Tuesday, June 30, 2015

วิกฤตหนี้กรีซใกล้เส้นตาย เศรษฐกิจไทยอาจชะลอยาว (2)


ตลาดหุ้นกรีซ ในหนึ่งปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวลงไปแล้วราว -40%


กรณีกรีซไม่ยอมรับแผนปฏิรูปของกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยกาและประกาศทำประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวกรีกเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับแผนปฏิรูปซึ่งรวมทั้งยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆหรือไม่ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในวันที่ 29 มิถุนายนผันผวน สถานการณ์ดูเลวร้ายลงเนื่องจากโอกาสที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้มีสูงขึ้น รวมทั้งกรีซมีอาจต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะตกลงกันได้ในนาทีสุดท้ายยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ยังมีโอกาสอยู่

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในวันที่ 29 อันเป็นผลทางจิตวิทยาของตลาดหุ้นต่างๆที่ตอบสนองต่อข่าวกรีซ ตลาดหุ้นยุโรป (ดัชนี EURO STOXX 50) ปรับตัวลง -4.2% ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา (ดัชนี S&P 500) ปรับลง -2% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (ดัชนีนิกเกอิ 225) -3% ตลาดหุ้นอินเดีย -0.6% ส่วนตลาดหุ้นไทย -0.45%

จะเห็นว่าตลาดหุ้นที่หวั่นไหวต่อกรณีกรีซมากที่สุดเป็นตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรป ส่วนผลทางจิตวิทยาของตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นมีค่อนข้างจำกัด สำหรับประเทศไทยเองนั้นในภาคเศรษฐกิจจริงสัมพันธ์กับกรีซเป็นมูลค่าไม่มากนัก ดังนั้นจากการประเมินในเบื้องต้น ลุงแมวน้ำคิดว่าแม้ในที่สุดกรีซผิดนัดชำระหนี้จริงๆ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอเมริกา เอเชีย และตลาดหุ้นไทย น่าจะมีไม่มากนัก ส่วนผลที่ตามมาหากกรีซเป็นชนวนให้ยูโรโซนล่มสลาย ประเด็นนั้นค่อยมาประเมินกันอีกทีเพราะยังอีกไกล


ความเสี่ยงอยู่ที่จีน


ประเด็นที่ลุงแมวน้ำเป็นห่วง และคาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป ไม่ใช่กรณีกรีซ แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆดังต่อไปนี้

1.กรณี สหรัฐอเมริกากำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด หลังจากที่กระประชุมเฟดเดือนมิถุนายนนี้ไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์ก็ยังคงอึมครึมต่อไปจนถึงการประชุมเฟดในนัดเดือนกันยายน กรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกไปต่อได้ยาก แม้แต่ตลาดหุ้นอเมริกาเองก็เช่นกัน

ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หลังจากที่หลุดปลายสามเหลี่ยมชายธงลงด้านล่างก็ก่อตัวเป็นแนวโน้มขาลง คาดกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะลงไปจนกว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


2. กรณีจีน เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีกขาละหนึ่งสลึงหรือ 0.25 % และลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ อาร์อาร์อาร์ (RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มพื้นที่ชนบท ภาคการเกษตร และธุรกิจขนาดเล็ก -0.50% ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจ

ปกติจีนมักประกาศนโยบายการเงินในช่วงวันหยุด ครั้งนี้ก็เช่นกัน พอตลาดหุ้นจีนเปิดมาในเช้าวันจันทร์ก็บวกไปประมาณ +2% จากนั้นก็แกว่งตัวขึ้นลงแรงหลายรอบตลอดวัน สุดท้าย ตลาดหุ้นจีนโดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ -3.3% ซึ่งกรณีจีนนี้ลุงแมวน้ำคิดว่าสถานการณ์เริ่มน่าเป็นห่วง เนื่องจากปีนี้ธนาคารกลางของจีนใช้มาตรการทางการเงิน ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ยและการลดสัดส่วนการกันสำรองมาหลายครั้งแล้วเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่น่าพอใจนัก เพียงครึ่งเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงไป -21% แล้ว ซึ่งถือว่าเร็วและแรง

ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลง -21% ภายในเวลาประมาณครึ่งเดือน


แต่ละครั้งที่จีนมีการผ่อนคลายทางการเงิน ตลาดหุ้นจีนตอบสนองในเชิงบวก คือตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรง แต่ครั้งนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลง อธิบายได้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยและลดสัดส่วนกันสำรองในครั้งก่อนๆ นักลงทุนมองเชิงบวกว่ามาตรการเหล่านี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างได้ผล แต่มาในครั้งนี้นักลงทุนกลับมีท่าทีเสียความเชื่อมั่น กลายเป็นมองเชิงลบว่าเศรษฐกิจคงแย่มากจึงได้กระตุ้นกันไม่หยุดหย่อน พูดง่ายๆคือตอนนี้นักลงทุนจีนมองว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างยากจะเยียวยาแล้ว

กรณีจีน ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอิงการส่งออกค่อนข้างสูง คือกว่า 70% ของจีดีพี และการส่งออกของเรานั้นพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้ยอดการนำเข้าของจีนลดลง ส่งผลให้ไทยขายสินค้าแก่จีนได้น้อยลงโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ประกอบกับไทยเสียความสามารถในการแข่งขันส่งออกไป ลุงแมวน้ำจึงเห็นว่าผลจาการชะลอของเศรษฐกิจจีนจึงกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก


เศรษฐกิจไทยชะลอกว่าที่คาด


คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะซึมลงในไตรมาส 3 

3. เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว การที่ทางการไทยปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจและคาดการณ์ยอดส่งออกลงหลายครั้งเพราะยอดส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สินค้าทำเงินย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น (เช่น จอภาพ ทีวี ยานยนต์ ฯลฯ) และนอกจากยอดส่งออกแล้ว ในด้านการนำเข้าสินค้าทุนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าในภาคการผลิตได้ชะลอการผลิตและการลงทุนใหม่ๆลง ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการก็ชะลอการลงทุน โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆก็ยังติดขัด และในภาคเกษตรก็ประสบภัยแล้ง

4. ในปีนี้มีการออกหุ้นไอพีโอ ทั้งกองทุนรวมอสังหาฯ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และหุ้นกู้ ค่อนข้างมาก เหล่านี้มีส่วนดูดซับเงินออกไปจากตลาด น่าจะมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นขึ้นต่อได้ยากด้วย

ลุงแมวน้ำคาดว่าในไตรมาส 3 นี้ไทยน่าจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน ปริมาณหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น การบริโภคที่ชะลอตัว ส่งผลต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มอุปโภคบริโภค และอาจเป็นกลุ่มที่ฉุดตลาดได้

สี่กรณีข้างต้นประกอบกัน ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่าตลาดหุ้นไทยในไตรมาสสามน่าจะซึมลง แม้ว่าจะไม่มีกรณีกรีซก็น่าจะซึมลงอยู่แล้ว เดิมทีคาดว่าไตรมาสสามน่าจะเริ่มสดใสได้ แต่ตอนนี้คงต้องปรับมุมมอง ประกอบกับต้องรอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีก ส่วนไตรมาสสี่นั้นสถานการณ์น่าจะดีขึ้นบ้าง เพราะการท่องเที่ยวเข้าสู่ไฮซีซัน จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้บ้าง


กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 3


จากที่เล่ามาข้างบน ลงแมวน้ำจึงปรับกลยุทธ์การลงทุน และปรับพอร์ต ตอนนี้ขายหุ้นในตลาดฮ่องกงออกไป และลดพอร์ตหุ้นไทยลง ถือเงินสดกว่า 50% ของพอร์ต และรอจังหวะเหมาะเพื่อกลับเข้าลงทุนใหม่ ลุงแมวน้ำมองภาพไว้ 2 กรณีหรือ 2 ซีนาริโอ คือ

