเด็นร้อนว่าตลาดหุ้นจีนฟองสบู่แตกแล้วใช่หรือไม่ รวมทั้งคำถามอื่นๆอีกมากมายที่ตามมา

ตลาดหุ้นจีนร่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2015 จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ในเวลาครึ่งเดือนดัชนีตลาดหุ้นลดลงไป -34%

สองสามวันมานี้ข่าวใหญ่ด้านเศรษฐกิจที่มาแรงแซงปัญหาหนี้กรีซก็คือเรื่องตลาดหุ้นจีน เนื่องจากตอนนี้ตลาดหุ้นจีนร่วงอย่างรวดเร็วประมาณ -34% ภายในเวลาสองสัปดาห์นับจากจุดสูงสุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน รวมทั้งตลาดหุ้นฮ่องกงก็ร่วงตามด้วย แม้ทางการจีนจะออกมาตรการอย่างเร่งด่วนมาเป็นชุดเพื่อสกัดการทรุดตัวของตลาดหุ้นจีนแต่ก็ดูเหมือนจะได้ผลไม่มากนักเนื่องจากตลาดหุ้นจีนยังร่วงต่อ

จนถึงวันนี้ เรื่องตลาดหุ้นจีนก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาว่าตลาดหุ้นจีนในตอนนี้ฟองสบู่แตกแล้วใช่หรือไม่ สื่อมวลชนต่างก็จับประเด็นนี้มาวิเคราะห์อธิบายกันมากมาย รวมทั้งยังขยายผลต่อไปอีกว่ามีดาราจีนคนนั้นคนนี้พอร์ตแดงไปกี่หมื่นกี่พันล้าน

วันนี้เรามาคุยเรื่องตลาดหุ้นจีนกันอีกสักวัน ที่จริงลุงแมวน้ำคุยเรื่องตลาดหุ้นจีนมาให้ฟังเป็นระยะแล้ว ดังนั้นวันนี้จะไม่ทบทวนอะไรมาก เกรงว่าทวนเรื่องเดิมๆแล้วพวกเราจะเบื่อกัน เรื่องพวกนี้บางทีก็ซับซ้อน คุยครั้งเดียวไม่มีทางจบหรือคุยได้ครบ สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นก็ต้องคุยอัปเดตกันไปเป็นระยะ เมื่อเราได้ภาพหลายๆภาพมาปะติดปะต่อกันก็จะทำให้เราค่อยๆเข้าใจได้มากขึ้นไปเอง

ดังนั้นเอาเป็นว่าวันนี้เราคุยกันเพิ่มเติมเรื่องตลาดหุ้นจีนว่าฟองสบู่แตกหรือยัง สำหรับผู้ที่อ่านบทความนี้ หากสนใจก็อาจย้อนไปอ่านในโพสต์ก่อนๆของลุงแมวน้ำที่คุยเกี่ยวกับตลาดหุ้นจีนเอาไว้ ก็จะช่วยให้ปะติดปะต่อภาพได้ดียิ่งขึ้น


เข้าใจคนจีน เข้าใจตลาดหุ้นจีน


ตลาดหุ้นจีนก็เช่นกัน ตลาดหุ้นจีนนั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความผันผวน ขึ้นลงเร็วและแรง เนื่องจากนักลงทุนเก็งกำไรกันอย่างสุดเหวี่ยง ความผันผวนของตลาดลุงแมวน้ำคิดว่ายังดุเดือดร้อนแรงกว่าตลาดห้นไทยเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นกัน ลุงแมวน้ำว่าเรามาทำความเข้าใจกับนักลงทุนรายย่อยชาวจีนกันสักหน่อยดีกว่า การที่เราเข้าใจนักลงทุนจีนหรือว่าเข้าใจบุคลิกของคนจีนรุ่นใหม่จะช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าตลาดหุ้นจีนนั้นฟองสบู่แตกหรือยัง

คนจีนรุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวซึ่งเติบโตมาในยุคที่จีนเริ่มเปิดประเทศรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็คะเนว่าเป็นชาวจีนที่ปัจจุบันมีอายุไม่เกิน 50 พวกนี้จะเป็นปลายเจนเอ็กซ์ เจนวาย และเจนที่หลังจากนั้น

ประเทศจีนในปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1300 ล้านคน ในยุคทศวรรษ 1980s นั้นประชากรจีนมีราวๆกว่า 900 ล้านคน จีนเป็นประเทศที่มีระชากรมาก การที่รัฐจะจัดการด้านเศรษฐกิจให้ประชาชนกินดีอยู่ดีอย่างทั่วถึงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้พยายามจะให้ทั่วถึงแต่ก็ไม่ทั่วถึงดีนัก

เมื่อทรัพยากรมีจำกัด  การแข่งขันจึงสูง ชาวจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดมาตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่การแข่งขันเพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ เมื่อจบชั้นมัธยมก็ต้องแข่งขันเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ เพราะที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำกัด พอจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังต้องแข่งขันเพื่อให้ได้งานดีๆทำ งานดีๆก็มีจำกัดอีก ก็ต้องแข่งขันกันหนัก

