นายกรัฐมนตรี อล็กซิส ซีปราส ของกรีซ |
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผลการประชุมกรณีปัญหาหนี้ของกรีซ ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้คือทรอยกา และลูกหนี้คือกรีซ ปรากฏว่าขิงก็ราข่าก็แรง ไม่มีใครยอมใคร ปัญหาวิกฤตหนี้กรีซที่มีเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายนดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออก ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างก็จะเดินตามทางของตน คือพังเป็นพัง
ทบทวนวิกฤตหนี้กรีซ
เรามาทบทวนวิกฤตหนี้กรีซกันอย่างสั้นๆก่อน เพื่อให้ติดตามเรื่องได้สะดวก
กรีซประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และได้รับเงินช่วยเหลือ (ก็คือเงินกู้ยืมนั่นเอง) จากกลุ่มสถาบันการเงินของยุโรปที่เรียกว่ากลุ่มทรอยกา ได้แก่้ ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสหภาพยุโรป เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาหนี้สินต่างๆกับเจ้าหนี้ที่เป็นเอกชน รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 240,000 ล้านยูโร โดยกรีซต้องแลกกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและรัดเข็มขัดตามแผนการฟื้นฟูของกลุ่มทรอยกา แต่กรีซก็ไม่สามารถทำตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนกรีซลดลงจากเดิม โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน อเล็กซิส ซีปราส ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนก็เพราะประกาศนโยบายไม่เอามาตรการรัดเข็มขัดจนประชาชนสนับสนุน
เมื่อซีปราสได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็พยายามขอลดหย่อนมาตรการรัดเข็มขัดกับกลุ่มเจ้าหนี้ แต่กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ยอม ซ้ำยังบังคับให้กรีซเพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดเสียอีกด้วยเพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจไม่้ก้าวหน้าเท่าที่ควร
ทำไม 30 มิถุนายนจึงมีความสำคัญ ถือเป็นเส้นตาย
ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่สำหรับตอนนี้ก็คือ กรีซถึงกำหนดต้องชำระหนี้เงินกู้บางส่วนให้แก่ไอเอ็มเอฟ ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ มูลค่าประมาณ 1,600 ล้านยูโร ซึ่งคาดว่ากรีซไม่น่าจะมีเงินจ่าย ทางกลุ่มทรอยกาก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน หากยินยอมเพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดให้ตึงยิ่งขึ้นไปอีก เงินงวดที่ต้องชำระคืนในสิ้นเดือนนี้ก็ให้ยืดหนี้ไปได้อีก 5 เดือน พร้อมกันนั้นจะขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มให้อีก 15,000 ล้านยูโร แถมยังพร้อมให้เงินกู้ฉุกเฉินที่เบิกจ่ายได้ในทันที 1,800 ล้านยูโร แต่ซีปราสไม่ต้องการ ซีปราสต้องการขอผ่อนปรนหนี้พร้อมทั้งผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัดด้วย
การต่อรองดำเนินไปอย่างเข้มข้น สุดท้ายซีปราสงัดมุขประชามติออกมาใช้ โดยบอกแก่กลุ่มเจ้าหนี้ว่าถ้าเจรจากันไม่สำเร็จก็ขอให้ประชาชนชาวกรีซลงประชามติก็แล้วกันว่าจะตัดสินใจยอมรับภาระหนี้และมาตรการต่างๆที่จะมาบังคับกับประชาชนกรีซหรือไม่ โดยจะกำหนดวันลงประชามติ 5 ก.ค. นี้ ปลายเดือน ก.ค. ก็จะรู้ผล ดังนั้นขอผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปก่อนอีก 1 เดือน
หลังจากเจรจากันอย่างหนัก กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ยินยอมรับเงื่อนไขของซีปราส โดยบอกว่า หากไม่เพิ่มมาตรการรัดเข็มขัด เรื่องเงินก็ไม่ต้องคุยกัน และนั่นหมายความว่ากรีซคงต้องผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้งวดนี้แม้จะเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับเงินกู้ทั้งหมด แต่ก็เท่ากับกรีซเบี้ยวหนี้แล้ว คือเสียเครดิตไปเลย นอกจากนี้ ภายในเดือน ก.ค. นี้กรีซยังมีหนี้เงินกู้และยังมีพันธบัตรกรีซที่ครบกำหนดซึ่งต้องจ่ายคืนอีกหลายพันล้านยูโร ซึ่งก็คงต้องเบี้ยวหนี้ไปด้วย
