Monday, February 2, 2015

สงครามเงินตรา




<<< สงครามเงินตรา >>>

ตลาดเงินและตลาดทุนของโลกในช่วงที่ผ่านมาเกิดความผันผวน เกิดเรื่องราวมากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่อเมริกาลดและเลิก QE และญี่ปุ่นใช้ QE กระตุ้้ันเศรษฐกิจ สองกรณีนี้ก็นานแล้ว ลุงแมวน้ำทบทวนให้ฟังเท่านั้น ทางด้านจีนก็อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นระยะ พร้อมมาตรการด้านการเงินอื่นๆ

ล่าสุดนี้ทางยูโรโซน คือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ก็ประกาศใช้ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ทีนี้เงินดอลลาร์ สรอ กับเงินเยนก็ท่วมโลกอยู่แล้ว ต่อไปจะมีเงินยูโรออกมาท่วมโลกอีก

ทีนี้ค่าเงินก็ปั่นป่วน เยนอ่อน ยูโรอ่อน ดอลลาร์อเมริกาแข็ง มิหนำซ้ำยังมีกรณีค่าเงินและเศรษฐกิจรัสเซียที่กำลังปั่นป่วน สงครามราคาน้ำมันอีก เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยต่างๆมากมายไปหมดจนวิเคราะห์ไม่ถูกว่าใครได้ ใครเสีย ใครได้เท่าไร ใครเสียเท่าไร แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินในภาพใหญ่ก็คาดว่าเงินยูโรและเยนที่ออกมาท่วมตลาดเงินนี้น่าจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ และเงินตราในสกุลตลาดเกิดใหม่ต่างๆแข็งค่าขึ้นเนื่องจากมีกระแสเงินสองสกุลนี้ซึ่งเป็นเงินที่ต้นทุนถูกไหลเข้าไปหากำไรในตลาดต่างๆนั่นเอง รวมทั้งตลาดหุ้นเกิดใหม่ในหลายๆประเทศก็น่าจะเป็นขาขึ้นเนื่องจากเงินที่ไหลเข้านั้นเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นด้วย

เอาละ ในทางทฤษฎีก็น่าจะเป็นตามนั้น แต่มาดูในความเป็นจริงแล้วประเทศต่างๆไม่ได้นั่งรอให้เงินไหลเข้ามาเฉยๆ เพราะเงินร้อนไหลเข้ามาก็เป็นดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และโทษ มาแล้วเก็งกำไรแบบมาเร็วกลับเร็ว โดยไม่ได้ลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ก็จะเป็นโทษเสียมากกว่า เพราะอาจทำให้เกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น ฟองสบู่พันธบัตร และเงินแข็งค่ามากเกินไปจนเป็นผลเสียต่อการส่งออก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในแถบเอเชียต่างก็กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินร้อนไหลเข้า เช่น เกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ย จีนก็ลดอัตราดอกเบี้ย (อีกนัยหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย) ล่าสุดนี้เวียดนามและสิงคโปร์ก็ประกาศลดค่าเงินของตนลง

ทีนี้เราลองมาดูกันว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลเอเชียในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อไม่นานมานี้ลุงแมวน้ำเคยเอากราฟอัตราแลกเปลี่ยนมาให้ดูครั้งหนึ่งแล้ว แต่เป็นรอบ 1 เดือน คราวนี้ดูกันอีกทีให้ยาวขึ้นอีกหน่อย

จากกราฟข้างบนนี้ แสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเอเชีย 8 สกุล เทียบกับดอลลาร์ สรอ มองแว่บแรกก็เห็นแล้วว่าในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินทั้ง 8 สกุลแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ

กลุ่มแรก อ่อนค่าเว่อ นั่นคือเงินริงกิตและเงินเยน อ่อนค่าในระดับ -13% ถึง -14% เงินเยนอ่อนค่าเพราะคิวอี นั่นพอเข้าใจได้ แต่เงินมาเลเซียจึงอ่อนค่ามากทั้งที่ไม่ได้ทำคิวอี แม้ว่ามาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งราคาตกต่ำลง แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นมาเลเซียยังขึ้นแรง หุ้นพลังงานเริ่มฟื้นตัว ก็น่าคิดว่าเงินริงกิตอ่อนค่ามากเกินไปหรือไม่?

