<<< สงครามเงินตรา >>>
ตลาดเงินและตลาดทุนของโลกในช่วงที่ผ่านมาเกิดความผันผวน เกิดเรื่องราวมากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่อเมริกาลดและเลิก QE และญี่ปุ่นใช้ QE กระตุ้้ันเศรษฐกิจ สองกรณีนี้ก็นานแล้ว ลุงแมวน้ำทบทวนให้ฟังเท่านั้น ทางด้านจีนก็อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นระยะ พร้อมมาตรการด้านการเงินอื่นๆ
ล่าสุดนี้ทางยูโรโซน คือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ก็ประกาศใช้ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ทีนี้เงินดอลลาร์ สรอ กับเงินเยนก็ท่วมโลกอยู่แล้ว ต่อไปจะมีเงินยูโรออกมาท่วมโลกอีก
ทีนี้ค่าเงินก็ปั่นป่วน เยนอ่อน ยูโรอ่อน ดอลลาร์อเมริกาแข็ง มิหนำซ้ำยังมีกรณีค่าเงินและเศรษฐกิจรัสเซียที่กำลังปั่นป่วน สงครามราคาน้ำมันอีก เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยต่างๆมากมายไปหมดจนวิเคราะห์ไม่ถูกว่าใครได้ ใครเสีย ใครได้เท่าไร ใครเสียเท่าไร แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินในภาพใหญ่ก็คาดว่าเงินยูโรและเยนที่ออกมาท่วมตลาดเงินนี้น่าจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ และเงินตราในสกุลตลาดเกิดใหม่ต่างๆแข็งค่าขึ้นเนื่องจากมีกระแสเงินสองสกุลนี้ซึ่งเป็นเงินที่ต้นทุนถูกไหลเข้าไปหากำไรในตลาดต่างๆนั่นเอง รวมทั้งตลาดหุ้นเกิดใหม่ในหลายๆประเทศก็น่าจะเป็นขาขึ้นเนื่องจากเงินที่ไหลเข้านั้นเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นด้วย
เอาละ ในทางทฤษฎีก็น่าจะเป็นตามนั้น แต่มาดูในความเป็นจริงแล้วประเทศต่างๆไม่ได้นั่งรอให้เงินไหลเข้ามาเฉยๆ เพราะเงินร้อนไหลเข้ามาก็เป็นดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และโทษ มาแล้วเก็งกำไรแบบมาเร็วกลับเร็ว โดยไม่ได้ลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ก็จะเป็นโทษเสียมากกว่า เพราะอาจทำให้เกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น ฟองสบู่พันธบัตร และเงินแข็งค่ามากเกินไปจนเป็นผลเสียต่อการส่งออก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในแถบเอเชียต่างก็กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินร้อนไหลเข้า เช่น เกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ย จีนก็ลดอัตราดอกเบี้ย (อีกนัยหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย) ล่าสุดนี้เวียดนามและสิงคโปร์ก็ประกาศลดค่าเงินของตนลง
ทีนี้เราลองมาดูกันว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลเอเชียในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อไม่นานมานี้ลุงแมวน้ำเคยเอากราฟอัตราแลกเปลี่ยนมาให้ดูครั้งหนึ่งแล้ว แต่เป็นรอบ 1 เดือน คราวนี้ดูกันอีกทีให้ยาวขึ้นอีกหน่อย
จากกราฟข้างบนนี้ แสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเอเชีย 8 สกุล เทียบกับดอลลาร์ สรอ มองแว่บแรกก็เห็นแล้วว่าในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินทั้ง 8 สกุลแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ
กลุ่มแรก อ่อนค่าเว่อ นั่นคือเงินริงกิตและเงินเยน อ่อนค่าในระดับ -13% ถึง -14% เงินเยนอ่อนค่าเพราะคิวอี นั่นพอเข้าใจได้ แต่เงินมาเลเซียจึงอ่อนค่ามากทั้งที่ไม่ได้ทำคิวอี แม้ว่ามาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งราคาตกต่ำลง แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นมาเลเซียยังขึ้นแรง หุ้นพลังงานเริ่มฟื้นตัว ก็น่าคิดว่าเงินริงกิตอ่อนค่ามากเกินไปหรือไม่?
กลุ่มสอง อ่อนค่า กลุ่มนี้อ่อนค่าในระดับ -6% ถึง -7% ได้เแก่เงินรูเปียะ เงินวอน และเงินสิงคโปร์ดอลลาร์
กลุ่มสาม อ่อนค่าเล็กน้อย กลุ่มนี้ค่าเงินค่อนข้างเสถียร คืออ่อนเพียง -1% ถึง -2% เท่านั้น มีบาท เปโซ และรูปี
จะเห็นว่าเอเชียด้วยกัน ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ยังมีค่าเงินที่อ่อนกว่าเงินบาท เงินอินโดนีเซียก็อ่อนค่ากว่าไทย ตลาดหุ้นก็ขึ้น หากมองกราฟนี้แล้วก็คงอดคิดไม่ได้ว่าประเทศเหล่านี้คงมีการบริหารจัดการค่าเงินเพื่อรับมือกับเงินต้นทุนถูกที่จะไหลเข้ามา พูดง่ายๆคือแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควรทีเดียว
ขณะเดียวกัน หากเงินสกุลเพื่อนบ้านอ่อนกว่าไทยในลักษณะนี้ ส่งออกไทยค่อนข้างเสียเปรียบทีเดียว เงินบาทเสถียรเป็นผลดีต่อการส่งออกก็จริง แต่หากเสถียรแล้วแข็งกว่าเพื่อนบ้านมากไปหน่อยก็เสียเปรียบอยู่ดี หากเป็นเช่นนี้การส่งออกของไทยที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งฟื้นตัวได้ยาก เราหลีกเลี่ยงสงครามเงินตราไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องเข้าร่วมวงด้วย ดังนั้นต้องตั้งหลักและวางกลยุทธ์ให้ดี
นี่คือโลกยุคใหม่ และนี่คือพรมแดนใหม่ที่เรากำลังเดินทาง เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดมาในอดีต พรมแดนใหม่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติมีอยู่ว่าสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้และมีวิวัฒนาการจึงจะอยู่รอดได้
ประเทศไทยก็เช่นกัน ทั้งภาครัฐ นักธุรกิจ และนักลงทุนไทย ต้องตระหนักถึงการปรับตัวและมีวิวัฒนาการ เพื่อความอยู่รอด
สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น หากเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พวกการส่งออกต่างๆควรพิจารณาให้ดี การลงทุนในหุ้นที่แพงแล้ว คือพีอีสูงๆ ก็ควรพิจารณาอย่างระมัดระวังด้วย
เรื่องที่น่าคิดอีกประการก็คือ สหรัฐอเมริกาจะปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์ของตนเองแข็งค่าไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไรเลยหรือ ในยุคของน้าบารักนี้รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการส่งออกของอเมริกา ที่ผ่านมายอดการส่งออกของอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากเงินดอลลาร์แข็งค่าก็กระทบกับภาคการส่งออกของตนเช่นกัน และหากอเมริกาบริหารจัดการค่าเงินดอลลาร์บ้าง อะไรจะเกิดขึ้น ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจะเห็นว่าสงครามค่าเงินในยุคนี้ไม่ง่ายเลย
วันนี้ลุงแมวน้ำพูดในภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียดอีกทีคร้าบ