ประกอบกับคนจีนมีวัฒนาธรรมรักหน้าตา คือพูดง่ายๆว่ากลัวเสียหน้า การรประสบความสำเร็จในชีวิตช่วยให้มีหน้ามีตา ดังนั้นยิ่งเป็นแรงผลักดัน และหล่อหลอมให้คนจีนรุ่นใหม่มีบุคลิกดิ้นรน มุมานะ กระหายในความสำเร็จอย่างรุนแรง ความคาดหวังในความสำเร็จของชาวจีนรุ่นใหม่นั้นหากเทียบกับการสอบก็เหมือนกับคนที่ต้องการสอบให้ได้เกรด A หรือ B ซึ่งได้มายาก มีไม่กี่คนที่จะทำได้ ส่วนเกรด C, D, F นั้นไม่ต้องการ แต่คนส่วนใหญ่ก็มักอยู่ในกลุ่ม C, D, F นี้แหละ (เช่น จบแค่มัธยม ทำงานรับจ้าง เงินเดือนน้อย บางคนก็ค้าขายเล็กน้อย ขายผักขายปลา รายได้แค่พออยู่ได้ ฯลฯ) ดังนั้นจะเห็นว่าการประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในระดับที่โดดเด่นในสังคมจีนนั้นยากพราะต้องแข่งขันสูงมาก

คนจีนรุ่นใหม่ก็ดิ้นรนไปทุกที่ทุกทางเพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีโอกาสอะไรก็ฉวย ไม่ปล่อยให้หลุดมือ กล้าได้กล้าเสีย ไม่กลัวลำบาก ทำมาหากินในประเทศยากนักบางคนมีช่องทางก็ไปแสวงโชคในต่างประเทศ เช่น มาทำมาหากินในเมืองไทย เป็นต้น บางคนที่หัวทันสมัยหน่อยก็มักได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการให้เงินทำงาน แพสซีฟอินคัม (passive income) รวยด้วยหุ้น ฯลฯ ก็หันมาสนใจลงทุนในตลาดหุ้น นี่คือส่วนหนึ่งของแรงจูงใจที่ผลักดันชาวจีนรุ่นใหม่เข้ามาในตลาดหุ้น


ย้อนตำนานตลาดหุ้นจีนยุคโอลิมปิก หุ้นซิ่งสาย 8


ใครๆก็รู้กันดีกว่ารถเมล์สาย 8 นั้นโด่งดังในด้านความเร็วเพียงใด รถร่วมสาย 8 นั้นวิ่งมาประมาณ 30 ปีแล้วแต่ก็ยังรักษามาตรฐานในด้านความเร็วได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนเร็วยังไง เดี๋ยวนี้ก็ยังเร็วอย่างนั้น จนถึงขนาดเกมดังคือ GTA V ยังต้องนำเอารถเมล์สาย 8 เข้าไปซิ่งในเกมทีเดียว >.<

ด้วยความหอมหวนของตลาดทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนได้อย่างงดงาม ประกอบกับบุคลิกที่ต้องการประสบความสำเร็จโดยเร็ว ทัศนคติมีโอกาสต้องรีบฉวย (เพราะถ้าไม่ฉวยคนอื่นก็เอาไปแทน) รวมทั้งความกล้าได้กล้าเสีย ที่คนจีนบอกว่าไม่เข้าถ้ำเสือไหนเลยจะได้ลูกเสือ นี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ตลาดหุ้นจีนหวือหวา มีการเก็งกำไรสูง

ตั้งแต่ยุค 4 ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง หรือจำง่ายๆคือตั้งแต่ 1980 เป็นต้นมา จีนก็ขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมคอมมิวนิสต์ มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง เปิดรับกระแสทุนและกระแสเทคโนโลยีจากต่างชาติเป็นการใหญ่ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่นั้นมาก็โดดเด่นมาก จากข้อมูลในภาพนี้ ตั้งแต่ปี 1990-2007 จีดีพีจีนโตประมาณปีละ 7% ถึง 14% ทีเดียว


อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนนับแต่ปี 1990 ถึง 2007 เติบโตอย่างร้อนแรงปีละ 7% ถึง 14% และนับแต่ปี 2008 เศรษฐกิจจีนก็เริ่มลดความร้อนแรงลงเรื่อยมา


จนมาในปี 2001 จีนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 จีนก็ยิ่งเร่งลงทุนเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะการก่อสร้างต่างๆเพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน เหล็ก สินค้าเกษตร และอื่นๆมากมาย การนำเข้าอย่างมหาศาลของจีนทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกพุ่งแรง จากนั้นในปี 2006 ตลาดหุ้นจีนก็เริ่มร้อนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพียงระยะเวลาประมาณปีครึ่ง จากต้นปี 2006 ถึงปลายปี 2007 ตลาดหุ้นจีนพุ่งทะยาน +450% (สี่ร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์) โดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวิ่งจาก 1,100 จุดไปถึง 6,000 จุด

หลังจากที่จีนก่อสร้างสถานที่ต่างๆที่เกี่ยวกับโอลิมปิกเรียบร้อย การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ และพร้อมกันนั้น ตลาดหุ้นจีนก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี จากปลายปี 2007 ถึงปลายปี 2008 ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตไหลลงจาก 6,000 จุดเหลือ 1,600 จุด หรือ -73%

ในภาคเศรษฐกิจจริง หลังจากกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เศรษฐกิจของจีนก็ลดความร้อนแรงลงเรื่อยมา อัตราการเติบโตของจีดีพี (GDP growth) ค่อยๆลดลงจาก 14% ต่อปี จนล่าสุดเหลือประมาณ 7% ต่อปี

หากเราพิจารณาภาคเศรษฐกิจจริงคู่ไปกับตลาดหุ้นจีน เราจะได้ภาพดังนี้


ทิศทางของเศรษฐกิจจริงและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา

ดูภาพกันไปก่อน แล้วเรามาคุยกันต่อในตอนต่อไปคร้าบ