กลุ่มสอง อ่อนค่า กลุ่มนี้อ่อนค่าในระดับ -6% ถึง -7% ได้เแก่เงินรูเปียะ เงินวอน และเงินสิงคโปร์ดอลลาร์

กลุ่มสาม อ่อนค่าเล็กน้อย กลุ่มนี้ค่าเงินค่อนข้างเสถียร คืออ่อนเพียง -1% ถึง -2% เท่านั้น  มีบาท เปโซ และรูปี

จะเห็นว่าเอเชียด้วยกัน ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ยังมีค่าเงินที่อ่อนกว่าเงินบาท เงินอินโดนีเซียก็อ่อนค่ากว่าไทย ตลาดหุ้นก็ขึ้น หากมองกราฟนี้แล้วก็คงอดคิดไม่ได้ว่าประเทศเหล่านี้คงมีการบริหารจัดการค่าเงินเพื่อรับมือกับเงินต้นทุนถูกที่จะไหลเข้ามา พูดง่ายๆคือแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควรทีเดียว

ขณะเดียวกัน หากเงินสกุลเพื่อนบ้านอ่อนกว่าไทยในลักษณะนี้ ส่งออกไทยค่อนข้างเสียเปรียบทีเดียว เงินบาทเสถียรเป็นผลดีต่อการส่งออกก็จริง แต่หากเสถียรแล้วแข็งกว่าเพื่อนบ้านมากไปหน่อยก็เสียเปรียบอยู่ดี หากเป็นเช่นนี้การส่งออกของไทยที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งฟื้นตัวได้ยาก เราหลีกเลี่ยงสงครามเงินตราไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องเข้าร่วมวงด้วย ดังนั้นต้องตั้งหลักและวางกลยุทธ์ให้ดี

นี่คือโลกยุคใหม่ และนี่คือพรมแดนใหม่ที่เรากำลังเดินทาง เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดมาในอดีต พรมแดนใหม่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติมีอยู่ว่าสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้และมีวิวัฒนาการจึงจะอยู่รอดได้ 

ประเทศไทยก็เช่นกัน ทั้งภาครัฐ นักธุรกิจ และนักลงทุนไทย ต้องตระหนักถึงการปรับตัวและมีวิวัฒนาการ เพื่อความอยู่รอด

สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น หากเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พวกการส่งออกต่างๆควรพิจารณาให้ดี การลงทุนในหุ้นที่แพงแล้ว คือพีอีสูงๆ ก็ควรพิจารณาอย่างระมัดระวังด้วย

เรื่องที่น่าคิดอีกประการก็คือ สหรัฐอเมริกาจะปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์ของตนเองแข็งค่าไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไรเลยหรือ ในยุคของน้าบารักนี้รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการส่งออกของอเมริกา ที่ผ่านมายอดการส่งออกของอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากเงินดอลลาร์แข็งค่าก็กระทบกับภาคการส่งออกของตนเช่นกัน และหากอเมริกาบริหารจัดการค่าเงินดอลลาร์บ้าง อะไรจะเกิดขึ้น ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจะเห็นว่าสงครามค่าเงินในยุคนี้ไม่ง่ายเลย

วันนี้ลุงแมวน้ำพูดในภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียดอีกทีคร้าบ

Saturday, January 31, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ ที่มาเจองูกับแขกให้ตีแขกก่อน กับแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย






เมื่อวันก่อนลุงแมวน้ำได้ดูคลิปทางยูทูปอยู่คลิปหนึ่ง เนื้อหาในคลิปเป็นนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งตำหนิกระทรวงศึกษาธิการที่เขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน ก็ทำนองว่าเราจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่แล้ว แต่ทำไมเรายังสร้างแบบเรียนที่เสี้ยมสอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่เพื่อนบ้านก็ไม่ได้ถูกสอนให้เกลียดชังไทยแม้ว่าเราจะมีประวัติศาสตร์รรบพุ่งกัน ใจความของคลิปก็ทำนองนี้

ท้ายคลิปที่เป็นคอมมเมนต์ของผู้ชมคลิป ส่วนใหญ่ก็ชื่นชมนักเรียนผู้นี้ว่ากล้าแสดงออก บ้างก็ว่าฉลาดและมีความคิดกว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ


แบบเรียนประวัติศาสตร์สอนให้คนไทยเกลียดเพื่อนบ้านจริงหรือ





ประเด็นที่ลุงตั้งข้อสังเกตก็คือ นักเรียนในคลิปตำหนิกระทรวงศึกษาธิการว่าเขียนแบบเรียนที่สอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน แต่ฟังตั้งแต่ต้นจนจบคลิปก็เป็นแต่การตำหนิ แต่ไม่ได้แสดงเหตุผลหรือตัวอย่างว่าเนื้อหาส่วนใดสอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้านอย่างไร ผู้ชมที่ชมคลิปก็คงบอกไม่ได้ว่าข้อความตำหนินั้นสมควรหรือไม่ เพราะไม่ได้เห็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ว่ามีเนื้อหาดังว่าจริงหรือไม่

ลุงแมวน้ำจึงหาเวลาไปที่ร้านศึกษาภัณฑ์เพื่อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายมาอ่านดู ว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่สอนให้ผู้เรียนที่เป็นเยาวชนไทยเกลียดชังเพื่อนบ้าน ก็เลยคิดจะนำมาเรื่องนี้มาคุยกันกับพวกเรา ดังนั้น บทความเช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำในครั้งนี้จึงแปลกออกไปจากแนวทางเดิมที่ลุงเคยเขียน

ก่อนอื่นลุงแมวน้ำต้องขออธิบายก่อนว่าแบบเรียนในระดับประถม มัธยมนั้นใครจะเขียนและใช้สอนในโรงเรียนได้บ้าง แบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนมีผู้เขียนและผลิต 2 กลุ่มหลัก นั่นคือ กระทรวงศึกษาฯผลิตแบบเรียนเอง กับสำนักพิมพ์เอกชนผลิตแบบเรียนซึ่งกระทรวงศึกษาฯเห็นชอบและให้ใช้เรียนในโรงเรียนได้ ดังนั้นแบบเรียนประวัติศาสตร์นั้นที่จริงแล้วก็ไม่ใช่มีแต่กระทรวงฯเขียน ที่เป็นผลงานของสำนักพิมพ์เอกชนก็มีหลายสำนักพิมพ์ เนื้อหาเป็นไปตามเค้าโครงที่กระทรวงกำหนด ส่วนรายละเอียด ลีลาการเขียน ลีลาการนำเสนอ การทำภาพประกอบ ความสวยงามของรูปเล่ม ก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสำนักพิมพ์

ลุงแมวน้ำก็ดูทั้งแบบเรียนของกระทรวงและแบบเรียนที่สำนัพิมพ์เอกชนเขียน เพื่อหาว่าเนื้อหาส่วนใดสอนให้คนไทยเกลียดชังเพื่อนบ้านบ้าง ลองฟังความเห็นของลุงแมวน้ำก็แล้วกัน

ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์ในยุคนี้ต่างจากเมื่อสามสิบถึงห้าสิบปีก่อนพอสมควร สมัยนี้มีการพิมพ์ที่ดีขึ้น สมัยก่อนเป็นตำราขาวดำ สมัยนี้เป็นตำราสี เนื้อหาก็มีความหลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมทั้งอารยธรรมโลก ประวัติศาสตร์โลก และประวัติศาสตร์ไทย

เฉพาะในส่วนประวัติศาสตร์ไทยนั้นเท่าที่ลุงอ่านส่วนใหญ่ก็เขียนแบบเป็นกลาง คือเราคงเข้าใจกันดีว่าการเรียนนั้นประกอบด้วยการบรรยายของครูกับเนื้อหาในตำรา ลำพังเนื้อหาในตำราน่ะไม่เท่าไร แต่ส่วนประกอบที่สำคัญที่จะเสริมสร้างทัศนคติให้ไปในทางใดนั้นคือการสอนในห้องเรียนด้วย

ในยุคก่อน คือตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยเสียหายจากภัยสงคราม กำลังอยู่ในยุคฟื้นฟูชาติ อีกทั้งเป็นยุครุ่งเรืองของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน ซึ่งไทยกังวลต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมเข้ามามาก รวมทั้งในช่วงปี พ.ศ. 2517-19 เพื่อนบ้านทยอยล้ม คือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ทีละประเทศ ดังนั้นการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในยุคนั้นจึงเน้นที่การปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม

สมัยก่อนนั้นการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ลุงไม่ได้หมายถึงตำราเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเรียนในชั้นเรียน วิชาประวัติศาสตร์ไทยนั้นสร้างความรู้สึกให้แก่ผู้เรียนว่า ไทยนั้นเป็นพระเอก ชาติอื่นก็เป็นพระรองบ้าง เป็นผู้ร้ายบ้าง ก็ว่ากันไป ในศึกสงครามพระเอกถูกรังแกบ้าง ถูกทรยศบ้าง ตามไปเอาคืนบ้าง ยิ่งตอนจับผู้ทรยศมาตัดหัวเอาเลือดมาล้างเท้านั้นบรรยากาศการเรียนการสอนทำให้เกิดความรู้สึกว่าสะใจยิ่งนัก

สำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยในสมัยนี้ จากฉบับที่ลุงอ่าน ลุงว่าก็เขียนค่อนข้างเป็นกลางอยู่เหมือนกัน ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ส่วนการเรียนการสอนในสมัยนี้จะเป็นอย่างไรนั้นลุงไม่รู้ แต่ลุงมีข้อสังเกตอะไรบางอย่าง นั่นคือ จากสื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยบางเรื่องที่เน้นอุดมการณ์ชาตินิยม หนังเหล่านี้มีผู้ชมทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่นิยมกันมากมาย ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ความคิดเรื่องไทยเป็นพระเอกและเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้ายนั้นยังคงมีอยู่

ลุงแมวน้ำยังสังเกตว่าเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่มีการทำรัฐประหาร ทีวีจอดำไปพักหนึ่งเปิดแต่เพลงปลุกใจ มีบางคนก็โพสต์บอกขำๆว่าฟังเพลงปลุกใจทั้งวันแล้วฮึกเหิม ทำให้รู้สึกอยากออกไปไล่เตะชาติเพื่อนบ้าน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าหนุ่มสาวในสมัยนี้บางส่วนก็ยังมีความคิดแบบที่ว่าไทยเป็นพระเอกอยู่

ลองสังเกตดูสิว่า สำนวน เจองูกับเจอแขกให้ตีแขกก่อน นั้นยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ แม้แต่คนหนุ่มสาวในสมัยนี้ก็เชื่อในสำนวนนี้และคิดว่าชาวอินเดียไม่ค่อยน่าคบ ก็ขนาดให้ตีงูก่อนตีแขก แล้วจะน่าคบไหมล่ะ


ประวัติศาสตร์กับโลกใบใหม่



ลุงแมวน้ำก็เป็นลุงแล้ว เติบโตมาในยุคอุดมการณ์สร้างชาตินั่นแหละ แต่ลุงเห็นว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว สมัยนั้นเป็นยุคหลังสงคราม ยุคภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม แต่สมัยนี้เป็นยุคเศรษฐกิจนำหน้า บ้านเมืองสงบร่มเย็น กระทรวงศึกษาธิการมีภาระหน้าที่ต้องแก้ไขความคิดเกลียดชังหรือดูแคลนชาติเพื่อนบ้าน ลุงไม่ได้บอกว่ากระทรวงปลูกฝังความคิดเหล่านี้ในยุคนี้ แต่ความคิดเหล่านี้มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันจริง และกระทรวงควรมีภาระแก้ไขทัศนคติเหล่านี้ ปลูกฝังความคิดใหม่ๆแก่เยาวชนไทย เราจะอยู่ด้วยความรู้สึกเกลียดชังหรือดูแคลนเพื่อนบ้าน หรือคิดว่าไทยเป็นพระเอกคงไม่ได้ 

ในอดีตกาล สงครามแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรเป็นเรื่องปกติ จีนแบ่งเป็นหลายสิบแคว้นในยุครณรัฐ รบพุ่งห้ำหั่นกันเพื่อครอบครอดคว้นอื่น ยุโรปก็รบพุ่งแย่งชิงกัน มีแคว้นต่างๆมากมาย

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรุกรานจีน เกาหลี เป็นบาดแผลของจีนและเกาหลีมาจนทุกวันนี้ แต่ทุกวันนี้ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ค้าขายกันเอิกเกริก คนจีนและเกาหลีเดินขวักไขว่ในญี่ปุ่น แต่งงานกันก็มี

แม้แต่เยอรมนีที่จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง สู้กับผ่ายสัมพันธมิตร คืออเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ผู้คนล้มตาย บ้านเมืองเสียหาย แต่ทุกวันนี้เยอรมนีเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มยูโรโซน คอยสนับสนุนเงินทุนเพื่ออุ้มชาติสมาชิกให้อยู่ร่วมในยูโรโซนได้