ผลจากการเบี้ยวหนี้ก็คือกรีซคงต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน เลิกใช้เงินยูโร ปัญหาจะตามมาอีกมากมายโดยเฉพาะการสะสางปัญหาหนี้สินจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้นไปอีก ประชาชนคงแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร ซึ่งหากกรีซไม่มีการจัดการอะไรเลย ธนาคารในกรีซคงล้ม ซึ่งข่าวล่าสุด กรีซประกาศให้ธนาคารและตลาดหุ้นปิดทำการในวันจันทร์นี้ ประชาชนจะถอนเงินได้จากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น นี่คือมาตรการรับมือฉุกเฉินเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกเบื้องต้น หลังจากนี้คงมีมาตรการอื่นๆตามมาอีก แต่สถานการณ์ล่าสุดคือเงินหมดตู้เอทีเอ็ม ถอนเงินไม่ได้แล้ว
นี่คือที่มาที่ไปแบบสั้นๆของวิกฤตหนี้กรีซและสิ่งที่กำลังจะเกิดในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
ถ้ากรีซเบี้ยวหนี้จริงจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแค่ไหน แล้วจะทำยังไงต่อดี
ที่จริงเรื่องหนี้กรีซนั้นลุงแมวน้ำก็ยังคิดว่าน่าจะคุยกันได้ แม้ในตอนที่พิมพ์บทความอยู่นี้ก็ยังคิดว่าน่าจะตกลงกันได้ เพราะการที่กรีซยังอยู่ในยูโรโซนจะทำให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ประโยชน์ทั้งคู่ ดีกว่าที่กรีซต้องออกจากกลุ่มไป แต่เอาเถอะ หากตกลงกันไม่ได้จริงๆ เมื่อกลุ่มเจ้าหนี้เล่นไม้แข็ง ไม่ยอมผ่อนผันลูกหนี้อีกแล้ว คิดว่ากลุ่มเจ้าหนี้คงมีมาตรการรองรับผลกระทบไว้บ้างแล้ว เรื่องกรีซเบี้ยวหนี้นั้นจำนวนเงินไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่ว่าอาจเป็นชนวนให้ยูโรโซนล่มสลาย ต้องจับตาผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่
ผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดหุ้นก็คงมี เพราะตลาดหุ้นอ่อนไหวต่อปัจจัยทางจิตวิทยา คือตกใจง่าย แต่จะมากหรือน้อยลุงแมวน้ำก็ยังดูไม่ออก คงต้องค่อยดูและประเมินสถานการณ์กันไป ปรับกลยุทธ์กันไป
เรื่องคาดการณ์นั้นย่อมมีผิดมีถูก แต่จะคาดการณ์ผิดหรือถูกก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราเตรียมรับมือกับความเสี่ยงได้ดีเพียงใด ยกตัวอย่างเช่นเรื่องกรีซนี้ แม้เรามองว่าน่าจะตกลงกันได้ แต่ถ้าหากตกลงกันไม่ได้แล้วเราจะรับมือได้หรือไม่
ที่จริงตอนนี้เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยมีปัญหาที่ส่งผลกระทบมากกว่ากรณีกรีซอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่แนวโน้มชะลอมากกว่าที่คาด การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด และล่าสุดคือเรื่องปัญหาภัยแล้วที่รุนแรงกว่าที่คาด เหล่านี้ล้วนแต่เกินความคาดหมายทั้งสิ้น และนอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่รู้วันเวลาแน่ชัดอีก วันใดที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทย เราเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงที่ไม่คาดหมายเหล่านี้หรือไม่ และอย่างไร
สำหรับลุงแมวน้ำ ช่วงหลังนี้ลุงแมวน้ำเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีแบบเกินความคาดหมายหลายอย่าง เช่น การค้าขายฝืดเคืองต่อเนื่องและยังไม่ค่อยเห็นการฟื้นตัว ปริมาณเอ็นพีแอลในระบบธนาคารเพิ่มขึ้น ระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ที่ต่ำจนถึงระดับวิกฤต ฯลฯ ทางด้านจีนเองก็ชะลอตัวกว่าที่คาด ประกอบกับเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ยังอึมครึม เหล่านี้ล้วนแต่มีผลลบต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยทั้งสิ้น ซึ่งลุงแมวน้ำได้ทยอยนำมาคุยให้ฟังและปรับมุมมองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำให้ถือเงินสดเอาไว้บ้าง ในบทความของลุงแมวน้ำก่อนหน้านี้
ลุงแมวน้ำเองก็ลดพอร์ตลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ถือเงินสดเกินกว่า 50% ของพอร์ต นี่คือการวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ หากตลาดหุ้นลงแรงลุงแมวน้ำก็จะทยอยกลับเข้าไปลงทุน ก็เตรียมทำการบ้านเอาไว้ล่วงหน้าว่ากรณีที่ตลาดหุ้นลงจะทำอย่างไร
ยังไม่จบนะคร้าบ ติดตามอ่านพรุ่งนี้