1. หากตลาดหุ้นลงแรง หรือค่อยๆซึมลง ก็ตาม ลุงแมวน้ำรอจังหวะเข้าซื้อที่ระดับต่ำกว่า 1450 จุด เล็งกลุ่มหุ้นและตัวหุ้นเอาไว้บ้างแล้ว เลือกตัวที่อนาคตดี แต่ราคายังถูกอยู่ เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ หรือที่เรียกว่ามี margin of safty (MOS) สูงหน่อย คาดว่าจังหวะที่เข้าลงทุนน่าจะเป็นกลางหรือปลายไตรมาส 3

2. หากตลาดหุ้นไม่ลงแต่กลับไปต่อ ลุงแมวน้ำจะรอให้ผ่าน 1530 จุดและก่อแนวโน้มขาขึ้นชัดเจนก่อนค่อยเข้าลงทุน สำหรับแผน 2 นี้ลุงแมวน้ำมีโพยหุ้นอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากแผนแรก เนื่องจากสถานการณ์แตกต่างกัน

3. การลงทุนในต่างประเทศ ยังสนใจตลาดหุ้นฮ่องกงเช่นเดิม และเพิ่มตลาดหุ้นอินเดียเป็นตัวเลือกเข้าไปด้วย ตอนนี้รอก่อนเพราะตลาดเป็นขาลง รอกลางหรือปลายไตรมาสสามค่อยเข้าลงทุน

4. ไม่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ไม่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่เก็งกำไรค่าเงิน เพราะโอกาสขาดทุนสูง


อินเดียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐิจสูง ตลาดหุ้นจึงน่าสนใจ แต่ตอนนี้เงินทุนไหลออกจากอินเดียเพราะรอเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 


แนวทางของลุงแมวน้ำก็ทำนองนี้แหละ จะเห็นว่าลุงแมวน้ำไม่ได้เตรียมการรับมือกับกรณีกรีซโดยตรง รวมทั้งไม่รวมกรณีโรคเมอร์สระบาดรุนรงด้วย แต่แม้จะเกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้นมา ก็น่าจะพอรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ เนื่องจากตอนนี้ถือเงินสดไว้ในสัดส่วนสูงอยู่แล้ว

Monday, June 29, 2015

วิกฤตหนี้กรีซใกล้เส้นตาย เศรษฐกิจไทยอาจชะลอยาว (1)


ประชาชนกรีซกำลังเข้าคิวถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มหลังจากที่กรีซและทรอยกาตกลงกันไม่ได้ และกรีซประกาศปิดทำการตลาดหุ้นและธนาคารในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนนี้ ประชาชนถอนเงินได้จากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น ซึ่งข่าวล่าสุดตอนนี้เงินหมดตู้แล้ว


นายกรัฐมนตรี อล็กซิส ซีปราส ของกรีซ



เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผลการประชุมกรณีปัญหาหนี้ของกรีซ ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้คือทรอยกา และลูกหนี้คือกรีซ ปรากฏว่าขิงก็ราข่าก็แรง ไม่มีใครยอมใคร ปัญหาวิกฤตหนี้กรีซที่มีเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายนดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออก ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างก็จะเดินตามทางของตน คือพังเป็นพัง


ทบทวนวิกฤตหนี้กรีซ


เรามาทบทวนวิกฤตหนี้กรีซกันอย่างสั้นๆก่อน เพื่อให้ติดตามเรื่องได้สะดวก

กรีซประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และได้รับเงินช่วยเหลือ (ก็คือเงินกู้ยืมนั่นเอง) จากกลุ่มสถาบันการเงินของยุโรปที่เรียกว่ากลุ่มทรอยกา ได้แก่้ ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสหภาพยุโรป เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาหนี้สินต่างๆกับเจ้าหนี้ที่เป็นเอกชน รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 240,000 ล้านยูโร โดยกรีซต้องแลกกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและรัดเข็มขัดตามแผนการฟื้นฟูของกลุ่มทรอยกา แต่กรีซก็ไม่สามารถทำตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนกรีซลดลงจากเดิม โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน อเล็กซิส ซีปราส ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนก็เพราะประกาศนโยบายไม่เอามาตรการรัดเข็มขัดจนประชาชนสนับสนุน