นั่นเป็นโลกใบเก่า เราต้องเรียนประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาตนเอง นั่นคือ เพื่อให้เข้าใจว่าสงครามนั้นเป็นเรื่องโหดร้าย มีแต่บาดเจ็บ ล้มตาย เสียหายกันทุกฝ่าย และเพื่อให้เข้าใจอดีตนั้นเราผิดพลาดอะไรไปบ้าง และจะได้ไม่ทำซ้ำเช่นนั้นอีก เราจะหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนโลกใบใหม่นี้ได้อย่างไร นั่นคือประโยชน์ของการเรียนประวัติศาสตร์

โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราต้องอยู่กับปัจจุบัน เราต้องตระหนักว่าเราไม่ใช่พระเอก ชาติอื่นเป็นเพื่อน ไม่ใช่เป็นรองเรา เราเคยรบพุ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นคืออดีต เราทำเขา เขาทำเรา มีแต่เจ็บกันทั้งสองฝ่าย เราเรียนอดีตเพื่อไม่ให้กลับไปทำแบบเดิมๆ ไม่อย่างนั้นเราจะพัฒนาชาติให้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจต่อไปไม่ได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่รวมกันเราอยู่ แยกกันอยู่ตายเดี่ยว

ชาวพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นคนรุ่นหลัง ความขัดแย้งบาดหมางของชนรุ่นก่อนหน้าเราตั้งไม่รู้กี่ชั่วรุ่นนั้นมันหมดไปนานแล้ว เราไม่ได้เกิดและโตในบริบทแบบนั้น เราเกิดและโตในยุคที่มีแต่เพื่อนบ้าน มีแต่คนบ้านใกล้เรือนเคียง มีแต่มิตร ไม่ใช่ศัตรู


ที่มา เจองูกับแขก ให้ตีแขกก่อน


เรื่องเจองูกับแขกให้ตีแขกก่อนนั้นก็เช่นกัน ทำให้คนไทยคิดว่าแขกหรือชาวอินเดียนั้นร้ายกาจยิ่งกว่างู คบไม่ได้ว่างั้นเถอะ เพราะขนาดต้องตีแขกก่อนตีงู แต่ที่จริงแล้วชาวอินเดียเป็นเพื่อนบ้านที่น่าคบ ทำการค้าด้วยได้ ถ้าเข้าใจกัน ที่นิสัยน่ารัก ใจกว้าง มีมากมาย ก็เหมือนคนไทยหรือชาติอื่นๆ ที่ดีก็มี ที่ร้ายก็มี คละกันไป

เรื่องราวความเป็นมาของสำนวนนี้มีบอกเล่ากันหลายกระแส แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำ ที่มาของสำนวนนี้มาจากในยุคที่อังกฤษครอบครองอินเดีย ชาวอินเดียที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของอังกฤษก็มี ก็เช่น มหาตมคานธี นั่นไง ในยุคที่อินเดียต่อต้านอังกฤษ ชาวอังกฤษก็ระวังตัว โดยเฉพาะชาวอินเดียสามารถเป่าปี่ให้งูเต้นระบำได้ ชาวอังกฤษก็คิดว่าชาวอินเดียมีวิชาดี สามารถบงการงูได้ ก็เกรงว่าชาวอินเดียเป่าปี่ให้งูเต้นระบำนั้นจะบงการให้งูมาทำร้ายได้ด้วย จึงเตือนกันว่าเจองูกับแขกอยู่ด้วยกัน ให้ตีแขกก่อน ไม่เช่นนั้นแขกจะบงการงูให้เข้ามาฉกได้ ที่มาก็เป็นทำนองนี้ ต่อมาความเข้าใจก็คลาดเคลื่อนกันไป กลายเป็นเข้าใจว่าแขกร้ายเจ้าเล่ห์ยิ่งกว่างู คบไม่ได้ ซึ่งที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น

หากเรายังคิดว่าเราเป็นพระเอกและดูแคลนชาติพันธุ์อื่นๆ ต่อไปเราจะอยู่ในโลกใบใหม่นี้ได้ยาก ทำงานทำการ ทำธุรกิจอะไรก็ยาก เพราะมีอคติด้านเชื้อชาติ แต่หากเปิดหัวใจ ด้วยทัศนคติฉันมิตร เราจะพัฒนาไปด้วยกันได้ง่ายขึ้นและทำให้เราเข้มแข็งขึ้นทั้งกลุ่มด้วย