เมื่อซีปราสได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็พยายามขอลดหย่อนมาตรการรัดเข็มขัดกับกลุ่มเจ้าหนี้ แต่กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ยอม ซ้ำยังบังคับให้กรีซเพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดเสียอีกด้วยเพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจไม่้ก้าวหน้าเท่าที่ควร


ทำไม 30 มิถุนายนจึงมีความสำคัญ ถือเป็นเส้นตาย 


ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่สำหรับตอนนี้ก็คือ กรีซถึงกำหนดต้องชำระหนี้เงินกู้บางส่วนให้แก่ไอเอ็มเอฟ ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ มูลค่าประมาณ 1,600 ล้านยูโร ซึ่งคาดว่ากรีซไม่น่าจะมีเงินจ่าย ทางกลุ่มทรอยกาก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน หากยินยอมเพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดให้ตึงยิ่งขึ้นไปอีก เงินงวดที่ต้องชำระคืนในสิ้นเดือนนี้ก็ให้ยืดหนี้ไปได้อีก 5 เดือน พร้อมกันนั้นจะขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มให้อีก 15,000 ล้านยูโร แถมยังพร้อมให้เงินกู้ฉุกเฉินที่เบิกจ่ายได้ในทันที 1,800 ล้านยูโร แต่ซีปราสไม่ต้องการ ซีปราสต้องการขอผ่อนปรนหนี้พร้อมทั้งผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัดด้วย

การต่อรองดำเนินไปอย่างเข้มข้น สุดท้ายซีปราสงัดมุขประชามติออกมาใช้ โดยบอกแก่กลุ่มเจ้าหนี้ว่าถ้าเจรจากันไม่สำเร็จก็ขอให้ประชาชนชาวกรีซลงประชามติก็แล้วกันว่าจะตัดสินใจยอมรับภาระหนี้และมาตรการต่างๆที่จะมาบังคับกับประชาชนกรีซหรือไม่ โดยจะกำหนดวันลงประชามติ 5 ก.ค. นี้ ปลายเดือน ก.ค. ก็จะรู้ผล ดังนั้นขอผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปก่อนอีก 1 เดือน

หลังจากเจรจากันอย่างหนัก กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ยินยอมรับเงื่อนไขของซีปราส โดยบอกว่า หากไม่เพิ่มมาตรการรัดเข็มขัด เรื่องเงินก็ไม่ต้องคุยกัน และนั่นหมายความว่ากรีซคงต้องผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้งวดนี้แม้จะเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับเงินกู้ทั้งหมด แต่ก็เท่ากับกรีซเบี้ยวหนี้แล้ว คือเสียเครดิตไปเลย นอกจากนี้ ภายในเดือน ก.ค. นี้กรีซยังมีหนี้เงินกู้และยังมีพันธบัตรกรีซที่ครบกำหนดซึ่งต้องจ่ายคืนอีกหลายพันล้านยูโร  ซึ่งก็คงต้องเบี้ยวหนี้ไปด้วย

ผลจากการเบี้ยวหนี้ก็คือกรีซคงต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน เลิกใช้เงินยูโร ปัญหาจะตามมาอีกมากมายโดยเฉพาะการสะสางปัญหาหนี้สินจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้นไปอีก  ประชาชนคงแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร ซึ่งหากกรีซไม่มีการจัดการอะไรเลย ธนาคารในกรีซคงล้ม ซึ่งข่าวล่าสุด กรีซประกาศให้ธนาคารและตลาดหุ้นปิดทำการในวันจันทร์นี้ ประชาชนจะถอนเงินได้จากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น นี่คือมาตรการรับมือฉุกเฉินเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกเบื้องต้น หลังจากนี้คงมีมาตรการอื่นๆตามมาอีก แต่สถานการณ์ล่าสุดคือเงินหมดตู้เอทีเอ็ม ถอนเงินไม่ได้แล้ว




นี่คือที่มาที่ไปแบบสั้นๆของวิกฤตหนี้กรีซและสิ่งที่กำลังจะเกิดในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้


ถ้ากรีซเบี้ยวหนี้จริงจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแค่ไหน แล้วจะทำยังไงต่อดี


ที่จริงเรื่องหนี้กรีซนั้นลุงแมวน้ำก็ยังคิดว่าน่าจะคุยกันได้ แม้ในตอนที่พิมพ์บทความอยู่นี้ก็ยังคิดว่าน่าจะตกลงกันได้ เพราะการที่กรีซยังอยู่ในยูโรโซนจะทำให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ประโยชน์ทั้งคู่ ดีกว่าที่กรีซต้องออกจากกลุ่มไป แต่เอาเถอะ หากตกลงกันไม่ได้จริงๆ เมื่อกลุ่มเจ้าหนี้เล่นไม้แข็ง ไม่ยอมผ่อนผันลูกหนี้อีกแล้ว คิดว่ากลุ่มเจ้าหนี้คงมีมาตรการรองรับผลกระทบไว้บ้างแล้ว เรื่องกรีซเบี้ยวหนี้นั้นจำนวนเงินไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่ว่าอาจเป็นชนวนให้ยูโรโซนล่มสลาย ต้องจับตาผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่

ผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดหุ้นก็คงมี เพราะตลาดหุ้นอ่อนไหวต่อปัจจัยทางจิตวิทยา คือตกใจง่าย แต่จะมากหรือน้อยลุงแมวน้ำก็ยังดูไม่ออก คงต้องค่อยดูและประเมินสถานการณ์กันไป ปรับกลยุทธ์กันไป

เรื่องคาดการณ์นั้นย่อมมีผิดมีถูก แต่จะคาดการณ์ผิดหรือถูกก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเตรียมรับมือกับความเสี่ยงได้ดีเพียงใด ยกตัวอย่างเช่นเรื่องกรีซนี้ แม้เรามองว่าน่าจะตกลงกันได้ แต่ถ้าหากตกลงกันไม่ได้แล้วเราจะรับมือได้หรือไม่

ที่จริงตอนนี้เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยมีปัญหาที่ส่งผลกระทบมากกว่ากรณีกรีซอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่แนวโน้มชะลอมากกว่าที่คาด การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด และล่าสุดคือเรื่องปัญหาภัยแล้วที่รุนแรงกว่าที่คาด เหล่านี้ล้วนแต่เกินความคาดหมายทั้งสิ้น และนอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่รู้วันเวลาแน่ชัดอีก วันใดที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทย เราเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงที่ไม่คาดหมายเหล่านี้หรือไม่ และอย่างไร

สำหรับลุงแมวน้ำ ช่วงหลังนี้ลุงแมวน้ำเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีแบบเกินความคาดหมายหลายอย่าง เช่น  การค้าขายฝืดเคืองต่อเนื่องและยังไม่ค่อยเห็นการฟื้นตัว ปริมาณเอ็นพีแอลในระบบธนาคารเพิ่มขึ้น ระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ที่ต่ำจนถึงระดับวิกฤต ฯลฯ ทางด้านจีนเองก็ชะลอตัวกว่าที่คาด ประกอบกับเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ยังอึมครึม เหล่านี้ล้วนแต่มีผลลบต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยทั้งสิ้น ซึ่งลุงแมวน้ำได้ทยอยนำมาคุยให้ฟังและปรับมุมมองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำให้ถือเงินสดเอาไว้บ้าง ในบทความของลุงแมวน้ำก่อนหน้านี้

ลุงแมวน้ำเองก็ลดพอร์ตลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ถือเงินสดเกินกว่า 50% ของพอร์ต นี่คือการวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ หากตลาดหุ้นลงแรงลุงแมวน้ำก็จะทยอยกลับเข้าไปลงทุน ก็เตรียมทำการบ้านเอาไว้ล่วงหน้าว่ากรณีที่ตลาดหุ้นลงจะทำอย่างไร

ยังไม่จบนะคร้าบ ติดตามอ่านพรุ่งนี้